1328 1280 1487 1417 1418 1995 1368 1140 1431 1315 1773 1880 1756 1517 1044 1848 1872 1215 1009 1718 1773 1315 1421 1679 1803 1845 1269 1160 1470 1762 1139 1886 1737 1369 1735 1173 1801 1648 1945 1073 1322 1324 1643 1616 1161 1626 1986 1311 1614 1469 1769 1856 1131 1791 1832 1825 1783 1745 1633 1538 1738 1093 1677 1445 1085 1640 1557 1422 2000 1765 1076 1986 1738 1285 1090 1163 1988 1551 1662 1955 1912 1601 1089 1155 1236 1921 1509 1172 1637 1616 1280 1556 1036 1932 1104 1445 1481 1483 1068 902 คนเป็นอย่างน้อยที่ถูกเรียกปรับทัศนคติและเยี่ยมถึงบ้าน ในยุครัฐบาล คสช. | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

902 คนเป็นอย่างน้อยที่ถูกเรียกปรับทัศนคติและเยี่ยมถึงบ้าน ในยุครัฐบาล คสช.

การเรียกบุคคลเพื่อไปปรับทัศนคติของรัฐบาล คสช.ยังคงเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่หลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายหลักคือคนหรือกลุ่มที่ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารต้องการควบคุมเมื่อถูกมองว่าออกมาเคลื่อนไหวตรงข้ามคสช. และมีแนวคิดขัดขวางการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะนักการเมืองและกลุ่มแกนนำเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยที่ออกมาวิพากวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล กระทั่งวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนนำไปสู่การถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ บางรายถูกเจ้าหน้าที่ตามไปถึงบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มนักกิจกรรม นักวิชการ สื่อมวลชน หรือนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว จัดเสวนา ออกแถลงการณ์ หรือทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ต่างถูกเจ้าหน้าที่คุกคามด้วยวิธีต่างๆซ้ำร้ายกลุ่มที่ออกมาชุมนุมในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศโดยตรงอย่างการเคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากรธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เพราะถูกมองว่าการเคลื่อนไหวเหล่านั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

 

5 ประเด็นที่ไอลอว์เห็นระหว่างติดตามสถานการณ์เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามประชาชนในรัฐบาลปัจจุบัน

[1] จากเรียกรายงานตัวสู่การเยี่ยมถึงบ้าน: คุกคามเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเทคนิคใหม่

จากวิธีเดิมที่เจ้าหน้าที่นิยมใช้คือการเรียกตัวไปพบที่ค่ายทหาร เริ่มปรับเป็นการไปพบที่บ้าน ชวนไปกินกาแฟหรือกินข้าว  ตั้งแต่มกราคม 2558  กลุ่มบุคคลที่รัฐบาล คสช. ต้องการเรียกตัวไปปรับทัศนคติส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย โดยบุคคลเหล่านี้ต่างล้วนเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวไปปรับทัศนคติมาแล้ว เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง, พิชัย นริพทะพันธ์,วรชัย เหมะ โดยวิธีการของเจ้าหน้าที่ในช่วงนี้เป็นการเชิญไปที่ค่ายทหารและบางรายมีเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้าน เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ทหารค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เชิญแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาและหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน เมษายน 2558 รัฐบาลโดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปเชิญนักกฎหมาย นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางสังคม และทนายความจำนวนมากเข้าร่วมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สโมสรกองทัพบก  โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในการนี้มีผู้ถูกเชิญเข้าร่วมหารือทั้งหมด 82 ราย ซึ่งต่างเคยร่วมลงชื่อคัดค้านการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44  ส่วนในเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2558 จากการจัดกิจกรรมรำลึกครบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2558 มีนักกิจกรรมจำนวนมากถูกจับ จนนำมาสู่การจัดตั้งกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพจากรัฐบาล คสช.ผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมือง กระทั่งถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง จากกรณีนี้ เจ้าหน้าที่เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีหาข้อมูลเพิ่มเติมไปจากการเรียกรายงานตัวที่ใช้มาแต่เดิม โดยเดินทางไปหาเป้าหมายที่บ้านพักโดยไม่ได้นัดหมายไว้ อย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารหลายพื้นที่เข้าพูดคุยกับครอบครัวนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งลักษณะการพูดมีทั้งเกลี้ยกล่อมผู้ปกครองให้พาลูกหลานมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงข่มขู่คุกคาม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังออกจดหมายเชิญบุคคล ให้ไปพบโดยอ้างว่าต้องการติดตามบุคคลเป้าหมาย เช่น ณัฐ สัตยาพรพิสุทธ์ อดีตนักโทษคดี 112 สำหรับในเดือนสิงหาคม 2558  สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการที่ใช้เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ถูกเจ้าหน้าที่เข้าพบแล้วแจ้งว่า มาพบบุคคลเป้าหมายตามรอบ, ขณะที่พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นอีกรายที่เจ้าหน้าไปพบแล้วอ้างว่า "มาเยี่ยมตามปกติ" กันยายน - พฤศจิกายน 2558 เจ้าหน้าที่ยังคงเรียกกลุ่มนักการเมืองและแกนนำเมืองพรรคเพื่อไทยเข้าค่ายอย่างต่อเนื่อง ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงาน นปช.จังหวัดพะเยา ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปพบอย่างน้อยสองครั้ง นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2558 จิตรา คชเดช นักกิจกรรมแรงงานให้ข้อมูลว่าถูกเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้านถึงสามครั้งแต่ไม่พบตัว  แม้กระทั่งคนที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็แจ้งผ่านเฟซบุ๊กของเขาว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านและเข้าพบแม่ของสมศักดิ์   โดยไปถ่ายภาพในบ้านและเมื่อถามว่ามาหาใครก็ไม่ตอบ และเดือนธันวาคม 2558 จากเหตุที่สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์กำลังจะจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์  แม่ของสิรวิชญ์ ให้ข้อมูลว่า ทหารโทรศัพท์มาแจ้งว่าจะเดินทางมาพบที่บ้านในคืนวันที่ 5 ธันวาคม 2558 ตามคำสั่งจากกองทัพ โดยก่อนหน้านี้ทหารเคยขอให้แม่บอกสิรวิชญ์เลิกจัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งสิรวิชญ์เป็น หนึ่งในนักกิจกรรมจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่จัดกิจกรรมในต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยการตั้งคำถามกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

 

[2] นิสิต นักศึกษา คณาจารย์มหาวิทยาลัยตกเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายตลอดทั้งปี

นอกจากผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในบทบาทนักการเมืองและนักกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านรัฐประหารแล้ว ประเด็นถัดมาที่ไอลอว์เห็นเป็นการเรียกตัวผู้ที่จัดกิจกรรมเชิงวิชาการหรือเลือกใช้สถานศึกษาเป็นที่จัดกิจกรรม ซึ่งการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการโดยรัฐบาล คสช. นั้นปรากฏในหลายรูปแบบตลอดทั้งปี อย่างเดือนมีนาคม 2558 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) รายงานหลังกิจกรรมชุมนุมและปราศรัยคัดค้านอำนาจของศาลทหารที่หน้าศาลทหารกรุงเทพว่ามีเจ้าหน้าที่ ไปคุกคามนักศึกษาที่บ้านอย่างน้อย 22 คน เพื่อให้ยุติการเคลื่อนไหว เมษายน 2558 ที่มหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มลูกชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าตรวจสอบงานเสวนาเกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและคุมตัวนิสิตสองคนไปสอบสวน กรกฏาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อตรวจสอบ กรณีที่อาจารย์ลงชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกคุมขัง ส่วนที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา เจ้าหน้าที่ทหารขอเข้าพบอาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาเพื่อขอความร่วมมือว่า ก่อนจัดกิจกรรมขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลพื้นที่และขอให้ลดความเข้มข้นของเนื้อหากิจกรรมลงด้วย ด้านมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคามเรียกนิสิตอย่างน้อยเจ็ดคน ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิตที่ไปลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดีเรื่องลำน้ำฮวยที่จังหวัดเลย เพราะเกรงว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน  กันยายน 2558  สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไทว่า มีทหารโดยอ้างว่ามาจากมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จำนวนสามนายติดตามประกบกลุ่มนักศึกษาและทีมอาจารย์ลงมายังพื้นที่โครงการวิจัยความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ พ.ศ.2557 - 2558 พื้นที่จังหวัดอุดรธานี ในเดือนตุลาคม 2558 นั้น สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งว่า ทหารมาที่บ้าน สี่นาย โดยอ้างว่ามาทำความรู้จัก เนื่องจากมีการเปลี่ยนหัวหน้าหน่วย และในเดือนพฤศจิกายน 2558 อาจารย์มหาวิทยาลัย ห้าคนต้องเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 หลังร่วมกันอ่านแถลงการณ์ "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร"

 

[3] คุกคามสื่อ: ปรับการนำเสนอความจริงให้ตรงใจรัฐบาล

จากการทำหน้าที่สื่อคือการนำเสนอข่าวสารตามข้อเท็จจริงสู่สาธารณะที่มีหลายกรณีนำไปสู่การเรียกปรับทัศนคติโดย คสช. ที่ชัดเจนที่สุดของปีนี้คงจะหนีไม่พ้นกรณีของ ประวิต โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของเนชั่นทีวี ที่ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอยู่ตลอด ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกเข้าค่ายไปปรับทัศนคติอยู่หลายคืน ในช่วงกันยายนและตุลาคม 2558 มีสื่อมวลชนถึงสองรายถูกเรียกไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร คือ ศักดา แซ่เอียว หรือเซีย ไทยรัฐที่ต้องเข้าชี้แจงเรื่องเนื้อหาการ์ตูนที่สะท้อนปัญหาบ้านเมือง และทวีพร คุ้มเมธาจากสำนักข่าวประชาไท จากกรณีภาพอินโฟกราฟฟิคเกี่ยวกับคดี 112 ที่เจ้าหน้าที่มองว่าอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้  ในเดือนเดียวกันนี้ มีทหารมาที่สำนักงานของสำนักข่าวประชาไทเพื่อสอบถามข้อมูลและติดตามคนที่เคยถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.  สิงหาคม 2558 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบมาเลือกซื้อหนังสือที่สำนักพิมพ์ ต่อมาธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่แวะมาที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันโดยชี้แจงว่า มาแนะนำตัวตามปกติ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปรับเปลี่ยนกำลังและหน้าที่ความรับผิดชอบ  

 

[4] แม้เรื่องปากท้องและความเดือดร้อนในท้องถิ่นยังถูกห้ามเคลื่อนไหวในยุคนี้

นอกจากนี้ ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่ไม่ใช่การต่อต้านการรัฐประหารหรือ คสช. ก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปปรับทัศนคติถ้วนหน้า เช่น ชาวบ้านในจังหวัดร้อยเอ็ดที่เคลื่อนไหวเรื่องที่ดิน, กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย, กลุ่มอนุรักษ์ดงมูลและกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นที่เคลื่อนไหวจากเหตุไม่เห็นด้วยกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ กลุ่มคนเหล่านี้ต่างก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปปรับทัศนคติจากความพยายามในการเคลื่อนไหวในประเด็นที่แตกต่างกันนั้น

 

[5] การจำกัดเสรีภาพไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย

เราจะเห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่มียุทธวิธีที่จะเรียกบุคคลไปรายงานตัวและปรับทัศนคติที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคมและปรับภาพลักษณ์ให้มีท่าทีจากปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นการขอความร่วมมือเพื่อให้เจ้าหน้าที่และรัฐบาลทำงานสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาล คสช.เอง ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายการสะกัดกั้นกลุ่มกิจกรรมที่แสดงออกในการต้านรัฐบาลอย่างชัดเจน ไม่ว่าประเด็นที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้นจะถูกมองว่าหวังผลทางการเมืองคือการต่อขับไล่รัฐบาล คสช. หรือไม่ แต่ในเดือนนี้ การยับยั้งกิจกรรมสาธารณะที่ยังปรากฏอยู่ทั่วไปย่อมเป็นประจักษ์พยานที่ช่วยพยากรณ์ได้ว่าการจำกัดเสรีภาพโดยรัฐบาลที่เคยเป็นมาย่อมจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีโอกาสที่จะยุติคลี่คลายในอนาคตอันใกล้นี้ ดังกรณีต่อไปนี้

11 กุมภาพันธ์ 2559 โดยทหารจากกองพลทหารม้าที่ 1 จังหวัดเพชรบูรณ์ เชิญแกนนำกลุ่มค้านเหมืองเพชรบูรณ์หารือ (http://bit.ly/1oEvWuO) ขอความร่วมมือให้ยื่นเรื่องร้องเรียนเฉพาะในจังหวัดไม่ให้ชาวบ้านไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่กรุงเทพฯ 

12 กุมภาพันธ์ 2559 ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 24 จังหวัดอุดรธานี (http://bit.ly/1PUKoHM) เรียกชาวบ้านให้เข้าไปทำความเข้าใจร่วมกัน เนื่องจากเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ชาวบ้านจัดขบวนแห่ไปขอพรที่อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งมีผู้ถือป้ายรณรงค์เรื่องเหมืองแร่โปแตชและอ่านคำประกาศที่มีคำว่า ‘เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ’

19 กุมภาพันธ์ 2559 ที่จังหวัดสงขลา บุคคลซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน แต่งกายด้วยเครื่องเเบบสีเขียว ประมาณ  10 นาย มาขอพบ อัญชนา หีมมีหน๊ะ  นักกิจกรรมภาคใต้ หลังการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมาน (http://bit.ly/20SkSWC) โดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น เจ้าหน้าที่จอดรถสามคันล้อมรอบบ้านของอัญชนา พร้อมทั้งซักประวัติ ถ่ายรูปบ้านและแม่ของอัญชนาไว้ก่อนกลับไป หลังไม่ได้พบอัญชนา

 

ทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงเพียงส่วนหนึ่ง จากเหตุที่นับตั้งแต่หลังรัฐประหารถึงกุมภาพันธ์ 2559 มีบุคคลถูกเรียกรายงานตัว ปรับทัศนคติ และเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมถึงบ้านรวมแล้วอย่างน้อย 902 คน และตัวเลขนี้ย่อมมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยไป โดยไม่มีใครหยุดได้นอกจากรัฐบาล คสช.

 

ชนิดบทความ: