ประเดิม: คดีแต่งกลอน

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

ประเดิม ด.

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2517

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้กล่าวหา- ประยูร จรรยาวงศ์ เคยได้รับรางวัลแม็กไซไซ และได้รับฉายา “ราชาการ์ตูน” โจทก์ – อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ

สารบัญ

ประเดิมถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามฎหมายอาญามาตรา 112 จากบทกลอนชื่อ ถึงชาวฟ้าจากข้าชาวดิน ที่ตีพิมพ์ในวารสารประชาธรรม ฉบับสัจธรรม ฉบับที่ 2 วันที่ 1-15 กรกฎาคม 2517 ภายหลังศาลยกฟ้อง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ประเดิม ขณะถูกจับกุมป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปีที่ 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ของศูนย์นิสิตนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์โครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ
เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ของศูนย์กลางนิสิตศึกษา และ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธรรม ฉบับสัจจธรรม
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ประเดิม พิมพ์โฆษณา บทกลอนลงในหนังสือพิมพ์ประชาธรรม ฉบับสัจจธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ประจำวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2517 หน้าที่7  ในหัวข้อเรื่องว่า “ถึงชาวฟ้า—จากข้าชาวดิน” โดยบทกลอนดังกล่าวถูกกล่าวหาว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

   
ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง
 
จำเลยโฆษณาบทกลอนชื่อ ถึงชาวฟ้าจากข้าชาวดิน ลงในหนังสือวารสารประชาธรรม ฉบับสัจจธรรม มีข้อความดังนี้
“  ชาวเอ๋ยชาวเขา            เจ้าอยู่สูงสง่า
เจ้าอยู่สูงบนฟ้า               แต่ข้าอยู่บนดิน
   เจ้าอยู่สูงเสียดฟ้า         เจ้าค้าขายฝิ่น
ขุดพลอยขายกิน             ปลูกฝิ่นปลูกกัญชา
   ทั้งแบกอาวุธติดบ่า       คุมลาใส่ฝิ่น
มุ่งหน้าหากิน                 ขนฝิ่นขนกัญชา
   จึงบ่ค่อยอดอยาก         บ่สิมากปัญหา
เพราะเจ้ามีเทวดา            คอยมาเยี่ยมมาเยือน
   เอาวัวมาแจก               แบกแกะมาสู่
หาหมูให้เลี้ยง                 เชอะหาเสียงเทวดา
   ชาวเอ๋ยชาวเขา            เจ้ารู้หรือเปล่า
ข้าลำบาก                      ข้านี้ทนทุกข์ยาก
   อดอยากมานาน           ข้าบ่เคยฝันใฝ่
สิยิ่งใหญ่คือเข้า               คอยพินอบพิเทา
   จากเหล่าเทวดา           ทั้งอยู่ต่ำกว่าเจ้า
บ่มีเขาสูงใหญ่                ปลูกฝิ่นก็บ่ได้
   พลอยเพ็ชรไซร้ก็บ่มี     อีกทั้งถูกกดขี่
ต้องทำนาใช้หนี้              กฎุมพีคนระยำ
   เจ้าชาวฟ้าเจ้าชาวเขา     ช่วยบอกเหล่าเทวดาที
ว่าเหตุไฉนจึงบ่มี             ความยุติธรรมกับชาวดิน”

อัยการศาลทหารกรุงเทพ บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเจตนาหมื่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ว่าการที่นำพันธุ์สัตว์
ไปแจกจ่ายให้แก่ชาวนานั้น ไม่เป็นประโยชน์เเต่อย่างใด นอกจากเพียงเพื่อต้องการให้ชาวเขาชอบพอ เป็นไปในการหาคะเเนนเสียงจากชาวเขา แต่พระมหากษัตริย์ ไม่ให้ความยุติธรรมแก่ชาวนา โดยจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนทั่วไปเกิด
ความรู้สึกดูหมื่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์
 

 

พฤติการณ์การจับกุม

กรมตำรวจมอบหมายให้ พล.ต.ต.จำรัส จันทรขจร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ฯ จึงมาการออกหมายจับตัวจำเลย ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2517 พ.ต.อ. ถวิล เปล่งพานิช ผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี สืบทราบว่าจำเลยกำลังจะเดินทางจากจังหวัดราชบุรีไปอำเภอจอมบึงเพื่อออกนอกประเทศ จึงไปดักจับ พบจำเลยกำลังลงจากรถยนต์ ที่ตำบลพลับพลา อำเภอเมืองราชบุรี จึงจับกุมจำเลยนำส่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล
 
คดีนี้อัยการทำความเห็น ขอให้ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยเป็นการชั่วคราว เพราะจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ประเดิมจึงถูกคุมขังไว้ระหว่างการดำเนินคดี

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

2369/2517

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

แนวร่วมกฎหมายเพื่อประชาชน.รายละเอียดคดีประวัติศาสตร์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถึงชาวฟ้าจากข้าชาวดิน. กรุงเทพมหานคร : เจริญวิทย์การพิมพ์, 2518.

 

26 ตุลาคม 2517
จำเลยถูกจับกุมตัว

ข้อต่อสู้/คำให้การของจำเลย

จำเลยในฐานะที่เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ประชาธรรม ฉบับสัจธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ประจำวันที่ 1 – 15 กรกฎาคม 2517 ในหน้าที่ 7 หัวข้อเรื่อง “ถึงชาวฟ้า….จากข้าชาวดิน”  จำเลยได้ตรวจบทกลอนนี้เเล้วก่อนนำลงพิมพ์ มีความเห็นว่ามิได้มีข้อความตอนใดเกี่ยวข้องถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เเละตามสำนึกเเละความรับรู้ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งหลายนั้น เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลเเละผู้บริหารระดับต่างๆ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีภาระหน้าที่ที่ต้องทรงรับผิดชอบด้วย
 
บทกลอนตามฟ้องเป็นบทกลอนที่มีผู้ประพันธ์ส่งมาในระยะเวลาที่ชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ กำลังเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมจากความเดือดร้อนทุกข์ยากจากการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ขูดรีดที่สั่งสมสืบต่อกันมาช้านานนับสิบๆปี
 
ซึ่งความเดือนร้อนเหล่านี้ยังมิได้รับการบำบัดช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือผู้บริหารเเต่อย่างใด
 
จำเลยเห็นว่าบทกลอนนี้เป็นการถ่ายทอดความจริงเเละความน้อยเนื้อต่ำใจของชาวนาเเละเรียกร้องความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร สมควรเสนอเพื่อได้รับการพิจารณาให้เกิดสำนึกในเมตตาธรรมเเละความเป็นธรรม
 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญและมีพระบรมราชโองการกำหนดภาระหน้าที่ของข้าราชการทหารพลเรือนรวมทั้งประชาชน ให้รักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ทว่ามีการฝ่าฝืนพระบรมราชโองการหลายครั้ง ทั้งยังการแอบอ้างเอาพระบารมีมาปกป้องการกระทำอันมิชอบของตนด้วย
 
กรณีของจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีนี้ เกิดขึ้นจากพฤติการณ์ข้างต้น ขอศาลได้โปรดพิจารณาเห็นความจริงดังกราบเรียนมา เเละได้โปรดพิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยตัวจำเลยพ้นข้อหาไป

28กุมภาพันธ์  2518
 
คำพิพากษาของศาลชั้นต้น

ศาลได้ตรวจสอบสำนวนคดีเเละปรึกษาคดีกันเเล้ว จำเลยรับว่า เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ประชาธรรม ฉบับสัจธรรม ตามที่โจทก์ฟ้องจริง บทกลอนที่ฟ้องนี้ใช้ถ้อยคำภาษาไทย ทั้งในคำฟ้องโจทก์ก็มิได้กล่าวอ้างว่าถ้อยคำที่ใช่ในบทกลอนใช้ความหมายพิเศษ ฉะนั้น ถ้อยคำที่ใช้ในบทกลอนทั้งหมดจะมีความหมายอย่างไรเป็นข้อที่ศาลวินิจฉัยได้เอง  เมื่ออ่านบทกลอนทั้งหมดเเล้วเห็นว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมื่นพระมหากษัตริย์ โดยนำสืบว่าพระรบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จัดตั้งโครงการพัฒนาชาวเขาขึ้น เเละพระองค์ได้เสด็จไปพระราชทานสัตว์เลี้ยงแก่ชาวเขาด้วยพระองค์เอง ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า ตามเนื้อความในบทกลอน คำว่า เทวดา หมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาล มิใช่พระมหากษัตริย์ เป็นบทกลอนที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาล  ฉะนั้น ข้อต่อสู่ที่ต้องวินิจฉัยมีอยู่ 2 ประการคือ ประการเเรก คำว่า เทวดาเเละเหล่าเทวดาในบทกลอนหมายถึงใคร ประการที่สองถ้าคำว่าเทวดาเเละเหล่าเทวดาในบทกลอนคือพระมหากษัตริย์เเล้ว บทกลอนนั้นจะเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือไม่

ประการเเรกได้พิเคราะห์ข้อนำสืบของทั้งสองฝั่งเเล้ว ได้ความว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือชาวเขา นอกจากโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้จัดตั้งขึ้นเเละพระองค์ได้เสด็จไปพระราชทานสัตว์เลี้ยงแก่บรรดาชาวเขาด้วยพระองค์เองเเล้ว ยังมีหน่วยงานราชการอื่นๆ ได้ให้ความช่วยเหลือเเละนำสัตว์เลี้ยงไปแจกจ่ายแก่บรรดาชาวเขาด้วย   เมื่อได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติดังกล่าวเเล้ว ข้อวินิจฉัย จึงอยู่ที่ว่าจะถือได้หรือไม่ คำว่า เทวดา เเละเหล่าเทวดา ในบทกลอน นั้นคือพระมหากษัตริย์

ปัญหานี้พิเคราะห์เเล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือเเละนำสัตว์เลี้ยงไปเเจกจ่ายแก่พวกชาวเขาเช่นเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกับโครงการหลวง จึงไม่ถนัดที่จะถือว่าเทวดาหรือเหล่าเทวดาในกลอนที่ฟ้อง คือ พระมหากษัตริย์   เมื่อคำว่า เทวดาเเละเหล่าเทวดา ในบทกลอนที่ฟ้องถือมิได้ว่า หรือมิได้หมายถึงพระมหากษัตริย์เเล้ว บทกลอนนั้นจะเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย

ฉะนั้น เมื่อได้นำเอาเหตุผลต่างๆ ที่ได้วินิจฉัยมาเเล้วพิจารณารวมกันเข้าเเล้ว เห็นว่าจะปรับเอาเป็นความผิดแก่จำเลยยังไม่ถนัด จึงพร้อมกันพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยตัวจำเลยพ้นข้อหาไป
    
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา