1118 1943 1552 1172 1500 1704 1978 1632 1472 1929 1412 1667 1295 1693 1003 1130 1346 1033 1580 1939 1324 1108 1288 1160 1809 1912 1857 1241 1701 1916 1764 1826 1119 1008 1064 1780 1589 1690 1629 1638 1940 1659 1127 1948 1834 1532 1910 1709 1217 1730 1665 1670 1398 1130 1210 1465 1318 1946 1023 1273 1758 1456 1163 1697 1882 1662 1936 1799 1692 1361 1698 1052 1950 1460 1892 1831 1538 1316 1450 1081 1439 1877 1075 1709 1605 1670 1896 1317 1720 1818 1511 1261 1935 1751 1590 1716 1575 1405 1268 ปล่อยตัว "อานนท์-ภาณุพงศ์" แล้ว แต่การคุกคามยังไม่จบ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ปล่อยตัว "อานนท์-ภาณุพงศ์" แล้ว แต่การคุกคามยังไม่จบ

วันที่ 8 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา และ ภานุพงศ์ จาดนอก สองผู้ร่วมชุมนุมและปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่ม 'เยาวชนปลดแอก' (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น "ประชาชนปลดแอก") เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยกำหนดวงเงิน 100,000 บาท และไม่ต้องวางหลักประกัน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมในวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนจะพาตัวไปขอศาลอำนาจศาลฝากขังทันทีระหว่างการสอบสวน
 
อย่างไรก็ดี การปล่อยตัว 2 ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีบุคคลอีกอย่างน้อย 5 คนที่ถูกออกหมายจับ และอาจจะมีคนถึง 31 คน ถูกดำเนินคดี ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจจะต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับทั้ง "อานนท์" และ "ภาณุพงศ์" เช่น การตั้งข้อหาหนักกับการใช้สิทธิเสรีภาพ การออกหมายจับอย่างเร่งด่วน การไม่ให้สิทธิพบทนายความ รวมถึงการเปิดศาลนอกเวลาราชการเพื่อขอฝากขัง เป็นต้น
 
ปล่อยตัว 2 ผู้ต้องหา แต่มีอีกอย่างน้อย 5 คน ถูกออกหมายจับ
 
แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัว อานนท์ นำภา และภานุพงศ์ จาดนอก สองผู้ต้องหาจากคดีปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเป็นการชั่วคราว (ศาลให้ประกันตัว) แต่จากหมายจับของ 'อานนท์' ได้ระบุว่า เขาคือ ผู้ต้องหาคนที่เจ็ด หรือ หมายความว่า ยังมีอีกอย่างน้อย 6 คน ที่ถูกออกหมายจับเช่นเดียวกับเขา ซึ่งเท่าที่ทราบ มีผู้ที่รับทราบเรื่องหมายจับแล้วอย่างน้อย 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และ พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน
 
นอกจากนี้ ในเอกสารรายงานการสืบสวนของสำนักงานตำรวจสันติบาล และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ทางกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้นำออกมาเผยแพร่ ยังพบว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการติดตามบุคคลอีกอย่างน้อย 31 คน โดยมีทั้งชื่อผู้ที่ถูกออกหมายจับแล้ว 3 คน กับรายชื่อผู้ที่ขึ้นปราศรัยหรือเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว เช่น จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท. ทัตเทพ เรื่องประไพกิจเสรี แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) สิรินทร์ มุ่งเจริญ รองประธานสภานิสิต จุฬาฯ รวมถึงกลุ่มศิลปินวงสามัญชนและ Rap Against Dictatorship เป็นต้น
 
ตำรวจตั้งข้อหาหนัก เปิดช่องออกหมายจับก่อนออกหมายเรียก
 
จากเอกสารในหมายจับของตำรวจของ อานนท์ และภาณุพงศ์ ได้ระบุข้อกล่าวหาไว้อย่างน้อย 8 ข้อ ได้แก่
 
  • ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุม โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมก่อความวุ่นวายตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 กีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  • ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
  • ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 วางสิ่งของกีดขวางทางจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  • ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษปรับไม่เกิน 200 บาท
  • ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34(6) กระทำการอันอาจก่อสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  • พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 วางสิ่งของบนท้องถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
การตั้งข้อหาดังกล่าว มีข้อสังเกตอยู่อย่างน้อยสองประการ ได้แก่ 
 
ประการที่หนึ่ง เป็นการตั้งข้อหาหนักกว่าการกระทำ อาทิ การแจ้งข้อหา "ยุยงปลุกปั่นฯ" ตามมาตรา 116 เป็นข้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่การกระทำของบุคคลที่ถูกออกหมายจับเป็นเพื่อการปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธอันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง 
 
ที่ผ่านมา ศาลก็เคยมีคำพิพากษายกฟ้องคดีตามมาตรา 116 ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ "ยกฟ้อง" พร้อมระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวไม่ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร แม้บางถ้อยคำไม่เหมาะสม ล้ำเกินไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ การกระทำของจำเลยเป็นการติชมตามหลักประชาธิปไตย 
 
ประการที่สอง คือ ตำรวจใช้ข้อหาหนักเพื่อเร่งรัดออกหมายจับแกนนำและผู้ปราศรัย เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 (1) กำหนดให้ตำรวจสามารถออกหมายจับได้ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวถูกตั้งข้อหาในอัตราโทษจำคุกสูงเกินสามปี ดังนั้น การที่ตำรวจตั้งข้อหาต่อผู้จัดและผู้ร่วมชุมนุมด้วยข้อหาที่มีโทษสูง เช่น ความผิดฐาน "มั่วสุมก่อความวุ่นวายฯ" (โทษจำคุก 10 ปี) หรือความผิดฐาน "ยุยงปลุกปั่นฯ" (โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี) จึงเปิดช่องให้ตำรวจออกหมายจับได้แทนการใช้การออกหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนอย่างที่เคยทำมา
 
กระบวนการยุติธรรม "ไม่โปร่งใส-ละเมิดสิทธิ"
 
ในการจับกุม 'อานนท์' และ 'ภานุพงศ์'  มีเหตุการณ์ที่สะท้อนความไม่โปร่งใสและเข้าข่ายละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาอยู่อย่างน้อยสามกรณี ดังนี้
 
หนึ่ง การแยกสอบสวนผู้ต้องหาคนละสถานที่ 
 
ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม 'อานนท์' ตำรวจได้พาตัวเขามาสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ต่อมาตำรวจได้เข้าจับกุมตัว 'ภาณุพงศ์' จากนั้นจึงพาตัวเขามาที่ สน.สำราญราษฎร์ เช่นเดียวกัน แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจได้แยกตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนไปสอบสวนคนละสถานที่ โดยพาอานนท์ไปสอบสวนที่ สน.บางเขน ซึ่งไม่มีเขตอำนาจใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และสอบสวนภาณุพงศ์ อยู่ที่สน.สำราษราษฏร์ เช่นเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จะใช้สถานที่ใดเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา
 
สอง ไม่ให้สิทธิผู้ต้องหาพบทนายความหรือคนที่ไว้วางใจ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนจะบังคับให้ ภาณุพงศ์ เซ็นบันทึกคำให้การโดยมีทนายความที่ตำรวจเป็นผู้จัดหาให้ แต่ภาณุพงศ์ปฏิเสธเนื่องจากมีทนายความอยู่แล้ว และทนายความกำลังเดินทางมาที่ สน. แต่พนักงานสอบสวนจะนำตัวไปศาลโดยไม่รอทนาย และไม่ให้บุคคลที่ไว้วางใจได้เข้าพบ
 
ทั้งที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 กำหนดให้ ตำรวจถามผู้ต้องหาว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้จัดหาให้ และในมาตรา 134/3 ก็กำหนดให้ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความให้โดยไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้ต้องหาจึงเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
 
สาม ศาลพิจารณาฝากขังผู้ต้องหานอกเวลาราชการ
 
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อการสอบสวนไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากครบกำหนดจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือต้องนำตัวไปที่ศาลเพื่อขอฝากขัง หรือหมายความว่า เจ้าหน้าที่มีเวลาสอบสวนถึง 48 ชั่วโมง ถ้าไม่พอจึงไปขออำนาจศาลเพื่อควบคุมตัวบุคคลไว้ต่อได้ 
 
แต่ในการจับกุมอานนท์และภาณุพงศ์ กลับพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเร่งรีบในการพาตัวไปขออำนาจศาลฝากขังทั้งที่ยังมีเวลาควบคุมตัวเหลือ อีกทั้ง ยังพาผู้ต้องหามาฝากขังใกล้กับเวลาปิดทำการของศาล แม้จะมีประกาศขยายเวลาทำการไปจนถึงเวลา 20.30 น. แต่กว่าศาลจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นก็ประมาณ 22.00 น. ซึ่งถือเป็นนอกเวลาราชการ ทำให้สุดท้ายศาลมีคำสั่ง "คืนคำร้อง" ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมายื่นขอฝากขังใหม่ 
 
คำสั่งคืนคำร้องดังกล่าวนับเป็น "เรื่องใหม่" ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่ศาลเปิดทำการนอกเวลาราชการมาก่อน เช่น คดีฝากขังสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จำนวน 14 คน ที่ศาลทหารกรุงเทพได้เปิดทำการถึงเที่ยงคืน เพื่อรอพนักงานสอบสวนนำตัว 14 ผู้ต้องหา ซึ่งถูกจับในเย็นวันเดียวกันมาฝากขัง แต่เหตุการณ์นี้เกือบจะเกิดขึ้นซ้ำในศาลยุติธรรม