การชุมนุมค้านการสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง-บ่อขยะ

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

นายคูณทวี ภาวรรณ์

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2552

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรี

สารบัญ

จำเลย 5 คนถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำการชุมนุมปิดถนนพหลโยธิน เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง-บ่อขยะ ตำรวจตั้งข้อหาก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชน กีดขวางทางหลวง และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชี้ว่าเสรีภาพการชุมนุมต้องไม่ละเมิดกฎหมายอื่น จำเลยมีความผิดให้รอลงอาญา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายคูณทวี ภาวรรณ์  จำเลยที่ 1 และนายนพพล น้อยบ้านโง้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างบ่อขยะของบริษัท แบตเตอร์เวิล์ดกรีน จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 8 ตำบลห้วยแห้ง ตำบลหนองปลาไหล ตำบลกุดนกเป้า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี จำเลยที่ 3 และนายสมคิด ดวงแก้ว จำเลยที่ 4 เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเขตอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี

นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง จำเลยที่ 5 หรือ "ปุ้ม" เป็นนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานทางเลือก เป็นอดีตผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต-AEPS ทำงานกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ เคยเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และทำงานเคียงคู่กับ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ "มด" ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ป.อาญา ม. 229, พ.ร.บ.ทางหลวงฯ ม.39,71, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ม.3,4,9 พ.ร.บ.จราจรทางบก ม.54,148

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วันที่ 24-25 กันยายน 2552 ชาวบ้านประมาณ 200 คนรวมตัวกันชุมนุมเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาจากบ่อขยะ โดยปิดกั้นถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงระหว่างกิโลเมตรที่ 98 ถึง 99 ใช้ยางรถยนต์เก่าหลายเส้นวาง นำรถยนตร์กระบะส่วนตัวมาจอด กางเต้นท์ขวางถนน และใช้เครื่องเสียงปราศรัย เป็นการกีดขวางเส้นทางการจราจรในประการที่น่าจะทำให้เกิดอันตายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะและบุคคลอื่น ชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำในการชุมนุมถูกออกหมายจับ จำนวน 6 คน และถูกดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดสระบุรีด้วยข้อหาทำให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 ปิดกั้นทางหลวง ตามพระราชบัญญัติทางหลวงฯ มาตรา 54,148 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณา โดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 3,4,9
 
โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็นสองคดี คือ คดีหมายเลขดำที่ 4242/2552 และคดีหมายเลขดำที่ 4512/2552 ต่อมาศาลจังหวัดสระบุรีให้พิจารณารวมเป็นคดีเดียวกัน

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

4242,4512/2552

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

คดีปกครองที่เกี่ยวข้อง
 
1. คดีหมายเลขดำที่ 1454/2553
คดีนี้เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน และ บริษัท พาวเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด(ปัจจุบันคือ บริษัท กัลฟ์ เจพีเอนเอส จำกัด) เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้า และมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ที่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก 
   – ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้มีโอกาสเข้าโต้แย้งและชี้แจงเหตุแห่งความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการ 
   – อาศัยมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นฐานในการออกใบอนุญาต
   – ออกใบอนุญาตในทำเลที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมต่อการประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้า เพราะ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย  อันขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535
   – ออกใบอนุญาตโดยสอบถามความเห็นและพิจารณาความเห็นจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่มีการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ให้เพียงพอ
   – ออกใบอนุญาตไปโดยขัดกับหลักความได้สัดส่วน  เพราะเป็นมาตรการที่ไม่จำเป็น และเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประชาชน ชุมชนและประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ที่เอกชนรายเดียวได้รับ
 
31 มกราคม 2556 ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษา 
 
ศาลปกครองพิจารณาว่า กระบวนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ของ กกพ.เป็นไปตามกฎหมาย โดยที่ตั้งไม่ขัดต่อกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2553 และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี พ.ศ. … ยังไม่ประกาศบังคับใช้ การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวของและบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 1,600 เมกกะวัตต์ จึงไม่ใช่โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จึงไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบ (EHIA) เพิ่มเติม ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ
 
ศาลปกครอง ระบุด้วยว่า การพิจารณาให้ใบอนุญาตนั้นนอกจากต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้ง 61 คนที่จะอนุรักษ์ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ แล้วยังต้องคำนึงถึงสิทธิของบริษัทเอกชนผู้ดำเนินโครงการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการมีเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงไม่สามารถจำกัดสิทธิไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าได้
 
ส่วนเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น มีการระบุปัญหาไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบกิจการต้องถือปฏิบัติในการป้องกันผลกระทบ โดยชุมชนสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งทุกจุดได้ตลอดเวลา
 
นอกจากนั้น การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งในประเทศไทยมีการก่อสร้างมาแล้วหลายแห่ง เช่น โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ไม่ปรากฏว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้
 
 
2.  คดีหมายเลขดำที่ 495/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 30/2556
คดีนี้ นายบุญชู  วงษ์อนุ และชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์วิถีชีวิตเกษตรกรรม  อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กรมโยธาธิการและการผังเมือง, เจ้าพนักงานการผัง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และคณะกรรมการผังเมือง ในฐานละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี และไม่ประกาศกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขัดต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวม เพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
 
การใช้เวลาในการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี จนถึงวันฟ้อง นานกว่า 7 ปี ได้ทำให้มีการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอหนองแซง ซึ่งผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ที่มีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงงานทุกประเภท เช่น โรงไฟฟ้า เว้นแต่โรงงานขนาดเล็กตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายร่างกฎกระทรวงฯ
 
ทั้งนี้ ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 เป็นเหตุให้ศาลปกครองมีคำสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 และไม่ได้พิจารณาว่า การใช้เวลาในการจัดทำผังเมืองกว่า 9 ปีนี้ เป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรของหน่วยงานรัฐหรือไม่

แหล่งอ้างอิง

‘ยกฟ้อง’ คดีเพิกถอน ‘ใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซง’ ชาวบ้านเตรียมอุทธรณ์ต่อ, เว็บไซต์ประชาไท, 31 มกราคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 22 ตุลาคม 2556)

สืบเนื่องจากบริษัท กัลฟ์เจพี เอ็น เอส จำกัด เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,600 เมกะวัตต์  ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ  ในพื้นที่ ต.หนองกบ อำเภอหนองแซง จ.สระบุรี และในพื้นที่ ต.หนองน้ำใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา  โดยซื้อที่ดินตั้งแต่ปี 2550 โดยชุมชนในพื้นที่ไม่ได้รับทราบข้อมูลมาก่อน
 
เมื่อชุมชนรอบพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าทราบว่าจะมีการขออนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตนก็คัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างหนักมาตั้งแต่รับทราบข้อมูลในปี 2551 โดยประชาชนเห็นว่า  ที่ตั้งโรงไฟฟ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรที่อุดมสมบูรณ์อยู่ในเขตชลประทาน อยู่ใกล้แหล่งชุมชน และพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมตามกฎหมายผังเมืองซึ่งจะห้ามสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่  หากมีการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อสภาพแวดล้อม อาชีพ สุขภาพและขัดต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  อีกทั้งการดำเนินโครงการของบริษัทและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น
 
ประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา รวมตัวกันในนาม เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม  เพื่อรณรงค์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี 2551 จวบจนปัจจุบัน  โดยดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชนเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าและให้ประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ฯลฯ 
 
อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแสการคัดค้านดังกล่าว  บริษัทฯ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังคงพิจารณาอนุมัติอนุญาตโรงไฟฟ้าต่อไปจนกระทั่งมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเมื่อ 17 มิถุนายน 2553 และใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าใน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 โดยบริษัทฯ เริ่มเข้าดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2553
 
ทั้งนี้ แม้จะมีการฟ้องร้องในศาลปกครอง และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่เมื่อศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษาชี้ขาด ประกอบกับข้อกล่าวอ้างที่ว่า หน่วยงานรัฐได้พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอนุญาตก่อนที่ร่างกฎกระทรวงเรื่องผังเมือง จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ร่างดังกล่าวจึงยังไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ใบอนุญาตออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่งผลให้บริษัทฯ ยังสามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป
 
 
24-25 กันยายน 2552 
ชาวบ้านประมาณ 200 คนรวมตัวกันชุมนุมปิดถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณกิโลเมตรที่ 98-99 เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาจากบ่อขยะ  ผู้ชุมนุมประกอบด้วย กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากบ่อขยะใน 3 ตำบล คือ หนองปลาไหล ห้วยแห้ง และกุดนกเป้า และกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง  โดยชาวบ้านเรียกร้องให้แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นของบ่อขยะ และให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ในการชุมนุมเรียกร้องครั้งนี้ชาวบ้านต้องการเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้า แต่สุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ลงมาเจรจาด้วย 
 
กลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายการชุมนุมเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 25 กันยายน 2552 ต่อมาชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำในการชุมนุม 6 คน ถูกออกหมายจับ ทั้งนี้หมายจับลงวันที่ 24 กันยายน 2552 
 
 
5 ตุลาคม 2554
ศาลจังหวัดสระบุรี มีคำพิพากษา ใจความสรุปได้ว่า
 
เนื่องจากเหตุคดีนี้เกิดเวลากลางวันและลักษณะการชุมนุมครั้งนี้มีลักษณะต่อเนื่องยาวนาน ทั้งก่อนเกิดเหตุยังเคยมีการชุมนุมและเรียกร้องต่อหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่า พยานโจทก์จดจำจำเลยทั้ง 5 ได้ พยานโจทก์เบิกความเป็นลำดับสอดคล้องกัน และเป็นเจ้าพนักงานรัฐซึ่งไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้ง 5 มาก่อน จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 5 พูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงตามที่พยานโจทก์เบิกความจริง
 
การปิดถนนไม่อาจกระทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีอุดมการณ์หรือจุดประสงค์เดียวกัน ซึ่งก่อนการชุมนุม จำเลยทั้ง 5 กับพวกเคยทำหนังสือร้องเรียน ชุมนุมหน้าศาลากลาง ประกอบกับสถานที่เกิดเหตุเป็นถนนสาธารณะ ห่างจากบ่อขยะ โรงไฟฟ้า และหน่วยงานราชการที่อ้างว่าต้องการพบเพื่อแจ้งความเดือดร้อน จึงเชื่อว่ามีการนัดหมายกันมาก่อน โดยมีเจตนาชุมนุมร่วมกันมาแต่ต้นที่จะชุมนุมปิดถนนเพื่อสร้างความเดือดร้อนโดยหวังเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น แม้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 5 เป็นผู้นำรถยนต์มาจอด นำเต็นท์มากาง หรือนำยางมาวาง แต่เมื่อพวกของจำเลยเป็นคนกระทำ ถือว่าจำเลยทั้ง 5 เป็นตัวการร่วมในการกระทำดังกล่าว
 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229 มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะโดยไม่ต้องการผลว่าจะเกิดอันตรายหรือไม่ ดังนั้น เมื่อสถานที่เกิดเหตุเป็นถนนสายหลัก มีรถวิ่งเร็วเป็นจำนวนมาก และเมื่อชุมนุม ตำรวจก็ต้องเอากรวยมากั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ชุมนุมและผู้ใช้ทาง ทำให้เชื่อว่าการชุมนุมน่าจะเป็นอันตราย 
 
ส่วนความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียง ปรากฏว่าไม่ได้ขออนุญาต การชุมนุมและการใช้เครื่องขยายเสียงจึงเป็นความผิด
 
การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นการผิดกฎหมายอื่น แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติทางหลวง จึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229, 83 พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 39,71 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคสอง และมาตรา 148 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 9 วรรคหนึ่ง 
 
เนื่องจากเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ ให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร กับฐานกระทำการปิดกั้นทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะ และฐานจอดรถกีดขวางทางจราจร เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด จำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 6,000 บาท และลงโทษฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 200 บาท 
 
รวมลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 6,200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ กำหนดคนละ 2 ปี คุมประพฤติคนละ 1 ปี ทำงานบริการสังคมคนละ 48 ชั่วโมง
 
หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยยื่นฎีกา
 
 
24 ตุลาคม 2556 
เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลจังหวัดสระบุรีนัดอ่านคำพิพากษา วันนี้จำเลยที่ 3, 4 และ 5 มาศาล พร้อมทนายความจำเลยที่ 5 และชาวบ้านที่มาให้กำลังใจประมาณ 20 คน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งพอใจผลคำพิพากษาไม่ได้ยื่นอุทธรณ์จึงไม่ได้มาศาล

ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปใจความได้ว่า คดีนี้มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า การชุมนุมของจำเลยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 63 หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากที่ยุติแล้วในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่ง ข้อเท็จจริงคดีนี้สรุปได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปิดถนน เอารถยนต์มาจอดกีดขวาง ในลักษณะน่าจะเกิดอันตรายแก่ผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 และพ.ร.บ.ทางหลวง จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 6,200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ กำหนดคนละ 2 ปี คุมประพฤติคนละ 1 ปี ทำงานบริการสังคมคนละ 48 ชั่วโมง

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา