1478 1963 1795 1936 1718 1227 1851 1289 1685 1285 1661 1659 1746 1561 1280 1054 1711 1110 1961 1595 1657 1779 1047 1426 1688 1634 1230 1477 1948 1692 1742 1986 1763 1958 1142 1400 1374 1306 1246 1153 1443 1282 1079 1649 1796 1254 1087 1990 1335 1573 1499 1276 1152 1294 1315 1332 1235 1430 1373 1340 1420 1706 1834 1357 1642 1646 1905 1014 1504 1455 1757 1577 1402 1306 1086 1944 1240 1013 1344 1242 1302 1127 1810 1263 1450 1133 1506 1199 1718 1682 1151 1311 1274 1466 1697 1604 1597 1204 1873 ท่ามกลางอุปสรรคย่อมมีโอกาส: บทเรียนการต่อสู้คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯของ'กำพล' นักอนุรักษ์เมืองคอน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ท่ามกลางอุปสรรคย่อมมีโอกาส: บทเรียนการต่อสู้คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯของ'กำพล' นักอนุรักษ์เมืองคอน

แม้ว่าโดยเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ถูกบัญญัติเพื่อใช้ลงโทษผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ไปก่ออาชญากรรมทางเทคนิค เช่น ปลอมเว็บไซต์เพื่อให้คนทำธุรกรรมทางการเงินหรือดักข้อมูลส่วนตัว เป็นความผิดที่กฎหมายอาญาอาจมีเนื้อหาไม่ครอบคุมไปถึง แต่เพราะบทบัญญัติมาตรา 14 ถูกเขียนไว้อย่างกว้างๆ ทำให้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯถูกนำไปใช้ฟ้องผู้แสดงความเห็นบนออนไลน์ควบคู่กับคดีอื่น เช่น คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีหมิ่นประมาททางอาญาซึ่งเป็นความผิดเชิงเนื้อหาที่ไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการบัญญัติกฎหมาย รวมไปถึงคดีปลุกปั่นยั่วยุ ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่หลังรับประหาร ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นเชิงตรงข้ามกับรัฐฯ
 
 
กำพล จิตตะนัง  ผู้ประสานงานศูนย์จัดการภัยพิบัติพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมวัย 41 ปี ถูกผศ.พยอม รัตนมณี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฟ้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจากการแสดงความเห็นคัดค้านการนำขี้เถ้าถ่านหินมาเป็นส่วนผสมของปะการังเทียมทิ้งทะเลเพื่อใช้ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดย ผศ.พยอมเห็นว่าโพสต์ของกำพลมีรูปภาพและข้อความพาดพิงทำให้ได้รับความเสียหาย 
 
421 ภาพกำพล ขณะไปรับรางวัล 45 ปี 45 คนม.อ.เพื่อสังคม ณ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เดือนตุลาคม 2554
 
ผศ.พยอมฟ้องกำพลต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อเดือนตุลาคม 2557 แม้ศาลพยายามไกล่เกลี่ยให้คู่ความประนอมข้อพิพาทเพื่อที่จะไม่ต้องเป็นความกันแต่ไม่เป็นผล คู่ความจึงนำพยานมาสืบตามศาลนัดในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 หลังสืบพยานเสร็จ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ไอลอว์ถือโอกาสพูกคุยแลกเปลี่ยนกับ กำพลถึงบทเรียน อุปสรรคการทำงาน และโอกาสในการต่อสู้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมขณะถูกดำเนินคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯและคดีหมิ่นประมาท
   
แรงบันดาลใจ
 
กำพลเล่าถึงชีวิตวัยเด็กและแรงบันดาลใจที่ชวนให้เขาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า สมัยเด็กๆ เกิดและเติบโตท่ามกลางธรรมชาติที่บ้านเชิงเขาในจังหวัดสงขลา อาชีพหลักของคนที่อาศัยอยู่ละแวกบ้าน คือทำสวนยาง แต่ก็เป็นกิจการที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติไม่ได้มุ่งแต่จะเอาปริมาณผลิตผล ธรรมชาติละแวกบ้านในวัยเด็กจึงอุดมสมบูรณ์แม้แต่ในสวนยางก็มีน้ำตก ตัวกำพลเองก็ได้รับการปลูกฝังจาก"พ่อเฒ่า" ซึ่งเป็นตาให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่เบียดเบียนกัน
 
เมื่อโตขึ้น สภาพแวดล้อมรอบตัวเขาก็เปลี่ยนไป การทำสวนยางเปลี่ยนจากปลูกพืชผสมผสานมาเป็นการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อเพิ่มปริมาณยาง ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติจึงลดลง น้ำตกที่เคยมีอยู่ในสวนยางก็หายไป กำพลรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติแต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับเรื่องนี้มากนัก
 
กำพลเล่าต่อว่าเขาเริ่มทำงานรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังครั้งแรกสมัยเป็นนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ในช่วงปี 2536 ขณะศึกษาอยู่ชั้นปีที่หนึ่ง มีโครงการจะสร้างบ่อขยะใกล้ๆ มหาวิทยาลัย กำพลจึงร่วมกับเพื่อนนักศึกษารณรงค์คัดค้าน ครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง   
 
ปัญหาที่บ้านหลังใหม่
 
หลังเริ่มทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย กำพลก็ทำงานรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด ช่วงปี 2543 กำพลย้ายจากสงขลาซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดมาอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพราะได้งานใหม่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แม้นครศรีธรรมราชจะไม่ใช่บ้านเกิดของกำพลแต่ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา เขาก็เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านสิ่งแวดใน 'บ้านหลังใหม่' และ 'บ้านเกิด' ของลูกชายทั้งสองอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนคลองกลาย คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งโครงการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกของเชฟรอนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช    
 
423 ภาพกำพลขณะปลูกป่า
ในช่วงกันยายน 2557 กำพลได้รับแจ้งจากชาวบ้านชุมชนปากพญา ตำบลท่าชัก  อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เดินทางมาทำประชาคมว่าจะให้นำขี้เถ้าถ่านหินมาผสมเป็นปะการังเทียมทิ้งทะเลเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เขาจึงศึกษาข้อมูลเรื่องขี้เถ้าถ่านหินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อพบว่าหากมีโครงการดังกล่าวจริง สิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านหลังที่สองของกำพลตลอด 16 ปีที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบ กำพลจึงตัดสินใจโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้คนในพื้นที่ รวมทั้งข้อความที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทและคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ   
 
ชีวิต-การงาน วันที่ตกเป็นจำเลย
 
กำพลเปิดเผยว่า การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ไม่กระทบต่องานในฐานะเจ้าหน้าที่โครงการปกป้องพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มากนัก แต่ที่กระทบมากคือการเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อม หลังถูกดำเนินคดี ทนายของกำพลซึ่งมาจากความช่วยเหลือของสภาทนายความแนะนำให้กำพลยุติการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการถูกฟ้องคดีเพิ่มเติม หากเขายังคงเคลื่อนไหวต่อไปก็อาจมีผลต่อรูปคดีเพราะศาลอาจมองว่ากำพลเป็นคนที่ชอบสร้างปัญหา หลังถูกดำเนินคดีเพื่อนของกำพลยังแนะนำด้วยว่าให้ไว้ผมสั้นแทนผมยาวเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีในการขึ้นศาล
 
เฟซบุ๊กของกำพลตั้งค่าเป็นสาธารณะ คนทั่วไปจึงสามารถอ่านสถานะ รูปภาพ หรือความคิดเห็นต่างๆได้ หลังถูกฟ้องคดีกำพลต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องใช้เฟซบุ๊ก โดยเฉพาะความคิดเห็นเรื่องที่เกี่ยวกับคดีอย่างเรื่องถ่านหิน เพราะอาจถูกฟ้องคดีเพิ่ม หรือข้อความที่โพสต์อาจถูกฝ่ายโจทก์นำไปใช้ปรักปรำในชั้นศาลได้ ทนายยังเตือนกำพลให้ลดการเคลื่อนไหวที่อาจมีผลต่อคดีด้วย กำพลจึงต้องลดบทบาทการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม จากเคลื่อนไหวออกหน้ามาเป็นให้การสนับสนุนจากแนวหลัง เช่น ทำหน้าที่ให้ข้อมูล นอกจากนั้นกำพลยังต้องงดลงชื่อในแถลงการณ์ทุกประเภทด้วย
 
422 ภาพกำพลขณะอ่านแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ เมื่อธันวาคม 2558
 
โอกาส และพลพลอยได้ของวิกฤต
 
แม้การสู้คดีจะกระทบต่อการทำงานรณรงค์อยู่ไม่น้อย แต่กำพลก็มองว่าวิกฤตครั้งนี้นำโอกาสมาให้เขาหลายๆ อย่าง การถูกฟ้องคดีทำให้เขาต้องติดต่อกับองค์กรสิทธิและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายองค์กรที่ปกติไม่ค่อยได้ติดต่อกันมากนักเพื่อประสานงานเรื่องคดีซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเขากับเครือข่าย นอกจากนี้องค์กรที่เข้ามาช่วยคดียังได้รับรู้ถึงปัญหามลพิษจากขี้เถ้าถ่านหินด้วย ซึ่งปกติเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมมากนัก ที่สำคัญการถูกฟ้องคดียังทำให้กำพลมีโอกาสเข้าถึงเอกสาร เช่น เอกสารงานวิจัยของฝ่ายโจทก์ รวมทั้งเอกสารวิชาการจากต่างประเทศ ซึ่งใน 'สภาวะปกติ' เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึง    
     
"แพ้คดีบาดเจ็บหน่อยแต่คุ้ม" 
 
การสืบพยานในศาลชั้นต้นซึ่งเป็นภารกิจหลักในการสู้คดีของกำพลจบลงแล้ว จากนี้จะเป็นเรื่องของศาลที่จะวินิจฉัยพิพากษาคดี และเป็นเรื่องของทนายที่จะทำงานเอกสารหากมีอุทธรณ์-ฎีกาต่อไป กำพลยอมรับว่ารู้สึกโล่งใจที่การสืบพยานจบลง สำหรับโอกาสชนะคดี กำพลยอมรับว่าในฐานะคนที่ต่อสู้คดีย่อมมีความหวังว่าจะชนะอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าจะชนะคดีหรือไม่ก็ไม่สำคัญเท่าการที่คดีนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขี้เถ้ากลายเป็นประเด็นที่มีคนรับรู้และตระหนักในความสำคัญมากขึ้น ล่าสุดสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยก็ออกมาคัดค้านการนำขี้เถ้าถ่านหินมาทิ้งทะเลในทุกกรณี   
 
อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงแนวทางขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมในอนาคตกำพลก็ยอมรับว่าเขาคงระมัดระวังมากขึ้น การต่อสู้ในประเด็นขี้เถ้าถ่านหินเป็นเรื่องที่จะผูกพันไปหลายชั่วอายุคน หากเขาจะยอมเจ็บตัวถูกดำเนินคดีเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กว้างขวางได้ก็ถือว่าคุ้ม แต่ถ้าเป็นประเด็นอื่นที่ไม่ร้ายแรงเท่าก็อาจจะต้องพิจารณาให้หนักเพราะ "เราคงไม่โชคดีทุกครั้ง"
 
ไม่ใช่คนแรกและคงไม่ใช่คนสุดท้าย  
 
กำพลไม่ใช่คนแรกที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้ อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยและนักปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ อลัน มอริสันกับชุติมา สีดาเสถียรจากเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน  และสุรพันธ์ เลขาธิการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจากจังหวัดเลย คดีนี้โจทก์ถอนฟ้องก่อนเริ่มสืบพยาน) ก็เป็นตัวอย่างของสื่อหรือนักปกป้องสิทธิอีกส่วนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯและคดีหมิ่นประมาท จากการแสดงความเห็น จัดทำ หรือเผยแพร่เนื้อหา เรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องราวของผลกระทบจากโครงการของรัฐหรือเอกชนที่มีต่อชุมชน และในอนาคตก็คงจะยังมีคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกไม่น้อย จนกว่าคนในสังคมจะเห็นว่า นอกจากการฟ้องคดีแล้ว การออกมาให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการปกป้องสิทธิหรือศักดิ์ศรีของตัวเอง และอาจสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่ส่วนรวมมากกว่าการฟ้องคดีเพื่อให้ผู้เห็นต่างยุติการออกความเห็น 
 
 
อ่านรายละเอียดคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของกำพล ในฐานข้อมูล ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/705