1646 1337 1183 1551 1372 1857 1764 1800 1684 1050 1472 1408 1100 1309 1543 1172 1254 1625 1505 1646 1433 1368 1082 1338 1436 1672 1184 1564 1766 1166 1394 1497 1849 1086 1298 1230 1234 1927 1768 1083 1653 1110 1836 1122 1547 1910 1628 1590 1530 1830 1409 1558 1660 1960 1750 1631 1799 1240 1414 1235 1652 1903 1552 1756 1169 1909 1647 1221 1952 1734 1224 1104 1105 1657 1709 1481 1036 1640 1877 1669 1983 1625 1044 1936 1026 1698 1033 1273 1147 1659 1822 1216 1524 1445 1252 1447 1692 1863 1917 สรุป 4 รูปแบบการคุกคามแฟลชม็อบ สร้างอุปสรรค-สร้างความกลัว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สรุป 4 รูปแบบการคุกคามแฟลชม็อบ สร้างอุปสรรค-สร้างความกลัว

 
 
หลังสถานการณ์โควิดในประเทศไทยเริ่มนิ่ง กิจกรรมและการชุมนุมเริ่มกลับมา โดยเฉพาะกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลและปัญหาเศรษฐกิจยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้คนต้องการออกมาชุมนุมกันมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 การเมืองบนท้องถนนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อกลุ่ม #เยาวชนปลดแอก นัดชุมนุมใหญ่ #ไม่ทนอีกต่อไป ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้จะอยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ แต่ในวันดังกล่าวก็มีคนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. ต่อเนื่องไปจนถึงประมาณ 1.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 
 
1483
 
หลังจากนั้นก็มีการประกาศจัดการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดเกิดขึ้นอีกมากมาย นับถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 นับได้อย่างน้อย 65 ครั้ง แม้จะมีอุปสรรคและถูกคุกคามบ้างแต่ผู้จัดก็สามารถจัดกิจกรรมได้ มีกิจกรรมที่ผู้จัดถูกกดดันจนต้องยกเลิกอย่างน้อย 3 ครั้ง  
 
น่าสนใจว่า ท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการชุมนุมในช่วงเวลานี้เริ่มเปลี่ยนไป คือ เริ่มปล่อยให้ผู้จัดสามารถดำเนินไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้จัดและผู้เข้าร่วมจะทำกิจกรรมได้โดยปราศจากอุปสรรคเสียทีเดียว 
 
 
1.จัดได้ไม่ห้าม แต่ตามถ่ายรูป
 
1484
 
กล่าวสำหรับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 #เยาวชนปลดแอก เจ้าหน้าที่พยายามจะแทรกแซงการชุมนุหลายประการ แต่โดยภาพรวมไม่มีการใช้กำลังให้ยุติการชุมนุม เช่น
 
  • ใช้รถตำรวจติดเครื่องเสียงประกาศข้อกฎหมายต่างๆ เปิดวนไปวนมาคล้ายมีเจตนารบกวนการปราศรัยของผู้ชุมนุม
  • เมื่อคนมามากขึ้นจนยืนบนทางเท้าไม่พอ ประชาชนก็มีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่ที่พยายามรักษาแนวของตัวเองบนพื้นถนน แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ถอยจนผู้ชุมนุมสามารถลงมายืนจนเต็มพื้นที่ถนนราชดำเนินบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
  • มีความโกลาหลเกิดขึ้นบ้างเมื่อเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามจะคุมตัวคนที่ถือป้ายเขียนข้อความที่ตีความได้ถึงพระมหากษัตริย์ แต่ก็ถูกมวลชนกดดันจนล่าถอย
ส่วนการจัดชุมนุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศต่อเนื่องกันแทบทุกวัน เท่าที่มีข้อมูลการทำกิจกรรมส่วนใหญ่สามารถทำได้โดยเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
 

การชุมนุมที่ ม.เกษตรศาสตร์ 
 
24 กรกฎาคม
เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแต่เข้ามาประกาศข้อกำหนดและข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านเครื่องขยายเสียงแล้วปล่อยให้ผู้ชุมนุมดำเนินการชุมนุมไปได้ 
"ส้มโอโอ้โหโอชา"  27 กรกฎาคม
“วิ่งกันนะแฮมทาโร่”  26 กรกฎาคม
เมื่อผู้ชุมนุมทำกิจกรรมวิ่งและร้องเพลงแฮมทาโร่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ห้ามปรามและช่วยดูแลเรื่องการจราจรเวลาผู้ร่วมชุมนุมต้องวิ่งข้ามถนนให้
 
แม้ในภาพรวมจะดูเหมือนการชุมนุมจะดำเนินไปได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็มีการปรับแนวปฏิบัติหลายประการที่น่ากังวล เช่น 
 
  • มีความพยายามถ่ายภาพเพื่อระบุอัตลักษณ์ของผู้เข้าร่วมอย่างจริงจังมากขึ้น
  • มีการใช้โดรนและกล้องวงจรปิดแบบชั่วคราวในที่ชุมนุมเพื่อบันทึกภาพผู้เข้าร่วมชุมนุม
  • มีการกดดันสถาบันการศึกษาหรือครอบครัวโดยเฉพาะกรณีกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นนักเรียนระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา 
การที่เจ้าหน้าที่ยอมให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปได้จึงอาจไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ยอมรับเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนด้วยความจริงใจ แต่อาจเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดในพื้นที่ชุมนุมหรือเพื่อไม่ให้เกิดภาพข่าวในทางที่ไม่ดีขณะเดียวกันก็หันไปใช้วิธีการติดตามคุกคามแบบ "ไม่เป็นทางการ" มากขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวแทน 
 
 
2. คุกคามกดดันก่อนจัดกิจกรรม-ดำเนินคดี 1 คดี
 
1485
 
การคุกคามนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมก่อนและหลังชุมนุมในช่วงนี้มีหลากหลายวิธีการ เช่น นัดเจอ โทรหา เดินทางไปที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง รวมไปถึงครูบาอาจารย์ในโรงเรียนก็แสดงบทบาทในการพูดคุยมากขึ้นอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมชุมนุมเกิดความกังวลว่า เมื่อไปร่วมชุมนุมแล้วจะมีชีวิตปกติสุขต่อไปได้หรือไม่
 
นับจากวันแรกที่กลุ่มเยาวชนปลดแอก จัดชุมนุมถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่าคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามทั้งก่อนและหลังการชุมนุมในแต่ละงานจะเกิดขึ้นกับกลุ่มแกนนำในการจัดชุมนุมเท่านั้น เช่น
 
ก่อนจัดงาน 
 
#คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย จังหวัดลำพูน 24 กรกฎาคม 2563  
 
“ฟ้า” (นามสมมุติ) นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นหนึ่งในคนจัดงานถูกครูในโรงเรียนตามหาตัวและมีตำรวจนอกเครื่องแบบไปพบเธอและแม่ที่บ้านในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ก่อนวันจัดงาน 4 วัน โดยตำรวจระบุว่า ฟ้าได้ประกาศทำกิจกรรมทางการเมืองทำให้มีรายชื่อเป็นแกนนำระดับชาติและมีชื่ออยู่ใน “แบล็คลิสต์” ตำรวจจึงต้องมาพูดคุยเพื่อให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และให้ตั้งใจเรียนหนังสือดีกว่า 
 
ฟ้ายังเปิดเผยว่า เพื่อนของเธออีกคนหนึ่งที่ประกาศจัดกิจกรรมด้วยกันก็มีตำรวจเดินทางไปที่บ้านด้วยเช่นกัน โดยตำรวจเตือนเพื่อนเช่นกันว่ายังเป็นเด็กอยู่ อยากให้เรียนและทำหน้าที่ของตัวเองไปก่อน
 
#คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ จังหวัดแพร่ 22 กรกฎาคม 2563 
 
ในวันนัดหมายกิจกรรมช่วงก่อนถึงเวลาจัดงาน ตำรวจไปที่บ้านของประเสริฐ หงวนสุวรรณ แกนนำในการจัดงาน ถ่ายรูปแม่ของเขาพร้อมบัตรประชาชน โดยแจ้งแม่เขาว่า ไม่ให้ประเสริฐไปร่วมงานเย็นวันนี้ได้ไหมเพราะจะถูกจับได้ แต่สุดท้ายเขาก็ยังจัดงานต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังวันจัดงาน ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปหาที่บ้านอีก
 
#ไม่ทนเผด็จการ จังหวัดเพชรบูรณ์ 22 และ 25 กรกฏาคม 2563
 
ก่อนที่จะมีการจัดงานแฟลชม็อบในจังหวัด 2 งาน ในวันที่ 21 กรกฎาคม ตำรวจโทรศัพท์ติดตามและเข้าไปที่บ้านของนักเรียน นักศึกษาอย่างน้อย 3 คน ได้แก่  
 
1.ซัน (นามสมมติ) นักเรียนชั้นม.5 ตำรวจจาก สภ.นาเฉลียง โทรศัพท์ติดต่อแม่ของเขาถามว่า ลูกจะไปเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 22 หรือไม่ และขอเบอร์ซันจากแม่ แต่แม่ปฏิเสธที่จะให้เบอร์ วันเดียวกันซันยังถูกรองผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกพบสอบถามเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพโปสเตอร์เตรียมจัดการชุมนุมแฟลชม็อบในเพชรบูรณ์ เบื้องต้นซันได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องไป รองผู้อำนวยการยังบอกเขาอีกว่า ตำรวจอยากเข้ามาพูดคุยกับซันที่โรงเรียนแต่ทางโรงเรียนไม่อนุญาต ในเย็นวันเดียวกันนายอำเภอเข้าไปที่บ้านเพื่อสอบถามแม่ว่าซันอยู่บ้านหรือไม่อีกด้วย
 
2.พิม (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ระบุสังกัด 2 นายเข้าไปที่บ้านในอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ สอบถามหาตัวพิมและขอให้คนที่บ้านโทรศัพท์ติดต่อให้พิมพูดคุยกับตำรวจ ตำรวจอ้างว่า พิมมีรายชื่อเป็นเครือข่ายของกลุ่มเยาวชน พรรคอนาคตใหม่เพชรบูรณ์ จึงอยากสอบถามว่า พิมจะไปร่วมกิจกรรมชุมนุมวันที่ 22 หรือไม่ และเป็นกลุ่มผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ พิมปฏิเสธทั้งสองคำถาม ตำรวจจึงเดินทางกลับ 
 
3.บิว (นามสมมติ) ศึกษาชั้น ปวส.ปี 1 วิทยาลัยการอาชีพแห่งหนึ่ง ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบชุดสืบสวนจาก สภ.ชนแดนจำนวน 4-5 คน ไปที่บ้านเพื่อถามหาตัวบิว ยายจึงไปตามบิวออกมาพบ ตำรวจถามชื่อจริงของบิวและถามว่าพรุ่งนี้จะไปร่วมชุมนุมหรือไม่ บิวจึงสอบถามว่า ชุมนุมอะไรเพราะไม่ทราบมาก่อน บิวระบุว่าไม่ได้จะไปเข้าร่วม ระหว่างพูดคุยตำรวจขอดูบัตรประชาชนเพื่อถ่ายรูปเก็บไว้ แต่บิวปฏิเสธพร้อมกับสอบถามกลับว่าเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทั้งหมดนี้จากที่ใด ตำรวจระบุว่า ข้อมูลมาจากส่วนกลางและมีสายข่าวแจ้งมาว่าบิวจะไปร่วมกิจกรรม 
 
#กาญจน์ปลดแอก จังหวัดกาญจนบุรี 25 กรกฎาคม 2563 
 
ก่อนจัดงาน 1 วัน มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ระบุสังกัด เดินทางไปที่บ้านของนักเรียนในกลุ่มผู้จัดงาน โดยพูดคุยกับญาติของนักเรียนหลายคนพร้อมทั้งขอให้ลบโพสต์นัดชุมนุม และแจ้งกับทางผู้ปกครองว่า รู้ตัวแกนนำและผู้เกี่ยวข้องในการจัดชุมนุมหมดแล้ว สุดท้ายไม่มีการลบโพสต์เชิญชวนใดๆ ตามที่ถูกข่มขู่ เมื่อถึงวันนัดชุมนุมก็มีการจัดชุมนุมตามเดิม
 
#เมืองเลยสิบ่ทนก๋อ จังหวัดเลย 29 กรกฎาคม 2563
 
ก่อนวันจัดงาน ตำรวจสันติบาลและทหารโทรศัพท์ไปหาครอบครัวของผู้เข้าร่วม สอบถามเรื่องสถานะการเป็นแกนนำจัดกิจกรรม แต่ครอบครัวของผู้เข้าร่วมปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นแกนนำแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนยังถูกติดตามจากตำรวจนอกเครื่องแบบระหว่างการนัดทานข้าวและพูดคุยส่วนตัว
 
“รวมพลังต่อต้านเผด็จการ” ที่โรงเรียนสตรีวิทยา2 23-24 กรกฎาคม 2563 
 
นักเรียนที่เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมก็ถูกผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกพบในวันที่จะจัดกิจกรรม
 
#เมืองอำนาจไม่หลงอำนาจไม่เอาเผด็จการ อำนาจเจริญ 30 กรกฎาคม 2563  
 
ก่อนจัดกิจกรรม 1 วัน “แก้ว” (นามสมมติ) หนึ่งในนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมถูกตำรวจมาติดตามสอบถามข้อมูลจากคนรอบข้างและตัวเธอเอง ทั้งยังให้ข้อมูลกับคนแถวบ้านว่า เธอมีชื่ออยู่ในลิสต์เป็นแกนนำก่อม็อบ
 
การคุกคามส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะจัดการชุมนุม เมื่อหลังชุมนุมเสร็จเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นก็จะเงียบหายไป จนกว่าจะมีการจัดงานใหม่ในเขตพื้นที่เดิมซ้ำเจ้าหน้าที่รัฐก็จะกลับไปคุกคามแกนนำอีกครั้ง ส่วนผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้นยังไม่เห็นข่าวการคุกคามแบบติดตามตัวโดยตรง 
 
====
 
ในส่วนของการดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นพบว่า คนที่ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมชุมนุมมีแต่แกนนำในการจัดชุมนุมเท่านั้น ยังไม่พบผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดี และนับจากการชุมนุมของ #เยาวชนปลดแอก ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา มีคดีความที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมเกิดขึ้นเพียง 1 คดี คือ นักศึกษา 4 คนผู้จัดชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 19 กรกฎาคม เข้ารับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตามที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาให้ ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563
 
 
 
3. ล็อกเป้าคนถือป้าย ‘ตรงไปตรงมา’ พร้อมขบวนการล่าแม่มด
 
1486
 
จากการสังเกตการณ์การชุมนุมหลายพื้นที่ ภาพที่เห็นตรงกัน คือ เจ้าหน้าที่ติดตามถ่ายภาพและวิดีโอการชุมนุมมีอัตราส่วนมากขึ้นกว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ หากเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมหลักพันอาจจะแยกแยะและนับจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่ง่ายนัก หากเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมหลักสิบก็จะแยกแยะเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบออกได้ชัดเจนว่า มีจำนวนใกล้เคียงกับผู้ชุมนุม 
 
ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเหล่านี้ไม่ได้จะขัดขวางการชุมนุม แต่มีเป้าหมายเพื่อ "ล็อกเป้า" ตามหาตัวผู้ที่แสดงออกหรือถือป้ายที่มีข้อความทางการเมืองแบบ "ตรงไปตรงมา" เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ยังไม่แน่ชัดว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเหล่านี้ต้องการสิ่งใดบ้าง
 
ตัวอย่างเช่น 
 

‘ไม่ทนอีกต่อไป’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเยาวชนปลดแอก
18 กรกฎาคม
เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามเข้าพูดคุย ขอดูป้ายของเยาวชนคนหนึ่งที่บริเวณตรอกข้างร้านแมคโดนัลด์ และพยายามจะพาตัวไปพูดคุยที่ สน. แต่เนื่องจากประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเห็นเหตุการณ์ จึงเข้ามาตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจนล่าถอยไป แต่ก็ได้ยึดเอาป้ายข้อความไปด้วย ต่อมาทราบว่า มีภาพของเยาวชนคนที่ตำรวจเข้ามาคุยด้วยถือป้ายข้อความตรงไปตรงมาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต
‘ปทุมธานีไม่ปราณีเผด็จการ’ หน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
23 กรกฎาคม
นักเรียนคนหนึ่งถือป้ายแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อการชุมนุมเลิก เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเกือบ 10 คนและตำรวจในเครื่องแบบก็เดินติดตามและขอดูบัตรประชาชนของนักเรียน เมื่อนักเรียนปฏิเสธตำรวจก็เข้ารุมล้อมไม่ยอมให้เดินทางกลับ จนกระทั่งนักเรียนยอมให้ดูบัตรประชาชน จึงเดินทางกลับบ้านได้
24 กรกฎาคม
ตำรวจสืบสวนเมืองนครราชสีมาเข้ายึดป้ายข้อความจากนักเรียน นักศึกษา และผู้ชุมนุม อย่างน้อย 3 ป้าย โดยเฉพาะป้าย “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” กลุ่มนักเรียนที่ถูกยึดป้ายระบุว่า พวกเขาเพิ่งเขียนป้ายเสร็จยังไม่ได้ยกขึ้นมาชูก็ถูกเจ้าหน้าที่มายึดไป
'อะหรืออะหรือว่าเป็นเผด็จการ' ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 30 กรกฎาคม นักศึกษาคนหนึ่งถือภาพรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความเดินผ่านที่ชุมนุม ตำรวจจึงมาพาตัวไปพูดคุยและซักถามในห้องประชุม พร้อมทำบันทึกไว้ และให้เก็บป้ายไป ก่อนปล่อยตัวหลังการชุมนุมเลิก
 
ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามหาตัวผู้แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น ก็เริ่มมีรายงานพฤติกรรม "ล่าแม่มด" ที่นำข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าร่วมการชุมนุมมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ทำให้ผู้นั้นเสียหาย 
 
จนกระทั่งวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในการเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้เห็นต่างทางการเมืองมาเผยแพร่ให้เกิดความเสียหาย ก็โพสต์เฟซบุ๊กถึง ‘โครงการดับอนาคต’ ขอจิตอาสาแฝงตัวเก็บภาพถ่ายบุคคลที่เข้าร่วมม็อบให้เห็นใบหน้า เพื่อส่งให้บริษัทห้างร้าน หน่วยงานรัฐ สถานศึกษา ห้ามรับเข้าทำงานหรือเข้าศึกษาต่อหรือให้ทุน ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน
 
จนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ยังไม่พบเห็นว่า พลตรีเหรียญทองได้ดำเนินการจัดทำโครงการดับอนาคตไปแค่ไหนเพียงใด แต่ปฏิบัติการเช่นนี้เป็นการข่มขู่ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับเยาวชนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม และร่วมแสดงออกทางการเมือง ขณะที่ปฏิบัติการตามหาตัว ตามหาชื่อ และบันทึกข้อมูลประวัติของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงเดินหน้าต่อไปเช่นกัน
 
 
 
4. กำลังปรับปรุง ฉีดยุง และสารพัดเรื่อง ‘บังเอิญ’
 
1487
 
การสร้างอุปสรรคโดยไม่ใช้กฎหมายทำให้การชุมนุมเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดขึ้นอย่างทุลักทุเลไม่ใช่วิธีการที่เพิ่งเกิดขึ้นหากแต่มีการใช้มาลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้แล้ว แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม เทคนิคการปิดพื้นที่เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมถูกนำมาใช้ถี่และเป็นระบบ โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่น 
 
1. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปิด ปรับ ปรุง

ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมีการจัดกิจกรรมครบรอบ 6 ปี การรัฐประหาร 2563 ลานอนุสาวรีย์ยังคงว่างอยู่แต่มีการวางรั้วไว้โดยรอบ หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายนช่วงรำลึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พบว่า มีการวางกระถางดอกไม้ไว้เต็มพื้นที่แล้ว และใน เดือนกรกฎาคม 2563 ตั้งแต่ในวันที่ 14 กรกฎาคม มีการจัดงานรำลึกวันเกิดจอมพลป. ก็พบว่ามีการวางกระถางต้นไม้เต็มพื้นที่เช่นกัน และเริ่มมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบขึ้นไปยืนประจำการบนตัวอนุสาวรีย์ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรม
 
วันที่ 18 กรกฎาคมซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ พบว่า เจ้าหน้าที่ของ กทม. นำต้นไม้เข้าไปเสริมบนลานอนุสาวรีย์เพิ่มเติมและติดป้าย "ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต อยู่ระหว่างการปรับปรุง" จนกระทั่งการชุมนุมใหญ่ผ่านไปต้นไม้และรั้วกั้นก็ยังวางอยู่ที่เดิมมาตลอด การนำกระถางต้นไม้ไปวางรอบอนุสาวรีย์ทำให้มีนักกิจกรรมออกไปทำกิจกรรมเสียดสีด้วยการรวมตัวใกล้ๆ อนุวาวรีย์และตะโกน "สวนสวยจริงๆ" ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563   
 
2. สมุทรปราการปิดทางออกบีทีเอส - ปิดทางเข้าศาลากลาง 
 
25 กรกฎาคม 2563 กิจกรรม "ใครทน สมุทรปราการไม่ทน" นัดหมายจัดที่บริเวณลานศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ปรากฏว่าก่อนเวลาจัดงานมีการปิดรั้วไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่ศาลากลาง อีกทั้งบนทางออกรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีปากน้ำฝั่งที่จะมาลงหน้าศาลากลางก็มีการกั้นพื้นที่พร้อมติดข้อความ "ทางเข้านี้ปิดชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก" ทางผู้จัดจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถาที่ไปเป็นที่หน้าหอชมเมืองสมุทรปราการอย่างกระทันหัน แต่กิจกรรมก็สามารถดำเนินไปได้ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดโดยเจ้าหน้าที่ 
 
3. อนุสาวรีย์วงเวียนใหญ่ ประกาศซ่อมไฟฟ้า
 
30 กรกฎาคม 2563 เครือข่ายลูกเจ้าตากจะลงดาบเผด็จการ ประกาศจัดกิจกรรมที่วงเวียนใหญ่ในเวลา 17.00 น. โดยประชาสัมพันธ์กิจกรรมตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม ทางเพจโพสต์ภาพถ่ายและรายงานว่าพบป้ายเขียนข้อความ "งดใช้พื้นที่ลานวงเวียนใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 28 - 31 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากสำนักงานเขตธนบุรีจะดำเนินการตรวจสอบระบบกระแสไฟฟ้าทั่วบริเวณ" ไปติดที่รั้วเขาวงเวียนใหญ่ ท้ายที่สุดทางเครือข่ายจึงจัดสินใจประกาศยกเลิกกิจกรรมที่วงเวียนใหญ่ 
 
30 กรกฎาคม 2563 ตั้งแต่ช่วงเช้ามีรายงานว่า ทางลอดข้ามถนนที่ใช้ข้ามไปตัววงเวียนถูกปิด ในช่วงเย็นมีรายงานว่ากลุ่มแฮมทาโร่ตรวจไฟ สามารถเข้าไปในพื้นที่และทำกิจกรรมวิ่งแฮมทาโรได้ 
 
4. ไม่เปิดไฟหรือเปิดล่าช้า
 
ในเดือนกรกฎาคมมีรายงานกรณีการตัดไฟฟ้าหรือเปิดไฟล่าช้าอย่างน้อย 3 กรณี ได้แก่ 
 
(1) 22 กรกฎาคม  ที่ลานแปดเหลี่ยมหมาวิทยาลัยมหาสารคาม ไฟฟ้าในพื้นที่จัดกิจกรรมเพิ่งมาติดในเวลา 19.30 ซึ่งฟ้ามืดแล้วและระหว่างนั้นผู้จัดการชุมนุมก็มีการเรียกร้องให้เปิดไฟผ่านเครื่องขยายเสียงหลายครั้ง 
 
(2) 29 กรกฎาคม  ที่ท่าน้ำนนท์ บริเวณรอบข้างไฟสาธารณะเริ่มติดระหว่างเวลา 18.00 จนถึง 18.30 ปรากฎว่าไฟสปอร์ตไลท์บริเวณที่จัดกิจกรรมกลับไม่เปิดทั้งที่ปกติจะเปิดในเวลาไล่เลี่ยกับสถานที่รอบข้าง ผู้จัดการชุมนุมก็ร้องขอให้เปิดไฟหลายครั้งเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย จนมีการเปิดไฟในเวลา 19.11 น. 
 
(3) 26 กรกฎาคม 2563 ไฟฟ้าในสนามสามเหลี่ยมทุ่งนาเชย จังหวัดจันทบุรี พื้นที่จัดงานไม่ติดตลอดเวลาทำกิจกรรม ผู้ชุมนุมต้องอาศัยแสงจากหน้าเวทีที่ต่อมาจากเครื่องปั่นไฟ มติชนระบุว่าไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวขัดข้องมาก่อนหน้านี้หลายวันแล้ว 
 
5. สตรีวิทย์ 2 ปิดฉีดยุง 
 
นักเรียนโรงเรียนสตรีวิทย์ 2 ประกาศจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนในวันที่ 23 และ 24 กรกฎาคม แต่ปรากฎว่าไม่สามารถทำได้เพราะโรงเรียนมีการฉีดพ่นสารเคมีไล่ยุงในวันดังกล่าว มีข้อสังเกตว่าโรงเรียนเพิ่งฉีดยุงไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และในวันที่นักเรียนประกาศทำกิจกรรมก็มีรถตำรวจเข้ามาในโรงเรียนและมีตำรวจคอยบันทึกภาพนักเรียนในโรงเรียนด้วย