เจ๋ง ดอกจิก : ปราศรัยบนเวที นปช. ปี 2553

อัปเดตล่าสุด: 04/06/2564

ผู้ต้องหา

ยศวริศ ชูกล่อม

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2554

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

วันที่ 29 มีนาคม 2553 ยศวริศ หรือเจ๋งดอกจิกปราศรัยบนเวที นปช.ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน  โดยตอนหนึ่งของการปราศรัยเจ๋งพูดประกอบท่าทางในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงถูกดำเนินคดี

เบื้องต้นเจ๋งให้การรับสารภาพแต่ภายหลังเปลี่ยนใจให้การปฏิเสธและขอสู้คดี การสืบพยานคดีนี้มีหกนัดใช้เวลาตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2555

ในเดือนมกราคม 2556 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเจ๋งเป็นเวลาสองปีโดยไม่รอลงอาญา เจ๋งอุทธรณ์คดีและได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์โดยวางเงินประกัน 500,000 บาท

วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุกเจ๋งเป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เจ๋งขอประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นฎีกา อย่างไรก็ตามศาลชั้นต้นไม่พิจารณาคำร้องของเจ๋ง และส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ระหว่างรอคำสั่งจากศาลฎีกาเจ๋งถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ   

ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเจ๋งเพราะเจ๋งยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาและยังไม่ได้ยื่นฎีกา จึงมีเหตุเชื่อว่าจำเลยน่าจะหลบหนี เจ๋งถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 23 กันยายน 2557 จึงได้รับการปล่อยตัวหลังศาลฎีกาอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นฎีกาโดยวางเงินประกัน 700,000 บาท

ในวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ศาลฎีกานัดเจ๋งฟังคำพิพากษาแต่ปรากฎว่าในวันเวลานัดไม่มีคู่ความฝ่ายใดมาศาล เมื่อศาลทำการตรวจสอบพบว่าหมายที่ส่งไปให้จำเลยไม่มีผู้รับ ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาใหม่เป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ต่อมาในวันนัดเจ๋งไม่มาศาลแต่ให้ทนายมาแจ้งกับศาลว่าไม่สบายขอให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปก่อน ศาลนัดวันใหม่เป็นวันที่ 7 มีนาคม 2560  

 

  

 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ยศวริศหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ เจ๋ง ดอกจิก แนวร่วมคนสำคัญของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนักแสดงตลก เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2501 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเดิมว่า ประมวล ชูกล่อม จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตผู้ช่วยเลขานุการ นายฐานิสร์ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ก่อนหน้านี้เจ๋งเคยทำงานที่ทำการไปรษณีย์ย่านสามแยกไฟฉายในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จากนั้นผันตัวเองไปเป็นนักแสดงตลกในค่าเฟ่ แต่ไม่ประสบความผล จึงหันเข้าสู่แวดวงการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ด้วยการเป็นคนสนิทของทีมงานรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และเคยเข้าแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้ ตอน การเมืองไทย ด้วย 
 
ในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2548 มีความพยายามจะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสังกัดพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ที่เขต 4 จังหวัดสุราษฎร์ธานี บ้านเกิดของตัวเอง แต่ไม่ถูกเลือก จึงย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทย (ชท.) แทน แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2550 ก็ลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้งที่จังหวัดนนทบุรี สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งอีก 
 
ในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่าจ้าง ผู้สมัครให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคการเมืองขนาดเล็กที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหลักฐานหนึ่งนำไปสู่คดียุบพรรคไทยรักไทยในที่สุด 
ในเหตุการณ์มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ตกเป็นข่าวว่าเป็นผู้ยึดเรือบริจาคและทำกิริยาไม่เหมาะสมต่อสื่อมวลชนถึงศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลืออุทกภัย (ศปภ.) จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว
 
ในกลางปี พ.ศ. 2555 เจ๋งถูกตัดสินจำคุกจากการยื่นฟ้องของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์และชื่อที่อยู่ของศาลรัฐธรรมนูญ ในที่ชุมนุม ซึ่งผิดเงื่อนไขของการปล่อยตัวจากคดีการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ. 2553 แต่ได้ถูกประกันตัวออกมาจากการยื่นขอของกรุณา มอริส ภรรยาที่เป็นนักแสดง ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 600,000 บาท
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

29 มีนาคม 2553 ยศวริศหรือเจ๋ง ดอกจิก ขึ้นปราศรัยบนเวที นปช.บริเวณสะพานผ่านฟ้า ระหว่างการปราศรัยเจ๋งพูดและทำท่าทางประกอบในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.2740/2553

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

การสืบพยานฝ่ายโจทก์จะมีขึ้นในวันที่ 30-31 ต.ค. 2555 เวลา 09.00 น. ส่วนการสืบพยานฝ่ายจำเลยจะมีขึ้นในวันที่ 27-28 พ.ย. และวันที่ 11–12 ธ.ค. 2555

แหล่งอ้างอิง

จำคุก 'เจ๋ง ดอกจิก' 3 ปี คดี 112 ลดโทษเหลือ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา  (เข้าถึงเมื่อ 17 มกราคม 2556)

'เจ๋ง ดอกจิก'ถูกหวยนอนคุกยาว ฎีกา'กลัวหนี'ยกคำร้องประกันตัว, แนวหน้า วันที่ 6 พฤษภาคม 2557 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557)

ภาพ cover นำมาจากเว็บไซต์ประชาไทซึ่งนำมาจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ เจ๋ง ดอกจิก http://prachatai.com/journal/2016/12/69137

2 สิงหาคม 2554

ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก เจ๋ง ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 สิงหาคม 2554

29 สิงหาคม 2554 
 
เจ๋งป่วยไม่มาศาล แจ้งเหตุท้องเสียรุนแรง ต่อมาเจ๋งกลับคำให้การและขอต่อสู้คดี
 
27 กุมภาพันธ์ 2555 
 
ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน เจ๋ง ดอกจิก ยังคงยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมแถลงขอสืบพยานจำนวน 20 ปาก  ด้านอัยการโจทก์ แถลงเตรียมพยานนำสืบรวม 16 ปาก
 
30-31 ตุลาคม 2555 นัดสืบพยานโจทก์
 
27-28 พฤศจิกายน 2555 นัดสืบพยานจำเลย
 
11-12 ธันวาคม 2555 นัดสืบพยานจำเลย
 
17 มกราคม 2556
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เวลา 9.40 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญานัดเจ๋งฟังคำพิพากษา
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคำพูดดังกล่าวหมายถึงใครนั้นจำเป็นต้องพิจารณาจากท่าทางประกอบด้วย แม้จำเลยจะบอกว่า ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร แต่การที่จำเลยแสดงท่าทางด้วยการเอามือปิดปากตนเองนั้น เป็นการสื่อให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่สูงส่งยิ่ง เพราะแม้จำเลยจะกล่าวปราศรัยโจมตีอภิสิทธิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่มีการแสดงท่าทางดังกล่าว
 
นอกจากนี้ พล.อ.เปรม ยังเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการแต่อย่างใด คำพูดที่ว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังเปรมนั้นจึงไม่อาจมองได้ว่าหมายถึงบุคคลอื่นได้ การที่จำเลยแสดงท่าทางไม่กล้าพูดนั้น ไม่สามารถมองเป็นบุคคลอื่นใดได้ นอกจากพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ประสงค์ให้อภิสิทธิ์ยุบสภา ซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเสื่อมเสีย คำอ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟัง อีกทั้งในการปราศรัยดังกล่าวไม่มีการปราศรัยเรื่องเพศ หรือเรื่องส่วนตัวของ พล.อ.เปรม แต่อย่างใด
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุกสามปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกสองปี หลังศาลมีคำพิพากษา เจ๋งขอประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์โดยใช้เงินสด 500,000 บาท
 
ในเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวเจ๋งเป็นการชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า ระหว่างการสู้คดีจำเลยเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วและไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
 
1 พฤษภาคม 2557

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ที่ศาลอาญารัชดา เวลา 9.30 น. ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดีของเจ๋ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาจำเลยยื่นขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกา แต่ศาลอาญาสั่งให้ส่งเรื่องการประกันตัวให้ศาลฎีกาพิจารณา เจ๋งจึงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพุ

6 พฤษภาคม 2557

คมชัดลึกออนไลน์รายงานว่า ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องขอประกันตัวของเจ๋งโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาและยื่นฎีกา จึงมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราว จำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 

22 กันยายน  2557

มติชนออนไลน์รายงานว่า วิญญัติ  ชาติมนตรี ทนายจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช. เปิดเผยว่า  ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวเจ๋งระหว่างพิจารณาคดีในชั้นฎีกาแล้ว โดยวางเงินประกัน 700,000 บาทโดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆเพิ่มเติม

23 กันยายน 2557

มติชนออนไลน์รายงานว่า เจ๋งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเวลาประมาณ 20.20 น. โดยมีคนในครอบครัว แกนนำ และคนเสื้อแดงบางส่วนมารอรับที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 

7 ตุลาคม 2559

นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า ศาลฎีกานัดเจ๋งฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลรอคู่ความจนถึงเวลา 10.00 น. ปรากฎว่าไม่มีฝ่ายใดมาศาล ต่อมาศาลได้รับแจ้งว่าหมายนัดที่ส่งทางไปรษณีย์ไม่ถึงจำเลย ศาลจึงให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาฎีกาออกไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2559เวลา 09.00 น.
 
15 ธันวาคม 2559 
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
 
เจ๋งไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลอาญาตามนัด แต่ให้ทนายมาแจ้งว่าไม่สบาย ขอให้ศาลเลื่อนนัดออกไปอีกหนึ่งนัด ศาลนัดเจ๋งฟังคำพิพากษาใหม่วันที่ 7 มีนาคม 2560  
 
7 มีนาคม 2560
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
 
ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญารัชดา ศาลนัดยศวริศหรือ "เจ๋ง ดอกจิก" ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาเก้านาฬิกาเศษและอ่านคำพิพากษาคดีอื่นก่อน โดยยศวริศมาถึงห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.30 น. หลังอ่านคำพิพากษาคดีอื่นจบผู้พิพากษาขอตัวออกไปนอกห้องพิจารณาก่อนจะกลับเข้ามาอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 10.00 น. โดยมีผู้พิพากษาอาวุโสอีกท่านหนึ่งเข้ามาในห้องพิจารณาคดีด้วย
 
ในการอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาอาวุโสเป็นผู้อ่านโดยคำพิพากษาสรุปได้ว่า แม้จำเลยจะไม่ได้เอ่ยพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในการปราศรัย แต่พยานโจทก์หลายคนเบิกความยืนยันคำพูดและท่าทางของจำเลยทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงพระองค์ จึงเป็นความผิดตามกฎหมาย ที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานต่ำหรือรอลงอาญาศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กำหนดโทษจำเลยต่ำที่สุดเท่าที่กฎหมายกำหนดแล้วทั้งยังลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามด้วย จึงพิพากษายืน ให้จำคุกเป็นเวลาสามปีโดยลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือจำคุกสองปี

6 กุมภาพันธ์ 2561

ยศวริศได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังรับโทษจำคุกจนครบกำหนด

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยกล่าวปราศรัยบนเวทีของกลุ่มนปช บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ผ่านเครื่องขยายเสียง มีการติดตั้งจอภาพและลำโพงเพื่อให้ประชาชนรับชมการปราศรัย ข้อความตอนหนึ่งของการปราศรัยสื่อไปในทำนองว่า เหตุที่การยุบสภาของนายอภิสิทธิ์ทำได้ยากมีหลายปัจจัย รวมทั้งพล.อ.เปรม และผู้อยู่เบื้องหลังพล.อ.เปรม จำเลยยังใช้คำพูดและท่าทางประกอบที่ทำให้ตีความไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้

ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย มีว่า คำฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา112  หรือไม่ จำเลยต่อสู้ว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทจะครบองค์ประกอบต่อเมื่อผู้ใส่ความระบุตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ หรือต้องฟังแล้วได้ความว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงบุคคลใด เมื่อพิจารณาจากข้อความตามฟ้อง บุคคลที่ได้ยินหรือได้ฟังไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงถือได้ว่าคำฟ้องไม่ได้เอ่ยถึงตัวบุคคลที่ถูกใส่ความ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาท จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์

ข้อนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยบรรยายถึงวัน เวลา และสถานที่ที่กล่าวหาว่าจำเลยทำความผิด รวมทั้งการกระทำทั้งหลายที่จำเลยได้ทำ โดยโจทก์บรรยายถึงถ้อยคำที่จำเลยปราศรัยในเวทีการชุมนุม ที่มีผู้ชุมนุมจำนวนมากซึ่งเป็นบุคคลที่สาม นั่งฟังผ่านเครื่องขยายเสียง โดยถ้อยคำปราศรัยของจำเลยสามารถทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ เพราะมีการพูดในถึง พล.อ.เปรมและบุคคลที่อยู่เบื้องหลังพล.อ. เปรม คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงครบถ้วนถูกต้อง

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวตามฟ้องเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าข้อความที่จำเลยกล่าวตามฟ้องไม่ได้ระบุหรือกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต่อสู้ว่าพยานโจทก์เบิกความโดยมีอคติทางการเมือง หรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

ข้อนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ระหว่างการปราศรัย จำเลยเอ่ยชื่อและปราศรัยโจมตี พลเอกเปรม ประธานองคมนตรี นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. อย่างรุนแรงโดยไม่มีความเกรงกลัว การที่จำเลยไม่เอ่ยชื่อบุคคลที่อยู่เบื้องหลังพล.อ.เปรม และทำท่าประกอบเหมือนพูดไม่ได้ ย่อมแสดงว่าบุคคลนั้นมีสถานะสูงกว่าพล.อ.เปรม ทำให้จำเลยไม่กล้าเอ่ยชื่อ นอกจากนี้ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้แต่งตั้งพล.อ.เปรมเป็นประธานองคมนตรี เมื่อพิจารณาจากข้อความตามฟ้องที่จำเลยอ้างว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังพล.อ.เปรมและท่าทางประกอบที่จำเลยแสดง ทำให้ตีความได้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังพลเอกเปรมคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นการใส่ความและทำให้คนเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายของจำเลย และทรงถูกเกลียดชัง

แม้พย่านโจทก์จะเป็นเพียงพยานความเห็นความเห็น แต่ไม่มีหลักฐานใดชี้ว่ามีการเตรียมการเพื่อปรักปรำจำเลยมาก่อน พยานทุกคนต่างเบิกความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจและไม่ปรากฎว่ามีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด และได้เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเสมอมานั้น เห็นว่า การจะพิจารณาว่าจำเลยจงรักภักดีหรือไม่เพียงใด ไม่สามารถพิจารณาจากคำกล่าวอ้างถึงกิจกรรมที่จำเลยเคยทำในอดีตโดยลำพัง แต่ต้องพิจารณาควบคู่กับพฤติการณ์ของจำเลยในปัจจุบันว่ายังคงมีความจงรักภักดีเสมอต้นเสมอปลายหรือไม่ หากจำเลยมีความจงรักภักดีจริง ย่อมไม่กล่าวปราศรัยหรือแสดงพฤติการณ์ดังที่เกิดในคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น  

ที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ รัฐและปวงชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์ไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ไม่เพียงเท่านั้น แม้ในความรู้สึกนึกคิด ประชาชนชาวไทยก็ถวายความเคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์มาแต่โบราณกาล หามีผู้ใดกล้ากล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกินให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทไม่ การที่จำเลยกล่าววาจาหมิ่นประมาทใส่ความ ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกเกลียดชัง จึงสมควรรถูกลงโทษไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษนั้นชอบแล้ว 

พิพากษายืนให้จำคุกจำเลยเป็นเวลาสองปีโดยไม่รอลงอาญา  

 

คำพิพากษาศาลฎีกา 
 
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมคดีแล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งรับฟังได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งองคมนตรีและทรงแต่งตั้งพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เป็นปแระธานองคมนตรี โดยองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นในพระราชกรณียกิจทั้งปวง หรือหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ขณะเกิดเหตุอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี 
 
วันที่ 23 มีนาคม 2253 จำเลยปราศรัยบนเวทีนปช. โดยมีข้อความตอนหนึ่งพาดพิงผู้อื่นในทำนองว่าที่อภิสิทธิ์ ไม่ยอมลาออกเพราะมีเบื้องหลังบางอย่าง ซึ่งตัวยศวริศไม่กล้าพูด พร้อมทั้งแสดงท่าทางเอามือปิดปากตัวเองเหมือนจะสื่อว่าไม่ให้พูด นอกจากนี้ยังพาดพิงบุคคลสำคัญอื่นๆ ว่ากดดันไม่ให้อภิสิทธิ์ยุบสภา ซึ่งการปราศรัยดังกล่าวโจทก์มีแผ่นบันทึกการปราศรัย ภาพถ่าย และเอกสารถอดเทปการปราศรัย เป็นหลักฐาน ในวันที่ 3 สิงหาคม 2554 จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ แต่ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2554 จำเลยขอถอนคำให้การและเปลี่ยนเป็นให้การปฏิเสธ
 
ประเด็นปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัย ประการแรก คือ ฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบของกฎหมายหรือไม่ ตามฟ้องของโจทก์มีการระบุวันเวลาที่เกิดเหตุและบรรยายข้อความปราศรัยตามฟ้องของจำเลยไว้อย่างชัดเจน โดยคำปราศรัยและอากัปกิริยาของจำเลยทำให้ผู้ที่รับฟังคำปราศรัยเข้าใจได้ว่าผู้ที่อยู่เหนือพล.อ.เปรมหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ และทรงเข้ามาแทรกแซงการเมือง เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ต่อองค์พระมหากษัตริย์ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แม้ตามฟ้องจะไม่บรรยายว่าจำเลยเอ่ยพระนาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างชัดเจนว่าจำเลยหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
ประเด็นปัญหาต่อมาที่ต้องพิจารณาต่อมา คือ คำปราศรัยของจำเลยหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพยานหลายปากเบิกความยืนยันว่า จากการอ่านข้อความของจำเลย เข้าใจว่าผู้ที่อยู่เหนือพล.อ.เปรม หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นอกจากนี้จำเลยยังวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.เปรมอย่างรุนแรง โดยลักษณะการวิจารณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยไม่มีความเกรงใจพล.อ.เปรมหรือเกรงว่าการวิพากษ์ของจำเลยจะส่งผลกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นผู้ทรงแต่งตั้งพล.อ.เปรม จำเลยยังวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้ันอย่างรุนแรง 
 
เมื่อนำข้อนี้มาพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่จำเลยเคยขอให้ศาลเลื่อนการพิจารณาคดีเพราะจะต้องไปควบคุมผู้ชุมชุมเสื้อแดงที่อยู่บริเวณหน้าเรือนจำคลองเปรม นอกจากนี้จำเลยยังเคยให้การทำนองว่า มีความประสงค์จะให้การรับสารภาพแต่ต้องขอปรึกษากับแกนนำเสื้อแดงก่อน แต่ต่อมากลับถอนคำให้การเปลี่ยนเป็นให้การปฏิเสธ แสดงให้เห็นว่า การกระทำของจำเลยมีเป้าหมายทางการเมือง ต้องการให้อภิสิทธิ์ยุบสภา  
 
การที่จำเลยพาดพิงพล.อ.เปรม พล.อ.อนุพงษ์รวมถึงอภิสิทธิ์อย่างรุนแรง แต่พูดในทำนองว่าจำเลยรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังแต่พูดไม่ได้ ไม่กล้าพูด พร้อมทำท่าเอามือจับปาก แสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้ที่จำเลยหมายถึงมีสถานะสูงกว่านายกรัฐมนตรีหรือองคมนตรี จึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่าจำเลยหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าทรงวางพระองค์ไม่เป็นกลาง การปราศรัยของจำเลยจึงถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
 
ปัญหาประการสุดท้ายที่ต้องพิจารณามีอยู่ว่า สมควรลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำเลยเหรือไม่ เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน เป็นการแสดงออกต่อประชาชนในวงกว้างโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย นอกจากนี้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษจำเลยในอัตราโทษต่ำสุดตามกฎหมายและลดโทษให้แล้ว จึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงโทษของจำเลย พิพากษายืน  
  
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา