1709 1754 1397 1185 1360 1253 1780 1454 1182 1260 1566 1141 1967 1329 1390 1465 1247 1439 1625 1632 1688 1379 1581 1174 1241 1114 1474 1294 1995 1367 1550 1482 1051 1441 1546 1662 1959 1701 1875 1302 1310 1924 1673 1224 1842 1051 1424 1188 1455 1152 1703 1234 1855 1200 1812 1846 1919 1906 1988 1259 1722 1220 1844 1622 1038 1300 1588 1401 1470 1172 1103 1404 1789 1614 1440 1606 1183 1307 1235 1326 1704 1014 1160 1734 1017 1914 1926 1143 1627 1490 1630 1228 1922 1841 1465 1430 1793 1460 1860 เปิดอกประธาน FCCT: Oasis of Free Speech ท่ามกลางทะเลทราย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เปิดอกประธาน FCCT: Oasis of Free Speech ท่ามกลางทะเลทราย

 
ก่อนยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ การจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ ตั้งแต่ประเด็นเบาๆ อย่างประเด็นวัฒนธรรม ไปจนถึงประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่นประเด็นมาตรา 112 สามารถจัดได้อย่างเสรี เสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทยอยู่ในระดับทรงตัว เรื่องอะไรที่พูดได้และพูดไม่ได้พอเข้าใจกันได้อยู่ 
 
ในยุคภายใต้ประกาศคสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน งานเสวนาต่างๆ เผชิญอุปสรรคที่จะถูกสั่งห้าม หรือสั่งให้เลื่อน อย่างน้อย 51 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 11 ครั้ง ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีเจรจากับเจ้าของสถานที่ทั้งมหาวิทยาลัยหรือโรงแรมให้ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้สถานที่จัดงานเสวนาในประเด็นอ่อนไหว รวมการจัดกิจกรรมสาธารณะทุกประเภทที่ถูกห้ามหรือแทรกแซง บันทึกได้อย่างน้อย 73 ครั้ง
 
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ดูจะเป็นสถานที่ที่ยึดโยงกับสายตาของต่างประเทศที่มองประเทศไทย ซึ่งเหมาะสำหรับการจัดงานเสวนาประเด็นที่อ่อนไหวเพื่อสือสารไปยังต่างประเทศ และดูเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยจะต้องให้ความเกรงใจบ้าง แต่ล่าสุดในวันที่ 4 มิถุนายน 2558 FCCT ให้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนใช้สถานที่จัดงานแถลงเสวนาเปิดตัว"รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหนึ่งปีหลังการรัฐประหาร: กระบวนการยุติธรรมรายพรางภายใต้คสช." เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ก็มีคำสั่งให้ FCCT ยกเลิกงานดังกล่าว 
 
โจนาธาน เฮด ประธาน FCCT เล่าถึงบทบาทของ FCCT ในฐานะพื้นที่กลางที่ผู้เห็นต่างจะสามารถถกเถียงประเด็นสำคัญกันอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งประเด็นความท้าทายในการทำงานของ FCCT ภายใต้สภาวะที่บ้านเมืองไม่เป็นปกติ เฮดเป็นผู้สื่อข่าว BBC ที่อยู่ในเมืองไทยมานาน และยังเคยถูกคนร้องทุกข์ในคดี112 ร่วมกับคนในFCCTอีกหลายคนเพราะนำวีซีดีบันทึกการบรรยายของจักรภพ เพ็ญแข มาจำหน่าย 
 
 
FCCT คืออะไรนะ? 
 
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนไทยทั่วไป แต่ในแวดวงผู้ที่ทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือประเด็นทางการเมือง FCCT ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี เพราะมีการจัดงานเสวนาหรือนิทรรศการในประเด็นสำคัญอยู่บ่อยครั้ง โดยมีวิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีชื่อเสียงมาร่วมงาน 
 
โจนาธาน เฮด ประธานสมาคมเล่าว่า FCCT ตั้งขึ้นในประเทศไทยมาประมาณ 60 ปีแล้ว เป็นสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ใหญ่หากเปรียบเทียบกับสมาคมแบบเดียวกันในประเทศเอเชียอื่น หลายประเทศไม่ได้มีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแบบนี้ หากเปรียบเทียบในเชิงประเด็น FCCT น่าจะมีความเข้มข้นกว่าสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศขนาดใหญ่อย่างที่ฮ่องกงหรือญี่ปุ่น เพราะที่นั่นสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่สื่อมวลชน จึงมักจัดกิจกรรมในประเด็นเบาๆ อย่างวัฒนธรรม 
 
236
 
พันธกิจของ FCCT ท่ามกลางคลื่นลมแรงของรัฐนาวาทหาร
 
ตลอดการสนทนา เฮดย้ำหลายครั้งว่า พันธกิจของ FCCT คือการเป็นพื้นที่เปิด ที่ประเด็นต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญ จะได้รับการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์และรอบด้าน เฮดบอกว่าในช่วง 20 ปีมานี้ FCCT สามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่เปิดได้อย่างอิสระมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2557 และประเทศไทยมีรัฐบาลทหารปกครองประเทศ 
 
"เรา (FCCT) พยายามที่จะเข้าใจเงื่อนไขของเขา(คสช.) แต่เราก็ต้องยึดมั่นกับพันธกิจของเรา ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก" เฮดกล่าว
 
เฮดเล่าว่า FCCT ยึงคงยึดมั่นในหลักการ โดยเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในประเด็นต่างๆ ซึ่งบางประเด็นคสช.หรือฝ่ายความมมั่นคง ก็อาจจะไม่ชอบใจนัก แต่นั่นก็เป็นพันธกิจของ FCCT ที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ จากความพยายามที่จะยืนหยัดในหน้าที่ ทำให้ครั้งหนึ่ง คสช.เคยส่งประกาศคำสั่งต่างๆมาให้พร้อมกับแจ้งว่า หาก FCCT จัดกิจกรรม หรือยอมให้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมที่มีเนื้อหาเข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศ-คำสั่ง คสช. ก็อาจถูกดำเนินคดีหรือยึดทรัพย์สิน
 
การทำงานที่ยุ่งยากหลังการรัฐประหาร
 
เฮดออกตัวว่า FCCT ไม่ใช่องค์กรรณรงค์ แต่เป็นสโมสรผู้สื่อข่าว เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น FCCT จึงจะไม่ทำการใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือประกาศคำสั่งของคสช. และหากคสช.มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ยกเลิกกิจกรรม หรือขอความร่วมมือ ไม่ให้ผู้จัดใช้พื้นที่ FCCT ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้สโมสรคงอยู่ และทำงานในฐานะพื้นที่เล็กๆ ที่ยังสามารถใช้เป็นที่ถกเถียงประเด็นสำคัญๆได้ 
 
หลังการรัฐประหาร FCCT พยายามจะสื่อสารกับคสช.และฝ่ายความมั่นคงมาโดยตลอดเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด แต่กฎระเบียบหยุมหยิมหลังการรัฐประหารก็ทำให้มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น การต้องขออนุญาตจัดงานก่อนอย่างน้อย 15 วัน ซึ่งเฮดเล่าว่า เมื่อได้รับแจ้งเรื่องกฎการขออนุญาตล่วงหน้า เขาก็ถามกลับไปว่ากิจกรรมประเภทใดบ้างที่จะต้องขออนุญาต และต้องไปขอกับใคร ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนแจ้งเรื่องนี้ ก็ไม่อาจให้คำตอบได้ FCCT จึงเลือกใช้วิธีประกาศการจัดกิจกรรมต่างๆ บนเว็บไซด์และสื่อสังคมออนไลน์ของทางสมาคม ล่วงหน้า 15 วัน ซึ่งทางการสามารถเข้าถึงได้ หากเห็นว่าหัวข้อใดมีปัญหาก็เข้ามาพูดคุยกันได้
 
237 Jonathan head
 
 
แขกประจำที่ไม่ได้รับเชิญ
 
เท่าที่ประธานของ FCCT เล่าให้ฟัง หลังการรัฐประหาร กิจกรรมของ FCCT ถูกแทรกแซงมาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง
 
พฤษภาคม 2557 ไม่กี่วันหลังการรัฐประหาร จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/600 ซึ่งปฏิเสธที่จะเข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ประสานขอจัดแถลงข่าวที่ FCCT โดยบอกว่าพร้อมถูกจับกุมแต่ต้องการสื่อสารกับประชาชนก่อน เฮดเล่าว่าเมื่อได้รับการประสานทาง FCCT ก็ให้จาตุรนต์ใช้สถานที่ เพราะการให้พื้นที่จัดแถลงข่าว เป็นพันธกิจของ FCCT อยู่แล้ว การแถลงข่าวดำเนินไปได้ประมาณ 2 ชั่วโมง จาตุรนต์ ก็ถูกทหารในเครื่องแบบหลายนายเข้ามาจับกุมตัว เฮดตั้งข้อสังเกตว่า หากทหารจับตัวจาตุรนต์ก่อนขึ้นมาที่ FCCT เรื่องก็คงไม่ใหญ่ เหมือนกับการจับกุมระหว่างการแถลงข่าว ท่ามกลางสายตาของผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมาก
 
2 กันยายน 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กำหนดจัดงาน "ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง" ที่ FCCT เพื่อนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 100 วันหลังรัฐประหาร ผู้จัดงานได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ยกเลิกงาน โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ หากยังคงยืนยันดำเนินกิจกรรมต่อไปอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่ 7/2557 เมื่อถึงกำหนดจัดงานเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ลุมพินีก็เดินทางเอาหนังสือสั่งงดจัดงานมามอบให้ และผู้จัดงานก็แถลงยกเลิกงานดังกล่าว
 
มีนาคม 2558 FCCT จัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง "อนาคตการเมืองไทย" (The Future of Politics in Thailand) โดยเชิญนักการเมืองทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยมาเป็นวิทยากร http://fccthai.com/items/1599.html เฮดเล่าว่า ครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเจรจาซึ่งตกลงกันว่าจะไม่ปิดกั้นการจัดงาน แต่วางเงื่อนไขมาว่าห้ามผู้พูดโจมตีคสช.หรือบุคคลที่ไม่อยู่ในงาน ซึ่งเขาเข้าใจว่าน่าจะหมายถึง พล.อ.ประยุทธ รวมทั้งแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาบันทึกวิดีโอและภาพในงานด้วย ซึ่งเฮดบอกว่าข้อนั้นทาง FCCT ไม่มีปัญหา พร้อมต้อนรับทุกคน ซึ่งงานครั้งนั้นเป็นไปด้วยดี มีการอภิปรายถึงสถานการณ์ต่างๆ กันอย่างเผ็ดร้อน
 
4 มิถุนายน 2558 เวลา 18.00 เป็นกำหนดการจัดงานเสวนาเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เฮดเล่าว่า ทาง FCCT ประชาสัมพันธ์งานล่วงหน้า 15 วัน ปรากฎว่าในช่วงบ่ายของวันงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานมาว่าขอให้งดจัดกิจกรรมดังกล่าว เฮดบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ทางเจ้าหน้าที่ประสานมายัง FCCT โดยตรง ขณะที่แล้วจะประสานและสั่งไปทางผู้จัด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ประสานมาด้วยปากเปล่า แต่เฮดบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ยินดีจะทำตามคำสั่ง แต่ขอให้มีเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรมา ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่อยากให้คำสั่งเป็นเอกสา่ร เพราะกลัวจะเป็นประเด็นทำให้ถูกโจมตี แต่สุดท้ายก็ยอมให้เอกสาร โดยประสานให้เจ้าหน้าที่ของ FCCT ลงไปรับที่ร้านสตาร์บัค 
 
เฮดเล่าว่า หลังได้รับคำสั่งเป็นเอกสาร FCCT ก็ประสานไปทางศูนย์ทนายว่าจะขอยกเลิกเวที รวมทั้งประกาศต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เฮดยืนยันว่าคลับเฮาส์ของสมาคมจะเปิดบริการตามปกติ หากทางศูนย์ทนายจะมาใช้พื้นที่นั่งพูดคุยกับผู้สื่อข่าวหรือเจ้าหน้าที่สถานทูต โดยไม่จัดเวทีสาธารณะหรือพูดผ่านเครื่องขยายเสียง ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เจ้าหน้าที่บอกกับเฮดว่า หากเป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจในเครื่องแบบจะขออยู่ในพื้นที่เพื่อถ่ายภาพ ซึ่งเฮดก็บอกว่าทาง FCCT ไม่มีปัญหา ซึ่งก็ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนาย รวมทั้งผู้มาร่วมงานและผู้สื่อข่าว ต่างถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถ่ายภาพไว้เกือบทุกคน เฮดตั้งข้อสังเกตในตอนท้ายว่า เป็นไปได้ว่าการแถลงข่าวแบบไม่เป็นทางการของศูนย์ทนายด้านนอก FCCT อาจจะได้รับความสนใจมากกว่าการจัดเวทีเสวนาตามกำหนดการก็ได้ ซึ่งคสช.อาจคิดผิดที่ปิดกั้นการจัดงานครั้งนี้ 
 
 
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ไหม ที่ FCCT จะถูกคสช.สั่งปิด เฮ้ดตอบว่า คงตอบได้ยาก เพราะรัฐบาลทหารสามารถทำอะไรที่ไม่อาจคาดเดาได้ และที่ผ่านมาก็ยอมปิดกั้นอะไรหลายๆ อย่าง แม้จะรู้ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เมื่อเป็นเช่นนั้นคสช.อาจจะสั่งปิด FCCT พรุ่งนี้เลยก็ได้  ผมก็คาดเดาไม่ได้เหมือนกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราไม่ได้อยากเซ็นเซอร์ตัวเองเลย แต่ก็มีหลายเรื่องในประเทศนี้ที่เราต่างก็รู้ว่าเราไม่สามารถพูดถึงได้ ทุกคนในประเทศไทยต่างต้องเซ็นเซอร์ตัวเองทั้งนั้น นี่ไม่ใช่ประเทศที่มีเสรีภาพในการพูด 
 
ในฐานะกรรมการของสมาคมบางครั้งเราก็จำเป็นต้องตัดสินว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน เราเชื่อในการใช้เหตุผลและการพูดคุย แต่ถ้าวันนึงพวกทหารมาแล้วบอกว่าอันนี้ทำไม่ได้ เราก็คงเถียงอะไรไม่ได้ นี่มันรัฐบาลทหารนะ เจ้าหน้าที่ FCCT ไม่ได้มีหน้าที่รณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไร เราต้องทำหน้าที่ของเรา
 
"FCCT จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาตัวเองไว้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการถกเถียงประเด็นต่างๆ อย่างเสรี แต่ถ้าสุดท้ายคสช.จะสั่งปิด ก็คงต้องยอมรับ" เฮด กล่าว 
 
 
ชนิดบทความ: