สมบัติ บุญงามอนงค์ : ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คสช.

อัปเดตล่าสุด: 07/08/2562

ผู้ต้องหา

สมบัติ บุญงามอนงค์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

อัยการศาลแขวงดุสิต

สารบัญ

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือหนูหริ่ง หรือ บ.ก.ลายจุด ถูกดำเนินคดีที่ศาลแขวงดุสิต เนื่องจากไม่มารายงานตัวตามคำสั่งเรียกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 

ต่อมาศาลพิพากษาว่าประกาศคสช. เป็นกฎหมายที่มีผลย้อนหลังและมีผลกับเฉพาะบุคคล ใช้บังคับไม่ได้ จึงลงโทษในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ให้ปรับ 500 บาท

ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าสมบัติไม่มีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 29/2557 แต่นอกจากนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงจำคุกสมบัติเป็นเวลาสองเดือน ปรับเป็นเงิน 3000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้หนึ่งปี 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สมบัติ บุญงามอนงค์ ชื่อเล่นว่า "หนูหริ่ง" และมีนามแฝงที่ใช้ในอินเทอร์เน็ตว่า "บ.ก.ลายจุด" เป็นอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา เป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง นอกจากนี้ยังเป็นแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง 
 
สมบัติทำงานด้านสังคมมาตลอด กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 เขาแสดงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารอย่างชัดเจน พร้อมเป็นแกนนำ "กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ต่อต้านรัฐประหาร"  เป็นแกนนำ "เครือข่าย 19 กันยายน ต้านรัฐประหาร" และยังได้รวมตัวกับเพื่อนก่อตั้ง "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)" เพื่อต่อต้านการรับประหารและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 
 
ในปี 2553 กลุ่ม นปก. ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" เพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การนำผ้าสีแดงไปผูกไว้ที่ป้ายแยกราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบต่อการกระชับพื้นที่จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
 
นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม "ที่นี่มีคนตาย" ทุกวันอาทิตย์ที่ราชประสงค์ ในนามกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ในปี 2556 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งจนเกิดกระแสคัดค้านในสังคม สมบัติก็เป็นอีกหนึ่งคนที่รวบรวมมวลชนผ่านสื่อออนไลน์เพื่อแสดงพลังคัดค้านที่แยกราชประสงค์ด้วย
 

ข้อหา / คำสั่ง

ฝ่าฝืนประกาศคสช.(เฉพาะ)ฉบับที่ 25/2557, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สมบัติ ถูกประกาศเรียกให้มารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ต่อมามีประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 กำหนดให้คนที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง มีความผิด กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

สมบัติ ไม่ได้มารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศน์ ตามวันเวลาที่กำหนดในคำสั่งและประกาศ โดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง จึงถูกดำเนินคดี

พฤติการณ์การจับกุม

ช่วงกลางคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2557 สมบัติถูก ผบก.ปอท. ร่วมกับ ร.21 เข้าจับกุมตัวที่บ้านพักที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี หลังจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติตรวจสอบหมายเลขไอพีที่ใช้โพสต์ข้อความผ่านอินเทอร์เน็ต จากนั้นจึงนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จ.ชลบุรี (ร.21 รอ.) ก่อนนำตัวขึ้นศาลทหารเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ภายหลังถูกจับกุมตัวสมบัติได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ผมโดนจับแล้ว" จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวสมบัติไปสอบสวนต่อที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล


หมายเลขคดีดำ

1515/2557

ศาล

ศาลแขวงดุสิต

แหล่งอ้างอิง


10 กรกฎาคม 2557
 
อัยการยื่นฟ้องสมบัติต่อศาล ในความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ โดยคำฟ้องสรุปความได้ว่า 
 
เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก จึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และมีการออกคำสั่งกองทัพบกที่ 81/2557 ให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจเชิญบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย
 
ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้เข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจบริหาร ออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงการใช้อำนาจตามคำสั่งกองทัพบกที่ 81/2557 ด้วย 
 
เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คสช.จึงมีคำสั่งที่ 3/2557 เรียกตัวบุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม โดยชื่อของจำเลยปรากฎอยู่ในลำดับที่ 60 ของคำสั่งฉบับดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้จำเลยมารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เวลา 10.00 น. แต่ปรากฎว่าจำเลยไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง 
 
ต่อมาคสช.ออกประกาศฉบับที่ 25/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 และประกาศฉบับที่ 29/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 กำหนดให้บุคคลที่มีชื่อในคำสั่งฉบับที่ 3/2557 ที่ไม่มารายงานตัวในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประกาศและคำสั่งทั้งหมด มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และประกาศออกสื่อวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งจำเลยได้รับทราบ แต่จำเลยไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง โดยไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ 
 
เนื่องจากจำเลยในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีของศาลแขวงพระนครเหนือ หมายเลขแดงที่ 1589/2554 ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ ติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย
 
ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ออกหมายขัง ทนายจึงขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้แต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศและห้าม เคลื่อนไหวทางการเมือง 
 
ศาลนัดพร้อม วันที่ 19 สิงหาคม 2557 เวลา 9.00 น.
     
 
19 สิงหาคม 2557
 
นัดประชุมคดี ตรวจพยานหลักฐาน
 
ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.45 น.
 
คดีนี้โจทก์แถลงว่าประสงค์จะสืบพยานทั้งสิ้น 18 ปาก แต่หากจำเลยรับว่าพยานปากที่เป็นพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น 13 ปาก เป็นพนักงานสอบสวนและสอบสวนร่วม และได้ทำการสอบสวนคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ไม่ติดใจจะสืบพยานปากดังกล่าว แต่จะขอสืบพยานอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดี 8 ปาก ใช้เวลา สองนัด
 
จำเลยและทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงและแถลงขอสืบพยานหกปาก ใช้เวลา สองนัด
 
เนื่องจากพยานเอกสารมีจำนวนมาก คู่ความจึงแถลงร่วมกันว่าจะขอตรวจพยานหลักฐานอีกนัดในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ซึ่งศาลอนุญาตให้เป็นไปตามนั้น  
 
14 ตุลาคม 2557
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 9 ศาลแขวงดุสิต ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ ฝ่าฝืนคำสั่ง เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวของคสช.
 
สมบัติและภรรยาเดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.20 น. ก่อนที่ศาลจะขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.30 น. 
 
ศาลให้ทนายความและอัยการตรวจพยานหลักฐานอีกฝ่าย เพื่อว่าหากมีการยอมรับข้อเท็จจริงในบางส่วนก็อาจไม่จำเป็นต้องสืบพยานบางปาก แต่เนื่องจากคู่ความไม่ยอมรับข้อเท็จจริงของอีกฝ่าย จึงจะมีการสืบพยานทุกปากตามที่ยื่น
 
การสืบพยานปากแรกจะมีขึ้นที่ศาลแขวงชลบุรี ในวันที่ 26 มกราคม 2558 เพราะพยานไม่สามารถเดินทางมาเบิกความที่ศาลแขวงดุสิตได้ ในวันนี้ยังไม่มีการนัดสืบพยานปากอื่นๆ แต่อย่างใด
 
26 มกราคม 2558
 
สืบพยานโจทก์
 
นัดสืบพยานโจทก์ ที่ศาลแขวงชลบุรี พยานโจทก์คือ พ.ต.เอกสิทธิ์ นงนุช เป็นผู้บังคับหมู่ร้อย ประจำกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จังหวัดชลบุรี เกี่ยวข้องเป็นผู้ควบคุมตัวจำเลยในวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 19.00 น. เบิกความว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมมือกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ควบคุมตัวบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โดยตนไม่รู้จักชื่อของสมบัติมาก่อน ตนเข้าควบคุมตัวสมบัติที่หมู่บ้านประภัสสร ตำบลหนองกะขะ จังหวัดชลบุรี พร้อมกับทหาร 1 ชุด มีประมาณ 8-10 คน ซึ่งแต่งเครื่องแบบทหารพร้อมอาวุธประจำกาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกมากกว่า 8-10 คน
 
พยานให้การอีกว่า ในการคุมตัวไม่มีการต่อสู้ และได้คุมตัวจำเลยมาพร้อมของกลางคืออุปกรณ์ และกระเป๋าเดินทาง จากนั้นได้นำตัวสมบัติพร้อมพวกรวม 4  คน ไปสถานที่คุมตัวของฝ่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ขณะเดินทางมาสถานที่คุมตัว มีการปิดตาทั้งหมด พอถึงสถานที่คุมตัวได้แยกสมบัติไว้คนเดียว และไม่อนุญาตให้ติดต่อบุคคลภายนอก ส่วนอีก 3 คนที่เหลือก็คุมตัวในระยะเวลาเท่ากัน  แต่มีการดำเนินคดีหรือไม่ ตนไม่ทราบ หลังจากนั้นพยานพาตัวสมบัติไปสโมสรกองทัพบกเพื่อตั้งข้อหา โดยแจ้งข้อหาวันที่ 12 มิถุนายน 2557 แต่พยานจำไม่ได้ว่าวันที่ไปส่งตัวจำเลยกับวันที่แจ้งข้อกล่าวหาเป็นวันเดียวกันหรือไม่
 
ทนายจำเลยกล่าวว่า ถ้ามีการคุมตัวจากวันที่ 4-12 มิถุนายน 2557 เป็นเวลา 9 วัน ซึ่งเกินอำนาจกฎอัยการศึกที่ให้คุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน
 
จากนั้น ศาลนัดฟังประเด็นกลับวันที่ 2 มีนาคม 2558 ที่ศาลแขวงดุสิต 
 
2 มีนาคม 2558
 
นัดฟังประเด็นกลับ
 
ที่ศาลแขวงดุสิต กรุงเทพฯ ศาลอ่านประเด็นกลับต่อหน้าจำเลย ทนายจำเลย และอัยการ จากนั้นนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปคือวันที่ 5 มิถุนายน 2558
 
5 มิถุนายน 2558
 
สืบพยานโจทก์
 
ประมาณ 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีความที่ 8 ศาลแขวงดุสิต นัดสืบพยานโจทก์  วันนี้นอกจากทนายความเเล้ว ยังมีภรรยาของ สมบัติ มาร่วมสังเกตุการณ์การสืบพยานด้วย
 
อัยการเบิกพยานปากแรก คือ ร้อยเอก เมธาสิทธิ์ จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 12 รักษาพระองค์ จังหวัดปราจีนบุรี ผู้กล่าวทุกข์ร้องโทษในคดี  ร้อยเอกเมธาสิทธิ์ให้การว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้กล่าวหา โดยสมบัติเป็นผู้ถูกประกาศเรียกตัวบุคคลมารายงานตัว จากคำสั่ง กองทัพบกที่ 3/2557 และจากคำสั่งที่ 25/2557 เงื่อนไขการไม่มารายงานตัวจะมีความผิดลงโทษไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
 
สื่อที่ใช้เรียกรายงานตัวบุคคล มีทั้งทาง วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้สมบัติ ไม่มารายงานตัว
และไม่แจ้งเหตุขัดข้อง นอกจากนี้ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในเชิงท้าทายให้มาจับกุมและนัดหมายชุมนุม 
ตนจึงไปแจ้งความที่ กองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) และกองบังคับการปราบปราม
 
ทนายความของสมบัติเริ่มถามค้านเรื่องการแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ ร้อยเอก เมธาสิทธิ์ให้การว่า ไม่ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลท้องที่เกิดเหตุ และไม่ทราบว่าท้องที่เกิดเหตุคือที่ใด
 
ทนายความกล่าวถึงคดีที่กองปราบมีอำนาจดำเนินคดีได้บางคดีเท่านั้น  คดีนี้เป็นความผิดเล็กน้อยกองปราบปรามไม่มีอำนาจสอบสวน และช่วงประกาศกฎอัยการศึกที่ประกาศเฉพาะตอนที่มีศึกสงครามในประเทศ ตอนนั้นมีศึกสงครามในประเทศหรือไม่ 
ร้อยเอกเมธาสิทธิ์ให้การย้ำว่า ตนไม่มีเจตนาแอบแฝงในขณะแจ้งข้อหากับสมบัติ  เพียงแต่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา
จากนั้นทนายความถามถึง การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถูกต้องตาม รัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ พยานตอบ ไม่แน่ใจ  ทนายความจึงเอาเอกสารรัฐธรรมนูญ 2550 ให้อ่านมาตรา 68 (การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย) "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้"  
 
พยานจึงเปลี่ยนคำตอบว่า ใช่
 
นอกจากนี้ทนายความยังถามเรื่อง ประชาชนออกมาชุมนุมโดยสงบสันติ ดื้อแพ่ง กับคำสั่งผู้ได้อำนาจรัฐมาโดยมิชอบ(อารยะขัดขืน) ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 69 
พยานตอบว่า เคยได้ยิน
 
ช่วงบ่ายพยานอีกปาก เป็นพนักงานสอบสวนร่วมในคดี  พันตำรวจเอก พงษ์สไว แช่มลำเจียก จากกองบังคับการปราบปราม  มาเบิกความเรื่อง กองบังคับการปราบปรามมีอำนาจสอบสวน เพราะเห็นว่าคดีนี้เป็นที่น่าสนใจ จำเลยเป็นบุคคลสาธารณะเป็นนักกิจกรรมทางสังคม และมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผู้คนสนใจ กองปราบจึงอนุมัติให้ดำเนินคดี 
 
หลังเสร็จสิ้นสืบพยานปากนี้เเล้ว ศาลนัดสืบพยานจำเลย  วันที่ 12 มิถุนายน 2558 
    
12 มิถุนายน 2558
 
สืบพยานจำเลย
 
ที่ศาลแขวงดุสิต วันนี้ศาลนัดสืบพยานจำเลย 3 ปาก 1. สมบัติ บุญงามอนงค์ 2. นายแพทย์นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 3. ศ.ลิขิต  ธีระเวคิน
 
พยานปากแรก สมบัติ ตัวจำเลยเอง  ให้การเกี่ยวกับ  พฤติการณ์การถูกควบคุมตัว   และประวัติด้านการทำกิจกรรมสังคม เช่นเป็น  ประธาน มูลนิธิกระจกเงา  และได้รับรางวัลต่างๆทางสังคม  รวมถึงไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน  และเบิกความถึงทัศนคติต่อการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.)  เห็นว่าเป็นความผิดฐาน กบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 , 
 
โดยสมบัติเห็นว่าตนมีสิทธิและหน้าที่ตาม รัฐธรรมนูญฉบับ 2550  ตามมาตรา  69  และมาตรา 70 ในอันจะต่อต้านการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รวมถึง โต้แย้งอำนาจสอบสวนของกองปราม เพราะเห็นว่าไม่ใช่คดีร้ายแรงและไม่ใช่คดีที่อยู่ในความ  สนใจของประชาชน
 
พยานปากที่สอง  นายแพทย์นิรันดร์ เห็นว่าประเทศไทยมีพันธะกรณีเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง(ICCPR)  ประกอบกับแม้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จะยึดอำนาจการปกครอง  ประชาชน ก็ยังคงมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอยู่  และสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองก็ไม่ได้ถูกล้มล้างไป   ดังนั้นประชาชน จึงมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐ ในแนวทางที่สงบ ปราศจากอาวุธและสันติวิธี และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมบัติ โดยสมบัติร้องว่าตนถูกละเมิดสิทธิเนื่องจากถูกเรียกให้ไปรายงานตัว โดยมีสาเหตุมาจากมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากรัฐ
 
ต่อประเด็นนี้  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิ  แม้ว่ารัฐจะมีอำนาจออกประกาศเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวแต่ก็ต้องเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน  แต่กระบวนการของรัฐนับตั้งแต่ควบคุมตัวนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  และในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  หากพยานถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. เรียกให้ไปรายงานตัว  พยานจะไม่ไป เนื่องจากพยานเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  และเห็นว่าหาก ประชาชน ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารย่อมมีสิทธิในการแสดงออกโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ  ดังนั้นรัฐจึงไม่ควรใช้กฎอัยการศึกกับคนกลุ่มนี้
 
พยานปากที่สาม ศ.ลิขิต  ธีระเวคิน  ให้การเกี่ยวกับรัฏฐาธิปัตย์ โดยรัฏฐาธิปัตย์ มี 4 ประเภท  ได้แก่   ที่ใช้กำลัง  , โดยอ้างประเพณีเช่น ความเป็นเทวราช  บุตรแห่งสวรรค์   , ตามเหตุผล  และกฎหมาย , อ้างบุญญาธิการ  พยานเห็นว่า ประกาศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นกฎหมาย  แต่ก็เป็นคนละประเด็นกับความชอบตามหลักนิติธรรม
 
หลังจากเสร็จสิ้นการสืบพยานจำเลยในวันนี้ ศาลนัดสืบพยานจำเลยอีก 1 ปาก  คือ จันทจิรา  เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 19 มิถุนายน 2558
 
19 มิถุนายน 2558
 
 
ที่ศาลแขวงดุสิต นัดสืบพยานต่อจากวันที่ 12 มิถุนายน 2558  พยานจำเลยคือ จันทจิรา  เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน โดยก่อนหน้านี้พยานได้ส่งความเห็นเป็นหนังสือให้ศาล 
 
อัยการถามว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ยึดอำนาจตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบันถือว่ายึดอำนาจสำเร็จหรือไม่ พยานตอบว่า ณ วันที่ 22 ไม่อาจถือว่าสำเร็จได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ทำให้เห็นเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าคณะผู้ยึดอำนาจสามารถควบคุมกลไกของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 1 /2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ลงวันที่  22 พฤษภาคม 2557 ยังขาดความชอบธรรมและข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปของประชาชน หน่วยงานรัฐ รัฐต่างประเทศ อีกทั้งบุคคลที่ไม่เห็นด้วยอาจแสดงการต่อต้าน ประกาศดังกล่าวจึงไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย เพราะคณะยึดอำนาจยังไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ แต่จนถึงวันนี้ถือว่ายึดอำนาจสำเร็จแล้ว
 
พยานกล่าวต่อว่า ในข้อเท็จจริงที่ประเทศไทยเคยปฏิบัติกันมา เมื่อพระมาหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะผู้ยึดอำนาจของประเทศ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐจะยอมรับพระบรมราชโองการดังกล่าว และเมื่อมีรัฐต่างประเทศมาเจริญสัมพันธไมตรีด้วย ในทางปฏิบัติจะถือว่าการยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ เพราะประชาชนไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะต่อต้านหรือตั้งกองกำลังคัดค้านอำนาจการปกครอง
 
อัยการถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยมีชื่อเป็นบุคคลที่ได้รับคำสั่งให้มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2557 ประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 พยานตอบว่าทราบ
 
อัยการถามต่อว่า ประกาศทั้ง 3 ฉบับ มีสภาพเป็นกฎหมายที่ผู้ได้รับคำสั่งต้องปฏิบัติตามหรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าดูจากวันที่ที่ลงในคำสั่งคือ 23-24 พฤษภาคม 2557 ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่ามีสภาพบังคับตามกฎหมายหรือไม่ เพราะ ประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. ลงราชกิจจาวันที่ 26 พฤษภาคม 2557  เราคงต้องคาดหมายว่าประชาชนจะทราบอย่างเร็วที่สุดวันที่ 26 พฤษภาคม 2557  
 
พยานกล่าวว่า ตนทราบว่าต่อมามีรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มีบทบัญญัติว่าให้บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. ไม่ว่าก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการนิรโทษกรรมคณะผู้ยึดอำนาจปกครอง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติ เพื่อให้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดต่อการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 
พยานทราบว่าศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษายอมรับว่าคณะรัฐประหารหรือคณะปฏิวัติที่ยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ มีอำนาจปกครอง ประกาศหรือออกคำสั่งต่างๆ เป็นกฎหมาย แต่ตนเห็นว่าคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาเก่า ปัจจุบันศาลได้มีวิวัฒนาการในทางที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น
 
พยานกล่าวอีกว่า การที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและสันติ ตามหลักกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 18 และจำเลยอาจเห็นว่าตนเองไม่มีความผิดที่จะต้องไปรายงานตัวแต่อย่างใด ส่วน คสช. ก็ไม่น่าจะมีอำนาจเรียกจำเลยให้ไปรายงานตัวได้
 
อัยการถามว่า ในทางทฤษฎีมีการปฏิวัติหรือยึดอำนาจด้วยวิธีใช้กำลังหรือไม่ พยานตอบว่ามี 
 
อัยการถามต่อว่า ผู้ที่ออกมาต่อต้านการยึดอำนาจจะต้องยอมรับการกระทำของตนเองด้วยใช่หรือไม่ พยานกล่าวว่า ผู้มีความเห็นต่างย่อมมีสิทธิแสดงความเห็นคัดค้านโดยสงบเปิดเผยภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ใกล้ชิดกับการยึดอำนาจ ประชาชนย่อมมีอำนาจแสดงความเห็น พิทักษ์ หรือ ปกป้องรัฐธรรมนูญ ที่เขาเชื่อว่ายังไม่ถูกล้มล้าง
 
นอกจากนี้อัยการถามเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองว่าในขณะที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มีสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง มีความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงคราม ปิดถนนสาธารณะและสถานที่ต่างๆ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ ดังนั้นการที่ คสช.ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อรักษาความสงบหรือให้บุคคลมารายงานตัวจึงต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสมและชอบธรรมเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการมีสภาพบังคับตามกฎหมาย 
 
ด้านทนายจำเลยถามติงว่า การยึดอำนาจของ คสช. ถือว่าสำเร็จหรือไม่ และประชาชนจะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญช่วงเวลาใด อย่างไร พยานเห็นว่าระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2557 ยังไม่มีความชัดเจนว่าประกาศหรือคำสั่ง คสช. มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายแล้วหรือไม่ ดังนั้น บุคคลที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งย่อมสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อต่อต้านการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยและพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ 
 
ทั้งนี้พยานเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ยังให้มีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพชนชาวไทย ดังนั้น ชนชาวไทยยังได้รับความคุ้มครองตามกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง
 
จบคำเบิกความ นัดฟังคำพิพากษา 21 กันยายน 2558
 

21 กันยายน 2558

นัดฟังคำพิพากษา

ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลนัดฟังคำพิพากษา โดยมีผู้มาสังเกตการณ์คดีรวม 9 คน ประกอบด้วย ภรรยาจำเลย สื่อมวลชน 3 คน และผู้สังเกตการณ์อื่นๆ 
 
เวลา 9.45 น. ศาลอ่านคำพิพากษา สรุปความได้ว่า ศาลเห็นว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เป็นการกำหนดโทษเพิ่มเติมย้อนหลังและเป็นประกาศที่มุ่งใช้กับเฉพาะบุคคล ใช้บังคับไม่ได้ 
ศาลลงโทษในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ศาลตัดสินพิพากษาปรับ 500 บาท 

30 มิถุนายน 2559

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้สมบัติมีความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. จำคุก 2 เดือน  ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

9 สิงหาคม 2560

นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
 
ศาลฎีกานัดสมบัติฟังคำพิพากษาในเวลา 9.00 น. โดยที่บริเวณนอกอาคารศาลมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณห้านายมาคอยสังเกตการณ์ โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าสมบัติไม่มีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 29/2557 แต่นอกจากนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงจำคุกสมบัติเป็นเวลาสองเดือน ปรับเป็นเงิน 3000 บาทแต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้หนึ่งปี 
 

คำพิพากษา

21 กันยายน 2558

คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลเห็นว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับบุคคลที่มีชื่อถูกเรียกตามคำสั่งคสช. ฉบับที่ 1-3/2557 และ 5-6/2557 เป็นการกำหนดโทษเพิ่มเติมย้อนหลังและเป็นประกาศที่มุ่งใช้กับเฉพาะบุคคลที่มีรายชื่อในประกาศเรียกรายงานตัว ซึ่งตามหลักของกฎหมายอาญา กฎหมายจะกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลังไม่ได้ และกฎหมายจะออกมาเพื่อเอาโทษกับเฉพาะบุคคลไม่ได้
 
ศาลแขวงดุสิตจึงไม่ลงโทษตามประกาศ คสช. 29/2557 แต่เห็นว่าการที่จำเลยไม่มารายงานตัวตามประกาศโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ศาลตัดสินพิพากษาปรับ 500 บาท โดยไม่ลงโทษจำคุก 
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าการไม่มารายงานตัวเป็นสิทธิในการต่อต้านการยึดอำนาจ คสช. ซึ่งจำเลยเห็นว่าผิดกฎหมาย เป็นการใข้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2550 และสิทธิในความคิดความเชื่อ ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 18 ที่ไทยเป็นภาคีด้วยนั้น ศาลไม่อาจรับข้อโต้แย้งของจำเลยได้เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 47 ให้การรับรองบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด

สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา

จำเลยได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังนี้ 

ประเด็นแรก ขณะที่ คสช. ออกประกาศและคำสั่งให้จำเลยไปรายงานตัวนั้น การยึดอำนาจของ คสช.ยังไม่สำเร็จ และ คสช. ยังไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ จึงไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งหรือประกาศใดๆ และการไม่ไปรายงานตัวของจำเลยนั้นการเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550  มาตรา 69 "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" และ มาตรา 70 "บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้" เห็นว่า 
 
หลังยึดอำนาจการปกครอง คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2550 ยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์สิ้นสุดลง ประกาศให้จำเลยและบุคคลอื่นๆเข้ารายงานตัว รวมทั้งออกคำสั่งที่เป็นการใช้อำนาจบริหารเช่น คำสั่งที่ 7 และ 9/2557 เรื่องการแต่งตั้งให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่และให้รักษาราชการแทน การออกคำสั่งดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคสช.สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จแล้วเพราะหากยังยึดอำนาจไม่สำเร็จคสช.ย่อมไม่อาจออกคำสั่งใช้อำนาจบริหารเช่นนั้นได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิได้อีก 
 
ประเด็นต่อมาที่จำเลยฎีกาทำนองว่า การยึดอำนาจของคสช.จะสำเร็จหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่ามีการต่อต้านจากประชาชนหรือไม่ หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ยึดอำนาจหรือไม่ และมีพระบรมราชโองการรับรองฐานะจากพระมหากษัตริย์หรือไม่ เห็นว่า

ในทางพิจารณาไม่เห็นว่ามีการต่อต้านจากประชาชนจนผู้ยึดอำนาจบริหารประเทศไม่ได้ และที่จำเลยอ้างว่าการยึดอำนาจยังไม่สำเร็จเพราะยังไม่มีพระบรมราชโองการรับรองจากพระมหากษัตริย์ก็เป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยเองไม่ได้กฎเกณฑ์ดังกล่าว
 
ประเด็นต่อมาที่จำเลยฎีกาว่าการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช.ฉบับที่ 3/2557 ในวันที่ี 23 พฤษภาคม 2557 เวลา 10.00 น. เกิดขึ้นและสำเร็จไปแล้ว การที่ประกาศคสช. (เฉพาะ) ที่ 25/2557 กำหนดให้จำเลยไปรายงานตัวในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ในเวลา 16.00 น. หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี นั้นไม่ชอบเพราะเป็นการมุ่งกำหนดโทษจำเลยย้อนหลังนั้นเห็นว่า

โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับ 3/2557 แต่ฟ้องตามประกาศคสช. (เฉพาะ) ที่ 25/2557 จากการที่จำเลยไม่ได้เข้ารายงานตัวในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 กรณีจึงไม่ถือเป็นการกำหนดโทษย้อนหลังตามที่จำเลยกล่าวอ้าง
 
อย่างไรก็ตามเห็นควรให้แก้คำพิพากษาบางส่วน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ที่ 29/2557 ด้วยนั้น เห็นว่าประกาศฉบับดังกล่าวมีเจตนากำหนดโทษกับบุคคลที่ไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งฉบับที่ 5 และุ 6/2557 ไม่ได้มีเจตนาจะดำเนินคดีกับจำเลยซึ่งมีชื่ออยู่ในคำสั่งฉบับที่ 3/2557 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประกาศฉบับนี้ 
 
ประเด็นสุดท้ายที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวกับจำเลย เห็นว่า

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อเท็จจริงเรื่องการยึดอำนาจและการเรียกบุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช.กับจำเลยแล้ว ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายบัญญัติให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษ…"  ดังนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าว 
 
ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้เป็นไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามประกาศฉบับที่ 29/2557 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุาทธรณ์ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลาสองเดือน ปรับเป็นเงิน 3000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้หนึ่งปี
 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา