อภิชาต

อัปเดตล่าสุด: 16/08/2562

ผู้ต้องหา

อภิชาต

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

อภิชาตร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 และเป็นคนแรกที่ถูกทหารจับกุมตัว ต่อมาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. 7/2557, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 และ มาตรา 368

ระหว่างการสืบสวน อภิชาตถูกทหารยึดมือถือไปตรวจค้นและพบว่าอภิชาตเคยโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กที่มีลักษณะเข้าข่ายมาตรา 112 จึงถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ 14(3) ต่อมาศาลได้ยกคำร้องขอฝากขังพลัดที่ 3 และปล่อยตัวอภิชาตแล้ว

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ว่าที่ ร.ต.อภิชาต ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าหน้าที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการด้านเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้เริ่มศึกษากฎหมายอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งการชุมนุมทางการเมือง และ การเสวนาทางการเมือง อีกทั้งยังมีบทบาทโดดเด่นในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ในนามสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นับว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างข้อบังคับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย รวมถึงได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการในการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับในเวลาต่อมา ในปี2556 เขาได้จัดตั้งสถาบันยุวชนสยาม โดยมี เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล เป็นรองประธานสถาบันฯ และมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นประธานที่ปรึกษา บทบาทที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการเขียนบทความสนับสนุนประชาธิปไตย และ สังคมนิยม รวมถึง วิพากษ์ วิจารณ์  สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เกิดการปรับตัว โปร่งใส่ และ ตรวจสอบได้ 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

23 พฤษภาคม 2557 อภิชาต ไปร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐประหาร โดยการชูป้ายที่มีข้อความต่อต้านการรัฐประหาร ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยในวันนั้นผู้ร่วมชุมนุมได้ร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านต่างๆ เช่น การใช้เทปสีดำปิดปาก, การถือป้ายที่มีข้อความต่อต้านการรัฐประหาร, จุดเทียน, นั่งล้อมวงเป็นสัญลักษณ์เสรีภาพ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากอภิชาตได้โพสข้อความใน facebook ที่มีเนื้อหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

พฤติการณ์การจับกุม

อภิชาตถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ภายหลังร่วมกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร โดยทหารคุมตัวอภิชาตขึ้นรถทหารไป (คลิปเหตุการณ์ http://www.youtube.com/watch?v=CIE17Z64xKQ#t=55)

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

จ.ส.อ.อภิชาติ  หมิ่นเบื้องสูง ศาลไม่ให้ประกันตัว. เว็บไซต์กระปุกดอทคอม, 31 พฤษภาคม 2557. (เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2557)

30 พฤษภาคม 2557
 
พนักงานสอบสวนกองปราบปรามคุมตัวอภิชาตมายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกต่อศาล เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 10 ปาก รวมทั้งรอผลตรวจการพิมพ์ลายนิ้วมือ ฯลฯ 
อย่างไรก็ตาม อภิชาต ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดย อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการยื่นขอประกันตัว แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้  พิจารณายกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว พิเคราะห์พฤติการณ์ ประกอบหลักทรัพย์แล้ว เห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับผู้ต้องหาใช้ตำแหน่งราชการ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันเป็นญาติ หรือเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีความใกล้ชิดเป็นหลักทรัพย์ ขณะที่พนักงานสอบสวนก็ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวด้วย จึงเกรงว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้ว อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีคำสั่งยกคำร้อง
 
ทั้งนี้ ภายหลังที่ศาลยกคำร้องดังกล่าว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัว อภิชาต ผู้ต้องหาไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป
 
24 มิถุนายน 2557 
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดพิจารณาการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 3 
 
พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามยื่นขออำนาจศาลฝากขังผลัด 3 เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังทำสำนวนไม่เสร็จ ยังต้องสอบพยานอีก 4 ปาก ซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่กำลังประสานงานติดต่อมาเพื่อขอความเห็นว่าข้อความที่อภิชาติโพสต์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ 
 
ทนายความของอภิชาต ซักถามพนักงานสอบสวนถึงความจำเป็นที่จะขอฝากขัง ว่าการสอบสวนในขั้นตอนนี้ เป็นการขอความเห็นจากนักวิชาการ และรอเอกสารยืนยันทางเทคนิคว่าผู้โพสต์คือผู้ต้องหาจริงจากปอท. ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ต้องหา แม้ว่าจะปล่อยตัวผู้ต้องหาไป ก็ไม่มีผลกับการสอบสวนในขั้นตอนนี้ 
 
อภิชาต ผู้ต้องหาในคดี เบิกความต่อศาลว่า ตนกำลังอยู่ในระหว่างการทำสารนิพนธ์เพื่อส่งให้ทันกำหนดภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ และอภิชาตยังต้องไปลงทะเบียนเรียนในระดับปริญญาโท ที่สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยตนเอง ไม่อย่างนั้นจะถูกตัดสิทธิในการศึกษา นอกจากนี้อภิชาตยังต้องดูแลทำงานเพื่อเลี้ยงดูมารดาของตน เนื่องจากมารดาป่วยเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง 
 
โดยถ้าหากอภิชาตไม่ได้รับการประกันตัว คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่อภิชาตทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย อาจจะให้อภิชาตออกจากงาน หรืออาจมีผลต่อการประเมินเงินเดือน เนื่องจากอยู่ในช่วงทดลองงาน  ส่งผลให้เขาไม่มีรายได้ไปดูแลมารดา และไม่ได้เรียนต่อปริญญาโทตามที่ตั้งใจไว้ 
 
รองศาสตราจารย์ ดร. นภาพร อติวานิชยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร พยานฝ่ายผู้ต้องหา เบิกความว่า รู้จักอภิชาตในฐานะลูกศิษย์มาประมาณ 1 ปี อภิชาตเป็นผู้มีความประพฤติดี นอกจากนี้ ในขณะไปปฏิบัติงานที่ จ.อุบลราชธานี ก็ได้ทำงานช่วยเหลือผู้ไร้สัญชาติ และสิทธิต่างๆ โดยพยานรับรองได้ว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนีถ้าได้รับการประกันตัว
 
15.00 น. ศาลยกคำร้องการขอฝากขังผลัดที่ 3 โดยจะถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็นวันที่ 24 มิถุนายน 2557 
 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา