ผู้ชุมนุมหนองแซง ดูหมิ่นนายกอบต.

อัปเดตล่าสุด: 03/12/2559

ผู้ต้องหา

ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2554

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

นางสุคนธ์ สหาวัตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สารบัญ

นายตี๋ และพวกอีก 2 คน เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี ออกรณรงค์ปราศรัยคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ถูกนายกอบต. แจ้งความว่าหมิ่นประมาท ศาลตัดสินว่าผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ให้จำคุกคนละ 15 วัน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่เห็นด้วยและได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเขตอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี 

นายพินิต พูนพิพัฒน์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ไม่เห็นด้วยและได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเขตอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี

นางปฐมมน กัณหา จำเลยที่ 3 เคยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลหนองกบ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี 3 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-2554 
 
จำเลยทั้งสามคนทราบข่าวว่าจะมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง ในพื้นที่ ต.หนองกบ อำเภอหนองแซง จ.สระบุรี และในพื้นที่ ต.หนองน้ำใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา และเกรงว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมลภาวะจึงรวมกลุ่มกันในชื่อ “อนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม” เพื่อศึกษาและประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนยื่นหนังสือต่อหน่วยราชการต่างๆ ให้มีการตรวจการดำเนินโครงการ
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และพวกรวม 3 คน ถูกกล่าวหาว่า วันที่ 12 กันยายน 2553 ได้ร่วมกันกล่าววาจาดูหมิ่น นางสุคนธ์ สหาวัตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านเครื่องขยายเสียงให้ประชาชนที่ผ่านไปมาได้ยินด้วยถ้อยคำว่า “นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใสเป็นหมารับใช้โรงไฟฟ้าหนองแซง และจะไปฉีกใบปริญญาที่อยู่กับนายกและจะไปที่สถาบันที่จบมาเพื่อจะให้ทางสถาบันฉีกปริญญา นายก อบต.เรียนจบมา เนื่องจากเรียนมาแล้วไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ได้นำความรู้ที่เรียนมาพัฒนาหมู่บ้าน” เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 393

พฤติการณ์การจับกุม

จำเลยเข้ามอบตัวและรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

23 มกราคม 2557
 
เวลา 8.45 น. นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี จำเลยที่หนึ่งเดินทางมาที่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาเพื่อฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ เมื่อมาถึงก็พบว่าประตูรั้วของศาลปิดอยู่ สอบถามบุคคลที่อยู่ระแวกนั้นจึงทราบว่าศาลแขวงพระนครศรีอยุทธยาย้ายที่ทำการใหม่ไปอยู่นอกเมือง จึงต้องเดินทางต่อและมาถึงศาลในเวลาประมาณ9.15 น.
 
เบื้องต้นศาลนัดฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีหมายเลขสอง แต่เนื่องจากจำเลยที่สอง นายพินิต พูนพิพัฒน์ ยังเดินทางมาไม่ถึง และมีคดีอื่นรอการพิจารณาอยู่ หน้าบัลลังก์จึงให้ย้ายไปฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีหมายเลขเจ็ดแทน การอ่านคำพิพากษาเริ่มเมื่อเวลา 11.00 น. หลังนายพินิตเดินทางมาถึง ในวันนี้มีชาวบ้านมาให้กำลังใจจำเลยทั้งสามประมาณสิบห้าคน และมีตัวแทนจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLaw) มาร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย   
 
คำพิพากษาอุทธรณ์สรุปความได้ดังนี้ 
 
ศาลอุทธรณ์ภาคหนึ่งตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งหมดไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสาม จึงเชื่อว่าเบิกความตามความจริง นอกจากนี้ พ.ต.ต.ธวัชชัย จันทร์เรือง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรยังเบิกความยืนยันว่า พยานโจทก์ต่างยืนยันภาพถ่ายว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้ดูหมิ่นผู้เสียหายจริง ที่จำเลยแย้งว่าโจทก์เบิกความขัดกันเองว่าจำเลยยืนปราศรัยอยู่บนรถหรืออยู่ข้างรถ เห็นว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด แต่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะพยานแต่ละคนอาจเห็นเหตุการณ์จากคนละจุดในช่วงเวลาที่ต่างกัน จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
 
การอ่านคำพิพากษาใช้เวลาสั้นๆประมาณ7นาที

หมายเลขคดีดำ

2228/2554

ศาล

ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดูคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าหนองแซง ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/493

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
สืบเนื่องจากบริษัท พาวเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,600 เมกะวัตต์  ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ  ในพื้นที่ ต.หนองกบ อำเภอหนองแซง จ.สระบุรี และอ่างเก็บน้ำสำรองตั้งอยู่ที่ตำบลหนองน้ำใสและตำบลโคกม่วง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยซื้อที่ดินตั้งแต่ปี 2550 โดยชุมชนในพื้นที่ไม่ได้รับทราบข้อมูลมาก่อน
 
เมื่อชุมชนรอบพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าทราบว่าจะมีการขออนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตนก็คัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างหนักมาตั้งแต่รับทราบข้อมูลในปี 2551 โดยประชาชนเห็นว่า  ที่ตั้งโรงไฟฟ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรที่อุดมสมบูรณ์อยู่ในเขตชลประทาน อยู่ใกล้แหล่งชุมชน และพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมตามกฎหมายผังเมืองซึ่งจะห้ามสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่  หากมีการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อสภาพแวดล้อม อาชีพ สุขภาพและขัดต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  อีกทั้งการดำเนินโครงการของบริษัทและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น
 
ประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา รวมตัวกันในนาม เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม  เพื่อรณรงค์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี 2551 จวบจนปัจจุบัน  โดยดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชนเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าและให้ประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ฯลฯ 
 
อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแสการคัดค้านดังกล่าว  บริษัทฯ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังคงพิจารณาอนุมัติอนุญาตโรงไฟฟ้าต่อไปจนกระทั่งมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเมื่อ 17 มิถุนายน 2553 และใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าใน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 โดยบริษัทฯ เริ่มเข้าดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2553
 
ทั้งนี้ แม้จะมีการฟ้องร้องในศาลปกครอง และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่เมื่อศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษาชี้ขาด ประกอบกับข้อกล่าวอ้างที่ว่า หน่วยงานรัฐได้พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอนุญาตก่อนที่ร่างกฎกระทรวงเรื่องผังเมือง จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ร่างดังกล่าวจึงยังไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ใบอนุญาตออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่งผลให้บริษัทฯ ยังสามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป
 
 
12 กันยายน 2553
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และพวกรวม 3 คน ออกรณรงค์ให้ข้อมูลกับชาวบ้านให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง และข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ที่บริเวณตลาดอำเภอภาชีโดยมีเครื่องเสียง รถอีแต๋น และรถยนต์กระบะอยู่ในขบวน
 
21 ตุลาคม 2553
นางสุคนธ์ สหาวัตร ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และพวก 
 
11 พฤศจิกายน 2553
สถานีตำรวจภูธรภาชี ออกหมายเรียก นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ให้เข้ามาพบเจ้าพนักงาน
 
22 พฤศจิกายน 2553
จำเลยทั้งสามเข้าพบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” และทำการสอบสวนแล้ว โดยจำเลยทั้งสามมิใช่ผู้ถูกจับและยังไม่มีการออกหมายจับ ในชั้นสอบสวนนี้ จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ 
 
18 สิงหาคม 2554
จำแลยทั้งสามพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดย ร.ต.อ.ธวัชชัย จันทร์เรือง พนักงานสอบสวน แจ้งข้อหา “ร่วมกันดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าด้วยการโฆษณา”
 
3 ตุลาคม 2554
จำเลยทั้งสามเดินทางมายังศาลจังหวัดแขงพระนครศรีอยุธยารับทราบคำฟ้องแล้ว ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลจึงนัดวันสืบพยานใหม่
 
14 มีนาคม 2555
นางสุคนธ์ สหาวัตร เข้าเบิกความต่อศาลว่า การที่จำเลยดูหมิ่นด้วยการโฆษณานั้น อาจทำให้เกิดความเสียหายและคิดได้ว่าโจทก์มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงไฟฟ้าหนองแซง แต่ความจริงโรงไฟฟ้าหนองแซงได้ก่อสร้างขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้ดำรงตำแหน่งนายก อ.บ.ต. หนองน้ำใสแล้ว อย่างไรก็ดีได้ยอมรับว่าเคยได้รับเลือกให้เป็นคนดังของโรงไฟฟ้าหนองแซง และเคยลงนามในการก่อสร้างของโรงไฟฟ้าหนองแซงหลายอย่าง รวมทั้งเคยอนุญาตให้โรงไฟฟ้าหนองแซงใช้พื้นที่ของ อ.บ.ต. ประชุม เคยไปดูงานโดยใช้งบของการไฟฟ้าหนองแซง นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งกรรมการของโรงไฟฟ้าหนองแซง และได้รับเงินค่าเบี้ยประชุมในเงินกองทุนที่ได้รับจากโรงไฟฟ้าหนองแซง 
 
1 พฤษภาคม 2555
กำหนดวันพิจารณาคดี แต่เนื่องจากโจทก์และทนายจำเลยติดใจสืบพยานเพิ่ม ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไปก่อน
 
11 มิถุนายน 2555
เบิกความพยานโจทก์ นางกองแก้ว สีหาโม้ อายุ 50 ปี อาชีพค้าขาย เบิกความว่าในวันเกิดเหตุได้เห็นจำเลยที่ 1 พูดข้อความหมิ่นนายกอบต. หนองน้ำใสผ่านเครื่องกระจายเสียง และจำเลยที่ 2 และ 3 พูดข้อความเดียวกัน โดยพูดทีละคนเรียงกันไป โดยวันดังกล่าวไม่ได้พบกับผู้เสียหายแต่ได้มาเจอกับผู้เสียหายในวันรุ่งขึ้น และได้สอบถามผู้เสียหายว่าอับอายหรือไม่ที่ปล่อยให้เขาด่าว่า ผู้เสียหายจึงถามว่าได้ยินที่จำเลยพูดหมิ่นใช่หรือไม่ และชักชวนให้มาเป็นพยานให้
 
นางชีพสุมนต์ อ่อนบรรจง อายุ 50 ปี อาชีพรับจ้าง เบิกความว่าได้ยินเสียงมีการโฆษณา ด่าว่านายก และเห็นจำเลยที่ 1, 2 และ 3 เป็นผู้พูดด้วยข้อความคล้ายๆ กัน คนละคราว หลังจากวันนั้นผู้เสียหายได้มาหาที่ร้าน จึงได้ถามว่าทนต่อคำด่านั้นได้อย่างไร ต่อมาเมื่อผู้เสียหายแจ้งความ จึงมีพนักงานสอบสวนเรียกไปสอบปากคำ
 
18 มิถุนายน 2555
กำหนดวันพิจารณาคดี แต่เนื่องจากโจทก์ยังคงติดใจสืบพยานเพิ่ม จึงเลื่อนให้ไปนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปก่อน
 
15 ตุลาคม 2555
กำหนดวันพิจารณาคดี นัดสืบพยานโจทก์ ด.ต.บุญนาค เมี่ยงอิ่ม อายุ 48 ปี อาชีพรับราชการตำรวจ เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามได้นั่งรถอีแต๋น บรรทุกเครื่องเสียงมาที่ข้างตู้ยาม แล้วผลัดกันขึ้นพูดกล่าวหานายก อ.บ.ต.หนองน้ำใส ซึ่งขณะที่ได้ยินพยานอยู่ในตู้ยาม แต่ก็สามารถได้ยินเสียงได้ชัดเจน
 
ด้าน พ.ต.ต. ธวัชชัย จันทร์เรือง อายุ 40 ปี อาชีพรับราชการตำรวจ พนักงานสอบสวน เบิกความว่าวันที่ 21 ตุลาคม 2553 มีผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ว่าผู้ต้องหาทั้งสามร่วมกันกล่าววาจาดูหมิ่นผู้เสียหายโดยเครื่องกระจายเสียง พยานได้รับเรื่องไว้แล้วได้สอบปากคำผู้เสียหาย นางชีพสุมนต์ อ่อนบรรจง นางกองแก้ว สีหาโม้ ด.ต.บุนนาค และออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาทั้งสามคนมาพบ และแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาทั้งสามว่าร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา
 
จากนั้นทนายจำเลยทั้งสามแถลงติดใจสืบพยานเพิ่ม 4 ปาก จึงให้เลื่อนนัดไปสืบพยานต่อไปก่อน 
 
3 ธันวาคม 2555
นัดสืบพยานจำเลยวันนี้ แต่สามารถนำเข้าสืบได้ 1 ปาก เหลือพยาน 3 ปาก จึงให้เลื่อนนัดไปสืบพยานจำเลยต่อ นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี อายุ 56 ปี จำเลยที่ 1 เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ กลุ่มของจำเลยได้มีการประชุมเพื่อออกรณรงค์ให้ข้อมูลแก่ชาวบ้าน มีชาวบ้านประมาณ 50 คนมาร่วมประชุม หลังจากปราศรัยไปประมาณ 50 นาที จำเลยได้ขอตัวกลับ เนื่องจากต้องไปติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ อ.บ.ต.โคกตูม อ.หนองแค จ.สระบุรี และได้พบกับเจ้าหน้าที่ อ.บ.ต. ชื่อนายกิตติ จูจันทร์ และได้อยู่ที่อ.บ.ต. ดังกล่าวตั้งแต่ 14-21 นาฬิกา จากนั้นได้เดินทางกลับบ้าน
 
4 มีนาคม 2556
นางปฐมมน กัณหา อายุ 59 ปี อาชีพค้าขาย จำเลยที่ 3 เบิกความว่าในวันเกิดเหตุกลุ่มของจำเลยได้มีการจัดเวทีให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หลังจากปราศรัยไปได้ถึงประมาณ บ่ายโมง จำเลยที่ 1 ขอตัวไปทำแอร์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และ 3 จึงได้เดินทางไปประชาสัมพันธ์งานของกลุ่มบริเวณตลาดนัดที่เกิดเหตุ และได้แบ่งกันพูดในหัวข้อต่างๆ โดยจำเลยที่ 2 พูดเรื่องการแย่งน้ำและปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำโรงไฟฟ้า ส่วนจำเลยที่ 3 พูดเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ โดยจำเลยที่ 3 กล่าวว่าไม่เห็นพยานโจทก์ที่มาเบิกความซึ่งอ้างว่ายืนอยู่แถวนั้นเลย 
 
นายกิตติ จูจันทร์ อายุ 43 ปี อาชีพรับราชการ เบิกความว่าเวลาประมาณ 14 นาฬิกาของวันเกิดเหตุ ได้พบจำเลยที่ 1 กำลังซ่อมเครื่องปรับอากาศอยู่จนถึงเวลาประมาณ 20 นาฬิกา 
 
10 มิถุนายน 2556
นายพินิต พูนพิพัฒน์ อายุ 54 ปี อาชีพรับราชการ เบิกความว่าในวันเกิดเหตุได้ออกรณรงค์ให้เกษตรกรทราบถึงผลกระทบของการสร้างโรงไฟฟ้า ต่อมาเวลาประมาณ 12 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขอตัวไปทำธุระโดยบอกว่าจะไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกตูมกิ่งโพนทอง จังหวัดสระบุรี และไม่ได้กลับมาที่ปราศรัยอีก
 
25 กรกฎาคม 2556
ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยานัดอ่านคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสามแล้วพบว่า ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 ในขณะที่คำเบิกความของจำเลยที่ 2 และ 3 ยังไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ แม้ว่าผู้เสียหายจะยอมรับว่า ผู้เสียหายเป็นกรรมการของโรงไฟฟ้าหนองแซงและได้รับเงินค่าเบี้ยประชุมในเงินกองทุนที่ได้รับจากโรงไฟฟ้าหนองแซงจริง แต่จำเลยทั้งสามก็ไม่มีสิทธิที่จะร่วมพูดจาดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่การที่จำเลยทั้งสามออกรณรงค์ให้ความรู้แกชาวบ้านเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนับเป็นประโยชน์ต่อสังคมเห็นควรลงโทษสถานเบา
 
ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 15 วัน ปรับคนละ 1,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29,30  
 
21 สิงหาคม 2556
ทนายความจำเลยขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ 
 
25 กันยายน 2556
จำเลยทั้งสามยื่นอุธรณ์ต่อศาล ด้วยไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยจำเลยทั้งสามเห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงและการรับฟังข้อเท็จจริงอยู่ จึงขออุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้ 

คดีนี้ผู้เสียหายและพยานโจทก์ทุกปากล้วนมีเหตุในการปรักปรำจำเลยให้ต้องคดีและรับโทษทางอาญา เนื่องจากจำเลยทั้งสามเป็นแกนนำชาวบ้านที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อศึกษาถึงผลกระทบของโรงงานไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชน ส่วนผู้เสียหายเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับโรงไฟฟ้าและมีผลประโยชน์ทางการเมืองหลายประการ ดังนั้นผู้เสียหายย่อมมีเหตุจะปรักปรำจำเลย อีกทั้งพยานโจทก์ก็เป็นคนของฝ่ายผู้เสียหาย ดังนั้นพยานโจทก์ก็ย่อมจะเบิกความเพื่อช่วยผู้เสียหาย นอกจากนั้นจำเลยขอเรียนต่อศาลว่า การแจ้งความดำเนินคดีของโรงไฟฟ้าหรือผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าในหลายคดี ล้วนแต่เป็นขบวนการยับยั้งการเคลื่อนไหวของจำเลยและชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านกลัวและไม่กล้าออกมาต่อต้านโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นการดำเนินคดีที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง การแจ้งความดำเนินคดีก็นานเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะกระทำ และการเบิกความก็มีลักษณะที่จดจำถ้อยคำตามฟ้องที่แม่นยำเกินกว่าประชาชนทั่วไปจะจดจำได้ 

คดีนี้พยานโจทก์ได้เบิกความขัดกันในข้อเท็จจริงอยู่หลายประการ อันแสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสี่คนไม่ได้ประสบพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจริง นอกจากนั้นพยานโจทก์ทั้งสี่ปากได้เบิกความอันเป็นพิรุจน์ ไม่อยู่กับร่องกับรอยเกี่ยวกับการมองเห็นและโอกาสจดจำจำเลยทั้งสาม เนื่องจากพยานทั้งสี่รู้จักกัน แต่กลับเบิกความว่าในเหตุการณ์ไม่พบเห็นกัน ซึ่งขัดต่อหลักเหตุผลเป็นอย่างยิ่ง 
 
23 มกราคม 2556
 
นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ พิพากษายืน 
 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา