1716 1196 1055 1467 1034 1897 1578 1256 1115 1402 1746 1021 1465 1221 1988 1901 1791 1189 1952 1774 1430 1333 1310 1731 1972 1746 1629 1427 1342 1717 1989 1033 1714 1625 1879 1652 1070 1317 1574 1805 1181 1262 1318 1904 1337 1990 1237 1104 1245 1616 1129 1433 1253 1579 1799 1372 1935 1790 1323 1912 1312 1986 1925 1501 1821 1294 1385 1149 1478 1465 1112 1255 1472 1298 1737 1455 1112 1599 1532 1207 1216 1303 1229 1239 1180 1983 1541 1339 1283 1808 1849 1069 1705 1999 1769 1590 1708 1586 1345 #Attitude adjusted?: อ.กฤษณ์พชร ปรับทัศนคติ - ท่องเที่ยวเชียงใหม่ - มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

#Attitude adjusted?: อ.กฤษณ์พชร ปรับทัศนคติ - ท่องเที่ยวเชียงใหม่ - มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

789
 
"เชียงใหม่เป็นเมืองการท่องเที่ยว เราไม่อยากให้สภาพแวดล้อมไม่ดี จะได้มีความสุขกัน จะได้ไม่มีความทะเลาะเบาะแว้ง เศรษฐกิจของเชียงใหม่เนี่ย มันอยู่กับการท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมา มันจะเกิดปัญหา" 
 
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2558 หลังการแถลงการณ์ข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เหตุการณ์นั้นทำให้นักวิชาการ 8 คน ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ฐานชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน นอกจากดำเนินคดีแล้ว มีอาจารย์บางส่วนต้องเข้าค่ายทหาร เพื่อเข้ารับการ “ปรับทัศนคติ” และข้อความข้างต้นเป็นคำพูดจากปากนายทหารคนหนึ่ง ใช้พูดคุยกับฝ่ายผู้ถูกเรียกรายงานตัว  
 
บ่ายวันหนึ่ง ที่ตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อากาศกำลังพอดี แดดสวย ฟ้าใส ใกล้ชิดตีนดอยสุเทพ กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์หนุ่มประจำสถานศึกษาแห่งนี้ รอคอยพวกเราอยู่ ที่ห้องทำงานของเขา ภาพลักษณะคล้ายโปสเตอร์วงดนตรีร็อคสัญชาติอังกฤษติดอยู่บริเวณกระจก บ่งชี้ว่า เขาน่าจะเป็นผู้มีบุคลิกเฉพาะตัวกว่านักวิชาการทั่วไป 
 
แทนคำตอบผ่านบทสนทนาหลากเรื่องราวพรั่งพรู ตั้งแต่ที่มาของ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” บรรยากาศการเข้าปรับทัศนคติที่ค่ายกาวิละฯ ระบบตุลาการไทยที่เขาศึกษา เสียงหัวเราะและถ้อยคำสบถทีเล่นทีจริงขณะให้สัมภาษณ์เป็นสิ่งที่บอกความสนุกสนานของเราขณะพูดคุยวันนั้นเป็นอย่างดี  
 
นี่เป็นอีกความทรงจำร่วมสมัยที่เราอยากบันทึก
นี่เป็นกระแสสำนึกของอาจารย์หนุ่มผู้หนึ่งที่แสดงออก 
และนี่เป็นอีกหมุดหมายที่เราต้องคิดค้นหาคำตอบกันต่อไป  
 
 
ทำไมต้องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ? 
 
กฤษณ์พชรเริ่มเล่าว่า ตามความเข้าใจแรกตอนที่ออกแถลงการณ์ไม่ได้ใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” แต่เป็นชื่อทำนองว่า การปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อเสรีภาพทางวิชาการ แต่ชื่อที่ติดตลาดจริงๆ คือมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร 
 
ถามว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? เราไม่ได้เตรียมตัวกันมาก่อน วันนั้นเป็นการประชุมทำวิจัย ของอาจารย์ อรรถจักร สัตยานุรักษ์ เรื่องความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชนบทต่างๆ อาจารย์อื่นๆ จากมหาวิทยาลัยทั่วภูมิภาคจึงมาร่วมด้วย มีอาจารย์จากภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง มารวมๆกัน เพื่อประชุมวิจัย แต่ระหว่างที่ประชุมกันนั้น เราก็ทราบว่า พอดีมีกระแสข่าวเรื่องคุณประยุทธ์พูดเรื่องการศึกษาว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยจะต้องปรับปรุง ทำเพื่อความมั่นคงให้มากขึ้น เหมือนเขาจะพยายามเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัยมากขึ้น เราในฐานะที่พูดคุยกันในวงเหล้า วงกินข้าว ก็เห็นว่า เฮ้ย! อันนี้มันไม่โอเค จริงๆ ตัวตั้งตัวตีตอนนั้นไม่ได้เป็นอาจารย์อรรถจักร หรืออาจารย์สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) แต่เป็นอาจารย์นัฐพงษ์ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ  
 
นักวิชาการทั้ง 8 คนที่ออกแถลงการณ์สนิทกันอยู่แล้วจากการทำวิจัย เวลาประชุมเสร็จก็ไปกินข้าวด้วยกัน ตอนที่ประชุมกันเขาก็ได้เข้าไปประชุมนั้นด้วย และแรกเดิมก็มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งอาจารย์อรรถจักร อาจารย์สมชาย พอเป็นเครือข่ายและออกแถลงการณ์ขึ้นมา เขาเห็นด้วย ก็เลยไปนั่งแถลงการณ์ด้วยกัน
 
ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก คืนวันนี้เราคุยกัน เช้าวันรุ่งขึ้นเราเขียนแถลงการณ์และบ่ายวันนั้นเราแถลงเลย จริงๆ ออกจะงงๆ ด้วยซ้ำ ผมไม่ได้เป็นคนร่างแถลงการณ์เอง ถ้าดูภาพวันนั้นคุณจะเห็นว่าผมดูไม่ได้เลย เพราะผมเมาค้าง และที่ต้องไปนั่งตรงนั้นเพราะคนที่นั่งบนแถลงการณ์มันไม่สมดุล เนื่องจากอาจารย์บางท่านไม่อยากอยู่ในเฟรมภาพ พอคนมันขาดอาจารย์อรรถจักรก็เลยถูกชวนเข้าไป และผมก็เห็นด้วยในหลักการอยู่แล้ว ผมก็เลยเข้าไปด้วย แล้วทุกคนก็ถ่ายรูป ขึ้นข่าวไปเยอะแยะเต็มไปหมด 
 
หากเทียบกับการทำกิจกรรมทุกครั้ง ครั้งนี้ถือว่าเบามากแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยแถลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในเรื่องที่ใหญ่โตกว่านี้ หนักกว่านี้ เช่น คัดค้านรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การรัฐประหาร 
 
788 ป้ายคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลับเชียงใหม่
 
 
ตอนได้รับหมายเรียกรายงานตัว เหตุการณ์เป็นยังไง?
 
เราเองก็ไม่ได้คิดอะไร รู้ตัวอีกรอบก็คือ มันมีหมายเรียกมาถึงอาจารย์อรรถจักร และความตลกก็คือ จากนั้นอาจารย์ทุกคนก็ได้รับหมายเรียก แปลกที่สุดก็คือว่า อาจารย์คงกฤช ไตรยวงค์ ที่อยู่ศิลปากร แกถูกหมายเรียกด้วย แต่แกไม่ได้อยู่ที่นั่น
 
วันนั้นตัวผมไม่ได้ลงทะเบียน จึงไม่มีชื่ออยู่ในเอกสาร ทหารคงไม่รู้ว่าผมเป็นใคร ทหารอาจจะเห็นว่า มีอาจารย์จากม.ศิลปากรมาด้วยแล้วไปหาต่อว่า ที่ศิลปากรมีใครหน้าตาแบบนี้บ้าง ตามสมมติฐาน คือ ทหารเห็นหน้าผมแล้วคงคิดว่าคล้าย อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาคปรัชญา ของม.ศิลปากร แต่ตอนออกหมายเรียกไปเรียกเป็นอาจารย์คงกฤชแทน
 
พออาจารย์คงกฤชได้หมายเรียกมา เลยโทรหาอาจารย์อรรถจักร และถามว่า “อาจารย์ครับ เราเคยเจอกันที่ไหนมาก่อนเหรอครับ มันเกิดอะไรขึ้น?” เพราะวันที่ออกแถลงการณ์ อ.คงกฤช อยู่ที่นครศรีธรรมราช 
 
พอเป็นแบบนี้ปุ๊บ อาจารย์ที่มีชื่อ 7-8 คนจากที่ต่างๆ เลยต้องเดินทางมาเชียงใหม่ เพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ตอนนั้นก็ไปกันครบ แต่เนื่องจาก “ผมเป็นคนที่ไม่มีชื่อในหมายเรียก” แต่ชื่อเป็นอ.คงกฤช จริงๆโดยทางกฎหมายแล้ว ผมไม่มีความจำเป็นต้องไป แม้ผมจะรู้ตัวก็ตามว่าเป็นผม แต่ตำรวจไม่รู้ว่าเป็นใครแน่ๆ
 
บรรยากาศวันนั้น เดือดมาก เป็นการประชุมที่ค่อนข้างจะเดือด คือผมไม่ได้เข้าไปด้วย เพราะไม่ได้โดนหมายเรียก ก็นั่งมองอยู่ใกล้ๆ บรรยากาศในห้องนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารมีจำนวนมากพอๆ กับกลุ่มอาจารย์ ทางตำรวจเขาก็พยายามบอกนั่นแหละว่า เราทำความผิดเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 อาจารย์พวกนี้เขาก็ไม่ยอม อาจารย์สมชายแกตบโต๊ะเลย แถมด่าเขา แกคงโกรธอะไรสักอย่าง ทหารก็ไม่ยอมฟังแกพูด 
 
 
อาจารย์กับทหาร คุยอะไรกัน?
 
กฤษณ์พชร เล่าว่า ต่อให้เราจะพูดอะไรก็ตาม เขาจะทำกับเราเหมือนว่าเขาพูดอยู่คนเดียว เป็นเรื่องที่น่ารำคาญมาก ทหารจะพูดประมาณว่า เชียงใหม่เป็นเมืองการท่องเที่ยว เราไม่อยากให้สภาพแวดล้อมไม่ดี จะได้มีความสุขกัน จะได้ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง เศรษฐกิจของเชียงใหม่ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมา จะเกิดปัญหา
 
ถ้าเราถามไปว่า ข้อหาผมผิดอะไร เขาก็จะตอบว่า ก็เชียงใหม่  เชียงใหม่เป็นเมืองการท่องเที่ยว เราไม่อยากให้สภาพแวดล้อมไม่ดี ฯลฯ คือ ไม่ว่าจะถาม จะตอบโต้อะไร เขาก็จะตอบแบบนี้ (หัวเราะ)
ต่อให้ยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด หรือไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น เราทำหน้าที่ของนักวิชาการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาก็จะพูดเหมือนเดิมว่า “เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจกัน เชียงใหม่เป็นเมืองการท่องเที่ยว” เหมือนเขาไม่คุยกับเรา เป็นลักษณะของการพูดคนเดียว
 
หากอ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 จะเห็นว่า วรรคสองมันเปิดช่องว่า ถ้ามีการเรียกไปปรับทัศนคติแล้วเรายอมเข้ากระบวนการ เขาก็จะไม่ดำเนินคดีกับเรา ทหารที่มณฑลทหารบกที่ 33 เชียงใหม่ (ค่ายกาวิละ) พยายามจะให้พูดคุยกั ให้ปรับทัศนคติ และให้คดีจบไป
 
พวกเราเองก็มีกระบวนการคุยกันมาก่อน อาจารย์สมชายกับอาจารย์อรรถจักรซึ่งเป็นผู้ใหญ่สองท่านก็เห็นแก่อาจารย์อีกหลายคนที่อยู่จังหวัดอื่นๆ ถ้าจะต้องเดินทางมาขึ้นศาลที่เชียงใหม่บ่อยๆ คงไม่สะดวก หรือเห็นแก่ตัวของผม เขาก็เอาชื่อของผมออกเพราะเด็กสุด บอกประมาณว่าไม่ต้องยุ่งอะไร ให้ไปปรับทัศนคติเลย เพราะยังเด็กอยู่มาก ยังบารมีไม่พอ ก็เลยนำมาสู่ทางเลือกว่า จะยอมเข้ากระบวนการปรับทัศนคติ ทำให้ความผิดตาม คำสั่งที่ 3/2558 นั้นจบลง 
 
 
เตรียมตัวอย่างไร เมื่อเจอคดีแบบนี้?
 
ถัดจากวันที่ไป สภ.ช้างเผือก ก็มีความเคลื่อนไหวต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะจากองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิในต่างประเทศ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็มาช่วยคดี อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วยกันล่ารายชื่อ ได้ประมาณ 300 ชื่อ ในการให้ทบทวนการดำเนินคดีเรื่องนี้ เราได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ทั้งคนรู้จักและไม่รู้จัก
 
ถามว่าเตรียมตัวในคดีนี้อย่างไร ก็คงต้องยอมรับว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยยังมีสถานะอะไรบางอย่างในสังคม เพราะฉะนั้นการโดนคดีของพวกเรจึงไม่ถึงขั้นที่จะไม่มีทางต่อสู้ เครือข่ายทางสังคมก็มีพอสมควรทำให้ไม่ลำบากจนเกินไป ต่างจากคนอื่นที่โดนคดีที่ไม่ใช่อาจารย์ หรือไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือไม่ใช่อาจารย์สมชาย อาจารย์อรรถจักร 
 
ถ้าเป็นผมโดนคนเดียวน่าจะชิบหายพอสมควรละ ตอนนี้น่าจะอยู่ที่ไหนไม่รู้ (หัวเราะ) อาจจะไม่ได้สอนหนังสือแล้ว แบบไม่ได้ต่อสัญญาการเป็นอาจารย์ก็ว่าไป เพราะสถานภาพมันไม่เหมือนกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่อนข้างจะเปิดกว้างเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ถ้าเทียบกับที่อื่นๆ  เท่าที่ฟังบรรยากาศเพื่อนๆ อาจารย์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ เขาจะกดดันกว่านี้ และแทบจะพูดหรือขยับอะไรไม่ได้เลย ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงแม้จะมีความสัมพันธ์กับทหารอยู่บ้าง แต่ผู้บริหารก็ไม่ได้พยายามยุ่งอะไรกับเรา พูดง่ายๆ คือ ไม่ยุ่ง ไม่ห้าม ถ้ามีปัญหาก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ แฟร์พอสมควร 
 
 
ตอนที่ไปเข้าค่ายทหารต้องเจอกับอะไรบ้าง? 
 
ก่อนไปเข้าปรับทัศนคติ เราก็นัดกลุ่มอาจารย์ไปกินข้าวคุยกัน เราพอรู้ว่ามันไม่มีอะไรอยู่แล้ว เพราะเคยคุยกับทหารมาหลายรอบแล้ว เขาก็รู้ว่า ถ้าเราไปด่าเขามากๆ เราอาจจะโดนดำเนินคดีได้ แต่เขาก็ไม่ทำและพยายามประนีประนอม ทางผู้บังคับบัญชาค่ายกาวิละเองก็บอกประมาณว่า “เดี๋ยวผมก็ไปจากเชียงใหม่แล้ว” ประเด็นสำคัญ คือ อย่าให้มีปัญหา เพราะจะมีผลต่อการขึ้นยศของเขา ทหารที่เชียงใหม่ไม่เหมือนที่อื่น ยังพอรอมชอมกันได้
 
วันนั้นเรียกไปแต่เช้าเลย เป็นการพูดคุยกันส่วนตัว ไม่ต้องเชิญนักข่าวหรือใครมาให้กำลังใจ เราก็ไปกัน 8-9 คน ไปถึงก็ถูกตรวจละเอียดมาก ค้นตัว ค้นรถ เปิดฝากระโปรงรถว่ามีระเบิดไหม ไปถึงเขาก็ต้อนรับดี มีน้ำชามาให้ มีน้ำมีขนมมาให้ แต่ผมไม่ได้แตะอะไรเลย
 
แต่ความรู้สึกระหว่างกระบวนการปรับทัศนคตินั้น โมโหมาก ว่ามาทำอะไรที่นี่วะ แบบมาพูดว่า ต้องเห็นใจกัน เขาก็ทำตามหน้าที่ พอเราพูดบ้างว่า เราก็ทำตามหน้าที่ เขาก็บอกอีกว่า เขาก็ทำตามหน้าที่ เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว มาอีกละ 
 
เหมือนถูกโปรแกรมมาแล้ว พอคุยไปสามรอบ ไม่ว่าเราพูดอะไรเขาก็พูดแบบเดิม เราก็เลยอยู่เฉยๆ จะให้ทำอะไรว่ามาเลย แล้วเขาก็ให้เซ็นเอกสาร MOU มีเงื่อนไขหลักๆ ของปรับทัศนคติ คือ ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะเวลา 1 ปี ยังพอเข้าใจได้ เราก็เซ็นไป เพราะไม่เซ็นก็ไม่ได้ แต่มีเงื่อนไขด้วยว่า ให้เรายอมรับว่าเราทำผิดตามที่กล่าวหาไว้ 
 
อาจารย์หนุ่มยืนยันว่า เขาไม่ได้ผิดอะไร และยอมไม่ได้ เพราะถ้าจะให้บอกว่าเป็นความผิดผิดก็ต้องไปสู้ในศาลก่อน จึงต่อรองกลับไปแล้วทางทหารก็ยอมแก้ไขย่อหน้าหลังให้ ก็จึงยอมลงชื่อ
บรรยากาศ โดยรวมทหารค่อนข้างให้เกียรติ แต่เวลาเราจะพูดบ้าง ก็ไม่ได้ฟังอะไรเราเลย แล้วก็สอนเราเหมือนเด็ก ให้ต้องเห็นใจส่วนรวม แม้เราจะบอกว่า เราโคตรจะเห็นใจส่วนรวมเลยออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้ 
 
ในห้องนั้นเราก็เข้าไปพร้อมกันหมดเลย ทั้ง 8-9 คน เพราะเป็นการต่อรองมาตั้งแต่แรกด้วยว่า เราจะไม่คุยทีละคน ถ้าเกิดมีอะไรผิดเราก็จะทำผิดเป็นกลุ่ม ใช้เวลาพูดคุยอยู่ในห้องประมาณสองชั่วโมงครึ่ง โดยมีทหารร่วม 10 คน มี ผู้บัญชาการค่ายเข้ามาพูดเอง มีสายข่าว มีรองผู้ว่าฯ ตำรวจ ทหารหลายคนก็ถ่ายรูปบ้าง อัดเสียงบ้าง 
 
ห้องที่ใช้พูดคุยเป็นสีเหลี่ยมผืนผ้า มีโต๊ะยาวตรงกลาง มีคนอยู่ในห้องเกือบๆ 30 คน แต่เราเสียงดังกว่า โดยเฉพาะตอนเถียงกัน ถึงเขาจะไม่ให้พูดก็เถอะ มีคนหนึ่งชื่อพี่โก๋ สมัยมัธยมเขาเรียนพิเศษห้องเดียวกับผม เขาเป็นทหารประเภทหน่วยจู่โจม ผมไม่ได้เจอเขานานมากเป็นสิบปี ปรากฎจำกันได้ แล้วเขาก็มีหน้าที่ในการจับตาดูผม ประเด็น คือ มันมีการจับตาเราอยู่ข้างนอก รู้ว่าเราเป็นใคร บ้านอยู่ไหน รู้สัญญาจ้างของเรา รู้วุฒิการศึกษาของเรา
 
 
คำสั่ง 3/2558 ข้อ 12 มีไว้เพื่ออะไร? 
 
กฤษณ์พชร อธิบายว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 มีความพิเศษ ไม่เหมือนกับกฎหมายอื่น ตรงที่ให้อำนาจทหารในการรับมือกับสถานการณ์ได้มากกว่า โดยเฉพาะควบคุมเรื่องการชุมนุมทางการเมือง เจตนารมณ์ของคำสั่งไม่เน้นการจับกุมคนที่ไปชุมนุมทางการเมือง เพราะการดำเนินคดีอาญาโดยตรงมันควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ แต่คำสั่งนี้ออกมาเพื่อควบคุมสถานการณ์ จึงเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทหารรับมือได้หลายวิธีแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท 
 
เขาไม่ต้องการใช้กฎหมาย ต้องการควบคุมสถานการณ์ ไม่ต้องการหาคนผิดมาลงโทษขนาดนั้น เช่น ที่เชียงใหม่ก็พยายามควบคุมพวกผมไม่ให้พูด หรือที่อีสานสถานการณ์การเมืองมันแหลมคมมาก ก็ให้เจ้าหน้าที่ตรงนั้นพิจารณาดูว่าจะใช้ยังไง 
 
 
แล้วการใช้ศาลทหาร แทนศาลพลเรือน เป็นยังไง? 
 
ในทางประวัติศาสตร์ ศาลยุติธรรมไม่เคยมีปัญหากับทหารอยู่แล้ว ศาลกับทหารเหมือนอยู่คนละโลก ทหารเองเขาก็มีคณะตุลาการของเขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโดยปกติศาลยุติธรรมกับกองทัพจะมีส่วนที่มาเกี่ยวข้องกันอยู่น้อยมาก ดังนั้นการใช้ศาลทหารทำให้ศาลยุติธรรมถูกลดทอนไหม คิดว่าไม่นะ เพราะยิ่งพวกคดีทางการเมือง และมีความล่อแหลม ศาลยุติธรรมก็คงรู้สึกดีกว่าที่ไม่ต้องตัดสินคดีเหล่านี้ ในภาวะแบบนี้ เพราะมีความเสี่ยงสูงไม่ว่า ผลจะออกมาแนวไหนก็ตาม
 
แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาและเขามองตัวเองว่าเป็นปัญหา คือ ก่อนหน้านี้ศาลทหารตัดสินแต่เฉพาะคดีทหาร เรื่องวินัย คดีที่ต่อรองกันได้ แบบทหารๆ ตัดสินแบบทหารๆ ไม่มีเงื่อนไขการตรวจสอบ ไม่มีทนายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พอมาเจอคดีพลเรือน คดีการเมือง บุคคลากรก็ไม่พอ สถานที่ก็ไม่พร้อม แล้วเขาก็รับมือกับมันไม่ได้ เขาไม่ต้องการจะเอาผิดใคร แค่ต้องการควบคุมสถานการณ์ ทำให้คดีมีลักษณะเป็นแบบลับ ประเมินว่า ศาลทหารจะไม่ลงโทษใครเลย ยกเว้นจะเป็นกรณีที่ เป็นปฏิปักษ์ต่อ คสช. ชัดเจน
 
เขาเพียงแต่ต้องการควบคุมสถานการณ์ให้มันเงียบ ให้ทุกคนมีคดีติดตัว แต่ถ้าไปอยู่ในศาลพลเรือนมันจะกลายเป็นอีกแบบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเยอะขึ้น อย่างอาจารย์มหาวิทยาลัย ทนายความ ประชาชน ตัวบทกฎหมาย พอเป็นแบบนั้นมันควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าบีบเข้าศาลทหารมันควบคุมได้ 
 
 
คดีล่าสุดลักษณะเดียวกันของอาจารย์ ชยันต์ เป็นอย่างไรบ้าง ?
 
สถานการณ์ของเคสนั้นดีกว่าเยอะมาก เพราะว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นในวงประชุมวิชาการนานาชาติ ที่มหาวิทยาลัยรับรองแล้ว มีคณาจารย์จากนานาชาติทั่วโลกเต็มไปหมดเลย และการประชุมนานาชาติครั้งนั้น เป็นหัวข้อไทยศึกษาคุยกันทุกเรื่องเลย คุยเรื่องผู้หญิง เรื่องอินเทอร์เน็ต เรื่องเกมส์ ฯลฯ 
 
งานนั้นเป็นการประชุมนานาชาติที่มีค่าใช้จ่ายสูง ใครจะเข้ามาต้องลงทะเบียน มีค่าโรงแรม ค่าอาหาร ปัญหาคือมีทหารเข้ามา แบบมั่วๆ มาพูดเสียงดัง มาเล่นโทรศัพท์และมากินข้าวฟรี มีอาจารย์คนหนึ่งที่เป็นทีมจัดงานไม่พอใจ เลยออกมาเป็นข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งมันเบามากเลย มันเป็นการเมืองไม่ได้เลย 
 
อาจารย์ชยันตร์ วรรธนะภูติ โดนตั้งข้อหา ในฐานะที่แกเป็นผู้จัดงาน แกไม่ได้เกี่ยวข้อง แล้วเห็นได้ชัดว่าแกไม่ได้ผิด ตอนนี้ทหารก็คงนึกเสียใจอยู่ว่าไปแจ้งความแกทำไม 
 
 
ทุกวันนี้สอนหนังสืออย่างไร ต้องเซนเซอร์แค่ไหน ? 
 
ถ้าพูดในห้อง ผมคิดว่าเราไม่เซนเซอร์ เราพูดปกติเท่าที่จะพูดได้ จริงๆ การสอนหนังสือไม่ได้พูดไปเรื่อยได้ อย่างน้อยเราก็พูดในสิ่งที่เราเตรียมมาแล้ว เข้าใจว่าในห้องเรียนมันไม่มีคนมาจับตาอยู่แล้วว่าผมพูดอะไร คณะทหารเขาก็ไม่ต้องการมอนิเตอร์ในห้องเรียนอยู่แล้ว เพราะมันไม่ได้เกิดผลกระทบอะไร สิ่งที่เขาต้องการ คือ ควบคุมสถานการณ์ ห้องเรียนเขาก็ไม่ยุ่ง สิ่งที่พูดไม่ได้เราก็ไม่พูดอยู่แล้ว เช่น เรื่องที่หมิ่นเหม่ มาตรา 112 อะไรแบบนี้ จะเป็นในลักษณะการวิจารณ์มากกว่า ผมสอนกฎหมายอาญาผมก็สอนเรื่องมาตรา 112 
 
ส่วนงานเขียนทางวิชาการ อันนี้เซนเซอร์แน่นอน พอเขียนแล้วพิมพ์ออกไป มันแก้ไขไม่ได้ ในห้องเรียนเราสามารถอ้างเสรีภาพทางวิชาการตามรัฐธรรมนูญได้ แต่ถ้าอยู่นอกห้องเรียน การพูดหรือการเขียนมันจะกลายเป็นเสรีภาพการแสดงออก ดีกรีการรับรองเรื่องสิทธิมันจะแตกต่างกัน เสรีภาพทางวิชาการแทบไม่มีใครยุ่งอะไร แต่การสื่อสารทางสาธารณะมันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง 
 
 
MoU ที่ลงชื่อไปมีผลอย่างไร และท้ายที่สุดทัศนคติเปลี่ยนไปหรือไม่ ? 
 
ไม่รู้ ไม่แน่ใจ แต่กับคำว่า “ให้เห็นใจฝ่ายบ้านเมืองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่อย่างเรา มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว” ผมก็อยากให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่ต่อไปไม่มีความวุ่นวาย ถ้าเราจะยกระดับการสนทนามันก็ต้องโต้ตอบใช่ไหม แต่นี่เขาพูดอยู่ฝ่ายเดียวเลย ไม่ว่าเราจะพูดอะไรกลับไป เขาก็สะท้อนออกมาจุดเดียว 
 
สำหรับการปรับทัศนคติ มันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่ยกระดับขึ้นไป มีแต่ความน่าเบื่อขึ้นไป วิธีปกครอง คือ ความน่าเบื่อ แล้วเดี๋ยวคนก็จะยอมไปเอง MoU ไม่มีความหมายอะไรกับชีวิตผมเลย ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมเก็บมันไว้ไหม ? (หัวเราะ) เขาบอกผมผิดก็แปะมือผม แล้วก็ไม่ได้จับกุมผมอย่างจริงจัง ผมก็ไม่ได้รู้สึกถูกจับอย่างจริงจัง มันเหมือนพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ถ้าคิดว่าเขาฉลาดอาจจะเป็นไปได้ คือ ทำกระบวนการให้มันดูซับซ้อน ทำให้เราเบื่อและเลิกไปเอง มันไม่จริงใจเลย แม้จะออกหมายเรียกยังออกผิดตัวได้ รัฐกลายเป็นของเล่นไปเลย ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องเล่นเลย ผมอาจจะพูดแบบนี้ได้เพราะว่าเป็นสถานการณ์ในเชียงใหม่ แต่ถ้าเป็นที่อื่นอาจจะเดือด เช่น ที่ขอนแก่น คดีมาตรา 112 ของ “ไผ่ ดาวดิน” เป็นต้น
 
ทหารกับนักกฎหมายก็มีความคล้ายคลึงกัน คือ อยู่ไปวันๆ ถามว่าทหารเขาชอบ คสช. ไหม ก็คงไม่ชอบหรอก แต่เขามีข้ออ้างง่ายๆ คือ เพราะเป็นทหารเลยต้องฟังผู้บังคับบัญชา เขายกภาระความรับผิดชอบทางศีลธรรมของเขาทั้งหมดไว้กับ คำพูดนี้ และก็ไม่ได้คิดอะไร เหมือนกับนักกฎหมายบอกว่า ก็กฎหมายเขาเขียนไว้แบบนี้ เลยมีความสบายใจที่จะทำตามและอยู่ต่อไปได้ง่ายๆ 
ชนิดบทความ: