1038 1091 1446 1558 1915 1557 1799 1497 1450 1395 1921 1186 1993 1414 1812 1168 1991 1818 1548 1280 1391 1334 1521 1679 1225 1159 1553 1259 1334 1872 1106 1996 1299 1534 1188 1310 1651 1769 1475 1142 1522 1847 1649 1620 1780 1128 1531 1984 1938 1677 1331 1706 1632 1153 1923 1808 1599 1520 1760 1230 1631 1426 1483 1991 1927 1547 1656 1240 1727 1395 1690 1094 1857 1535 1754 1157 1123 1545 1994 1027 1204 1178 1827 1148 1812 1202 1746 1791 1911 1219 1090 1047 1961 1822 1128 1874 1423 1192 1470 สถิติน่าสนใจ เกี่ยวกับการประกันตัวคดี 112 ในยุครัฐบาลคสช. | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สถิติน่าสนใจ เกี่ยวกับการประกันตัวคดี 112 ในยุครัฐบาลคสช.

8 มีนาคม 2559 ฐนกร จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ถูกกล่าวหาว่ากดไลค์เพจหมิ่นและโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยศาลทหารกรุงเทพตีราคาประกันที่ 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ โดยก่อนได้รับการปล่อยตัวฐนกรถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาแล้วรวม 86 วัน ถือเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 คนล่าสุดที่ได้ประกันตัว ท่ามกลางคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ประกันตัว
 
ย้อนดูสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิทธิการประกันตัว ของผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ในยุครัฐบาลคสช.
 
+ ตั้งแต่การรัฐประหาร ตั้งข้อหา 62 คน ได้ประกันตัว 12 คน
 
เท่าที่บันทึกข้อมูลไว้ ฐนกรเป็นจำเลยคดี 112 ที่ถูกตั้งข้อหาหลังการรัฐประหารแล้วได้รับการประกันตัวคนที่ 12 จากจำนวนผู้ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 62 คน 
 
โดยในจำนวน 12 คน จำเลย 6 คนได้ประกันตัวโดยศาลทหารกรุงเทพ 2 คนโดยศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น โดยศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายกับศาลอาญาแห่งละคน และได้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน 2 คน
 
ดูตารางคนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมดที่ http://freedom.ilaw.or.th/politically-charged
 
+ หลักทรัพย์ประกันตัว สูงสุด 500,000 ต่ำสุด 100,000
 
ในส่วนของเงินหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัว เท่าทีมีข้อมูลฐนกรเป็นคนที่ต้องวางเงินประกันคิดเป็นมูลค่าสูงที่สุด คือ 500,000 บาท ซึ่งตอนแรกฐนกรยื่นขอประกันตัวด้วยเงินสด 900,000 บาท แต่เมื่อศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัว ก็สั่งลดราคาหลักทรัพย์ลงมาอยู่ที่ 500,000 บาท
 
คดีที่ใช้หลักทรัพย์สูงรองลงมาเป็นบัณฑิต, "เนส", นิรันดร์ คนละ 400,000 บาท ส่วนประจักษ์ชัย จำเลยที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิตและป่วยด้วยโรคตับ ศาลทหารกรุงเทพกำหนดหลักทรัพย์ต่ำที่สุดเป็นสลากออมสินมูลค่า 100,000 บาท
 
+ หลักทรัพย์สูงสุดที่ยื่นแล้ว แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว คือ 2.5 ล้านบาท
 
สำหรับจำเลยอีกอย่างน้อย 48 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ บางคนไม่ได้ยื่นขอประกันตัวเพราะไม่มีหลักทรัพย์ บางคนยื่นประกันแล้วแต่ศาลไม่อนุญาต โดย โอภาส จำเลยสูงวัยจากคดีเขียนฝาผนังห้องน้ำ ที่มีปัญหาสุขภาพรุมเร้าทั้งความดันและโรคตา เคยยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาทพร้อมยื่นหลักฐานการรักษาพยาบาลประกอบการขอประกันตัวถึง 4 ครั้ง แต่ศาลก็ไม่อนุญาตทั้งสี่ครั้ง 
 
+ คดีที่ขอประกันตัวแต่ศาลปฏิเสธ มากครั้งที่สุด คือ คฑาวุธ ยื่นขอไป 5 ครั้ง 
 
คฑาวุธ จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าจัดรายการวิทยุที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เป็นจำเลยที่เคยยื่นประกันตัวมากครั้งที่สุดหลังการรัฐประหารโดยยื่นรวมห้าครั้ง สี่ครั้งยื่นต่อศาลอาญาในชั้นฝากขัง และครั้งที่ห้าที่ศาลทหารกรุงเทพ (คดีของคฑาวุธ ในการฝากขังครั้งแรกฝากขังต่อศาลอาญา แต่ต่อมาคดีถูกย้ายจากศาลอาญาไปศาลทหาร) โดยเคยยื่นเงินประกันสูงสุด 500,000 บาท ซึ่งศาลไม่อนุญาตทั้ง 5 ครั้ง
 
หากนับคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนรัฐบาลคสช. ด้วย สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณซึ่งถูกฟ้องตั้งแต่ปี 2554 เป็นจำเลยที่ยื่นขอประกันตัวมากครั้งที่สุด เท่าที่บันทึกข้อมูลไว้ คือ 16 ครั้ง โดยใช้หลักทรัพย์สูงสุดเป็นโฉนดที่ดินสองฉบับมูลค่ารวม 3.7 ล้านบาท แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
 
 
419
 
 
แม้ว่าโดยหลักการ การประกันตัวเป็นสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งศาลต้องพิจารณาให้ประกันเป็นหลัก กรณีที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัวต้องเป็นเข้าข้อยกเว้น โดยต้องมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จำเลยมีแนวโน้มที่จะหลบหนี หรือมีความสามารถหรืออิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ แต่การพิจารณาคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องคดี 112 ดูจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามเพราะส่วนใหญ่จำเลยมักไม่ได้รับการประกันตัว โดยหลายคดีศาลให้เหตุผลของการไม่อนุญาตให้ประกันตัวว่า เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ กระทบจิตใจของประชาชน คดีมีอัตราโทษสูง จึงเชื่อว่าหากให้ประกันตัวจำเลยน่าจะหลบหนี
 

ตัวอย่างเช่น โอภาส ซึ่งเป็นชายสูงอายุ มีครอบครัว มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในประเทศไทย และมีปัญหาสุขภาพจึงไม่น่าจะหลบหนีได้ หรือกรณี "ธเนศ" จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อีเมลส่งลิงค์เว็บไซต์ที่มีเนื้อหมิ่นฯไปให้ชาวต่างชาติ ก็เป็นผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต ต้องมีญาติคอยดูแล ทั้งจำเลยและครอบครัวมีฐานะยากจน จึงไม่น่าจะหลบหนีได้   

 
การที่ศาลทหารกรุงเทพสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในคดีของ ฐนกร ถือเป็นการประกันสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของจำเลยในคดีอาญา ซึ่งควรจะถูกนำไปใช้กับจำเลยหรือผู้ต้องหารายอื่นๆ การสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาที่สุดเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก 
 
การไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยประกันตัวโดยไม่มีเหตุจำเป็นที่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้เปรียบเสมือนการนำผู้บริสุทธิไปคุมขัง ก่อนหน้านี้มีกรณีของ จารุวรรณ อานนท์ และชาติชาย ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเพราะมีข้อความหมิ่นปรากฎบนเฟซบุ๊กของจารุวรรณ ซึ่งเคยถูกคุมขังในชั้นสอบสวน 85 วันระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงกุมภาพันธ์ 2558 ก่อนได้รับการปล่อยตัวเพราะอัยการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งสามจึงถือเป็นผู้บริสุทธิ์ 
 
หรือกรณีของประจักษ์ชัย, "เนส" และชาติชาย ซึ่งถูกคุมขังอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่ศาลจะให้ประกันตัวภายหลัง โดยเฉพาะในกรณีของ "เนส" ซึ่งสุดท้ายศาลพิพากษาให้รอลงอาญา และกรณีของชาติชาย ที่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่เวลาและโอกาสของพวกเขาที่สูญเสียไประหว่างการถูกฝากขังก็ไม่มีผู้ใดสามารถรับผิดชอบได้
 
หากคดีของฐนกรจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าศาลเห็นความสำคัญของสิทธิของจำเลยในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากขึ้น และนำไปใช้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยคดี 112 คนอื่นก็น่าจะถือเป็นเรื่องดี