1102 1453 1915 1356 1393 1897 1332 1566 1635 1158 1744 1290 1133 1578 1450 1340 1883 1630 1020 1843 1063 1653 1142 1262 1454 1461 1085 1059 1060 1835 1473 1062 1969 1153 1679 1402 1737 1138 1273 1656 1820 1926 1868 1125 1621 1439 1134 1450 1194 1091 1600 1617 1549 1214 1155 1550 1987 1882 1460 1782 1967 1175 1722 1203 1228 1791 1789 1164 1162 1160 1249 1292 1186 1089 1180 1729 1091 1247 1529 1730 1746 1585 1928 1872 1128 1408 1743 1613 1874 1577 1572 1200 1209 1476 1898 1495 1726 1177 1830 มหากาพย์ ฟาร์มไก่ฟ้องคนงานพม่า+เอ็นจีโอ หลังพูดเรื่องการทำงานหนักวันละ 20 ชั่วโมง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

มหากาพย์ ฟาร์มไก่ฟ้องคนงานพม่า+เอ็นจีโอ หลังพูดเรื่องการทำงานหนักวันละ 20 ชั่วโมง

 

บริษัท ธรรมเกษตร เป็นเจ้าของธุรกิจฟาร์มไก่ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี ทำกิจการเลี้ยงไก่และขายให้กับ "เบทาโกร" ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจนี้ที่จะรับซื้อไก่เพื่อไปแปรรูปเป็นอาหารต่อ ฟาร์มไก่จ้างคนงานชาวพม่ามาทำงานดูแลไก่ ทั้งการให้อาหาร ดูแลแสงไฟ อุณหภูมิ โดยเฉพาะในช่วงที่ไก่ยังไม่แข็งแรง ในช่วงปี 2559 ประเด็นปัญหาของสภาพการทำงานที่ฟาร์มไก่แห่งนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อคนงานชาวพม่า 14 คน รวมตัวกันเรียกร้องสิทธิ และกล่าวหาว่า บริษัทละเมิดสิทธิแรงงาน
 

 

990


เดือนมิถุนายน 2559 ในฟาร์มมีคนงานชาวพม่า 14 คน ทำงานโดยมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทุกคน หนึ่งในนั้นทำงานเป็นแม่บ้าน ส่วนอีก 13 คน ทั้งชายและหญิงทำหน้าที่ดูแลไก่ บางคนทำงานในฟาร์มมาแล้วหลายปีแต่ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ ทั้ง 14 คนปรึกษาหารือกันและเห็นด้วยกันว่า พวกเขาทั้ง 14 คนถูกให้ทำงานหนักเกินไปและได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม โทน โทน วิน คนงานคนหนึ่งจึงใช้เฟซบุ๊กติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network) หรือ MWRN ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานชาวต่างชาติตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร และ MWRN ก็ได้ติดต่อสำนักงานคุ้มครองแรงงานให้เข้าตรวจสอบ
 


เจ้าพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานคุ้มครองแรงงาน จังหวัดลพบุรี เข้าไปที่ฟาร์มไก่เพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริง และพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้างกับคนงานแล้ว นายจ้างเสนอจ่ายเงินชดเชยให้คนงานคนละ 30,000 บาท ซึ่งคนงานเห็นว่า น้อยเกินไป จึงตกลงกันไม่ได้ ทาง MWRN จึงช่วยเหลือพาคนงานทั้ง 14 คน ให้เดินทางออกนอกฟาร์ม ด้านเจ้าพนักงานตรวจแรงงานก็เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงาน และออกคำสั่งในเดือนสิงหาคม 2559 ให้ฟาร์มไก่จ่ายเงินชดเชยให้แก่คนงาน ตกคนละ 60,000-150,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน แต่คนงานมองว่า ค่าชดเชยดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับที่พวกเขาควรจะได้จึงนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลแรงงาน เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยคนละ 1,000,000-4,500,000 บาท
 


ระหว่างที่คดีความในศาลแรงงานเดินหน้าไป คนงานทั้ง 14 คนก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาคร โทน โทน วิน เล่าว่า เขาได้งานใหม่ในโรงงานปลากระป๋องที่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายวันละ 300+ บาท พร้อมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนทาง MWRN ก็ร่วมงานกับอีกหลายองค์กรนำเรื่องราวของคนงานทั้ง 14 คนออกเผยแพร่ ทำให้ต่อมาเบทาโกรยกเลิกสัญญา ไม่รับซื้อไก่จากฟาร์มของบริษัท ธรรมเกษตร บริษัทจึงได้รับความเสียหายและต้องเลิกกิจการฟาร์มไก่ไป
 


ข้อพิพาทที่คนงานทั้ง 14 คนกล่าวหานายจ้าง และนายจ้างปฏิเสธยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง มีหลายประเด็น เช่น 


1. คนงานกล่าวหาว่า นายจ้างจ่ายค่าจ้างเพียงวันละ 220-230 บาท ซึ่งน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยสลิปที่มาพร้อมกับเงินในแต่ละเดือนเป็นภาษาไทยที่คนงานอ่านไม่เข้าใจ และคนงานยังไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด ด้านนายจ้างต่อสู้ว่า ก่อนรับเข้าทำงานมีการตกลงกันแล้วว่า ค่าจ้างต้องถูกหักเป็นค่าที่พักเดือนละ 1,600 บาท ค่าไฟฟ้า 1,400 บาท ค่าน้ำประปา 1,200 บาท และค่าน้ำดื่ม 80 บาท จึงเหลือจ่ายจริงตามที่คนงานได้รับ


2. คนงานกล่าวหาว่า ในช่วงที่ฟาร์มมีไก่ ต้องทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. รวมวันละ 20 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ทั้งวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดพิเศษในแต่ละปี คนงานต้องให้อาหาร ให้ยา เปิด-ปิดไฟ เก็บไก่ตายไปทิ้ง เฝ้าระวังขโมย โดยต้องตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงาน ด้านนายจ้างต่อสู้ว่า ไม่ได้บังคับให้ทำงานหนักเช่นนั้น เหตุที่คนงานเข้าไปทำงานในฟาร์มช่วงกลางคืนเพราะอยากให้ไก่มีน้ำหนักเพิ่มเพื่อจะได้ค่าตอบแทนพิเศษ และในช่วงพักเล้าที่ฟาร์มไม่มีไก่ 25-28 วัน คนงานก็ได้พักผ่อนเพราะไม่มีงาน


3. คนงานกล่าวหาว่า นายจ้างมีพฤติกรรมกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยยึดพาสปอร์ตของคนงาน คนงานไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากฟาร์ม หากต้องการไปซื้อของในตลาดก็จะต้องมีคนไทยพาไปและพากลับเสมอ ด้านนายจ้างต่อสู้ว่า ไม่เป็นความจริง นายจ้างไม่ได้ยึดพาสปอร์ต เพียงแต่นำไปเก็บไว้เพื่อต่อใบอนุญาตทำงาน และได้คืนให้คนงานแล้ว คนงานสามารถออกไปซื้อของที่ร้านชำได้ นายจ้างเพียงช่วยอำนวยความสะดวกจัดบริการรถรับส่งไปตลาดในวันหยุด และคนงานยังเคยขอลากลับบ้านที่พม่ารวมทั้งไปท่องเที่ยวกันในวันหยุด
 

ฯลฯ และประเด็นอื่นๆ อีกหลายประเด็น
 


ต่อมาเมื่อ 17 มีนาคม 2560 ศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้นายจ้าง บริษัท ธรรมเกษตร จ่ายค่าชดเชยให้กับคนงานทั้ง 14 คน ในอัตราใกล้เคียงกับที่พนักงานตรวจแรงงานเคยสั่งไว้ คือ คนงานต้องได้รับค่าชดเชยคนละประมาณ 60,000-150,000 บาท เพิ่มขึ้นจากคำสั่งเดิมเพียงเล็กน้อย รวมแล้วนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ทั้ง 14 คนประมาณ 1,700,000 บาท ต่อมาทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา และศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง
 

ส่วนหนึ่งในคำพิพากษา ศาลแรงงานกำหนดให้บริษัท ธรรมเกษตร ต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลังจากการที่คนงานต้องเข้าไปทำงานในฟาร์มตอนกลางคืน คิดเป็นวันละ 2-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของไก่ ไม่ได้คิดเวลาทำงานล่วงเวลาวันละ 10 ชั่วโมงตามที่คนงานร้องขอ โดยศาลเชื่อว่า การเข้าไปทำงานในฟาร์มช่วงกลางคืนเป็นข้อตกลงพิเศษที่คนงานเข้าไปนอนพักผ่อนในฟาร์ม หากเกิดความผิดปกติกับไก่จะได้ช่วยเหลือได้ทัน ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา ศาลยังเห็นว่า ลักษณะของฟาร์มไม่ได้แข็งแรงพอที่จะกักขังคนงานให้ทำงานห้ามออกข้างนอก จึงไม่ได้กำหนดค่าเสียหายจากการกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ และเนื่องจากการเรียกค่าชดเชยมีอายุความ 2 ปี ศาลจึงไม่อาจกำหนดให้คนงานที่ทำงานมาก่อนหน้านั้นได้รับค่าชดเชยจากการที่จ่ายค่าจ้างไม่ครบระหว่างการทำงานก่อนเดือนมิถุนายนปี 2557
 

ไม่เพียงแค่ข้อพิพาทในประเด็นเรื่องการจ้างงานและค่าชดเชยเท่านั้น หลังคนงานทั้ง 14 คน โดยความช่วยเหลือจาก MWRN และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานออกสู่สาธารณะ บริษัท ธรรมเกษตร ซึ่งมีชาญชัย เพิ่มผล เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดี เห็นว่า การรณรงค์ที่กล่าวหาว่า ฟาร์มละเมิดสิทธิแรงงานเช่นนี้เป็นการใส่ความด้วยข้อความที่ไม่เป็นจริง ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง และดำเนินการฟ้องคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสองปี ดังนี้
 


1. คดีฟ้องอานดี้ ฮอลล์ โพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ 20 ครั้ง
 

อานดี้ ฮอลล์ เป็นนักวิจัยชาวอังกฤษ ที่เข้ามาทำงานเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติของชาวพม่าในประเทศไทยมายาวนาน และเคยทำงานร่วมกับ MWRN ในการรณรงค์ปกป้องสิทธิแรงงาน อานดี้ เป็นคนหนึ่งที่ติดตามกรณีที่เกิดขึ้นกับคนงานพม่าของฟาร์มไก่แห่งนี้ และรณรงค์ต่อสาธารณะเพื่อเรียกร้องสิทธิให้พวกเขา โดยใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของตัวเองสื่อสารทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทย
 

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 บริษัท ธรรมเกษตร ยื่นฟ้องอานดี้ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ กล่าวหาว่า อานดี้หมิ่นประมาท ใส่ความโจทก์ทำให้ได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของเขาอย่างน้อย 20 ครั้ง ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ถึง วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นการเผยแพร่รายงานข่าว และบทความที่พูดถึงข้อพิพาทในการจ้างแรงงานกรณีหลายประเด็น เช่น การกล่าวหาสภาพการจ้างงานว่าเป็น "การค้าทาส" ซึ่งบริษัทธรรมเกษตร เห็นว่า ไม่เป็นความจริง หรือการกล่าวว่า คนงานรู้สึกเหมือนโดนกักขังให้อยู่แต่ในฟาร์ม เป็นต้น
 

คดีนี้ทนายความที่โจทก์ว่าจ้างเขียนบรรยายคำฟ้องยาวกว่า 100 หน้า และมีประเด็นข้อเท็จจริงต้องสืบพยานกันอย่างหนัก เพื่อพิสูจน์ว่า เรื่องราวต่างๆ ที่อานดี้โพสต์ถึงนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อานดี้ เห็นว่า การต่อสู้คดีจะต้องใช้เวลานานหลายปีและเป็นการสร้างภาระให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมากเกินไป ทั้งค่าใช้จ่ายขององค์กรและผลกระทบที่อาจเกิดกับคนงาน จึงเดินทางกลับประเทศอังกฤษ และไม่เข้ารายงานตัวเพื่อต่อสู้คดี ทำให้คดีนี้ยังคงคั่งค้างอยู่ไม่อาจเดินหน้าพิสูจน์ความจริงกันได้
 


2. คดีฟ้องหมิ่นประมาท 14 คนงาน จากการร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ
 

หลังคนงานถูกช่วยเหลือออกมาจากฟาร์มแล้ว MWRN แนะนำและพาคนงานทั้ง 14 คนไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เข้าตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังรับฟังข้อเท็จจริงทุกฝ่ายแล้ว คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ว่า กรณีนี้ “มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีนายจ้างจ่ายค่าแรงและข้อตกลงการจ้างงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากนายจ้างไม่เข้าใจสาระสำคัญของกฎหมาย แต่การกระทำไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับ เนื่องจากการจ้างงานไม่มีสภาพกดขี่หรือบังคับและลูกจ้างเข้ามาทำงานโดยชอบด้วยกฎหมาย"
 


6 ตุลาคม 2559 บริษัท ธรรมเกษตร จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงดอนเมือง กล่าวหาว่า ลูกจ้างชาวพม่า 14 คน หมิ่นประมาทและแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จากการนำเรื่องไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบ คดีนี้ศาลสั่งรับฟ้องและมีการสืบพยานต่อสู้คดีกันต่อเนื่องหลายนัด โดยคนงานทั้ง 14 คนและ MWRN ต้องขาดงานเพื่อเดินทางมาฟังการพิจารณาคดีทุกนัด จนกระทั่ง 11 กรกฎาคม 2561 ศาลแขวงดอนเมืองอ่านคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า จำเลยร้องเรียนด้วยเจตนาสุจริต เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพส่วนได้เสียของตน รับฟังไม่ได้ว่า ใช้ข้อความอันเป็นเท็จ จึงไม่เป็นความผิด ด้านบริษัท ธรรมเกษตร ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟ้องเหตุว่า เป็นการอุทธรณ์ในปัญาข้อเท็จจริงที่กฎหมายห้ามอุทธรณ์
 

ดูรายละเอียดการพิจารณาคดีนี้ต่อได้ที่นี่


 
3. คดีฟ้องลักทรัพย์ จากการเอา "บัตรตอก" ไปร้องเรียน
 

บริษัท ธรรมเกษตร ยื่นฟ้องคนงานสองคน คือ เยเย และซูหยัง พร้อมกับสุธาสินี แก้วเหล็กไหล เจ้าหน้าที่ของ MWRN รวม 3 คน ต่อศาลจังหวัดลพบุรี ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นไปในประการที่อาจจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 188, 334, 335, 352 ข้อกล่าวหาว่า ลักทรัพย์ มาจากการที่ทั้งสามคนเอาบัตรบันทึกเวลาทำงาน หรือ "บัตรตอก" ที่ลงเวลาการเข้างานของคนงาน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัท ไปให้พนักงานตรวจแรงงานดู
 

หลังศาลจังหวัดลพบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561  เห็นว่า จำเลยทั้งสามมิได้เจตนาเอาบัตรตอกไปเป็นของตน เพียงแค่ต้องการเอาไปแสดงเพื่อประกอบของร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานเท่านั้น ไม่ได้แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อีกทั้งโจทก์มีหน้าที่ต้องส่งเอกสารให้แก่พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดลพบุรีอยู่แล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร
 
 
4. คดีฟ้องนาน วิน แถลงข่าวที่ FCCT
 

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 บริษัท ธรรมเกษตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อ นาน วิน หนึ่งใน 14 คนงาน ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการกระทำ คือ
 

1) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 นาน วิน ได้เข้าร่วมงานสัมนาขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) จัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) นาน วิน เป็นตัวแทนของคนงานขึ้นเวทีเล่าถึงสภาพการทำงานที่ต้องทำงานวันละ 20 ชั่วโมง และถูกนายจ้างข่มขู่ว่า หากเปิดเผยเรื่องจะต้องติดคุก 7 ปี และนาน วินยังได้แชร์คลิปถ่ายทอดสดงานดังกล่าวทางเฟซบุ๊กของตัวเอง
 

2) เมื่อเดือนตุลาคม 2560 นาน วิน ให้สัมภาษณ์ในคลิปวีดิโอความยาว 107 วินาที ขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) กล่าวว่า "ในเวลาเช้า จะเริ่มทำงาน 7.00 น. และเราจะได้พักกินอาหารมื้อกลางวันเวลาเที่ยง จากกนั้นเราจะหยุดงานในเวลา 17.00 น. แต่ถึงเวลา 19.00 น. เราจะต้องเริ่มงานอีกครั้งไปจนถึง 05.00 น. ซึ่งหนังสือเดินทางและเงินของเราถูกยึดไปหมด"
 

ในคำฟ้องบริษัท ธรรมเกษตร ยืนยันว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่เป็นความจริง โดยอ้างอิงถึงคำสั่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลแรงงาน เพื่อพิสูจน์ว่า คนงานไม่ได้ทำงานตลอดเวลาตั้งแต่ 07.00-17.00 น.และทำงานต่อในเวลา 19.00-05.00 น. ต่อเนื่องกันโดยไม่ได้พักผ่อนเลย คดีนี้ศาลอาญานัดสืบพยานวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ 2563

 

ดูรายละเอียดคดีนี้ต่อคลิกที่นี่
 


5. คดีฟ้องสุธารี นักสิทธิมนุษยชน ทั้งแพ่งและอาญา
 

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 บริษัท ธรรมเกษตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อสุธารี วรรณศิริ เจ้าหน้าที่องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 326, 328 จากการโพสต์ทวิตเตอร์สามครั้งถึงเรื่องข้อพิพาทแรงงานนี้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 โดยเป็นการทวีตพร้อมกับแนบลิงก์ไปยังคลิปวีดิโอความยาว 107 วินาทีที่องค์กรผลิตขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทต่อคนงานทั้ง 14 คน โดยมีคำให้สัมภาษณ์ของคนงานสามคนเล่าถึงสภาพการทำงานและการถูกดำเนินคดีเป็นส่วนหนึ่งของคลิปวีดิโอนี้


คลิปวีดีโอดังกล่าว เป็นคลิปเดียวกับที่ นาน วิน ให้สัมภาษณ์และถูกฟ้องไปก่อนไม่กี่วัน โดยหลังคำให้สัมภาษณ์ของนาน วิน มีคำบรรยายขึ้นต่อมาว่า 'They reported labor rights abuses to that authorities' ซึ่งโจทก์ให้คำแแปลว่า "พวกเขาได้แจ้งเรื่องเหตุทารุณกรรมแรงงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของไทยไว้แล้ว" และเห็นว่า ไม่เป็นความจริงเพราะบริษัท ไม่เคยทารุณกรรมคนงาน
 

ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ทนายความของบริษัท ธรรมเกษตร ยังยื่นฟ้องสุธารี เป็นอีกคดีหนึ่งต่อศาลแพ่ง ในความผิดฐานละเมิด กล่าวหรือไขข่าวที่ฝ่าฝืนต่อความจริงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จากการทวีตสามข้อความเดียวกัน โดยบริษัทอ้างว่า ได้รับความเสียหายทำให้ขาดรายได้จากการทำธุรกิจกว่า 90 ล้านบาทต่อปี ขอให้สุธารีจ่ายค่าเสียหาย 5,000,000 บาท และลบข้อความดังกล่าว
 

คดีอาญาศาลสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับ คดีของนาน วิน ดูรายละเอียดคดีนี้ต่อ คลิกที่นี่
 
 

6. คดีฟ้องนักวิชาการ สถาบันสิทธิฯ ม.มหิดล

 

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 บริษัท ธรรมเกษตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อ อ.งามศุกร์ รัตนเสถียร์ นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 326, 328 จากการใช้เฟซบุ๊กของสถาบันแชร์แถลงการณ์ขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) เพื่อเรียกร้องให้บริษัท ธรรมเกษตร หยุดดำนเนินคดีต่อลูกจ้างชาวพม่า ซึ่งในแถลงการณ์ดังกล่าวมีลิงก์ให้คลิกไปยังคลิปวีดีโอ ความยาว 107 วินาที ที่เป็นปัญหาในคดีก่อนหน้านี้ด้วย

 

ดูรายละเอียดคดีนี้ต่อ คลิกที่นี่

 

 

จากการติดตามสังเกตการณ์การพิจารณาคดี สังเกตจากข้อต่อสู้ของฝ่ายบริษัท ธรรมเกษตร ที่ปรากฏในการเขียนคำฟ้องคดีและการถามค้านพยาน ในการดำเนินคดีชุดนี้ พบว่า ฝ่ายนายจ้างติดใจต่อประเด็นที่คนงานเล่าเรื่องให้คนภายนอกฟังว่า พวกเขาถูกยึดพาสปอร์ต ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว และต้องทำงานตลอดเวลากลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะหากมีการใช้ถ้อยคำนิยามสภาพการจ้างว่า เป็น "การทารุณกรรม" หรือ "การค้ามนุษย์" หรือ "การใช้แรงงานทาส" บริษัท ธรรมเกษตร ก็จะหยิบเอาข้อความเหล่านั้นมาเป็นฐานในการดำเนินคดี
 


ด้านชาญชัย เพิ่มผล ตัวแทนของบริษัท ธรรมเกษตร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ว่า เขาถูกบีบให้ต้องดำเนินคดีเหล่านี้เพื่อปกป้องชื่อเสียงของบริษัทจ้างข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง เขาปฏิเสธเรื่องการให้แรงงานทำงานหนัก 20 ชั่วโมงและการยึดหนังสือเดินทาง
 

และกล่าวด้วยว่า จากนี้เป็นต้นไปจะเห็นการฟ้องคดีที่มากขึ้นต่อกลุ่มผู้ที่เรียกตัวเองว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งสำหรับเขาจริงๆ แล้วเป็นผู้ละเมิดสิทธิมากกว่า
 

ด้านฟอร์ตี้ฟายไรต์ ออกแถลงการณ์ถึงทางการไทยว่า นอกจากควรยกฟ้องคดีใหม่ของบริษัท ธรรมเกษตร แล้วรัฐบาลไทยยังควรยกเลิกการเอาผิดทางอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย พร้อมชี้ว่า การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมในรูปของการฟ้องคดีปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic Litigation Against Public Participation) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศไทย นอกจากนี้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งยังออกแถลงการณ์หลายฉบับต่อเนื่องกันเพื่อเรียกร้องให้บริษัท ธรรมเกษตร ถอนฟ้องคนงานที่ออกมาเผยแพร่เรื่องราวการละเมิดสิทธิแรงงานในมหากาพย์ครั้งนี้