ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า

อัปเดตล่าสุด: 24/10/2560

ผู้ต้องหา

ปติวัฒน์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2556

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

สารบัญ

มีการแสดงละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงาน 40 ปี 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2556 ต่อมาเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าแจ้งความดำเนินคดีเพราะเนื้อหาละครเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ

ปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ถูกจับในเดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงหลังการรัฐประหารที่มีผู้ถูกจับกุมด้วยคดี 112 เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นศาลปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์เคยยื่นขอประกันตัวหลายครั้งแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเดือนธันวาคม 2557 ปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ให้การรับสารภาพในชั้นสอบคำให้การ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาจำคุกทั้งสองคนละสองปีหกเดือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 

ในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2559 ทั้งปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ต่างเข้าเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษเดิมในวันที่ 5 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม 2559 ตามลำดับ

ปติวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขัง 729 วัน ส่วนภรณ์ทิพย์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในวันที่ 27 สิงหาคม 2559  รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขัง 743 วัน 

คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่ามีความน่าสนใจตรงที่ เป็นการนำกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มาใช้กับการแสดงละคร

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปติวัฒน์เป็นนักศึกษาของภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  
 
ภรณ์ทิพย์ เป็นนักกิจกรรม เริ่มทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มประกายไฟการละคร กลุ่มกิจกรรมที่ใช้งานวัฒนธรรมสะท้อนปัญหาสังคม
 
รู้จัก 'ภรณ์ทิพย์' ให้มากขึ้น ผ่านเรื่อง ภรณ์ทิพย์: กลุ่มละครกับความฝัน [112 the Series]

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่าที่แสดงในงาน 40 ปี 14 ตุลา มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีของปติวัฒน์

13 สิงหาคม 2557

นายทหารเดินทางมาพบคณะบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นคณบดีของคณะที่ปติวัฒน์กำลังศึกษาอยู่ เพื่อให้ตามตัวปติวัฒน์มาพุดคุย เมื่อปติวัฒน์มาถึง นายทหารคนนั้นก็แจ้งว่าผู้บังคับบัญชาบอกให้ตนมาเตือนปติวัฒน์เรื่องการเคลื่อนไหว นายทหารคนดังกล่าวใช้เวลาพุดคุยกับปติวัฒน์ประมาณ 5 นาที และขอถ่ายรูปไว้ก่อนขอตัวกลับ

14 สิงหาคม 2557

ช่วงเช้า มีทหารโทรมาหาปติวัฒน์ นัดให้ไปพบที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในจังหวัดขอนแก่น เพื่อเซ็นMOUยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปติวัฒน์เดินทางไปตามนัดคนเดียวในช่วงเช้า แต่ไม่พบใคร จึงเดินทางไปที่คณะ ในเวลาต่อมาปติวัฒน์เดินทางกลับไปยังร้านอาหารเดิมอีกครั้ง โดยไปพร้อมกับคณบดี เมื่อไปถึงปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจรออยู่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็แสดงหมายจับและทำการจับกุม ปติวัฒน์ถูกนำตัวมายังสน.ชนะสงครามในวันเดียวกัน 

กรณีของภรณ์ทิพย์

15 สิงหาคม 2557

ภรณ์ทิพย์ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจับกุมตัวที่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ขณะกำลังจะเดินทางออกนอกประเทศ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

28 สิงหาคม 2557
 
นัดไต่สวน การคัดค้านการฝากขังผลัดที่สอง
 
ครบกำหนดฝากขังภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ พนักงานสอบสวนยื่นขำร้องขอฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง ทนายของผู้ต้องหาทั้งสองยื่นคัดค้าน ศาลจึงให้มีการไต่สวน เบื้องต้นทนายของผู้ต้องหาทั้งสองแจ้งว่า ศาลจะใต่สวนการคัดค้านการฝากขังในห้องผู้พิพากษาเวรชี้ที่อยู่บริเวณใต้ถุนศาล ซึ่งเป็นห้องที่ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ได้รับอนุญาตให้สังเกตการณ์ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งทนายของผู้ต้องหาทั้งสองในเวลาต่อมาว่า ศาลจะใต่สวนที่ห้องพิจารณาคดี 802 ญาติและผู้สังเกตการณ์จึงเข้าฟังการใต่สวนได้
 
เวลาประมาณ 9.45 น. ทนาย ญาติ และผู้สังเกตการณ์ประมาณ 10คน มาถึงห้องพิจารณาคดี 802 พนักงานสอบสวนจากสน.ชนะสงครามก็เดินทางมาถึงในเวลาไล่เลี่ยกัน เวลาประมาณ 10.00 น. ภรทิพย์และปติวัฒน์ถุกนำตัวมาที่ห้องพิจารณาคดี ศาลเริ่มไต่สวนหลังจากผู้ต้องหาทั้งสองมาถึงห้องพิจารณาคดีไม่นาน
 
ไต่สวนการคัดค้านการฝากขังปติวัฒน์
 
ศาลเริ่มไต่สวนปติวัฒน์ก่อนโดยถามว่า ทราบเรื่องที่มีการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังหรือไม่ ปติวัฒน์รับว่าทราบ
 
ศาลอ่านทวนคำร้องของผู้ต้องหา ซึ่งให้เหตุผลแห่งการคัดค้านว่า ผู้ต้องหาถูกสอบสวนโดยละเอียดแล้วทั้งเมื่อถูกจับกุมและในเรือนจทั้งได้ให้การครบถ้วน ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือพฤติการณ์ที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แม้ข้อหาที่ถูกกล่าวหาจะมีความร้ายแรงแต่การกระทำตามข้อกล่าวหาก็เป็นเพียงการแสดงละครเท่านั้น นอกจากนี้กฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีก็เป็นกฎหมายที่มีลักษณะริดรอนสิทธิเสรีภาพ
 
หลังอ่านทวนคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลก็ชี้แจงว่า เนื่องจากการไต่สวนครั้งนี้คือการไต่สวนเรื่องการคัดค้านการฝากขังซึ่ง พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่าต้องฝากขังต่อเพราะยังทำการสืบสวนสอบสวนไม่แล้วเสร็จ ศาลจึงจะพิจารณาแต่คำร้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนเท่านั้น ส่วนคำร้องข้ออื่นให้ยก ดังนั้นคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่อที่ทั้ง ปติวัฒน์ เเละทนายพยามยามชี้เเจงให้ศาลเห็นความสำคัญก็ถูกตัดไปเช่นกัน
 
ปติวัฒน์ชี้แจงกับศาลว่า การสอบสวนเสร็จสิ้นไปแล้วเพราะตนถูกสอบสวนตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ตามไปสอบสวนตนระหว่างถูกคุมขังอีก
 
ศาลถามพนักงานสอบสวนถึงการความคืบหน้าของการทำสำนวน พนักงานสอบสวนตอบว่ายังทำสำนวนไม่แล้วเสร็จ ยังมีพยานรอการสอบปากคำอีกสามปาก ต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา ทั้งต้องทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชาด้วย ถึงตรงนี้ทนายของผู้ต้องหาชี้แจงว่า การทำงานดังกล่าวเป็นเรื่องภายในของตำรวจ ซึ่งผู้ต้องหาคงไม่อาจเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงได้ การควบคุมตัวผู้ต้องหาจึงไม่มีความจำเป็น ในประเด็นฝากขังศาลเห็นว่าเรื่องการขออำนาจฝากขังนั้นเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนว่ารวบรวมพยานหลักฐานให้เเล้วเสร็จครบถ้วนเเล้วหรือไม่ ซึ่งเเม้ศาลจะอนุญาติฝากขังตามคำสั่งของพนักงานก็ตาม ตัวผู้ต้องขังก็ยังมีสิทธิที่จะขอปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ 
 
พนักงานสอบสวนชี้แจงต่อข้อนี้ว่าการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้มีการขออนุมัติหมายจับเพิ่มเติม หากปล่อยตัวผู้ต้องหาไป อาจกระทบต่อการสอบสวนผู้ต้องหาตามหมายจับรายอื่น พนักงานสอบสวนยังยอมรับว่าในวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมาตนได้เข้าไปสอบสวน ปติวัฒน์ ในเรือนจำจริง คำให้การส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มเเละกลุ่มบุคคลเหล่านั้นล้วนมีความเกี่ยวข้องทางการเมืองซึ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันพนักงานชี้แจงด้วยว่าหากการสืบสวนสืบสวนแล้วเสร็จหรือหากมีการจับกุมผู้ต้องหาได้ ก็จะไม่ขอฝากขังอีก ถึงตรงนี้ปติวัฒน์ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนไม่มีเจตนายิ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เพราะหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตนก็ต้องกลับไปเรียนหนังสือไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น
 
เสร็จสิ้นการไต่สวน การคัดค้านการฝากขังของปติวัฒน์
 
ศาลไต่สวนภรณ์ทิพย์ต่อทันที 
 
ไต่สวนการคัดค้านการฝากขังภรณ์ทิพย์
 
ศาลถามภรณ์ทิพย์ ทราบเรื่องคำร้องคัดค้านการฝากขังหรือไม่ ภรณ์ทิพย์รับว่าทราบ 
 
ศาลอ่านคำร้องคัดค้านการฝากขังของภรทิพย์ ซึ่งให้เหตุผลว่า คัดค้านคำร้องขอฝากขัง เพราะได้ให้การโดยละเอียดแล้ว และได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยขอให้การในชั้นศาล ผู้ต้องหาให้การรับรองว่าไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และแม้คดีนี้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหลบหนี ระหว่างที่ศาลกำลังอ่านทวนคำร้องของผู้ต้องหาก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในศาล ศาลจึงขอให้ปิดเสียงโทรศัพท์ 
 
ศาลถามต่อไปว่า นอกจากคำร้องนี้แล้ว ผู้ต้องหาหรือพยานอยากจะแถลงอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ญาติของผู้ต้องหาซึ่งอ้างตัวเป็นพยานเริ่มเล่าถึงประวัติของผู้ต้องหา แต่ศาลตัดบทและขอให้พยานพูดถึงเฉพาะเรื่องของการสอบสวนเท่านั้น ญาติของภรทิพย์ชี้แจงต่อศาลว่า ระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบข้อมูลที่บ้านของผู้ต้องหาที่ต่างจังหวัดแล้วและผู้ต้องหาก็ถูกสอบสวนไปแล้ว จึงไม่น่าจะยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้
 
ศาลหันไปถามพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนชี้แจงว่า การสืบสวนสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีพยานที่ต้องสืบเพิ่มเติม ทนายลุกขึ้นชี้แจงต่อศาลว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมระหว่างกำลังจะเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ มารดาของผู้ต้องหาประสบความเดือดร้อนเพราะกู้เงินมาให้ผู้ต้องหาใช้จ่ายในการเดินทางเป็นจำนวนมาก ผู้ต้องหาจึงมีภาระทางครอบครัว และเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี ศาลกล่าวขึ้นว่านี่เป็นการไต่สวนเพื่อคัดค้านการฝากขังเท่านั้น ไม่ใช่การสืบพยาน จึงขอให้หาเหตุผลมาหักล้างคำร้องขอฝากขังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้น ทั้งนี้ศาลยังชี้ต่อไปอีกว่าการฝากขังต้องดูจากความจำเป็นของเจ้าพนักงานเป็นหลักเนื่องจากศาลเห็นว่ายังสามารถยื่นขอสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวในขั้นตอนต่อไปได้ ต่อมาทนายของผู้ต้องหาจึงชี้แจงว่า ผู้ต้องหาถูกสอบสวนจนเสร็จสิ้นแล้ว โดยระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ก็ถูกสอบสวนเป็นเวลานานตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงสองทุ่ม จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้อีก
 
หลังเสร็จสิ้นการใต่สวน ศาลแจ้งให้ผู้ต้องหาและทนายรอฟังคำสั่งในห้องพิจารณาคดี แล้วจึงลุกออกไปในเวลาประมาณ 10.30 น. 
 
ระหว่างรอคำสั่งศาล ผู้ต้องหาคุยกับญาติและผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นกันเอง โดยผู้ต้องหาทั้งสอง ยังมีกำลังใจดี เวลาประมาณ 11.00 น. หน้าบัลลังก์เดินออกไปตามพนักงานสอบสวนเข้ามาคุยโทรศัพท์บริเวณโต๊ะของหน้าบัลลังก์ แต่ไม่ทราบว่าคุยกับใครหรือคุยเรื่องอะไร 
 
เวลาประมาณ 11.15 น. ศาลกลับเข้ามาอีกครั้ง ก่อนมีคำวินิจฉัย ให้ยกคำร้องคัดค้านการฝากขังของผู้ต้องหาทั้งสอง เพราะกระบวนการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องสืบพยานเพิ่มเติมและทำประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ ศาลขอให้พนักงานสอบสวนเร่งทำสำนวนเพราะศาลอาจไม่อนุญาตให้ฝากขังในผลัดต่อไป 
 
หลังอ่านคำวินิจฉัย ศาลย้ำกับพนักงานสอบสวนด้วยวาจาอีกครั้งว่าให้เร่งทำสำนวน และบอกทนายว่าให้ไปยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลจะอนุญาตหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจขององค์คณะที่ทำหน้าที่เวรชี้
 
19 กันยายน 2557
 
นัดไต่สวน การคัดค้านการฝากขังผลัดที่สาม
 
ห้องพิจารณาคดี 612 ศาลอาญารัชดา
 
ครบรอบการฝากขังผู้ต้องหาผลัดที่ 3 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่อเป็นผลัดที่ 4 ขณะเดียวกัน ทนายของผู้ต้องหาทั้งสองขอคัดค้านการขอฝากขัง ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้องของทั้งสองฝ่าย
 
ผู้ต้องหาทั้งสองถูกนำตัวเข้ามาในห้องพิจารณาคดีเมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. โดยระหว่างกระบวนพิจารณานอกจากจะมี พนักงานสอบสวนและทนายจำเลยแล้ว ยัังมีผู้สังเกตการณ์และเพื่อนของผู้ต้องหาทั้งสองอีกประมาณ 15 คน นั่งฟังการไต่สวนอยู่ด้วย
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 14.40 น. พนักงานสอบสวนเบิกความต่อศาลว่า ขณะนี้สอบคำให้การเสร็จแล้วและเรื่องอยู่ในระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง จึงต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการของตำรวจ และผบ.ตร.พิจารณาอนุมัติการสั่งฟ้องคดี จึงต้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่ออีกหนึ่งผลัด
 
ปติวัฒน์ หนึ่งในผู้ต้องหา เบิกความต่อศาลว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สอบสวนตนและพยานทั้งหมดแล้ว กระบวนที่เหลือเป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการเอง โดยไม่จำเป็นต้องควบคุมตนไว้ จึงขอคัดค้านการฝากขัง
 
ศาลชี้แจงคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า เนื่องจากในขณะนี้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และไม่มีเหตุผลอื่นๆ ในการจะควบคุมตัวผู้ต้องหาเอาไว้ ก็ไม่ควรจะรอและใช้ระยะเวลานาน ขณะที่ผู้ต้องหาก็ถูกคุมขังอยู่ ถูกจำกัดเสรีภาพ พนักงานสอบสวนจึงควรจะเร่งรัดให้มีการประชุมคณะกรรมการของตำรวจ ระยะเวลาฝากขัง 12 วันนานเกินไป ครั้งนี้ศาลมีดุลยพินิจว่าจะให้ฝากขังเพียง 6 วัน ขอให้พนักงานสอบสวนทำหนังสือแจ้งถึงผู้บังคับบัญชาให้เร่งดำเนินการ โดยสามารถนำความเห็นของศาลไปแจ้งถึงผู้บังคับบัญชาได้ ศาลนับวันฝากขังว่าจะครบ 6 วันอีกครั้ง ในวันที่ 27 กันยายน 57 ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเวลา 5 วันทำการ น่าจะดำเนินการได้ทัน
 
พนักงานสอบสวนไม่คัดค้านดุลยพินิจของศาล ส่วนทนายของผู้ต้องหาได้กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นด้านการศึกษาของผู้ต้องหา ซึ่งต้องออกไปดำเนินการในเทอมนี้ ศาลชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่จะใช้ยื่นในการขอปล่อยตัวชั่วคราว เป็นคนละประเด็นกับการร้องว่าพนักงานสอบสวนจะมีเหตุในการควบคุมผู้ต้องหาไว้หรือไม่ ส่วนในกรณีของภรณ์ทิพย์ ศาลมีดุลยพินิจในการฝากขังเช่นเดียวกับกรณีของปติวัฒน์
 
เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวนคำร้อง ทนายของผู้ต้องหาได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวภรณ์ทิพย์ ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 300,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ประกอบกับศาลได้วินิจฉัยให้ฝากขังต่อไปแล้ว ส่วนกรณีปติวัฒน์ ทนายจำเลยไม่ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากมีเอกสารไม่ครบ
 
 

หมายเลขคดีดำ

อ.3526/2557

ศาล

อาญา รัชดาภิเษก

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ประชาสัมพันธ์ งานเดือนตุลาที่ไม่ควรพลาด. VVoicetv วันที่ 28 กันยายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2557)

81ปีประชาธิปไตยไทย(ๆ)?. คมชัดลึกออนไลน์ 24 มิถุนายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2557)

เจ้าสาวหมาป่า คนไทยที่จงรักภักดีต้องช่วยกันติดตาม. โอเคเนชันบล็อกของสิงห์นอกระบบ 1 พฤศจิกายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2557)

ตระเวน 13 สน. แจ้งจับละคร 'เจ้าสาวหมาป่า' งานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา อ้างหมิ่นเบื้องสูง.ประชาไท 12 พฤศจิกายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2557)

‘112’กับเจ้าสาวหมาป่า!. โลกวันนี้ออนไลน์ 8 พฤศจิกายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2557)  

 

31 ตุลาคม 2556
 
ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน จัดการประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน ภายในงานมีการพูดถึงขบวนการล้มสถาบัน และมีการเปิดฉายคลิปบางส่วนของละครเวที “เจ้าสาวหมาป่า” ที่แสดงในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2556  ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ผู้ดำเนินการประชุมชี้ว่า อาจมีการหมิ่นสถาบันผ่านละครดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการนัดแนะเครือข่ายฯ ให้นำคลิปละครเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันที่ 1 พ.ย.2556 โดยจะมีการแจกคลิปภายหลังงานสำหรับผู้ที่สนใจเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 52 คนลงชื่อแสดงความสนใจ
 
 
2 พฤศจิกายน 2556
 
เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ สรุปกิจกรรมที่สมาชิกเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เดินทางไป แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับการแสดงละคร เรื่องเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทั้งผู้เขียนบท ผู้แสดง ผู้สนับสนุน ให้มีการจัดงาน ล่าสุด มีสมาชิกไปแจ้งความไว้กับสถานีตำรวจ13แห่ง ประกอบด้วย
 
1.สน.คันนายาว กทม.
2.สภ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี
3.สภ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
4.สภ.บางบาล จ.อยุธยา
5.สภ.บางปะอิน จ.อยุธยา
6.สภ.เมือง จ.นครปฐม
7.สภ.เมือง จ.ราชบุรี
8.สภ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
9.สภ.เมือง จ.กำแพงเพชร
10.สภ.เมือง จ.พิษณุโลก
11.สภ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
12.สภ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
13.สภ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
 
ที่มา ประชาไท
 
14 สิงหาคม 2557
 
พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม นำกำลังเข้าจับกุม ปติวัฒน์ ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ที่จังหวัดขอนแก่น ปติวัฒน์เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องคนแรกที่ถูกจับกุม
 
พ.ต.ท.สมยศเปิดเผยว่า ปติวัฒน์เคยร่วมแสดงละครเวทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่า โดยละครเรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในส่วนของคดี ปติวัฒน์รับว่าร่วมแสดงละครจริง แต่ปฏิเสธข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ
 
หลังการจับกุม ปติวัฒน์ถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯ ไปยังสน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นสน.ที่ดูแลท้องที่เกิดเหตุ 
 
ที่มา ประชาไท

15 สิงหาคม 2557

พนักงานสอบสวนนำตัวปติวัฒน์ไปที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขัง ขณะที่ญาติของปติวัฒน์ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท
 
เวลาประมาณ 17.45 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า
 
“พิเคราะห์แล้ว คดีอัตราโทษสูง เมื่อพิจารณาการกระทำตามคำร้องฝากขังและพยานหลักฐานประกอบการร้องขอออกหมายจับแล้ว เห็นว่า  ผู้ต้องหาร่วมแสดงละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อหน้าผู้ชมเป็นจำนวนมาก ทั้งมีการเผยแพร่ออกไปยังสื่อทั้งในเฟซบุคและเว็บไซต์เป็นวงกว้าง พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งผู้ต้องหาถูกจับตัวตามหมายจับของศาล ดังนั้น หากปล่อยชั่วคราวอาจหลบหนีได้ ประกอบด้วยผู้ร้อง(พนักงานสอบสวน)คัดค้านการประกันตัว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว”
 
หลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ปติวัฒน์ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
ที่มา ประชาไท
 
ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียก็ออก แถลงการณ์ แสดงความกังวลต่อกรณีนี้ว่า 
 
คณะกรรมการมีความรู้สึกกังวลอย่างมาก หลังจากได้รู้ข่าวของปติวัฒน์ และมองว่า การจับกุมและตั้งข้อหาครั้งนี้ เป็นเครื่องแสดงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง หลังจากการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 
 
ที่มา ประชาไท
 
ในช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ภรณ์ทิพย์  นักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟการละครหนึ่งคน ที่สนามบินหาดใหญ่ระหว่างตรวจหนังสือเดินทาง ขณะที่กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ คาดว่าเธอถูกจับกุมเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับละครเจ้าสาวหมาป่าด้วยเช่นกัน หลังถูกจับกุมภรณ์ทิพย์ถูกส่งตัวไปยังสน.ชนะสงคราม ซึงรับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุ
 
ที่มา ประชาไท

16 สิงหาคม 2557

พนักงานสอบสวนนำตัวภรณ์ทิพย์ไปที่ศาลอาญาเพื่อขอฝากขัง ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของภรณ์ทิพย์ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท

ในเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า 

"พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวกตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เห็นว่าการกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวกเป็นการนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนที่จงรักภักดี ประกอบกับผู้ต้องหาถูกจับกุมตามหมายจับ และผู้ร้องคัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วจะหลบหนี เหตุผลตามคำร้องประกอบการปล่อยชั่วคราวยังไม่เพียงพอจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง"

หลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว  ภรณ์ทิพย์ถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพ 

ที่มา ประชาไท

18 สิงหาคม 2557 

จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 14 ตุลา เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงคสช.ต่อกรณีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองว่า ละครเจ้าสาวหมาป่า เป็นส่วนหนึ่งของรายการศิลปวัฒนธรรมในงานฉลอง 40 ปี 14 ตุลาคม แม้ละครจะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ก็เหมือนๆ กับละคร หนังตะลุง และภาพยนตร์จักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์  

ในจดหมายเปิดผนึก จรัลประท้วงการจับกุมบุคคลทั้งสอง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม และเสรีภาพแสดงความคิดเห็น 

ที่มา ประชาไท

นอกจากจรัลแล้ว ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ก็ออก แถลงการณ์ กรณีการดำเนินคดีและการควบคุมตัว ผู้ต้องหาทั้งสองด้วยเช่นกัน โดยระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า เสรีภาพในการพูด กำลังถูกทำให้เป็นอาชญากรรม

ที่มา ประชาไท

26 สิงหาคม 2557

นัดไต่สวนการคัดค้านการขอฝากขัง

ศาลยกคำร้องคัดค้านการฝากขัง เพราะเห็นว่าพนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหา เนื่องจากการสืบสวนสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ศาลกำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดการทำสำนวนด้วยเพราะศาลอาจไม่อนุญาตให้ฝากขังในผลัดต่อไป

หลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านการขอฝากขัง ทนายของผู้ต้องหาทั้งสองยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเงินสด รายละ300,000 บาท แต่ต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหจุผลว่ากรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

8 กันยายน 2557

นัดไต่สวนการคัดค้านการขอฝากขังผลัดที่สาม

ศาลอาญารัชดา

พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ต่อเป็นผลัดที่สาม ทนายของผู้ต้องหาทั้งสองยื่นคำร้องขัดค้านการขอฝากขัง

กรณีของภรณ์ทิพย์

พนักงานสอบสวนร้องต่อศาลว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ต้องรอผลการตรวจสอบประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา และต้องเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จึงขอให้ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาอีก 12 วัน และขอคัดค้านหากมีการขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนระบุด้วยว่า การส่งสำนวนให้คณะกรรมการของสตช. อาจใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน ทำให้อาจต้องฝากขังผู้ต้องหาต่ออีกสามผลัด

ภรณ์ทิพย์คัดค้านการขอฝากขังโดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานครบถ้วนแล้ว คดีนี้เป็นคดีที่ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่ซับซ้อน ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไม่สามารถยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

กรณีของภรณ์ทิพย์ ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อ เพราะเห็นว่าพนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นต้องนำเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาฟังไม่ขึ้น ให้ยกคำร้อง และให้พนักงานสอบสวนเร่งทการสอบสวน โดยในครั้งต่อไป ศาลจะพิจารณาคำร้องขอฝากขังอย่างเคร่งครัด

กรณีของปติวัฒน์

พนักงานสอบสวนร้องต่อศาลว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ต้องรอผลการตรวจสอบประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา และต้องเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จึงขอให้ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาอีก 12 วัน และขอคัดค้านหากมีการขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนระบุด้วยว่า การส่งสำนวนให้คณะกรรมการของสตช. อาจใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน ทำให้อาจต้องฝากขังผู้ต้องหาต่ออีกสามผลัด

ปติวัฒน์คัดค้านการขอฝากขังโดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานครบถ้วนแล้ว คดีนี้เป็นคดีที่ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่ซับซ้อน ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไม่สามารถยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

กรณีของปติวัฒน์ ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อ เพราะเห็นว่าพนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นต้องนำเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาฟังไม่ขึ้น ให้ยกคำร้อง และให้พนักงานสอบสวนเร่งทการสอบสวน โดยในครั้งต่อไป ศาลจะพิจารณาคำร้องขอฝากขังอย่างเคร่งครัด

19 กันยายน 2557
 
นัดไต่สวน การคัดค้านการฝากขังผลัดที่สี่
 
25 กันยายน 2557
 
นัดไต่สวนการคัดค้านการขอฝากขังผลัดที่ 5

กรณีปติวัฒน์

ทนายความผู้ต้องหายืนคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง เนื่องจากพนักงานสอบสวนกล่าวว่า การสอบสวนอยู่ระหว่างการเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชา 3 ระดับ คือ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1, กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลางซึ่งเป็นแผ่นซีดีบันทึกการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า

ทนายความผู้ต้องหาเห็นว่าขั้นตอนการสอบสวนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และผู้ต้องหาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานใดๆ จึงไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน อีกทั้งการที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้เสียโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน นอกจากนี้ผู้ต้องหามีอาการป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

ศาลพิเคราะห์คำร้องขอฝากขัง และคำร้องขอคัดค้านแล้วเห็นว่า ควรยกคำร้องคัดค้านของฝากขัง เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชา และพนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นต้องรอผลการตรวจพิสูจน์แผ่นซีดีของกลางที่เป็นหลักฐานสำคัญในคดี กระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ข้อคัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องจากศาลให้เวลาพนักงานสอบสวนมาพอสมควรแล้ว เพื่อเป็นการเร่งรัดจึงอนุญาตให้ฝากขังต่ออีก 6 วัน

นอกจากนี้ ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 600,000 บาท พร้อมเหตุผลประกอบว่า ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ตอนที่จับกุมมีการเชิญตัวก็ไปพบแต่โดยดี และผู้ต้องหาก็อยู่ระหว่างการศึกษา ที่มีความประพฤติเรียบร้อย ผลการเรียนดี และทำกิจกรรมเพื่อสังคมและกิจกรรมมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด 

ศาลยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมให้เหตุผลว่าศาลเคยสั่งไม่อนุญาตขอปล่อยตัวชั่วคราวและระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว 

26 กันยายน 2557
 
นัดไต่สวนการคัดค้านการขอฝากขังผลัดที่ 5

กรณีภรณ์ทิพย์

ทนายความผู้ต้องหายืนคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง เนื่องจากพนักงานสอบสวนกล่าวว่า การสอบสวนอยู่ระหว่างการเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชา 3 ระดับ คือ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1, กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลางซึ่งเป็นแผ่นซีดีบันทึกการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า

ทนายความผู้ต้องหาเห็นว่าขั้นตอนการสอบสวนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และผู้ต้องหาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานใดๆ จึงไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนอีก

ศาลพิเคราะห์คำร้องขอฝากขัง และคำร้องขอคัดค้านแล้วเห็นว่า ควรยกคำร้องคัดค้านของฝากขัง เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชา และพนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นต้องรอผลการตรวจพิสูจน์แผ่นซีดีของกลางที่เป็นหลักฐานสำคัญในคดี กระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ข้อคัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องจากศาลให้เวลาพนักงานสอบสวนมาพอสมควรแล้ว เพื่อเป็นการเร่งรัดจึงอนุญาตให้ฝากขังต่ออีก 5 วัน

ในวันนี้ ผู้ต้องหาไม่ประสงค์จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
 
27 ตุลาคม 2557
 
นัดสอบคำให้การ
 
จำเลยทั้งสองขอให้ศาลเลื่อนการสอบคำให้การออกไปก่อน เพราะต้องการปรึกษากับทนายถึงแนวทางคดี ศาลอนุญาตตามคำขอของจำเลยทั้งสอง และนัดสอบคำให้การ และนัดพร้อมในวันที่ 29 ธันวาคม 2557
 
28 ตุลาคม 2557
 
ทนายจำเลยยื่นขอปล่อยตัวจำเลยทั้งสองชั่วคราว โดยอาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหิดล จำนวน 3 คนใช้ตำแหน่งวิชาการเป็นหลักประกัน
 
ต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ศาลอาญาเคยสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว  
 
ที่มา ประชาไท
 
7 พฤศจิกายน 2557
 
หลังศาลมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสองในวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ทนายความของจำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลประกอบว่า
 
จำเลยทั้งสองไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่เคยทำความผิดมาก่อน นอกจากนี้จำเลยทั้งสองก็เป็นผู้มีความประพฤติดี ทั้งนักวิชาการที่เป็นนายประกันต่างก็เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ
 
18 พฤศจิกายน 2557
 
ทนายจำเลยเดินทางไปฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ศาลอาญา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ยกอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยทั้งสอง โดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน และความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ
 
นอกจากนี้หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 2 อาจหลบหนี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณานั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
 
29 ธันวาคม 2557
 
นัดพร้อม
 
ที่ห้องพิจารณา 813 ศาลอาญารัชดา ศาลนัดพร้อมจำเลยทั้งสองเพื่อสอบคำให้การ วันนี้มีผู้สังเกตการณ์มาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการเสริมเก้าอี้เข้ามา แต่ก็มีผู้สังเกตการณ์บางส่วนที่ต้องยืน
 
เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ ปรากฎว่ามีเพียงจำเลยที่ 2 ที่อยู่ในห้องพิจารณา ส่วนจำเลยที่หนึ่งยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใต้ถุนศาล หน้าบัลลังก์จึงต้องโทรตามให้เจ้าหน้าที่ราชธัณฑ์นำตัวขึ้นมา
 
เมื่อจำเลยทั้งสองมาถึง ศาลถามจำเลยทั้งสองว่าทราบรายละเอียดฟ้องแล้วใช่หรือไม่และจะให้การอย่างไร จำเลยทั้ง 2 แถลงว่าเข้าใจฟ้องแล้ว ขอให้การรับสารภาพ
 
ทนายจำเลยยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ขอให้ศาลพิจารณารอการลงโทษ พร้อมทั้งยื่นแผ่นบันทึกภาพและเสียง พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตรัสเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯประกอบคำร้อง
 
ศาลถามอัยการว่าจะคัดค้า่นคำร้องหรือไม่ อัยการแถลงไม่คัดค้าน
 
ศาลสั่งว่าคดีนี้มีเหตุตามสมควรให้สอบประวัติจำเลยเพื่อพิจารณาเหตุบรรเทาโทษ จึงให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะประวัติจำเลยทั้งสองและรายงานผลต่อศาลภายใน 45 วัน ให้จำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13.30 น.
 
23 กุมภาพันธ์ 2558
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ตามกำหนดการเดิม ศาลนัดฟังคำพิพากษาในเวลาประมาณ 13.30 น แต่ในช่วงเช้า เพื่อนของภรณ์ทิพย์ แจ้งข่าวในเฟซบุ๊กว่า ศาลอาญาเลื่อนเวลาอ่านคำพิพากษาจากเดิม 13.30 ไปเป็นเวลา 9.30 แทน การเลื่อนครั้งเป็นการเลื่อนแบบกระทันหันที่ทนายความจำเลยก็ไม่ทราบ ทนายจึงต้องรีบตามมาที่ศาล
 
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนเวลาอ่านคำพิพากษา แต่ก็มีผู้มาสังเกตการณ์คดีที่ศาลเป็นจำนวนมาก ทั้งญาติและเพื่อนของจำเลยทั้ง 2 รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติที่เป็นตัวแทนของสถานทูต
 
เวลาประมาณ 11.20 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยอ่านเพียงสั้นๆ ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน  ไม่ให้รอการลงโทษ
 
หลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยทั้งสองถูกนำตัวไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันทีโดยไม่มีโอกาสพูดคุยกับญาติและเพื่อนๆที่มาให้กำลังใจ 
 
หลังจากนั้น ที่ใต้ถุนศาล เพื่อนของภรณ์ทิพย์ที่มาให้กำลังใจต่างมารวมตัวกันที่หน้าห้องขังหญิง และร้องเพลงให้กำลังใจ แต่ยังร้องไม่ทันจบ เจ้าหน้าที่ก็เรียกภรณ์ทิพย์กลับเรือนจำ ภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ถูกนำตัวขึ้นไปรถกะบะที่ดัดแปลงเป็นรถขนผู้ต้องขังขนาดเล็กและถูกส่งตัวกลับเรือนจำทันที 
 
8 สิงหาคม 2559
 
ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ทั้งปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการลดหย่อนโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย โดยทั้งสองเข้าเกณฑ์ได้รับปล่อยตัวก่อนครบกำหนดเดิม ปติวัฒน์จะครบกำหนดโทษในวันที่ี 5 ตุลา่คม 2559 ส่วนภรณ์ทิพย์จะครบกำหนดโทษในวันที่ 6 ตุลาคม 2559
 
12 สิงหาคม 2559
 
ประชาไทรายงานว่า ปติวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ สำหรับภรณ์ทิพย์ ไม่ได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า หลังพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทางเรือนจำจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องขังภายในเวลา 120 วัน สำหรับกรณีของภรณ์ทิพย์เธอเหลือเวลาที่จะต้องรับโทษอีก 55 วัน เธอจึงอาจถูกปล่อยก่อนกำหนดเดิมหรืออาจถูกปล่อยตัวตามกำหนดโทษเดิมในวันที่ 6 ตุลาคม 2559  ทนายให้ข้อมูลด้วยว่า ภรณ์ทิพย์กรอกประวัติให้กับทางราชทัณฑ์แล้วว่าเมื่อพ้นโทษจะไปพำนักที่ใด แต่ก็ยังไม่มีการปล่อยตัวและทางทัณฑสถานหญิงกลางก็ไม่สามารถยืนยันวันปล่อยตัวได้
 
27 สิงหาคม 2559
 
ภรณ์ทิพย์ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้ง 2 แสดงละครที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน

คดีนี้ศาลให้มีการสืบเสาะพฤติกรรม ซึ่งพบว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน แต่เนื่องจากพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง เพราะเป็นการแสดงที่ปรากฏแก่บุคคลทั่วไป ทั้งมีการเผยแพร่ในเว็บไซด์ สร้างความเสียหายแก่พระมหากษัตริย์อย่างมาก จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

นพวรรณ: เบนโตะ

ดา ตอร์ปิโด