Insects in the Backyard

อัปเดตล่าสุด: 26/09/2562

ผู้ต้องหา

ภาพยนตร์ Insects in the Backyard

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

คณะะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ และคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ คณะที่ 2 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เป็นคณะกรรมการตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีอำนาจพิจารณาและวินิฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาภายนตร์และวีดิทัศน์ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 เป็นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีตามมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีอำนาจตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์

สารบัญ

ภาพยนตร์ Insects in the Backyard ถูกสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย ในเดือนธันวาคม 2553 เพราะมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น มีฉากการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ให้เด็กหญิงและชายขายตัวแทนที่จะแก้ปัญหาโดยหาทางออกด้วยวิธีการอื่น ฯลฯ 

ผู้กำกับภาพยนตร์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 หลังต่อสู้นานห้าปี ศาลปกครองพิพากษาว่า เนื้อหาของภาพยนตร์ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่มีฉาก 3 วินาทีที่เป็น "หนังเอ็กซ์" จึงต้องสั่งห้ามฉาย ถ้ายอมตัดฉากดังกล่าวจะเป็นประเภท 20+ 

นับตั้งแต่ใช้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งการห้ามฉายภาพยนตร์

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์แนวดราม่าที่นำเสนอเรื่องราวของความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเล่าเรื่องผ่านครอบครัวหนึ่ง อันประกอบด้วยพ่อ(ธัญญ่า) แม่ ลูกสาว(เจนนี่) และลูกชาย(จอห์นนี่) แต่แม่เสียชีวิตเมื่อคลอดลูกชาย พ่อจึงทำหน้าที่ดูแลลูกทั้งสองคนตามลำพัง พ่อมีลักษณะทางกายภาพเป็นชายแต่มีเพศสภาพเป็นหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง และมีจินตนาการทางเพศกับเพศชาย แม้พ่อจะพยายามให้ความอบอุ่นแก่ลูกๆ ทำหน้าที่ในครอบครัวให้สมบูรณ์มากเพียงใด แต่ลูกทั้งสองก็ไม่ยอมรับสถานภาพของพ่อ และบอกกับคนอื่นๆ ว่าเป็นพี่สาวชื่อ ธัญญ่า ความไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศของพ่อ ทำให้เด็กทั้งสองเลือกออกจากบ้านและพยายามใช้ชีวิตในโลกของตัวเอง ลูกสาวออกไปคบหากับเพื่อนชายที่ขายบริการทางเพศ ส่วนเธอก็อาสาช่วยหารายได้ด้วยการขายบริการทางเพศเช่นเดียวกัน ลูกชาย ที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อถูกภาวะความสับสนในใจที่มีต่อพ่อผลักดันให้เขาเจริญรอยตามพี่สาว โดยเลือกขายบริการให้คนรักเพศเดียวกัน สุดท้าย เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะมีเพศสภาพแบบใด สิ่งสำคัญ คือ ความรัก ความผูกพันที่มนุษย์มีให้กัน

ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์อิสระ ไม่สังกัดค่าย กำกับ เขียนบท และแสดงนำโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (กอล์ฟ) ซึ่งออกเงินลงขันกับเพื่อนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาเอง ซึ่งต่อมาหลังจากการต่อสู้ในคดีนี้ ธัญญ์วาริิน ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย คนที่ 5

ก่อนได้รับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายในประเทศไทย ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เคยเข้าฉายในงาน เวิลด์ บางกอก ฟิล์ม เฟสติวัล ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5-14 พฤศจิกายน พ.ศ.2553งานเทศกาลภาพยนตร์ แวนคูเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม เฟซติวัล ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดา งานเทศกาลภาพยนตร์ โตริโน จีแอลบีที ฟิล์ม เฟซติวัลที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี ในฐานะแขกรับเชิญของงานเทศกาล

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 29 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard โดยให้เหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาโดยรวมเกี่ยวกับการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง มีการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในขณะแต่งกายเครื่องแบบนักเรียน และยังมีภาพเสนอขายบริการทางเพศในขณะที่แต่งกายเครื่องแบบนักเรียน สาระสำคัญของภาพยนตร์มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การที่ให้เด็กหญิงและชายประกอบอาชีพขายตัวหรือโสเภณี แทนที่จะแก้ปัญหาโดยหาทางออกด้วยวิธีการอื่น มีฉากให้เด็กขายบริการทางเพศในชุดนักเรียน สอนให้เด็กสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสอนวิธีเล้าโลมทางเพศ รวมทั้งมีฉากที่ตัวละครฝันว่าฆ่าพ่อซึ่งแม้จะเป็นความฝันแต่ก็ไม่สมควร คณะกรรมการเห็นว่า สาระสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้สังคมและผู้ชมเกิดความเข้าใจผิดและเกิดการเลียนแบบในพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศหรือการขายบริการทางเพศ รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ จึงให้เหตุผลว่า เนื้อหาภาพยนตร์เรื่องนี้ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

วันที่ 4 เมษายน 2554

นัดไต่สวนคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการทุเลาคำสั่งชั่วคราว
เวลา 13.00 น. ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องในกรณีที่ธัญญ์วาริน ผู้กำกับภาพยนตร์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการทุเลาคำสั่งชั่วคราว ให้สามารถฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในงานวิชาการและงานเพื่อการศึกษาได้ ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง โดยยืนยันว่าจะมีมาตรการควบคุมให้ผู้ชมเฉพาะที่อายุเกิน 20 ปีเข้าชมด้วย

ฝ่ายผู้ฟ้องคดีธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์  ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง ทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เดินทางมาศาลพร้อมด้วยผู้ที่มาให้กำลังใจจากเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย และนิตยสารไบโอสโคป ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ส่งผู้รับมอบอำนาจคือ เชลียง เทียมสนิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมมาศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยนางอุไรรัตน์ รื่นใจชน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ พร้อมด้วยกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์บางท่าน เช่น นายวิภาส สระรักษ์ นายรักศานต์วิวัฒน์สินอุดม และเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมอีกหลายท่าน เดินทางมาศาล จนเต็มห้องพิจารณาคดีของศาลปกครอง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องนำเก้าอี้เข้ามาเสริม

ตุลาการศาลปกครอง 3 ท่านนำโดย นางสาวสายทิพย์ สุคติพันธ์ ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งพิจารณา นางสาวสายทิพย์อธิบายถึงกระบวนพิจารณาในวันนี้ว่า การไต่สวนคำร้องที่ขอให้ทุเลาคำสั่ง เป็นกระบวนการที่ศาลปกครองให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นการพิจารณาในวัตถุแห่งคดี โดยจะต้องตรวจสอบในสามประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายในกรณีนี้น่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สอง หากไม่มีการทุเลาคำสั่งจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาอย่างไร และสาม หากมีการอนุญาตหรือทุเลาคำสั่ง จะเกิดอุปสรคคต่อการดำเนินงานทางปกครองในหน่วยงานนั้นหรือไม่

ธัญญ์วาริน ผู้กำกับภาพยนตร์ชี้แจงต่อศาลว่า ได้ยื่นภาพยนตร์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาสองครั้ง ครั้งแรกยื่นโดยบริษัท ป็อบ พิคเจอร์ส ขอเรต 18+ เมื่อไม่ผ่านก็ยื่นเป็นครั้งที่สองยื่นในนามตัวเอง โดยขอเรต ฉ 20 แต่ทั้งสองครั้งทีมงานผู้สร้างไม่เคยได้เข้าชี้แจงในกระบวนการพิจารณา จนในชั้นอุทธรณ์ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นได้เรียกธัญญ์วารินเข้าไปพบ แต่การพูดคุยครั้งนั้นมีอนุกรรมการเพียงท่านเดียวเท่านั้นที่สอบถามในรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่อนุกรรมการส่วนใหญ่สอบถามเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นในภาพยนตร์ เช่น ทำไมจึงมีบัตรประชาชนสองใบ ทำไมถึงเลือกเสนอเรื่องราวเชิงลบ (Negative) แทนที่จะเสนอภาพเชิงบวก (Positive) แบบภาพยนตร์เรื่องสตรีเหล็ก 

ธัญญ์วารินเห็นว่า คำสั่งที่ได้รับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการควรชี้แจงเหตุผลให้เข้าใจได้มากกว่านี้ ไม่ใช่บอกเพียงว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดี ผู้ทำภาพยนตร์ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ชี้แจงเหตุผล การได้เข้าไปพูดคุย ก็ไม่ได้คุยในรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์ คณะกรรมการที่ลงมติก็มิได้ดูภาพยนตร์ครบทุกคน เจตนาของภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสะท้อนปัญหาสังคม ไม่ใช่ภาพยนตร์ลามกอนาจารดังที่คณะกรรมการให้ความเห็น นอกจากนี้ ธัญญ์วารินกล่าวเสริมเหตุผลที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมว่า คนทุกคนมีสิทธิเลือกเพศ เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินเป็นผู้ที่มีอคติไม่อาจเรียกเป็นความยุติธรรมได้ ดังที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวในงานเสวนาครั้งหนึ่งว่า เป็นเรื่องผิดเพศ เป็นเรื่องอนาจาร

ทั้งนี้ คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ส่งผลต่อชื่อเสียงและหน้าที่การงานของธัญญ์วาริน เพราะเมื่อไปยื่นโครงการทำภาพยนตร์ก็จะมีคำถามว่า จะทำหนังโป๊หรือ ทำแล้วจะได้ฉายหรือไม่ นอกจากนี้ ในแง่ผลกระทบต่อสังคมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งหวังจะสร้างความเข้าใจในสังคม ให้เห็นมิติความหลากหลายทางเพศในแง่มุมที่แตกต่างแทนการนำเสนอภาพคนรักเพศเดียวกันด้วยภาพลักษณ์แบบเดียวดังที่ปรากฏอยู่ในสื่อทุกวันนี้ และอยากให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความเข้าใจผิด ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ การศึกษา และให้เกิดความเข้าใจในสิทธิความหลากหลายทางเพศ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งรับผิดชอบคดีนี้กล่าวเสริมว่า เหตุที่ต้องขอการทุเลาคำสั่งให้สามารถฉายภาพยนตร์ในวงจำกัดคือในวงวิชาการและการศึกษาได้ เพราะหลังจากมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งวงการภาพยนตร์และวงการนิติศาสตร์ต่างมีความเห็นทั้งสนับสนุนและเห็นแย้ง อีกทั้งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ก็เป็นกฎหมายที่ทุกฝ่ายแม้กระทั่งกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ยอมรับว่ามีปัญหาและเห็นตรงกันว่าควรแก้ไข และจากคดีนี้ได้จุดประเด็นให้สังคมสนใจการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สังคมต้องช่วยกันคิด ถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางเดินไปด้วยกัน ดังนั้น หากจะให้การแลกเปลี่ยนในทางวิชาการเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ก็จำเป็นต้องมีวัตถุแห่งคดี คือควรได้ดูภาพยนตร์ก่อน

ธัญญ์วารินตอบคำถามตุลาการศาลปกครองว่า การขอให้ทุเลาคำสั่งนี้ มุ่งหวังให้สามารถฉายภาพยนตร์ในกิจกรรมวิชาการ เช่น ในสถานศึกษา การฉายภาพยนตร์จะมีการเสวนาวิชาการประกอบทุกครั้ง โดยจะต้องมีการตรวจบัตรประชาชนเพื่อกำหนดอายุผู้ชุมให้เกิน 20 ปีขึ้นไป และหากจะเป็นการขออนุญาตต่อศาลเป็นครั้งคราวไปก็อาจเป็นได้

นายวิภาส สระรักษ์  อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการชั้นต้นที่พิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวว่า คณะกรรมการดำเนินงานตามกรอบที่กฎหมายกำหนด คือเมื่อมีผู้เสนอภาพยนตร์มา ก็จะตรวจเอกสารหลักฐานให้ครบ เมื่อครบแล้วคณะกรรมการก็จะชมภาพยนตร์ จากนั้นก็จะประชุมเพื่อให้เรทติ้งตามมาตรา 26 (1) – (7) กรณีได้เรท (7) คือห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ก็จบ แต่หากได้รับเรท (1)-(6) คือ เรทส่งเสริม – เรทอายุ 20+ ก็จะพิจารณาในลำดับต่อไปว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีลักษณะเข้าข่ายมาตรา 29 ซึ่งจะพิจารณาว่ามีเนื้อหาบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาตหรือสั่งไม่อนุญาตเลย โดยไม่ต้องสั่งให้ตัดทอนก่อนก็ได้

นายวิภาสกล่าวว่า คณะกรรมการไม่ได้เรียกให้แก้ไขดัดแปลง เพราะเป็นการสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 29 ซึ่งไม่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการต้องเรียกให้มาชี้แจง เพราะขั้นตอนนี้ไม่มีในกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ภาพยนตร์ถูกให้เรทห้ามฉายตามมาตรา 26 (7) คณะกรรมการถึงจะมีหน้าที่ต้องแจ้งคนทำภาพยนตร์ว่าให้ตัดทอน

กรณีภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ส่งเข้าสู่การพิจารณาครั้งแรกโดยบริษัท ป็อบ พิคเจอร์ส คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ ว่าให้เรท (6) แต่ขัดต่อมาตรา 29 มิใช่เรทห้ามฉายตามมาตรา 26(7) ดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ จากนั้นมีการยื่นภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาให้พิจารณาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อผู้ยื่นมาเป็นในนามของตัวผู้กำกับเอง พร้อมทั้งเพิ่มข้อความกำกับว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้สร้าง พฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครเป็นเพียงเรื่องสมมติ" คณะกรรมการเห็นว่าเนื้อหาส่วนอื่นๆ ไม่มีการแก้ไขใดๆ เลย จึงมีมติไม่อนุญาตให้ฉายตามมาตรา 29 ดังเดิม

เชลียง เทียมสนิท ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนจากกรมศาสนา กล่าวว่า ในชั้นของการอุทธรณ์ คณะกรรมการใช้ดุลพินิจดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยชอบด้วยเหตุผล โดยหลักของวิญญูชน คณะกรรมการประกอบได้ด้วยคณะกรรมการผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญ โดยในวันที่ชมภาพยนตร์นั้นมีผู้เข้าชมทั้งหมด 15 คน ในวันที่ลงมติ มีผู้ร่วมลงมติทั้งสิ้น 22 คน แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่าผลโดยละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งทางคณะอนุกรรมการจะถอดเทปการประชุมรายงานต่อศาลในภายหลัง

เชลียง เทียมสนิท เสริมข้อมูลว่า ที่ธัญญ์วาริน ผู้ฟ้องกล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ทั้งสิ้น 5 เรื่องที่สั่งไม่อนุญาตให้ฉายตามมาตรา 29 ได้แก่ 1) Zack and Miri Make a Porno 2) ถ้ำมองชอตเด็ด 3) ราคะสาบเสือ 4) เหมยฮัว หญิงร้อยรัก และ 5) รสสวาทสาบภูเขา

ตุลาการศาลปกครองถามคณะกรรมการว่า คณะกรรมการเห็นว่าเนื้อหาใดที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาในชุดนี้ด้วย กล่าวว่า มีหลายฉากที่ขัดต่อศีลธรรม ได้แก่ ฉากเห็นอวัยวะเพศขณะร่วมเพศซึ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว มีฉากฆ่าบิดามารดาที่แม้จะเป็นความคิดของตัวละครแต่เป็นเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรม มีฉากเพศสัมพันธ์ในชุดนักเรียน ขายบริการในชุดนักเรียน มีฉากที่ระบุชื่อสถาบันการศึกษา มีฉากที่ตัวละครชายพูดกับแฟนสาวว่าขอโทษที่ต้องทำให้ไปขายตัวซึ่งตัวละครหญิงตอบว่า "ไม่เป็นไร มันเป็นความคิดของฉัน คนอื่นไม่มีสิทธิมาตัดสิน"

รักศานต์กล่าวว่า ในฐานะอาจารย์เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ทำทำเอง เขียนบทเอง แสดงเอง จึงสะท้อนสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในใจตัวผู้กำกับ ไม่ใช่การสะท้อนสังคม เพราะเรื่องรักร่วมเพศสังคมรับได้อยู่แล้ว กรรมการทุกท่านไม่เคยกีดกัน เพียงแต่ประเด็นใหญ่ๆ ที่เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่ให้เห็นอวัยวะเพศประมาณ 5 วินาที อีกทั้งฉากร่วมเพศทั้งชายกับชาย หญิงกับหญิง รวมถึงชายกับหญิง ซึ่งเน้นเนื้อหาเรื่องเพศมากเกินไปซึ่งไม่เหมาะกับสังคมไทย

นอกจากนี้รักศานต์เห็นว่า หากอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะเป็นเรทอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ก็ไม่สามารถควบคุมคนดูตามอายุได้ตามที่กำหนด เพราะการกำหนดเรทติ้ง คนที่ดูภาพยนตร์ไม่มีความผิด เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนเอาผิดผู้ชมไว้ ดังนั้นอาจมีผู้ชมที่อายุต่ำกว่ากำหนดเข้าชมได้

การไต่สวนเสร็จสิ้นเวลา 17.55 น. ตุลาการศาลปกครองคาดว่าใช้เวลาราว 2 สัปดาห์จะสามารถแจ้งผลการขอทุเลาคำสั่งว่าให้ฉายในงานวิชาการได้หรือไม่

ในวันดังกล่าว มีสื่อมวลชนสนใจไปติดตามจำนวนหนึ่ง ธัญญ์วารินจึงจัดแถลงข่าวบริเวณโถงชั้นล่างของศาลปกครอง และมีนักกิจกรรมกลุ่มบางกอกเรนโบว์ไปร่วมให้กำลังใจโดยเตรียมป้ายเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลปกครองไม่อนุญาตให้ชูป้ายในบริเวณเพื่อให้ถ่ายรูป จึงต้องใช้วิธีวางป้ายไว้กับพื้นซึ่งสามารถทำได้

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553

บริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ จำกัด ยื่นคำขออนุญาตนำภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยขออนุญาตให้จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (เรท น 18+)  และในวันเดียวกัน คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย นายวิภาส สระรักษ์ นายรักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม นางสาวววรณสิริ โมรากุล นายนคร วีระประวัติ นายสันติ ชูขวัญทอง นายปกรณ์ ตันสกุล มีมติออกคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553

ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ยื่นคำขออนุญาตนำภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์อีกครั้ง ในนามของตัวเอง โดยขออนุญาตให้จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู (เรท ฉ 20) และเพิ่มคำเตือนเข้าไปในภาพยนตร์ว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้สร้าง พฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครในเรื่องเป็นเพียงเหตุการณ์สมมติมิได้อ้างถึงบุคคลใดทั้งสิ้น โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม” และในวันเดียวกันคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการชุดเดิม มีมติออกคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553

ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ

วันที่ 16 ธันวาคม 2553

คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประชุมเพื่อพิจารณาอุทธรณ์ และในเวลา 19.00 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติจำนวนหนึ่งเดินทางไปรับชมภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ที่ห้องฉายภาพยนตร์ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

วันที่ 22 ธันวาคม 2553

คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประชุมเพื่อพิจารณาอุทธรณ์อีกครั้งและลงมติไม่อนุญาต 13 เสียง อนุญาต 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

วันที่ 28 ธันวาคม 2553 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติออกหนังสือแจ้งมติให้ ธัญญ์วารินทราบ โดยระบุว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาโดยรวมเป็นการถ่ายทอดลักษณะเนื้อหาเกี่ยวกับการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง มีการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในขณะแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนอยู่หลายตอน และยังเสนอขายบริการทางเพศในขณะที่แต่งกายเครื่องแบบนักเรียน สาระสำคัญของภาพยนตร์แสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การให้เด็กหญิงและชายประกอบอาชีพขายตัวหรือโสเภณีแทนที่จะแก้ปัญหาโดยหาทางออกด้วยวิธีการอื่น มีฉากให้เด็กขายบริการทางเพศในชุดนักเรียน มีการสอนให้เด็กสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสอนวิธีเล้าโลม รวมทั้งมีการนำเสนอการฆ่าพ่อ ซึ่งแม้จะเป็นฉากในความฝันแต่ก็ไม่สมควรจะมีเนื้อหาเหล่านี้ คณะกรรมการเห็นว่า เนื้อหาสาระสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการถ่ายทอดเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย อาจทำให้สังคมและผู้ชม แม้อายุเกิน 20 ปี เกิดความเข้าใจผิดและเกิดการเลียนแบบในพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศหรือการขายบริการทางเพศ รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ จึงเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกเผยแพร่เนื่องจากขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น จึงชอบแล้ว มีมติยกอุทธรณ์

28 มีนาคม 2554

ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมกับ ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง ตัวแทนจากเครือข่ายคนดูหนังแห่งประเทศไทย ผู้ได้รับความเสียหายจากคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ยื่นฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ) เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 และ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (ชุดเล็ก) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard โดยอ้างเหตุว่าเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

1. ในการทำคำสั่งทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่เคยแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบเลยว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ใช้ข้อเท็จจริงใดบ้างในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี และไม่ได้ให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน หรือชี้แจงข้อเท็จจริงอื่น ซึ่งเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ทั้งที่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาเพื่อทำคำสั่ง นายโสฬส สุขุม หนึ่งในทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์และเป็นตัวแทนของผู้ฟ้องคดีได้เดินทางไปเฝ้ารอการพิจารณาอยู่หน้าห้องพิจารณาตลอดทั้งวัน เพื่อขออนุญาตเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ถูกปฏิเสธมิให้เข้าชี้แจง และวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2553 และวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ประชุมกันเพื่อพิจารณา ผู้ฟ้องคดีพร้อมทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ก็เดินทางไปเฝ้ารอหน้าห้องประชุมทั้งสองวัน เพื่อขอโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่ไม่ได้รับเคยอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีได้โอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ เลย

2. กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 หลายท่าน ไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการพิจารณาภาพยนตร์ กล่าวคือ ไม่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ก่อนเข้าร่วมการประชุมและลงมติออกคำสั่ง ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญมากในการพิจารณา ซึ่งการทำคำสั่งทางปกครองไปทั้งที่ผู้ทำคำสั่งไม่ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ถูกต้องครบถ้วนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเนื่องจากคำว่า “ศีลธรรมอันดี” เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ประชาชนย่อมเห็นแตกต่างกันได้ ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการพิจารณาแต่พิจารณาไปโดยความคิดเห็นส่วนตัวแต่เพียงลำพัง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง  Insects in the Backyard ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2  เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กล่าวคือ เป็นการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ไปโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสแก้ไขตัดทอนก่อน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และสื่อโฆษณา พ.ศ. 2552 ข้อ 8.

4. การลงมติออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้ตั้งอยู่บนความคิดเห็นโดยอิสระของคณะกรรมการ แต่เป็นการทำคำสั่งทางปกครองโดยถูกครอบงำทางความคิดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2553 กระทรวงวัฒนธรรมได้ออกเอกสารหนึ่งเพื่อแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนในวันก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้ชมภาพยนตร์ แต่เหตุผลในเอกสารฉบับนี้ที่ชี้แจงว่า ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน กลับเป็นเหตุผลเดียวกับที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1แทบทุกประการ จึงน่าเชื่อได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ลงมติทำคำสั่งทางปกครองตามฟ้องนี้ โดยผูกพันอยู่กับความคิดเห็นและเหตุผลที่มีอยู่ก่อนการพิจารณาลงมติแล้ว

5. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2  ไม่ได้ระบุเหตุผลในการออกคำสั่ง จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 37 ระบุเพียงว่าเนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ไม่ได้ระบุให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าใจได้ว่าฉากใด หรือส่วนใดของภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี และเนื้อหาเหล่านั้นขัดต่อศีลธรรมอันดีอย่างไร

6. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้ระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิงในการออกคำสั่ง จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 37

7. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ เพราะภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ไม่มีเนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ เหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา หรือก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ หรือกระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ หรือสาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเนื้อหาของเรื่องแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นลักษณะของภาพยนตร์ที่จะถูกจัดเป็นประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักรได้ตามกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๕๒

8. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นคำสั่งที่ให้เหตุผลคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงทั้งสิ้น เพราะภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard ไม่ได้มีเนื้อหาที่เป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ไม่เข้าใจธรรมชาติของภาพยนตร์และใช้วิธีการพิจารณาโดยแยกส่วนฉากแต่ละฉากออกจากกัน ไม่พิจารณาเนื้อหาทั้งหมดของภาพยนตร์โดยเชื่อมร้อยรวมกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อเรื่องโดยรวมสื่อถึงปัญหาการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่จริงในสังคม จนก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก และหากพิจารณาถึงจำนวนฉากที่มีภาพเกี่ยวกับการร่วมเพศกันแล้ว จะมีเพียง 4-5 ฉาก และแต่ละฉากก็ใช้เวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น ไม่ได้ขัดต่อศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด

9. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นการออกคำสั่งที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย เนื่องจากมีภาพยนตร์เรื่องอื่นที่มีลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกัน หรือมีฉากประเภทเดียวกันเป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันหรือมากกว่า หรือที่มีเนื้อหาคล้ายกันหรือมีเนื้อหารุนแรงกว่าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ได้รับอนุญาตให้ฉาย โดยผู้ฟ้องคดีได้แนบตัวอย่างภาพยนตร์จำนวน 15 เรื่อง เพื่อส่งให้ศาลพิจารณาประกอบ เช่น เรื่อง A Frozen Flower, น้ำตาลแดง, ผู้หญิงห้าบาป2,  9 วัด, Bruno,  The Reader เป็นต้น

10. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นคำสั่งที่ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผล และขัดกับหลักพอสมควรแก่เหตุ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ สื่อลามกอนาจารที่นำเสนอเนื้อหาการมีเพศสัมพันธ์โดยตรง อย่างโจ่งแจ้งที่มีลักษณะผิดกฎหมายสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากอยู่แล้ว ดังนั้นความมุ่งหมายเพื่อที่จะปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือ เนื้อหาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 อาจจะเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่อาจจะบรรลุผลในทางความเป็นจริงได้เลย คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ทำลายสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ให้เสียไปโดยสิ้นเชิง ขณะที่ผู้ถูกฟ้องมีอำนาจตามกฎหมายสามารถเลือกใช้มาตรการอื่นในการออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้กระทบกระเทือนสิทธิน้อยกว่าได้ เช่น จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู

11. ผู้ฟ้องคดีอ้างถึงบทความที่นักวิชาการหลายท่านเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อประกอบคำฟ้อง จำนวน 5 บทความ เช่น บทความของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ บทความของ อ.วันรัก สุวรรณวัฒนา นักวิชาการคณะศิลปศาสตร์ บทความของวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี เป็นต้น

12. เนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ฟ้องคดีอย่างร้ายแรง ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอันไม่อาจคำนวนเป็นตัวเงินได้ ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย คิดเป็นเงิน 400,000 บาท

ขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจำนวน 400,000 บาทด้วย

ในวันเดียวกับที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ธัญญ์วาริน และธัชชัย ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 26(7) และมาตรา 29 เรื่องอำนาจกำหนดให้ภาพยนตร์เรื่องใดเป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักร และการสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นข้อยกเว้นให้จำกัดสิทธิได้ด้วยอำนาจตามกฎหมายก็ตาม แต่ก็เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เกินจำเป็น ขัดต่อหลักพอสมควรแก่เหตุ และถ้อยคำที่ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิก็คลุมเครือไม่ชัดเจน ขัดกับหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ผู้ฟ้องคดียังยื่นคำขอให้ศาลปกครองกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา อ้างเหตุว่าสังคมกำลังสนใจกับการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องแรกตั้งแต่ประกาศใช้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา การที่สังคมกำลังสนใจและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสร้างสรรค์ย่อมเป็นประโยชน์กับสังคมในแวดวงวิชาการด้านกฎหมายและสื่อสารมวลชนเป็นอย่างมาก แต่หากจะวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างสมบูรณ์ผู้วิพาษ์วิจารณ์ก็ควรจะได้ชมภาพยนตร์ก่อน ดังนั้น จึงขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้สามารถนำภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกฉายเฉพาะในงานวิชาการและงานเพื่อการศึกษา ระหว่างรอให้ศาลมีคำพิพากษา เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจทางปกครองอันเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงกระทำได้อย่างชอบธรรม

31 มีนาคม 2554

ศาลปกครองออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีไปศาลในวันที่ 4 เมษายน 2554 เวลา 13.00 เพื่อให้ถ้อยคำต่อศาลประกอบการพิจารณาคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา

4 เมษายน 2554 ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยคู่กรณีทั้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เดินทางมาศาล ธัญญ์วารินผู้ฟ้องคดีที่ 1 ให้การต่อศาลว่า รู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิจากการไม่อนุญาตให้ฉายภาพยตร์ ในกระบวนการออกคำสั่งไม่เคยให้โอกาสคู่กรณีได้ชี้แจงและไม่เคยให้เหตุผลอันเพียงพอให้สามารถเข้าใจได้และแจ้งต่อศาลว่า ขออนุญาตฉายภาพยนตร์ในกิจกรรมวิชาการ เช่น ในสถานศึกษา ซึ่งจะมีการเสวนาวิชาการประกอบทุกครั้ง โดยจะตรวจบัตรประชาชนเพื่อกำหนดอายุผู้ชุมให้เกิน 20 ปีขึ้นไป

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อศาลยืนยันว่า การออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ทำไปโดยถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และพิจารณาเนื้อหาภาพยนตร์อย่างดีแล้ว เห็นว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ควรอนุญาตให้ออกฉาย พร้อมคัดค้านการกำหนดวิธีการทุเลาคำสั่ง

(ติดตามรายละเอียดได้ในบันทึกการสังเกตุการณ์คดี)

วันที่ 8 เมษายน 2554

ศาลปกครองมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ที่ 2 ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง เพราะศาลเห็นว่าสำหรับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่เป็นเพียงตัวแทนจากคณะบุคคลที่รวมตัวกันจากผู้ที่มีความสนใจชมภาพยนตร์ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัว จึงไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้

วันที่ 20 เมษายน 2554

ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอให้ศาลปกครองกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้เหตุผลว่า ความเสียหายที่เกิดกับผู้ฟ้องคดีจากคำสั่งทางปกครอง คือ ความเสียหายต่อชื่อเสียงที่บุคคลในสังคมอาจเข้าใจผิดว่า ผู้ฟ้องคดีสร้างภาพยนตร์ที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่คำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการส่งภาพยนตร์ไปประกวดนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด หากภายหลังศาลพิพากษาว่าคำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาก็สามารถแก้ไขเยียวยาความเสียหายต่อชื่อเสียงให้หมดไปได้ การให้คำสั่งทางปกครองมีผลต่อไปในระหว่างพิจารณาคดีจึงไม่ได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสียหายอย่างร้ายแรงจนไม่อาจเยียวยาได้ อีกทั้งการฉายภาพยนตร์ในงานวิชการ หรืองานเพื่อการศึกษาก็ไม่ได้เป็นการจัดฉายเฉพาะกลุ่ม ย่อมคาดหมายได้ว่าจะมีผู้สนใจเข้าชมเป็นจำนวนมากอันจะเป็นผลเหมือนการสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในราชอาณาจักรได้ กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองในระหว่างการพิจารณาคดี

17 มิถุนายน 2554

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำให้การต่อศาล พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำให้การ และถอดเทปบันทึกการประชุมตามที่ศาลปกครองเรียกให้ส่งเข้ามาในคดี ลงนามโดยนายทรงชัย ประสาสน์วนิช พนักงานอัยการ โดยคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีประเด็นกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ)
1. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายและด้านวินิจฉัยอุทธรณ์ขึ้น ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้และได้เชิญธัญญ์วาริน หรือผู้ฟ้องคดีที่ 1 เข้าร่วมประชุมชี้แจงแล้ว ในการประชุมวันที่ 9 ธันวาคม 2553 คณะอนุกรรมการฯ ได้สอบถามแล้วว่าจะยินยอมให้ตัดเนื้อหาบางส่วนออกหรือไม่ แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 แจ้งว่าไม่ประสงค์จะให้ตัดเนื้อหาของภาพยนตร์ออก คำฟ้องที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่เคยให้โอกาสผู้ฟ้องคดีเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และข้อที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงฟังไม่ขึ้น

2. การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ เป็นกรณีพิจารณาเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ส่งภาพยนตร์มาให้ประกอบการพิจารณาอยู่แล้ว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นให้ไว้ในคำขอแล้ว เป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 30 (3) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ให้ไม่ต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีเข้าชี้แจงก่อน

3. การพิจารณาอุทธรณ์เรื่องนี้ แม้กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 บางคนจะไม่ได้เข้าประชุมเนื่องจากติดภารกิจ แต่ก็ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ครบองค์ประชุมตามกฎหมาย คือ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดแล้ว อีกทั้งการวินิจฉัยความหมายของศีลธรรมอันดี เป็นสิ่งที่วิญญูชนทั่วไปเข้าใจได้อยู่แล้ว

4. ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เนื่องจาก “ขัดต่อศีลธรรมอันดี” เป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจแก่องค์กรของรัฐพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไปไม่อาจวางหลังตายตัวได้ ไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 26 (7) ไม่ใช่การสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักรจึงไม่ต้องผูกพันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมา

5. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ขอยืนยันว่า การพิจารณาอุทธรณ์ได้ดูภาพยนตร์ทุกเรื่องและประชุมกัน การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความอิสระ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งมุ่งคุ้มครองเด็ก เยาวชน และสังคม ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยไปตามความคิดเห็นของผู้ใด ก่อนหน้านี้ก็เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง

6. ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะ ไม่ได้ระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิงในการออกคำสั่งนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แจ้งแล้วว่าที่สั่งยกอุทธรณ์เพราะเห็นด้วยกับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และได้ให้เหตุผลไว้โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

7. ภาพยนตร์เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่มีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดการเลียนแบบในพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ การใช้ดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นดุลพินิจที่ปราศจากอคติหรือกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี และได้ใช้ดุลพินิจตามกฎหมายเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ การกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำเพื่อตนเองเท่านั้นมิได้คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน และสังคม

8. เรื่องค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาทนั้น ผู้ฟ้องคดีคิดขึ้นเอง กล่าวอ้างขึ้นโดยปราศจากหลักเกณฑ์และหลักฐานที่จะอ้างอิงได้ ไม่อาจรับฟังได้

ขอให้ศาลปกครองพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดีด้วย

คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 (ชุดเล็ก)
1. บริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ จำกัด ยื่นคำขออนุญาตนำภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกฉายก่อน เมื่อไม่ได้รับอนุญาตบริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ ก็ไม่ติดใจและไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะอุทธรณ์ คงมีเพียงธัญญ์วาริน ที่ติดใจ แต่เนื่องจากไม่ใช่ผู้ขออนุญาตเดิมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ จึงต้องยื่นคำขออนุญาตใหม่โดยไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของภาพยนตร์ การยื่นครั้งนี้จึงเป็นการยื่นเพียงเพื่อให้ได้รับสิทธิอุทธรณ์และสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อสร้างกระแสให้มีผู้สนใจในภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard และตัวธัญญ์วารินมากขึ้น โดยธัญญ์วารินตระเตรียมการไว้แล้ว จะเห็นได้จากวันที่เดินทางไปรับทราบคำสั่งพร้อมนักข่าว มีการจัดแถลงข่าว และยังเป็นวันเดียวกับที่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งด้วย

2. เนื่องจากภาพยนตร์ที่ยื่นขออนุญาตมีจำนวนมากทุกวัน หากเสนอให้แก้ไขตัดทอนภาพยนตร์ก่อน ก็ต้องดูใหม่ อีกทั้งเรื่อง อาจจะไม่ทันระยะเวลาการพิจารณา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้เท่ากับถือว่าอนุญาต เป็นกรณีจำเป็นรีบด่วนที่หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบและให้สิทธิโต้แย้งแสดงข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีมีตัวแทนมารอเข้าชี้แจงแต่อย่างใด

3. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ตรวจพิจารณาภาพยนตร์โดยดูเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องแล้ว ทั้ง 7 คน ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่ากรรมการบางคนไม่ได้ชมภาพยนตร์นั้นไม่เป็นความจริง

4. ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การออกคำสั่งไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่ได้สั่งให้ตัดทอนก่อนนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้การคัดค้านว่าการพิจารณาภาพยนตร์ต้องพิจารณาก่อนว่าภาพยนตร์เรื่องใดควรจะจัดอยู่ในประเภทใดตาม พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 26(1) – (7) ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard จัดว่าเป็นประเภท (6) คือ ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู และหลังจากนั้น กรรมการจึงใช้อำนาจตามมาตรา 29 พิจารณาว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นมีลักษณะที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีหรือไม่ เมื่อพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะดังกล่าว จึงสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 ไม่ใช่สั่งให้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) ทั้งหมดนี้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วโดยไม่ต้องสั่งให้ตัดทอนก่อน และไม่ต้องผูกพันตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง

5. เนื่องจากภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เคยขออนุญาตโดย บริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ จำกัด มาก่อนและไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ฟ้องคดีนำมายื่นขออนุญาตใหม่โดยไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหา เหตุผลของการสั่งไม่อนุญาตจึงเป็นเหตุผลที่ผู้ฟ้องคดีรู้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลอีก และผู้ฟ้องคดีก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ทันทีโดยไม่เคยทวงถามเหตุผลมาก่อน

6. คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายจึงเป็นตัวแทนของวิญญูชนทั่วไปซึ่งเป็นตามเจตนารมย์ของกฎหมาย และได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว

7. ภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ยกมากล่าวอ้างในคำฟ้อง มีเพียง 2 เรื่องที่ผ่านการตรวจพิจารณาโดย คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 มีหนึ่งเรื่องที่ไม่เคยผ่านการตรวจพิจารณา อีก 12 เรื่องนั้นตรวจโดยคณะอื่น ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีนำเอาบางฉากบางตอนของภาพยนตร์เรื่องอื่นมากล้าวอ้างเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ ขัดกับที่ผู้ฟ้องคดีเคยกล่าวว่า การพิจารณาภาพยนตร์ต้องพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดของภาพยนตร์โดยเชื่อมร้อยรวมกัน

8. ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผล เพราะสื่อลามกอนาจารที่นำเสนอเนื้อหาการมีเพศสัมพันธ์โดยตรงอย่างโจ่งแจ้งสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากอยู่แล้ว เป็นการแสดงเจตนาไม่รับผิดชอบต่อสังคม เพราะนำเสนอปัญหาแต่ไม่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เป็นการไม่เคารพต่อกฎหมายที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

9. ความเห็นของนักวิชาการที่กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง ล้วนแต่เป็นความเห็นส่วนตัว จึงไม่อาจรับฟังได้

10. รัฐธรรมนูญมาตรา 45 รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพดังกล่าว การไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นไปตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และผู้ฟ้องคดียังสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ ยังสามารถยื่นขออนุญาตครั้งใหม่ได้ แต่กลับยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เสรีภาพของตนถูกจำกัดมากกว่า

11. ในเรื่องค่าเสียหายนั้น ค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาท เป็นการอ้างเหตุส่วนตัวที่คิดขึ้นเองอย่างเลื่อนลอย ไม่มีเหตุผล ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันสนับสนุน จึงไม่อาจรับฟังได้ ไม่มีข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ตรงกันข้ามผู้ฟ้องคดีได้รับประโยชน์จากการไม่อนุญาตให้ฉายมากกว่า โดยทำให้ผู้ฟ้องคดีและภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ จนมีชื่อเสียงในสังคม

ขอให้ศาลปกครองพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดีด้วย

2 กันยายน 2554

ผู้ฟ้องคดี ยื่นคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง แยกเป็นสองฉบับสำหรับผู้ถูกฟ้องคดีรายละฉบับ คำคัดค้านคำให้การของผู้ฟ้องคดี กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

คำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ)

1. เหตุที่ในการประชุมกับคณะอนุกรรมการ ผู้ฟ้องคดีแจ้งว่าไม่ยินดีตัดเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ออก เพราะผู้ฟ้องคดีไม่เคยทราบเลยว่าสาเหตุที่ไม่อนุญาตให้ฉายเป็นเพราะเหตุใด และไม่ทราบว่าต้องการจะให้ตัดเนื้อหาส่วนใด ฉากใด เพราะเหตุใด และหากยินยอมแล้วจะได้รับอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์หรือไม่ คณะอนุกรรมการเพียงแต่ปรึกษาหารือแต่ไม่ได้ออกเป็นคำสั่งซึ่งตามขั้นตอนในกฎหมายจำเป็นต้องออกเป็นคำสั่งที่ชัดเจนว่าให้ตัดทอนส่วนใด เพราะเหตุใด

2. ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

3. ข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามรายงานการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แสดงให้เห็นว่า การออกคำสั่งขัดกับหลักความจำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ เพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายเพราะเหตุว่าในภาพยนตร์มีฉากการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ แต่แม้จะมีฉากดังกล่าว ตามกฎกระทรวงก็สามารถจัดเป็นภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดูได้ ซึ่งได้ผลในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเหมือนกัน แต่จำกัดสิทธิของผู้ฟ้องคดีน้อยกว่า

4. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจดุลพินิจนอกเหนือไปจากที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพราะในรายงานการประชุมปรากฏว่ากรรมการบางท่าน แสดงความเห็นว่าไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะมีภาพลามกอนาจารที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ซึ่งไม่ใช่อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ที่จะวินิจฉัยว่าสื่อใดเป็นสื่อลามกอนาจารหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจเพียงจัดประเภทภาพยนตร์ตามที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดไว้เท่านั้น อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวปรากฏเพียง 3 วินาทีในจอโทรทัศน์ในความฝันของตัวละครตัวหนึ่งเท่านั้น จึงไม่มีลักษณะก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศ จึงไม่ใช่สื่อลามกอนาจารที่ผิดกฎหมายอาญา ซึ่งกรรมการท่านดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายผิดไปด้วย การที่กรรมการบางท่านแสดงความเห็นโดยวินิจฉัยข้อกฎหมายผิด และนอกเหนืออำนาจย่อมมีผลทำให้กรรมการบางท่านอาจคล้อยตามและลงมติไป ทำให้เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 
5. นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ในฐานะประธานในที่ประชุม เป็นกรรมการ 1 ท่านที่คล้อยตามความเห็นที่ผิดนั้น และยังกล่าวว่าทำนองว่ากรรมการต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ อาจมีอิทธิพลทำให้กรรมการบางท่านกลัวได้ว่าจะทำผิดกฎหมายและออกเสียงลงมติไปโดยไม่ได้ตัดสินใจโดยอิสระ
 
6. ผลจากการออกเสียงจะเห็นได้ว่า กรรมการที่ลงมติอนุญาตให้ฉาย ทั้ง 4 ท่าน และที่ลงมติงดออกเสียง ล้วนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์ กรรมการที่ลงมติไม่อนุญาต 12 เสียงล้วนแต่เป็นข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ และ 1เสียงที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งท่านนี้ก็ได้ออกความเห็นชัดเจนแล้วว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถอนุญาตให้ฉายได้ ทำให้เห็นได้ว่า หากพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้โดยผู้ที่มีความรู้เรื่องภาพยนตร์ตามสมควรก็จะเห็นว่าไม่ได้ขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่กรรมการหลายท่านอาจเข้าใจและลงมติคลาดเคลื่อนไปเพราะถูกชี้นำตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
 
7. การจะยกเว้นให้ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ต้องให้สิทธิคู่กรณีรับทราบข้อเท็จจริงและให้โอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน เพราะเข้าข้อยกเว้นว่าพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่คู่กรณีได้ให้ไว้ ต้องเป็นกรณีออกคำสั่งไม่แตกต่างไปจากในคำขอและเป็นประโยชน์ แต่ถ้าออกคำสั่งที่เป็นโทษเช่นนี้ ต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ใช้สิทธิครบถ้วนก่อน การไม่ให้สิทธินี้จึงทำให้การออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการรับฟังของคณะอนุกรรมการก็ยังไม่ได้แจ้งให้เข้าใจว่าใช้ข้อเท็จจริงใดในการออกคำสั่ง
 
8. แม้กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะเข้าประชุมครบองค์ประชุม แต่กรรมการที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทุกท่านต้องรับทราบข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญให้ครบถ้วนก่อน การที่กรรมการบางคนไม่ได้ชมภาพยนตร์แต่กลับแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมย่อมอาจทำให้กรรมการท่านอื่นรับฟังความคิดเห็นและคล้อยตามความคิดเห็นที่เกิดจากการไม่ได้รับข้อเท็จจริงครบถ้วนนั้นได้ ทำให้เป็นการออกเสียงลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
9. ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กล่าวอ้างว่า กรณีคดีนี้เป็นการใช้อำนาจสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ ตามมาตรา 29 ไม่ใช่อำนาจการสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องใดจัดอยู่ในประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) ผู้ฟ้องคดีขอคัดค้านว่า จริงๆ แล้วการอำนาจสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ตามมาตรา 29 เป็นอำนาจเดียวกับการสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องใดจัดอยู่ในประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) โดยมาตรา 26 เป็นการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องปฏิบัติ ส่วนมาตรา 29 เป็นกฎหมายที่วางแนวทางการใช้ดุลพินิจคร่าวๆ และมีกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดกำกับการใช้ดุลพินิจไว้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีแนวทางการพิจารณาภาพยนตร์ทุกเรื่องเหมือนกัน และออกคำสั่งภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจนแน่นอน เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้อำนาจเองและประชาชนที่จะได้รับผลจากคำสั่ง หากตีความว่าอำนาจทั้งสองมาตราแยกออกจากกันตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กล่าวมาก็จะทำให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองสองประการโดยอาศัยเงื่อนไขต่างกัน และเงื่อนไขของมาตรา 29 ก็เป็นหลักเกณฑ์ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ เพื่อออกคำสั่งที่มีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหมือนกันได้ เป็นการตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐ การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังคงต้องผูกพันตามกฎกระทรวง และประกาศกระทรวง กล่าวคือ ต้องมีการออกคำสั่งให้แก้ไขตัดทอนภาพยนตร์ก่อนที่จะออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย และภาพยนตร์ที่จะไม่อนุญาตให้ฉายต้องเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในกฎกระทรวงด้วย
 
10. แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้ให้เหตุผลไว้ในคำสั่งแล้ว แต่การให้เหตุผลแบบเดียวกันทุกประการกับเหตุผลของคณะอนุกรรมการฯ และเหตุผลในเอกสารที่ทำออกมาก่อนการประชุม จึงไม่อาจเชื่อได้ว่าเป็นการพิจารณาโดยความคิดเห็นที่อิสระ
 
11. ผู้ฟ้องคดีขอคัดค้านว่า ผู้ฟ้องคดีผลิตภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ขึ้นด้วยเจตนาดีต่อสังคม ที่จะสื่อสารประเด็นปัญหาครอบครัวอันเกิดจากการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ผู้ฟ้องคดีคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับเด็กและเยาวชนเสมอ จึงขออนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดอยู่ในประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู หากพิจารณาโดยปราศจากอคติและอนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ก็จะฉายอยู่เพียงในโรงภาพยนตร์แห่งเดียว และฉาย 1 รอบต่อวันเท่านั้น ไม่มีทางส่งผลเสียใดๆ ต่อสังคมได้
 
12. เรื่องค่าเสียหายนั้น กรณีนี้ไม่ใช่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในทางแพ่ง ที่ต้องมีหลักฐานมาพิสูจน์ แต่เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายอันไม่อาจคำนวนเป็นราคาเงินได้จากการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ผู้ฟ้องคดีไม่มีหน้าที่ต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ แต่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยกำหนดให้เอง ซึ่งเคยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองในคดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 มาแล้ว
 
นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดียังได้ส่งภาพยนตร์เรื่อง Sex and Zen และ Hangover2 พร้อมทั้งบทความโดย ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ที่ออกมาหลังจากวันที่ยื่นฟ้อง เพิ่มเติมเข้าไปให้ศาลใช้พิจารณาประกอบด้วย
 
คำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 (ชุดเล็ก)
 
1. หลังจากได้รับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายในครั้งแรก ทั้งบริษัท ป็อป พิคเจอร์ และผู้เกี่ยวข้องทุกคนประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอใหม่ในนามตัวเองเพื่อให้มีสิทธิเข้าชี้แจงเอง และเปลี่ยนเงื่อนไขในการขออนุญาตให้จัดเป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู โดยคาดว่าน่าจะได้รับอนุญาต ที่กล่าวอ้างมาว่า มีเพียงผู้ฟ้องคดีคนเดียวที่ติดใจจะอุทธรณ์และยื่นคำขอเพียงเพื่อให้มีสิทธิอุทธรณ์และฟ้องศาล เพื่อสร้างกระแสให้ภาพยนตร์ได้รับความสนใจไม่เป็นความจริง ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เตรียมตัวในการยื่นอุทธรณ์มาก่อน นักข่าวทุกสำนักเดินทางมาทำข่าวด้วยตัวเองโดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบมาก่อน ผู้ฟ้องคดีเพียงแค่ตอบคำถามนักข่าวไปเนื่องจากตนไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
2. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้เวลาพิจารณาภาพยนตร์ไม่ถึง 1 วันและออกคำสั่ง ทั้งที่มีเวลา 15 วัน หากออกคำสั่งที่ชัดเจนให้ผู้ฟ้องคดีนำภาพยนตร์กลับไปแก้ไขตัดทอนส่วนใดก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และการให้สิทธิผู้ฟ้องคดีรับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงหลักฐานก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะแต่อย่างใด กรณีนี้จึงไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องให้สิทธิผู้ฟ้องคดีรับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงหลักฐาน
 
3. การที่กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีองค์ประกอบจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ มีผลทำให้ที่มาในแง่แบบพิธีถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่การทำคำสั่งจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอื่นอีกหลายประการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยังมีหน้าที่ต้องหาข้อมูลประกอบการวินิจฉัยเรื่อง “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ไม่ใช่เพียงตัดสินใจด้วยความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะได้รับการแต่งตั้งมาถูกต้องก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้อำนาจดุลพินิจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้
 
4. การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อ้างว่ากรณีนี้เป็นการใช้อำนาจสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ไม่ใช่การสั่งให้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการตีความและบังคับใช้กฎหมายที่ผิด ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับที่กล่าวไปในคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
 
5. แม้ว่าจะเป็นการยื่นขออนุญาตครั้งที่สอง แต่ในครั้งแรกก็ให้เหตุผลเพียงว่า “เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง และผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าใจได้อยู่ดีว่าหมายถึงฉากใด หรือเนื้อหาส่วนใดของภายนตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหน้าที่ต้องให้เหตุผลประกอบคำสั่งให้ชัดเจนไม่ว่าผู้ฟ้องคดีจะทวงถามหรือไม่ก็ตาม และผู้ฟ้องคดีร่วมกับเครือข่ายคนดูหนังก็เคยยื่นหนังสือทวงถามเหตุผลแล้ว แต่ไม่ได้รับกลับมา
 
6. แม้ภาพยนตร์อีก 12 เรื่องที่กล่าวอ้างไปในคำฟ้องจะถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการชุดอื่น แต่กรรมการทุกชุดทำหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ร่วมกันจึงต้องมีมาตรฐานหลักเกณฑ์เดียวกัน การพิจารณาโดยกรรมการต่างชุดไม่อาจยกเว้นหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายไปได้ ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีขอยืนยันว่าการพิจารณาภาพยนตร์ต้องพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดของภาพยนตร์โดยเชื่อมร้อยรวมกัน แต่เนื่องจากเหตุผลในการสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้ไว้ เป็นการพิจารณาแยกเป็นฉาก ผู้ฟ้องคดีจึงต้องนำเสนอแยกเป็นฉากเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนกับเหตุผลตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้มา
 
7. แม้บทความของนักวิชาการต่างๆ ตามคำฟ้องจะเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีผู้คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ด้วยเหตุผลทางวิชาการที่หลากหลาย ขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่อ้างว่าพิจารณาไปตามหลักวิชาการกลับไม่สามารถอธิบายหลักวิชาการดังกล่าวให้สังคมเข้าใจได้
 
8. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกผ่านภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เสียหายไปโดยสิ้นเชิง แม้ว่าจะยังสามารถแสดงออกทางอื่นได้ก็ตาม แม้ผู้ฟ้องคดีจะยังสามารถยื่นขออนุญาตใหม่ได้ แต่หากยื่นขออนุญาตใหม่ก็คงได้รับคำสั่งเช่นเดิมอยู่ดี ดังที่เห็นได้จากการยื่นมาสองครั้งแล้วและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ให้การไว้ว่าการไม่อนุญาตครั้งที่สอง ก็ด้วยเหตุผลเดียวกับครั้งแรก ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงได้รับความเสียหาย กรณีไม่ใช่ผู้ฟ้องคดีมีทางเลือกที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพน้อยกว่า
 
9. เรื่องค่าเสียหายนั้น กรณีนี้ไม่ใช่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในทางแพ่ง ที่ต้องมีหลักฐานมาพิสูจน์ แต่เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายอันไม่อาจคำนวนเป็นราคาเงินได้จากการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ผู้ฟ้องคดีไม่เคยได้รับประโยชน์อะไรจากคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ การที่มีชื่อและภาพของผู้ฟ้องคดีปรากฏตามสื่อก็ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายเช่นกันเพราะทำให้สาธารณชนที่ไม่เคยชมภาพยนตร์เข้าใจผิดได้ว่าผู้ฟ้องคดีผลิตภาพยนตร์ที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ฟ้องคดียังคงเคารพต่อกฎหมายและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี โดยประสงค์จะต่อสู้คดีในชั้นศาล ผู้ฟ้องคดีจึงไม่เคยนำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกเผยแพร่ที่ใดเลย
 
7 ธันวาคม 2554
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อศาล ลงนามโดยนายทรงชัย ประสาสน์วนิช พนักงานอัยการ โดยคำให้การเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีประเด็นกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
 
คำให้การเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ)
 
1. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นองค์กรกลุ่มต้องประชุมแสดงความคิดเห็นเพื่อลงมติ และกรณีนี้ได้ลงมติเสียงข้างมากไปแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีพยายามนำความเห็นของกรรมการบางท่านมาเป็นประโยชน์กับตนเอง ไม่ได้นำมติที่เป็นที่สุดมาพิจารณา กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความสามารถไม่มีผู้ใดชักจูงได้
 
2. ความคิดเห็นที่แตกต่างย่อมรับฟังได้แต่ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องปกป้องไม่ให้เด็กและเยาวชนต้องชมสื่อที่ไม่เหมาะสม ผู้ฟ้องคดีมีทางเลือกที่จะเสนอผลงานด้านอื่นหรือสร้างภาพยนตร์ได้หลายรูปแบบ แต่กลับเลือกเสนอภาพยนตร์โดยนำตนเองเป็นตัวตั้งตามแนวคิดของตนเอง ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ได้พิจารณาโดยอคติใดๆ
 
คำให้การเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (ชุดเล็ก)
 
1. การจัดให้ภาพยนตร์เป็นประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู นั้นมาตรการตรวจบัตรประชาชนเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ ส่วนที่กล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นความเชื่อของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น
 
2. การสร้างภาพยนตร์เพื่อสะท้อนปัญฆาสังคม สามารถทำได้หลายรูปแบบแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย อย่างเช่นที่ ผู้ฟ้องคดีสร้างภาพยนตร์เรื่อง “ฮักนะ สารคาม” ก็ได้ผ่านการตรวจพิจารณาแล้ว ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าวันยื่นขออนุญาตมีตัวแทนพยายามเข้าพบเพื่อชี้แจงนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ขอชี้แจงว่าเมื่อตัวแทนไม่มีใบมอบอำนาจมาแสดงย่อมไม่สามารถอนุญาตให้เข้าร่วมการพิจารณาได้ และไม่เคยปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีเคยยื่นความประสงค์ขอทราบเหตุผลประกอบคำสั่งแต่อย่างใด
 
3. กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ล้วนเป็นคุณวุฒิด้านต่างๆ ไม่เคยรู้จักหรือมีเรื่องโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดี ไม่มีอคติใดๆ และมิได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การตรวจพิจารณาและแจ้งผลสำหรับภาพยนตร์เรื่องอื่นไม่เคยมีสื่อมวลชนให้ความสนใจทำข่าวมาก่อน
 
4. ไม่ปรากฎว่าตัวแทนของผู้ฟ้องคดีแจ้งความประสงค์จะเข้าชี้แจง และตัวผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้อยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณา จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะเกิดความเสียหายร้ายแรงได้
 
5. กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ มีความรู้ความสามารถเป็นตัวแทนของวิญญูชนทั่วไปที่ต้องใช้ดุลพินิจ ซึ่งได้พิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างระมัดระวังแล้ว เห็นว่ามีเนื้อหาแสดงถึงการร่วมเพศที่เห็นอวัยวะเพศ ย่อมเป็นสื่อลามกอนาจารที่ขัดกับศีลธรรมอันดีของประชาชน
 
6. กรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดทุกประการแล้ว เมื่อพิจารณาจัดประเภทภาพยนตร์ตามมาตรา 26 แล้วย่อมมีอำนาจพิจารณาว่าภาพยนตร์มีเนื้อหาบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือไม่ ตามมาตรา 29 ซึ่งให้อำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้ มาตรา 26 และมาตรา 29 เป็นการดำเนินการคนละขั้นตอน ต้องดำเนินการตามมาตรา 26 ก่อนมาตรา 29 เสมอ ซึ่งเป็นการดำเนินการสองขั้นตอนในคราวเดียวกันตามกฎหมาย การไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ ไม่ใช่การกำหนดให้ภาพยนตร์เป็นประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร เพราะการฝ่าฝืนคำสั่งสองประเภทนี้จะมีความผิดคนละมาตรากัน คือ มาตรา 77 และ มาตรา 78 ความเห็นของผู้ฟ้องคดีที่กล่าวอ้างมาล้วนเป็นความเห็นส่วนตัว
 
7. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาแล้ว เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่เห็นอวัยวะเพศในขณะร่วมเพศซึ่งขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หากอนุญาตให้เผยแพร่ย่อมเกิดความเสียหายต่อสังคมไทยมากกว่า จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย
 
8. การพิจารณาภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นดุลพินิจของกรรมการแต่ละคณะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องเคารพดุลพินิจของกรรมการคณะอื่นด้วย การพิจารณาภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ก็กระทำด้วยความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดี ภาพยนตร์เรื่อง Sex and Zen มีเนื้อหาเป็นประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู และภาพยนตร์เรื่อง Hangover2 ก็มีเนื้อหาเป็นประเภทเหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
 
9. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะอื่นๆ เคยอนุญาตภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีเนื้อหาแสดงถึงความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นจึงไม่มีอคติต่อบุคคลทีมีความหลากหลายทางเพศและไม่ได้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพาะเหตุแห่งเพศ
 
10. คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 กับคดีนี้มีข้อเท็จจริงแตกต่างกัน คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้อำนาจโดยชอบแล้วจึงเปรียบเทียบกันไม่ได้
 
26 ตุลาคม 2555 เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัย พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา26(7) และมาตรา 29 เรื่องอำนาจการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น
 
โดยศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหาภาพยนตร์ ก่อนที่จะนำออกสู่สาธารณะโดยให้มีอำนาจในการกำหนดประเภทของภาพยนตร์ว่า เป็นภาพยนตร์ประเภทใด ซึ่งรวมทั้งเป็นประเภทที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรและให้มีอำนาจในการที่จะสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้ หากเห็นว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อมิให้ผู้สร้างภาพยนตร์ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนอาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ความมั่นคงของรัฐ และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้จะเป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 เพียงเท่าที่จำเป็นและมิได้กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง 
 
22 พฤศจิกายน 2555
 
ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ร่วมกับนายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ เข้าแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เหตุถูกเว็บไซต์เถื่อนขโมยหนังของตนไปจำหน่ายและเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาตทาง
 
หลังจากนั้น ทีมผู้สร้าง-ผู้กำกับและทีมทนายความจากหนังทั้งสองเรื่อง เดินทางต่อไปยัง “ศาลปกครอง” เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเร่งรัดการพิจารณาคดีของหนังทั้งสองเรื่องโดยเร็ว เพื่อป้องกันความเสียหายและผลกระทบอันจะเกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดี จากการที่มีผู้นำหนังทั้งสองเรื่องไปเผยแพร่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ผลิตหนังได้รับความเสียหาย สูญเสียรายได้ที่อาจจะได้รับจากการจัดฉายหลังศาลมีคำพิพากษา 
 

18 เมษยน 2556 

ศาลปกครองออกหมายเรียกให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเข้ามาเป็นคู่กรณี จำเลยที่ 3 และสั่งให้ผู้ฟ้องคดีส่งสำเนาคำฟ้องและเอกสารให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมภายใน 10 วัน

30 เมษายน 2556 

ทีมกฎหมายของผู้ฟ้องคดียื่นสำเนาคำฟ้องพร้อมเอกสารประกอบแก่ศาลปกครอง เพื่อจัดส่งให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

 

3 ธันวาคม 2558 

ศาลปกครองนัดพิจารณาครั้งแรก ประมาณ 10.30 น. เริ่มการพิจารณาโดยตุลาการเจ้าของสำนวนคดี แถลงสรุปข้อเท็จจริงในคดี จากนั้นจึงให้ผู้ฟ้องคดีแถลงข้อเท็จจริงด้วยวาจา ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้ฟ้องคดีแถลงถึงเจตนารมณ์ที่สร้างภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ว่ามีแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของตัวเอง ที่เป็นเพศที่สาม ซึ่งสังคมไทยยังไม่มีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และเจตนาให้สังคมเห็นปัญหาความไม่เข้าใจอันเป็นสาเหตุของปัญหาความแตกแยกในครอบครัว
 
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้รับมอบอำนาจ แถลงประเด็นข้อกฎหมาย โดยชี้ว่า คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้เหตุผลเพียง "ขัดต่อศีลธรรมอันดี" แต่ไม่ระบุว่าขัดต่อศีลธรรมตรงเนื้อหาส่วนไหนของภาพยนตร์, กรรมการของคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติบางท่าน ไม่ได้รับชมภาพยนตร์ก่อนลงมติห้ามฉาย จึงเห็นว่ากรรมการไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เพียงพอก่อนการออกคำสั่งห้ามฉาย และไม่มีการเสนอให้ตัดทอนภาพยนตร์ก่อน จึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 
ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี มีตัวแทนมาศาล ได้แก่ นิติกรของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ตัวแทนคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และตัวแทนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยทั้งสามคนไม่แถลงด้วยวาจาเพิ่มเติม เพราะข้อเท็จจริงทั้งหมดได้ส่งให้ศาลก่อนหน้านี้แล้ว
 
จากนั้นตุลาการผู้แถลงคดี แถลง สรุปความได้ว่า Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์ที่มุ่งพูดถึงปัญหาครอบครัว มีเจตนาสะท้อนสังคม แม้จะมีฉากที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ และมีฉากเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์หลายฉาก แต่ก็เป็นเพียงภาพที่ใช้ในการดำเนินเรื่อง ไม่ใช่สาระสำคัญของภาพยนตร์ และภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนายั่วยุทางกามรมณ์ ภาพยนตร์ที่มีฉากการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศสามารถจัดให้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉาย หรือห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู (20+) ก็ได้
 
ซึ่งเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงจะเห็นว่า ภาพยนตร์ประเภทห้ามฉาย จะต้องเข้าลักษณะที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างร้ายแรง หรือเป็นเรื่องยั่วยุทางกามารมณ์ ส่วนหลักเกณฑ์สำหรับภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู (20+) มีลักษณะเป็นภาพยนตร์ที่มีบางส่วนบางตอนอาจกระทบต่อสังคม ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard มีลักษณะเป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู (20+) การที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งห้ามฉายจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดี จึงมีความเห็นว่าองค์คณะเจ้าของสำนวนควรพิจารณาให้เพิกถอนคำสั่งห้ามฉาย ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน 400,000 บาทนั้น เห็นว่าสูงเกินไป จึงพิพากษาให้ตามสมควร ให้จ่ายค่าชดเชย 10,000 บาท 
 
ตุลาการเจ้าของสำนวนนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 เวลา 9.30 น
 
25 ธันวาคม 2558 
 
ศาลปกครองอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้อง (ดูรายละเอียดได้ในช่องคำพิพากษา)

คำพิพากษา

ศาลปกครองอ่านคำพิพากษา คดี Insects in the Backyard
วันที่ 25 ธันวาคม 2558 เวลา 9.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ศาลปกครองกลาง
 
ตุลาการเจ้าของสำนวน: จำกัด ชุมพลวงศ์, วชิระ ชอบแต่ง, ยงยุทธ เชี่ยวชาญกิจ
 
ประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย เกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่ง
 
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 หรือไม่ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่ามีการพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญสำหรับการออกคำสั่งดังกล่าวแล้วหรือไม่
 
การจัดประเภทภาพยนตร์ ดูจากภาพยนตร์ที่ยื่นขอก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องให้ผู้ยื่นคำขอมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติม
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่เคยแจ้งข้อเท็จจริงให้ทราบและไม่ได้ให้คู่กรณีมีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงหรือโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานนั้น โดยที่สาระของเรื่องที่พิจารณาทำคำสั่งในครั้งนี้เป็นการตรวจเนื้อหาภาพยนตร์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้นำส่งหลักฐานและเอกสารที่เป็นภาพยนตร์ที่จะขออนุญาต บทพากษ์หรือคำบรรยาย เป็นภาษาไทย และเอกสารสรุปเรื่องย่อภาพยนตร์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นำมาพิเคราะห์และประมวลเรื่องเพื่อออกคำสั่ง กรณีจึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้ไว้ในคำขอ อันเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรค 2 (3) แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 30 ไม่ต้องเรียกให้ผู้ยื่นคำขอมีโอกาสเข้าชี้แจงแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก
 
การให้เหตุผลแค่ "ขัดต่อศีลธรรมอันดี" ถือว่าบกพร่องไปบ้าง แต่ผู้ฟ้องคดีก็เข้าใจแล้ว
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายระบุเหตุผลเพียงว่า ภาพยนตร์มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ไม่ได้ระบุให้สามารถเข้าใจได้ว่าฉากใดหรือส่วนใดของภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี ในประการใด จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ม.37 เมื่อพิจารณาตามเอกสารบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ประกอบกับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา ที่ปรากฏข้อความว่า มีคำสั่งไม่อนุญาตเนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เห็นได้ว่าคำสั่งดังกล่าวระบุข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่อ้างอิง และเหตุผลตามตัวบทกฎหมายที่ใช้เป็นฐานในการพิจารณาออกคำสั่งแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ขยายความให้กระจ่างมากขึ้น ด้วยการอธิบายประกอบให้ละเอียดถึงเนื้อหา และฉากในภาพยนตร์ ซึ่งเป็นที่มาของการวินิจฉัยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน อันถือเป็นการขาดตกบกพร่องไปบ้างในส่วนของการให้ข้อเท็จจริงในคำสั่ง 
 
แต่เมื่อปรากฏว่า กรณีการดำเนินการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นการตรวจพิจารณาครั้งที่ 2 ซึ่งห่างจากครั้งแรกเพียง 20 วัน และผลการตรวจครั้งแรกให้เหตุผลเช่นเดียวกัน ประกอบกับเมื่อนำหนังสืออุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และคำชี้แจงของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต่อคณะอนุกรรมการว่าเนื้อหาในภาพยนตร์ไม่ได้ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หากแต่เหมาะสมกับผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้เพิ่มข้อความเตือนก่อนที่จะชมภาพยนตร์ด้วยแล้ว จึงรับฟังได้ว่า แม้บันทึกการตรวจภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างในส่วนของข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 หลงต่อสู้ เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 เข้าใจเหตุผลแล้วจึงได้พยายามแก้ไขด้วยการเพิ่มข้อความเตือนดังกล่าวในภาพยนตร์ ดังนั้นคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ย่อมไม่ขัดต่อมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
 
แม้กรรมการบางคนไม่ได้ดูหนังก่อนลงมติ แต่ก็ไม่ทำให้ผลรวมคะแนนเปลี่ยนไป 
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard กรรมการหลายคนไม่ได้รับชมภาพยนตร์ก่อนเข้าร่วมประชุม จึงเป็นการประชุมลงมติโดยไม่มีข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาที่ครบถ้วน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีกรรมการที่ไม่ได้รับชมภาพยนตร์สามคน มีหนึ่งคนลงมติไม่อนุญาต หนึ่งคนไม่ได้อยู่ลงมติ และอีกหนึ่งคนงดออกเสียง กรณีที่นางนนทินีให้ความเห็นว่าไมได้รับชมภาพยนตร์แต่ได้รับทราบจากผู้ที่เข้าชม ถ้าไม่มีการปรับบทที่เป็นการล่อแหลมก็ไม่ควรให้ฉาย เป็นกรณีที่นางนนทินีได้ออกเสียงลงมติบนพื้นฐานข้อเท็จจริงจากบทภาพยนตร์เป็นหลัก อย่างไรก็ตามในจำนวนกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 22 คน มีกรรมการที่ลงมติไม่อนุญาตจำนวนมากถึง 13 เสียง และมีผู้ลงมติอนุญาต 4 เสียง การลงมติของนางนนทินีย่อมไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้การลงมติในครั้งนี้ต้องเสียไปอย่างใด ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในประเด็นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
 
ก่อนสั่ง "ห้ามฉาย" ต้องให้เสนอตัดทอนก่อน แต่จะแจ้งวิธีไหนก็ได้ และไม่ต้องระบุฉากให้ชัดเจนเสมอไป
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีต้องเสนอให้แก้ไขตัดทอนก่อนสั่งไม่อนุญาตให้ฉายนั้น พิเคราะห์ตามมาตรา 29 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ ข้อ 8 แล้วเห็นได้ว่า มาตรา 29 วรรคหนึ่งให้อำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขหรือตัดทอนหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกประกาศฯ กำหนดหน้าที่ให้คณะกรรมการต้องแจ้งให้ตัดทอนเนื้อหาก่อนการกำหนดให้เป็นภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรตามข้อ 8 ก็เป็นการสร้างขั้นตอนวิธีดำเนินการให้เกิดความเหมาะสม รวมทั้งรักษาประโยชน์ของผู้ยื่นคำขออนุญาต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในประกาศดังกล่าว ต้องมีการแจ้งให้แก้ไขตัดทอนเนื้อหา ในส่วนที่เห็นว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ก่อนกำหนดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร 
 
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ว่ามีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี จึงมีมติไม่อนุญาต โดยไม่ได้แจ้งให้แก้ไขตัดทอนออกก่อน ตามข้อ 8 ของประกาศฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่อาจอ้างได้ว่ามีเหตุจำเป็นเพราะต้องพิจารณาเรื่องให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่อนุญาตในวันเดียวกับที่ยื่นคำขอ จึงยังมีเวลาเหลือถึง 14 วันซึ่งเพียงพอและอยู่ในวิสัยจะแจ้งให้แก้ไขตัดทอนบางส่วนของภาพยนตร์ได้ และเมื่อประกาศฯ ข้อ 8. ไม่ได้กำหนดวิธีการแจ้งและเนื้อหาที่ต้องแจ้ง การแจ้งจึงทำได้โดยการสื่อสารให้ผู้ขออนุญาตรับทราบ เมื่อปรากฏว่าบริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ เคยยื่นขออนุญาตฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard มาแล้วครั้งหนึ่ง และผู้ฟ้องคดีนำมายื่นขออนุญาตอีกครั้งโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาภาพยนตร์ไปจากเดิม แต่เพิ่มคำเตือนไว้ตอนต้น ประกอบกับตามรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการ ได้ให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงและได้สอบถามแล้วว่า จะยอมให้ตัดเนื้อหาบางส่วนออกหรือไม่ ซึ่งผู้ฟ้องคดีชี้แจงว่าไม่ประสงค์จะให้ตัดทอน เพราะได้เพิ่มคำเตือนไว้ตอนต้นแล้ว พฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่แสดงออกอย่างชัดแจ้ง เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 ประสงค์จะฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ตามเนื้อหาสาระเดิมทั้งหมด อนุกรรมการไม่ต้องอธิบายอีกว่าเนื้อหาส่วนใดที่ต้องการให้ตัดทอน เพราะอย่างไรเสียผู้ฟ้องคดีที่ 1 ก็ไม่แก้ไขหรือตัดทอนอยู่ดี กรณีถือได้ว่าคณะอนุกรรมการ ได้นำหลักเกณฑ์ตามประกาศฯ ข้อ 8. มาใช้กับผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 แล้ว
 
 
ประเด็นเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard
 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่ากรณีไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบหรือไม่ 
 
การสั่ง "ห้ามฉาย" และ "ไม่อนุญาตให้ฉาย" เป็นคำสั่งเดียวกัน ต้องยึดหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงฯ
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 18, 23, 25, 29 ได้บัญญัติให้กรณีขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นลักษณะหนึ่งในข้อห้ามของการสร้างภาพยนตร์ แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้บัญญัตินิยามความหมายและลักษณะของเนื้อหาในภาพยนตร์ที่จะถือเป็นการ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" เพื่อเป็นกรอบกำกับการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไว้เป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดี เมื่อพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะการใช้อำนาจสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ เป็นกรณีที่กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการสื่อความหมาย รวมถึงลิดรอนสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างรุนแรง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องวินิจฉัยเนื้อหาของภาพยนตร์ที่ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ด้วยความรอบคอบและเคร่งครัดต่อหลักเกณฑ์แห่งกฎหมาย และเมื่อมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ซึ่งหากภาพยนตร์เรื่องใดถูกจัดให้อยู่ในประเภท (7) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 ย่อมได้รับผลทางกฎหมายเท่ากับการใช้อำนาจสั่งไม่อนุญาต ตามมาตรา 29 เพราะทั้งสองกรณีต่างเป็นการจำกัดสิทธิในการนำภาพยนตร์ออกฉายเช่นเดียวกัน แม้พ.ร.บ.ดังกล่าวจะบัญญัติโทษอาญาของสองกรณีไว้แตกต่างกันก็ตาม ก็เป็นเพียงความหนักเบาของความผิด และเมื่อมาตรา 26 วรรคสาม กำหนดว่าหลักเกณฑ์การจัดประเภทภาพยนตร์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ย่อมแสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการกำกับดุลพินิจในการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ให้กว้างขวางไร้ขอบเขตจนเกินไป จนกลายเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ในขณะเดียวกันประสงค์สร้างความเข้าใจและความรับรู้ของผู้ขออนุญาตว่าจะต้องถูกตรวจสอบและจำแนกประเภทภาพยนตร์ด้วยหลักเกณฑ์ใด
 
โดยที่กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ.2552 ข้อ 7. กำหนดว่า ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้  (5) สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ (6) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ เห็นได้ว่าสองอนุมาตรานี้เท่านั้นที่เป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ดังนั้นในการตรวจภาพยนตร์จึงต้องวินิจฉัยเนื้อหาของภาพยนตร์ที่จะถือเป็นการ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ตามลักษณะที่ระบุไว้อย่างชัดเจนตามข้อ 7(5) และ 7(6)
 
การพิจารณาภาพยนตร์ต้องดูทั้งเรื่องรวมกัน ไม่อาจแยกดูเป็นฉากเป็นตอนได้
สำหรับปัญหาว่าภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่นั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยสาระสำคัญของเรื่องที่ผู้สร้างภาพยนตร์มุ่งนำเสนอและประสงค์สื่อให้ผู้ชมรับรู้สารผ่านการชมภาพยนตร์เป็นกรณีที่ไม่อาจนำแต่เฉพาะฉากใดฉากหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพยนตร์มาพิจารณาแบบแยกส่วนได้ เพราะภาพยนตร์สื่อความหมายและเล่าเรื่องตามโครงเรื่องที่เป็นเหตุการณ์อันเกิดขึ้นโดยมีจุดเริ่มต้น พัฒนา และดำเนินการไปจนถึงจุดสิ้นสุดหรือบทสรุปของเรื่อง และมีตัวละครแสดงบทบาทพฤติกรรมตามปมความขัดแย้งที่มีการเฉลยและคลี่คลาย หรือทิ้งท้ายให้ขบคิด การวินิจฉัยสาระสำคัญของเรื่องจึงต้องพิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมดของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่อง แก่นของเรื่อง บทสนทนา บทสรุป ฯลฯ อย่างเชื่อมโยงร้อยเรียงเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้พบแนวคิดหรือแก่นสารที่ภาพยนตร์มุ่งนำเสนอต่อผู้ชม 
 
เมื่อพิจารณาภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ประกอบคำให้การของคู่กรณีแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งพ่อมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด (กล่าวคือ บิดาเป็นสาวประเภทสอง แต่งตัวเป็นหญิง และมีความรักใคร่ชอบพอกับเพศชาย) กับบุตรชายและบุตรสาวที่อยู่ในวัยรุ่ยและวัยเรียน ซึ่งบุตรทั้งสองมีปมขัดแย้งที่ไม่ยอมรับความเป็น "พ่อ" ในปทัสถานของสังคม และต้องพบเห็นพฤติกรรมในทางรักร่วมเพศของพ่อ อันตอกย้ำให้ปมความเกลียดชังขยายตัวออกไป พร้อมกับการเรียนรู้เมื่อเติบโตขึ้น และสถานการณ์บีบให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นมุมซ่อนเร้นของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเสพย์ติดหรือการขายบริการทางเพศให้กับลูกค้าที่มีรสนิยมเฉพาะและแตกต่าง ทำให้ผู้เป็นลูกได้ครุ่นคิดและขยายพื้นที่ความเข้าใจในการยอมรับอัตลักษณ์ของพ่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ให้ถ้อยคำว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม โดยเฉพาะการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ โดยหวังให้ผู้ชมมองเห็นปัญหาและเกิดความเข้าใจ ไม่ว่าเพศใดก็อยู่ในสังคมได้อย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งผู้ชมจะได้รับสารเช่นนี้หรือไม่นั้นย่อมเป็นไปตามแต่ละบุคคล 
 
Insects in the Backyard มุ่งสะท้อนปัญหาครอบครัว ผู้ชมอายุ 20+ ย่อมมีวิจารณญาณพอ
เมื่อพิจารณาถึงเค้าโครงเรื่อง แก่นของเรื่อง บทสนทนา และบทสรุปของภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard แล้วเห็นได้ว่า แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีฉากหลายฉากที่แสดงเนื้อหาการมีเพศสัมพันธ์ ระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิงก็ตาม แต่ฉากเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงของเรื่องและสร้างจุดหักเหที่ทำให้ตัวละครตั้งคำถามกับตัวเอง และเรียนรู้นำไปสู่บทสรุป และแม้ในฉากเหล่านั้นจะมีการเปิดเผยเรือนร่างของตัวละครอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้โจ่งแจ้ง เนิ่นนาน วนเวียน หรือตั้งใจแสดงการร่วมเพศอย่างชัดเจน ที่แสดงออกถึงเจตนากระตุ้นกำหนัดหรือปลุกเร้าให้เกิดความใคร่ทางกามารมณ์อย่างเดียว ส่วนการที่เนื้อหารองเกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศของวัยรุ่น ก็เป็นการสร้างเรื่องราวเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านตัวละคร ให้ตัวละครต้องเผชิญและหาทางออก โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ปิดวงแคบเพียงนำการมีเพศสัมพันธ์เป็นความคิดสำคัญของเรื่อง แต่ได้มีปมปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวเป็นสารัตถะ ดังนั้น จึงเห็นว่าภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ไม่ได้มีลักษณะเป็นภาพยนตร์ที่มีสาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งต้องห้ามเผยแพร่ ตามข้อ 7(5) ของกฎกระทรวง ข้ออ้างส่วนนี้ฟังขึ้น
ส่วนข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดี ที่อ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีฉากขายบริการทางเพศในชุดนักเรียน มีการสอนให้เด็กสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสอนวิธีการเล้าโลม รวมถึงนำเสนอพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ฉากฆ่าพ่อ ซึ่งอาจทำให้ผู้ชมหรือสังคมเข้าใจผิดและเกิดการเลียนแบบ เห็นว่าการที่พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ บัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าเป็นภาพยนตร์ประเภทใดใน 7 ประเภท ก็ด้วยเจตนาให้มีการกลั่นกรองเนื้อหาของภาพยนตร์ให้เหมาะกับช่วงวัยของคนดู ป้องกันเด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จากภัยของการเสพย์สื่อที่ไม่เหมาะสม มีการจำแนกให้ภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู เป็นการจำกัดสิทธิเข้าชมขั้นสูงสุด อันแสดงว่าโดยระบบกฎหมายในเรื่องนี้ได้ยอมรับวุฒิภาวะของผู้มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไป ที่จะใช้สิทธิเลือกชมภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และสามารถตัดสินคุณค่าของหนัง ด้วยวิจารณญาณของตนโดยเสรี เว้นแต่ภาพยนตร์ประเภทที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งจำกัดการชมทุกช่วงวัย

ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขออนุญาตระบุว่าขอให้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู ที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการแสดงออกและมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เป็นเรื่องที่อยู่ในวิจารณญาณของผู้ชมที่อายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไป ที่จะพิจารณาแยกแยะได้ตามวุฒิภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ หากอนุญาตให้ฉายในประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดูอยู่แล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ต้องเกรงว่าเด็กและเยาวชนจะลอกเลียนแบบพฤติกรรมในหนัง ระบบการแยกประเภทภาพยนตร์ดังกล่าวจะช่วยจำแนกเยาวชนออกจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจรับฟังได้
 
"หนังเอ็กซ์" เป็นสื่อลามกผิดกฎหมายอาญา แม้นำมาเพียงบางส่วนก็ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard มีลักษณะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามข้อ 7(6) ของกฎกระทรวงฯ หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อ 7 กำหนดลักษณะของภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร กำหนดว่า "(6) ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวยัวะเพศ" เป็นข้อความเดียวกับข้อ 6(1) ซึ่งเป็นลักษณะของภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู เป็นการกำหนดลักษณะของภาพยนตร์แบบเดียวกันแต่ให้มีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน ลักษณะเนื้อหาข้อ 6(1) มีผลคือยังสามารถเผยแพร่ได้ที่จำกัดประเภทผู้ชม แต่ลักษณะเนื้อหาข้อ 7(6) มีผลทำให้ไม่อาจนำภาพยนตร์ออกเผยแพร่ได้ ซึ่งการบัญญัติผลที่แตกต่างกันเช่นนี้ ย่อมไม่อาจตีความไปว่า ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ ก็ให้เผยแพร่ได้ในประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู เพราะการตีความเช่นนี้จะทำให้ ข้อ 7(6) ไม่มีที่บังคับใช้ อันย่อมไม่ใช่เจตนารมณ์ของการออกกฎหมาย แม้ทั้งสองข้อจะมีข้อความแบบเดียวกันแต่ย่อมมีความแตกต่างเชิงลึกในส่วนของเนื้อหา ระดับความรุนแรง ว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่ ซึ่งหากเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า หากก้าวเลยเส้นขอบเขตศีลธรรมอันดีของประชาชนไปแล้ว เนื้อหาในส่วนต้องห้ามดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อภาพยนตร์ทั้งเรื่องด้วย จะเป็นลักษณะหนึ่งของภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณจักร ตามข้อ 7(6) ของกฎกระทรวงฯ หากไม่อาจเห็นได้ว่าเนื้อหาส่วนนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็ย่อมเป็นลักษณะหนึ่งของภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู  ตามข้อ 6(1) 
 
ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่าภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard มีบางฉากที่ไม่เหมาะสมเช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ มีภาพการร่วมเพศในโทรทัศน์ที่ฉายอยู่ในขณะที่บุคคลนั้นกำลังดำเนินการกับตัวเอง และปรากฏตามบทภาพยนตร์เรื่องนี้ในฉากที่ 43 เช่นเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ยอมรับในข้อเท็จจริงแล้วว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เสนอเนื้อหาการร่วมเพศที่เห็นอวัยวะเพศจริง เมื่อพิจารณาเนื้อหาส่วนนี้แล้ว ปรากฏว่าเป็นเนื้อหาในฉากที่ผู้แสดงเป็นพ่อกำลังดูหนังโป๊เปลือยที่แสดงการร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้ง หรือที่เข้าใจกันว่า "หนังเอ็กซ์" ที่นำเสนอผ่านโทรทัศน์ ซึ่งเป็นหนังชายรักชาย แสดงภาพเคลื่อนไหวของชายร่างกายเปลือยเปล่าสามคนกำลังมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชมสามารถเห็นได้โดยไม่มีการปิดบัง ภาพเคลื่อนไหวการมีเพศสัมพันธ์ ภาพอวัยวะเพศชายกำลังแข็งตัว และภาพการสอดใส่อวัยวะเพศชายในช่องทวารหนักของชายอีกคนหนึ่ง แม้ว่าภาพและเนื้อหาดังกล่าวจะปรากฏในจอโทรทัศน์เพียง 3 วินาทีและเป็นเพียงความฝันของตัวละครก็ตาม แต่เมื่อหนังเอ็กซ์ที่ปรากฏส่วนนี้ ผลิตขึ้นเพื่อยั่วยุกำหนดของผู้ชมให้เกิดความใคร่ทางกามรมณ์ จึงอยู่ในความหมายของการเป็นสื่อลามกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 ซึ่งบัญญัติห้ามการผลิตหรือทำให้เผยแพร่เพื่อความประสงค์แห่งการค้า การที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติให้สิ่งลามกเป็นสิ่งผิดกฎหมายก็ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องเข้าไปปกป้องคุ้มครองสังคมให้พ้นจากการกระทำดังกล่าว ทั้งแสดงว่าในบริบทกฎหมายไทยไม่ได้เปิดเสรีให้นำเสนอสิ่งลามกเช่นหนังเอ็กซ์ ไม่ว่าจะทั้งเรื่องหรือเพียงบางฉากบางตอน 
 
"หนังเอ็กซ์" ปรากฏนิดเดียวก็ผิด ไม่ต้องคำนึงถึงเจตนาการนำเสนอ ควรใช้ช่องทางอื่นๆ ที่รังสรรค์กว่า
เมื่อภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard นำส่วนหนึ่งของหนังเอ็กซ์ที่มีเนื้อหาแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศและการสอดใส่มาเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ โดยได้ส่งสารอันขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนสู่ผู้ชมภาพยนตร์ ย่อมต้องถือว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาบางส่วนเข้าลักษณะข้อห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามกฎกระทรวงแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า เจตนาการเผยแพร่ภาพดังกล่าวเพื่อต้องการสื่อให้เห็นจุดเปลี่ยนทางอารมณ์ของตัวละครซึ่งไม่พอใจอยู่แล้วที่พ่อเป็นสาวประเภทสอง ทำให้มีอารมณ์โกรธจนรู้สึกอยากฆ่าพ่อ และภาพดังกล่าวไม่ได้มีเจตนายั่วยุกามรมณ์ เนื่องจากลักษณะตามข้อห้ามตามกฎกระทรวงเรื่องการนำเสนอภาพการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศนั้นเมื่อปรากฏบนจอภาพยนตร์เมื่อใดก็ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเจตนาของการนำเสนอ 

อย่างไรก็ตาม แม้หากพิจารณาถึงเจตนาการนำเสนอเนื้อหาการร่วมเพศในภาพยนตร์เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนทางอารมณ์ของตัวละครย่อมมีช่องทางอื่นๆ ในเชิงศิลปะภาพยนตร์ที่รังสรรค์กว่าการนำเสนอฉากร่วมเพศโดยแสดงภาพการสอดใส่ชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะการนำเสนอแบบหนังเอ็กซ์ หรือหนังลามก หากจะมีการแก้ไขลดระดับความแรง หรือตัดทอนเนื้อหาในส่วนนี้ออกก็ไม่กระทบต่อโครงหลักและปมของเรื่องในฉากดังกล่าว และไม่ทำให้อรรถรสของภาพยนตร์เสียไป เนื่องจากภาพการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยเพื่อประกอบเนื้อหาหลัก
 
ข้อเท็จจริงคดีนี้จึงรับฟังได้ว่า ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่แสดงให้ปรากฏซึ่งภาพการร่วมเพศโดยเห็นอวัยวะเพศและการสอดใส่ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่มีระดับความรุนแรงถึงขึ้นเป็นเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเข้าลักษณะของภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ในข้อ 7(6) ของกฎกระทรวง ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามมาตรา 29 ที่จะต้องตรวจพิจารณาไม่ให้มีเนื้อหาลักษณะดังกล่าวในภาพยนตร์  การให้เหตุผลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ว่ามีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของเรื่อง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และเป็นการใช้ดุพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 29 สั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ได้ เนื่องจากการจัดภาพยนตร์ให้อยู่ในประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในกฎกระทรวงข้อ 7. เห็นว่าเมื่อกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์เป็นกฎหมายลำดับรอง มีศักดิ์ต่ำกว่าและ
มีค่าบังคับน้อยกว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การนำรายละเอียดในกฎกระทรวงมาใช้ก็ต้องพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่เป็นกฎหมายศักดิ์สูงกว่า การนำกฎกระทรวงมาใช้โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ใหญ่ในกฎหมายแม่บท อาจทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ ดังนั้น นอกจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ ตามกฎกระทรวงแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์ใหญ่ในพ.ร.บ.ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 29 การพิจารณาใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงชอบแล้ว
 
“หนังเอ็กซ์” ล้ำเส้นศีลธรรม โดยเจตนารมณ์ของกฎหมาย อายุ 20 ก็ดูไม่ได้
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า แม้จะมีภาพแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ ก็สามารถจัดให้เป็นประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดูได้ และการพิจารณาว่าภาพยนตร์เรื่องใดเป็นสื่อลามกอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีนั้น เห็นว่า ภาพยนตร์ที่มีภาพแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศที่จะจัดเป็นประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดูได้ ต้องมีลักษณะเป็นเนื้อหาที่ยังไม่ล้ำเส้นของเขตของศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะหากจะถือว่าผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี มีวิจารณญาณที่สามารถรับชมภาพยนตร์ได้อย่างอิสระแล้ว บทบัญญัติมาตรา 23 และมาตรา 29 ก็จะไม่สามารถบังคับใช้ได้เลย ซึ่งย่อมไม่ใช่เจตนารมณ์ของการบัญญัติกฎหมายและแสดงว่าระบบกฎหมายได้ยอมรับและวางกลไกการเซ็นเซอร์ การแบน อันเป็นการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ให้เป็นเครื่องมือหนึ่งของฝ่ายปกครองในการควบคุมกิจการภาพยนตร์ควบคู่กับกลไกการจัดประเภทภาพยนตร์ การนำหนังเอ็กซ์มานำเสนอผ่านจอโทรทัศน์ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ดังกล่าวอย่างโจ๋งครึ่มนั้น ย่อมก้าวล้ำข้ามเส้นศิลปะแขนงภาพยนตร์และขอบเขตของคำว่า "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" ไปแล้ว ซึ่งด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะต้องตรวจสอบและกำกับความเหมาะสมของภาพยนตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 จึงย่อมไม่อาจพิจารณาว่าภาพการร่วมเพศในลักษณะสื่ออันลามก ตามมาตรา 287 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นเนื้อหาแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศและจัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู โดยไม่ต้องตัดทอนแก้ไขได้ เพราะจะทำให้สื่ออันลามกที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะโดยถูกต้องตามกฎหมาย ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีในประเด็นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
 
พิจารณาภาพช็อตเดียวก็สั่งแบนได้ ไม่ต้องคำนึงถึงสารัตถะทั้งเรื่อง
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ไม่ได้มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมองภาพที่ปรากฏในแต่ละฉากเป็นภาพนิ่ง ไม่พิจารณาเชื่อมร้อยรวมกัน เมื่อพิจารณาตามข้อ 7 ของกฎกระทรวง เห็นว่าลักษณะของภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรมีทั้งกรณีที่ต้องพิเคราะห์เนื้อหาของภาพยนตร์โดยรวม กับกรณีที่พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภาพยนตร์แยกเป็นแต่ละช็อต เช่นนี้แล้ว ในการทำหน้าที่ตรวจภาพยนตร์ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ก็ต้องพิจารณาไล่เรียงไปตั้งแต่หน่วยของภาพยนตร์ที่เล็กที่สุดแต่ละช็อต แต่ละฉากไปจนถึงสารัตถะของสารที่ภาพยนตร์มุ่งสื่อไปยังผู้ชม เมื่อปรากฏว่ามีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่แสดงการร่วมเพศที่เห็นอวัยวะเพศและการสอดใส่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ย่อมสามารถพิจารณาเฉพาะภาพต้องห้ามที่มีลักษณะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ปรากฏในฉากดังกล่าว และมีมติห้ามเผยแพร่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพิเคราะห์ถึงสารที่ต้องการนำเสนอผ่านภาพที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนดังกล่าวอีก
 
 
ตอบประเด็นอื่นๆตามคำฟ้อง
 
ข้ออ้างว่ากรรมการอคติต่อเพศที่สามนั้นไม่มีหลักฐานใดมาพิสูจน์
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ไม่ได้ตั้งอยู่บนความคิดเห็นโดยอิสระและเป็นกลาง แต่ผูกพันกับอำนาจและถูกครอบงำทางความคิด โดยมีอคติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร กรณีย่อมรับฟังได้ว่าการใช้ดุลพินิจของกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว กรณีที่อ้างว่ากรรมการให้ความเห็นโดยไม่เป็นกลางและอคติ ก็เป็นการกล่าวอ้างในภาพรวมตามความคิดความเชื่อของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ได้ระบุชี้ชัดว่ากรรมการรายใด และความไม่เป็นกลางหรืออคติเกิดจากการมีเรื่องโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดีมาก่อน หรือมีเหตุจูงใจพิเศษอื่นใด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ได้ตามที่อ้าง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าต่อมาภาย&a

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา