1524 1024 1247 1875 1011 1448 1868 1160 1090 1498 1190 1357 1822 1456 1964 1279 1595 1624 1413 1227 1254 1924 1233 1040 1249 1115 1483 1949 1875 1874 1963 1326 1455 1399 1449 1293 1303 1825 1300 1861 1402 1991 1448 1190 1343 1160 1216 1863 1436 1541 1890 1587 1051 1729 1276 1903 1565 1564 1832 1335 1819 1481 1982 1708 1606 1302 1083 1687 1301 1488 1005 1255 1283 1583 1574 1291 1414 1427 1116 1814 1384 1217 1005 1603 1320 1885 1481 1896 1959 1881 1396 1925 1944 1206 1487 1781 1136 1338 1903 ซ้ำคดีที่สอง! ลุงเขียนหมิ่นฯ บนฝาห้องน้ำ จำคุกต่ออีกปีครึ่ง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ซ้ำคดีที่สอง! ลุงเขียนหมิ่นฯ บนฝาห้องน้ำ จำคุกต่ออีกปีครึ่ง

16 ตุลาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพ พิพากษาจำคุก ‘โอภาส’ 3 ปี จากข้อกล่าวหาว่าเขียนฝาผนังห้องน้ำเป็นข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 หลังเคยถูกพิพากษาให้จำคุก 3 ปี จากการเขียนผนังห้องน้ำอีกห้องหนึ่งไปก่อนแล้ว 
 
โอภาส อายุ 68 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว ถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ จับตัวได้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 จากการเขียนผนังห้องน้ำของห้างฯ ก่อนประสานให้ทหารรับตัวไปดำเนินคดี โดยข้อความที่โอภาสเขียนมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง โจมตีการรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ โอภาสถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และคดีนี้ถูกพิจารณาที่ศาลทหาร
 
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 โอภาสขึ้นศาลครั้งแรก เขาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ปัจจุบันโอภาสถูกคุมขังตามคำพิพากษาอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
ตามปกติระหว่างการรับโทษตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุด นักโทษมีสิทธิยื่นคำขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะรายได้ หากสำนักพระราชวังรับเรื่องไปพิจารณาและเห็นว่านักโทษสำนึกผิดแล้วและจะไม่กระทำความผิดอีก ก็จะมีคำสั่งอภัยโทษให้นักโทษพ้นโทษทันที นอกจากนี้ หากนักโทษรับโทษมาจำนวนหนึ่งแล้ว หรือเป็นคนสูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ยังมีสิทธิยื่นขอ 'พักโทษ' ตามระเบียบปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ที่มุ่งให้นักโทษที่มีความประพฤติดีกลับไปรับโทษต่อที่บ้าน เพื่อลดความแออัดของเรือนจำ
 
แต่ระหว่างการรับโทษตามคำพิพากษา โอภาสกลับไม่สามารถยื่นคำขอพระราชทานอภัยโทษ หรือขอพักโทษได้ เนื่องจากกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า ยังติดคำสั่งอายัดตัวจากอีกคดีหนึ่งอยู่ จนกระทั่ง 7 กรกฎาคม 2558 อัยการทหารยื่นฟ้องโอภาสต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นคดีที่สอง จากการเขียนฝาผนังห้องน้ำในห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ซึ่งเป็นการเขียนในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่คนละห้องกับที่ถูกฟ้องเป็นคดีแรก 
 
ในส่วนของคดีที่สอง ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เวลา 08.30 น. ซึ่งโอภาสให้การรับสารภาพ และยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพขอให้ศาลพิจารณาลงโทษสถานเบา เพราะได้รับโทษจากคดีแรกอยู่แล้ว และทั้งสองคดีน่าจะนับโทษรวมกันได้ 
 
อย่างไรก็ตาม ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาในทันที ให้จำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งเป็นโทษเท่ากับคดีแรก และศาลยังกำหนดด้วยว่า การนับโทษในคดีที่สอง ให้เริ่มนับหลังจากที่รับโทษในคดีแรกครบแล้ว
 
ทั้งนี้ โทษตามคำพิพากษาในคดีแรกจะสิ้นสุดในช่วงเดือนเมษายน 2559 และหากไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หรือพักโทษ ก็จะนับโทษตามคำพิพากษาในคดีที่สองต่อไป เท่ากับว่าโอภาสต้องจำคุกถึงช่วงเดือนตุลาคม 2560
 
 
การจับกุม และการดำเนินคดีแรกของโอภาส
 
15 ตุลาคม 2557 โอภาสถูกจับกุมตัวโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ จากการใช้ปากกาเมจิกเขียนบนฝาผนังห้องน้ำของห้าง หลังถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยควบคุมตัวไว้ที่ห้างระยะหนึ่ง โอภาสตกลงยินยอมจะจ่ายค่าเสียหายให้กับทางห้างเพื่อทำความสะอาดประตู แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยเห็นว่าข้อความที่เขียนนั้นเกี่ยวกับการเมืองอาจผิดกฎหมาย จึงประสานให้ทหารมารับตัวไปสอบสวนต่อที่ค่ายทหาร
 
ระหว่างการสอบสวน ทหารพยายามให้โอภาสระบุว่า ฟังวิทยุชุมชนคลื่นไหน และพยายามเชื่อมโยงเขาเข้ากับเครือข่ายคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านวิทยุชุมชน หลังจากสอบสวนเสร็จ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ นำตัวโอภาสมาส่งที่กองปราบปรามในเย็นวันเดียวกัน เพื่อให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมและกักตัวไว้ภายใต้อำนาจกฎอัยการศึก
 
เมื่อมาถึงกองปราบปราม มีผู้สื่อข่าวจำนวนมากมารออยู่ก่อนแล้ว โดยทหารพาโอภาสไปแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน และขอให้เขาบอกกับนักข่าวว่า สาเหตุที่เขียนผนังห้องน้ำเป็นเพราะฟังข้อมูลที่ผิดมาจากวิทยุชุมชน นอกจากนี้ พ.ท.บุรินทร์ ได้เปิดเผยข้อความที่โอภาสเขียนบนผนังห้องน้ำ รวมทั้งให้ชื่อ-นามสกุลของผู้ต้องหาแก่นักข่าว โอภาสยังถูกถ่ายรูปและรูปของเขาก็ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ทำให้เขากังวลมากว่าการตกเป็นข่าวจะกระทบต่อการค้าขายที่ทำอยู่ [ดูข่าวจากผู้จัดการ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000119653]
 
โอภาสถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าเขียนข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หนึ่งข้อความ ในชั้นสอบสวนเขารับว่าเป็นผู้เขียนข้อความวิจารณ์การรัฐประหารแต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นฯ หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหา โอภาสถูกกักตัวไว้ที่ห้องขังของกองปราบปราม 5 วัน ก่อนพนักงานสอบสวนจะนำตัวเขาไปขออำนาจศาลทหารฝากขังในวันที่ 20 ตุลาคม 2557 
 
ตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2557 ถึง 9 มกราคม 2558 โอภาสถูกฝากขังรวม 7 ครั้ง ครั้งละ 12 วัน แต่ละครั้งพนักงานสอบสวนให้เหตุผลคล้ายๆกัน คือ ยังสอบปากคำพยานไม่หมด หรือรอการตรวจสอบรอยนิ้วมือและประวัติอาชญากรรม ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังทุกครั้ง ทำให้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าช่วยเหลือโอภาส ด้วยการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังอย่างน้อย 3 ครั้ง อ้างเหตุว่าจำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่อาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ แต่ไม่เป็นผล ทนายความจึงยื่นขอประกันตัว อาศัยโฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาท พร้อมให้เหตุผลเรื่องสุขภาพว่าโอภาสมีโรคประจำตัว และอาจได้รับอันตรายหากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า จำเลยอาจหลบหนี หรือทำผิดซ้ำ นอกจากนี้ จำเลยก็สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้จากภายในเรือนจำอยู่แล้ว
 
ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ศาลทหารนัดพิจารณาคดีของโอภาส เขาแถลงรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาในวันนั้นให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ตามมาตรา 112 โดยโทษจำคุกจริงลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ
 
 
คดีที่สองของโอภาส จากฝาผนังห้องน้ำอีกห้อง
 
ระหว่างถูกคุมขังอยู่ตามคำพิพากษาคดีแรก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ประเวศ เข้าไปพบโอภาสในเรือนจำและแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเป็นอีกคดีหนึ่ง จากการเขียนฝาผนังห้องน้ำที่ห้างซีคอนสแควร์ ซึ่งเป็นห้องน้ำที่อยู่คนละชั้นกับห้องน้ำในคดีแรก จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อายัดตัวโอภาสไว้เพื่อดำเนินคดีที่สอง
 
ในการดำเนินคดีตามปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถขออำนาจศาล 'ฝากขัง' หรือควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสืบสวนหาพยานหลักฐานได้ไม่เกิน 84 วัน และต้องรีบสรุปสำนวนยื่นฟ้องภายในกำหนดเวลานั้น หากไม่สามารถสรุปสำนวนคดีได้ภายในกำหนดเวลาต้องปล่อยตัวจำเลยไป แต่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนคดีที่สองของโอภาสนั้น จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ตามคำพิพากษาในคดีแรก ทำให้ตำรวจไม่จำเป็นต้องรีบสรุปสำนวนให้เสร็จภายใน 84 วัน คดีจึงยืดเยื้อกว่าปกติ และนานกว่าเวลาที่ใช้ในคดีแรก
 
7 กรกฎาคม 2558 อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องคดีที่สองของโอภาส ในคำฟ้องระบุว่าการเขียนฝาผนังห้องน้ำห้องที่สอง เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการเขียนฝาผนังห้องน้ำห้องแรก ข้อความในห้องน้ำคดีที่สองมีเนื้อหาคล้ายกับข้อความในห้องน้ำคดีแรก แต่ยาวกว่า และพาดพิงถึงบุคคลหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยใช้สมญานามแทนการเอ่ยชื่อบุคคลโดยตรง 
 
 
ประเด็นปัญหาทางกฎหมาย การเขียนห้องน้ำสองห้อง ถือเป็นการกระทำกรรมเดียวกันได้หรือไม่
 
การกระทำกรรมเดียว หมายถึง การกระทำโดยเจตนาเดียวกัน แม้จะมีการกระทำหลายอย่างประกอบกัน แต่เมื่อพิจารณาแล้วว่าการกระทำทั้งหมดทำลงไปภายใต้เจตนาเดียว ก็ถือเป็นการกระทำกรรมเดียว ซึ่งเมื่อทำไปแล้วผู้กระทำผิดจะถูกตั้งข้อหาและรับโทษได้เพียงครั้งเดียว 
 
การเขียนฝาผนังห้องน้ำทั้งสองครั้งของโอภาสยังไม่ถูกพิสูจน์ว่า เกิดขึ้นในวันเดียวกันและในเวลาต่อเนื่องกันหรือไม่ หากเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน คือ หลังจากเขียนฝาผนังห้องน้ำห้องแรกเสร็จก็เดินไปเขียนห้องต่อไปทันที โดยเนื้อความที่เขียนมีลักษณะเดียวกัน ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกัน และเป็นการกระทำกรรมเดียว 
 
ทั้งนี้ หากเป็นการกระทำกรรมเดียว เมื่อโอภาสถูกดำเนินคดีแรกไปแล้ว ก็ต้องถือว่าการกระทำนั้นได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว การนำข้อความบนฝาผนังห้องน้ำอีกห้องหนึ่งมาเป็นคดีที่สอง ย่อมเท่ากับดำเนินคดีต่อบุคคลเดิมสองครั้ง จากการกระทำเดียวกัน ซึ่งขัดกับหลักการของกฎหมายอาญา จึงไม่สามารถทำได้
 
เนื่องจากโอภาสต้องการรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาทันทีในวันที่ขึ้นศาล เพื่อต้องการให้คดีเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด ทำให้ทั้งสองคดีไม่มีการสืบพยาน และไม่มีการต่อสู้ในประเด็นที่ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือไม่ สาเหตุที่จำเลยไม่ต้องการต่อสู้คดี เพราะคดีของเขาถูกพิจารณาที่ศาลทหารภายใต้สถานการณ์การเมืองที่รัฐบาลคสช.มุ่งเน้นปราบปรามผู้กระทำผิดมาตรา 112 ทำให้โอภาสไม่เชื่อมั่นว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากการต่อสู้คดีในศาลทหาร เขาจึงต้องการรับสารภาพเพื่อให้ได้รับการลดหย่อนโทษ และเมื่อคดีถึงที่สุดทั้งสองคดีแล้วจะได้มีสิทธิยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ หรือขอพักโทษต่อไป
 
 
สถานการณ์คดีมาตรา 112 ที่ศาลทหาร หลังการรัฐประหาร 2557
 
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตามที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพบันทึกได้ คือ อย่างน้อย 54 คน [ดูข้อมูลบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองทั้งหมดได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/politically-charged]
 
ตามที่คสช.ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 กำหนดให้คดีความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรทุกคดีต้องพิจารณาที่ศาลทหาร คดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นหลังวันออกประกาศจึงต้องขึ้นศาลทหารทั้งหมด ทำให้จนถึงปัจจุบันมีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ที่ศาลทหารอย่างน้อย 39 คน 
 
การพิจารณาคดีที่ศาลทหารมีกระบวนการคล้ายกับศาลพลเรือน ต่างกันที่ตุลาการผู้ตัดสินคดีและอัยการ เป็นข้าราชการทหาร โดยตุลาการในคดีหนึ่งๆ ต้องมีองค์คณะ 3 คน ซึ่งพระธรรมนูญศาลทหารกำหนดให้ตุลาการต้องมีความรู้ทางนิติศาสตร์อย่างน้อย 1 คน ส่วนอีก 2 คน เป็นนายทหารระดับสูงซึ่งไม่ต้องมีความรู้ทางนิติศาสตร์ก็ได้ ทำให้พลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหารด้วยข้อหาทางการเมืองไม่มั่นใจในการต่อสู้คดี และจำเลยที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการดำเนินคดีก็มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจรับสารภาพ เพื่อให้ได้รับการลดหย่อนโทษและให้คดีจบโดยเร็ว
 
ก่อนหน้าคดีของโอภาส ศาลทหารเคยพิพากษาให้จำคุกจำเลยตามมาตรา 112 มาแล้วหลายคดี เช่น คฑาวุธ นักจัดรายการวิทยุออนไลน์ ถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี 'สมศักดิ์ ภักดีเดช' ผู้ดูแลเว็บไซต์ ถูกพิพากษาให้จำคุก 9 ปี เธียรสุธรรม ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อใหญ่ แดงเดือด ถูกพิพากษาให้จำคุก 50 ปี จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 5 ข้อความ พงษ์ศักดิ์ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Sam Parr ถูกพิพากษาให้จำคุก 60 ปี จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ ซึ่งทั้งหมดได้รับการลดโทษครึ่งหนึ่ง เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ
 
ในบรรดาคดีการเมืองช่วงหลังรัฐประหาร คดีแรกของโอภาส ที่ศาลทหารพิพากษาให้จำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เป็นคดีที่ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุกน้อยที่สุด และคดีที่สองที่เพิ่งตามมาก็เช่นกัน
 
 
ดูรายละเอียดคดีของโอภาสเพิ่มเติม ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/634