พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์: การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2556

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

24 พฤศจิกายน 2555 เกิดการปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมกลุ่มพิทักษ์สยาม หลังการชุมนุมยุติ ตำรวจออกหมายเรียก พล.อ.บุญเลิศและแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมดังกลาวไปรับทราบข้อหา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นอดีตประธานมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด และเป็นประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลแขวงดุสิต

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

โครงสร้าง-ภาคีเครือข่าย องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.). มติชน 21 พฤศจิการยน 2555 (อ้างอิง11 กุมภาพันธ์ 2556) 

 
เดือด! ยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม “เสธ.อ้าย” อัด ตร.ทำร้าย ปชช. ผู้จัดการ24 พฤศจิกายน 2555 (อ้างอิง11 กุมภาพันธ์ 2556) 
 
 
ตั้ง9รัฐมนตรีร่วมครม.ย่อยรับม็อบเสธ.อ้าย. ไทยรัฐ 21 พฤศจิกายน 2555 (อ้างอิง11 กุมภาพันธ์ 2556) 
 
 
รัฐใช้'พรบ.มั่นคง'รับม็อบเสธ.อ้าย. คมชัดลึก 22 พฤศจิกายน 2555 (อ้างอิง11 กุมภาพันธ์ 2556)  
 
เกาะติด ม็อบเสธ.อ้าย กลุ่ม อพส. ชุมนุมลานพระรูปฯ. Sanook website 24 พฤศจิกายน 2555  (อ้างอิง12 กุมภาพันธ์ 2556)
 
ออกหมายเรียก เสธ.อ้าย รับทราบข้อกล่าวหา 18 ม.ค. นี้. คมชัดลึก 15 มกราคม 2556 (อ้างอิง12 กุมภาพันธ์ 2556) 
 
เสธ.อ้ายพร้อมพวกเลื่อนให้ปากคำคดีม็อบ อพส.นัดใหม่13ก.พ. มติชน 18 มกราคม 2556 (อ้างอิง12 กุมภาพันธ์ 2556) 
 
"เสธ.อ้าย" นำพวกรับทราบข้อหาฝืนพรบ.มั่นคงหมิ่น"ทักษิณ"ปัดทุกข้อหา. ทีนิวส์ 13 กุมภาพันธ์ 2556 (อ้างอิง 13 กุมภาพันธ์ 2556)

10 พฤศจิกายน 2555

พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์พิทักษ์สยามยืนยันจัดการชุมนุมวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 เวลา 9.01 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยยืนยันว่าการชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อโดยเด็ดขาด การชุมนุมครั้งนี้จะเป็นการประเมินสถานการณ์ว่า มีผู้ร่วมชุมนุมมากน้อยเพียงใด หากมีผู้ชุมนุมหนึ่งล้านคนก็ถือว่าประชาชนเห็นด้วยกับการขับไล่รัฐบาลและรัฐบาลก็สมควรที่จะออกไป แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยอมออก ตนจะเป็นฝ่ายหยุดเอง 
 
13 พฤศจิกายน 2555
 
ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเตรียมจัดกำลังตำรวจกว่า 50,000 นายเพื่อรักษาความปลอดภัยระหว่างการชุมนุมของกลุ่มพิทักษ์สยาม  แต่จำมีมีการนำกำลังทหารมาผสมแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประสานกับทางสำนักพระราชวังเพื่อเตรียมสถานที่ในกรณีที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนกำลังมาปิดล้อมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยตำรวจเอกเฉลิมยังได้กล่าวถึงการใช้ฤกษ์เริ่มการชุมนุมในเวลา 9.01น. ว่าเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
 
21 พฤศจิกายน 2555
 
นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีย่อยขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่รับสถานการณ์การชุมนุม โดยมีการเลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 กระทรวงเข้ามาเป็นคณะทำงานของคณะรัฐมนตรีย่อยดังกล่าว ซึ่งสามารถทำการประชุมได้โดยไม่ต้องมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานในกรณีที่มีเหตุการณ์เร่งด่วน
 
22 พฤศจิกายน 2555
 
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีย่อยว่า ที่ประชุมมีมติให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติความมั่นคงฯ เก้าวัน ระหว่างวันที่ 22 – 30 พฤศจิกายน 2555 ในสามเขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต สืบเนื่องจากการประกาศดังกล่าว กระทรวงกลาโหมได้ออกมาชี้แจงว่าขณะนี้มีกำลังพล รถ และม้าได้เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อซ้อมพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก
 
22 พฤศจิกายน 2555
 
เวลาประมาณ 20.30 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยถึงการประการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ในระหว่างวันที่ 22-30 พฤศจิกายน 2555 และชี้แจงว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การชุมนุมประท้วงใดๆ หากมีพื้นฐานมาจากความเดือดร้อน และเป็นการชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่ทำได้ อย่างไรก็ดีสำหรับการชุมนุมครั้งนี้มีรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงว่าแกนนำมีท่าทีต้องการที่จะล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลจึงต้องประกาศ พรบ.ความมั่นคงฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยการรักษาความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปฎิบัติการต่างๆ จะเป็นไปโดยปราศจากความรุนแรงและไม่มีการใช้อาวุธตามหลักสากล โดยการบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ จะเป็นไปเพื่อการรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนและจะมีการยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวทันทีเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
 
24 พฤศจิกายน 2555
 
07 .00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยมาบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าโดยมีการแสดงดนตรีสลับกับการปราศรัยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ขบวนของกองทัพธรรมนำโดยสมณะโพธิรักษ์ได้เคลื่อนจากสนามม้านางเลิ้งมายังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่านตรวจค้นเป็นระยะ ขณะเดียวกันมีผู้ชุมนุมบางส่วนกว่า 300 คน ไปรวมตัวกันบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเจรจาขอเดินทางเข้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าจากทางดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่าสองกองร้อย ไม่อนุญาตให้ผ่านทางพร้อมประกาศผ่านโทรโข่งว่า “พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ห้ามเข้าตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ฉะนั้นขอให้พี่น้องผู้ชุมนุมเดินอ้อมไปเข้าทางนางเลิ้งแทน”
 
08.20 น.ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ผู้ชุมนุมกว่า400 คน พยายามเจรจาต่อรองเพื่อขอผ่านทาง โดยได้มีการรื้อรั้วลวดหนามและแท่งคอนกรีตเพื่อเปิดทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเสริมกำลังโดยตั้งแถวห้าแถวเพื่อรับผู้ชุมนุม
 
08.50 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนรถหกล้อติดเครื่องเสียงไปด้านซ้าย
ช่วงกลางสะพาน เมื่อรถบรรทุกเคลื่อนที่เข้ามาถึงแนวที่ผู้ชุมนุมกำลังผลักดันกับตำรวจเจ้าหน้าที่นายหนึ่งก็โยนแก๊สน้ำตามาจากแนวหลัง ผู้ชุมนุมต่างหนีจากจากแก๊สน้ำตาส่วนตำรวจก็ถอยร่นไป ในระหว่างช่วงที่กำลังชุลมุนนั้นเองรถหกล้อและผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามฝ่าวงล้อมตำรวจเข้าไปเจ้าหน้าที่จึงโยนแก๊สน้ำตาออกมาอีกครั้ง พร้อมทั้งทำการจับกุมผู้ที่พยายามฝ่าวงล้อมเข้ามา หลังเหตุการณ์สงบลงพบว่ามีตำรวจบาดเจ็บห้านาย ฝ่ายผู้ชุมนุมบาดเจ็บหลายสิบราย และยังพบกระป๋องแก๊สน้ำตาใช้งานแล้วกว่าสิบกระป๋อง 
 
09.01 น. แกนนำผู้ชุมนุมนำโดยพลเอกบุญเลิศทำพิธีบวงสรวงพระบรมรูปรัชกาลที่ห้าเพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วให้สัมภาษณ์ต่อกรณีการใช้แก๊สน้ำตาว่าเป็นเรื่องที่ชั่วร้ายจึงขอให้ประชาชนออกมากันมากๆ โดยจะขอเวลาสามชั่วโมงเพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณายกระดับการชุมนุม
 
10.00 น. พลเอกบุญเลิศขึ้นปราศรัยขอให้ผู้ชุมนุมสู้ต่อโดยสงบพร้อมทั้งกล่าวว่าจะต้องเอาชนะรัฐบาลให้ได้ การใช้แก๊สน้ำตาของรัฐบาลแสดงถึงความลุแก่อำนาจ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังนำรั้วลวดหนามมาวางกั้นผู้ชุมนุมออกเป็นส่วนๆ ทั้งยังใช้แก๊สนำตากับผู้ชุมนุม พลเอกบุญเลิศยังกล่าวอีกว่าถ้าตำรวจยังไม่เลิกทำร้ายผู้ชุมนุมก็อยากขอให้ทหารออกมาช่วย
 
13.15 น. เวทีกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศมติที่ประชุม ตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่ไปถึงสะพานมัฆวานก่อนบ่ายสอง ขอตำรวจให้ความร่วมมือ
 
13.53 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา รอบที่ 2 กับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานเสียงระเบิดดังสนั่น ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มยิงหนังติ้กและปาขวดใส่เจ้าหน้าที่
 
15.15 น. สถานการณ์บริเวณแยกสะพานเริ่มตึงเครียดอีกครั้ง หลังจากที่รถปราศรัยของผู้ชุมนุมเข้ามาใกล้แนวกั้นของตำรวจ เจ้าหน้าที่เคาะโล่เป็นสัญญาณประกาศเตือนห้ามเข้ามา อาจใช้แก๊สน้ำตาอีกครั้ง
 
16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมบริเวณแยกมิสกวัน พยายามเจรจากัน ขอร้องให้ผู้ชุมนุมกลับไปปราศรัยที่ลานพระบรมรูปฯ
 
17.18 น. พลเอกบุญเลิศประกาศ เพื่อเป็นการรักษาชีวิต ขอให้ทุกคนยกเลิกการชุมนุม เพราะไม่ต้องการให้สูญเสีย
 
17.19 น. บนเวทีของกลุ่มผู้ชุมนุม พลเอกบุญเลิศชี้แจงว่า ยอมกลืนเลือดตัวเอง ตำรวจตัดน้ำตัดไฟ และไม่อยากให้พี่น้องเสียเลือดเสียเนื้อจึงต้องยุติการชุมนุม
 
24 ธันวาคม 2555
 
เว็บไซต์สำนักข่าวไทย รายงานว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามเตรียมนำตัว 126 ผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ไปส่งฟ้องอัยการในช่วงบ่าย หลังสรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 
 
พ.ต.อ.ประสบโชค พร้อมมูล โฆษกกองปราบปราม กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเรียกผู้ต้องหาทั้ง 126 คน เข้ารายงานตัว หลังสรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้อง การฟ้องจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกรณีกระทําผิดบริเวณแยกมัฆวานรังสรรค์ จำนวน 97 คน ส่วนกลุ่มที่สอง จากการกระทำผิดที่บริเวณแยกสวนมิสกวัน จำนวน 29 คน 
 
ด้านทนายความของผู้ต้องหาเปิดเผยว่า จะยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ โดยขอให้เลื่อนสั่งคดีออกไป เนื่องจากเห็นว่าการออก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และการจับกุมของตํารวจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยได้ยื่นคําร้องต่อ ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว
 
15 มกราคม 2556
 
ตำรวจออกหมายเรียกพลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แกนนำองค์การพิทักษ์สยามและแกนนำคนอื่นๆ อีกสิบคนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากทั้ง 11 คนกระทำผิดในข้อหากระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215 และ 216 ซึ่งแต่ละคนต้องรับผิดชอบการกระทำในแต่ละส่วนไป
 
18 มกราคม 2556
 
ทนายความของพลเอก บุญเลิศ เข้าพบ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีชุมนุมทางการเมืองของ อพส. เพื่อขอเลื่อนการเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน นอกจากพลเอกบุญเลิศแล้ว ผู้ที่มีชื่อตามหมายจับอีกสิบคนต่างก็ขอเลื่อนการเข้าให้ปากคำ  หลังการหารือกับทนายความ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นัดวันให้ปากคำใหม่เป็นวันที่13 กุมภาพันธ์ 2556 ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล เวลา10.00 น.
 
13 กุมภาพันธ์ 2556
 
พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ หรือ เสธ.อ้าย อดีตแกนนำกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามพร้อมพวกรวมสิบคนเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคงจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ที่ลานพระราชวังดุสิตหรือลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่ง เสธ.อ้ายได้กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมเพราะทุกอย่างชัดเจนและยินดีชี้แจงข้อเท็จจริง 

เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งสิบคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายในเวลา 30 วัน ซึ่งระหว่างการรับทราบข้อกล่าวหานายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาแย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่าการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธจึงอยากให้พนักงานสอบสวนไปทบทวนข้อกฎหมาย มีแกนนำที่มีชื่อตามหมายเรียกหนึ่งรายไม่ได้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้แต่ได้ขอเลื่อนมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์แทน
 
7 มีนาคม 2556
 
นัดฟ้งคำสั่งอัยการ (คดีผู้ชุมนุม 127 คน)

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า อัยการศาลแขวงดุสิตนัดธเนศ หอมทวนลมกับพวกรวม 127 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ด้วยการร่วมชุมนุมกับพลเอกบุญเลิส ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ฟังคำสั่ง โดยคดีนี้พนักงานสอบสวนแยกดำเนินคดีเป็นสามสำนวน
 
สำนวนที่หนึ่งมีผู้ต้องหารวม 97 คน เป็นผู้ที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555

สำนวนที่สองมีผู้ต้องหารวม 16 คน เป็นผู้ที่ชุมนุมบริเวณแยกมิสกวันในช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555

สำนวนที่สามมีผู้ต้องหารวม 14  คน เป็นผู้ที่ชุมนุมบริเวณแยกมิสกวันในช่วงบ่ายของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 
 
ในวันนี้ผู้ต้องหาไม่ได้ไปที่ศาลแต่ให้พวงทิพย์  บุญสนอง ทนายความพบอัยการแทนซึ่งอัยการมีคำสั่งเลื่อนนัดครั้งแรกออกไปก่อนเพราะยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ โดยนัดฟังคำสั่งใหม่ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 เวลา 10.00 น.
 
พวงทิพย์เปิดเผยภายหลังว่า ในวันนี้ยังไม่มีการยื่นฟ้องพลเอกบุญเลิศและพวกรวม 11 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำในการชุมนุมเพราะสำนวนยังอยู่ในชั้นสอบสวน
 
สำหรับคดี 127 คนนั้น ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน
 
27 สิงหาคม 2558
 
นัดส่งฟ้อง (ยี่ไทยและพวกรวม 11 คน)
 
เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายคดีการชุมนุมของกลุ่มพิทักษ์สยาม นำ ยี่ไทย หรือสรรพฤทธิ์พร้อมพวกรวม 11 คน ซึ่งเป็นผู้ชุมนุม เข้าพบพนักงานอันการเพื่อส่งตัวฟ้องต่อศาลในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนด ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่หรือสถานที่ที่กำหนด และห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยศาลประทับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2010/2558
 
ในการสอบคำให้การ จำเลยทั้ง 11 ให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 21 ตุลาคม 2558 เวลา 09.00 น.
 
พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายจำเลย เปิดเผยเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 11 คนว่า  กล่าวว่า คดีนี้มีอัตราโทษไม่สูงคือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ศาลจึงปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดไปชั้นพิจารณาคดี โดยไม่ต้องมีหลักประกัน 
 
19 พฤศจิกายน 2558
 
นัดส่งฟ้อง (ธเนศกับพวกรวม 28 คน)
 
แนวหน้าออนไลน์รายงานว่า เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการยื่นฟ้องธเนศกับพวกรวม 28 คน ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จากการร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 โดยศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2715/2558
 
ในการสอบคำให้การ จำเลยทั้ง 28 คนให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 09.00 น.
 
พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายจำเลยเปิดเผยภายหลังว่า สำนวนคดีที่มีผู้ร่วมกระทำผิดกับธเนศ ซึ่งอัยการสั่งฟ้องมีทั้งหมด 97 คน แต่วันนี้นำตัวมาฟ้องได้ก่อน 28 คน ส่วนอีก 69 คน อยู่ระหว่างติดต่อประสานตัว เพื่อมาฟ้องภายหลัง โดยก่อนหน้านี้ อัยการยื่นฟ้องไปแล้วสองสำนวน ประกอบด้วย สำนวนแรกฟ้องยี่ไทยกับพวก 11 คน  สำนวนที่สองฟ้องพิชญ์สินีกับพวกรวม 10 คน พวงทิพย์กล่าวด้วยว่า ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีของธเนศที่ยื่นฟ้องวันนี้พร้อมกับสำนวนของยี่ไทยกับพวกและสำนวนของพิชญ์สินีกับพวกในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559
 
สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลให้ธเนศกับพวกทั้งหมดสาบานตนว่าจะไม่หลบหนีแล้วปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน
 
สำหรับแนวทางการสู้คดี ทนายจำเลยจะนำสืบให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยว่าออกมาชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
 
4 กุมภาพันธ์ 2559
 
นัดส่งฟ้อง (จำเลย 33 คน)

เว็บไซต์สำนักข่าวไทย รายงานว่า พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายคดีการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม นำผู้ต้องหา 33 คนมาส่งให้อัยการศาลแขวงดุสิต ตามที่อัยการนัดส่งตัวฟ้องต่อศาลในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จากการร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 
 
พวงทิพย์ระบุว่า คดีนี้ศาลแขวงดุสิตทยอยสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้ว 4 รอบ รวม 83 คน เหลืออีก 44 คนซึ่งยังอยู่ในชั้นสอบสวน สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 33 คนศาลให้สาบานตนแล้วปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน
 
9 มีนาคม 2559
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า คณะพนักงานสอบสวนยังมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีการชุมนุมของพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย กับพวกในหลายข้อหา อาทิ ร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่กระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 125 รวมทั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากพื้นที่หรือสถานที่ ที่กำหนดตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยจะมีการนำเสนอ ผบ.ตร.พิจารณาให้ความเห็นต่อไป
 
 
30 มีนาคม 2559
 
นัดส่งฟ้อง (จำเลยหกคน)

สปริงนิวส์ออนไลน์ รายงานว่า พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายคดีการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม นำผู้ต้องหารวมหกคนเข้าพบพนักงานอัยการเพื่อส่งตัวฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต 
 
พวงทิพย์เปิดเผยว่าผู้ต้องหาทั้งหกคนที่มาศาลในวันนี้เป็นผู้ที่ถูกออกหมายจับแล้ว แต่ก็มีอีกสองคนที่ถูกออกหมายจับแล้วยังตามตัวมาศาลไม่ได้ คาดว่าอาจจะย้ายที่อยู่และเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ก่อนหน้านี้ก็มีผู้ต้องหาอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกนำตัวมาส่งฟ้องต่อศาลและได้รับการประกันตัวโดยการสาบานตนโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 
 
พวงทิพย์กล่าวด้วยว่า คดีนี้มีผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 127 คน มีการแบ่งฟ้องเป็นกลุ่มๆ ยังเหลืออีก 37 คนที่ยังไม่สามารถติดตามตัวได้ ในส่วนของคำให้การ ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบภายใต้รัฐธรรมนูญ และการชุมนุมในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุมด้วย
 
เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหก ไอเอ็นเอ็นออนไลน์รายงานภายหลังว่า จำเลยห้าคนได้รับการปล่อยตัวโดยสาบานตนต่อศาลแทนการวางเงินประกัน ส่วนอีกคนหนึ่งวางเงินประกัน 24,000 บาท 
 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา