1490 1804 1435 1175 1146 1444 1128 1629 1252 1585 1537 1721 1439 1397 1901 1652 1623 1483 1117 1049 1349 1594 1694 1437 1660 1258 1893 1948 1962 1434 1521 1252 1542 1201 1393 1924 1744 1219 1741 1383 1678 1599 1621 1903 1890 1444 1422 1555 1432 1623 1006 1568 1064 1187 1442 1206 1213 1691 1350 1417 1929 1651 1558 1315 1962 1817 1485 1718 1171 1355 1476 1734 1365 1523 1017 1955 1801 1297 1812 1350 1551 1742 1552 1586 1365 1337 1501 1530 1496 1581 1993 1459 1141 1153 1368 1726 1670 1956 1928 แอบดูคดี 112 ฉบับอาหรับราตรีในบาห์เรน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

แอบดูคดี 112 ฉบับอาหรับราตรีในบาห์เรน

ตามรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ในปัจจุบันมีประเทศที่มีพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีเป็นประมุขของรัฐอยู่ 43 ประเทศ  บางประเทศพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีมีสถานะเป็นประมุขของรัฐในเชิงพิธีกรรมแต่ไม่มีอำนาจทางบริหาร เช่น ญี่ปุ่น เบลเยียม สวีเดน หรือสหราชอาณาจักร ขณะที่ประเทศอย่างบรูไน หรือประเทศในตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบีย และการ์ตา พระมหากษัตริย์หรือสุลต่านเป็นประมุขแห่งรัฐที่มีอำนาจในทางบริหาร
 
บาห์เรน เป็นประเทศในตะวันออกกลางอีกหนึ่งประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ แม้ในทางทฤษฎี บาห์เรนจะปกครองโดยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitution Monarchy) แต่ในทางปฏิบัติพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐก็มีอำนาจในทางการเมืองขณะที่สมาชิกในคณะรัฐมนตรีก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นญาติของพระมหากษัตริย์ เช่น นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เชค คอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์เป็นพระปิตุลา (ลุง) ของกษัตริย์ ฮามัด บิน อิซา อัล คอลิฟะห์ สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกของบาห์เรนก็มีความคล้ายคลึงกับไทย ตรงที่มีการดำเนินคดีบุคลลที่วิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านสุลต่าน เหมือนกับในไทยที่มีการดำเนินคดีบุคคลด้วยมาตรา 112
 

กฎหมาย "หมิ่นฯ" ในบาห์เรน

บาห์เรนเป็นเกาะเล็กๆ ในอ่าวเปอร์เซียมีกรุงมานามาเป็นเมืองหลวง จากข้อมูลของกระทรวงข้อมูลข่าวสารของบาห์เรน ในปี 2557 บาห์เรนมีประชากรประมาน 1.316 ล้านคน  บาห์เรนเคยเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษก่อนจะได้รับเอกราชในปี 2514  หลังได้รับเอกราชบาห์เรนใช้ชื่อทางการว่ารัฐบาห์เรน (State of Bahrain) มีอามีร์ หรือผู้ปกครองรัฐเป็นประมุขของประเทศก่อนที่ในปี 2545 บาห์เรนจะเปลี่ยนชื่อประเทศจากรัฐบาห์เรนเป็นราชอาณาจักรบาห์เรนและเปลี่ยนตำแหน่งประมุขแห่งรัฐจากอามีร์ (Amir) เป็นกษัตริย์ (King)  
 
551
 
(กษัตริย์ฮามัด บิน อิซา อัล คอลิฟะห์ ประมุขของบาห์เรน - ภาพจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย
 
ตำแหน่งประมุขแห่งรัฐของบาห์เรนถูกคุ้มครองโดยมาตรา 214 ของประมวลกฎหมายอาญาปี 2519 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้กระทำการล่วงเกินต่อผู้ปกครองรัฐ ธงชาติ หรือตราแผ่นดินจะต้องรับโทษจำคุก"  ในเดือนเมษายน 2556 มีรัฐบาลบาห์เรนเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 214 โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกิน 10,000 ดินาร์ (ประมาณ 910,000 บาท) กับผู้ที่กระทำการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือล่วงละเมิดต่อสัญลักษณ์ของชาติ (เช่นธงชาติหรือตราแผ่นดิน)  ต่อมาในปี 2557 มีการแก้กฎหมายมาตรานี้อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำหนึ่งปีและโทษสูงสุดไม่เกินเจ็ดปีและโทษปรับ 1,000 ดินาร์ (91,000 บาท) ถึง 10,000 ดินาร์ (910,000 บาท)  

ตามรายงานของศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งบาห์เรน (Bahrain Center for Human Rights) (หน้า 6) หนึ่งในสมาชิกสภาสูงของบาห์เรนแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้กฎหมายว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นตัวแทนแห่งรัฐ การเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดจึงมีความจำเป็นโดยเฉพาะ เมื่อมีการละเมิดกฎหมายมากขึ้นในโลกออนไลน์    
 

อิสรภาพ กับ 140 ตัวอักษร

ที่บาห์เรน การแสดงความเห็นที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 214 หลายคดีเกิดขึ้นในทวิตเตอร์ซึ่งต่างจากกรณีของไทยซึ่งเท่าที่มีข้อมูลยังไม่มีคดีใดที่เกิดจากการเผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ 
 
วันที่ 17 ตุลาคม 2552 ชายชาวบาห์เรนสี่คนถูกจับและควบคุมตัวหลังถูกสงสัยว่าเขียนข้อความที่เข้าข่ายเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ของบาห์เรน ห้าวันต่อมาในวันที่ 22 ตุลาคม ทั้งสี่ถูกนำตัวไปที่ศาล โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2555 หนึ่งในผู้ต้องหาซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยชื่อ ถูกพิพากษาว่ามีความผิดและถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ส่วนผู้ต้องหาอีกสามคนที่เหลือยังไม่มีรายละเอียดว่ามีการตัดสินอย่างไร 
 
ในเดือนเดียวกัน อาลี อับดุลลาห์ อาหมัด อัลฮายากิ (Ali Abdullah Ahmad al-Hayaki) ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาสี่เดือนจากการเผยแพร่ข้อความบนทวิตเตอร์แสดงการต่อต้านกษัตริย์บาห์เรนรวมสองข้อความ ศาลยังสั่งให้ยึดโทรศัพท์ไอโฟนของอัลฮายากิไว้ด้วย ในเดือนเดียวกันศาลบาห์เรนก็สั่งให้จำคุกชายไม่เปิดเผยชื่ออีกคนหนึ่งเป็นเวลาหกเดือนด้วยข้อกฎหมายเดียวกันจากการโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ทั้งอัลฮายากิและผู้ต้องหาไม่ทราบชื่ออีกคนหนึ่งถูกพิพากษาจำคุกน้อยกว่าหนึ่งปีเพราะคดีของพวกเขามีการพิพากษาก่อนการแก้ไขกฎหมายให้มีโทษจำคุกขั้นต่ำหนึ่งปี 
 
ในเดือนพฤษภาคม 2556 ศาลบาห์เรนก็มีคำพิพากษาจำคุกบุคคลรวมหกคนจากการโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ด้วยข้อหาเดียวกันเป็นเวลาหนึ่งปีแต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อหรือรายละเอียดการกระทำ  
 
ต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ศาลอาญาในบาห์เรนมีคำพิพากษาให้จำคุก อาลี อัล โชฟา (Ali Al Shofa) นักเรียนมัธยมชาวบาห์เรนวัย 17 ปีเป็นเวลาหนึ่งปีจากการเผยแพร่ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมายตามมาตรา 214 บนทวิตเตอร์ซึ่งใช้ชื่อ "@alkawarahnews" ศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งบาห์เรนระบุว่าอัล โซฟาถูกเจ้าหน้าที่บุกจับที่บ้านในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2556 และถูกคุมขังที่เรือนจำเป็นเวลา 2 เดือนในชั้นสอบสวน 
 

เสียงจากนักสิทธิ

มัรยัม อัล-เฆาอายะห์ จาก เดอะกัฟเซ้นเตอร์ฟอร์ฮิวแมนท์ไรท์ (The Gulf Center for Human Rights) ระบุว่า นักปกป้องสิทธิในบาห์เรนที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมักจะถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 214 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีนิยามที่ตายตัวว่าคำว่า "ดูหมิ่น" หรือ "insult" ตามกฎหมายนี้หมายความว่าอะไร ครอบคลุมการแสดงออกรูปแบบไหนบ้าง การทำงานตามปกติของนักสิทธิในบาห์เรนจึงอาจถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย 
 
552
 
(มัรยัม อัล-เฆาอายะห์ นักสิทธิชาวบาห์เรนจาก Gulf Center for Human Rights)
 
มัรยัมยกตัวอย่างว่า การวิจารณ์กฎหมายใหม่ที่พระมหากษัตริย์ประกาศใช้ก็อาจถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นหรือ insult พระมหากษัตริย์ได้ สำหรับกลไกที่ใช้ในการหาตัวคนมาดำเนินคดี มัรยัมเล่าว่า มีอยู่สองแนวทางหลักๆ ทางหนึ่ง คือ การจัดตั้งระบบสายด่วนเพื่อให้คนโทรเข้ามาแจ้งเบาะแสผู้ที่แสดงความเห็นต่อต้านพระมหากษัตริย์กับทางการ ส่วนอีกทางหนึ่งคือการใช้เทคโนโลยีสอดแนมการสื่อสารของนักกิจกรรม 
 
สำหรับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาคดีมาตรา 214 มัรยัมชี้ว่าเป็นการยากที่ผู้ต้องหาคดีนี้จะเข้าถึงความยุติธรรมเพราะหลายครั้งองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้เป็นคนในครอบครัวของพระมหากษัตริย์ เช่น องค์คณะผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีของไซนาบ น้องสาวของมัรยัมที่ประท้วงด้วยการฉีกภาพของพระมหากษัตริย์ก็มีบุคคลที่เป็นญาติของพระมหากษัตริย์รวมอยู่ด้วย ไซนาบถูกพิพากษาจำคุกสามปี อย่างไรก็ตามขณะนี้เธอยังไม่ถูกจองจำเพราะได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์