วัชรี เผ่าเหลืองทอง: นักเคลื่อนไหวด้านพลังงานทางเลือก

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

วัชรี เผ่าเหลืองทอง

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2552

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ บริษัท สยามเอนเนอร์จีจำกัด เป็นบริษัทที่มีโครงการด้านพลังงาน ทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นบริษัทลูกของ บริษัท เจ-พาวเวอร์ และกัลฟ์ เจพี จำกัดซึ่งเป็นบริษัทเชื้อสายญี่ปุ่นรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย โดยบริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าใหม่ 2 โรง คือ โรงไฟฟ้าหนองแซง 1650 เมกะวัตต์ (ใช้ชื่อบริษัทกัลฟ์ เจพี เอนเอส จำกัด) และโรงไฟฟ้าบางคล้าเดิม1,600 เมกะวัตต์ (ใช้ชื่อบริษัท สยามเอนเนอร์จี จำกัด)

สารบัญ

วัชรีเผ่าเหลืองทอง ถูกบริษัทสยามเอ็นเนอร์จีจำกัด ฟ้องฐานหมิ่นประมาท หลังตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการประมูล และการจัดทำอีไอเอของ โจทก์ ในรายการคมชัดลึก

ภูมิหลังผู้ต้องหา

วัชรี เผ่าเหลืองทอง  หรือ "ปุ้ม" เป็นนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานทางเลือก เป็นอดีตผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต-AEPS ทำงานกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ เคยเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และทำงานเคียงคู่กับ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ "มด" ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วัชรี เผ่าเหลืองทอง ถูกยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 52 สืบเนื่องจากกรณีที่ได้ให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์นโยบายพลังงาน การวางรูปแบบหลักเกณฑ์การเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP)ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และการปฏิบัติตัวของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน และมีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการประมูล และกระบวนการจัดทำอีไอเอของบริษัทโจทก์ออกอากาศทางรายการคมชัดลึกของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล ที่มีจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีสถานการณ์ชาวบ้านบางคล้าชุมนุมปิดถนนเพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด

ทั้งนี้ โจทก์ยื่นฟ้องนางสาววัชรี ทั้งคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทและคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแพ่งไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อรอผลคำพิพากษาในคดีอาญา

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

23 กันยายน 2554 

 
สืบพยานโจทก์วันที่สอง ณ ห้อง 910 ศาลอาญา รัชดา โจทก์นำพยานเข้าสืบสองปาก คือ ดลฤดี ไชยสมบัติ และ รังสิมา พักเกาะ
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ดลฤดี ไชยสมบัติ ผู้สื่อข่าวแพลทส์ ประเทศสิงคโปร์ 
 
ดลฤดีเบิกความเพิ่มเติมจากบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 9 ส.ค.53 สรุปความได้ว่า ตนทำงานเป็นผู้สื่อข่าวมากว่า 10 ปี รู้จักบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องในคดีนี้ เนื่องจากเคยทำข่าวการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และได้รับชมรายการคมชัดลึกเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 โดยตลอด จึงโทรแจ้งโจทก์ เกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลของจำเลยเพื่อขอข้อมูล แต่ไม่ได้นำข้อมูลรวบรวมทำรายงานให้กับสำนักข่าวแพลทส์ และรู้จักจำเลยในฐานะเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้า แต่ไม่เคยทำข่าวสัมภาษณ์จำเลย หรือชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้า
 
ดลฤดี ให้ข้อมูลด้วยว่า ตนเป็นผู้ดำเนินรายการเอ็นเนอร์จีไทม์ ทางคลื่นวิทยุ 97.0 MHz นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน มีบริษัทพลังงานเป็นผู้สนับสนุนอาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตามบริษัทโจทก์ ไม่เคยเป็นผู้อุปถัมภ์รายการของตน ส่วนผู้บริหารบริษัทของตนจะเคยเป็นผู้บริหารบริษัทโจทก์หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม รังสิมา พักเกาะ เจ้าหน้าที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน 
 
รังสิมา พักเกาะ ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เบิกความว่า การประกวดราคาจัดหาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ เริ่มจากนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ จากนั้นจึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือก โดยให้ผู้ผลิตเอกชนส่งข้อมูลเบื้องต้น คือ ข้อมูลเทคนิค สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า และอัตราค่าไฟฟ้า หลังอนุกรรมการออกประกาศเรื่องการประกวดราคา มีบริษัทที่มาซื้อซองประมูล 50 ราย แต่มีผู้มายื่นซอง 20 ราย เมื่ออนุกรรมการพิจารณาด้านเทคนิคมีบริษัทที่ผ่านการพิจารณา 17 ราย และมีผู้ชนะผ่านการประมูล 4 ราย โดยบริษัทโจทก์เป็น 1 ใน 4 ทั้งนี้ตามเอกสารที่ตรวจสอบไม่มีการร้องเรียนว่ากระบวนการไม่ชอบ
 
เรื่องสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า จำไม่ได้ว่าในการเตรียมเอกสารสถานที่ตั้งต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนในพื้นที่หรือไม่ แต่ในส่วนเงื่อนไขด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมดูแลอยู่ นอกจากนั้นผู้ยื่นซองประมูลจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยื่นต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (ผส.) และ อีไอเอของบริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สผ.ก่อนจึงจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟ อย่างไรก็ตามในภายหลังมีการเปลี่ยนเงื่อนไขโดยความเห็นชอบของ กพช. ให้ กฟผ.รับไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ก่อนที่อีไอเอจะแล้วเสร็จ ซึ่งจำไม่ได้ว่าเหตุผลของการเปลี่ยนเงื่อนไขนั้นเป็นเพราะบริษัทโจทก์ยื่นข้อขัดข้องไม่สามารถทำอีไอเอได้ตามเวลากำหนดเวลาหรือไม่ และไม่ทราบว่าบริษัทโจทก์มีการผ่อนผันอีไอเอกี่ครั้ง
 
โจทก์นำสืบพยานปาก รังสิมา พักเกาะ เพราะต้องการจะพิสูจน์ว่า สิ่งที่จำเลยพูดออกอากาศในรายการคมชัดลึก ช่องเนชั่น แชนแนล กล่าวหาบริษัทโจทก์นั้น ไม่เป็นความจริง
 
27 กันยายน 2554 
 
สืบพยานโจทก์วันที่สาม ณ ห้อง 910 ศาลอาญา รัชดา
โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานต่อ หมดพยานโจทก์ ยกเลิกการนัดสืบพยานในวันนี้
 
28 กันยายน 2554 
 
สืบพยานจำเลยวันที่หนึ่ง ณ ห้อง 910 ศาลอาญา รัชดา
 
สืบพยานจำเลยปากแรก วัชรี เผ่าเหลืองทอง เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง 
 
วัชรี เบิกความต่อศาลถึงเหตุที่ถูกฟ้องคดีว่า ได้รับการติดต่อจากรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล ให้ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “โรงไฟฟ้า เพื่อใคร” จากสถานการณ์ขณะนั้นที่มีชาวบ้านบางคล้าชุมนุมในพื้นที่เพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าของ บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ในฐานะนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ที่ติดตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเธอยินดีเข้าร่วม โดยระบุถึงเหตุผลว่าต้องการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ ร่วมตรวจสอบ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานที่ดียิ่งขึ้น ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพง ขณะที่กิจการพลังงานโปร่งใส มีหลักธรรมภิบาลในการดำเนินกิจการ ซึ่งเธอเชื่อว่าการเผยแพร่ข้อมูลเป็นหน้าที่ของเอ็นจีโอ
 
นางสาววัชรี กล่าวด้วยว่า ผู้ร่วมรายการในวันนั้นประกอบด้วย นักวิชาการ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า และชาวบ้านอีก 2 คนที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ไม่มีตัวแทนบริษัทโจทก์ และตัวแทนของกระทรวงพลังงานเข้าร่วม ซึ่งนางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการได้ชี้แจงว่าได้มีการติดต่อแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบรับ อย่างไรก็ตาม รายการได้มีการต่อสาย ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้าร่วมพูดคุย
 
เอ็นจีโอด้านพลังงาน กล่าวถึงสิ่งที่พูดในรายการดังกล่าวว่า มีการวิพากษ์ในส่วนนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในส่วนการวางรูปแบบหลักเกณฑ์การเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) อีกทั้งพูดถึงการปฏิบัติตัวของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน โดยไม่ได้มุ่งตอบว่าใครเป็นผู้คอรัปชั่นแต่อย่างใด
 
นางสาววัชรี กล่าวถึงการทำงานเอ็นจีโอว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2534 จากประเด็นผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ในฐานะของผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับธรรมชาติ วิถีชีวิต จากนั้นได้ร่วมสนับสนุนขบวนสมัชชาคนจน โดยการทำงานใหญ่เป็นงานในเชิงข้อมูล และการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชน จนกระทั้งในปี 2541 ได้มีการตั้งกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตขึ้น โดยทำงานติดตามเรื่องนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ ผลกระทบ และทางออกของพลังงานไทย ต่อมาใน ปี2538 มีการเปิดประมูล IPP เป็นครั้งแรกตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทำให้ได้เข้าช่วยเหลือเรื่องข้อมูลแก่ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทกัลฟ์เพาเวอร์เจเนอเรชั่น (บริษัทในเครือของโจทก์) ในพื้นที่ ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
ต่อกรณีที่ทนายโจทก์ถามค้านโดยอ้างถึงข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ระบุว่า กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตซึ่งจำเลยร่วมอยู่ด้วยได้รับเงินจากแหล่งทุนจากประเทศเดนมาร์กซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ทำให้จำเลยต้องคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อให้นักธุรกิจในประเทศเดนมาร์กสามารถขายเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกได้ นางสาววัชรีตอบว่าไม่เป็นความจริง และย้ำว่าไม่ได้มุ่งเป้าค้านโครงการโรงไฟฟ้าแต่มุงเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงาน
 
“จำเลยไม่ได้เกลียดชังโจทก์เป็นการส่วนตัว หรือเกลียดชังเชื้อเพลิงชนิดใดเป็นพิเศษ แต่การใช้เชื่อเพลิงแต่ละชนิดควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับของชุมชน ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และหลักธรรมาภิบาล” จำเลยกล่าวในตอนหนึ่งของการสืบพยาน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีวันนี้มีผู้มาร่วมฟังการสืบพยานจำนวนมาก โดยมีบุคคลในแวดวงนักสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมด้วย อาทิ นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) และประธาน คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน (กป.อพช.) รวมทั้งนางสาวกรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี ซึ่งเคยต่อสู้โรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่มาให้กำลังใจจำเลยในคดีด้วย
 
สำหรับการพิจารณาคดี ในวันนี้ ทั้งพยานโจทก์และทนายจำเลยต่างซักถามให้ประเด็นคำพูดและข้อมูลที่นางสาววัชรีนำเสนอต่อในรายการโทรทัศน์อย่างละเอียด ทำให้การสืบพยานจำเลยใช้เวลานาน และต้องสืบต่อในช่วงเช้าวันถัดไป
 
29 กันยายน 2554 สืบพยานจำเลยวันที่สอง ณ ห้อง 910 ศาลอาญา รัชดา
 
สืบพยานจำเลยปากแรก วัชรี เผ่าเหลืองทอง เบิกความเป็นพยานให้ตนเองต่อจากวันที่ 28 กันยายน 2554 
 
ทนายโจทก์นำสืบพยานเอกสารซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน สามฉบับ ที่ผู้เขียนระบุว่า นางสาววัชรี เป็นแกนนำชาวบ้านในการต่อต้านโรงไฟฟ้า นางสาววัชรีเบิกความ ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นแกนนำ ไปร่วมในการชุมนุมทุกครั้งในฐานะผู้สังเกตุการณ์ จะช่วยงานเฉพาะที่ชาวบ้านประชุมตกลงกันแล้วชาวบ้านขอมาให้ช่วยเท่านั้น เช่น ช่วยติดต่อนักข่าว แต่ตนไม่ได้ร่วมประชุมหรือตัดสินใจใดๆ ด้วย
 
สำหรับเอกสารที่โจทก์นำสืบนั้น นางสาววัชรี กล่าวว่า เอกสารนั้นไม่ใช่ข่าว แต่เป็นเพียงคอลัมภ์ในหนังสือพิมพ์  สิ่งที่ปรากฏจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้ลงชื่อ นามสกุลจริง ปรากฏเพียงนามปากกาเท่านั้น
 
นอกจากนี้นางสาววัชรี ยังยืนยันว่า ประเด็นต่างๆ ที่ได้พูดในรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล นั้น มุ่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านพลังงานระดับประเทศ ที่อาจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างคณะกรรมการนโยบายพลังงานบางท่านกับบริษัทเอกชนบางแห่ง โดยไม่ได้เจาะจงที่จะให้ร้ายบริษัทโจทก์แต่อย่างใด
 
นางสาววัชรี เบิกความเสร็จในช่วงเช้า และช่วงบ่ายเป็นการสืบพยานจำเลยปากที่สอง ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการที่ร่วมออกรายการ คมชัดลึก พร้อมกับนางสาววัชรี
 
30 กันยายน 2554 สืบพยานจำเลยวันที่สาม (ศาลอาญารัชดา ห้อง 910)
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก เนชั่นชาแนล และพยานจำเลยปากที่สี่ นายประยุทธ แซ่เตียว ชาวบ้านบางคล้า ที่ร่วมออกรายการคมชัดลึกพร้อมกับนางสาววัชรีด้วย
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึกซึ่งออกอากาศทางเนชั่นชาแนล 
 
จอมขวัญเบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า การจัดรายการในวันเกิดเหตุสืบเนื่องจากขณะนั้นมีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าของชาวบ้านบางคล้า โดยใช้หัวข้อ “โรงไฟฟ้าเพื่อใคร” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม จำเป็นต้องมีการพูดคุยเพื่อให้ได้ความรู้ ได้ข้อมูลชุดเดียวกัน และเพื่อเป็นการหาทางออก ทั้งนี้ การเลือกประเด็นเป็นไปตามหลักการของรายการและการทำหน้าที่สื่อมวลชน อีกทั้งมีการติดต่อผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นในทุกด้านมาร่วมสนทนา
ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก กล่าวด้วยว่า การเชิญวัชรี จำเลยในคดีมาร่วมรายการ เนื่องจากเป็นเอ็นจีโอด้านพลังงาน และในรายการ วัชรีนำเสนอความเห็นต่อการดำเนินโครงการขนาดใหญ่โดยเน้นย้ำเรื่องการถามความคิดเห็นของชาวบ้าน และความโปร่งใสในการกำกับดูแลของรัฐ ยกตัวอย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเข้าไปมีตำแหน่งอยู่ในบริษัทเอกชน ย่อมมีการซ้อนทับเรื่องผลประโยชน์ได้ตามหลักการ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าในรายการนางสาววัชรีวิพากษ์วิจารณ์โดยพุ่งเป้าที่กระบวนการตรวจสอบของรัฐว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ โดยใช้บริษัทของโจทก์เป็นกรณีตัวอย่าง
 
จอมขวัญ กล่าวต่อมาว่า การสนทนาในวันดังกล่าวเนื้อหายังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรายการ เพราะขาดผู้เกี่ยวข้องกับประเด็น คือ บริษัทเอกชนเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้า และตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ แม้จะมีการต่อสาย ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  เข้าร่วมพูดคุยในรายการ เพราะควรเป็นการเข้าร่วมรายการเพื่อตอบคำถามประเด็นต่อประเด็นให้ครบถ้วน
 
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว ข้อมูลของนางสาววัชรีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และทุกคนควรวิจารณ์นโยบาย และกระบวนการกำกับดูแลกิจการโดยรัฐได้ไม่ใช่เฉพาะเอ็นจีโอเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย
 
ต่อคำถามซักค้านของทนายโจทก์ถึงหลักการการตรวจสอบ กลั่นกรองคำพูดของผู้ร่วมรายการในรายการสดนางสาวจอมขวัญ ชี้แจงว่า ข้อแรกทางรายการได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นทุกคนเข้าร่วมในการสนทนา แต่เป็นสิทธิที่ผู้ถูกเชิญจะเข้าร่วมหรือไม่ และหากในรายการมีการล้ำเส้นไปเป็นการกล่าวหาที่ก่อความเสียหาย จำเป็นต้องชี้แจงในทันที ผู้ดำเนินรายการจะหยุดประเด็นไว้ เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มาร่วมในรายการ ส่วนหากคำพูดของผู้ร่วมรายการปรากฏในภายหลังว่าเป็นการให้ร้ายผู้อื่น ส่วนตัวเห็นว่าควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งผู้ร่วมรายการ ผู้ดำเนินรายการ และผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่มาร่วมชี้แจงในรายการ
 
หมายเหตุ ไอลอว์ไม่ได้ร่วมสังเกตการณ์การสืบพยานจำเลยปากที่สี่ 
 
1 ธันวาคม 2554 สืบพยานจำเลยวันที่สี่ (ศาลอาญารัชดา ห้อง 910)
 
สืบพยานจำเลยปากที่ห้า รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร พยานจำเลยปากสุดท้าย
 
รสนา ขึ้นเบิกความถึงการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาว่า มีการรับเรื่องร้องเรียนกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ขาดธรรมาภิบาลหลายเรื่องรวมถึงกรณีโรงไฟฟ้าบางคล้าด้วย และกระบวนการหลังจากรับเรื่องแล้วจะมีการศึกษาข้อมูล โดยเชิญผู้มีความรู้ ซึ่งรวมถึงเอ็นจีโอด้านพลังงานมาให้ข้อมูล และมีการตรวจสอบข้อมูลโดยเชิญส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย
 
สำหรับเอกสารที่วัชรีนำไปเผยแพร่ในรายการคมชัดลึกโดยระบุว่าได้มาจากการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นั้น เป็นของนักวิชาการอิสระท่านหนึ่งที่ถูกเชิญมาร่วมพูดคุย โดยเป็นข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
 
รสนากล่าวด้วยว่า จากการอ่านเอกสารถอดเทปรายการคมชัดลึก เห็นว่าสิ่งที่นางสาววัชรีพูดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการในการอนุมัติแผนรับซื้อไฟและข้าราชการที่มีอำนาจในการอนุมัติและทำสัญญา ส่วนการกล่าวถึงบริษัทโจทก์นั้นเป็นเพียงองค์ประกอบการตัดสินใจ และข้อมูลที่นางสาววัชรีนำเสนอในเรื่องการเซ็นต์สัญญารับซื้อไฟทั้งที่ยังไม่ผ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้นเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ข้ามขั้นตอน ขาดธรรมาภิบาล เป็นประเด็นที่กรรมมาธิการฯ จะตรวจสอบต่อไป
 
ประธานคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา กล่าวแสดงความเห็นว่า การพูดออกรายการของนางสาววัชรีนั้นเป็นประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้สาธารณะชนได้เห็น ทำให้หน่วยงานรัฐตระหนักว่ากระบวนการที่ขาดธรรมาภิบาลต้องถูกตรวจสอบจากสังคม
 
รสนา ให้ข้อมูลด้วยว่า จากการศึกษากระบวนการอนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในหลายพื้นที่ ของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า กระบวนการขาดธรรมาภิบาลเนื่องจาก อีไอเออยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แต่การอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟ เป็นเรื่องของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเปิดช่องให้บริษัทเอกชนจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำอีไอเอ โดยมีเงื่อนไขจ่ายเงินค่าจ้าง 50 เปอร์เซ็นต์หลังจากอีไอเอผ่านการอนุมัติ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าขาดความเป็นกลางในการพิจารณา และได้เสนอไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยน
 
นอกจากนี้ การทำสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าที่ผูกติดกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ไม่สอดรับกับกรณีที่มีการตกลงจัดซื้อไฟฟ้าก่อนที่จะบรรจุในแผน โดยพบว่ามีการตกลงล่วงหน้าและเข้าดำเนินการในพื้นที่ก่อนที่อีไอเอจะผ่านการเห็นชอบ ซึ่งนำมาสู่ข้อขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ
 
รสนา ให้ข้อมูลต่อมาว่า ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศไทย มีปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญคือการที่ข้าราชการระดับสูงที่ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เข้าไปดำรงตำแหน่งในบริษัทลูกซึ่งเป็นบริษัทเอกชน หรือบริษัทร่วมทุน โดยที่กฎหมายเปิดช่องให้ ซึ่งตรงนี้ผลตอบแทนจากบริษัทเอกชนที่สูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ จึงทำให้เกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบ
 
ในประเด็นนี้คณะกรรมาธิการได้จัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยได้มีรายงานการศึกษา “เรื่องการศึกษาและตรวจสอบธรรมาภิบาล กรณีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานของรัฐ กับบทบาทกรรมการในบริษัทเอกชนด้านพลังงาน” จัดทำเป็นเอกสารผ่านที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว และถูกส่งไปยังสำนักงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ
 
หลังการสืบพยาน ศาลนัดหมายให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาคดีในวันศุกร์ที่ 20 ม.ค.55 เวลา 9.00 น. ห้อง 912
 
 
 
20 มกราคม 2555 ศาลอาญารัชดา ห้องพิจารณาคดี 912 
 
เวลา 9.00น.ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีที่ บริษัท สยามเอ็นจีเนียริ่ง ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง นักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาท โดยกล่าวในรายการคมชัดลึก ช่องเนชั่นแชนแนล ซึ่งมีนางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้ปิดถนนประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า 
 
บรรยากาศการพิจารณาคดีในวันนี้มีผู้มาให้กำลังใจนางสาววัชรี เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้านที่เคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าจากหลายท้องที่ เช่น อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี อำเภอบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวจากองค์กรต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิบูรณนิเวศ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทำให้บรรยากาศในห้องพิจารณาค่อนข้างแน่น มีผู้เข้าฟังประมาณ 10 คนที่ต้องยืนฟังคำพิพากษาเพราะที่นั่งมีไม่พอ
 
นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง จำเลย เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีด้วยสีหน้ายิ้มแย้มตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. ทนายความฝั่งโจทก์มาศาล ทนายความฝั่งจำเลย คือ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส มาศาล 
 
เวลาประมาณ 9.30 ผู้พิพากษาพร้อมด้วยองค์คณะขึ้นบัลลังก์ ทนายความจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอคัดถ่ายคำพิพากษา ศาลใช้เวลาอ่านและพิจารณาเอกสารที่ยื่นประมาณ 5 นาที แล้วจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา 
 
ในการอ่านคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์ว่า กรณีมูลเหตุคดีนี้เกิดจากการประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ของบริษัทเอกชน ซึ่งปกติเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าเป็นกิจการรัฐ และเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน การเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการและประมูลโครงการ ย่อมเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป และย่อมอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปไม่เฉพาะจำเลยเท่านั้นที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
 
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการประมูลโรงไฟฟ้าบางคล้า มีการตกลงทำสัญญากันโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และยังไม่มีการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 กำหนดไว้ ในวรรคสอง ว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน 
 
เพราะฉะนั้นย่อมทำให้จำเลยที่ 1 และบุคคลทั่วไป เข้าใจได้ว่าการประมูลสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีการดำเนินการผิดขั้นตอน อาจเกิดความไม่โปร่งใสได้ และข้อความที่กล่าวนี้เป็นข้อความเช่นเดียวกับที่ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กล่าวไว้ในรายการคมชัดลึกเช่นกัน  และนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ก็ยอมรับว่าไม่ได้ฟ้อง ดร.ถวิลวดีด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐ เกี่ยวกับการประมูล
 
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการอนุญาตโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก่อนที่จะรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะได้รับอนุมัติ ตามที่ปรากฏในรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน และปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของคณะกรรมการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และมีการขยายระยะเวลาการยื่นรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกไปอีกหลายครั้ง ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือชี้ชวนเข้าร่วมการประมูล จึงก่อให้เกิดความสงสัยแก่ประชาชนทั่วไปได้ได้ว่ากระบวนการอาจมีความไม่โปร่งใส
 
อีกทั้งการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าก็ลดลง เพราะไม่มีความจำเป็นต้องผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ทำให้เป็นทีสงสัยแก่บุคคลทั่วไปว่าทำไมจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้า
 
นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายบุญชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ว่าบิดาของกรรมการของบริษัทโจทก์ท่านหนึ่งมียศเป็นนายพล จึงอาจทำให้เกิดข้อสงสัยกับบุคคลทั่วไปได้ว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอาจเกิดความเกรงใจในการพิจารณาโครงการได้  ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาวรสนา โตสิตระกูล พยานจำเลย และเอกสารของคณะกรรมการวุฒิสภา คำพูดของจำเลยจึงมีความน่าเชื่อถือ คำพูดของจำเลยไม่ได้มีการกล่าวเฉพาะถึงตัวโจทก์ว่าเป็นผู้ทุจริต
 
และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีข้าราชการระดับสูง ในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ บางคนเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโรงไฟฟ้าบางแห่ง ทำให้การวางนโยบายอาจมีลักษณะเอื้อประโยชน์แก่เอกชนมากกว่าได้ และอาจทำให้ประชาชนสงสัยถึงความโปร่งใส
 
ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า คำพูดของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการกล่าวร้ายบริษัทโจทก์ เป็นการพูดในภาพรวม เพื่อวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนโยบายพลังงานตามข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ได้รับทราบมา ซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ คำกล่าวของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 
 
ที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การกระทำของจำเลยทำไปเพราะรับเงินจากบริษัทต่างชาติมาสร้างความเสียหายให้โจทก์ ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ กับจำเลยที่ 1 และบริษัทต่างชาติมีข้อพิพาทกันอยู่แต่อย่างใด
 
การกระทำของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เชิงระบบ เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยประชาชนพึงกระทำโดยสุจริต และไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 พูดข้อเท็จจริงตามคำฟ้องแล้วต่อมามีการยกเลิกสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือการประมูลแต่อย่างใด จึงไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
 

หมายเลขคดีดำ

อ.3151/2552

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

โจทก์ต้องอุทธรณ์ภายใน 19 ก.พ. 55

 

แหล่งอ้างอิง

วัชรี เผ่าเหลืองทอง. ประชาไท. (เข้าถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2556) 

คดีฟ้องนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน หมิ่นประมาทอาญา-แพ่ง 300 ล้าน. iLaw. 22 กันยายน 2554 (เข้าถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2556) 

นัดฟังคำพิพากษา คดีวัชรี เผ่าเหลืองทอง. iLaw. 19 มกราคม 2555 (เข้าถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2556)  

 

10 มิถุนายน 2552 

 
นางสาววัชรี ให้สัมภาษณ์ในรายการคมชัดลึก
 
24 กันยายน2552 
 
โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล (มีการแก้ไขข้อมูลเลขคดีดำจาก 5508/2552 ซึ่งเป็นเลขคดีดำในคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง มาเป็นเลขคดีดำ อ.3151/2552)
 
 
16 ธันวาคม 2553 
 
ศาลอาญามีคำสั่งรับฟ้อง วัชรี เผ่าเหลืองทอง (จำเลยที่หนึ่ง) และ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก ทางเนชั่นชาแนล (จำเลยที่สอง) ในความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ 5508/2552
 
ทั้งนี้ ศาลวินิจฉัยให้ยกฟ้องจำเลยที่สอง เพราะเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจัดรายการสดเกี่ยวกับการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า ศาลให้เหตุผลในการยกฟ้องว่า การตั้งคำถามของจำเลยที่สอง สืบเนื่องจากการประท้วงซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน ตามที่เป็นข่าวทั่วไป เมื่อจำเลยที่หนึ่ง ตอบคำถาม จำเลยที่สอง ก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความที่จำเลยที่หนึ่ง ตอบคำถาม จากนั้นจึงเป็นการตั้งคำถามต่อเนื่องไปยังผู้ร่วมรายการอื่น มิได้เป็นเพียงการสนทนาของจำเลยที่หนึ่ง และจำเลยที่สอง ประเด็นคำถามต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบทั้งที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นข้อกังวลของผู้ร่วมรายการ และความโปร่งใสในการประมูล จึงเป็นการทำหน้าที่ของจำเลยที่สองในฐานะสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอรายละเอียดต่อสาธารณชน จึงไม่มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อาศัยเหตุดังที่วินิจฉัยแล้ว จึงยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่สอง
 
31 มกราคม 2554 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
22 กันยายน 2554 
 
สืบพยานโจทก์
สืบพยานโจทก์นัดแรก
บุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาโจทก์ ขึ้นเบิกความ โดยยืนยันถ้อยคำที่เคยให้ไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์เห็นว่า วัชรีใส่ความโจทก์ในรายการคมชัดลึก โดยกล่าวหาว่าบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ใช้อิทธิพลของผู้บริหารบริษัทวิ่งเต้นเพื่อให้ได้สัมปทาน ซึ่งเป็นการกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริง
 
23 กันยายน 2554 
 
สืบพยานโจทก์นัดที่สอง
โจทก์นำพยานเข้าสืบสองปาก คือ ดลฤดี ไชยสมบัติ และ รังสิมา พักเกาะ
 
27 กันยายน 2554 
 
สืบพยานโจทก์นัดที่สาม
โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานต่อ หมดพยานโจทก์ ยกเลิกการนัดสืบพยานในวันนี้
 
28 กันยายน 2554 
 
สืบพยานจำเลยปากแรก วัชรี เผ่าเหลืองทอง ขึ้นให้การเป็นพยานให้ตนเอง
 
29 กันยายน 2554 
 
สืบพยานจำเลยปากแรก วัชรี เผ่าเหลืองทอง ต่อจากวันที่ 28 กันยายน 2554และสืบพยานจำเลยปากที่สอง ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการที่ร่วมออกรายการ คมชัดลึก พร้อมกับนวัชรี
 
30 กันยายน 2554 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก เนชั่นชาแนล และปากที่สี่  ประยุทธ แซ่เตียว ชาวบ้านบางคล้า ผู้ร่วมออกรายการคมชัดลึกพร้อมกับวัชรีด้วย
ประยุทธ แซ่เตียว ชาวบ้านบางคล้าซึ่งมาเบิกความต่อศาล ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การพูดคุยในรายการคมชัดลึก ชาวบ้านได้ร่วมให้ข้อมูลถึงเหตุผลการชุมนุมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ว่าอาจทำให้ชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้และจะกระทบต่อวิถีชีวิต โดยการคัดค้านโครงการดังกล่าวมีมาก่อนที่จะพบกับนางสาววัชรี และการพูดคุยในรายการเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการของรัฐที่อาจเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนที่ธุรกิจด้านพลังงาน
 
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ หลังจากย้ายโครงการโรงไฟฟ้าไปก่อสร้างยังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา นายประยุทธ ให้ข้อมูลว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้ให้คนงานนำเครื่องจักรเข้าไปปรับสภาพพื้นที่ในที่ดินกว่า 500 ไร่ที่ซื้อไว้สำหรับทำโรงไฟฟ้า และทราบว่ามีความต้องการที่จะทำรั้วล้อมรอบพื้นที่ จากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าได้เปิดให้เช่าพื้นที่ทำนา ทำให้ชาวบ้านต้องคอยเฝ้าระวังดูสถานการณ์ เพราะที่ดินเป็นของโรงไฟฟ้า แม้โครงการเก่าจะย้ายไป แต่จะประมูลใหม่วันไหนชาวบ้านก็ไม่รู้
 
1 ธันวาคม 2554 
 
สืบพยานจำเลยปากที่ห้า รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร
 
20 มกราคม 2555 
 
ศาลนัดฟังคำพิพากษา
ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่หนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า การประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน ย่อมเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป และย่อมอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปไม่เฉพาะจำเลยเท่านั้นที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้  คำพูดของจำเลยที่หนึ่ง ไม่เป็นการกล่าวร้ายบริษัทโจทก์ เป็นการพูดในภาพรวม เพื่อวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนโยบายพลังงานตามข้อมูลที่จำเลยที่หนึ่ง รับทราบมา ซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย
 
2 ตุลาคม 2556
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์
 
 
 
 

คำพิพากษา

วันที่ 20 มกราคม 2555 ศาลอาญารัชดา ห้องพิจารณาคดี 912 เวลา 9.00น.ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่ บริษัท สยามเอ็นจีเนียริ่ง ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง นักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาท โดยกล่าวในรายการคมชัดลึก ช่องเนชั่นแชนแนล ซึ่งมีนางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้ปิดถนนประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า
 
บรรยากาศการพิจารณาคดีในวันนี้มีผู้มาให้กำลังใจนางสาววัชรี เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้านที่เคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าจากหลายท้องที่ เช่น อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี อำเภอบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวจากองค์กรต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิบูรณนิเวศ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทำให้บรรยากาศในห้องพิจารณาค่อนข้างแน่น มีผู้เข้าฟังประมาณ 10 คนที่ต้องยืนฟังคำพิพากษาเพราะที่นั่งมีไม่พอ
 
นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง จำเลย เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีด้วยสีหน้ายิ้มแย้มตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. ทนายความฝั่งโจทก์มาศาล ทนายความฝั่งจำเลย คือ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส มาศาล
 
เวลาประมาณ 9.30 ผู้พิพากษาพร้อมด้วยองค์คณะขึ้นบัลลังก์ ทนายความจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอคัดถ่ายคำพิพากษา ศาลใช้เวลาอ่านและพิจารณาเอกสารที่ยื่นประมาณ 5 นาที แล้วจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา
 
ในการอ่านคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์ว่า กรณีมูลเหตุคดีนี้เกิดจากการประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ของบริษัทเอกชน ซึ่งปกติเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าเป็นกิจการรัฐ และเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน การเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการและประมูลโครงการ ย่อมเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป และย่อมอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปไม่เฉพาะจำเลยเท่านั้นที่จะสามารถ วิพากษ์วิจารณ์ได้
 
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการประมูลโรงไฟฟ้าบางคล้า มีการตกลงทำสัญญากันโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และยังไม่มีการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 กำหนดไว้ ในวรรคสอง ว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน
 
เพราะฉะนั้นย่อมทำให้จำเลยที่ 1 และบุคคลทั่วไป เข้าใจได้ว่าการประมูลสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีการดำเนินการผิดขั้นตอน อาจเกิดความไม่โปร่งใสได้ และข้อความที่กล่าวนี้เป็นข้อความเช่นเดียวกับที่ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กล่าวไว้ในรายการคมชัดลึกเช่นกัน  และนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ก็ยอมรับว่าไม่ได้ฟ้อง ดร.ถวิลวดีด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐ เกี่ยวกับการประมูล
 
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการอนุญาตโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก่อนที่จะ รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะได้รับอนุมัติ ตามที่ปรากฏในรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน และปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของคณะกรรมการคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน และมีการขยายระยะเวลาการยื่นรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกไปอีกหลาย ครั้ง ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือชี้ชวนเข้าร่วมการประมูล จึงก่อให้เกิดความสงสัยแก่ประชาชนทั่วไปได้ได้ว่ากระบวนการอาจมีความไม่ โปร่งใส
 
อีกทั้งการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าก็ลดลง เพราะไม่มีความจำเป็นต้องผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ทำให้เป็นทีสงสัยแก่บุคคลทั่วไปว่าทำไมจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้า
 
นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายบุญชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ว่าบิดาของกรรมการของบริษัทโจทก์ท่านหนึ่งมียศเป็นนายพล จึงอาจทำให้เกิดข้อสงสัยกับบุคคลทั่วไปได้ว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอาจเกิดความเกรงใจในการพิจารณาโครงการได้  ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาวรสนา โตสิตระกูล พยานจำเลย และเอกสารของคณะกรรมการวุฒิสภา คำพูดของจำเลยจึงมีความน่าเชื่อถือ คำพูดของจำเลยไม่ได้มีการกล่าวเฉพาะถึงตัวโจทก์ว่าเป็นผู้ทุจริต
 
และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีข้าราชการระดับสูง ในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ บางคนเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโรงไฟฟ้าบางแห่ง ทำให้การวางนโยบายอาจมีลักษณะเอื้อประโยชน์แก่เอกชนมากกว่าได้ และอาจทำให้ประชาชนสงสัยถึงความโปร่งใส
 
ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า คำพูดของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการกล่าวร้ายบริษัทโจทก์ เป็นการพูดในภาพรวม เพื่อวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนโยบายพลังงานตามข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ได้รับทราบมา ซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ คำกล่าวของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ
 
ที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การกระทำของจำเลยทำไปเพราะรับเงินจากบริษัทต่างชาติมาสร้างความเสียหายให้ โจทก์ ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ กับจำเลยที่ 1 และบริษัทต่างชาติมีข้อพิพาทกันอยู่แต่อย่างใด
 
การกระทำของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เชิงระบบ เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยประชาชนพึงกระทำโดยสุจริต และไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 พูดข้อเท็จจริงตามคำฟ้องแล้วต่อมามีการยกเลิกสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือ การประมูลแต่อย่างใด จึงไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
 
อ่านคำพิพากษาเสร็จ เวลาประมาณ 10.05 น.

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

นพวรรณ: เบนโตะ

ดา ตอร์ปิโด