1860 1240 1288 1213 1109 1137 1906 1696 1938 1190 1201 1672 1197 1985 1167 1802 1242 1973 1315 1239 1083 1460 1249 1679 1685 1544 1013 1037 1330 1565 1529 1524 1408 1301 1681 1148 1918 1755 1764 1355 1302 1335 1114 1526 1393 1943 1457 1694 1962 1589 1536 1408 1345 1622 1595 1558 1875 1213 1264 1435 1831 1580 1843 1153 1268 1447 1480 1258 1016 1935 1857 1509 1384 1721 1463 1306 1533 1581 1159 1180 1477 1232 1482 1782 1371 1110 1208 1959 1343 1240 1836 1098 1432 1744 1414 1018 1551 1848 1741 เปิดปูมประเด็นเด็ดในคำพิพากษาคดี 112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เปิดปูมประเด็นเด็ดในคำพิพากษาคดี 112

 
คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมาก ทุกครั้งที่มีข่าวการพิพากษาคดีมาตรา 112 ก็มักจะมีการแสดงความคิดเห็นตอบรับกันอย่างเผ็ดร้อน และความคิดเห็นในสังคมต่อประเด็นนี้ก็มักแตกต่างกันสุดขั้วเสมอ
 
ความเห็นที่มีการถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ มักเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่า “กฎหมายไม่ดีควรยกเลิก” หรืออีกฝ่ายหนึ่งก็ว่า “กฎหมายไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้าใครไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกลัว” น้อยครั้งนักที่จะนำรายละเอียดของคำพิพากษาแต่ละฉบับมาตีแผ่และวิเคราะห์เนื้อหาหรือการตีความข้อกฎหมายอย่างจริงจัง
 
หลังการรัฐประหาร 2557 มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กำลังจะเข้าสู่ชั้นศาลจำนวนมาก การหยิบยกคำพิพากษาคดีมาตรา 112 บางฉบับในอดีตที่มีความน่าสนใจมาวิเคราะห์ในรายละเอียด อาจทำให้สังคมไทยได้เห็นถึงปัญหาในการตีความกฎหมายที่เคยเกิดขึ้น และจับตามองต่อไปว่า ปัญหาเดิมๆ จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือกระบวนการยุติธรรมจะมีการพัฒนาตัวอย่างไร
 
88
 
เจตนาคือสิ่งสำคัญในการชี้ว่าจำเลยมีความผิด
 
"เจตนา" เป็นเครื่องกำหนดความรับผิดทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรค 1 บัญญัติว่า "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิด เมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดชอบแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา"
 
สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ผู้ที่กระทำโดยไม่มีเจตนาต้องรับโทษ รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้ผู้กระทำผิดโดยประมาทต้องรับโทษ ดังนั้นศาลจะลงโทษบุคคลด้วยกฎหมายมาตรานี้ได้ก็เฉพาะกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยทำความผิดโดยเจตนาเท่านั้น
 
คดีคนขายหนังสือกงจักรปีศาจ (ดูรายละเอียดคดีที่นี่) ศาลพิพากษาว่าเนื้อหาของหนังสือกงจักรปีศาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่เนื่องจากจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน ทั้งโจทก์ก็ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยรู้ถึงเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
   
คำพิพากษาฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่า เจตนาคือสิ่งสำคัญในการชี้มูลความผิดของจำเลย แม้จำเลยจะขายหนังสือที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่เมื่อไร้หลักฐานมายืนยันว่าจำเลยล่วงรู้เนื้อหาในหนังสือดังกล่าว จึงมีข้อสงสัยว่าจำเลยมีเจตนาทำความผิดหรือไม่ เมื่อพิสูจน์ให้เห็นเจตนาของจำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีความผิด
 
คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯของอิบราฮิม (ดูรายละเอียดคดีที่นี่) ก็เป็นอีกคดีหนึ่ง ที่เจตนาเป็นข้อต่อสู้หลักของจำเลย
 
อิบราฮิมเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย แต่งงานกับหญิงไทยและไปๆมาๆระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียเรื่อยมา อิบราฮิมประกอบอาชีพซื้อขายหุ้นผ่านโบร์กเกอร์ ปี 2552 มีข่าวลือไม่เป็นมงคลแพร่สะพัดบนโลกออนไลน์ อิบราฮิมซึ่งติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ภาษาต่างประเทศเป็นหลักเพราะไม่รู้ภาษาไทย จึงโพสต์แจ้งข่าวในเว็บบอร์ดที่ตนซื้อขายหุ้นอยู่เพื่อเตือนเพื่อนนักลงทุนคนอื่นว่าอย่าเพิ่งลงทุนในช่วงนี้ 
 
ต่อมาอิบราฮิมทราบว่าข่าวดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือจึงโพสต์ขอโทษในเว็บบอร์ดและเดินทางไปขอโทษที่บริษัทด้วยตนเอง ทว่าอิบราฮิมก็ถูกจับและดำเนินคดี
 
ในชั้นศาล อิบราฮิมให้การว่าตนจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทย เคยเดินทางจากบ้านที่จังหวัดพะเยามาลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช และเคยส่งไปรษณียบัตรไปถวายพระพรเนื่องในวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม จนได้รับจดหมายตอบรับจากสำนักพระราชวังด้วย 
 
แม้อิบราฮิมเบิกความต่อศาลว่า การโพสต์ข้อความตามฟ้องเจตนาทำไปเพื่อเตือนนักลงทุนเท่านั้น ไม่มีเจตนาจะดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่ประการใด แต่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ไม่เชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด
 
โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตอนหนึ่งพอจะสรุปความได้ว่า พฤติการณ์ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ ทั้งการเดินทางไปถวายพระพรและการส่งไปรษณียบัตรไปถวายพระพร แสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงในฐานะพระประมุขของประเทศ เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ การที่จำเลยนำเข้าข้อความตามฟ้อง โดยที่จำเลยรู้ว่าเป็นข้อความเท็จ จึงเป็นการลบหลู่พระเกียรติยศชื่อเสียงขององค์พระมหากษัตริย์ ถือเป็นการดูหมิ่น  
 
ศาลพิพากษาถึงความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจ
 
มีคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 อย่างน้อยสองฉบับ ที่ศาลวินิจฉัยไปถึงเรื่องความรู้สึกนึกคิดด้วย
 
ตอนหนึ่งของคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีของ "เจ๋ง ดอกจิก" (ดูรายละเอียดคดีที่นี่) สามารถสรุปความได้ว่า
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ รัฐและปวงชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์ไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่เพียงเท่านั้น แม้ในความรู้สึกนึกคิด ประชาชนชาวไทยก็ถวายความเคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์มาแต่โบราณกาล
 
ขณะที่ ตอนหนึ่งของคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีของอิบราฮิมก็ระบุว่า
 
"รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 2 บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" มาตรา 8 บัญญัติว่า "องค์ระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" มาตรา 70 บัญญัติว่า "บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ มาตรา 77 บัญญัติว่า "รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์..." ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว ย่อมเห็นได้โดยแจ้งชัดว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงคงอยู่คู่ประเทศตลอดไป ไม่เพียงแต่กฎหมาย แม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าววาจาหรือนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ออกเผยแพร่ในลักษณะจาบจ้วงล่วงเกิน เสียดสีหรือก่อให้เกิดความเสียหาย ให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้น หามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่"      
 
จุดร่วมของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้งสองฉบับคือ นอกจากศาลจะวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงและตัวบทกฎหมายแล้ว ศาลยังอ้างไปถึงความรู้สึกนึกคิดซึ่งอยู่ภายในจิตใจของปัจเจกบุคคลด้วย 
 
ความรู้สึกนึกคิดของปัจเจก เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ใครจะคิดอะไรก็ได้ ดังที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR (ดูรายละเอียดที่นี่)  มาตรา 18 วรรค 1 บัญญัติรับรองว่า "1. บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในการเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาหรือความเชื่อถือและเสรีภาพในการประกาศศาสนา" 
 
แม้ว่ามาตรา 4 วรรคที่ 1 ของกติกาดังกล่าว จะให้อำนาจรัฐภาคีในการงดเว้นพันธกรณีบางประการ ในสถานการณ์"ฉุกเฉิน" โดยบัญญัติว่า
 
"1. ในยามที่เกิดภาวะการณ์ฉุกเฉินอันมีมาเป็นสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดปลอดภัยของชาติ ดังได้ประกาศแล้วอย่างเป็นทางการ บรรดารัฐภาคีแห่งกติกา ฉบับนี้อาจดำเนินมาตรการหลักเลี่ยงพันธะของตน ที่มีอยู่ตามกติกาฉบับนี้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นอย่างแท้จริงต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่ามาตรการ เช่นนี้นั้นไม่ขัดแย้งต่อพันธะอื่น ๆ ของตน อันมีอยู่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเหตุเพียงเนื่องมาจากเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ทางสังคม" 
 
แต่ความในวรรคที่ 2 ของมาตราเดียวกัน บัญญัติห้ามรัฐงดเว้นพันธกรณีตามกติกาในทุกกรณีไว้ด้วย โดยบัญญัติว่า "การเลี่ยงพันธกรณีตามข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 (วรรค 1 และ2) ข้อ 11 ข้อ 15 ข้อ 16 และ ข้อ 18 ไม่อาจทำได้ภายใต้บทบัญญัติของข้อนี้" 
 
ซึ่งหมายความว่า ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐอาจจำกัดเสรีภาพของประชาชนในบางประการ เช่น เสรีภาพในการชุมนุม หรือ เสรีภาพในการแสดงออก แต่ เสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา เป็นสิทธิที่รัฐภาคีรวมทั้งรัฐไทย จะจำกัดไม่ได้ในทุกกรณี
 
ความคิดโดยตัวเองไม่ใช่อาชญากรรม ตราบเท่าที่ความคิดนั้นไม่แปรเปลี่ยนเป็นการกระทำ(หรือวาจา)ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังนั้นศาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายจึงควรวินิจฉัยความผิดในส่วนที่เป็นการกระทำ(หรือวาจา) โดยอ้างอิงตัวบทกฎหมายมากกว่าการพาดพิงไปถึงความรู้สึกนึกคิด เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกอำนาจที่ศาลจะล่วงรู้ได้ นอกจากนี้ประเด็นเรื่องความรู้สึกนึกคิดของปวงชนชาวไทยก็ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของคดี ศาลจะไม่กล่าวถึงประเด็นนี้เลยก็ได้       
 
ศาลกำลังปรับตัว ตามบริบทสังคม?
 
ทุกครั้งที่มีคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลมักจะถูกวิจารณ์โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายดังกล่าวในทางลบ อย่างไรก็ตามก็มีคำพิพากษาอย่างน้อยสองฉบับที่แสดงให้เห็นว่าศาลไม่ได้ตัดขาดตัวเองจากสังคม และเล็งเห็นว่าคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้มีผลต่อตัวจำเลยเท่านั้น หากแต่ยังมีผลต่อสังคมโดยรวมด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีของสุรภักดิ์ (ดูรายละเอียดคดีที่นี่) และคำพิพากษาศาลอาญา คดีของฐิตินันท์ (ดูรายละเอียดคดีที่นี่) น่าจะเป็นหลักฐานที่บ่งชี้การปรับตัวของศาลได้เป็นอย่างดี
 
สุรภักดิ์ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์จำนวน 5 ข้อความต่างกรรมต่างวาระในปี 2555 (อ่านรายละเอียดคดีที่นี่) ในเดือนตุลาคมปี 2555 ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะหลักฐานของโจทก์มีพิรุธ อัยการยื่นอุทธรณ์ 26 มีนาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องจำเลย
 
ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เหตุผลประกอบการยกฟ้องของศาลพอสรุปความได้ว่า
 
คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เป็นคดีที่มีความอ่อนไหว จำเลยในคดีไม่เพียงถูกลงโทษโดยกฎหมายแต่จะถูกลงโทษทางสังคมด้วย การลงโทษจำเลยโดยที่หลักฐานมีพิรุธไม่เพียงเป็นความอยุติธรรมต่อตัวจำเลย แต่ยังจะเป็นเหตุสร้างความแตกแยกในสังคมด้วย ทั้งการบังคับใช้กฎหมายโดยสุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อหลักนิติธรรม ก็อาจเป็นเหตุบั่นทอนความศรัทธาและความเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์
 
ในคำพิพากษาคดีของฐิตินันท์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีลักษณะคล้ายๆ กันคือผู้พิพากษาในคดีนี้นำบริบททางสังคม มาประกอบการวินิจฉัยด้วย
 
คดีนี้จำเลยรับสารภาพว่าทำความผิดจริงแต่ทำไปเพราะมีอาการป่วย ควบคุมตนเองไม่ได้ ในการพิจารณาคดีมีแพทย์ผู้ทำการรักษามาเบิกความเป็นพยานด้วย ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดให้จำคุกสองปี
 
แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และอาการป่วยทางจิตก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำเลยทำความผิด เพื่อประโยชน์ของจำเลยและสังคมโดยรวม โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา คำพิพากษาคดีของฐิตินันท์ แม้ศาลจะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า คำว่า "สังคมโดยรวม" หมายถึงอะไร แต่การเขียนคำพิพากษาลักษณะนี้ ทำให้เห็นว่า ศาลเห็นว่าผลของคดีนี้มีลักษณะเป็นคดีสาธารณะ เพราะผลกระทบจากคำตัดสินไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวจำเลย หากแต่กระทบต่อสังคมโดยรวมด้วย  
 
คำพิพากษาสองคดีนี้ อาจจะเป็นสัญญาณที่แสดงว่า ผู้พิพากษาบางองค์คณะ เล็งเห็นว่า ผลของคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ไม่เพียงกระทบต่อตัวจำเลยหากแต่กระทบต่อสังคมวงกว้างด้วย การเขียนคำพิพากษาจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม
 
ตัวอย่างที่ยกมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำพิพากษาที่มีความน่าสนใจเท่านั้น นอกจากคำพิพากษาที่ยกมาแล้วก็มีคำพิพากษาอีกหลายฉบับ ซึ่งเคยมีนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานด้านกฎหมายเคยให้ความเห็นไว้แล้ว เช่น คดีหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์ (รัชกาลที่4) (ดูรายละเอียดที่นี่) และคดีของเคนจิที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ (ดูรายละเอียดคดี และ การวิเคราะห์คำพิพากษา) ในเว็บบอร์ดอินเทอร์เน็ตฟรีดอม เป็นต้น
 
ในช่วงเวลาที่มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ทยอยเข้าสู่ชั้นศาลเป็นจำนวนมาก (ดูรายละเอียดคดีที่มีกำลังจะทยอยเข้าสู่ชั้นศาลที่นี่) และท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ การนำคำพิพากษาที่มีความน่าสนใจมาวิเคราะห์น่าจะช่วยให้การติดตามการดำเนินคดีเป็นไปอย่างเข้าใจ ปราศจากอคติ และทำให้การถกเถียงเกิดขึ้นในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นได้