จอน : คดีสาธารณสุข

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

จอน อึ๊งภากรณ์และพวกอีก 9 คน

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2555

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

นายจอน อึ๊งภากรณ์และพวกอีก 9 คนถูกฟ้องว่าการแจกเอกสารในงานเปิดตัว "กลุ่มคนรักสุขภาพ" นั้นเข้าข่ายหมิ่นประมาทโจทก์ตามป.อาญา 326 และ 328

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายจอน อึ๊งภากรณ์  ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เว็บไซต์ประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
 
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
 
นางยุพดี ศิริสินสุข สมาชิกคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้าน
สาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค
 
นางสาวณัฐกานต์ กิจประสงค์
 
นางสาวภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
 
นางสาวกชนุช แสงแถลง โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
 
นายบารมี ชัยรัตน์ ตัวแทนกลุ่มสมัชชาคนจน
 
นายรุ่งเรือง กัลย์วงศ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
 
นางจรรยา แสนสุภา ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วันที่ 25 มกราคม 2555
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเก้า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 (ความผิดฐานหมิ่นประมาท) และมาตรา 328 (ความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา)
 
ในคำฟ้องโจทก์ระบุว่า นายจอน อึ๊งภากรณ์กับพวกรวม 9 คน ร่วมกันแจกเอกสารแผนภูมิภาพต่อที่ประชุมในงานเปิดตัว "กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ว่าสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) สมาคมผู้วิจัยเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข เป็นกลุ่ม/ก๊วนที่วางแผนล้มระบบหลักประกัน
 
อันเป็นการระบุเจาะจงว่าสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) มีเจตนาชั่วร้ายวางแผนล้มระบบหลักประกัน ทั้งที่กิจกรรมการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีขึ้นและเป็นไปเพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจในกิจกาารบริการสาธารณสุขขององค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
การกระทำของจำเลยทั้งเก้า จึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ทั้ง 4 โดยการโฆษณา โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้ง 4 เสื่อมเสียชื่อเสียง และถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเกลียดชัง
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

4 มีนาคม 2556
 
ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ปากที่หนึ่ง : แพทย์หญิงประชุมพล บูรณ์เจริญ
(ข้อมูลการไต่สวนมูลฟ้องปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจาก iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)
 
แพทย์หญิงประชุมพล บูรณ์เจริญ เบิกความว่า ตนเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ตำแหน่งพยาธิแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเป็นสมาชิกสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
 
แพทย์หญิงประชุมพล บูรณ์เจริญ กล่าวว่า สหพันธ์ผู้ปฎิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งประเทศไทยเห็นด้วยและคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นจะนำเสนอเข้าสภา
 
แพทย์หญิงประชุมพล บูรณ์เจริญ กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2545 ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลดูแลประชาชนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและไม่มีประกันสังคม หากนำบัตรประชาชนไปแจ้ง ก็จะได้รับเป็นบัตรทองหรือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นเหตุให้มีคนไข้เพิ่มขึ้นในแต่ละโรงพยาบาลกว่า 3 เท่าเมื่อปี 2554 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่พอกับจำนวนคนไข้ที่มีบัตรทอง
 
แพทย์หญิงประชุมพล บูรณ์เจริญ เบิกความว่า ต่อมารัฐบาลได้ออกร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์มา โดยมีกลุ่ม เอ็นจีโอ หรือกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาเป็นผู้บริหารเงินของกองทุนตามร่าง พรบ. นี้ เพื่อจะให้เป็นค่าเสียหายหรือค่าชดเชยแก่บุคคลที่เชื่อว่าตนได้รับความเสียหาย โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใดๆมาแสดง ซึ่งทางสหพันธ์เห็นว่าไม่เป็นธรรม และได้ร้องเรียนไปยังรัฐบาลสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข 
 
แพทย์หญิงประชุมพล บูรณ์เจริญ เบิกความถึงเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 ว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินลงข้อความในเว็บไซต์ว่ามีการตรวจสอบการใช้เงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 10 ปีย้อนหลังเพราะว่ามีการใช้เงินผิด ทางสหพันธ์ฯจึงได้ทำหนังสือไปยังนายวิทยา บูรณศิริ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เรียกร้องให้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบซ้ำจากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบออกมาแล้ว และให้มีการยุบคณะอนุกรรมการและตั้งอนุกรรมการใหม่โดยนำผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหารงาน หลังจากนั้น นายวิทยา บูรณศิริ จึงได้มีคำสั่งยุบอนุคณะกรรมการทุกคณะเสียและมีการตั้งคณะอนุกรรมการใหม่ขึ้นมา ซึ่งคณะอนุกรรมการที่ถูกยุบนั้น คือ กลุ่มที่จำเลยทั้ง 9 อยู่ด้วย
 
แพทย์หญิงประชุมพล บูรณ์เจริญ กล่าวต่อว่า หลังจากถูกยุบไปแล้ว กลุ่มของจำเลยได้ตั้งเป็นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2555 ที่โรงแรมริชมอนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี และออกแผนผังกล่าวหาว่าตนและพวกเป็นกลุ่มก๊วนที่วางแผนล้มระบบหลักประกัน
 
แพทย์หญิงประชุมพล บูรณ์เจริญ กล่าวเสริมว่า เจตนาที่ตนกับพวกยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น เพื่อให้ตรวจสอบการบริการงาน ไม่มีเจตนาล้มล้างระบบหลักประกันสุขภาพแต่อย่างใด
 
 
 
20 พฤษภาคม 2556
ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ปากที่สอง : แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา
 
(ข้อมูลการไต่สวนมูลฟ้องปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจาก iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)
 
แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา เบิกความว่า ตนเป็นข้าราชการโรงพยาลเด็ก สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเป็นสมาชิกของแพทยสมาคมและสมาชิกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ตนได้ด้รับเลือกเป็นกรรมการแพทยสภาระหว่างปี 2546 – 2548 และระหว่างปu 2548 – 2550
แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา กล่าวว่า เมื่อปี 2553 มีการตั้งสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) โดยตนเป็นประธาน โดยสหพันธ์ฯมีแนวคิดที่จะแยกบุคลากรทางด้านสาธารณสุขออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และพยายามเสนอความคิดเห็นไปยังรัฐบาลต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการสาธารณสุข ซึ่งตนเห็นว่าไม่เป็นธรรม
 
แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา เบิกความว่า ก่อนหน้าปี 2545 งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยนั้นจะอยู่ในการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ได้มีการนำเงินส่วนที่เคยอยู่ในการบริหารจัดการของกระสาธารณสุขมาอยู่ในการบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา กล่าวต่อไปว่า ตนคิดว่าแนวทางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น จะทำให้เกิดผลเสียกับประชาชน และขัดต่อพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ ตนเห็นว่า ควรจะมีการช่วยเหลือบุคคลผู้ด้อยโอกาสในการเข้ารับบริการทางด้านสาธารณสุข มิใช่ช่วยเหลือบุคคลผู้ที่มีฐานะร่ำรวยให้เท่าเทียมกับผู้ที่มีฐานะยากจน ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติการสาธารณสุขไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้มาตรฐาน
 
แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา เบิกความถึงแผนผังที่มีการระบุถึงสหพันธ์ฯว่าจะล้มหลักประกันสุขภาพนั้น ไม่เป็นความจริง การที่กล่าวว่าสหพันธ์ฯไม่เห็นแก่ประชาชน เห็นแก่บริษัทยาข้ามชาติและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จะทำให้ผู้ที่อ่านข้อความเหล่านี้รู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังตนกับพวก 
 
 

หมายเลขคดีดำ

อ.138/2555

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ASTV ผู้จัดการออนไลน์.  พบหลายหน่วยงานจ่อล้มระบบประกันสุขภาพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000002767.  (วันที่ค้นข้อมูล: 8 มกราคม 2555)

8 มกราคม 2555
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ในฐานะประธานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวแถลงข่าวเรื่อง “แฉผังล้มระบบหลักประกันสุขภาพ” พร้อมเปิดตัว “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของหลายองค์กร อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ที่โรงแรมริชมอนด์
 
ที่ผ่านมาพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อประชาชนกำลังถูกแทรกแซงจากฝ่ายที่เสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะพวกนายทุน ภาคธุรกิจ เห็นได้จากการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของ บอร์ด สปสช.แทนที่จะช่วยกันพิจารณาทั้งภาคประชาชน ทั้งฝ่ายการเมือง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้แทนต่างๆ แต่กลับมีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่ปราศจากความเห็นของประชาชน เลือกบุคคลที่สาธารณะแทบไม่รู้จัก นอกจากนี้ หน้าที่ของบอร์ด สปสช.ควรต้องตามกฎหมายในเรื่องรวมระบบประกันสังคมกับบัตรทอง กลับยังไม่ดำเนินการ แต่ปล่อยให้ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อถ่วงเวลา 
 
25 มกราคม 2555
แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา กับพวกรวม 4 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง วันที่ 4 มีนาคม 2556 และ 20 พฤษภาคม 2556
 
4 มีนาคม 2556
ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ปากที่หนึ่ง แพทย์หญิงประชุมพล บูรณ์เจริญ
 
20 พฤษภาคม 2556
ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ปากที่สอง แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา
 
19 สิงหาคม 2557
 
ศาลจังหวัดนนทบุรี ห้อง บังลังก์ 7
 
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ ได้แก่ แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา และ แพทย์หญิงประชุมพร บูรณ์เจริญ ทนายโจทก์ ทนายจำเลย และจำเลย 6 คนมาศาล ได้แก่ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา, นางยุพดี ศิริสินสุข, นางสาวณัฐกานต์ กิจประสงค์, นางสาวสุภัทรา นาคะผิว, นางสาวกชนุช แสงแถลง, นายบารมี ไชยรัตน์ แต่จำเลยที่ 1, 8 และ 9 ไม่มาศาล
 
เวลาประมาณ 9.45 น. ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์ ผู้พิพากษากล่าวกับฝ่ายโจทก์และจำเลยว่า ศาลเห็นว่าควรไกล่เกลี่ยจึงเชิญทนายฝ่ายจำเลยและจำเลยทั้ง 6 คน ออกจากห้องพิจารณาเพื่อพูดคุยกับฝ่ายโจทก์ หลังจากนั้น จึงเชิญฝ่ายจำเลยพร้อมทนายมารับทราบการเจรจาระหว่างผู้พิพากษาและฝ่ายโจทก์ โดยข้อตกลงที่จะถอนฟ้องคือการทำหนังสือคำชี้แจง
 
ผู้พิพากษาได้กล่าวว่า ตนถูกหัวหน้าศาลกำชับมาถึงสามรอบว่าคดีสามารถไกล่เกลี่ยได้ อีกทั้งเป็นนโยบายว่าคดีประเภทนี้ต้องใช้การสมานฉันท์ เพราะประเทศเรามีความขัดแย้งกันมากพออยู่แล้ว 
 
ก่อนหน้านี้ ศาลเคยไกล่เกลี่ยคู่กรณีไปแล้ว และทั้งสองฝ่ายต่างก็มีคำชี้แจงในฉบับของตนเอง ในระหว่างที่ผู้พิพากษาได้คุยกับฝ่ายโจทก์จึงหยิบเอาคำชี้แจ้งของฝ่ายจำเลยมาแก้ไข เมื่อทางฝ่ายจำเลยได้เห็นรายละเอียดการแก้ไขแล้ว เห็นว่ามีบางประโยคในคำชี้แจ้งที่ยังไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอว่าจะไม่ยอมให้คำชี้แจงดังกล่าวเผยแพร่ไปยังสาธารณะ เพราะกังวลว่าจะมีผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ประโยชน์อันจะเกิดผลเสียต่อฝ่ายจำเลยในภายหลัง
 
เมื่อผู้พิพากษาเห็นว่าฝ่ายโจทก์ยอมทำตามข้อตกลงอันจะนำไปสู่การไกล่เกลี่ยเพื่อถอนฟ้อง จึงเชิญทั้งสองฝ่ายมาร่วมกันร่างคำชี้แจง และขอให้ทั้งสองฝ่ายคุยกันในรายละเอียดเอง เมื่อได้ข้อสรุปค่อยเรียกผู้พิพากษากลับมา
 
มีการแก้ไขสลับไปสลับมาทั้งจากฝ่ายโจทก์และจำเลย จนได้คำชี้แจงฉบับสมบูรณ์ เกี่ยวกับการสําคัญผิดต่อสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีจุดประสงค์ที่จะปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยกันทั้งคู่
เมื่อได้ข้อสรุปที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ผู้พิพากษาจึงกลับขึ้นนั่งบัลลังก์ และบันทึกรายละเอียดในเอกสารคำชี้แจงของทั้งสองฝ่าย 
 
ศาลถามว่าจะให้บันทึกเงื่อนไขการห้ามเปิดเผยเอกสารฉบับนี้หรือไม่ ทนายโจทก์ไม่ขัดข้อง แต่กล่าวว่าเนื้อหานั้นไม่มีฝ่ายใดเสียหาย แต่ทนายฝ่ายจำเลยยืนยันในเงื่อนไขนั้น เพราะเกรงว่าหากมีการเผยแพร่ไปแล้วอาจจะมีการสื่อสารที่ผิดพลาดอันจะนำไปสู่ความเสียหายต่อจำเลยภายหลัง
 
ศาลอ่านคำชี้แจงพร้อมทั้งกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ แต่เนื่องจากฝ่ายจำเลยมาไม่ครบ จึงถามทนายความว่าสามารถพิจารณาลับหลังได้ใช่หรือไม่ ทนายฝ่ายจำเลยตอบว่าใช่
 
ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง พร้อมทั้งให้ฝ่ายโจทย์และจำเลยเซ็นเอกสารรับทราบ
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา