รายการ “Hard Core ข่าว”

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

อาจารย์ เอกชัย ไชยนุวัติ

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2556

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ซึ่งมี พลโท ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

สารบัญ

อ.เอกชัย ไชยนุวัติ กับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้รับเชิญจาก พลโท ชาตอุดม ติตถะสิริ ผู้อำนวยการช่อง ททบ.5 ให้ไปออกรายการ “Hard Core ข่าว” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 เป็นดีเบทการเมืองว่าด้วยเรื่องนายกรัฐมนตรีต้องลาออกหรือรักษาการตามรัฐธรรมนูญ แต่ทางช่องยกเทปออกอากาศทั้งหมด

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อ.เอกชัย ไชยนุวัติ  เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2517 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนเล็กของ “นพ.เติมชัย ไชยนุวัติ” และ 
“นางวนิดา ไชยนุวัติ” เริ่มการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย  ก่อนที่จะศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียน
สาธิตปทุมวัน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขา กฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย วอชิงตัน ดี.ซี ต่อด้วย นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขา กฎหมายเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัย มิชิแกน และ และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขา กฎหมายและการทูต จาก Fletcher School of Law and Diplomacy ที่แมสซาซูเซ็ตส์ และกลับมาทำงานการเมืองร่วมกับ 
“ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย” เป็นเวลา 4 ปี จากนั้นผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เป็นเวลา 9 ปี ในตำแหน่งรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
ในช่วงเวลาปลายปี 2556 ขณะที่การเมืองมีความขัดแย้งรุนแรง อ.เอกชัยให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแห่งมีแนวความคิดไปในทางไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มกปปส.และสนับสนุนในมีการเลือกตั้งหลังรัฐบาลประกาศยุบสภา
 
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเลยพิทยาคมและสำเร็จการศึกษาสาขานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 35 จากสำนักศึกษาอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา Diplome d’etudes approfondies de droit public จากมหาวิทยาลัย Strasbourg III ประเทศฝรั่งเศส Doctorat de l’Universite Robert Schuman de Strasbourg (mention tres honorable) มหาวิทยาลัย Robert Schuman ฝรั่งเศส และประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตร สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์นานาชาติ “การกระจายอำนาจ และ การปกครองท้องถิ่น” (IIAP.) กรุงปารีส, ฝรั่งเศส
เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางด้านการบริหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการโครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ที่ปรึกษากฎหมายสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 สุรพลได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ในช่วงเวลาปลายปี 2556 ขณะที่การเมืองมีความขัดแย้งรุนแรง ศ.ดร.สุรพลให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแห่งมีแนวความคิดไปในทางสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มกปปส. และสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีรักษาการลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เพื่อจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมาปฏิรูปประเทศก่อนมีการเลือกตั้ง 
 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เอกชัย ไชยนุวัติ และ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ดีเบทกันในรายการ “Hard core ข่าว” เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นว่า นายกรัฐมนตรี เมื่อยุบสภาแล้ว ต้องรักษาการณ์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ หรือ สามารถที่จะลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรี แล้วเปิดช่องทางให้มีสภาปฏิรูปการเมือง ซึ่งสถานีททบ. 5 ตัดสินใจไม่ออกอากาศรายการตอนนี้  โดยไม่ได้แจ้งเหตุผล

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

สุรพล นิติไกรพจน์. wikipedia (อ้างอิงเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 57)

9 ธันวาคม 2556
กลุ่ม กปปส. หรือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นัดชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหลังจากชุมนุมต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่า 1 เดือน ช่วงเช้าเวลาประมาณ 8.00 น. ก่อนถึงเวลานัดหมายเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมนายกรัฐมนตรีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเดินหน้าชุมนุมต่อ โดยเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะลาออกจากตำแหน่งรักษาการเพื่อให้ประเทศเข้าสู่สุญญากาศและจะประกาศตั้งสภาประชาชนขึ้นมาปฏิรูปประเทศ
 
10 ธันวาคม 2556
อ.เอกชัย ไชยนุวัติ และศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้รับการติดต่อจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ให้ไปบันทึกเทปออกอากาศรายการ “Hard Core ข่าว” โดยจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5  ในเวลา 18.00 น.ในวันเดียวกัน โดยได้รับการติดต่อจาก พล.ท. ชาตอุดม ติตถะสิริ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ใช้เวลาในการบันทึกเทปประมาณ 40 นาที
 
ช่วงบ่ายก่อนที่จะบันทึกเทปรายการ ทาง พล.ท. ชาตอุดม ได้นัดพูดคุยกับผู้ร่วมรายการและชี้แจงว่าว่า นโยบายกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีจุดยืน คือ ความเป็นกลาง สามารถนำเสนอความคิดเห็นได้อย่างอิสระและเสรี  
 
โดยระหว่างการอัดเทปรายการ ทาง พล.ท.ชาติอุดม ติดตถะสิริ เป็นผู้ควบคุมการออกอากาศตลอดจนจบการอัดเทปรายการดังกล่าว เนื้อหาที่ดีเบทกันในรายการนั้นศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ เสนอความเห็นว่าเมื่อนายกรัฐมนตรี ยุบสภาแล้ว นายกรัฐมนตรี ควรจะลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการขอพระราชทานนายกพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อปูทางไปสู่การปฏิรูปประเทศก่อน ตามแนวทางของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ (กปปส) โดยได้ยกตัวอย่างกรณีนายกพระราชทาน ในสมัยที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2516 เป็นแบบอย่างในการขอนายกพระราชทาน ศ.ดร.สุรพลยังให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะ ต้องปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จเสียก่อน 
 
ด้านอ.เอกชัย ไชยนุวัติ แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อได้มีการยุบสภาแล้ว นายกรัฐมนตรี ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถที่จะลาออกจากตำแหน่งรักษาการได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 กำหนดไว้จัดเจน และการจะให้มีนายกพระราชทานนั้นทำไม่ได้ เพราะขัดต่อหลักการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ เป็นการทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ต้องห้ามตามกฎหมาย โดยอ. เอกชัย ได้กล่าวต่อไป ในบันทึกรายงานการประชุม สสร. 33/2550 ในหน้าที่ 30-31 นายจรัญ ภักดีธนากุล เคยให้ความเห็นไว้ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา รัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องรักษาการต่อไป การที่ นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศยุบสภานั้น ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสีย เหมือนเช่น ปี พ.ศ.2553 ในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ที่มีผู้ชุมนุมชาวเสื้อแดงสูญเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก แต่การประกาศยุบสภาครั้งนี้ไม่มีผู้สูญเสียชีวิตแต่อย่างใด  
 
เมื่อบันทึกเทปรายการเสร็จ ทางพล.ท. ชาตอุดม ได้ติดต่อกลับมาทางโทรศัพท์ ว่าจะขอตัดทอนเนื้อหาไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ในปี 2553 และมีผู้เสียชีวิตจากรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยอ้างว่าไม่ต้องการให้พูดถึง “เรื่องอดีตที่ผ่านมา” ซึ่งทาง อาจารย์ เอกชัย  เข้าใจดีเพราะว่าทางช่อง 5 เป็นสถานีของทหาร จึงบอกกลับไปว่าไม่มีปัญหา หากตัดทอนบางส่วนเพื่อให้เกิดความสงบ
 
แต่ในเวลา ออกอากาศ 18.00 น. ทางช่องไม่ได้นำเทปที่บันทึกไว้ตอนดังกล่าวมาออกอากาศ แต่ให้ รศ.ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยาม มาออกรายการสดคนเดียว และให้ความเห็นไปในทางเดียวกับ ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ในเรื่องการให้มีนายกพระราชทาน โดยเป็นการนำเสนอความเห็นฝ่ายเดียว
 
หลังจากนั้น อ.เอกชัย ติดต่อกลับไปยัง พล.ท. ชาตอุดมอีกครั้ง แต่ได้รับการตอบกลับว่า จะนำออกอากาศในวันรุ่งขึ้น (11 ธ.ค. 56) เวลาเดิม แต่เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ก็กลับไม่มีการออกอากาศแต่อย่างใด จึงได้ติดต่อกลับไปทาง พล.ท. ชาตอุดม อีกครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา