พรรณมณี, สมบัติ : ฝ่าฝืนประกาศ คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ทำลายทรัพย์สินราชการ

อัปเดตล่าสุด: 18/05/2563

ผู้ต้องหา

พรรณมณี

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

พรรณมณีและสมบัติ ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 พรรณมณีถูกถ่ายภาพขณะพ่นสีเสปรย์ลงบนรถฮัมวี่ของทหาร สมบัติถูกถ่ายภาพขณะปล่อยลมยางรถฮัมวี่ของทหาร ทั้งสองถูกตามไปจับกุมตัวหลังมีภาพเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต

คดีนี้ จำเลยทั้งสองคนไม่เพียงถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น แต่ถูกตั้งข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำลายทรัพย์สินราชการด้วย ซึ่งไม่มีผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารคนอื่นถูกตั้งข้อหาฐานนี้ ทั้งสองคนจึงปฏิเสธและต่อสู้คดีในศาลทหาร

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พรรณมณี อายุ 42 ปี เป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ

สมบัติ เป็นพนักงานโรงแรมฝ่ายจัดเลี้ยง โรงแรมแกรนด์ ไฮแอต เอราวัณ

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ, ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557
ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ปอ.ม.138

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เวลากลางวันอันเป็นวันเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศคสช.ที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร และประกาศคสช.ที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ใช้บังคับ จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีบังอาจร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองกับบุคคลอื่นรวมจำนวนคนประมาณ 200 คน คัดค้านต่อต้านการเข้าควบคุมอำนาจปกครองประเทศของคสช. บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้จำเลยทั้งสองได้ทราบประกาศคสช.ดังกล่าวแล้ว เนื่องจากตามวันเวลาดังกล่าวมีนายทหารประทวนประจำการได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำรถยนต์ของทางราชการออกประชาสัมพันธ์ความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านต่อต้านการเข้าอำนาจการปกครองประเทศของคสช. แต่จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีซึ่งกำลังมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองอยู่ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ของนายทหารทั้งสาม เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและตามร่างกายหลายแห่ง ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจ ขณะจำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีกำลังมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง จำเลยทั้งสองร่วมกันปล่อยลมยางรถยนต์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการกองทัพบกออกจนไม่สามารถใช้ขับต่อไปได้ แล้วจำเลยที่หนึ่งใช้สีสเปรย์พ้นสีที่รถยนต์คำว่า NO COUP ทำให้รถยนต์ของทางราชการของกองทัพบกดังกล่าวเสื่อมค่าไร้ประโยชน์ ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 18,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138,391,358,83,91 และให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของรถยนต์เป็นเงินจำนวน 18,000 บาท ให้แก่กองทัพบก
 

พฤติการณ์การจับกุม


พรรณมณีถูกควบคุมตัวตามหมายจับจากศาลทหาร ให้มารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 และถูกคุมตัวไปฝากขังไว้ที่สน.พญาไทเพื่อแถลงข่าว 
 
หลังจากภาพของสมบัติเผยแพร่ออกไป มีบุคคลในสื่อออนไลน์ที่โพสข้อมูลระบุ ชื่อ ที่อยู่ สถานที่ทำงานของสมบัติ ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับของศาลทหารไปที่โรงแรม แกรนด์ ไฮแอต เอราวัณ ที่สมบัติทำงานอยู่ เพื่อขอจับกุมตัว ขณะนั้นสมบัติไม่ได้อยู่ที่โรงแรม แต่เมื่อเพื่อนร่วมงานแจ้งว่าเจ้าหน้าที่มาแสดงหมายจับ สมบัติก็ยอมเดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ที่โรงแรมและยอมให้จับกุม สมบัติจึงถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่สน.พญาไท

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ุ6ก./2557

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

30 พฤษภาคม 2557

พันตำรวจเอกสมาน รอดกำเนิดมอบหมายให้พนักงานสอบสวนนำตัวพรรณมณีไปขออำนาจศาลฝากขังก่อนเวลา 12.00 น.  

31 พฤษภาคม 2557

ทนายคารม พลพรกลาง ทนายความกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติทำเรื่องขอประกันตัวให้ และศาลอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราวโดยตีวงเงินประกัน 40,000 บาท 

ที่มา: คมชัดลึก

3 มิถุนายน 2557

ช่วงเช้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลนำตัวสมบัติมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และช่วงบ่ายสมบัติถูกนำตัวไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอฝากขัง มีเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานของสมบัตินำเงินสด 40,000 บาทมายื่นขอประกันตัว โดยมีกลุ่มทนายความอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนทำเรื่องขอประกันตัวให้

 

18 กันยายน 2557
 
ณ ศาลทหารกรุงเทพ ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ศาลขึ้นบัลลังก์อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟังว่า จำเลยฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป จำเลยกับพวกทำการคัดค้านการปกครองของ คสช.และใช้กำลังขัดขวางการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยใช้กำลังทำร้ายขว้างปาสิ่งของเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 
 
นอกจากนั้นจำเลยกับพวกยังทำลายทรัพย์สินทางราชการโดยร่วมกันปล่อยลมยางรถยนต์เเละเอาสีเสปรย์ฉีดพ่นบริเวณรถเป็นข้อความว่า No Coup เป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหายไปมูลค่า 1 หมื่นบาท จึงขอให้ลงโทษตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 และเรียกค่าสินไหมทดเเทนอีกมูลค่า 18,000 บาท
 
จำเลยเข้าใจฟ้องเเละให้การรับสารภาพในข้อหาฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองเเละข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ แต่ขอต่อสู้ในประเด็นต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปในวันที่ 26 พ.ย.2557 เวลา 8.30 น
 
สมบัติเเละพรรณมณีถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกันนอกจากนั้นยังมีจำเลยอีกคนเเต่ไม่ปรากฏตัวว่ามาตามนัดพิจารณา
 
26 พฤศจิกายน 2557
ศาลทหารกรงเทพฯ นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.45 น. ศาลสั่งเบิกพยานโจทก์ปากแรกคือ ร้อยเอกเจริญ พ้นพันธ์ เเต่เนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาล โดยอ้างเหตุว่าติดภารกิจเเละรับหมายช้าไม่สามารถมาได้ เเละเนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญโจทก์จึงขอเลื่อนสืบพยานปากนี้เเละขอให้สืบพยานปากถัดไปในคราวถัดไป 
 
ทั้งนี้ทนายจำเลยขอตัดพยานเนื่องจากพยานโจทก์ที่ขอสืบมีถึง 23 ปากซึ่งอาจจะทำให้การพิจารณาคดีล้าช้า เเละเป็นอุปสรรคเเก่จำเลยในการต่อสู้ ดังนั้นทนายจำเลยขอให้โจทก์ตัดพยานผู้เชี่ยวชาญทางการเเพทย์ไปเพราะจำเลยยอมรับว่าเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจริงเเต่ประเด็นคือว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำหรือไม่เท่านั้น โจทก์จึงยอมตัดพยานผู้เชี่ยวชาญทางการเเพทย์ออกไป
 
23 มกราคม 2558 
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
สืบพยานปากที่ 2 ร.อ. เจริญ พ้นพันธ์ ผู้ทำการจับกุมจำเลยทั้ง 2 
 
ร.อ. เจริญ เบิกความว่า ตนเองเป็นผู้จับกุม สมบัติจากที่ทำงานของเขา เมื่อทนายจำเลยซักค้าน ร.อ. เจริญยอมรับว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่ สมบัติ เเละ พรรมณี ทำร้ายเจ้าหน้าที่ เพราะตนเป็นเพียงผู้ทำการจับกุมจำเลยทั้งสองเท่านั้น
 
ศาลนัดเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์นัดต่อไป จากวันที่ 28 มกราคม 2558 เป็นวันที่  25 มีนาคม 2558 เเละ 26 มีนาคม 2558
 
22 มิถุนายน 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1  สมบัติและ พรรณมณี พร้อมด้วยทนาย 2 คน  นั่งพร้อมกันอยู่แล้ว  ต่อมาเวลาประมาณ 9.55 น. ผู้พิพากษาเข้านั่งบัลลังก์พร้อมๆกับอัยการทหารที่เข้าห้องพิพากษามาในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากนั้นศาลได้ติจำเลย(พรรณมณี) เรื่องไม่มาตามนัดศาลนัดที่แล้ว 
พรรณมณีอ้างว่าช่วงนั้นไม่ค่อยว่าง ลืมวันนัดคราวที่แล้วไป  ศาลพูดกับพรรณมณีว่าหากมีกรณีไม่มาตามนัดอีก จะถือว่าผิดเงื่อนไขการประกันตัว จากนั้นจึงเริ่มพิจารณาคดี
 
วันนี้พยานโจทก์คือ จิรายุ สาระกูล เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม  อัยการเริ่มถามถึงหน้าที่การงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พยานเบิกความว่า ทำงานเป็นทหารสังกัดกองพันบริการ ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ปี 2555 หลังจากนั้นช่วงพฤศจิกายน 2556 พยานถูกส่งตัวมาประจำการเป็นพลขับที่ทำเนียบรัฐบาล
 
ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ หลังประกาศกฎอัยการศึกย้ายไปอยู่กรมการแพทย์ทหารบก และถูกย้ายมาประจำการเป็นพลขับที่กองพันทหารม้าที่ 22 ตั้งแต่ธันวาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน 
พยานเบิกความถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า  ขณะวันเกิดเหตุ  ได้รับคำสั่งเป็นหัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา (พัน ปวจ.) เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ในความสงบช่วงประกาศกฎอัยการศึกในช่วงเวลาตั้งแต่ช่วง 15.00 น. จนถึง  18.00น.  
 
ในชุดรักษาความปลอดภัยนั้น มีจำนวนทั้งหมด 10 นายรวมพยานด้วย และมีอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่คือหมวกแค็บบร้า เสื้อเกราะ โล่ และรถ 3 คันจากกองทัพ
 
พยานเบิกความถึงลำดับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ช่วงแรกที่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเหตุการณ์อะไรขึ้น แต่ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมมากกว่า 50 คน เดินมารวมกันที่เกาะกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากนั้นซักพักก็ทยอยไปจุดที่พยานประจำตำแหน่งอยู่ และเริ่มใช้ความรุนแรง ด่าทอและขว้างปาสิ่งของใส่ชุดสารวัตรทหารที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุด ชุดสารวัตรทหาร ร่นกำลังมาจุดที่พยานอยู่
 
พยานและหน่วยชุดรักษาความปลอดภัยจึงเปิดโล่ห์ให้ชุดสารวัตรทหารผ่านเข้าไป หลังจากนั้นชุดปฏิบัติการของพยานรวมถึง พัน ปจว. ก็รับช่วงต่อผู้ชุมนุมจากสารวัตรทหาร โดยพยานเบิกความว่า ชุดรักษาความปลอดภัยใช้เพียงโล่ห์เพื่อป้องกันตัวและ พัน ปจว. เท่านั้น พยานเบิกความต่อไปว่าเหตุการณ์ดำเนินมารุนแรงที่สุดประมาณหลังเวลา 18.00 น. ได้รับคำสั่งจาก ร.อ. เจริญ พลพันธ์ หัวหน้าชุด ว่าเหตุการณ์เริ่มรุนแรงเกินกว่าจะต้านไหวแล้ว พยานและชุดรักษาความปลอดภัยจึงพา พัน ปจว. ออกจากพื้นที่ก่อน
 
หลังจากนั้นทุกอย่างจึงมาตกอยู่กับหน่วยของพยาน เจ้าหน้าที่ตำรวจในละแวกนั้นจึงเข้ามาจับมือกันล้อมหน่วยของพยานไว้และพาไปที่เกาะกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากนั้นพยานและหน่วยจึงร่นถอยต่อไปถึงโรงพยาบาลศิริราช ต่อมามีทหารขับรถต้นแบบไม่ทราบหน่วยมารับไปกองทัพภาคที่ 1 เมื่อถึงแล้วจึงตรวจสอบสภาพคนในหน่วย พบว่ามีผู้บาดเจ็บที่บริเวณขา 2-3 นาย โดยพยานอ้างว่าจำชื่อผู้บาดเจ็บไม่ได้ แต่ยืนยันรายชื่อตามคำให้การในชั้นสอบสวน แล้วหลังจากนั้นจึงไปรายงานตัว 
 
พยานเบิกความว่าการกระทำของกลุ่มผู้ชุมุนมทำให้การประชาสัมพันธ์ของ พัน ปจว. เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น 
และเบิกความต่อไปอีกว่า จำไม่ได้ว่าผู้ชุมุนมคนใด ทำร้ายเจ้าหน้าที่บ้าง ด้วยสถานการณ์ที่คับขันและจำนวนผู้ชุมุนมที่มีจำนวนมาก  สุดท้ายพยานเบิกความแก่อัยการทหารว่า ไม่ได้ใช้กำลังแต่อย่างใด
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน คนที่ 1
ทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ พยานเบิกความแก่ทนายว่า เริ่มมีการกระจายเสียงของ พัน ปจว. ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. จนถึง 18.00 น.  
เมื่อทนายถามถึงการจับกุมตัวของ ’ชายชุดดำ’ ในวันเกิดเหตุ พยานรับว่าไม่ทราบเรื่องนี้ 
ทนายถามต่อไปว่าเหตุการณ์รุนแรงขึ้นหลังเคารพธงชาติ (18.00 น.) ใช่หรือไม่ พยานรับว่าไม่ทราบ
 หลังจากนั้นทนายถามต่อไปว่า มีทหารหน่วยอื่นมาปฏิบัติหน้าที่อีกไหม พยานตอบว่าไม่ทราบ 
หลังเกิดเหตุ พยานให้การว่าปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนี้ต่ออีกประมาณ 3 วัน
 
ตอบทนายถามค้าน คนที่ 2
ทนายจำเลยถามค้านพยานโดยหัวข้อคำถามส่วนใหญ่เกี่ยวการเรียกร้องประชาธิปไตยและพยานหลักฐานที่เป็นรูปภาพเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 
ช่วงแรกของการถามค้าน พยานรับว่า ไม่ทราบว่าที่ถูกส่งตัวมาประจำการทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2556 นั้น เพราะอะไร
 และเบิกความต่อไปอีกว่า ช่วงนั้น "ไม่ได้ดูโทรทัศน์เลย แต่โทรศัพท์มือถือของพยานสามารถใช้รับข่าวสารได้ และพอได้รับข่าวสารมาบ้างเล็กน้อย"
 
ต่อมาทนายถามถึงเรื่องการบุกรุกทำเนียบของ  คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. พยานรับว่าทราบถึงเหตุการณ์การบุกรุก แต่ไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง
 
ทนายจำเลยจึงถามต่อไปว่าการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ โดยอ้างว่าได้ยินเสียงจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “ทหารออกไป” แต่ไม่ได้ด่าทอตัวเจ้าหน้าที่โดยตรง
 
จากนั้น ทนายถามเกี่ยวกับการรักษาอาการบาดเจ็บของคนในหน่วย ได้ความว่า พยานไม่ได้พาพลทหารใต้บังคับบัญชาทั้ง 3 นาย ที่บาดเจ็บตรงช่วงขาในวันเกิดเหตุไปพบแพทย์ เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางการแพทย์มายืนยัน 
ทนายจำเลยถามต่อไปว่า ‘การเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเวลานั้น’ ผิดหรือไม่ พยานรับว่า ‘ผิด’ โดยอ้างกฎอัยการศึก 
 
ทนายจึงถามต่อไปว่า ‘การเรียกร้องประชาธิปไตย’ ทำได้หรือไม่ พยานรับว่า ‘ทำได้’ 
โดยต่อมา พยานเบิกความว่าไม่ทราบว่าการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวประจำปี 2557 
 
พยานเบิกความต่อไปอีกว่า ภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานทั้งหมด ไม่พบภาพใดที่ผู้ชุมนุมมีอาวุธอยู่ในมือแม้แต่ภาพเดียว 
ในชั้นสอบสวน พยานให้การว่ามีการเทน้ำใส่เครื่องขยายเสียงของ พัน ปจว. แต่ในภาพหลักฐาน ไม่มีภาพใดแสดงถึงการกระทำนั้นแม้แต่ภาพเดียว
 
ตอบอัยการถามติง
อัยการทหารออกมาถามติงการซักค้านของทนายจำเลย ได้ความว่า พยานยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันเกิดเหตุทั้งหมดมีมากกว่าและรุนแรงกว่าภาพที่เป็นหลักฐาน รวมถึงการทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย 
พยานเบิกความว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการบาดเจ็บของพลทหารในหน่วยวันนั้นเกิดจากภาพไหน 
สุดท้ายอัยการทหารถามทิ้งท้ายไว้ว่า แผงกั้นเหล็ก สามารถนำมาเป็นอาวุธได้หรือไม่ พยานรับว่าได้ ตามความเห็นของพยาน
 
หลังจากนั้นศาลอ่านคำให้การของพยานโจทก์ปาก จิรายุ สาระกูล และนัดสืบพยานปากต่อไป กำหนดเป็นวันที่ 27 กันยายน 2559
 
20 มิถุนายน 2561

นัดสืบพยานโจทก์

อัยการทหารแถลงขอเลื่อนการสืบพยานออกไปเนื่องจากพยานติดราชการ ฝ่ายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ศาลนัดสืบพยานโจทก์ใหม่ในวันที่ 17 กันยายน 2561

6 สิงหาคม 2562
 
นัดฟังคำสั่งโอนย้ายคดี
 
สมบัติพร้อมทั้งทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ เดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 9.30 น.  
 
พรรณมณีจำเลยอีกคนหนึ่งมาถึงศาลในเวลาประมาณ10.30 น. โดยแจ้งทนายว่าที่มาศาลช้าเป็นเพราะเข้าใจผิดว่าต้องไปศาลอาญา จึงไปที่ศาลอาญาก่อนจากนั้นจึงมาที่ศาลทหาร พรรณมณีขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ในเวลาประมาณ 10.55 น. หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที ศาลก็ขึ้นบัลลังก์และเริ่มการพิจารณาคดี โดยศาลอ่านกระบวนพิจารณาคดีว่า 
 
อ่านกระบวนพิจารณาคดีทันทีว่า
คดีนี้ที่ศาลเห็นว่าข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ที่โจทก์ฟ้องจำเลยยู่นอกเขตอำนาจศาลทหาร จึงได้ส่งเรื่องไปให้ศาลยุติธรรมพิจารณาเขตอำนาจศาล ซึ่งศาลแขวงดุสิตพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงดุสิต และให้ย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลแขวงดุสิต
 
อีกทั้งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น 
 
ตามข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามที่ระบุในบัญชีสองท้ายคำสั่งนี้ กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม 
 
จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรม ให้จ่าศาลคัดถ่ายสำนวนคดีเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย และสัญญาประกันให้มีผลต่อไป
 
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ขออนุญาตศาลบันทึกในกระบวนพิจารณาคดีว่า ขอถอนตัวจากการเป็นผู้รับมอบอำนาจนายประกันในส่วนของ พรรณมณี จำเลยที่หนึ่งเนื่องจากมีภาระมาก เกรงว่าหากย้ายศาลแล้วจะไม่สามารถไปศาลตามนัดได้
 
ศาลชี้แจงว่า เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ประกาศออกมาแล้วทำให้ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้แล้ว จึงไม่สามารถพิจารณาสิ่งที่ทนายแถลงต่อศาลได้ แนะนำให้ทนายแถลงต่อศาลยุติธรรมในนัดถัดไป 
 
การพิจารณาคดีนี้เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 11.10 น. 
 
สมบัติและพรรณมณีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คดีนี้นับเป็นคดีพลเรือนคดีแรกในยุคคสช. ที่จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี โดยตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมาสามารถสืบพยานโจทก์ไปได้สิบปากโดยยังไม่เริ่มการสืบพยานของฝ่ายจำเลย
 
 
27 มกราคม 2563
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 

ศาลอาญาได้ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า ข้อหาตามฟ้องโจทก์ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงดุสิต จึงให้รวบรวมสำนวนคืนศาลทหารกรุงเทพ เพื่อพิจารณาสั่งต่อไป จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา