1655 1176 1654 1231 1294 1758 1570 1913 1807 1431 1451 1207 1169 1817 1179 1922 1965 1866 1106 1057 1339 1396 1245 1197 1753 1925 1243 1259 1406 1641 1653 1421 1659 1236 1383 1166 1108 1632 1872 1406 1458 1828 1462 1114 1164 1454 1316 1435 1161 1741 1965 1268 1470 1427 1730 1966 1164 1890 1882 1495 1758 1863 1824 1048 1969 1530 1697 1007 1699 1508 1267 1617 1267 1058 1510 1194 1502 1341 1355 1311 1179 1257 1640 1042 1699 1768 1023 1398 1892 1439 1009 1669 1690 1838 1400 1368 1991 1455 1890 ปิดประตูศาลทหาร เปิดม่านศาลยุติธรรม: ข้อเสนอ 3 ประการ นำคดีพลเรือนออกจากศาลทหาร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ปิดประตูศาลทหาร เปิดม่านศาลยุติธรรม: ข้อเสนอ 3 ประการ นำคดีพลเรือนออกจากศาลทหาร

เขียนโดย นันธพงษ์ ศรแก้ว
แก้ไขเพิ่มเติมโดย iLaw
 
 
“ทหารเป็นกลุ่มคนที่แตกต่างจากกลุ่มของประชาชน พวกเขาถูกปกครองโดยกฎหมายที่แตกต่างออกไปและมีความเชื่อฟังอย่างยิ่งยวดต่อคำสั่งของนายทหารผู้บังคับบัญชา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือหลักการแต่เพียงประการเดียวของทหาร” คำวิจารณ์กองทัพของสมาชิกรัฐสภาอังกฤษในศตวรรษที่ 18(1)  
 
นับแต่การเข้ายึดอำนาจการปกครอง ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่อยมาจนถึงการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557  ที่กำหนดให้คดีของพลเรือนต้องพิจารณาที่ศาลทหาร ผู้เขียนเชื่อว่าในเวลาที่ “บ้านเมืองไม่ปกติ” เช่นนี้ บทบาทของศาลทหารจะได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก และขณะเดียวกันก็จะนำพาให้มีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน
 
ต่อมา แม้จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 และมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 55/2559 ตามมาตรา 44 ให้ยุติการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 อันช่วยให้ภาพลักษณ์สถานการณ์การเมืองไทยในสายตาประชาคมโลกดูดีขึ้นมาบ้างก็ตาม แต่คดีของพลเรือนอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารนั้น ก็ยังดำเนินต่อไป และไม่ได้โอนคดีกลับไปยังศาลยุติธรรม 
 
คณาจารย์และทนายความของพลเรือนที่ต้องตกเป็นจำเลยในศาลทหารได้หยิบยกเหตุผลขึ้นต่อสู้สุดกำลังแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผล เพราะเมื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ถูกศาลทหารปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าศาลทหารไม่มีหน้าที่ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 
 
หรือแม้ว่า จะมีการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ก็ยังติปัญหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญถูกจำกัดกรอบให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เท่านั้น และตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4  ที่กำหนดคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็เขียนขึ้นต้นว่า “ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้…” ประกอบกับเมื่อเลื่อนไปมองมาตรา 44 ซึ่งให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจออกกฎหมายได้ทุกอย่าง และในมาตรา 47 ก็ได้บัญญัติรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติไว้ทั้งหมดแล้ว จึงพอจะเรียกได้ว่าช่องทางโต้แย้งเรื่องความเป็นกลางและความเป็นอิสระของศาลทหารถูกปิดไว้หมดแล้วภายใต้ระบบกฎหมายของบ้านเมือง 
 
แล้วพระราชบัญญัติว่าอย่างไร ในกรณีที่รัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่งไมได้? พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 45 กำหนดว่า วิธีพิจารณาความอาญาทหารให้นำกฎหมายของฝ่ายทหารมาใช้บังคับ หากไม่มี ให้ใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยอนุโลม และหากกฎหมายนี้ไม่มีบทบัญญัติเฉพาะ ให้นำกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่จะใช้ได้ ดังนั้น ในเรื่องการโอนคดีของพลเรือนกลับไปศาลพลเรือนให้หมด จึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 26 ซึ่งกำหนดว่า ถ้าลักษณะความผิด ฐานะจำเลย จำนวนจำเลย ความรู้สึกของประชาชนส่วนมากแห่งท้องถิ่นนั้น หรือเหตุผลอย่างอื่น อาจมีการขัดขวางการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณา หรือน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายอย่างอื่น หรืออาจกระทบต่อประโยชน์ที่สำคัญอื่นของรัฐ เมื่อโจทก์หรือจำเลยร้องขอหรือศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาทำความเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกาขอให้โอนคดีไปยังศาลอื่น ถ้าประธานศาลฎีกาเห็นควรอนุญาต ก็ให้สั่งโอนคดีไปยังศาลที่ประธานศาลฎีการะบุไว้ 
 
ซึ่งเคยมีตัวอย่างคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการโอนคดีอาญามาแล้วหลายครั้ง เช่น คำสั่งคำร้องที่ 1/2526 และคำสั่งคำร้องที่ 52/2527 กระนั้นก็ดี คำสั่งคำร้องที่ 966/2516, คำสั่งคำร้องที่ 191/2522 และ คำสั่งคำร้องที่ 512/2522 ทั้งหมดออกมาในแนวทางเดียวกัน คือ ประธานศาลฎีกาชี้ว่า คดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารไม่อยู่ในอำนาจประธานศาลฎีกาที่จะสั่งโอนคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 26 ซึ่งใช้บังคับกับคดีในอำนาจศาลยุติธรรมเท่านั้น จะเห็นว่าภายใต้ระบบกฎหมายปัจจุบันนั้น หากพลเรือนต้องการหลุดพ้นจากอำนาจศาลทหาร ก็ดูเหมือนว่าถึงทางตันไปหมด 
 
ดังนั้น ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดวิธีการ 3 ประการ ที่จะนำคดีที่พลเรือนเป็นจำเลยในศาลทหารอยู่ก่อนมีคำสั่งฯ ฉบับที่ 55/2559 โอนกลับไปอยู่ภายใต้การพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนี้
 
วิธีแรก ออกกฎหมายนิโทษกรรม อาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติตามหลักการนิติรัฐและประชาธิปไตยดังสถานการณ์บ้านเมืองเป็นปกติ โดยรอเวลาหลังการเลือกตั้งใหม่ ให้รัฐสภาตรากฎหมายโอนคดีขของพลเรือนที่พิจารณาค้างอยู่ในศาลทหารกลับไปพิจารณายังศาลพลเรือนทั้งหมด หรือทางที่ดี ในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งใหม่ รัฐสภาควรออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม ให้กับคดีความที่มีมูลเหตุจูงใจจากเรื่องทางการเมืองทั้งหมด วิธีการนี้ถือว่าเป็นยิ่งกว่าการโอนคดี เพราะความผิดหรือความรับผิดทางอาญาของจำเลยจะไม่มีอยู่อีกต่อไป ไม่ใช่แค่ว่าต้องไปสู้คดีที่ศาลพลเรือน ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 20 กว่าฉบับ นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีทั้งการนิรโทษกรรมในความผิดเกี่ยวกับการก่อกบฏ ก่อรัฐประหาร การชุมนุมทางการเมือง(2)
 
ในแง่ผลของการนิรโทษกรรมก็จะเป็นไปตามที่บัญญัติ เช่น “พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535”  ได้บัญญัติ “นิรโทษกรรมอย่างกว้าง” เอาไว้ในมาตรา 3 ว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”  
 
ในขณะที่ มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ก็ได้บัญญัติถึงการ “นิรโทษกรรมอย่างแคบ” คือ นิรโทษกรรมเฉพาะการกระทำบางอย่างเอาไว้ว่า “บรรดาการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 และบรรดาการกระทำอันเป็นความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเนื่องจากการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันดังกล่าว ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกระทำอันเป็นความผิดต่อชีวิต ให้ถือว่าการกระทำนั้น ๆ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ...”(3)
 
วิธีที่สอง ยื่นคำร้องขอโอนคดีในทุกคดี วิธีการนี้เป็นวิธีการในทางปฏิบัติ ซึ่งจะใช้เวลาและขั้นตอนมากและต้องเพิ่มภาระให้กับคู่ความในทุกคดี แต่ก็มีความเป็นไปอย่างชัดเจนได้ในทางกฎหมาย หากสถาบันตุลาการทั้งศาลทหารและศาลพลเรือนเห็นประโยชน์ร่วมกันในการโอนคดีของพลเรือนกลับไปขึ้นศาลพลเรือนให้หมด กล่าวคือ ให้จำเลยที่เป็นพลเรือนในศาลทหารทุกคนยื่นคำร้องต่อศาลทหารในคดีของตัวเอง โต้แย้งว่าคดีของตนควรต้องพิจารณาที่ศาลพลเรือน ด้วยเหตุว่า จำเลยเป็นพลเรือน ไม่ใช่ทหาร
 
หลังจากนั้น ขั้นตอนการพิจารณาจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 คือ ศาลทหารจะต้องทำคำวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจของตนเอง และส่งเรื่องให้ศาลพลเรือนวินิจฉัยด้วยว่า คดีนั้นๆ ควรพิจารณาที่ศาลใด หากทั้งศาลทหารและศาลพลเรือนทำความเห็นออกมาตรงกัน คือ เห็นว่า พลเรือนควรถูกพิจารณาที่ศาลพลเรือนเท่านั้น ไม่ควรถูกพิจารณาที่ศาลทหาร ก็จะมีผลให้ต้องโอนคดีนั้นไปพิจารณาต่อในศาลพลเรือนทันที 
 
วิธีสุดท้าย เป็นการอาศัยแนวคิดของนักนิติปรัชญาชาวเยอรมันนามว่า Gustav Radbruch(4)  ซึ่งท่านมองว่ากฎหมายต้องเชื่อมโยงกับความยุติธรรม แม้สองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่กฎหมายจะมีความหมายก็ต่อเมื่อกฎหมายได้รับใช้ความยุติธรรม (Denn man kann Recht, auch positives Recht, gar nicht anders definieren denn als eine Ordnung und Satzung, die ihrem Sinn nach bestimmt ist, der Gerechtigkeit zu dienen.; For law, including positive law, cannot be otherwise defined as a system and an institution whose very meaning is to serve justice.) แนวคิดนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ  “Radbruch Formula”  อันเป็นทรรศนะต่อความขัดแย้งระหว่างความยุติธรรมกับความมั่นคงแน่นอนทางกฎหมายเพื่อหวังให้ศาลได้นำไปปรับใช้แก้ปัญหาคุณค่าสองอย่างข้างต้นที่ขัดแย้งกัน มี 3 สูตร ได้แก่
 
สูตรแรก กล่าวเป็นเบื้องต้นไว้ว่ากฎหมายที่มีเนื้อหาขัดหลักความยุติธรรมยังคงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ (dass das positive, durch Satzung und Macht gesicherte Recht auch dann den Vorrang hat, wenn es inhaltlich ungerecht und unzweckmäßig ist, es sei den.; the positive law, secured by legislation and power, takes precedence even when its content is unjust and fails to benefit the people…)
 
สูตรสอง กฎหมายใดก็ตาม เมื่อพิจารณาจากทรรศนะอันเป็นภาวะวิสัยแล้ว เป็นกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อความยุติธรรมจนถึงระดับที่ไม่สามารถทนทานได้ กฎหมายนั้นจะสูญเสียไปซึ่งผลบังคับ ไม่ผูกพันใดๆ ให้ต้องปฏิบัติตาม (dass der Widerspruch des positiven Gesetzes zur Gerechtigkeit ein so unerträgliches Maß erreicht, dass das Gesetz als »unrichtiges Recht« der Gerechtigkeit zu weichen hat.; the conflict between statute and justice reaches such an intolerable degree that the statute, as ‘flawed law’, must yield to justice) และผู้พิพากษาไม่อาจนำกฎหมายนั้นมาตัดสินคดีได้ ส่วนที่ว่าจะทนทานได้หรือไม่เพียงไร เป็นเรื่องมโนธรรมสำนึกของแต่ละคนที่จะระบุได้เอง
 
สูตรสาม กฎเกณฑ์ใดก็ตาม ตราขึ้นโดยไม่มีความพยายามแสวงหาความยุติธรรมเลย กฎเกณฑ์นั้นย่อมไม่มีค่าเป็นกฎหมาย (wo Gerechtigkeit nicht einmal erstrebt wird, wo die Gleichheit, die den Kern der Gerechtigkeit ausmacht, bei der Setzung positiven Rechts bewußt verleugnet wurde, da ist das Gesetz nicht etwa nur »unrichtiges Recht«, vielmehr entbehrt es überhaupt der Rechtsnatur.; Where there is not even an attempt at justice, where equality, the core of justice, is deliberately betrayed in the issuance of positive law, then the statute is not merely ‘flawed law’, it lacks completely the very nature of law. และผู้พิพากษาไม่อาจนำมาใช้ตัดสินคดีได้
 
ข้อความคิดนี้ทรงพลังทั้งแวดวงวิชาการและทางปฏิบัติ มีคดีเล่าขานมาสู่ชนรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังเช่น คดีที่ Puttfarken เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมแจ้งความดำเนินคดีกับ Göttig เพราะเขียนบนผนังว่า Hitler เป็นฆาตกรสังหารหมู่ ทำให้ Göttig ถูกพิพากษาประหารชีวิต ต่อมาภายหลังสงคราม Puttfarken ถูกฟ้องเป็นจำเลยข้อหาฆาตกรรม ศาลเห็นว่าไม่มีกฎหมายใดขณะนั้นกำหนดหน้าที่ให้ต้องแจ้งความเอาผิด เมื่อได้ใช้ประโยชน์จากศาลเสมือนเครื่องมือในการกระทำความผิดแม้ศาลจะกระทำการไปโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ทั้งได้เล็งเห็นว่ากระบวนพิจารณาจะนำพาความตายมาสู่ Göttig ดังนั้น Puttfarken จึงเป็นผู้กระทำความผิดโดยอ้อม และศาลพิพากษากักขังตลอดชีวิต
 
หากศาลทหารเห็นว่าการพิจารณาพิพากษาจำเลยที่เป็นพลเรือนต่อไปจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความยุติธรรมซึ่งไตร่ตรองโดยมโนธรรมสำนึกแล้วไม่อาจทนทานได้ ศาลทหารพึงยกฟ้อง ให้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลยุติธรรม หรืออัยการไม่พึงสั่งฟ้องแต่แรก ซึ่งแท้จริงก็มีแนวโน้มอยู่บ้างแล้วในคดีของ “แจ่ม” และ รินดา
 
“แจ่ม” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และความขัดแย้งในกองทัพ อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการฟ้องต่อศาลพลเรือนต่อไป ส่วนรินดาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการโพสต์เฟซบุุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนเงินจำนวนมหาศาลไปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นข้อหาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ศาลทหารพิจารณาสำนวนคดีแล้วเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีตามมาตรา 116 แต่น่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาและศาลพลเรือนมีความเห็นพ้องด้วย คดีจึงถูกจำหน่ายออกให้ไปฟ้องใหม่ที่ศาลของพลเรือน ในข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งมีโทษเบากว่าคดีตามมาตรา 116
 
เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายต้องเงียบเสียงลงแล้ว (inter arma silent leges) แต่ ณ เวลานี้ เสียงปืนสงบแล้ว ท่านผู้นำก็พูดเองว่าปัจจุบันบ้านเมืองสงบสุข แล้วอย่างนี้ กฎหมายที่รับใช้ความยุติธรรมจะมีเสียงขึ้นมาบ้างไม่ได้หรืออย่างไร
 
 
 
                                                            
อ้างอิง
(1) สุรชาติ บำรุงสุข, เสนาธิปไตย : รัฐประหารกับการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558. 304 หน้า, หน้า 46.
(2) ผู้สนใจ โปรดอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://hilight.kapook.com/view/89598 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 รวมทั้งเว็บไซต์ http://prachatai.com/journal/2013/02/45545 เรื่อง “ประวัติศาสตร์นิรโทษกรรม” 14 ตุลา- 6 ตุลา- พฤษภา 35 และไม่ควรพลาดงานของเรา เข้าถึงได้ที่เว็บไซต์ https://ilaw.or.th/node/562 เรื่อง การนิรโทษกรรมกับสังคมไทย 
(3) อ้างอิงจากเว็บไซต์ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1622 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559
(4) อ้างอิงเนื้อหาจากคำบรรยายวิชานิติปรัชญา 1 โดย รศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม โปรดดูบทความฉบับภาษาเยอรมัน
 
 
 
ชนิดบทความ: