อัครเดช: นักศึกษาเทคโนโลยีมหานคร

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

อัครเดช

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

อัครเดชถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บนเฟซบุ๊ก โดยมีผู้แจ้งความไว้ที่ สน.สุทธิสาร ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557

อัครเดชถูกจับกุมตัวหลังการรัฐประหารในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 และถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2557 โดยไม่ได้รับการประกันตัว เบื้องต้นอัครเดชตั้งใจจะสู้คดีแต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจให้การรับสารภาพ 

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ศาลอาญาพิพากษาว่าเขามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกห้าปีแต่เพราะรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุกสองปีหกเดือนโดยไม่รอลงอาญาเพราะศาลเห็นว่า การกระทำของอัครเดชเป็นภัยร้ายแรง

ระหว่างถูกจองจำ อัครเดชได้รับการลดจำนวนวันรับโทษ เขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 หลังรับโทษเป็นเวลาสองปีกับสามวัน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 4 ขณะถุกจับกุมอายุ 24 ปี  

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (4) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นพระบาทกษัตริย์ บนเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “น้าดมก็รักในหลวงนะ” 

พฤติการณ์การจับกุม

ในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.สุทธิสารกว่า 10 นาย นำหมายจับไปจับกุมตัวจากบ้านพักในเขตหนอกจอก พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเป็นของกลาง ก่อนนำตัวมาสอบสวนที่สน.สุทธิสาร 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.12915/2557

ศาล

ศาลอาญารัชดาภิเษก

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
มีนาคม 2557 
 
ช่วงปลายเดือน มีประชาชนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในท้องที่ของสน.สุทธิสาร เข้าแจ้งความว่าพบข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯบนเฟซบุ๊ค พร้อมกับหลักฐานเชื่อมโยงระบุตัวว่าผู้ที่ใช้เฟซบุ๊คดังกล่าวโพสข้อความคืออัครเดช
 
18 มิถุนายน 2557 
 
ผู้ต้องหาถูกจับกุมตัว
 
20 มิถุนายน 2557 
 
หลังถูกจับกุม ผู้ต้องหาถูกสอบสวนและถูกควบคุมตัวอยู่ที่สน.สุทธิสาร 2 คืน ก่อนจะถูกนำตัวไปขออำนาจศาลเพื่อฝากขังที่ศาลอาญา โดยพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัว 
 
หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง บิดาของผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 150,000 บาท 
 
ต่อมา ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากพฤติการณ์ของคดีเป็นการเผยแพร่ข้อมูลสู่อินเทอร์เน็ต ผู้ต้องหาศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาถือว่ามีวุฒิภาวะในขณะกระทำแล้ว คดีมีความร้ายแรงจึงเกรงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนีหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว 
 
หลังศาลยกคำร้อง ผู้ต้องหาถูกนำตัวไปฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
 
 
8 สิงหาคม 2557
ประชาไท รายงานว่า หลังทนายความจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น โดยระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาประกอบบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว ผู้ต้องหารับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊คและเป็นผู้โพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาลงในเฟซบุ๊คจริง พฤติการณ์ของผู้ต้องหานับว่าร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”
 
11 กันยายน 2557
 
นัดส่งตัวฟ้อง
 
พนักงานอัยการส่งตัวจำเลยฟ้องต่อศาล จำเลยแถลงต่อศาลขอเลื่อนการให้การไปก่อน เพราะต้องการปรึกษาแนวทางคดีกับทนายเรื่องเพิ่มเติม ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสมานฉันท์ในวันที่ 30 กันยายน 2557
 
30 กันยายน 2557
 
นัดสมานฉันท์
 
อัครเดชเดินทางมาศาลตามนัดโดยมีบิดาและทนายจำเลยเดินทางมาด้วย การไกล่เกลี่ยสมานฉันท์ทำในห้ห้องซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปสังเกตการณ์ ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ทนายจำเลยเปิดเผยว่า จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557
 
4 พฤศจิกายน 2557
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ที่ศาลอาญารัชดา ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีของอัครเดชในเวลาประมาณ 10.00 น. วันนี้ศาลให้จำเลยไปฟังคำพิพากษาที่ห้องศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธีแทนการฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดี ในห้องสมานฉันท์ นอกจากจะมีจำเลยคดีนี้แล้วก็มีจำเลยคดีอื่นๆด้วยโดยศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีนี้เป็นอันดับแรก 
 
ศาลอ่านคำพิพากษาคดีสั้นๆในเฉพาะส่วนของฐานความผิด โทษ และการลดโทษว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และมาตรา 14 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุด 
 
พิพากษาจำคุก 5 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
 
ศาลยังระบุด้วยว่า เนื่องจากพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการเหยียดหยามสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชาวไทย ทั้งการกระทำมีลักษณะเป็นการโฆษณา ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ การกระทำของจำเลยเป็นภัยร้ายแรง จำไม่ให้รอลงอาญา
 
ศาลยังให้ริบ ซีพียู เราเตอร์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง
 
23 มิถุนายน 2559
 
อัครเดชได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังถูกจองจำเป็นเวลาสองปีกับอีกสามวัน ระหว่างรับโทษเขาได้รับการลดจำนวนวันรับโทษ ทำให้ถูกปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษเดิมราวหกเดือน

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา