ก้านธูป

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

ไม่เปิดเผยชื่อ

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.ท. แบ๊งค์ บัวนวล พงส. (สบ.3) สน.บางเขน ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ทำหน้าที่สอบสวน และทำสำนวนส่งอัยการ ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าใครเป็นผู้กล่าวโทษคดีนี้ต่อพนักงานสอบสวน แต่ปรากฏความพยายามของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และกลุ่มยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม ที่เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับผู้ต้องหารายนี้

สารบัญ

เยาวชนคนหนึ่ง แสดงความคิดเห็นตามเว็บบอร์ดด้วยนามแฝง "ก้านธูป" เธอถูกเว็บไซต์ผู้จัดการตีแผ่ชื่อจริง นามสกุล และภาพถ่าย กล่าวหาว่ามีแนวคิดล้มล้างสถาบัน ถูกมหาวิทยาลัยสามแห่งปฏิเสธสิทธิเข้าเรียน ถูกสังคมเพื่อนในสถาบันการศึกษากดดัน จนสุดท้ายได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวด้วยข้อหา มาตรา112

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ก้านธูป เป็นนามแฝงของผู้ถูกกล่าวหาที่ใช้ในการเล่นเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่สนใจติดตามข่าวสารการเมืองจะรู้จักเธอด้วยนามแฝงนี้มากกว่าชื่อจริงของเธอ เดิมเธอใช้ชื่อนามสกุลจริงชื่อหนึ่ง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนทั้งชื่อนามสกุลเป็นอีกชื่อหนึ่งแล้วหลังถูกคุกคาม และรู้สึกไม่ปลอดภัย

 
ก้านธูปเริ่มแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในปี 2550 ขณะกำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ผ่านการเป็นสมาชิกเว็บบอร์ด ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นกระดานสนทนาของวารสารทางการเมืองเชิงวิพากษ์รายหนึ่งของไทย โดยใช้นามแฝง ข้อความซึ่งเธอแสดงความคิดเห็นไว้ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ถูกเว็บบอร์ดซึ่งมีทัศนคติทางการเมืองเชิงอนุรักษ์นิยม เช่น เสรีไท และผู้จัดการ โจมตีว่ามีความคิดล้มล้างสถาบันมาโดยตลอด
 
ด้านทัศนคติและการร่วมกิจกรรมทางการเมือง ก้านธูปเป็นสมาชิกของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย League of Liberal Thammasat for Democracy (LLTD) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองอิสระในมหาวิทยาลัย ที่ระดมทุนทำกิจกรรมทางการเมืองโดยไม่ขอรับงบประมาณจากสภานักศึกษาของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในช่วงปี 2550 -2554 ก้านธูปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เช่น
ร่วมรณรงค์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คมช. ปี 2550
เข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. ช่วงเมษายน 2552  โดยมีโอกาสขึ้นเวทีปราศรัยที่ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2552 เนื่องจากได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเรียงความในหัวข้อ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของมูลนิธิ 14 ตุลา 
เข้าร่วมชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม ช่วงเมษา-พฤษภาคม 2553 และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ สลายการชุมนุม
เข้าร่วมงานเสวนา เสนอแก้กฎหมายหมิ่น ของกลุ่มนิติราษฏร์ และ Article 112 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2554
เข้าร่วมงาน ดนตรี สันติภาพ ไร้พรมแดน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ที่อนุสรณ์สถาน14ตุลา
เข้าร่วมกิจกรรมแจกสติ๊กเกอร์ ไม่เอา 112 ในวันที่ 19 มีนาคม 2554
ลงชื่อคัดค้าน พรบ.ควบคุมการชุมนุม
เยี่ยมนักโทษการเมือง/ผู้ต้องหาคดี 112  โจ ก. อากง  สมยศ พฤกษาเกษมสุข  (กิจกรรมใหญ่ เลี้ยงอาหารเพื่อนักโทษการเมืองทุกวันศุกร์ของสัปดาห์) ร่วมกับกลุ่มเพื่อนนักโทษการเมืองอย่างต่อเนื่อง
เป็นหนึ่งในคณะทำงาน จัดงานรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 35 ปี 6 ตุลาคม 2519 เมื่อวันที่ 4-6ตุลาคม 2554
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ก้านธูป ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คของตัวเอง ในช่วงเวลาที่เธออายุประมาณ 16-17 ปี เป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท ต่อเนื่องหลายข้อความ โดยข้อความที่เจ้าพนักงานยกมาเป็นข้อกล่าวหามีประมาณ 20 ข้อความที่โพสต์ลงต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ไม่มีข้อความใดที่มีการเอ่ยถึงพระนามหรือเจาะจงว่าเป็นการกล่าวให้ร้ายหรือมีวัตถุประสงค์ไม่ดีต่อบุคคลใด

พฤติการณ์การจับกุม

ยังไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลื่อนนัดรายงานตัว

http://prachatai.com/journal/2012/02/39193http://prachatai.com/journal/2012/02/39193

 

บทความเรื่อง ธรรมศาสตร์ในวันที่อ้าแขนรับ "ก้ามธูป" จากผู้จัดการออนไลน์

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9540000164520
 

 

มกราคม 2553 
ก้านธูปสร้างเฟซบุ๊คส่วนตัวโดยใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงขณะนั้น โพสต์ข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสังคม 
 
เมษายน 2553 
มีการเผยแพร่ Forward Mail โจมตีว่า ก้านธูปโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเฟซบุ๊คดังกล่าว
 
พฤษภาคม 2553 
ก้านธูปผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อที่ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เนื่องจากมีกระแสกดดันจากสังคม เธอถูกปฏิเสธให้เข้ารับการศึกษา โดยรองคณบดี คณะอักษรศาสตร์แถลงว่า ก้านธูปมีความคิดเป็นอันตราย ผิดหลักการแห่งประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาในปีเดียวกันก้านธูปผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อที่คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  แต่เนื่องจากกระแสโจมตีในอินเทอร์เน็ตมีความรุนแรงถึงขั้นที่มีการประกาศระดมพลต่อต้านในมหาวิทยาลัย และในวันนัดหมายการสอบสัมภาษณ์ มีผู้ชุมนุมนับสิบคนพร้อมป้ายต่อต้านไปรอเธออยู่ด้านหน้าห้องสัมภาษณ์ ก้านธูปจึงตัดสินใจสละสิทธิ์เข้ารับการสัมภาษณ์ เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตราย
 
24 พฤษภาคม 2553
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการตีพิมพ์ ข้อมูลที่ก้านธูปถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้ารับการศึกษาที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งชื่อ นามสกุล รูปถ่ายและข้อมูลส่วนตัว และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา112 ขณะนั้น มีกลุ่มคนหลายกลุ่มพยายามไล่ล่าค้นหาตัว ด้วยการตามไปที่บ้าน บางกลุ่มก็อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เพื่อนบ้านปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล 
 
มิถุนายน 2553
ก้านธูปเปลี่ยนชื่อ นามสกุล และยุติการทำกิจกรรมทางการเมือง จนผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แต่เมื่อไปเข้าสอบสัมภาษณ์ อาจารย์ผู้ตัดสินก็เชิญออกนอกห้อง และให้ไปรอฟังผลการสัมภาษณ์ที่บ้าน ซึ่งเธอไม่ผ่านการสัมภาษณ์และไม่ได้รับสิทธิเข้าศึกษา
 
ปี 2554
ก้านธูปใช้ชื่อนามสกุลใหม่ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง เธอผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งและผ่านการสอบสัมภาษณ์ ได้เข้ารับการศึกษามาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กำลังศึกษา มีกลุ่มคนต่อต้าน โจมตี ข่มขู่ คุกคามและทำร้ายร่างกายมาโดยตลอด              
 
13 มิถุนายน 2554
วันแรกของการเปิดภาคเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาได้เรียกพบ และแจ้งให้ทราบว่ามีนักศึกษาชั้นปีที่ 2-3 รวมกลุ่มต่อต้านและยื่นหนังสือให้ทางคณะถอดถอนสภาพการเป็นนักศึกษา รวมถึงมีคนจำนวนมากส่งอีเมล์และจดหมายร้องเรียนมายังมหาวิทยาลัยกรณีที่ได้รับสิทธิ์การเข้าศึกษาต่อ หลังจากนั้น ก้านธูปได้พบรองคณบดี และคณบดี ที่แสดงความเป็นห่วงในสวัสดิภาพ ความปลอดภัยเนื่องจากมีกระแสต่อต้านออกมาโดยตลอด
 
ก้านธูปเล่าว่า การใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัย หลายๆครั้งมีคนจำได้ บางรายเข้ามาต่อว่าโดยตรง บางครั้งก็ไล่ออกนอกประเทศ ที่ร้ายแรงที่สุดคือ มีคนปารองเท้าใส่ ขณะที่นั่งทำงานอยู่กับกลุ่มเพื่อน
 
25 ตุลาคม 2554
มีหมายเรียกผู้ต้องหาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เดินทางไปรับทราบและชี้แจงข้อกล่าวหาในคดี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 ที่สถานีตำรวจนครบาล บางเขน แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้พื้นที่ของสน.บางเขนถูกน้ำท่วม ไม่สามารถเดินทางไปตามที่กำหนดได้ และตัวก้านธูปเองก็อยู่บ้านที่ต่างจังหวัดยังไม่สะดวกเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ก้านธูปจึงโทรศัพท์ไปขอเลื่อนการรายงานตัวออกไปเป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 
 
27 พฤศจิกายน 2554
ใกล้กำหนดนัดรายงานตัวแต่สถานการณ์น้ำท่วมก็ยังไม่คลี่คลาย อีกทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งถูกน้ำท่วมก็เลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 9 มกราคม 2555 ก้านธูปจึงติดต่อไปยังพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดี เพื่อขอเลื่อนวันเข้ารายงานตัวอีกครั้ง เป็นวันที่ 11 มกราคม 2555 
 
26 ธันวาคม 2554
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่บทความกล่าวหาก้านธูปกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุลจริง รวมถึงรหัสนักศึกษา คณะ และมหาวิทยาลัยที่สังกัดอยู่อีกครั้งหนึ่ง
 
3 มกราคม 2555
อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หนึ่งในผู้ซึ่งถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 เผยแพร่ข้อมูล การเลื่อนวันรายงานตัวตามหมายเรียกผู้ต้องหาของก้านธูป ก่อให้เกิดกระแสสังคมต่อต้านและกดดันตามมามากมาย ประกอบกับก้านธูปติดพันการสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ซึ่งเลื่อนมาจากสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้เธอโทรศัพท์ไปขอเลื่อนการเข้ารายงานตัวกับเจ้าพนักงานออกไปเป็นครั้งที่สามในวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555
 
10 กุมภาพันธ์ 2555
พ.ต.ท. แบ๊งค์ บัวนวล พนักงานสอบสวน สน.บางเขน ผู้รับผิดชอบคดี แจ้งกับผู้ต้องหา “ก้านธูป” ว่า ให้เลื่อนการรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากทางตำรวจอาจจะตัดสินใจไม่สั่งฟ้องจำเลย เพราะพยานหลักฐานอาจไม่เพียงพอในการระบุตัวผู้กระทำความผิด
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา