1364 1708 1261 1887 1618 1577 1258 1540 1464 1022 1333 1971 1795 1364 1889 1335 1693 1964 1119 1977 1122 1384 1146 1126 1119 1212 1038 1230 1481 1742 1087 1624 1119 1734 1437 1976 1265 1942 1284 1021 1216 1856 1417 1088 1682 1268 1907 1549 1478 1264 1994 1476 1600 1669 1485 1288 1925 1956 1231 1239 1875 1682 1398 1808 1513 1792 1313 1764 1685 1798 1124 1870 1230 1390 1871 1374 1136 1526 1286 1411 1406 1305 1471 1632 1503 1325 1515 1677 1020 1206 1696 1636 1636 1367 1496 1721 1982 1621 1096 ยุติธรรมอย่างไทย: ยกเลิกแล้วแต่ยังอยู่ ?! คำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ยุติธรรมอย่างไทย: ยกเลิกแล้วแต่ยังอยู่ ?! คำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง

 

ปัจจุบันแม้เรียกได้ว่าพ้นยุคทหารไปแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าข้อหาที่เกิดจากประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารยังคงมีผลอยู่ในระบบยุติธรรมของไทย 
 
ในยุค คสช. ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง เพราะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12.สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมือง ที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินคดีตามข้อหานี้อย่างน้อย 421 คน
 
ต่อมาเมื่อใกล้เลือกตั้ง คสช.จำต้องผ่อนปรนให้พรรคการเมืองและประชาชนทำกิจกรรมทางการเมืองได้ วันที่ 11 ธันวาคม 2561 จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง ความเข้าใจพื้นฐานที่ควรจะเป็น คือ การชุมนุมทางการเมืองและกิจกรรมทางการเมืองทั้งหลายจะต้องกลับมามีเสรีภาพอย่างเต็มที่อีกครั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ
1.มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ขัดขวางเสรีภาพการชุมนุม
 
ตำรวจยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับอยู่ในมือ ที่สำคัญ คือ  
         1.1 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการไม่อนุญาตให้จัดชุมนุมหลายต่อหลายกรณี หรือตั้งเงื่อนไขจนการชุมนุมไม่สามารถบรรลุผลได้ตามที่ผู้จัดตั้งใจไว้ 
         1.2 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 
         1.3 พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 
         1.4 ข้อหาอั้งยี่ ข้อหามั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 209-215 ประมวลกฎหมายอาญา  
 
จึงนับได้ว่าเสรีภาพการชุมนุมในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้นจริง นับตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา
 
2.การตีความของตำรวจ-อัยการ-ศาล ดำเนินคดีการชุมนุมที่ค้างอยู่ต่อไป

นอกจากนี้แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 จะยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่ดูเหมือนมันยังมีอิทธิฤทธิ์ตัดตอนการชุมนุมอยู่ดี เพราะยังมีข้อ 2.ในคำสั่งดังกล่าวที่กำหนดไว้ว่า "การยกเลิกประกาศและคำสั่งไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้” 

นับเป็นการยกเลิกแบบไม่แน่ชัด เปิดพื้นที่ให้ตีความได้ต่อ

โดยหลักการทั่วไป เมื่อกฎหมายที่กำหนดให้การกระทำที่เป็นความผิดถูกยกเลิก การตั้งข้อหาและดำเนินคดีที่เกิดขึ้นไปแล้วย่อมต้องยกเลิกไปด้วย เพราะไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้การกระทำนั้นเป็นความผิดอีกต่อไปแล้ว แต่การกำหนดเงื่อนไขในข้อ 2. เช่นนั้นเปิดช่องให้ตีความได้ว่า คดีความที่เริ่มเดินหน้าไปแล้วและยังค้างคาอยู่จะดำเนินต่อไปได้หรือไม่
 
เราลองมาดูผลลัพธ์การตีความเรื่องนี้กันในระบบยุติธรรมของไทยซึ่งมีการตีความไปทั้งสองทาง “ยกเลิกดำเนินคดี หรือ ดำเนินคดีต่อไป” แต่ดูเหมือนอย่างหลังจะได้รับความนิยมมากกว่า
 
ไม่ดำเนินคดีต่อ 

วันที่ 25 ธันวาคม 2561 ในคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ถูกยกเลิก เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติภายหลังมีผลให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดที่มีกฎหมายกำหนดไว้ โดยศาลยกเลิกกำหนดนัดสืบพยานที่เหลืออยู่ทั้งหมดและพิพากษาให้ยกฟ้อง 
 
คำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นบรรทัดฐานให้ศาลอื่นกล้าเดินตาม โดยเฉพาะศาลทหาร ในปี 2562 ศาลทหารทยอยสั่งยุติการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความอีกหลายคดี เช่น 
วันที่ 16 มกราคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่แกนนำกลุ่มนปช. 19 คน ถูกฟ้องจากการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่ห้างบิ้กซีลาดพร้าว 
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลทหารขอนแก่นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินสองคนที่ชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งมีการฟ้องแยกเป็นสองสำนวนคดี คือ คดีของจตุภัทร์ หรือ "ไผ่ ดาวดิน" และคดีภาณุพงษ์ หรือ "ไนซ์ ดาวดิน”
 
ในช่วงปี 2562 จึงค่อนข้างเห็นแนวโน้มชัดเจนแล้วว่า คดีความฐาน "ชุมนุมทางการเมือง" จะค่อยๆ ทยอยถูกจำหน่ายออกจากศาล ผู้ถูกกล่าวหาในคดีลักษณะนี้ไม่ต้องหวั่นวิตกกับโทษตามกฎหมาย 
 
 
1340
 
 
ดำเนินคดีต่อ 
 
อย่างไรก็ดี การสั่งยุติคดีโดยศาลกลับไม่มีความสม่ำเสมอ ศาลฎีกากลับพิพากษาในคดีชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของอภิชาตในอีกแบบหนึ่ง 
 
8 พฤศจิกายน 2562 ในคดีอภิชาต ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 นอกจากจะกำหนดเรื่องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองไว้ในข้อ 1 แล้ว ยังกำหนดในข้อ 2 ไว้ด้วยว่าการยกเลิกประกาศและคำสั่งตามข้อ 1 ไม่ให้กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีหรือการดำเนินการตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกตามคำสั่งนี้ และแม้จำเลยจะถูกฟ้องด้วยประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ก็ให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ได้ และให้ลงโทษปรับจำเลย 6,000 บาท
 
หลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาวางแนวทางให้ปรับใช้ความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปกับคดีที่ดำเนินคดีไปก่อนแล้วก็มีปรากฏการณ์ต่อเนื่องตามมา 
 
วันที่ 27 มกราคม 2563 คดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ชุมนุมเดินเท้าไปถึงหน้าอาคารสหประชาชาติ หรือ #UN62 อัยการประจำศาลแขวงดุสิตได้นำข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 กลับมาในฟ้องของคดีผู้ชุมนุมอีกครั้ง แม้คำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม โดยจำเลยทั้ง 38 คนจะยังถูกฟ้องในข้อหาดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้อัยการประจำศาลเดียวกันได้สั่งถอนฟ้องข้อหานี้ในคดีอื่นไปก่อนแล้วด้วย 
 
วันที่ 28 มกราคม 2563 กลุ่มยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล แจ้งการชุมนุมต่อ สภ.เมืองสตูลว่าจะชุมนุมบริเวณศาลากลางจังหวัดสตูลเพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตำรวจ สภ.เมืองสตูลตอบว่า การแสดงออกในการชุมนุมสุ่มเสี่ยงว่าอาจเข้าข่ายขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12. เรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป จึงให้ผู้จัดการชุมนุมระมัดระวังการแสดงออกด้วย 
 
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 อัยการจังหวัดสมุทรปราการส่งฟ้องวรวุฒิ บุตรมาตร ในคดี “ประชามติบางเสาธง” จากกรณีแจกใบปลิวที่ตลาดการเคหะบางพลีเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อัยการยื่นฟ้องวรวุฒิในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12. เรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกับข้อหาอื่นด้วย ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการรับฟ้องไว้พิจารณาคดีต่อ 
 
จึงเห็นได้ว่า แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 แล้ว แต่เนื่องจากมีเงื่อนไขในข้อ 2. ที่สร้างความไม่ชัดเจนในการตีความและทางปฏิบัติ จึงทำให้ข้อกล่าวหานี้ยังคงถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินคดีและปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนได้อยู่ดี
 
สำหรับคดีที่อัยการตัดสินใจส่งฟ้องจำเลยในข้อหาชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ทั้งสองกรณี เป็นคดีความที่การชุมนุมเกิดขึ้นตั้งแต่ระหว่างที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ เมื่อศาลรับคำฟ้องไปแล้วจึงต้องรอติดตามแนวทางวินิจฉัยจากศาลกันว่า ศาลแต่ละคดีจะตีความวลีที่ว่า “ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีที่ทำไปแล้ว” อย่างไร ซึ่งจะยึดตามแนวทางของศาลจังหวัดเชียงใหม่สั่งให้ข้อหานี้เป็นอันตกไป หรือจะยึดตามแนวทางของศาลฎีกาในคดีอภิชาตเพื่อดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหานี้ต่อและพิจารณาสั่งลงโทษจำเลยด้วย
 
ส่วนกรณีของสภ.เมืองสตูล ที่สั่งห้ามการแสดงออกในการชุมนุมที่อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นภายหลังการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 แม้ว่า ผู้ชุมนุมจะแสดงออกในประเด็นทางการเมือง ก็ไม่อาจนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มาใช้ในกรณีนี้ได้ เพราะคำสั่งนี้ถูกยกเลิกไปก่อนที่การชุมนุมจะเกิดขึ้นแล้ว จึงน่าจะเป็นความเข้าใจผิดในการอ้างอิงกฎหมายของตำรวจ สภ.เมืองสตูล ที่อาจจะไม่รู้ถึงการสั่งยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง และการนำคำสั่งที่ยกเลิกไปแล้วขึ้นมาอ้างเพื่อข่มขู่ไม่ให้ประชาชนแสดงออกเช่นนี้ ถือเป็นการอ้างกฎหมายผิดพลาดที่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
 
รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ทุกฉบับมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายตลอดไป แม้ว่า คสช. จะหมดอำนาจไปตามมาตรา 265 แล้วก็ตาม เว้นแต่ว่า จะมีการออกกฎหมายมายกเลิก ซึ่งจากประกาศและคำสั่งของ คสช. ทั้งหมดอย่างน้อย 556 ฉบับ มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. มายกเลิกเองแล้วอย่างน้อย 78 ฉบับ
 
หลายฉบับที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยังคงถูกเก็บไว้ให้ใช้บังคับได้อยู่ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่องให้อำนาจ กสทช. สั่งลงโทษสื่อได้โดยยกเว้นความรับผิด หรือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 เรื่องคณะทำงานปิดเว็บไซต์ของ คสช. ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ​ฉบับที่ 3/2558 ข้ออื่นๆ นอกจากข้อ 12. ที่ยกเลิกไปอย่างไม่ชัดเจนนั้น ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอำนาจที่ให้ทหารสามารถจับกุมประชาชนไปกักตัวไว้ได้เจ็ดวัน โดยไม่มีข้อกล่าวหา
 
จึงเห็นได้ว่า แม้ คสช. จะหมดอำนาจไปแล้ว แต่มรดกทางกฎหมายอีกหลายประการที่ คสช. สร้างไว้ก็ยังอยู่กับเราต่อไปจนกว่าจะถูกทบทวนและออกกฎหมายมายกเลิกโดยไม่มีเงื่อนไข