วิวัฒนาการของ “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ในรอบ 200 ปี ตามบริบทสังคมการเมือง

ปัจจุบันแทบไม่มีใครไม่รู้จักกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมาย “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” หรือที่บางคนเคยเรียกว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กฎหมายมาตรานี้เป็นกฎหมายพิเศษที่คุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในประวัติศาสตร์ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง บุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมากและต่อเนื่องมายาวนานยาวนาน กฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจแยกออกจากบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่ละยุคสมัยได้ วิวัฒนาการของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์พอจะเห็นรูปธรรมได้จากการกำหนดความผิดและโทษ การแก้ไขเพิ่มเติม และกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจากคดีความที่เกิดขึ้นจริง

 

ยุคการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ในยุคนี้พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจรัฐ พระมหากษัตริย์กับรัฐจึงเป็นเสมือนสิ่งๆ เดียวกันโดยพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวงในฐานะผู้เป็นบ่อเกิดแห่งความความยุติธรรมในรัฐ ตามคติว่าด้วยสมมติเทพและธรรมราชา[1]โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ การละเมิดต่อชื่อเสียงเกียรติยศของพระมหากษัตริย์จึงเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายสูงสุดหรือทำลายความมั่นคงของรัฐ

 

กฎหมายตราสามดวง

กฎหมายตราสามดวง ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จากการชำระกฎหมายต่างๆ ในสมัยอยุธยา กฎหมายตราสามดวงกำหนดความผิดที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์ไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะในพระอัยการอาชญาหลวง มาตรา 7 ได้บัญญัติความผิดฐานเจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวและประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติและพระบันทูลโองการ เอาไว้ ความว่า

           “ผู้ใดทะนงองอาจ์บ่ยำบ่กลัว เจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติ แลพระบันทูลพระโองการ ท่านว่าผู้นั้นเลมิดพระราชอาญาพระเจ้าอยู่หัว ท่านให้ลงโทษ 8 สถาน ๆ หนึ่งคือให้ฟันฅอริบเรือน ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย ให้ทวนด้วยลวดหนัง 25 ที 50 ที ให้จำไว้เดือนหนึ่ง แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ไหมจัตุระคูน แล้วเอาตัวลงเปนไพร่ ให้ไหมทวีคูน ให้ไหมลาหนึ่ง ให้ภาคทัณท์ไว้”

มาตรา 72 ความผิดฐานติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว ความว่า

            “ถ้าผู้ใดติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัวต่างต่าง พิจารณาเปนสัจ ให้ลงโทษ 3 สถานๆ หนึ่งคือ ให้ฟันฅอริบเรือน ให้ริบเอาสิ่งสีนแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ทวนด้วยลวดหนังโดยสกัน 50 ที มิสกัน 25 ที”

และมาตรา 58 ความผิดฐานด่าผู้มีบรรดาศักดิ์ ความว่า

            “..ด่าท่านผู้มิบันดาศักดิ ท่านให้ลงโทษ 4 สถาน สถานหนึ่งคือ ให้แหวะปากลงโทษถึงสิ้นชีวิตร ให้ตัดปากเสีย ให้ทวนด้วยลวดหนัง 50 ที ไม้หวาย 25 ที ให้ไหมโดยยศถาศักดิ”

อย่างไรก็ตาม[2] ลักษณะและโทษของการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กินความหมายเพียงในมาตราดังกล่าวเท่านั้นแต่ยังปรากฏในบทบัญญัติอื่นๆกว่า 100 มาตราที่คุ้มครองการล่วงละเมิดต่อกษัตริย์ในด้านต่างๆ เช่น การมิได้ใช้ราชาศัพท์อันควร การโจมตีข้าราชการของกษัตริย์ หรือการกระทำใดๆต่อสัญลักษณ์ของกษัตริย์ เป็นต้น

ลักษณะของกฎหมายเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสังคมระบบศักดินาซึ่งจัดแบ่งชนชั้นของบุคคลในยุคสมัยดังกล่าว ซึ่งระบบศักดินายังส่งผลต่อการนิยามความผิดและกำหนดบทลงโทษด้วย เช่น การนำศักดินามาใช้ในการคำนวณปรับไหม และการถือสิทธิพิเศษทางการศาล[3]เป็นต้น

 

พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118

ต่อมาเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 การสื่อสารในรูปแบบเขียนและการพิมพ์เริ่มแพร่หลายในหมู่ประชาชน มีการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการบ้านเมืองหรือความประพฤติของข้าราชการ จึงมีการปรับปรุงกฎหมายเสียใหม่ให้เป็นระบบและมีอารยะมากขึ้น นำไปสู่การประกาศใช้ พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 ในสมัยรัชกาลที่ 5

พระราชกำหนดนี้ ระบุความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ในมาตรา 4 ความว่า

            “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑลฤาสมเด็จพระอรรคมเหษีฤาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี…โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผยท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควรซึ่งเป็นที่ แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ …ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า 3 ปี ฤาให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่า 1500 บาท ฤาทั้งจำคุกแลปรับด้วย…”

กฎหมายนี้ก็ยังคงรักษาลำดับชนชั้นในสังคมและวัฒนธรรมจากกฎหมายตราสามดวงเอาไว้ และข้อหาหมิ่นหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ถูกทำให้มีความหมายที่เคร่งครัดมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการบริหารงานของราชการก็ยังคงถูกตีความว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ได้เช่นกันและไม่มีการกำหนดบทยกเว้นความผิดหรือโทษแต่อย่างใด

 

กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127

ด้วยกระแสรัฐสมัยใหม่จากตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการปฏิรูปกฎหมายและศาลนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งมีการเพิ่มโทษฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้สูงขึ้นด้วย กฎหมายนี้ กำหนดความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูลไว้ในส่วนที่ 1 มาตรา 98 ความว่า

            “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี แลให้ปรับไม่เกินกว่า ห้าพันบาท อีกโสดหนึ่ง”

และมาตรา 100 ความว่า

            “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดความผิดจากการทำให้เกิดการดูหมิ่นและขาดความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ในหมวด 2 ว่าด้วยความผิดฐานกบฎภายในพระราชอาณาจักรมาตรา 104 ไว้ด้วย ความว่า

            “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผลอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ (1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ต่อรัฐบาลก็ดี หรือต่อราชการแผ่นดินก็ดี…ท่านให้เอามันผู้กระทำการอย่างใดใดโดยเจตนาเช่นว่ามานี้ ลงอาญาจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง”

ซึ่งต่อมาในพ.ศ. 2470 ปลายสมัยรัชกาลที่ 7 มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคอมมิวนิสต์ จึงแก้ไขเพิ่มเติมใน (1) เป็นให้การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น เป็นความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่ากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ให้ความคุ้มครองอย่างกว้างขวางกว่ากฎหมายฉบับก่อนๆ และมีการเพิ่มคำว่าแสดงความอาฆาตมาดร้ายเข้ามาเป็นครั้งแรกด้วย[4]

ข้อสังเกต คือ นิยามของความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในช่วงการเปลี่ยนสยามสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จากเดิมที่อ้างอิงอำนาจความชอบธรรมอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติได้เคลื่อนไปสู่การอ้างอิงหรือผูกสถาบันกษัตริย์ฯ เข้ากับความเป็นชาติไทย ความเป็นชาติที่แท้จริงจึงเท่ากับการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้การดูหมิ่นกษัตริย์เท่ากับเป็นการดูหมิ่นอำนาจของผู้คนภายในชาติที่มอบให้กษัตริย์ไว้ด้วย

 

พระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470

ขณะเดียวกันในภาวะสังคมที่เทคโนโลยีและสื่อสิ่งพิมพ์ที่แพร่หลายต่อสาธารณะมากขึ้น สื่อจึงกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงการอธิบายความเป็นชาติ[5] แบบใหม่ที่ชาติเป็นของราษฎรโดยกษัตริย์ในฐานะผู้ปกครองประเทศตกเป็นเป้าหมายในการแสดงความคิดเห็นโดยตรง ซึ่งมีการต่อสู้กลับโดยใช้ข้อหาหมิ่นฯ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงมีการออกพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2465 มาตรา 5 กำหนดให้บทประพันธ์ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อจะยุยงให้กระทำความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวและราชอาณาจักรเป็นบทประพันธ์ประเภท “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” ซึ่งเป็นความผิดกำหนดโทษกรณี “…เมื่อได้พิมพ์ขึ้นในกรุงสยาม…ผู้ประพันธ์บรรณาธิการและเจ้าของ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำและปรับทั้งสองสถาน” 

ต่อมาในพ.ศ. 2470 มีการออกเป็นกฎหมายฉบับใหม่กำหนดคำว่าเสี้ยนหนามแผ่นดินในมาตรา 6(5) ว่าคือบทประพันธ์ “..อันมีความมุ่งหมายทางตรงหรือทางอ้อม คือโดยอนุมานก็ดีแนะก็ดี กล่าวกระทบก็ดีกล่าวเปรียบก็ดี โดยปริยายหรือประการอื่นก็ดี เพื่อจะ ให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฤารัฐบาล ฤาราชการแผ่นดิน…”

 

 

319

ภาพจาก archer10 (Dennis)

 

ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

24 มิถุนายน 2475 เกิดการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรที่ยืนยันว่าอำนาจสูงสุดในรัฐเป็นของประชาชน ตำแหน่งพระมหากษัตริย์จึงเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของอำนาจรัฐผู้อยู่เหนือกฎหมายไปสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐ เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่จำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ

แม้จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแล้ว แต่กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายลักษณะอาญาฯ ยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องมา และถูกใช้ในฐานะเป็นกฎหมายที่คุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐซึ่งรวมถึงสมเด็จพระมเหษี มกุฎราชกุมาร และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วย

ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ยังบัญญัติให้“องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ซึ่งหลักการนี้ส่งผลต่อการขยายขอบเขตในการตีความความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ในเวลาต่อมา[7] และความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ยังคงผูกโยงเข้ากับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐเช่นเดียวกับในระบอบเก่า

 

แก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ลดโทษและกำหนดบทยกเว้นความผิด

ในปี พ.ศ.2478 รัฐสภา ยกเลิกมาตรา 100 ของกฎหมายลักษณะอาญาฯ ที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา เป็นพิเศษ ทั้งนี้ตามหลักความเสมอภาคของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ2475ในขณะนั้นซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคกันในทางกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย”

ต่อมา ในปีพ.ศ.2477 มีการแก้ไขในมาตรา 104 (1) ของประมวลกฎหมายลักษณะอาญาฯ เป็นว่า “ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี.... ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาท ด้วยอีกโสตหนึ่ง แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ปรากฎบทบัญญัติยกเว้นความผิดที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

เปลี่ยนมาใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 จุดเริ่มต้นมาตรา 112

ในช่วงทศวรรษ 2490 กลุ่มอำนาจฝ่ายนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามฟื้นฟูสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในฐานะความเป็นชาติดังเช่นระบอบเก่า ขณะที่คณะราษฎรเริ่มหมดอำนาจทางการเมือง และการเมืองของโลกอยู่ในช่วงสงครามเย็นที่มีการโจมตีระบอบกษัตริย์โดยแนวคิดคอมมิวนิสต์

จึงมีการตราประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ.2499 ขึ้นใช้แทนกฎหมายลักษณะอาญา ฉบับเดิม โดยย้ายบทบัญญัติมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญาไปอยู่ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายใหม่ โดยยกเลิกบทยกเว้นความผิดพร้อมแก้ไขเนื้อความเป็นว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี” โดยมาตรา 112 ถูกบัญญัติไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงทศวรรษ 2500 การหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกนำไปผูกเข้ากับความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ เช่น การเป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่ดำเนินการกำจัดและกวาดล้างศัตรูทางการเมือง เช่น กรณีการประหารชีวิตนายครอง จันทดาวงศ์ ซึ่งถูกล่าวหาว่ามีแผนร้ายในการทำลายประเทศชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ลบหลู่พระบรมเดชชานุภาพอย่างร้ายแรง[8] ความมั่นคงของรัฐกลายเป็นวาทกรรมใหม่ที่รับรองการใช้ข้อหาหมิ่นฯในลักษณะที่ขยายความหมายให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังการปฏิวัติซ้ำของจอมพลสฤษดิ์ 20 ตุลาคม 2501 คดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นถูกดำเนินคดีในศาลทหารอีกด้วย

ต่อมายุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการสถาปนาบทบาทใหม่ของกษัตริย์ ผ่านวาทะกรรมที่เชื่อมกษัตริย์เข้ากับประชาธิปไตยนอกจากชาติด้วย เรียกว่า ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย[9]ซึ่งได้สร้างสถานะกษัตริย์ที่อยู่เหนือการเมืองขึ้นใหม่ที่มองว่าการเมืองเป็นสิ่งที่มีลักษณะที่ฉ้อฉลสกปรก พระราชกรณียกิจและพระราชอำนาจต่างๆ ไม่ถูกเข้าใจเป็นเรื่องทางการเมืองไปด้วย[10] การคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองของสถาบันตามปกติจึงอาจถูกให้ความหมายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ได้เช่นกัน บริบทช่วงนี้ความหมายของ การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ยังซ้อนทับเข้ากับการกระทำ คอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นจนแทบเป็นสิ่งเดียวกันด้วย ความหมายของการหมิ่นฯจึงมีแนวโน้มจะถูกตีความอย่างกว้างขวางเท่ากับเป็นการมุ่งล้มล้างทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย[11]

 

แก้ไขเพิ่มโทษสูงสุดเป็น 15 ปี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขึ้นสู่จุดที่รุนแรงที่สุดในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากกรณีการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา อันเป็นที่มาของการปลุกระดมและนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ภาพลักษณ์ของคอมมิวนิสต์และขบวนการนักศึกษาประชาชน และความกลัวต่อการคุกคามสถาบันกษัตริย์จากสงครามเย็นในช่วงเวลานั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวบทของมาตรา 112

หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งอ้างในแถลงการณ์ถึงเหตุผลของการยึดอำนาจว่ามี "กลุ่มบุคคล…ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอันเป็นการเหยียบย้ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจำนงทำลายสถาบัน…ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย…" และต่อมาได้ออกคำสั่งให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็น “มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

หลังบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจบสิ้นลงพร้อมกับอำนาจของกองทัพ ในทศวรรษ 2520 สถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทในการดำเนินพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริต่างๆ จนนำไปสู่พระราชอำนาจนำทั้งในมิติการเมืองและมิติอุดมการณ์ที่ลงหลักสถาปนาอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น[12] นอกจากนี้ ยังมีการสร้างชุดคำอธิบายว่าพระมหากษัตริย์มีอำนาจทางการเมืองในสภาวะวิกฤต ในฐานะเป็นหลักชัยในการระงับเหตุร้ายแรง[13] หรืออธิบายพระราชอำนาจที่ไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์ในตัวบทกฎหมายฐานะเป็นธรรมเนียมที่เข้าใจกันทุกฝ่าย ว่าเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่จริง[14]

ที่สำคัญพระมหากษัตริย์ไทยยังทรงเป็นเหมือน “พ่อ” ของรัฐ ชุดความสัมพันธ์สร้างอารมณ์ความรู้สึกความผูกพันใกล้ชิดหรือความรักของพลเมืองที่มีต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นความรู้สึกใหม่ต่อสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันก็ทำให้การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพิ่มความหมายในลักษณะที่กระทบความรู้สึกของประชาชน เป็นการเนรคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนทั่วไปก็มีบทบาทเป็นผู้สร้างและเผยแพร่อุดมการณ์นี้เองด้วย

 

ตารางเปรียบเทียบความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และโทษ ยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

กฎหมาย การกระทำที่เป็นความผิด บุคคลที่คุ้มครอง โทษ
กฎหมายตราสามดวง ทะนงองอาจ์บ่ยำบ่กลัว เจรจาหยาบช้า, ประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติ แลพระบันทูลพระโองการ (มาตรา 7) พระเจ้าอยู่หัว ให้ลงโทษ 8 สถาน ฟันฅอริบเรือน/ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีน/ทวนด้วยลวดหนัง25ที50ที/จำไว้เดือนหนึ่ง แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง/ไหมจัตุระคูน แล้วเอาตัวลงเปนไพร่/ไหมทวีคูน/ไหมลาหนึ่ง /ภาคทัณท์ไว้
เตียนนินทาว่ากล่าว (มาตรา 72) พระเจ้าอยู่หัว ให้ลงโทษ 3 สถาน ฟันฅอริบเรือน/ริบเอาสิ่งสีนแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง /ทวนด้วยลวดหนังโดยสกัน 50 ที มิสกัน 25 ที
ด่า (มาตรา 58) ผู้มีบรรดาศักดิ์ ให้ลงโทษ 4 สถานแหวะปากลงโทษถึงสิ้นชีวิต/ตัดปาก/ทวนด้วยลวดหนัง50ทีไม้หวาย25ที /ไหมโดยยศถาศักดิ
พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 หมิ่นประมาท กล่าวเจรจาด้วยปาก หรือเขียนด้วยลายลักษณอักษร หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผยท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควรซึ่งเป็นที่ แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ (มาตรา4)
1. พระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล
2. สมเด็จพระอรรคมเหษี
3. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
 
จำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี หรือปรับไม่เกินกว่า 1500 บาท หรือทั้งจำคุกและปรับ
กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127
 
ทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท มาตรา98 1.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. สมเด็จพระมเหษี  
3.มกุฎราชกุมาร
4.ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์
จำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท (มาตรา 100) พระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด จำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับและปรับไม่เกิน 2,000 บาท
กระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผล… (1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น  (มาตรา 104) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 1,000 บาท
แก้เพิ่มเติมข้อความและเพิ่มโทษมาตรา104 (1) กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นหรือเกิดความเกลียดชัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือระหว่างคนในชนชั้น จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
พระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470 สมุด เอกสาร หนังสือพิมพ์ หรือบทประพันธ์ที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์อันมีความมุ่งหมายทางตรงหรือทางอ้อม คือโดยอนุมานก็ดีแนะก็ดี กล่าวกระทบก็ดีกล่าวเปรียบก็ดี โดยปริยายหรือประการอื่นก็ดี เพื่อจะ ให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่น.. มีลักษณะอันเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน (มาตร6(5)) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “…เมื่อได้พิมพ์ขึ้นในกรุงสยาม ผู้ประพันธ์บรรณาธิการและเจ้าของ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำและปรับทั้งสองสถาน”(มาตรา36)

 

ตารางเปรียบเทียบความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และโทษ ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

กฎหมาย การกระทำที่เป็นความผิด บุคคลที่คุ้มครอง โทษ
แก้ไขข้อความ,
ลดโทษ
และกำหนดบทเว้นความผิดในมาตรา 104 (1)
ของประมวลกฎหมายลักษณะอาญาร.ศ.127
กระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบาย…
ก)ให้เกิดความดูหมิ่น…
แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร
หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ
ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์
หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย
ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด
พระมหากษัตริย์ จำคุกไม่เกิน 7  ปีและปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (มาตรา 112)
(ไม่มีบทยกเว้นความผิด)
1.พระมหากษัตริย์ 
2.พระราชินี 
3.รัชทายาท 
4.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
จำคุกไม่เกิน 7 ปี
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 เพิ่มอัตราโทษมาตรา 112
หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (มาตรา 112)
1.พระมหากษัตริย์ 
2.พระราชินี 
3.รัชทายาท 
4.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
จำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี

 

 

1612

 

----------------------------------------------

สรุปเรียบเรียงจาก  

นพพล อาชามาส, การประกอบสร้างความกลัว และการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา112  วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2556 น.44.
 
อ้างอิง
[1] ดู งานเขียนของพระองค์เจ้าธานีนิวัติเรื่อง“The Old Siam Conception of The Monarchy”1946 และ ดูข้อสังเกตนี้ในธงชัย วินิจจะกุล 2548.ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง14ตุลาคม.กรุงเทพฯ:มูลนิธิ14ตุลา.
[2] ดู นพพล อาชามาส การประกอบสร้างความกลัว และการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2556 น.44.
[3] ดู ควอวิช เวลส์, การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ, แปลโดย กาญจนีละอองศรี, และยุพา ชุมจันทร์,พิมพ์ครั้งที่ 1( กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2527), น. 41.
[4] ดู ฐนาพงษ์   ทอนฮามแก้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2553 น.82.
[5] อ้างแล้ว[2] น.53-56.
[6] ดู พระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2470 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 44 (5 กันยายน 2470).
[7] อ้างแล้ว[2]น.60.
[8] ดู ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ 2546 .“ภาพลักษณ์ของ“คอมมิวนิสต์”ในการเมืองไทย”, รัฐศาสตร์สาร24(2)น.188-189.
[9] ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ 2548.และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ:การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน14ตุลา.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
[10] ดู ธงชัย วินิจกุล 2548.ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง14ตุลาคม.กรุงเทพฯ:มูลนิธิ14ตุลา.
[11] ดู ธานินทร์ กรัยวิเชียร 2520น.100-101.พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย(พิมพ์ครั้งที่3).กรุงเทพฯ:กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.
[12] ดู ชนิดา ชิดบัณฑิตย์ 2550.โครงการอันเนื่องมากพระราชดำริ:การสถาปนาอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.กรุงเทพฯ:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.
[13] เพิ่งอ้าง,น. 184-185.
[14] ดู ธงทอง จันทรางศุ 2548.พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ.กรุงเทพฯ:ศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.