1329 1015 1830 1466 1583 1700 1919 1014 1986 1447 1069 1205 1597 1932 1970 1269 1262 1621 1596 1864 1249 1977 1896 1415 1307 1488 1248 1064 1467 1033 1113 1735 1587 1466 1443 1361 1893 1861 1328 1671 1138 1012 1853 1232 1072 1757 1568 1560 1847 1338 1356 1982 1036 1038 1117 1000 1868 1642 1089 1040 1139 1347 1288 1863 1934 1423 1900 1539 1246 1301 1286 1619 1314 1875 1135 1566 1713 1983 1820 1135 1046 1043 1964 1882 1160 1573 1485 1601 1452 1203 1392 1862 1682 1105 1690 1255 1799 1682 1882 116 The Stories: เรื่องเล่าจากคน "ปลุกปั่น" : ชัชวาลย์: เมื่อลงข่าวผิดวันแล้วต้องขึ้นศาลทหาร ! | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

116 The Stories: เรื่องเล่าจากคน "ปลุกปั่น" : ชัชวาลย์: เมื่อลงข่าวผิดวันแล้วต้องขึ้นศาลทหาร !

 
(1) 
มันเริ่มจากเราเห็นชื่อเขาอยู่บนบอร์ดนัดคดีในศาลทหารเชียงใหม่ พร้อมข้อหาห้อยท้ายว่า “ความผิดต่อความมั่นคง” 
แรกเริ่มนั้น เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใครที่ไหน ถูกดำเนินคดีข้อหามาตราไหน และจากเรื่องอะไร ด้วยไม่มีข่าวคราวการจับกุมหรือดำเนินคดีปรากฏในหน้าสื่อ แต่ที่แน่ๆ ตอนนั้น คือทราบว่าเขากำลังต้องขึ้นศาลทหาร เพราะอัยการได้สั่งฟ้องคดีแล้ว
 
เราพบเขาในวันที่เริ่มสืบพยานเป็นนัดแรก ทำให้ทราบว่า ชัชวาลย์  หรือ “พี่ชัช” นั้น ทำงานเป็นนักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน และกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี  ส่วนสาเหตุที่ถูกจับกุมและดำเนินข้อหานี้จากเรื่องอะไร? ใครต่อใครเมื่อได้ทราบเหตุที่มาของคดี   ต่างบอกกันว่าดูเป็นเรื่องที่ “งี่เง่า” มาก... 
 
402
                                                                                               
 
(2)
จากปากคำของชัชวาลย์  เรื่อเริ่มจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2557  เขาได้รับรูปภาพข่าวจากเพื่อนนักข่าวในท้องถิ่นคนหนึ่งทางไลน์ส่วนตัว  เป็นภาพข่าวชุมนุมประท้วงรัฐประหาร โดยผู้ชุมนุมราว 10 คน อยู่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จังหวัดลำพูน ทั้งหมดใส่หน้ากากสีขาว และชูป้ายกระดาษที่มีข้อความ เช่น No Coup, Stop the coup, คนลำพูนต้องการการเลือกตั้ง
 
เมื่อเห็นภาพ ชัชวาลย์จึงโทรศัพท์ไปสอบถามเพื่อนนักข่าวคนนั้น และได้รับการยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเย็นวันนั้น เขาจึงส่งภาพและเขียนรายงานข่าวสั้นๆ ประกอบส่งไปที่ศูนย์ข่าวภูมิภาคของผู้จัดการออนไลน์ โดยรายงานว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2557   กระทั่งข่าวดังกล่าวขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ผู้จัดการในช่วงสายของวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ทางบรรณาธิการนำไปรวมกับข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารในจังหวัดเชียงใหม่ และพาดหัวข่าวนี้ว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” โดยไม่ได้ลงชื่อผู้เขียนข่าวไว้  หลังเผยแพร่ไปไม่นานนักเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อไปยังสำนักข่าวและได้ความว่านักข่าวที่ส่งข่าวไปคือชัชวาลย์ จึงส่งกำลังทหารไปที่บ้านของเขา แต่ในบ่ายวันนั้น เขาออกไปทำงานภายนอกบ้าน ทำให้ไม่มีใครอยู่ แต่เพื่อนบ้านได้โทรศัพท์มาแจ้งเขาว่ามีทหารมาตามหา  เมื่อทราบว่าถูกตามตัว เย็นนั้นชัชวาลย์เดินทางเข้าไปพบทหารที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน ซึ่งขณะนั้นถูกใช้เป็นที่ตั้งของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตจังหวัดลำพูน 
 
หลังพูดคุยเบื้องต้นกับทหาร ชัชวาลย์ยอมรับว่าเป็นคนส่งภาพและข่าวนี้ไปเอง ทหารแจ้งว่าเข้าตรวจสอบในพื้นที่ลำพูนแล้ว แต่ไม่พบว่ามีชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้น การนำเสนอข่าวจึงบิดเบือน เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 เป็นความผิดต่อความมั่นคง
 
ชัชวาลย์ ถูกทหารนำตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรลำพูน เพื่อแจ้งความ และสอบปากคำ เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยยืนยันว่าไม่ได้เจตนาจะทำให้เกิดความแตกแยก ต่อมาจึงถูกนำตัวไปไว้ในห้องขังที่สถานี จนในช่วงเช้าวันที่ 2 มิถุนายน 2557  เจ้าหน้าที่นำตัวมาฝากขังยังศาลทหารเชียงใหม่ เนื่องจากจังหวัดลำพูนไม่มีศาลทหาร  กระทั่งส่งตัวเข้าไปยังเรือนจำ ขณะเดียวกันฟากฝั่งบรรณาธิการ หลังทราบว่าข่าวที่รายงานไม่ตรงตามข้อเท็จจริง จึงลบออกจากระบบออนไลน์ในเวลาไม่นาน(ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2557) 
 
ต่อมาจึงทราบว่าภาพข่าวดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นจริง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 โดยไม่ได้บิดเบือนข่าวแต่อย่างใด "แต่เป็นความเข้าใจผิดเรื่องวันเวลาที่เกิดเหตุการณ์" และนำไปรายงานผิด โดยขณะเข้าพูดคุยกับทหาร ชัชวาลย์ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนว่าจะถูกดำเนินคดี และไม่เคยคาดคิดว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงขนาดนี้ 
 
ภายหลังถูกควบคุมในเรือนจำ ภรรยาพยายามยื่นขอประกันตัว โดยครั้งแรกได้ยื่นประกันโดยใช้ตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน ครั้งที่สองยื่นหลักทรัพย์ 1.2 แสนบาท ก็ยังไม่ได้รับการประกันตัว จนครั้งที่สาม ยื่นหลักทรัพย์จำนวน 4 แสนบาท โดยทำหนังสือรับรองความประพฤติจากเพื่อนสื่อมวลชนในจังหวัดยื่นประกอบไปด้วย จึงได้รับอนุญาตให้ประกันตัว รวมแล้วชัชวาลย์เลยได้ไปนอนอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 15 วัน... 
 
 
(3)
ในวันที่ถูกดำเนินคดีนั้น ชัชวาลย์มีอายุ 47 ปี เดิมนั้นเขาเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และไปอยู่ที่ลำพูนภายหลังแต่งงานกับภรรยาใหม่ในปี 2547 
ชัชวาลย์เล่าว่าเขาไม่เคยมีพื้นฐานด้านสื่อสารมวลชนมาก่อน เคยเรียนระดับปวส.ทั้งด้านไฟฟ้าและบัญชีที่จังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านเกิด แต่ก็เรียนไม่จบ ด้วยเหตุที่เขาเล่าว่าค่อนข้างทำตัวเกเร เลยไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ 
 
จนในช่วงปี 2532  เริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานด้านข่าว เมื่อมีเพื่อนชวนไปช่วยติดตามข่าวและเขียนให้กับนิตยสารท้องถิ่นในอุตรดิตถ์ การเรียนรู้ทำข่าวจึงเป็นไปด้วยตนเองเป็นหลักไม่ได้มาจากห้องเรียนใด แต่ก็ทำได้ไม่นานนัก ต้องหันไปทำอาชีพอื่นๆ เลี้ยงครอบครัว อย่างเช่น ขายซาลาเปา เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น จนราวปี 2539 เขาเริ่มหันมาทำข่าวท้องถิ่นในจังหวัดอุตรดิตถ์อีกครั้ง ก่อนจะย้ายมาเชียงใหม่
 
กระทั่งเมื่อย้ายมาลำพูน ชัชวาลย์เริ่มทำงานเป็นนักข่าวในสื่อท้องถิ่น เช่น หนังสือพิมพ์เสียงลำพูน และยังเคยก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “ชัดนิวส์” ของตัวเองร่วมกับเพื่อนในลำพูน แม้จะทำต่อเนื่องได้หลายปี แต่ก็ต้องล้มเลิกไป 
 
ชัชวาลย์บอกว่าในช่วงทำงานข่าวเคยมีคนติดต่อให้ไปเป็นนักข่าวที่กรุงเทพฯ อยู่เหมือนกัน แต่เมื่อลองดูเงินเดือนที่ได้แล้ว คิดว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จึงตัดสินใจทำงานในต่างจังหวัดมากกว่า
 
ในช่วงหลัง ชัชวาลย์ทำงานเป็นนักข่าวอิสระ ป็นผู้ส่งรายงานข่าวในพื้นที่ให้กับหลายสำนักข่าวส่วนกลาง ทั้งผู้จัดการ, สำนักข่าวทีนิวส์ หรือบ้านเมือง ส่วนใหญ่เน้นติดตามข่าวด้านอาชญากรรม และข่าวทั่วไปในพื้นที่  ได้รับค่าตอบแทนจากค่าข่าวเป็นชิ้นๆ ไม่ได้มีเงินเดือนและสังกัดประจำแต่อย่างใด
 
แม้ไม่เคยพูดคุยถึงเรื่องจุดยืนทางการเมืองกันจริงจัง แต่เท่าที่สัมผัส ชัชวาลย์ก็ไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใดมากมาย เพียงแต่ทำมาหาเลี้ยงชีพไปตามวิชาชีพที่มี และหาประเด็นข่าวในท้องถิ่นนำเสนอไปยังสำนักข่าวต่างๆ ตามที่เขาพอมีช่องทาง กระทั่งเกิดความผิดพลาดในรายงานข่าวครั้งนี้ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตและครอบครัวเป็นอย่างมาก
                                                                                                 
                                                                                               
(4)
ช่วงก่อนหน้าการสืบพยานในคดีนี้ ชัชวาลย์ ว่าจ้างทนายความมาช่วยว่าความ แต่เมื่อพบว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก และครอบครัวไม่มีเงินจะจ้างต่อ จึงขอให้ศาลแต่งตั้งทนายความอาสามาให้ ในคดีนี้ ทำให้ได้ทนายความอิสระในจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาช่วยเหลือในคดี
 
การนัดสืบพยานในศาลทหารมีขึ้นทั้งหมด 4 นัด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 จนถึงกุมภาพันธ์ 2558  โดยใช้รูปแบบการนัดเดือนละหนึ่งนัด นัดหนึ่งมีพยานมาเบิกความหนึ่งถึงสองคน รวมแล้วเป็นพยานโจทก์จำนวน 5 ปาก และพยานจำเลย 3 ปาก 
 
สำหรับพยานโจทก์แบ่งออกเป็นเจ้าหน้าที่ทหารสองนาย ในตำแหน่งฝ่ายข่าวและฝ่ายกำลังพลของกองพลทหารราบที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาไปแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรลำพูนที่ทำหน้าที่สืบสวนในคดีนี้สองนาย รวมทั้ง บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว ASTV ผู้จัดการ เข้าเบิกความเกี่ยวกับกระบวนการนำข่าวลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ 
 
ขณะที่ทางฝ่ายจำเลย มีตัวชัชวาลย์เอง บรรณาธิการข่าวภาคเหนือของ ASTV ผู้จัดการ และเพื่อนนักข่าวของเขา ซึ่งเป็นผู้ส่งภาพให้ทางไลน์ส่วนตัว  การสืบพยานในแต่ละปากใช้เวลาไม่นาน และไม่ได้ซักพยานยืดเยื้อนัก ข้อมูลที่น่าสนใจจากฝ่ายทหาร คือกรณีนี้ผ.บ.ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดลำพูน เป็นผู้สั่งการจัดชุดลาดตระเวนไปตรวจสอบในพื้นที่ลำพูนหลังเผยแพร่ข่าว เมื่อไม่พบการชุมนุมตามที่มีการนำเสนอ ทางผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความผิด จึงนำตัวไปดำเนินคดี แต่เจ้าหน้าที่ทหารก็เบิกความว่าหลังจากข่าวนี้แพร่ไป ก็ไม่ได้มีชุมนุมประท้วงของประชาชนเกิดขึ้นในลำพูนแต่อย่างใด 
 
ทางบรรณาธิการจาก ASTV ผู้จัดการ ให้ข้อมูลว่าบก.ส่วนภูมิภาคของสำนักข่าวมีอำนาจในการนำข่าวลงเว็บไซต์ได้ โดยไม่ต้องผ่านส่วนกลาง ทำให้โดยปกติส่วนกลางจะไม่ได้ดูข่าวที่ไม่ได้สำคัญมาก ส่วนข่าวตามที่ถูกกล่าวหาในกรณีนี้ ทางบก.ส่วนกลางก็ไม่ทราบว่าได้ข่าวมาจากที่ใด และเมื่อทราบว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจึงได้ลบออกในเวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมงหลังข่าวเผยแพร่
 
ขณะที่เพื่อนนักข่าวต้นตอของภาพข่าวนั้น ให้ข้อมูลว่าภาพข่าวนี้ได้มาจากเฟซบุ๊กบุคคลอื่น ที่ระบุข้อความไว้ว่าเหตุการณ์ “เมื่อวานนี้” ทำให้เข้าใจว่าเกิดขึ้นวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ที่อนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี จึงยืนยันข้อมูลไปเช่นนั้น
 
จากข้อเท็จจริงในคดีนี้ ดูเหมือนจะเป็นข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของกระบวนการทำข่าวที่เกิดขึ้น ที่ปกติทางกองบรรณาธิการสามารถลงข่าวชี้แจงขอโทษต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็คงได้ แต่ในห้วงยามที่สถานการณ์การเมืองถูกทำให้ไม่ปกตินี้ มันกลับมาไกลจนถึงขั้นการดำเนินคดีในศาลทหาร...
 
                                                                                                 
(5)
“นักข่าวเหมือนหมาล่าเนื้อ ทำดีก็เสมอตัว พลาดมาก็โดนยำ” เขาสรุปบทเรียนแบบนั้น
 
ภายหลังถูกดำเนินคดีนี้ ชัชวาลประสบปัญหาเรื่องทำมาหากินและการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากปกติไม่ได้มีเงินเดือนประจำในการทำงาน รายงานข่าวชิ้นหนึ่งก็ได้เพียงชิ้นละ 400 บาท และไม่ได้มีงานทุกวัน แถมภายหลังถูกดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ยังให้เขาไปช่วยรายงานข่าวในลักษณะประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของทหารด้วย  ในส่วนของครอบครัว ชัชวาลย์มีบุตรต้องดูแลถึง 6 คน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน โดยยังต้องส่งลูกที่อยู่ในวัย 5 ปี และ 7 ปี เรียนหนังสืออยู่ ขณะที่ลูกคนเล็กอายุเพียง 2 ขวบเศษ ทำให้ภาระเลี้ยงดูครอบครัวค่อนข้างหนักหนา
 
ในระยะหลังเขาทำงานข่าวลดลง ไม่ได้ส่งข่าวให้สื่อส่วนกลางที่เคยส่งมากนัก และต้องหันไปหารายได้จากหลายทาง ซึ่งมีทั้งงานช่วยค้นข้อมูล หรืองานรับออกแบบป้ายประกาศโฆษณา กระทั่งยังต้องกู้หนี้ยืมสินมาดูแลชีวิตตัวเองและครอบครัว
 
ระหว่างการพิจารณาคดี เขายังถูกนายประกันขอถอนเงินประกันที่นำมาช่วยเหลือออกไป เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งส่วนตัวกัน จึงใช้วิธีซื้อหลักทรัพย์เพื่อนำมาค้ำประกันใหม่ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก 
 
ชัชวาลย์ยอมรับว่าในเวลาปีเศษๆ ระหว่างถูกดำเนินคดีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขาเครียดมาก ต้องมาศาลทหารทุกเดือน เป็นหนี้เป็นสินเพิ่มมากขึ้น และไม่รู้ท้ายที่สุดจะรอดคุกหรือไม่ หลายช่วงนอนไม่ค่อยหลับ กระทั่งเขากับภรรยาต้องเดินทางไปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก่อนเดินทางมาฟังคำพิพากษา
 
 
(6)
แม้ในเดือนพฤษภาคมตามนัดเดิม ศาลจะเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป เนื่องจากตุลาการศาลทหารเจ้าของสำนวนติดภารกิจ แต่อีกเดือนถัดมา การพิพากษาก็มาถึง วันนั้น (9 มิถุนายน 2558) ชัชวาลย์เดินทางไปศาลพร้อมกับภรรยา เพียงสองคน เขาเลือกสวมเครื่องแต่งกายขาวทั้งชุด คล้ายๆ กับเตรียมตัวเตรียมใจรับผลแห่งคดีที่จะออกมา และอาจต้องเข้าสู่เรือนจำอีกครั้ง ศาลอ่านคำพิพากษาโดยอ่านละเอียดตั้งแต่ต้น ไม่มีตัดตอน เนื้อหาส่วนใหญ่ไล่เลียงเรื่องราวในคำฟ้องและคำเบิกความพยานปากต่างๆ กระทั่งย่อหน้าสุดท้าย ศาลพิเคราะห์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอ และการกระทำของชัชวาลย์เป็นเพียงการนำเสนอข่าวในเหตุการณ์ประจำวัน ไม่เป็นข้อแสดงว่าเขามีเจตนาจะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และถือไม่ได้ว่าเขานำเสนอภาพข่าวโดยไม่สุจริต "จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง" 
 
 
โดยหากนับตั้งแต่ถูกควบคุมตัวในช่วงหลังรัฐประหารกระทั่งศาลพิพากษายกฟ้อง นับเป็นเวลา 374 วัน หรือ 1 ปีเศษๆ พอดี กว่าชีวิตของผู้ต้องหาคนหนึ่งจะรอดพ้นจากชนักที่ติดหลังเอาไว้มาได้
คดีของชัชวาลย์ดูเหมือนจะเป็นกรณีผู้สื่อข่าวกรณีแรกที่ต้องขึ้นศาลทหารหลังรัฐประหาร แม้จะเป็นนักข่าวอิสระ แต่ก็กล่าวได้ว่าแทบไม่มีสมาคมหรือองค์กรสื่อสารมวลชนที่ไหนให้ความสนใจ  
อีกทั้ง แม้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในศาลทหารหลังรัฐประหาร แนวโน้มส่วนใหญ่จะเป็นผู้คนที่เป็นหรือสนับสนุนฝ่ายที่เรียกรวมๆ ว่าคนเสื้อแดง แต่กรณีชัชวาลย์ยังแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองในฝั่งไหน หรือแทบไม่ได้เข้าไปเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย ก็สามารถถูกดำเนินคดีในศาลทหารได้เช่นกัน
 
 
ชัชวาลย์เคยเล่าครั้งหนึ่งว่าหลังเสร็จสิ้นคดีนี้ไป ความฝันที่เขาอยากทำอย่างหนึ่ง คืออยากจะเขียนเล่าประสบการณ์ขณะเป็นนักข่าวของตัวเอง และออกเป็นหนังสือที่มีชื่อทำนองว่า “เรื่องเล่านักข่าวบ้านนอก” โดยประสบการณ์การทำงานข่าวในพื้นที่นั้น มีทั้งเรื่องสนุก ตื่นเต้น เศร้า และการดิ้นรนปากกัดตีนถีบของนักข่าว   เขาทำงานอยู่ในฐานะนักข่าวรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ทำข่าวมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ไม่มีโลกออนไลน์ให้ค้นหา หนังสือเล่มนี้ที่อยากจะทำ เขาอยากให้นักเรียนด้านนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ได้อ่านกัน เพราะคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคนข่าวรุ่นใหม่ต่อไป
 
 
เดาไม่ยากเลยว่า ถ้าหนังสือเล่มนี้ออกมา คงมีเรื่องราวที่เขาถูกทหารตามตัวมาดำเนินคดี กระทั่งนอนในคุก และสู้คดีในศาลทหาร เป็นบทตอนหนึ่งในเรื่องเล่าของนักข่าวบ้านนอกคนนี้เป็นแน่...