1318 1239 1481 1107 1625 1023 1196 1673 1291 1813 1014 1842 1433 1246 1916 1109 1341 1881 1774 1810 1107 1253 1890 1818 1471 1263 1593 1416 1159 1152 1246 1309 1611 1408 1177 1785 1050 1588 1965 1121 1035 1922 1490 1656 1000 1724 1071 1833 1222 1067 1459 1683 1891 1449 1677 1290 1956 1341 1549 1094 1807 1796 1852 1560 1871 1473 1480 1838 1427 1224 1858 1816 1727 1258 1154 1826 1172 1838 1250 1097 1025 1449 1726 1875 1574 1255 1614 1245 1228 1616 1857 1344 1062 1052 1580 1433 1720 1109 1170 เล่นใหญ่ทำไม? ดูปฏิกิริยาตำรวจ สภ.คลองหลวงและทั่วประเทศ ปกป้องพื้นที่หน้าโรงพัก | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เล่นใหญ่ทำไม? ดูปฏิกิริยาตำรวจ สภ.คลองหลวงและทั่วประเทศ ปกป้องพื้นที่หน้าโรงพัก

 

5 กุมภาพันธ์ 2564 นักกิจกรรม 22 คนถูกเรียกไปรายงานตัวที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จากเหตุที่ทำกิจกรรมรวมตัวกันที่หน้าอาคารของสภ.คลองหลวงสองครั้งก่อนหน้านั้น แต่ในวันนี้ตำรวจเตรียมการอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดกิจกรรม “ครั้งที่สาม” ชนิด “เล่นใหญ่” เกินเบอร์ไปมาก เพื่อปกป้องไม่ให้ใครเข้าถึงพื้นที่หน้า สน. เพื่อไปแสดงออกได้โดยเด็ดขาด
 
การเข้ารายงานตัวเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านไปอย่างสงบเรียบร้อย ผู้ที่มาให้กำลังใจประมาณ 100-150 คนไม่ได้มีพฤติกรรมยั่วยุหรือพยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจ ด้านตำรวจก็จึงทำหน้าที่เพียงตรึงกำลังด้วยชุดควบคุมฝูงชนหลายร้อยนายพร้อมอุปกรณ์อย่างครบครัน อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์นี้เป็นตัวอย่างชัดเจนที่แสดงให้เห็น “แนวนโยบาย” ของตำรวจที่พร้อมจะใช้กำลังเพื่อห้ามการแสดงออก และทำให้พื้นที่หน้าสถานีตำรวจกลายเป็น "พื้นที่อ่อนไหว" และต้องห้ามการทำกิจกรรม
 
 
พื้นที่หน้าโรงพัก ถูกจดจำในฐานะพื้นที่แสดงออกเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหา 
 
ภายใต้ยุค “ห้ามชุมนุม” ตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าปกครองประเทศ และออกประกาศ และคำสั่งหัวหน้า คสช. สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต่อด้วยยุคโควิด19 ที่นายกรัฐมนตรีคนเดิมใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) สั่งห้ามการรวมตัวในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ซึ่งนำมาใช้กับการชุมนุมทางการเมืองเป็นหลัก การจัดกิจกรรมชุมนุมทุกครั้งที่เกิดขึ้นฝ่ายรัฐมีข้ออ้างเสมอที่ยกมาเพื่อจะเข้าห้ามปราม หรือข่มขู่ว่าจะปราบปรามด้วยการใช้กำลัง
 
ระหว่างที่การชุมนุมเพื่อแสดงออกในที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านรัฐประหาร ขับไล่รัฐบาล หรือการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีอุปสรรคขัดขวางทางกฎหมาย แต่เมื่อมีนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีต้องไปเข้าสู่กระบวนการที่สถานีตำรวจ ทั้งการไปรายงานตัวเองตามหมายเรียกและการถูกจับกุมเอาตัวไปโดยไม่สมัครใจ การทำกิจกรรมรวมตัวกันแสดงออกเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดี หรือผู้ถูกจับกุมที่หน้าสถานีตำรวจ ยังพอเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายรัฐ “ผ่อนคลาย” ให้ทำกิจกรรมได้บ้างมาโดยตลอด
 
ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 นักกิจกรรมที่ถูกจับจากการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารมีกำหนดต้องไปรายงานตัวฐานชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. นักกิจกรรมเจ็ดคนเดินทางไปหน้า สน.ปทุมวัน ตามกำหนด โดยมีสื่อมวลชนและประชาชนมาให้กำลังใจราว 200-300 คน และยังมีเพื่อนนักกิจกรรมอีกเจ็ดคน จากกลุ่มดาวดินที่ถูกดำเนินคดีข้อหาเดียวกันที่จังหวัดขอนแก่นมาให้กำลังใจด้วย จึงเกิดเป็นกิจกรรมการชุมนุมย่อยๆ ขึ้นบริเวณทางเข้าตลาดสามย่าน ด้านหน้าสน.ปทุมวัน มีการปราศรัย ร้องเพลง และทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลาเกือบสิบชั่วโมง จนมีการเจรจากับตำรวจและทราบชัดเจนว่า นักกิจกรรมทั้งเจ็ดคนจะไม่เข้ารายงานตัวและไม่ถูกจับกุมตัวในวันดังกล่าว จึงเดินทางกลับ กิจกรรมนี้ไม่ถูกตำรวจใช้กำลังเข้าห้ามปรามและไม่ถูกดำเนินคดีตามหลัง
 
1625
 
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2561 เอ็นจีโอแปดคนที่ถูกออกหมายเรียกฐานชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. จากการจัดกิจกรรม We Walk เพื่อเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจังหวัดขอนแก่น ต้องไปรายงานตัวที่ สภ.คลองหลวง โดยมีพี่น้องประชาชนในเครือข่าย โดยเฉพาะจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค มารอให้กำลังใจที่หน้าสถานีตำรวจประมาณ 300-400 คน ตำรวจสภ.คลองหลวงอำนวยความสะดวกอย่างดี โดยให้ตำรวจในเครื่องแบบ 20-30 นายมายืนเฝ้าประตูทางเข้า และให้ประชาชนที่มาให้กำลังใจนั่งรอบริเวณลานจอดรถหน้าสภ. รวมทั้งใต้ร่มไม้และร้านค้าโดยรอบ หลังทั้งแปดคนรายงานตัวเสร็จทุกคนก็แยกย้ายกันกลับด้วยความเรียบร้อย
 
1626
 
ในยุคโควิด19 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 มีกำหนดปล่อยตัวเพนกวิน-พริษฐ์, ไมค์-ภาณุพงศ์ และรุ้ง-ปนัสยา ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลาง โดยมีผู้มารอรับราว 100 คน แต่เกิดเหตุการณ์ตำรวจมาอายัดตัวทั้งสามคนเพื่อไปดำเนินคดีอื่นต่อ และพาตัวไปไว้ที่ สน.ประชาชื่น ซึ่งเป็นท้องที่รับผิดชอบบริเวณเรือนจำ ทำให้มีผู้มาให้กำลังใจราว 300-400 คนตามไปรวมตัวกันหน้าสน. และทำกิจกรรมเรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” มีผู้เอาเครื่องเสียงขนาดเล็กตามมา ทำให้มีการปราศรัย การร้องเพลง และรวมตัวกันอยู่บริเวณลานจอดรถจนถึงเวลาประมาณตีสามของวันถัดไป เมื่อทั้งสามคนได้ปล่อยตัวแล้วทุกคนก็แยกย้ายกันกลับด้วยความเรียบร้อย
 
1627
 
 
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 นักกิจกรรมอย่างน้อยแปดคน เข้ารายงานตัวที่สน.บางเขน ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จากการชุมนุมหน้า “ราบ11” วันดังกล่าวมีผู้มาให้กำลังใจราว 200-300 คน โดยมีการตั้งเวทีปราศรัยพร้อมเครื่องเสียงที่ประตูทางเข้า สน. ด้านตำรวจก็เอารั้วเหล็กมากั้นทางเข้าพร้อมให้ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนยืนเฝ้าประมาณ 20 นาย ไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาด้านใด กิจกรรมมีทั้งการเล่นดนตรี การเปิดเพลงเต้น รวมทั้งร้องเพลงและมอบเค้กวันเกิดให้ทราย-อินทิรา หนึ่งในผู้ต้องหาที่มารายงานตัวในวันเกิดของตัวเอง เมื่อการรายงานตัวเสร็จสิ้นในช่วงบ่าย ทุกคนก็แยกย้ายกันกลับด้วยความเรียบร้อย
 
1628
 
 
 
สภ.คลองหลวงเล่นใหญ่ พื้นที่หน้าด้านหน้าต้องห้ามอย่างเด็ดขาด
 
5 กุมภาพันธ์ 2564 ตำรวจสภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นัดให้ผู้ต้องหา 22 คนมารายงานตัวจากการทำกิจกรรมบริเวณหน้าสภ.คลองหลวงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น โดยสองคดีได้แก่ 
 
กิจกรรม #saveนิวมธ หรือ การรวมตัวกันที่หน้า สภ.คลองหลวง ในคืนวันที่ 14 มกราคม 2564 เรียกร้องให้ปล่อยตัวนิว สิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกตำรวจบุกไปจับกลางดึกที่หอพักด้วยข้อหา #ม112 ซึ่งมีผู้ถูกตั้งข้อหา 12 คน ข้อกล่าวหามีดังนี้
1) ฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
2) จัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวคนหมู่มาก ก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
3) มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง มาตรา 215
4) ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (คาดว่าข้อหานี้มาจากการเทอาหารสุนัข)
5) โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
กิจกรรม #saveเดฟมธ คือ การรวมตัวที่หน้าสภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 เรียกร้องให้ยกเลิกหมายจับในข้อหามาตรา 112 ต่อเดฟ ชยพล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีหมายจับจากการพ่นสีข้อความ “ยกเลิก112” ทั้งที่ตัวเขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุ โดยมีการเอา “แพะ” มาแสดงเป็นสัญลักษณ์ และมีการชักธงสีแดงที่มีเลข 112 ขึ้นสู่ยอดเสาธงหน้าสภ.คลองหลวง ซึ่งมีผู้ถูกตั้งข้อหา 16 คน บางคนถูกตั้งข้อหาทั้งสองคดี ข้อกล่าวหามีดังนี้
1) ฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
2) จัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวคนหมู่มาก ก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
3) ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานี เรื่องกำหนดมาตรการป้องกันโรคโควิด19
4) มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง มาตรา 215
5) โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
ผู้ต้องหาที่จะมารายงานตัวในวันนี้รวมทั้งคนที่มีชื่อเสียงอย่างเพนกวิน-พริษฐ์, ไมค์-ภาณุพงศ์, โตโต้-ปิยรัฐ, รุ้ง-ปนัสยา ด้านอานนท์ นำภาก็มาด้วยในฐานะทนายความ ก่อนจะถึงวันรายงานตัว เมื่อผู้ต้องหาโทรศัพท์ประสานงานกับตำรวจก็ได้รับแจ้งว่า เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจเสร็จแล้ว อาจส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาในวันนี้ไปฝากขังต่อศาลเลย จึงนำมาซึ่งข้อกังวลว่าฝ่ายรัฐต้องการคุมขังตัวกลุ่มคนที่เป็นแกนนำในการชุมนุมให้ได้
 
4 กุมภาพันธ์ 2564 พริษฐ์ โพสเฟซบุ๊กว่า “พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ (ตำรวจสลายม็อบเจ้าเก่าเจ้าประจำ) ก็แอบเปรย ๆ ว่าอาจมีการฝากขัง ซึ่งสอดคล้องกับข่าวจากวงทนายความว่ามีความพยายามจะเอานักศึกษาและประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้าเรือนจำให้หมดภายในเดือนมีนาคมนี้ ... หากใครที่พอสะดวกก็ขอเรียนเชิญมาพบปะพูดคุยกันก่อนพวกผมจะเข้าไปสถานีตำรวจ ณ สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เวลา 10.00 น. ตรง และหากผมไม่ได้ออกมา เชื่อว่าเพื่อนนักศึกษาและพี่น้องประชาชนจะยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป”
 
ด้านอานนท์ นำภา โพสเฟซบุ๊กว่า “พรุ่งนี้ ถ้าตำรวจฝากขังเพื่อนเราแล้วศาลไม่ให้ประกัน ก็เริ่มต้นม็อบอย่างเป็นทางการ สถานที่ และเวลา ติดตามที่เพจเครือข่ายราษฎร”
 
และในคืนก่อนวันนัดรายงานตัวก็พบภาพการนำแบริเออร์ปูน วางตั้งขวางถนนคลองหลวงบริเวณหน้า สภ.คลองหลวง รวมทั้งเห็นการเตรียมรถฉีดน้ำเข้ามาในพื้นที่
 
ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณถนนคลองหลวงที่ผ่านหน้า สภ.คลองหลวง ตำรวจตรึงกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเข้มข้น เนื่องจากบริเวณหน้าสภ.คลองหลวง มีสะพานให้รถวิ่งข้ามเพื่อข้ามสี่แยกไฟแดงอยู่แล้ว ตำรวจจึงใช้แบริเออร์ปูนกั้นถนนหนึ่งเลนด้านนอกสุดของถนนคลองหลวงทั้งสองฝั่ง บังคับให้รถทุกคันที่วิ่งมาต้องข้ามสะพานเท่านั้น ไม่ให้วิ่งด้านล่างเพื่อผ่านสี่แยก ซึ่งจะไปถึงบริเวณหน้า สภ.คลองหลวงได้ และแนวกั้นรวมถึงฟุตบาทและทางคนเดินด้วย ทำให้คนก็ไม่สามารถเดินผ่านไปทางนั้นได้เช่นเดียวกัน
 
1629
 
เนื่องจากบริเวณนั้นมีทั้งบ้านเรือน และร้านค้า ทำให้ประชาชนโดยรอบได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถผ่านไปบ้านของตัวเองได้ เมื่อเข้าเจรจากับตำรวจเพื่อขอเข้าบ้านของตัวเองตำรวจต้องขอให้ทุกคนแสดงบัตรประชาชน หรือหลักฐานว่าอยู่บ้านบริเวณนั้น มิเช่นนั้นจะไม่ให้ผ่านเข้าไปได้ ด้านปั๊มน้ำมันเอสโซ่ร้านค้า ร้านอาหารใกล้ฝั่งตรงข้ามสภ.คลองหลวง และศูนย์การค้าเขอร์รี่มอลล์ก็ไม่มีลูกค้าสามารถผ่านเข้าไปใช้บริการได้ ส่วนการจราจรโดยรอบก็ติดขัดเนื่องจากรถที่สัญจรผ่านมาชลอดูเหตุการณ์ รวมทั้งรถที่ไม่ต้องการข้ามสะพานก็จอดเจรจาเพื่อถามเส้นทางเลี่ยงกับตำรวจ
 
ด้านสะพานลอยคนข้ามถนนก็ยังถูกตำรวจเอารั้วเหล็กมากั้นไว้ไม่ให้ใช้งาน ผู้สังเกตการณ์พบเห็นประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นเจรจาขอข้ามสะพานลอย แต่ตำรวจไม่ยอม จึงต้องเดินข้ามถนนด้านล่างแทน และยังพบเห็นคนขับมอเตอร์ไซค์ส่งพิซซ่าที่ต้องจอดรถหน้าแบริเออร์ปูนเพื่อรอรับพิซซ่าจากร้านที่ตั้งอยู่ด้านหลังแบริเออร์เพื่อนำไปส่งให้ลูกค้า
 
บนถนนคลองหลวงฝั่งที่มาจากแยกบางขัน ถนนพหลโยธิน ตำรวจใช้รถฉีดน้ำ และรถควบคุมผู้ต้องขังจอดปิดทางอยู่หลังแบริเออร์ปูน พร้อมด้วยตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมหมวกกันน็อค และกระบองประมาณ 30-40 คนตั้งแถวขวางอยู่ โดยมีรถยก และรถตู้ตำรวจ รถกระบะตำรวจจอดสแตนบาย ฝั่งที่มาจากด้านตรงข้ามมุ่งหน้าถนนพหลโยธิน ตำรวจใช้รถบรรทุก พร้อมติดเครื่องขยายเสียงบนรถบรรทุก จอดปิดทางอยู่หลังแบริเออร์ปูนพร้อมด้วยตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวนมากอีกเช่นเดียวกัน
 
 
1620 ภาพแผนผัง การตั้งแนวกั้นของตำรวจรอบ สภ.คลองหลวง
 
 
ในช่วงเวลาระหว่าง 9.30-11.00 น.ที่ผู้ต้องหาทยอยเดินทางมารายงานตัว ผู้ต้องหา และทนายความ ต้องไปแสดงตัวและแจ้งชื่อกับตำรวจทีละคนที่แบริเออร์ปูนฝั่งที่มาจากถนนพหลโยธินเพียงฝั่งเดียว เมื่อตำรวจตรวจสอบรายชื่อแล้วจึงจะให้เดินผ่านแนวกั้นเข้าไปได้ทีละคน สำหรับผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนตำรวจอนุญาตให้พ่อแม่เข้าไปด้วยได้ ต่อมาอนุญาตให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะมาประกันตัวเข้าไปด้วยได้ แต่ยังมีเพื่อนของผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาและคนอีกจำนวนมากที่เจรจาขอเข้าไปแต่เข้าไปไม่ได้
 
เมื่อเดินผ่านแบริเออร์ปูนแล้ว อีกไม่ถึง 100 เมตรก็จะถึงทางเข้าสภ.คลองหลวง แต่ตำรวจไม่อนุญาตให้เดินไปเอง และจัดรถตู้จำนวนมากเอาไว้รอรับผู้ที่ผ่านจุดแบริเออร์ปูนเข้ามาเพื่อวิ่งไปกลับรถใต้สะพาน ก่อนที่จะเข้ามาส่งหน้า สภ. ระหว่างทางก็มีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนตั้งแถวพร้อมโล่เรียงอยู่ใต้สะพาน และรอบรั้วของสภ.โดยตลอด
 
1623
 
เมื่อมาถึงหน้า สภ. แล้วก็ยังเข้าไม่ได้ เพราะประตูรั้วสภ.ก็ปิดสนิทพร้อมกั้นด้วยแบริเออร์ปูน โดยมีตำรวจในเครื่องแบบชุดสีกากีเป็นคนประสานงานว่า ใครจะเข้าได้บ้าง และมีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 30-40 นายยืนประจำการตลอด ขณะที่ด้านนอกรั้วของสภ. บริเวณร้านขายกาแฟมีป้ายไวนิลติดว่า ใช้เป็นจุดรับแจ้งความ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการมาแจ้งความที่สภ.คลองหลวงและไม่สามารถเข้าไปในรั้วได้
 
เมื่อได้รับอนุญาตให้เดินผ่านรั้วเข้าไปได้แล้วก็ยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขราวสิบคนมาตั้งจุดคัดกรองโรค มีตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ตั้งแถวต้อนรับให้ผู้ที่มารายงานตัวเดินเรียงแถวเข้าไปด้านในอาคารทันที เมื่อเข้าไปในอาคารที่หน้าประตูชั้นล่าง มีตำรวจในชุดเครื่องแบบสีกากีอีกประมาณหกคนยืนต้อนรับเพื่อชี้มือให้เดินขึ้นด้านบนอาคารชั้นสาม และระหว่างทางบนบันได ชานพัก ชั้นสองและสาม และหน้าห้องน้ำ ยังมีตำรวจในชุดเครื่องแบบสีกากีอีกรวมแล้วประมาณ 20 คนที่ยืนเรียงแถวต่อกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้คนที่มารายงานตัวเดินไปทางอื่น จนกระทั่งเข้าไปในห้องสอบสวนที่ชั้นสาม
 
กระบวนการตั้งข้อกล่าวหานำโดยพล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผู้บังคับการตำรวจังหวัดปทุมธานีมาบัญชาการเอง พร้อมด้วยพนักงานสอบสวนกว่า 20 คนที่มาจากโรงพักอื่นๆ ในจังหวัดปทุมธานี และเครื่องปริ้นท์กว่า 15 เครื่อง แต่การสอบสวนก็ใช้เวลานานเพราะมีผู้ต้องหาจำนวนมาก และมีข้อกล่าวหาจำนวนมาก กว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นก็เวลาประมาณ 13.30 น.และหลังจากนั้นก็มีการพูดคุยเจรจาระหว่างทนายความ ผู้ต้องหา และพล.ต.ต.ชยุต จนได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาลในวันนี้ เพื่อแลกกับการที่ผู้ต้องหาจะเดินทางกลับบ้านหลังปล่อยตัว โดยไม่มีการทำกิจกรรม หรือชุมนุมประท้วงต่อในพื้นที่
 
ในขั้นตอนการปล่อยตัวผู้ต้องหากลับบ้านก็ไม่ใช่เพียง “ปล่อยเฉยๆ” ให้เดินกลับบ้านไปโดยอิสระเสรี แต่ตำรวจจัดระบบให้เดินลงจากอาคารทีละกลุ่ม ประมาณกลุ่มละประมาณห้าถึงหกคน เริ่มจากชุดของเยาวชนและเพื่อน ตามด้วยชุดของโตโต้ ปิยรัฐ ตามด้วยชุดที่มีทั้งพริษฐ์และปนัสยา และตามด้วยชุดที่มีนักศึกษาธรรมศาสตร์หลายคน เมื่อลงมาถึงด้านล่างอาคารก็ต้องยืนรอรถตู้ก่อน เมื่อรถตู้มาจอดแล้วถึงจะได้เดินออกไปทีละกลุ่ม โดยรถตู้จะพาทุกคนออกไปส่งด้านหน้าแบริเออร์ฝั่งใดก็ได้ที่ผู้ต้องหาต้องการ ผู้สังเกตการณ์คาดว่า การปล่อยทีละกลุ่มเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ทุกคนลงไปรวมตัวและชูสัญลักษณ์บริเวณหน้าสภ. หรือกับป้ายของสภ.
 
หลังผู้ต้องหาทยอยออกมาด้านหน้าแบริเออร์ได้ในเวลาประมาณ 15.45 น. ทุกคนก็แยกย้ายกันกลับด้วยความเรียบร้อย
 
 
1622
 
อ่านรายละเอียดกิจกรรมในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 บนเว็บไซต์ Mobdatathailand คลิกที่นี่
 
 
มาตรฐานใหม่ปี 2564 หน้าโรงพักกลายเป็นพื้นที่อ่อนไหว เสี่ยงปะทะ
 
กิจกรรม #saveนิวมธ และ #saveเดฟมธ ดูเหมือนเป็นเส้นตายของการปกป้องพื้นที่หน้าสถานีตำรวจ และเป็นสองกิจกรรมแรกที่จัดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมซึ่งกลายเป็นเหตุให้มีการตั้งข้อหาดำเนินคดีตามมา กิจกรรม #saveนิวมธ มีไอเดียกิจกรรม คือ การ “เทอาหารหมา” ที่หน้าอาคารสภ.คลองหลวง ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตอบโต้ตำรวจในหลายครั้งที่ใช้ความรุนแรงเกินสมควรแก่เหตุกับประชาชน เช่น หลังการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน วันที่ 16 ตุลาคม 2563 นำมาสู่ข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” ส่วนกิจกรรม #saveเดฟ ก็มีการ “ยื้อ” กันด้วยกำลังก่อนที่ผู้ชุมนุมจะสามารถนำธงชาติหน้า สภ.คลองหลวงลงมา แล้วชักธงสีแดงมีตัวเลข 112 ขึ้นไปแทน
 
16 มกราคม 2564 วันรุ่งขึ้นหลังจากกิจกรรมหน้าสภ.คลองหลวง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวในช่วงสายโดยมีเนื้อหาว่า จะให้เหตุการณ์แบบการชักธงเกิดขึ้นอีกไม่ได้ “ถ้าจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังก็ต้องใช้” ซึ่งวันเดียวกับที่แถลงข่าวก็มีกิจกรรมนัดกางป้ายผ้า 112 เมตรที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และกิจกรรมดังกล่าวก็ไม่อาจลุล่วงไปได้ เพราะตำรวจใช้กำลังเข้ายึดป้ายผ้า และจับกุมผู้ชุมนุมไปสองคน
 
คนที่ถูกจับถูกพาตัวไปที่ สน.พญาไท ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีผู้ติดตามไปให้กำลังใจและเรียกร้องให้ปล่อยตัวราว 40-50 คน แต่ผู้ที่ติดตามไปก็รวมตัวกันอยู่หน้า สน.พญาไท ได้เพียงเวลาสั้นๆ แม้จะยังไม่มีการทำกิจกรรมหรือแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ตำรวจก็ประกาศให้สลายตัว พร้อมใช้กำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชน พร้อมโล่ ตั้งแถวปิดถนนศรีอยุธยา และเดินหน้าเข้าเคลียร์พื้นที่ในทันทีโดยไม่เจรจา
 
หนึ่งสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 22 มกราคม 2564 นักกิจกรรมสองคนติดป้ายผ้า #saveบางกลอย ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จึงถูกตำรวจจับกุมตัวมาที่ สน.พญาไท อีกครั้งเพื่อลงโทษปรับตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยมีผู้ติดตามมาให้กำลังใจประมาณ 20-30 คน การลงโทษปรับใช้เวลาไม่นานและทั้งสองน่าจะกลับบ้านได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่หน้า สน.พญาไท ก็มีการวางกำลังอย่างเข้มข้น โดยส่วนใหญ่เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล มีปากเสียงกับผู้ที่มาชุมนุมและสั่งให้ตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุม จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทางศีรษะต้องส่งโรงพยาบาล
 
25 มกราคม 2564 มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ สภ.เมืองลำปาง นักกิจกรรม 5 คน ถูกออกหมายเรียกให้มารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 แม้ว่า ผู้ที่มารายงานตัวจะไม่ได้ประกาศนัดหมายหรือเชิญชวนให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น แต่ตำรวจก็วางกำลังอย่างเข้มงวด วางแผงรั้วเหล็กรอบอาคาร และตั้งจุดคัดกรองสำหรับผู้เข้า-ออกสถานที่ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ประมาณ 40 นาย อยู่โดยรอบพื้นที่ตลอดเวลา หลังทั้ง 5 คนรายงานตัวเสร็จก็เดินทางกลับด้วยความเรียบร้อย 
 
ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ประชาไทรายงานว่า ที่จังหวัดชัยภูมิ ผู้จัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” จัดกิจกรรมที่โรงเรียนภูเขียวก่อนที่จะย้ายไปชุมนุมหน้าสภ.ภูเขียวเพื่อเรียกร้องให้ทางตำรวจขอโทษนักเรียนที่ถูกตำรวจคุกคามถึงบ้าน จนกระทั่งตอนเวลา 16.50 น. ผู้ชุมนุมนำป้าย “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และ “#saveเมียนมาร์” ขึ้นแขวนหน้าอาคาร สภ.ภูเขียว ตำรวจได้เข้ายื้อแย่งป้าย จนเกิดการโต้เถียงกันก่อนที่ผู้ชุมนุมนำป้ายขึ้นแขวนอีกครั้ง และเปิดเวทีปราศรัยได้ จนกระทั่งในเวลาประมาณ 23.30 น.ตำรวจเข้ายึดป้ายทั้งสอง ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังเก็บข้าวของกลับ แม้ทางผู้ชุมนุมจะเจรจาขอคืนแต่ตำรวจไม่ให้ 
 
 
1621
 
วันรุ่งขึ้น มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ให้สัมภาษณ์ว่า จากเหตุการณ์แขวนป้ายหน้า สภ. นั้น พ.ต.อ.เพิ่มสุข ศิริพละ ผู้กำกับสภ.ภูเขียว ไร้ซึ่งจิตสำนึก วินัย ขาดแผนเผชิญเหตุ ไม่มีความรับผิดชอบ รวมทั้งไม่ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบอีก จึงลงนามในคำสั่งให้ย้ายผกก.สภ.ภูเขียว มาปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 3 พร้อมกันนี้ยังได้โกนผมออกเพื่อธำรงวินัย และผู้ใต้บังคับบัญชา ไร้ซึ่งระเบียบ ตำรวจต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเห็นได้ถึงแนวนโยบายแบบใหม่ว่า พื้นที่หน้าสถานีตำรวจจะถูกปฏิบัติในฐานะเป็นพื้นที่อ่อนไหว ห้ามการรวมตัวแสดงออก ห้ามการติดป้าย หรือทำกิจกรรมใดๆ แม้จะเป็นเพียงเพื่อให้กำลังใจผู้ที่มารับทราบข้อกล่าวหาก็ตาม หากพื้นที่ใดมีการทำกิจกรรมเกิดขึ้นผู้กำกับของสถานีตำรวจแห่งนั้นก็อาจถูกสั่งย้าย “ฟ้าผ่า” เช่นเดียวกับพ.ต.อ.เพิ่มสุขได้ และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังกระทบถึงผู้บัญชาการระดับ “ภาค” ด้วย
 
จากเดิมที่กิจกรรมให้กำลังใจหน้าสน. เป็นพื้นที่ “ผ่อนคลาย” ให้เกิดการแสดงออกได้บ้าง เนื่องจากสภาพทางกายภาพของสถานีตำรวจส่วนใหญ่ที่จะมีลานจอดรถเป็นพื้นที่กว้างอยู่ด้านหน้าแล้ว การได้มีพื้นที่แสดงออกบ้างจึงเป็นโอกาสสำหรับคนที่รู้สึกโกรธแค้น คับข้องใจ ที่เพื่อนถูกดำเนินคดีจะได้ระบายความรู้สึกบ้าง แต่เมื่อแนวนโยบายเปลี่ยนเป็นการห้ามปรามอย่างเด็ดขาด โดยพร้อมใช้กำลังและยุทโธปกรณ์ที่มีเพื่อปกป้องพื้นที่หน้าสถานีตำรวจเช่นเดียวกับที่พยายามปกป้องพื้นที่ข้างทำเนียบรัฐบาล หรือหน้ารัฐสภา โดยไม่มีเหตุจำเป็น พร้อมกับสถานการณ์ที่มีคนถูกเรียกไปรายงานตัวจากการแสดงออกทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองทวีความตีงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน โดยเหตุการณ์ปะทะครั้งแล้วครั้งเล่าหน้าพื้นที่ของตำรวจนี้เองอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต