สิรภพ : ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คสช.

อัปเดตล่าสุด: 12/08/2562

ผู้ต้องหา

สิรภพ

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

สิรภพใช้นามปากกา Rungsila เขียนบทความและกวีเกี่ยวกับการเมืองเผยแพร่บนเว็บไซต์และเฟซบุ๊กส่วนตัว ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 44 เรียกบุคคลรายงานตัวเพิ่มเติมโดยบุคคลที่มีรายชื่อในคำสั่งฉบับนี้ส่วนหนึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลังเข้ารายงานตัว

แม้จะมีชื่อในคำสั่งรายงานตัว แต่สิรภพไม่เข้ารายงานตัวตามกำหนดในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ต่อมาในวันที่ 25 มิถุนายน 2557 สิรภพถูกกลุ่มบุคคลพร้อมอาวุธดักจับระหว่างที่รถของเขากำลังจะเข้าตัวเมืองกาฬสินธุ์

สิรภพถูกคุมขังด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึกหนึ่งคืนก่อนถูกส่งมาควบคุมตัวต่อที่กองปราบจนครบเจ็ดวัน จึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. วันที่ 2 กรกฎาคม 2557 สิรภพได้รับการประกันตัวในคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว แต่ในเย็นวันเดียวกันเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็อายัดตัวเขาไปดำเนินคดีมาตรา 112 หลังจากนั้นสิรภพก็ไม่ได้เคยได้ประกันตัวอีกเลย

การสืบพยานคดีนี้เริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2557 จนถึงเดือนสิงหาคม 2559 มีพยานเบิกความรวมห้าปาก เป็นพยานโจทก์สี่ปาก พยานจำเลยหนึ่งปากคือตัวจำเลย แม้พยานคดีนี้จะมีไม่มากแต่ระบบการนัดสืบพยานของศาลทหารที่ไม่มีการนัดต่อเนื่อง แต่ละนัดเว้นหนึ่งถึงสองเดือนแล้วแต่กรณี รวมทั้งมีกรณีที่พยานโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งล่วงหน้าทำให้มีการเลื่อนนัดถึงสามครั้ง ทำให้การสืบพยานคดีนี้ใช้เวลานาน

ในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ศาลทหารนัดสืบพยานจำเลยปากที่สองแต่จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ ศาลจึงยกเลิกการสืบพยานและนัดสิรภพฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ทั้งนี้ก่อนการนัดฟังคำพิพากษา จำเลยยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลแต่ถูกศาลตีกลับและสั่งให้แก้คำแถลงปิดคดีบางจุด โดยจุดที่ศาลให้แก้เป็นส่วนที่พูดถึงการยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารในฐานะรัฎฐาธิปัตย์

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ศาลทหารพิพากษาว่าสิรภพมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวเพราะเห็นว่าสิรภพทราบถึงคำสั่งดังกล่าวแต่ไม่ปฏิบัติตาม ส่วนที่สิรภพสู้ว่าการไม่เข้ารายงานตัวเป็นการทำอารยขัดขืนนั้น ศาลเห็นว่าในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.เข้าควบคุมอำนาจสำเร็จแล้ว ประกาศคำสั่งจึงมีสถานะเป็นกฎหมาย การที่จำเลยไม่เข้ารายงานตัว แม้จะอ้างว่าเป็นการทำอารยะขัดขืนก็ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย พิพากษาจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ปรับ 18,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกแปดเดือนปรับ 12,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษเอาไว้กำหนดสองปี

เนื่องจากเหตุแห่งคดีนี้เกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งศาลทหารมีการพิจารณาเพียงชั้นเดียว คดีจึงเป็นที่สิ้นสุด สำหรับตัวสิรภพ แม้ศาลจะให้รอการลงโทษจำคุกคดีนี้แต่เนื่องจากเขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสู้คดี สิรภพจึงไม่ได้รับการปล่อยตัว

 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อายุ 52 ปี เป็นนักกิจกรรมเสื้อแดงที่เน้นทำการณรงค์ผ่านอินเทอร์เน็ตผ่าน โดยใช้นามแฝง “รุ่งศิลา”หรือ “Rungsira” ก่อนถูกจับกุมประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างอยู่ในจังหวัดสงขลา

ข้อหา / คำสั่ง

ประกาศ/คำสั่งคณะปฏิวัติ, ฝ่าฝืนประกาศคสช. 41/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 หลังการประกาศยึดอำนานของคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรียกให้บุคคลไปรายงานตัว ซึ่งในคำสั่งนั้นมีชื่อของสิรภพ อยู่ด้วย แต่สิรภพไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด

ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2557 จึงถูกออกหมายจับ และถูกจับกุมโดนเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557

พฤติการณ์การจับกุม

สิรภพถูกควบคุมตัวโดยทหารขณะกำลังเดินทางผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ไปยังจังหวัดอุดรธานี โดยขณะเดินทางด้วยรถตู้อยู่บนถนนกำลังจะเข้าเมืองกาฬสินธุ์มีรถฟอร์จูนเนอร์ปาดหน้าและมีทหารไม่แต่งเครื่องแบบอย่างน้อย 5 พร้อมอาวุธครบมือลงมาจากรถ และมีทหารจากรถอีกคันจอดประกบอยู่ด้านหลังพร้อมอาวุธครบมือเข้าล้อมรถ

ทหารบังคับให้ทุกคนหมอบลงบนพื้นที่เปียกด้วยฝน ต่อมาจึงควบคุมตัวคนขับรถ และสิรภพ ไปที่หน่วยราชการในจังหวัดกาฬสินธุ์หนึ่งคืน หลังจากนั้นจึงนำไปคุมตัวที่ค่ายสีหราชเดโชชัย จังหวัดขอนแก่น 1 วัน ก่อนจะส่งตัวมาควบคุมต่อที่กรุงเทพฯ จนครบ 7 วัน

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

40 ก./2557

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

-ดูรายละเอียดคดีมาตรา 112 ของสิรภพได้ คลิกที่นี่ http://freedom.ilaw.or.th/case/ุ622

– 112 The Series สิรภพ :บทกวีที่ถูกตามล่า

แหล่งอ้างอิง


1 กรกฎาคม 2557

ที่กองบังคับการปราบปราม สิรภพถูกตั้งข้อกล่าวหาเนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 41/2557 และควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของกองปราบปราม

2 กรกฎาคม 2557

สิรภพถูกควบคุมตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวและถูกปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น อย่างไรก็ตามหลังการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อายัดตัวเขาไปสอบสวนต่อในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่กองบังคับการ ปอท. และถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อเตรียมส่งตัวไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลอาญารัชดาในวันถัดไป

ทั้งนี้การอายัดตัวสิรภพต่อของเจ้าหน้าที่ ปอท.เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 มีผู้เข้าแจ้งความกรณีที่เขาโพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว และเคยเขียนกลอนลงเว็บบอร์ดประชาไท

3 กรกฎาคม 2557

สิรภพถูกส่งตัวไปขออำนาจศาลอาญาฯ ฝากขัง โดยมีญาติและทนายทำเรื่องขอประกันตัว แต่เอกสารไม่ครบสิรภพจึงถูกควบคุมตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

9 กันยายน 2557

ที่ศาลทหารกรุงเทพ ห้องพิจารณา 3 อัยการศาลทหารกรุงเทพฟ้องสิรภพจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  
 
ศาลขึ้นบังลังก์ 11.00 น. ศาลอ่านคำบรรยาฟ้องให้จำเลย จำเลยปฏิเสธข้อกล่าวหาขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดสืบพยานหลักฐาน วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557

12 กันยายน 2557
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ อัยการทหารโจทก์ยื่นคำร้องขอฝากขังสิรภพต่อเป็นผลัดที่ 7 อ้างเหตุว่า อัยการเพิ่งได้รับสำนวนมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2557 ยังไม่สามารถตรวจสำนวนได้ทัน ซึ่งทนายความของสิรภพยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยระบุว่าศาลทหารไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้ และไม่มีอำนาจฝากขัง
 
เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลทหารกรุงเทพ ไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังที่ ห้องพิจารณา คดี 1 ศาลขึ้นบัลลังก์แล้วแจ้งกับทนายความและจำเลยว่า ความผิดตามฟ้องในคดีนี้เป็นการโพสข้อความบนอินเทอร์เน็ตซึ่งข้อความยังปรากฏอยู่มาจนปัจจุบัน ถือว่าความผิดยังเกิดขึ้นอยู่ จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร เทียบเคียงได้กับกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดที่ข้อความยังปรากฏอยู่ หากมีการกระทำเพียงหนึ่งครั้งที่เป็นความผิดต่อเนื่องและอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร การกระทำอื่นๆ ก็ถือเป็นความผิดที่เกี่ยวโยงกัน และอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารทั้งหมด
 
ทนายความจำเลยโต้แย้งว่า วันที่กระทำความผิดต้องนับวันที่โพสข้อความ ซึ่งการโพสเกิดขึ้นก่อนการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่หากศาลเห็นว่าศาลทหารมีอำนาจเหนือคดีนี้ก็ขอให้วินิจฉัยประเด็นนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในคำสั่งคำร้องด้วย
 
ศาลชี้แจงเพิ่มเติมว่า เนื่องจากศาลอาญาพิจารณาแล้วว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร หากศาลทหารไม่รับอีกก็จะเป็นการโยนกลับไปกลับมาไม่จบสิ้น ศาลเห็นว่าในชั้นฝากขังนี้ศาลยังไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจ เพราะเป็นประเด็นการวินิจฉัยเบื้องต้นในข้อกฎหมาย จึงขอให้คัดค้านเรื่องเขตอำนาจมาอีกครั้งในชั้นพิจารณาหลังศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว หากมีการยื่นคำร้องเข้ามาก็จะต้องพักการพิจารณาไว้เพื่อวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจก่อน ศาลสอบถามโจทก์แล้ว โจทก์คัดค้านคำร้องของจำเลย เพราะเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร
 
ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณา เห็นว่ามีเหตุจำเป็น อนุญาตให้ฝากขังจำเลยเป็นผลัดที่ 7
 
หลังศาลมีคำสั่งทนายจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่ง โดยอ้างว่า ในวันนี้ทนายจำเลยคัดค้านเรื่องเขตอำนาจศาล แต่ศาลไม่มีคำสั่งในประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาล จึงเป็นการทำคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า รับไว้, ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 8 กันยายน 2557 ระบุว่า พนักงานสอบสวนทราบว่าคดีอยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ จึงยื่นคําร้องต่อศาลอาญาขอยุติฝากขัง ศาลอาญาอนุญาต จึงขอฝากขังศาลทหารกรุงเทพต่อ ทั้งในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 12 กันยายน 2557 อัยการศาลทหารกรุงเทพ ระบุว่าคดีนี้ศาลทหารมีอํานาจฝากขัง คําร้องฉบับนี้มีข้อเท็จจริงยังไม่พอวินิจฉัย ในชั้นนี้ยังไม่วินิจฉัย เพราะในชั้นนี้เป็นชั้นฝากขัง
 
ในวันเดียวกัน จำเลยยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 300,000 บาท พร้อมกับขอประกันตัวในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ด้วยหลักทรัพย์เงินสด 40,000 บาท ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ในส่วนของคดีความผิดตาม ม.112 โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อันเป็นข้อหาที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี ในชั้นนี้ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 
 
และในข้อหาฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวศาลให้เหตุผลว่า จําเลยในคดีนี้เป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งศาลไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวและถูกคุมขังอยู่จึงไม่มีเหตุพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ ในชั้นนี้ไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว
 
นอกจากนี้ทนายจำเลยได้เขียนคำร้องขออนุญาตคัดถ่ายเอกสารซึ่งศาลไม่อนุญาตให้คัดถ่ายโดยการถ่ายเอกสาร อนุญาตให้จดไปเท่านั้น เนื่องจากทนายจําเลยได้รับทราบรายงานกระบวนพิจารณาคดีฉบับนี้ และคําสั่งคําร้องคัดค้าน ในชั้นนี้อนุญาตให้ดูคําสั่งดังกล่าวแต่ไม่อนุญาตให้คัดเอกสาโดยวิธีการถ่ายเอกสาร
 
11 พฤศจิกายน 2557
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลทหารกรุงเทพกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ เวลา 08.30 น. แต่เนื่องจากเกิดการประสานงานที่ผิดพลาดระหว่างทางกรมราชทัณฑ์กับศาลทหารในการเบิกตัวสิรภพ ทำให้ในช่วงเช้าสิรภพยังไม่ถูกพาตัวมาที่ศาล จึงเลื่อนการพิจารณาคดีไปเป็นช่วงบ่าย ทั้งนี้ สิรภพยังระบุถึงข้อบกพร่องเรื่องการเบิกตัวจากราชทัณฑ์มาที่ศาลทหารซึ่งเกิดปัญหาขึ้น 3-4 ครั้ง 
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 13.30 น. โจทก์แถลงต่อศาลว่า พันโทบุรินทร์ ทองประไพ ติดธุระเร่งด่วนไม่สามารถมาศาลได้ สอบจำเลยแล้วไม่ค้าน ศาลจึงเลื่อนกระบวนการสืบพยานโจทก์ในครั้งนี้ออกไป เป็นวันที่ 22 มกราคม 2558  
 
เนื่องจากวันนี้จำเลยยื่นคำร้องขอให้ส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้คดีพลเรือนอยู่ในอำนาจศาลทหาร ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวมาตรา 4 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือไม่ ศาลยังแจ้งกับทนายจำเลยว่า คำร้องของทนายฝ่ายจำเลยมีเนื้อหาบางส่วนที่มีลักษณะก้าวล่วงบุคคลนอกคดี เนื่องจากทนายจำเลยได้เขียนคำร้องอ้างอิงถึง คสช. และมีลักษณะก้าวล่วงอำนาจศาลในการวินิจฉัยคดีอีกด้วย แต่ทนายฝ่ายจำเลยไม่ขอแก้ไขและยืนยันสำนวนเดิม ดังนั้น ศาลจึงให้ทนายฝ่ายจำเลยแก้ไขให้สำนวนใหม่ให้ถูกต้องภายใน 7 วัน หากครบกำหนด 7 วันแล้วยังไม่มีการแก้ไข ศาลจะพิจารณาสั่งตามสมควร
 
22 มกราคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา ศาลอ่านคำสั่งยกคำร้อง ที่จำเลยขอให้ศาลทหาร ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 เรื่องให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน ขัดหรือแย้งกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557
 
ศาลทหารวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ศาลทหารจะสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ก็มีความเป็นอิสระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีอำนาจในส่วนของงานธุรการของศาลเท่านั้น ส่วนการพิจารณาและตัดสินคดี ผู้พิพากษามีอำนาจตัดสินคดีอย่างเป็นอิสระ 
 
ที่จำเลยอ้างว่าการพิจารณาคดีของศาลทหารในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพราะเป็นการขัดต่อกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งกำหนดว่าผู้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ย่อมมีสิทธิต่อสู้คดีในศาลสูง หากไม่พอใจในคำตัดสินของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า
 
มาตรา 4 ของกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้ให้สิทธิรัฐภาคีในการงดเว้นการคุ้มครองสิทธิตามพันธกรณีบางประการ ในกรณีที่รัฐภาคีอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในประเทศไทย และทางการไทยได้ชี้แจงถึงการของดเว้นการคุ้มครองสิทธิบางประการไปถึงองค์กรสหประชาชาติแล้ว ก็เท่ากับว่ารัฐไทยได้ปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองแล้ว ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37 จึงไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
 
นอกจากนี้ ศาลทหารก็ไม่มีอำนาจที่จะส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ จึงให้ยกคำร้องของจำเลย
 
หลังอ่านคำสั่งเสร็จ ศาลก็เริ่มกระบวนพิจารณาคดี
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ท. บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
พ.ท. บุรินทร์ เบิกความว่า หลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม  2557 ได้ออกคำสั่งเรียกบุคคลที่มีความสำคัญหรืออาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เข้ามารายงานตัวเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มาพูดคุยและทำการรักษาความสงบเรียบร้อยให้เป็นไปได้ด้วยดี 
 
เนื่องจากคสช.ต้องการให้บุคคลที่่ถูกเรียกตัวเห็นความสำคัญของการรายงานตัว จึงออกประกาศฉบับที่ 41/2557 กำหนดโทษบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนด คำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวถูกประกาศผ่านสื่อหลายช่องทางทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต บุคคลทั่วไปรวมทั้งผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัว น่าจะทราบถึงคำสั่ง ทั้งนี้แม้แต่ผู้ที่อยู่ต่างประเทศ เช่น จิตรา คชเดช ซึ่งถูกเรียกรายงานตัว ก็ทราบเรื่อง และติดต่อสถานทูตไทยในต่างประเทศในกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน   
 
เนื่องจากจำเลยไม่มารายงานตัว โดยไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้อง ดังที่ผู้ถูกเรียกรายงานตัวบางส่วนทำ ตนจึงได้รับมอบหมายให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับจำเลย ต่อพนักงานสอบสวน โดยได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน ในวันที่ 8 มิถุนายน 2557
 
ทนายจำเลยถามค้านว่า เชื่อว่าจำเลยทราบถึงคำสั่งเรียกรายงานตัวหรือไม่ พ.ท. บุรินทร์ ตอบว่า ไม่สามารถยืนยันว่าตัวจำเลยจะรู้เรื่องหรือไม่ แต่เชื่อว่า คนทั่วไปน่าจะรู้กันหมด เพราะแม้แต่คนที่อยู่ต่างประเทศยังรู้เรื่อง
 
ทนายจำเลยถามว่า การออกคำสั่งต่างๆของคสช. รวมทั้งคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัว มีกฎหมายใดรองรับหรือให้อำนาจไว้หรือไม่ พ.ท.บุรินทร์ตอบว่า คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ประกาศคำสั่งต่างๆ จึงมีสถานะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้โดยชอบ ทนายถามต่อไปว่า คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยได้รับเลือกจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือโดยการยึดอำนาจ เบื้องต้น พ.ท.บุรินทร์ ไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่ทนายก็ถามย้ำจนพ.ท.บุรินทร์ตอบว่าได้อำนาจมาโดยการยึดอำนาจ ไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
 
ทนายจำเลยนำเอกสาร อันได้แก่ประกาศคำสั่งค.ส.ช.จำนวนหนึ่งมาให้พ.ท.บุรินทร์ รับรองและถามคำถามว่าการใช้อำนาจตามเอกสารดังกล่าวมีกฎหมายใดรองรับ พ.ท.บุรินทร์ ไม่รับรองเอกสารดังกล่าวโดยบอกทนายว่า เอกสารเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับคดี และไม่เกี่ยวกับตน ทนายย้ำว่าเกี่ยวกับคดีเพราะต้องการพิสูจน์ว่าประกาศและคำสั่งของ คสช. ไม่มีกฎหมายรองรับและไม่มีความชอบธรรม แต่ พ.ท.บุรินทร์ก็ยืนยันว่า ตนจะไม่ให้การรับรองเอกสารดังกล่าว เพราะไม่รู้ว่าได้มาจากไหน และจะไม่ตอบคำถามว่า การออกประกาศคำสั่งดังกล่าว มีกฎหมายใดรองรับหรือไม่ ทนายจำเลยจึงขอให้ศาลบันทึกว่าพยานไม่รับรองเอกสารและไม่ตอบคำถาม พร้อมกันนั้นทนายจำเลยก็ขออ้างส่งเอกสารดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลรับไว้ทั้งหมด
 
เนื่องจากการสืบพยานล่วงมาถึงเวลาเที่ยง และทนายจำเลยแจ้งต่อศาลว่ายังเหลือคำถามอีกหลายข้อที่ต้องซักจากพยาน จึงขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดต่อไป เบื้องต้นทนายจำเลยจะขอสืบต่อในช่วงบ่าย แต่พยานติดภารกิจ ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ท. บุรินทร์ ทองประไพ ต่อในวันที่ 27 มีนาคม 2558 เวลา 8.30 น.
 
27 มีนาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลทหารกรุงเทพ ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.30 น. อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า พยานโจทก์ปากที่ 1 คือ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ ติดธุระราชการ ไม่สามารถมาศาลได้ในวันนี้ ทนายจำเลย ไม่คัดค้าน แต่ขอให้ฝ่ายโจทก์ติดตามให้พยานปากนี้มาตามที่นัดหมายด้วย เพราะ พ.ท.บุรินทร์ ไม่มาศาลตามที่นัดหมายไว้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
 
ศาลนัดสืบพยานครั้งหน้า วันที่ 6 กรกฎาคม โดยจะเป็นการถามค้ามพยานปากนี้

6 กรกฎาคม 2558

นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ

ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ต่อจากนัดที่แล้ว ครั้งนี้เป็นการถามค้านจากฝ่ายทนายจำเลย

พยานตอบคำถามทนายจำเลยที่ถามว่า ก่อนรัฐประหาร ปี 57 มีการชุมนุมของกลุ่มการเมืองหลากหลายกลุ่มหรือไม่ พยานตอบว่า ทราบว่ามีการชุมนุมทางการเมืองเรื่อยมาจนถึงปี 2557 แต่ไม่ทราบว่ามีกลุ่มการเมืองใดเสนอให้ทำการรัฐประหารหรือไม่

พยานทราบภายหลังการรัฐประหารว่ารัฐสภายุติการปฏิบัติหน้าที่  และทราบว่าหากประมุขของรัฐไม่ทำการรับรองการกระทำของคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารก็จะกลายเป็นกบฏ ทั้งนี้ พยานไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และยืนยันว่าจำเลยมีสิทธิแสดงออก แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

คำถามต่อมา  หลังรัฐประหารมีกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมหรือไม่ และตอบทนายจำเลยว่า พยานจะไม่จับกุมตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สำหรับคำสั่ง คสช. พยานเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ถูกต้อง

ทนายจำเลยถามอีกว่า หลังรัฐประหาร ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พยานตอบว่า หลังรัฐประหารประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า หลังรัฐประหาร ตนได้ติดตามข่าวสารและพบว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

พ.อ.บุรินทร์ ระบุว่า มีการจับกุมผู้ที่ทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ยอมรับว่าบุคคลที่ถูกจับนั้นไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านการรัฐประหาร ทั้งนี้ พยานยืนยันว่า การกระทำของตนคือการทำตามกฎหมาย

และไม่ขอตอบคำถามทนายจำเลยที่ถามว่า ในการจับกุมจะดูที่เจตนาของบุคคลที่มุ่งมั่นจะก่อความไม่สงบ เช่น เป็นแกนนำ
พยานแถลงว่า พยานไม่ได้เป็นผู้จับกุมตัวจำเลย เป็นเพียงผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเท่านั้น และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จับและกักตัวจำเลยถูกต้องตามกฎอัยการศึก และควบคุมไว้ที่กองปราบ โดยให้ญาติมาพบได้

อีกทั้งไม่ทราบว่ามีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นหลังการรัฐประหาร และเมื่อทนายจำเลยถามว่าภายหลังการยึดอำนาจ ประชาชนควรจะเชื่อฟังรัฐบาลหรือคณะรัฐประหาร พยานตอบว่า คณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 22 พฤษภาคมแล้ว

ภายหลังทนายจำเลยถามค้านเสร็จ อัยการศาลทหารลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า คำสั่ง คสช. ถือเป็นกฎหมาย ผู้ออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ถืออำนาจ 3 ฝ่าย หลังสืบพยานปากนี้เสร็จ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 7 กันยายน 2558

7 กันยายน 2558

จากเฟซบุ๊กศูนยท์ทนายความฯ ที่ศาลทหารกรุงเทพ ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลแจ้งอานนท์ นำภา ทนายความจำเลย ให้ทราบถึงการนำเอาคำเบิกความ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลไปเผยแพร่ในระบบอินเตอร์เน็ต เป็นช่องทางให้ผู้อื่นมาแสดงความคิดเห็นที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ ซึ่งศาลไม่สบายใจต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่นในโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับคำเบิกความของ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ และโพสต์ที่เกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตในการพิจารณาของศาล บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของทนายอานนท์ นำภา

ทนายอานนท์ รับทราบและชี้แจงว่า คดีนี้มีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย การนำเอาข้อความหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาไปเผยแพร่ย่อมสามารถกระทำได้ อย่างไรก็ดี ทนายความจำเลยจะใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เพื่อให้ได้สัดส่วนของการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และจะพิจารณาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และจะพิจารณาปิดกั้นข้อความการแสดงความคิดเห็นที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ทนายความจำเลย ยังขอเรียนต่อศาลว่า ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของคดีทางการเมือง มีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารถึงความคืบหน้าและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และให้ประชาชนทราบถึงกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งทนายความทราบถึงความละเอียดอ่อนของกระบวนการพิจารณาในศาลทหาร และให้คำมั่นว่าจะใช้ความระมัดระวัง สื่อสารภายในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและรักษาหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพต่อไป

ทั้งนี้ ทนายอานนท์ นำภา เคยถูกศาลเรียกพบ เพื่อแสดงความไม่สบายใจต่อการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ในลักษณะคล้ายกันนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ที่ศาลทหารกรุงเทพ และศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย

ส่วนการสืบพยานโจทก์ในวันนี้ พยานติดราชการ ศาลจึงเลื่อนนัดไปวันที่ 4 พ.ย. 58

26 มกราคม 2559

นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 2 ร.ต.อ.ภูทอง คำภา
 
ศาลทหารกรุงเทพฯ สืบพยาน เวลา 9.00 น. แต่กลับต้องเริ่มในเวลา 10.00 น. เนื่องจากมีผู้ขอเข้าไปสังเกตการณ์คดีจำนวน 5 คน แต่เจ้าหน้าที่ทหารแผนกหน้าบัลลังก์ไม่อนุญาตเพราะต้องรอขออนุญาตจากผู้พิพากษาเสียก่อน
 
ร.ต.อ.ภูทอง คำภา ใรฐานะพยานโจทก์เบิกความว่า มีตำแหน่งเป็นรองสารวัตรในกองบังคับการกองปราบ (สว.กก.1 บก.ป) และมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเนื่องจากเป็นผู้จับกุมตามหมายจับ พยานได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 11 ให้ไปรับตัวผู้ต้องหา แต่ไม่ได้รับทราบรายละเอียดของคดี 
 
กรณีนี้เป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพฯ ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ขณะเข้าจับกุมพยานได้แสดงตัวว่าเป็นใคร แสดงหมายจับ รวมถึงแจ้งสิทธิต่างๆ และผู้ต้องหาก็รับสารภาพว่าฝ่าฝืนประกาศ คสช. โดยมีพยานเป็นผู้ทำบันทึกการจับกุม
 
เมื่อทนายความถามค้าน พยานเบิกความว่า คดีดังกล่าวไม่ใช่คดีพิเศษของกองบังคับการกองปราบ ก่อนที่จะออกหมายจับไม่ได้มีหมายเรียก เมื่อพยานได้ไปรับตัวผู้ต้องหา พยานไม่ทราบเกี่ยวกับพฤติการณ์ในคดี รวมถึงอำนาจที่ใช้ในการจับผู้ต้องหา และไม่ได้รับมอบบันทึกให้ปากคำของผู้ต้องหาในชั้นทหารและสิ่งของ อาทิ โทรศัพท์มือถือมาด้วย
 
อย่างไรก็ดี ในเอกสารบันทึกการจับกุมระบุว่าสิรภพต้องการติดต่อกับทนายความ แต่ทางตำรวจไม่ได้จัดหาทนายความให้ เพียงแต่เปิดโอกาสให้สิรภพใช้โทรศัพท์ได้ ส่วนพยานจะได้ติดต่อกับทนายความหรือไม่นั้นไม่ทราบ และไม่ทราบว่าสิรภพได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนอื่นให้จัดหาทนายความให้หรือไม่ 
 
นัดสืบพยานครั้งหน้า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 คือ พ.ท.สายันต์ ขุนขจี
 
10 กุมภาพันธ์ 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 3 พ.ท.สายันต์ ขุนขจี
 
ศาลทหารกรุงเทพ เริ่มสืบพยาน เวลา 09.40 น. พยานวันนี้คือ พ.ท.สายันต์ ขุนขจี หัวหน้าแผนกวิชาการ กองกฤษฎีกา สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ซึ่งอัยการทหารนำสืบว่า พยานเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีเพราะมีหน้าที่เป็นผู้ร่างหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช.
 
พยานกล่าวว่า จำเลย หรือ สิรภพ มีความผิดฐานไม่ได้เข้ามารายงานตัวตามคำสั่ง ทั้งนี้ พยานลำดับเหตุการณ์ว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ผบ.ทบ. ในขณะนั้นเข้ายึดอำนาจเพราะสถานการณ์มีความจำเป็น ถัดมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ก็ออกประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด
 
พยานเล่าต่อว่า กระทั่ง มีคำสั่งคสช.ฉบับที่ 44/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม มีชื่อสิรภพปรากฎอยู่ และวิธีการเรียกให้มารายงานตัวก็ถ่ายทอดทางโทรัศน์และสถานีวิทยุทุกช่อง แต่สิรภพไม่เข้ารายงานตัว หลังสิรภพไม่ได้เข้ารายงานตัวทางพยานก็ดำเนินติดตามมาตลอดแต่ก็ไม่พบ อีกทั้งสิรภพก็ไม่ได้แจ้งสาเหตุว่าเหตุ  ทำไมถึงไม่เข้ารายงานตัวอีกด้วย อีกทั้ง พล.ต.วิระ โรจนวาศ ผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญทหารบกและฝ่ายกฎหมายของคสช. มีคำสั่งให้พยานมอบหมาย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญเป็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีตามบัญชีบุคคลที่ไม่ได้เข้ารายงานตัวที่พยานทำขึ้น 
 
เมื่อทนายเริ่มถามค้าน พยานเริ่มเบิกความว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และปริญญาโทด้านกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อทนายถามว่า ใครเป็นผู้ตัดสินใจว่าสถานการณ์การเมืองมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจ พยานทราบหรือไม่ว่าเป็นใคร พยานกล่าวว่า พยานไม่ทราบ และการยึดอำนาจได้มีมติของกองทัพหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบเช่นกัน และคนจะวินิจฉัยว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นใคร พยานก็ไม่ทราบ
 
ทนายถามต่อว่า ประกาศใช้กฎอัยการศึกของผบ.ทบ. ตอนนั้นประกาศทั่วประเทศแต่ไม่ได้ออกตามพระบรมราชโองการ ซึ่งพยานตอบว่าใช่ แต่พยานไม่เห็นด้วยว่าการประกาศกฎอัยการศึกจะต้องทูลเกล้าฯ ก่อน เพราะการประกาศกฎอัยการศึกมีได้หลายรูปแบบ
 
ประเด็นถัดมาที่ทนายถามซึ่งพยานเห็นด้วยก็คือ อำนาจของรัฐบาลก่อนคณะรัฐประหารมาจากการเลือกตั้งและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่พยานก็เห็นว่ารัฐบาลชุดดังกล่าวถูกคัดค้านอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อทนายจำเลยถามว่า ด้วยเหตุที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งถูกคัดค้านสามารถเป็นเหตุให้ยึดอำนาจได้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีความเห็น
 
 ทนายถามว่าการยึดอำนาจวันที่ 22 พฤษภาคม นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายรองรับและผิดฐานเป็นกบฎใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่ เพราะคนที่ยึดอำนาจได้ก็เป็นรัฎฐาธิปัตย์ ไม่ผิดกฎหมาย ในระหว่างที่ถามคำถามศาลได้ขอให้ทนายความถามจำเลยเกี่ยวกับคำถามที่เกี่ยวข้องกับคดี แต่ทนายความแถลงว่า จำเลยจะขอต่อสู้ในประเด็นว่า อำนาจในการเรียกไปรายงานตัวนั้นไม่ชอบ จึงขอให้พยานตอบถามคำถามในประเด็นนี้ให้หมดก่อน
 
ทนายถามต่อว่า ประกาศและคำสั่งคสช. ไม่ได้มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรใดให้อำนาจกับ พล.อ.ประยุทธ์ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า มันเป็นไปตามแนวจารีตประเพณีของคนที่ทำการยึดอำนาจกันมา ส่วนประเด็นว่าจารีตดังกล่าวเป็นจารีตตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ตอบ
 
ทั้งนี้ ศาลได้ขอร้องต่อทนายจำเลยอีกครั้งให้ถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับพยานโดยตรงจะดีกว่า เพราะการถามคำถามของทนายเป็นเรื่องการเมืองการปกครอง ศาลจึงขอให้ทนายเก็บคำถามดังกล่าวไว้ถามพยานนักวิชาการของฝ่ายจำเลยดีกว่า แต่ทนายของอนุญาตถามต่อเพราะไม่มีพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเป็นทหาร อีกทั้ง คำถามของทนายจำเลยยังอยู่ในประเด็นต่อสู้ที่ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีความชอบธรรมในการออกข้อบังคับทางกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลก็อธิบายแทนจำเลยว่า พยานได้ให้การไปแล้วว่า คสช. มีอำนาจเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ดังนั้นประกาศและคำสั่งของคสช. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
เมื่อทนายจำเลยถามว่า พล.อ.ประยุทธ์  ไม่ได้มาจากการยินยอมพร้อมใจของประชาชนทุกคนใช่หรือไม่ แต่ศาลก็แย้งอีกว่า ทนายไม่ควรจะถามคำถามในลักษณะเดิม เพราะพยานเป็นเพียงผู้ทำบัญชีคนที่ไม่ได้มารายงานตัวแค่นั้น แต่ทนายก็แย้งอีกว่า เนื่องจากพยานเป็นผู้มอบอำนาจให้คนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และใช้ดุลยพินิจเอาผิดกับคน จึงต้องถามคำถามให้ชัดว่า อำนาจที่ใช้นั้นชอบธรรมหรือไม่
 
ประเด็นสุดท้ายที่ทนายจำเลยถามพยานคือ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มีบทบัญญัติเรื่องการนิรโทษกรรมใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ทนายถามต่อว่า แสดงว่าการกระทำของคสช. เป็นการกระทำความผิดใช่หรือไม่ แต่พยานกล่าวว่า ข้อความไม่ใช่บอกว่าการกระทำที่ผ่านมาไม่ต้องรับผิด แต่เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ และพยานเห็นด้วยกับการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ไม่ใช่การยึดอำนาจจากประชาชนแต่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม   ศาลนัดสืบพยานครั้งต่อไป วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559
 
25 กุมภาพันธ์ 2559
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปราม
 
พยานเบิกความว่า พยานเป็นพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปราม และเป็นพนักงานสอบสวนในคดีของสิรภพ ซึ่งเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัตืตามคำสั่ง คสช. โดยมี พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้มาแจ้งความร้องทุกข์กับพยานว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.
 
การสืบพยานประเด็น 'อำนาจการสอบสวน'
 
พยานเบิกความว่ามีชื่อของจำเลยอยู่ในคำสั่งของคสช. เรื่องให้บุคคลมารายงานตัว และคำสั่งดังกล่าวได้มีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ บุคคลทั่วไปสามารถทราบได้ แต่จำเลยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่ยอมไปรายงานตัวตามกำหนด และเมื่อได้สอบถามไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องแต่ก็ไม่พบ พยานจึงดำเนินการขอหมายจับกับศาลทหาร 
 
พยานเบิกความว่า กองบังคับการปราบปรามมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ แต่พยานไม่ทราบว่าคดีที่กองบังคับการปราบปรามต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง และพยานทราบว่า ไม่มีคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. อยู่ในระเบียบหรือประกาศของกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และพยานไม่ทราบว่าจำเลยเป็นบุคคลมีชื่อเสียงหรือเปล่า และพยานไม่ทราบว่า พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุหรือไม่
 
การสืบพยานประเด็น 'กระบวนการสอบสวน'
 
พยานเบิกความว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 พยานได้รับการแจ้งจาก พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ ว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวจำเลยไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 จากนั้น เจ้าหน้าที่ทหารก็นำตัวจำเลยมาส่งมอบให้ และพยานได้แจ้งสิทธิต่างๆ ให้จำเลยทราบ 
 
พยานเบิกความว่า พยานได้สอบถามพยานแล้วว่า ต้องการทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจให้เข้าร่วมการสอบสวนด้วยหรือไม่ แต่จำเลยไม่ต้องการ และได้บันทึกไว้ในคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน
 
ในหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารการสอบสวนไม่มีการลงลายมือชื่อของทนายความ และไม่มีข้อความว่าจำเลยปฏิเสธไม่ต้องการทนาย
 
การสืบพยานประเด็น 'ความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง คสช.'
 
พยานไม่ทราบว่า การประกาศกฎอัยการศึกเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์หรือไม่ พยานเบิกความว่าการประกาศเป็นเรื่องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และก่อนการยึดอำนาจรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
 
พยานเบิกความว่า คำสั่งที่ให้บุคคลมารายงานตัวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่พยานไม่ทราบว่า การได้มาซึ่งอำนาจของคสช. นั้นไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
พยานยืนยันข้อความในเอกสารที่ทนายความจำเลยนำส่งเป็นหลักฐานว่า ในมาตรา 48 ที่กำหนด ให้การกระทำของคสช. ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่มีความผิด
 
พยานยอมรับว่า การรัฐประหารในครั้งนี้มีทั้งบุคคลที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แลพยานได้ยืนยันข้อความตามเอกสารที่จำเลยนำส่งศาลซึ่งเป็นเอกสารรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ในมาตรา 69 ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
 
ส่วนการไม่ไปรายงานตัวของจำเลยเป็นการใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ พยานไม่ทราบ
 
ศาลนัดสืบพยานครั้งต่อไป วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 โดยจะเป็นการสืบพยานฝ่ายจำเลย และสิรภพจะเป็นคนให้การในชั้นศาล
 
23 พฤษภาคม 2559
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง สิรภพ จำเลยในคดีเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
เวลาประมาณ 10.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ศาลทหารกรุงเทพ ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากแรกโดยสิรภพจำเลยในคดีเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง วันนี้มีสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์นั่งอยู่ในห้องพิจารณาประมาณสิบคน
 
สิรภพเริ่มเบิกความโดยเล่าประวัติส่วนตัวคราวๆว่า เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์ มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 2 คน ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างและออกแบบสถาปนิก และก่อนจะถูกจับได้ทำงานอยู่ที่จังหวัดสงขลา
 
สิรภพทราบว่ามีคำสั่ง คสช. เรียกให้ไปรายงานตัวจากแม่ แต่ว่า ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัว ก่อนจะมาถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมในวันที่ 24 มิถุนายน 2557
ซึ่งก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมมีทหารบุกไปที่ที่พักใกล้กับสถานที่ทำงานที่จังหวัดสงขลา แต่ไม่ได้อยู่ที่นั่น จากนั้นทหารก็พาตัวลูกสาวและลูกชาย รวมทั้งหลานชายอายุ 10 เดือน ไปสอบสวนและยึดเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์อื่นๆ ไปด้วย อาทิ ฮาร์ดดิสต์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเลยทราบจากคำบอกเล่าของลูกๆ
 
สิรภพให้การต่อว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยจากใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่สามารถบุกเข้าตรวจค้นและจับกุมคนได้อย่างอิสระ จึงตัดสินใจว่าจะไม่ปรากฎตัวใดๆนอกจากนี้ อีกเหตุผลที่จำเลยตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ก็เพราะว่า จำเลยต้องการจะทำ อารยะขัดขืนต่ออำนาจอันไม่ชอบธรรมของ คสช. โดยสันติวิธี
 
 และเชื่อว่าอำนาจของคสช. ไม่ชอบธรรมก็เพราะ กระบวนการเข้าสู่อำนาจของคสช. เป็นความผิดฐานกบฎ ตัวเขาเคารพในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น การเข้าไปรายงานตัวก็เท่ากับยอมรับอำนาจและให้ความร่วมมือกับกบฎ และก็อาจจะมีความผิดไปด้วย และในขณะนั้นก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารออกมาแสดงว่าไม่ยอมรับอำนาจของคณะกบฎ และเขาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น พร้อมทั้งมีชื่อเป็นพยานโจทก์ยื่นฟ้อง คสช. ในข้อหากบฎตามมาตรา 113 ของประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย
 
สิรภพยังให้การอีกว่า อำนาจตามกฎอัยการศึกมีความไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมีการลงพระปรมาภิไธย นอกจากนี้  การอ้างเรื่อง คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์จึงมีอำนาจโดยชอบธรรมนั้น เขามองว่า คำคำนี้ถูกผลิตเพื่อรับใช้ระบอบเผด็จการในเยอรมนี โดยมีเนติบริกรเป็นคนคิดให้ และคำคำนี้ก็ปรากฎในสังคมไทยเฉพาะในยุคเผด็จการ
 
สิรภพให้การยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่ คสช. ใช้ในการทำรัฐประหาร และข้ออ้างเหล่านี้ก็ถูกใช้โดยเผด็จการมาตลอดทุกยุคทุกสมัย  การรัฐประหารทำให้เกิดการนองเลือด เพิ่มความแตกแยก และยกระดับให้เกิดความรุ่นแรงและสงครามกลางเมืองมากกว่าสร้างความสงบสุข
 
ประเด็นสุดท้ายที่เขากล่าว เมื่อทนายนำสืบว่า หากมีรัฐประหารและออกคำสั่งเรียกตัวเช่นนี้อีกครั้ง จะไปรายงานตัวไหม เขายืนยันว่า ก็จะตัดสินใจไม่่ไปรายงานตัวอีกเช่นเคย
 
อย่างไรก็ดี สืบพยานครั้งนี้ มีหลายครั้งที่อัยการทหารขอให้ศาลควบคุมการเบิกความของสิรภพเกี่ยวกับการจับกุมและแนวคิดเรื่องการเมือง เพราะเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นหรือข้อต่อสู้ในคดี แต่ศาลก็ให้พยานเบิกความต่อเพียงแต่ขอให้รวบรัดมากขึ้น แต่เนื่องจากการนำสืบของทนายความใช้เวลานาน ทำให้ศาลต้องนัดการพิจารณาคดีเพิ่มจากเดิม โดยให้อัยการทหารถามค้านในคราวหน้าในวันที่ 7 กรกฎาคม 2559
 
7 กรกฎาคม 2559
 
สืบพยานจำเลย คนที่ 1 สิรภพ ต่อ
 
ราว 10.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ศาลทหารกรุงเทพ ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เพื่อเริ่มการพิจารณาคดีที่ยังสืบพยานไม่เสร็จสิ้นในคราวที่แล้ว โดยสืบพยานครั้งนี้จะให้อัยการทหารถามค้าน  เริ่มจากประเด็นว่า เจตนาที่จำเลยไม่มารายงานตัวคืออะไรและทราบหรือไม่ว่าการไม่มารายงานตัวเป็นความผิด
 
สิรภพให้การว่า  มีเจตนาจะไม่มารายงานตัว แต่การไม่มารายงานตัวนั้น ถือเป็นการอารยะขัดขืนและไม่ยอมรับต่ออำนาจคณะรัฐประหารที่ยึดบ้านยึดเมืองและมาด้วยวิถีทางที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับยืนยันว่า การกระทำของเขาไม่ใช่ความผิด แม้จะทราบถึงวันและเวลาที่มีคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวก็ตาม
 
จากนั้น อัยการจึงถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่า อารยะขัดขืนจำเป็นจะต้องประกาศล่วงหน้าโดยเปิดเผยเพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่สิรภพตอบว่าการอารยะขัดขืนเป็นการแสดงออกว่าไม่ยอมรับอำนาจ จำเลยไม่ทราบถึงความในทางอื่น แต่มีความเข้าใจคำดังกล่าวนี้จากการอ่านหนังสือและตีความตามความเข้าใจของตัวเอง
 
อัยการถามอีกว่า  จากการที่สิรภพเป็นผู้ร่วมฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานกบฎนั้น ผลของการพิจารณาคดีเป็นอย่างไร สิรภพให้การว่าไม่ทราบผลดังกล่าว  เนื่องจากอยู่ในเรือนจำไม่ได้รับข้อมูลหรือพูดคุยกับทนายความในส่วนนี้แต่อย่างใด จากนั้นอัยการทหารถามคำถามสุดท้ายว่า ประกาศกฎอัยการศึกที่สิรภพเคยเบิกความว่าไม่มีเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา สามารถยืนยันได้หรือไม่ สิรภพกล่าวยืนยันแต่ขอแถลงเพิ่มเติมว่า การยืนยันดังกล่าวเป็นการยืนยันว่าในวันที่มีการออกคำสั่งเรียกให้จำเลยมารายงานตัวยังไม่มีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา
 
ถัดมาเป็นฝ่ายทนายถามติง ทนายเริ่มต้นจากการให้สิรภพอ่านคำพิพากษาที่เขาเป็นผู้ร่วมฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานกบฎ และชี้แจงต่อศาลว่า คำพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า แม้คณะรักษาความสงบจะเข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ได้บัญญัติเรื่องการนิรโทษกรรมความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้าไว้
 
จากประเด็นนี้ สิรภพเห็นว่า สอดคล้องกับการอารยะขัดขืนของเขา เพราะคำพิพากษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีการนิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็เท่ากับว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังมีความผิดฐานกบฏอยู่  และถ้าหากเขาไปรายงานตัวก็เท่ากับว่าให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร และมีความผิดฐานกบฎไปด้วย ดังนั้น ที่ให้การในชั้นสอบสวนว่าที่ไม่ไปรายงานตัวเพราะกลัวความผิด คือความผิดจากเหตุผลดังกล่าวนี้
 
ประเด็นสุดท้าย เรื่องคำและความหมายของการอารยะขัดขืน สิรภพให้การว่า เพียงแค่เป็นการแสดงจุดยืนว่าไม่ยอมรับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมก็ถือเป็นอารยะขัดขืนแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ว่าต้องประกาศล่วงหน้ามาก่อนถึงจะเป็นการอารยะขัดขืน 
 
เมื่อสิรภพให้การเสร็จถือว่าสิ้นสุดการสืบพยานในปากแรก โดยการสืบพยานครั้งต่อไปจะเป็นวันที่  25 สิงหาคม 2559 เป็นการสืบพยานปากที่ 2 คือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ 
 
25 สิงหาคม 2559
 
นัดสืบพยานจำเลยปากที่สอง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ศาลทหารขึ้นบัลลังก์เพื่อเริ่มการสืบสุธาชัย ซึ่งเป็นพยานจำเลยปากสุดท้ายในเวลา 10.00 น. อย่างไรก็ตามก่อนเริ่มกระบวนการ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลของดการสืบพยานปากนี้และแจ้งว่าจำเลยจะขอส่งคำแถลงปิดคดีเป็นเอกสาร ขณะที่อัยการทหารก็แจ้งศาลว่าจะขอยื่นคำแถลงปิดคดีเอกสารด้วยเช่นกัน ศาลจึงสั่งยกเลิกการสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559
 
27 ตุลาคม 2559
 
ศาลทหารตีกลับคำแถลงปิดคดีของทนายจำเลย
 
อานนท์ นำภา ทนายของสิรภพได้รับคำแถลงปิดคดีกลับคืนมาเพื่อให้ทำการแก้ไขเพราะศาลเห็นว่ามีเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายเป็นการเสียดสีศาลทหาร
 
ข้อความที่ศาลทหารแจ้งแก้ไขในสองจุดแรกอยู่ในส่วนของคำแถลงข้อ 2.3 ที่กล่าวถึงการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ41/2557 และ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 44/2557ว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจาก คสช. เข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศด้วยการทำรัฐประหารซึ่งมีความผิดฐานกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และการยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. จึงเป็นการยอมรับต่ออำนาจของผู้ปกครองประเทศที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเนื้อความจุดที่ศาลทหารให้มีการแก้ไขมีว่า
 
“…หากอำนาจตุลาการไม่รับใช้หลักการแห่งกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยและประชาชน แต่กลับไปโอนอ่อนผ่อนตามหรือยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกทำลายลงจนไม่เหลือสถาพแห่งความเป็นนิติรัฐได้…”
 
และ
 
“…หากตุลาการยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป เปิดช่องทางหรือยอมรับให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารยืมมือกฎหมายเข้าปกครองประเทศ ตุลาการจึงไม่ควรที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หากแต่ต้องใช้อำนาจตุลาการในการพิพากษาวินิจฉัยให้คณะรัฐประหารต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง หากตุลาการรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับตุลาการไม่ได้รับใช้ประชาชน หันไปรับใช้อำนาจอันโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมก็จะกลายเป็นบ่าวรับใช้อำนาจเผด็จการไปเสีย…”
 
ส่วนจุดที่สามที่ศาลให้แก้ไขอยู่ในข้อ 3 ของคำแถลงซึ่งสิรภพกล่าวถึงการที่ตนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. ที่ได้มาโดยการรัฐประหารจึงขอทำการอารยะขัดขืน และยังขอต่อศาลให้อำนวยความยุติธรรม โดยข้อความที่ศาลให้แก้ไขมีดังนี้
 
“…ขอศาลได้โปรดตีความและบังคับใช้กฎหมายภายใต้ความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย…"
 
ทนายอานนท์ระบุว่า จำเลยจะปรึกษาลูกความเพื่อแก้ไขและยืนใหม่ภายใน 7 วัน 
 
อ่านแถลงปิดคดีที่ถูกตีกลับได้ ที่นี้
 
4 ตุลาคม 2559 
 
ทนายของสิรภพยื่นคำแถลงปิดคดีขอให้ศาลทหารกรุงเทพยกฟ้องคดีนี้ โดยมีประเด็นสำคัญคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557, 41/2557 ที่กำหนดโทษทางอาญาแก่บุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 ที่เรียกให้สิรภพมารายงานตัวต่อ คสช. ตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักนิติรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย
 
คำแถลงปิดคดีบรรยายโดยสังเขปว่า 
 
คดีนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 สั่งให้สิรภพไปรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ แต่ผู้กล่าวหากลับไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการกระทำผิดตามข้อกล่าวหา ทั้งคำให้การของพยานและแนวทางการสืบพยานของอัยการทหารก็ไม่ปรากฏว่า กองบังคับการปราบปรามมีอำนาจสอบสวนในคดีนี้
 
เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนคดีโดยไม่มีอำนาจ จึงถือเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลแขวงปทุมวันเคยยกฟ้องในคดีชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ด้วยเหตุผลนี้มาแล้ว
 
นอกจากนี้ เหตุที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวก็เพราะว่า การกระทำของ คสช. เป็นการร่วมกันล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา  เป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นความผิดฐานเป็นกบฏภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ซึ่งพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กับพวกยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวก ที่ศาลอาญา ดังนั้น จำเลยมีสิทธิอารยะขัดขืนและไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหารโดยการไม่ไปรายงานตัว
 
คำแถลงปิดคดีระบุด้วยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ไม่มีสภาพบังคับใช้ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยลงนามเป็นภาคี ในประเด็นที่บุคคลทุกคนควรได้รับการพิจารณาคดีอาญาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย โดยศาลและตุลาการที่มีอิสระและเป็นกลาง รวมถึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การลงโทษหรือคำพิพากษาต่อศาลชั้นสูงขึ้นไป เพราะประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ขัดต่อหลักการที่ไม่นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่พลเรือนมีความขัดแย้งกับองค์กรทหารโดยตรง ตุลาการศาลทหารซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขาดความเป็นกลางในการตัดสินคดี
 
ดาวน์โหลดไฟล์แถลงปิดคดีฉบับเต็ม ที่นี่
 
25 พฤศจิกายน 2559 
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสิรภพฟังคำพิพากษา ในห้องพิจารณาคดีวันนี้นอกจากจะมีสิรภพ ทนายจำเลย และอัยการทหารแล้วก็มีลูกสาวกับภรรยาของสิรภพมาให้กำลังใจด้วย ก่อนศาลเข้ามาในห้องพิจารณา 
 
สิรภพให้สัมภาษณ์กับไอลอว์สั้นๆว่า ถ้าศาลตัดสินว่าสิ่งที่เขาทำมีความผิดก็เท่ากับศาลรับรองอำนาจให้คณะรัฐประหาร ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปก็ควรแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 เสียใหม่ว่า ถ้าผู้ใดล้มล้างอำนาจการปกครองของรัฐ หากล้มล้างไม่สำเร็จให้ถือว่าเป็นกบฎ แต่หากว่าสำเร็จหัวหน้าในการก่อการกบฏคือรัฏฐาธิปัตย์แทนเสียดีกว่า เพราะถ้าทำรัฐประหารสำเร็จแล้วไม่ต้องรับผิดทั้งๆที่ผิดกฎหมายเราจะสอนลูกหลานว่าอย่างไร
 
ในเวลาประมาณ 9.40 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยศาลพิพากษาว่าสิรภพมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. เนื่องจากปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ไปรายงานตัวโดยไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้อง แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าการไม่เข้ารายงานตัวจะเป็นการทำอารยขัดขืนเพื่อปกป้องประชาธิปไตยด้วยวิธีสันติอหิงสา แต่ก็การกระทำดังกล่าวก็เป็นความผิดตามกฎหมาย 
 
พิพากษาจำคุกหนึ่งปีปรับ 18,000 บาท การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์กับการพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกแปดเดือนปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงการลงโทษไว้มีกำหนดหนึ่งปี
 
คำพิพากษานี้ถือเป็นที่สุดเนื่องจากเหตุแห่งคดีนี้เกิดระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก การพิจารณาในศาลทหารมีเพียงชั้นเดียว จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา แม้ศาลจะให้รอการลงโทษจำคุกสิรภพในคดีนี้ แต่สิรภพยังถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป เพราะสิรภพถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี

 

คำพิพากษา

25 พฤศจิกายน 2559
 
ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดอ่านคำพิพากษาคดีของสิรภพ หรือ ‘รุ่งศิลา’ นักเขียนและนักกวีการเมือง จำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวของ คสช.
 
โดยคำพิพากษาศาลระบุว่า คสช.ออกประกาศคำสั่งในฐานะรัฏฐาธิปัตย์จึงสามารถบังคับใช้ได้ การฝ่าฝืนไม่รายงานตัวของสิรภพจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 18,000บาท โดยลดโทษโทษจำคุกเหลือ 8 เดือน ปรับ 12,000บาท เนื่องจากคำให้การเป็นประโยชน์ แต่ให้รอการลงโทษจำคุกเอาไว้ 2 ปี
 
โดยศาลบรรยายในคำพิพากษาว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประะเทศ จากนั้นคสช. ประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ได้มีการประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ข้อ 1 กำหนดโทษทางอาญาสำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อ คสช. ต้องระหว่างโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
ต่อมา คสช. ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรื่องเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อ คสช. ซึ่งมีชื่อ สิรภพ ให้เข้ารายงานตัวที่ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศน์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 โดยมีการประกาศผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุ แต่สิรภพไม่ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่งโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ทำให้ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเพื่อดำเนินคดีกับสิรภพในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อ คสช. และทางพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องถึงศาลทหารให้ออกหมายจับ
 
ทั้งนี้ จากคำเบิกความ สิรภพให้เหตุผลที่ไม่เข้ารายงานตัวว่าขณะนั้นเขาทราบว่ามีการประกาศใช้กอัยการศึกและตนเองถูกเรียกเข้ารายงานตัว แต่ที่เขาไม่เข้ารายงานตัวเพราะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นจึงกระทำตนอารยะขัดขืนไม่มารายงานตัวต่อทหารที่ทำการยึดอำนาจการปกครองเนื่องจากตนได้เสนอความคิดในากรต่อต้าานรัฐประหารโดยตลอดและเชื่อว่าคณะรัฐประหารจะยึดอำนาจไว้ได้ไม่นาน จึงเลือกกที่จะปกป้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธีอหิงสาไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร อีกไม่ยอมรับว่าคสช.มีอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์การประกาศใช้กฎอัยการศึกยึดอำนาจและมีคำสั่งเรียกรายงานตัวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
อย่างไรก็ดี ศาลเห็นว่า เมื่อคสช.ได้ยึดอำนาจสำเร็จแล้ว ประกาศ คำสั่งหรือกฎหมายใดในการใช้สั่งบังคับประชาชน ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์จึงถือว่าเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ ภายหลังคสช.ยึดอำนาจการปกครองแล้วได้ออกคำสั่งฉบับที่  44/2557 เรียกให้จำเลยเข้ารายงานตัวต่อ คสช. ในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 และจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ให้การว่าไม่ไปรายงานตัวจริง การกระทำของจำเลยเป็นการขัดขืนกฎหมายและในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้มีการระบุเอาไว้ว่าให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย
 
จากข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าสิรภพได้กระทำความผิดโดยฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 เรื่องเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อคสช. ให้ลงโทษตามประกาส คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ข้อ 1 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 18,000 บาท แต่การนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษลงเหลือ 1 ใน 3 ให้โทษจำคุกเหลือ 8 เดือน ปรับ 12,000บาท แต่จำเลยไม่เคยกระทำความผิดอาญามาก่อนและเพื่อจำเลยมีโอกาสปรับความประพฤติเป็นคนดีให้รอการลงโทษจำคุกเอาไว้ 2 ปี
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา