“ธเนศ”: ส่งอีเมล์โดยมีอาการทางจิต

อัปเดตล่าสุด: 06/10/2565

ผู้ต้องหา

ธเนศ (นามสมมติ)

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้กล่าวหา

สารบัญ

"ธเนศ" ถูกกล่าวหาว่าส่งอีเมล์ ซึ่งมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ไปยังอีเมล์ของชาวอังกฤษ หลังถูกจับ "ธเนศ" ถูกส่งไปตรวจรักษาอาการทางจิต และแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคจิตหวาดระแวง

ในศาลชั้นต้น "ธเนศ" ต่อสู้ว่ากระทำความผิดไปขณะมีอาการทางจิต พิพากษาให้มีความผิดจำคุก 5 ปี ลดโทษเหลือ 3 ปี 4 เดือน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ธเนศเป็นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์  ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทางอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ http://www.misterotwo.com/ ไม่เคยร่วมการชุมนุมทางการเมืองหรือกิจกรรมทางการเมืองใดๆ

รู้จัก "ธเนศ" ให้มากขึ้น อ่าน "ธเนศ" : เสียงกระซิบที่ข้างหู [112 the series] 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ธเนศ ถูกกล่าวหาว่าส่งอีเมล์ ซึ่งมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ไปยังอีเมล์ [email protected] ซึ่งเป็นอีเมล์ของ Elimio Esteban ชาวอังกฤษ โดยในอีเมล์นั้นมีการส่งลิงก์ไปยัง sanamluang.blogspot ซึ่งมีข้อความเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ต่อมาลิงก์ดังกล่าวถูกปิดกั้นการเข้าถึง

การกระทำของผู้ต้องหาถูกตรวจพบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ขออำนาจศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ในอีเมล์ดังกล่าว

พฤติการณ์การจับกุม

2 กรกฎาคม 2557 เวลาประมาณหกโมงเช้า ที่บ้านพี่สาวของ "ธเนศ" ในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีทหาร 3 คนแต่งเครื่องแบบ และตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 7 คน เรียกและเข้ามาค้นของภายในบ้าน เพื่อจับกุมตัวธเนศ
 
ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ยังได้ยึดซีดี แฟลชไดรพ์ ขอพาสเวิร์ดเฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “misterotwo” และอีเมล์ไปด้วย  
 
หลังจากนั้น "ธเนศ" ถูกควคุมตัวไปที่ ม ทบ 11 ถูกควบคุมอยู่ทั้งหมด 7 วัน และปล่อยตัวในวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้แจ้งหมายจับ และส่งตัวไปสอบสวนที่ สภ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ธเนศรับสารภาพในชั้นสอบสวนในประเด็นการส่งอีเมล์ 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.3190/2557

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

2 กรกฎาคม 2557 

ธเนศถูกจับกุมที่บ้านของพี่สาว ที่จังหวัดเพชรบูรณ์

9 กรกฎาคม 2557

ธเนศถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังจึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากฐานะที่บ้านไม่ดีจึงยังไม่มีหลักทรัพย์สำหรับการยื่นขอประกันตัว

22 และ 24 กันยายน 2557

หลังจากที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์ขอให้ตรวจสอบอาการทางจิตของธเนศ ธเนศถูกส่งตัวไปตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ทั้งสองครั้งแพทย์ยังไม่ลงความเห็นวินิจฉัยเรื่องอาการทางจิตของธเนศ

30 กันยายน 2557

อัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา 

1 ตุลาคม 2557

ธเนศถูกนำตัวมาที่ศาลอาญาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามฟ้อง ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนวันนัดสอบคำให้การไปก่อนเพื่อรอผลตรวจจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ศาลกำหนดวันนัดพร้อม และสอบคำให้การจำเลยใหม่เป็นวันที่ 1 ธันวาคม 2557 เวลา 13.30 น.

13 ตุลาคม 2557

เวลาประมาณ 15.00 น. ที่ศาลอาญารัชดา ทนายความของธเนศยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาล โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวนสองแสนบาท

ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยให้เหตุผลต่อศาลว่า

จำเลยมีอาการป่วยและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยอาการป่วยของจำเลยมีความร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

จำเลยได้เข้ารับการตรวจอาการทางจิตประสาท ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจยืนยันว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตจริง จำเลยจึงมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์

จำเลยได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนครบถ้วนแล้ว และพยานหลักฐานทั้งหมดก็อยู่กับเจ้าหน้าที่แล้ว จำเลยเป็นเพียงคนธรรมดา จึงไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แม้จำเลยจะถูกกล่าวหาในคดีที่มีอัตราโทษสูง แต่เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจอนุมานได้ว่าจำเลยจะหลบหนี การคุมขังจำเลยก่อนศาลมีคำพิพากษา จึงเสมือนว่าจำเลยต้องรับโทษทางอาญาก่อนศาลมีคำพิพากษษเป็นที่สุด ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ทั้งนี้จำเลยไม่ได้เป็นแกนนำ และไม่เคยร่วมการชุมนุมทางการเมือง เพื่อประโยชน์ในการรักษาตัวและให้จำเลยได้สู้คดีอย่างเต็มที่ จำเลยจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยเป็นการชั่วคราว

ต่อมาในเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลมีคำสั่งว่า 

พิเคราะห์คำฟ้อง และคำคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว เห็นว่าความผิดตามฟ้องเป็นการเผยแพร่ข้อความเท็จ ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและมุ่งให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันอันเป็นที่เคารพยิ่งของประชาชน ทั้งเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 
 
พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง มีเหตุควรเชื่อว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยอาจหลบหนี
 
แม้จำเลยอ้างความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ จำต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ ก็เห็นว่าตามหลักฐานประกอบข้ออ้างดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะให้ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
 
ยกคำร้อง
 
1 ธันวาคม 2557
 
ศาลอาญานัดสอบคำให้การ เวลา 13.30 ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ศาลสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ขอให้ญาติจำเลย และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องพิจารณา

ทนายจำเลยยื่นคำให้การเป็นเอกสาร ระบุว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นเจ้าของอีเมล์ และเป็นคนส่งอีเมล์ตามที่ถูกฟ้องจริง แต่ขณะที่จำเลยส่งอีเมล์นั้น จำเลยไม่สามารถควบคุมบังคับตัวเองได้เนื่องจากจำเลยมีอาการทางจิตเภทประเภทหวาดระแวง ตามที่ปรากฏในรายงานการตรวจวินิจฉัยโรคของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
 
หากจำเลยรู้ตัวและสามารถควบคุมบังคับตัวเองได้ในขณะนั้น ก็คงไม่ส่งอีเมล์ตามที่ถูกฟ้อง ซึ่งขณะนี้จำเลยได้ทราบแล้วว่าการกระทำการส่งอีเมล์ดังที่โจทก์ฟ้องเป็นสิ่งที่ไม่สมควร  
 
นอกจากนี้ จำเลยส่งเพียงแค่ URL เท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้กล่าวถ้อยคำใดๆ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท
 
ขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้อง
 
ทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานโจทก์หลายปาก ติดใจสืบเฉพาะผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนเท่านั้น ศาลกำหนดวันนัดตรวจความพร้อมคู่ความ 23 มีนาคม 2558 และวันสืบพยาน 8 พฤษภาคม 2558
 
8 ธันวาคม 2557

จำเลยยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 200,000 บาท พร้อมใบรับรองแพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ระบุว่าจำเลยเป็นโรคจิตหวาดระแวงประเภท (F20.0 Paranoid Schizophrenia) และมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย ปัจจุบันสามารถต่อสู้คดีได้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานคุมขังจำเลย เคยส่งตัวจำเลยไปตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 22 และ 24 กันยายน 2557 และสถานรักษาทางการแพทย์ดังกล่าวรายงานผลมายังศาลอาญาว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง แต่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงไม่มีเหตุต้องไต่สวนแพทย์ที่ตรวจรักษาตามคำร้องของจำเลย และเห็นว่า หากการเจ็บป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงถึงขั้นที่สถานคุมขังจะดูแลความปลอดภัยแก่ชีวิตของจำเลยไม่ได้แล้ว ย่อมต้องดำเนินการส่งตัวจำเลยให้แพทย์ทำการรักษาในขั้นตอนตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ต่อไป ใช้ชั้นนี้ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม  ยกคำร้อง

22 ธันวาคม 2557

จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมีผู้ต้องขังเป็นจำนวนมากไม่สามารถดูแลอาการเจ็บป่วยได้ทั่วถึง การส่งตัวจำเลยในคดีนี้ไปตรวจอาการทางจิต ก็เพราะเป็นการส่งหนังสือร้องขอของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เป็นเพราะเรือนจำตรวจพบอาการเอง อีกทั้งสถานที่คุมขังปัจจุบันแออัด ไม่เหมาะกับการรักษาตัวของจำเลย ศาลจึงควรไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจอาการทางจิตก่อนมีคำสั่งเรื่องการประกันตัว

จำเลยในคดีนี้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ หากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข หรือต้องการไต่สวนจำเลย หรือต้องการพยานหลักฐานเพิ่มเติม จำเลยยินดียอมรับเงื่อนไขและปฏิบัติตาม

ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้ประกันตัว

17 กุมภาพันธ์ 2558

นัดสมานฉันท์

นัดสมานฉันท์ พนักงานอัยการโจทก์ จำเลย ทนายจำเลย และญาติของจำเลยมาศาล ศาลสงสัยว่าทำไมคดีนี้จึงส่งมาที่ห้องสมานฉันท์ เพราะศาลที่ห้องสมานฉันท์ไม่มีอำนาจในการวางกำหนดโทษให้จำเลยได้ เพราะคดีลักษณะนี้ต้องปรึกษาผู้ใหญ่ก่อน ต่อมาเนื่องจากคดีที่นัดสมานฉันท์มีปริมาณมาก จึงย้ายการพิจารณาไปที่ห้องอื่น

ทนายความแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากคดีนี้จำเลยมีอาการป่วยทางจิตตามใบรับรองแพทย์ที่ปรากฏอยู่ในสำนวนแล้ว จึงจะให้จำเลยรับสารภาพและขอให้ศาลรอการลงโทษ หรือสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปรับการรักษาแทนการลงโทษ 

ศาลแจ้งว่าคดีนี้ศาลไม่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องผลคดี และทนายไม่ควรบังคับให้จำเลยรับสารภาพ ศาลถามจำเลยว่า เป็นคนส่งอีเมล์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยรับว่าเป็นคนส่งจริง ศาลถามต่อว่า แล้วรู้หรือไม่ว่าเนื้อหาที่ส่งนั้นเป็นอย่างไร จำเลยตอบว่า ไม่รู้ เพราะตอนส่งอีเมล์มีเสียงในหูบอกให้ส่ง จึงส่งไปโดยไม่ได้อ่านให้ละเอียด 

ศาลจึงแจ้งทนายความจำเลยว่า จำเลยไม่รู้ว่าอีเมล์ที่ส่งมีเนื้อหาอย่างไร ต้องถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ทนายความจะให้จำเลยรับสารภาพไม่ได้ จึงให้ยกเลิกการสมานฉันท์ และจดในรายงานกระบวนพิจารณาว่าให้ส่งหนังสือแจ้งกรมราชทัณฑ์ให้นำตัวจำเลยไปบำบัดอาการป่วยทางจิตที่สถานพยาบาล

ทนายความยังได้ปรึกษาศาลเรื่องการขออนุญาตประกันตัว แต่ศาลบอกว่าศาลที่ทำหน้าที่สมานฉันท์ไม่มีอำนาจในการสั่งประกันตัว ขอให้ยื่นประกันตัวตามระบบปกติ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลเวรที่มีอำนาจสั่งเรื่องการประกันตัว

ในวันเดียวกันพี่สาวของจำเลยจึงยื่นขอประกันตัวอีกครั้งด้วยหลักทรัพย์เงินสด 300,440,73 บาท และให้เหตุผลว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง ที่แพทย์ลงความเห็นว่าจำเลยยังสามารถต่อสู้คดีได้นั้นเป็นคนละประเด็นกับความจำเป็นรีบด่วนที่จำเลยต้องได้รับโอกาสในการรักษาพยาบาล สภาพแวดล้อมทีแออัดในเรือนจำทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลการรักษาพยาบาลไม่ทั่วถึง และไม่เหมาะกับการรักษาทางจิตเวช

ในวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว


8 พฤษภาคม 2558

นัดสืบพยาน 
 
ที่ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดีที่ 713 ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันนี้ เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.35 น. ศาลถามอีกครั้งว่าจำเลยจะให้การอย่างไร ทนายจำเลยแถลงยืนยันให้การภาคเสธ คือ จำเลยยอมรับว่าเป็นคนส่งอีเมล์ตามฟ้องจริง แต่ขอต่อสู้ว่าขณะที่กระทำนั้นมีอาการทางจิต ศาลแจ้งกับทนายว่าถ้าจำเลยทำจริงก็อยากให้รับสารภาพ จะได้ลงโทษน้อยลง เพราะถ้าหากต่อสู้คดีโทษที่ได้รับจะต่างกัน เนื่องจากอาการของจำเลยไม่ถึงกับไม่รู้ผิดชอบเอาเสียเลย
 
“ธเนศ” ลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า ตนยอมรับมาตลอดอยู่แล้วว่าเป็นคนส่งอีเมล์จริง แต่มีปัญหาเรื่องเสียงในหู และถูกกลั่นแกล้งมาตลอด 20 กว่าปี ส่วนเนื้อหาที่ส่งอีเมล์ไปก็ไม่รู้ว่าเป็นความผิด เพราะปกติถ้าอะไรที่ผิดเว็บไซต์กูเกิ้ลจะเตือน แต่วันนั้นกูเกิ้ลไม่ได้เตือน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นความผิด ศาลกล่าวว่า จะไม่รู้ได้อย่างไรว่าเนื้อหาที่ส่งเป็นอย่างไร เพราะการส่งอีเมล์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ส่วนการตีความว่าสิ่งที่ทำผิดกฎหมายหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลรู้ได้เอง การรับสารภาพโดยมีเงื่อนไขแบบนี้จำเลยจะไม่ได้ประโยชน์ใดๆ
 
ต่อมาทนายจำเลย แถลงต่อศาลว่า ในคดีนี้จะต้องต่อสู้เรื่องอาการป่วยทางจิต ซึ่งทั้งโจทก์ ทนายความ และศาลก็ไม่อาจรู้ได้ว่าอาการป่วยนั้นจริงหรือไม่ จึงอยากให้ศาลให้โอกาสแพทย์มาเบิกความก่อน ส่วนประเด็นอื่นๆ ของคดีนี้ก็ขอยอมรับโดยไม่โต้แย้ง ศาลจึงตกลงและให้เริ่มสืบพยาน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 1  เกริกไชย ศรีศุกร์เจริญ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้
 
เกริกไชย เบิกความว่าปัจจุบันรับราชการเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจสืบสวนสอบสวนความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนหน้าคดีนี้เคยสืบสวนคดีเกี่ยวกับการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ในคดีของ สุวิชา  มาก่อน ซึ่งได้ดำเนินคดีและศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว
 
ระหว่างการสืบสวนได้ขออนุญาตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อเข้าถึงอีเมล์ที่ใช้ชื่อว่า stoplesemajeste และพบข้อความที่ “ธเนศ” ได้ติดต่อกับอีเมล์ stoplesemajeste ในลักษณะขอให้ช่วยเผยแพร่ข้อความในลิงก์ของเว็บไซต์ sanamluang2008 ซึ่งตรวจสอบดูพบว่าข้อความในลิงก์นั้นเข้าข่ายความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และรัชทายาท
 
เมื่อนำอีเมล์ของ “ธเนศ” ไปค้นหาจาก กูเกิ้ล พบว่าเกี่ยวข้องผู้ที่ใช้ชื่อ MisterO2 ที่ทำการกับค้าขายยาฆ่าแมลงและปุ๋ย อยู่ที่จ.เพชรบูรณ์ จึงให้ลูกน้องไปแฝงตัวติดตาม และได้ให้ข้อมูลกับทางทหารเป็นระยะๆ อยู่แล้ว จนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทางทหารจึงได้เข้าควบคุมตัว “ธเนศ”
 
หลังจับกุมตัวได้ทางทหารก็เรียกตนให้ไปสอบสวน เนื่องจากต้องเร่งสอบสวนให้เสร็จภายในอำนาจการควบคุมตัว 7 วันตามกฎอัยการศึก ทหารจึงมอบหมายให้ตนไปร้องทุกข์คดีนี้ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ให้ทำหน้าที่สอบสวนต่อ
 
ขณะที่ตนสอบสวน “ธเนศ” ให้การรับสารภาพ และลงลายมือชื่อในเอกสารที่ปริ๊นท์ออกมาจากอีเมล์ที่ส่งด้วย ขณะสอบสวน “ธเนศ” มีอาการปกติ ตอบคำถามรู้เรื่อง ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นโรคจิต ลูกน้องที่ไปสืบสวนก็พบว่า “ธเนศ” สามารถค้าขายได้ปกติ ในการสอบสวนวันที่ 2-3 มีการนั่งคุยกันก่อนเพื่อไม่ให้เครียด “ธเนศ” เล่าเรื่องอาการหูแว่ว และเหตุการณ์ที่เชื่อว่าจะมีคนมาทำร้ายให้ฟัง ซึ่งตนไม่เข้าใจ 
 
เกริกไชย ตอบคำถามค้านของทนายความว่า การกระทำในคดีนี้มีแค่การส่งลิงก์ผ่านอีเมล์อย่างเดียว ไม่มีการกระทำอื่น จำเลยไม่ได้เป็นผู้เขียนเนื้อหาในเว็บไซต์ sanamluang2008 เอง และจำเลยไม่ใช่ผู้ทำภาพในเว็บไซต์ดังกล่าว 
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 พ.ต.ท.จักรกฤษ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเคยไปพบจำเลยแล้ว แต่ไม่ได้จับกุม เพราะคดียังอยู่ในระหว่างสืบสวนไม่มีอำนาจจับกุม การดำเนินคดีกับเจ้าของอีเมล์ stoplesemajeste สิ้นสุดลงไปแล้ว ส่วนเว็บไซต์ sanamluang2008 ยังหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้จึงยังไม่ได้ดำเนินคดี และได้แจ้งให้ปอท.ปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ร.ต.ต.วิพล ไชยลาด พนักงานสอบสวน
 
ร.ต.ต.วิพล เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นพนักงานสอบสวนที่ปอท. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 เกริกไชยเดินทางมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ กับ “ธเนศ” ซึ่งขณะนั้นถูกทหารควบคุมตัวอยู่ จึงขออกหมายจับจากศาลอาญา แล้วไปรับตัวจากทหารตามหมายจับ
 
ในชั้นสอบสวนหลังแจ้งข้อกล่าวหาแล้วจำเลยยอมรับว่าเป็นคนส่งอีเมล์จริง ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ที่ยึดจากบ้านของจำเลยเมื่อส่งไปตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ 
เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จึงหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ให้มีอัยการร่วมสอบสวนด้วย
 
ขณะสอบสวนจำเลยครั้งแรกไม่มีอัยการและทนายอยู่ร่วมด้วย แต่การสอบสวนครั้งที่สองมี ขณะสอบสวนมองไม่ออกว่า “ธเนศ” มีอาการทางจิตหรือไม่ สามารถให้การได้ปกติ คุยกันรู้เรื่อง 
 
ร.ต.ต.วิพล ตอบคำถามทนายถามค้านว่า ในระหว่างการสอบสวน จำเลยเล่าถึงเสียงในหูที่บอกให้ช่วย เรื่องที่จำเลยเชื่อว่าตัวเองถูกกลั่นแกล้งปละถูกพยายามทำร้าย จำเลยให้การว่าตัวเองมีหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นเหตุให้ถูกบุคคลหลายกลุ่มกลั่นแกล้ง
 
ทนายถามว่า เรื่องราวที่จำเลยให้การนั้นเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกันเหมือนกับคนปกติหรือไม่ ร.ต.ต.วิพล ตอบว่า ตนดูไม่ออก ไม่อาจวินิจฉัยเรื่องนี้ได้ แต่ยังเห็นว่าให้การได้ปกติ มาทราบภายหลังจากทนายว่าจำเลยถูกส่งไปตรวจรักษาอาการทางจิต แต่ขณะนั้นยังไม่รู้ผล เพิ่งมาทราบผลในวันที่มาเบิกความต่อศาลนี้
 
คดีนี้การกระทำของจำเลยมีแค่การส่งลิงก์อย่างเดียว ไม่ได้ทำอย่างอื่น ข้อความในเว็บไซต์ sanamluang จำเลยไม่ได้เขียน ไม่ทราบว่าใครเขียน ขณะที่รับตัวจำเลยมา ทหารได้ให้เอกสารที่เขียนว่า “องค์ชาย 20 ปี…” มาด้วย แต่ภายหลังได้คืนให้จำเลยไปไม่ได้นำส่งเข้ามาในคดี ทราบว่าเอกสารนี้จำเลยติดไว้ที่หน้าบ้านและรถจักรยานเวลาขี่ไปไหนมาไหน
อัยการถามติง และร.ต.ต.วิพล ตอบว่า การกล่าวอ้างเรื่องอาการทางจิตของจำเลย ในหลักการทั่วไปก็เป็นไปได้ว่าจะอ้างขึ้นเองเพื่อให้พ้นผิด 
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานในช่วงเช้าเวลาประมาณ 11.55 น. นัดสืบพยานจำเลยต่อในช่วงบ่าย
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 1 แพทย์หญิงดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ แพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลย
 
พ.ญ.ดวงตา เบิกความว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ สังกัดกรมสุขภาพจิต เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจ ประเมิน วินิจฉัย และลงความเห็นอาการของจำเลยในคดีนี้ จำเลยถูกเรือนจำส่งตัวไปตรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 ได้สัมภาษณ์และสอบถามประวัติ จำเลยเล่าว่ามีคนติดตาม และทุกข์ทรมานจากอาการหูแว่ว บางครั้งทรมานจนอยากฆ่าตัวตาย จำเลยตอบคำถามเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีรู้เรื่อง รู้ว่าเคยพบแพทย์ของเรือนจำ มีการสั่งยาแต่เมื่อกินยาแล้วง่วงซึม จึงไม่อยากกินยาอีก ในวันดังกล่าวมีการทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อตรวจว่าแกล้งป่วยทางจิตหรือไม่ หลังทดสอบแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยแกล้งป่วย 
 
ก่อนจะเสนอความเห็นมายังศาลต้องให้สหวิชาชีพมาลงความเห็นรวม 5 วิชาชีพ ต้องให้พบนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิยา และในที่ประชุมต้องมีจิตแพทย์เพิ่มอีกสองคนจึงลงความเห็นได้ จากการสรุปข้อมูลแล้ว ลงความเห็นว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง โดยในวันสัมภาษณ์จำเลยมีอาการเศร้ามาก จึงลงความเห็นส่งไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าควรให้ยารักษาอารมณ์เศร้าด้วย
 
โรคจิตหวาดระแวงเป็นโรคทางสมอง มีความผิดปกติในการทำงานของสมอง อาจมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งจากการสอบประวัติพบว่าพี่ชายของจำเลยก็มีอาการแบบเดียวกับจำเลย และเคยไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช จ.เชียงใหม่ หลังจากนั้นออกจากบ้านยังไม่สามารถติดตามตัวได้ อาการของจำเลยจึงน่าจะมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ด้วย อีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะจำเลยเคยใช้ยาเสพติดประมาณ 5-6 ปี ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีอาการหวาดระแวงมากขึ้น แม้จะหยุดใช้ยามาประมาณ 10 ปีก็ยังมีอาการอยู่ 
 
จำเลยมีระดับสติปัญญาปกติ มีทักษะการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด เลี้ยงชีพด้วยตัวเองได้ เมื่อมีอาการหวาดระแวงจะใช้วิธีย้ายที่ทำงาน แยกตัวจากคนอื่น จำเลยปกป้องตัวเองจากอาการหูแว่วด้วยการใส่หูฟัง ขณะอยู่ในเรือนจำจำเลยใช้หนังสติ๊กสวมข้อมือและดีดตัวเองเพื่อเตือนตัวเอง ซึ่งเป็นอาการของคนป่วยประเภทนี้ที่การตัดสินใจจากเหตุการณ์ภายนอกจะบกพร่องเป็นช่วงๆ ส่วนมากในช่วงที่ไม่มีอะไรมากระตุ้นคนป่วยประเภทนี้จะดูเป็นคนปกติ แต่ถ้ามีภาวะภายนอกมากระตุ้นจะมีอารมณ์เปราะบางกว่าคนปกติและอดทนได้น้อย
 
คนป่วยประเภทนี้ส่วนมากจะเริ่มป่วยตั้งแต่วัยรุ่น แต่การเข้าถึงการรักษาขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจของคนป่วยและคนรอบข้าง ในอายุปัจจุบันของจำเลยก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ แต่หากเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต สามารถรักษาให้ทุเลาลงได้ แต่ไม่สามารถหายขาด โดยเฉพาะจำเลยซึ่งไม่เคยเข้ารับการรักษาเลย 
 
สาเหตุที่ระบุในผลการวินิจฉัยว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ เพราะอาการของจำเลยไม่ถึงขั้นวิกลจริต ยังสามารถรับรู้ว่าตนเองถูกดำเนินคดีอะไร ตอบคำถามได้ตรงคำถาม รู้สิทธิว่าตัวเองต้องมีทนายความ เท่าที่สอบถามจำเลยรู้ว่าตัวเองเป็นคนส่งลิงก์ ขณะที่ส่งลิงก์นั้นมีการฟอร์เวิร์ดเมล์ และจำเลยกล่าวอ้างว่าที่ทำไปเพราะจะเป็นการช่วยประชาชน เท่าที่สอบถามจำเลยอ้างว่าไม่ทราบว่าสิ่งที่ทำเป็นความผิด โดยจำเลยไม่มีความรู้กฎหมายที่จะแต่งเรื่องให้ตัวเองพ้นผิดได้  
 
นอกจากนี้จำเลยยังเล่าให้ฟังว่าตนเองหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จึงเป็นเหตุให้ถูกกลั่นแกล้ง หากจำเลยได้รับการรักษาอย่างเต็มที่น่าจะมีอาการดีกว่าที่เป็นอยู่
พ.ญ.ดวงตา ตอบคำถามอัยการว่า ขณะจำเลยตอบคำถามสามารถฟังแล้วเข้าใจ ไม่สับสน ในขณะให้สัมภาษณ์จำเลยก็มีอาการหวาดระแวง แต่ควบคุมตัวเองได้ เพราะโรคประเภทนี้ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดเวลา แพทย์ยืนยันว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิต แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าขณะที่ส่งลิงก์นั้นมีอาการมากน้อยเพียงใด ตนเองสันนิษฐานว่าขณะส่งลิงก์จำเลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นความผิด
 
พ.ย.ดวงตา ตอบคำถามติงของทนายว่า ข้อสันนิษฐานของตนเป็นไปตามวิชาชีพจิตแพทย์ ส่วนความคิดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลของจำเลยเป็นอาการอย่างหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 2  “ธเนศ” จำเลย เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง
 
“ธเนศ” เบิกความว่า ตนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อ่านเขียนและพูดภาษาอังกฤษได้จาการศึกษาด้วยตนเอง นับถือศาสนาคริสต์ ประกอบอาชีพค้าขายสินค้าเกษตรทางอินเทอร์เน็ต ยอมรับว่าได้ส่งอีเมล์ที่มีข้อมูลตามฟ้องจริง แต่เนื้อหาในลิงก์เว็บไซต์ sanamluang2008 ไม่ได้เป็นคนทำขึ้นเป็นแค่คนส่ง ก่อนส่งได้อ่านเนื้อหาในลิงก์แล้วแต่ไม่ได้อ่านทั้งหมด ไม่ทราบว่าเนื้อหาตอนไหนหมิ่นสถาบันฯ
 
เหตุที่ส่งอีเมล์ไปตามคำฟ้อง เนื่องจากมีเสียงรังควานบอกว่าให้ช่วยด้วย เป็นเสียงของกลุ่มคนที่ได้ยินตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ทราบว่าเป็นเสียงของใคร ไม่เห็นตัวคนพูด เสียงจะดังมากน้อยแล้วแต่โอกาส ลักษณะคล้ายกับเปิดวิทยุดังๆ ไว้ตลอดเวลา บางครั้งเสียงที่ได้ยินจะด่าตน บางครั้งก็ตอบโต้บ้าง บางครั้งเสียงตะโกนเข้ามาบอกให้ฆ่าตัวตาย ตนรู้สึกเหนื่อยและกลัวไม่กล้าทำอะไร อาการดังกล่าวนี้ไม่กล้าไปพบแพทย์ เพราะกลัวจะถูกมองเป็นคนบ้า
 
ขณะที่ส่งอีเมล์นั้นเสียงดังและรำคาญมากจึงส่งไปเพื่อจะช่วย เพราะกลัวและสงสารคนที่ขอให้ช่วย ขณะเกิดเหตุนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ เสียงดังมาตลอดบอกให้ช่วยด้วย ดังอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง นอกจากนี้ ตนได้ให้การไว้ในชั้นตำรวจแล้วว่าถูกกลั่นแกล้งมาตลอด 20 กว่าปี 
 
วิธีการตรวจของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ หมอจะนัดไปพบนักสงัคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา 4-5 ครั้ง ให้ทำแบบทดสอบ วาดรูป ต่อภาพ ครั้งสุดท้ายจะมีการประชุมใหญ่ ประมาณ 20 คน หลายๆ คนสัมภาษณ์อยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังการตรวจแล้วหมอจะสั่งยาให้โรงพยาบาลราชทัณฑ์จ่ายยา ช่วงแรกกินยาแล้วหลับง่ายขึ้น หลังจากประมาณสามเดือนจะนอนไม่หลับ ปวดเนื้อตัว มึนหัว จึงหยุดกินยาเพราะทนไม่ไหว ปัจจุบันจึงยังมีเสียงรบกวนอยู่ 
 
อีเมล์ที่ส่งในคดีนี้ ขณะส่งไม่ทราบว่าเป็นความผิด หากทราบว่าเป็นความผิดก็จะไม่ส่ง เอกสารที่เขียนว่า “องค์ชาย 20 ปี” นั้นติดไว้ที่หน้าบ้านเพื่อเรียกร้องต่อพระผู้เป็นเจ้าให้มีความเป็นธรรมกับตน 
 
วันที่ถูกทหารมาจับกุมมีการรื้อค้นในบ้าน และยึดข้าวของไป ทหารควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 และให้เซ็นเอกสาร มีคนนั่งล้อมวงประมาณ 20 คนและให้ตนนั่งตรงกลาง และบอกให้รับสารภาพ ขณะนั้นไม่ได้พูดเรื่องหูแว่ว เนื่องจากตกใจ หากเจ้าหน้าที่ไม่ตะโกนและเตะขาเก้าอี้ก็คงบอกไปแล้ว แต่บรรยากาศวันที่คุยกับตำรวจและหมอนั้นแตกต่างไป ปัจจุบันทราบแล้วว่าตนเป็นโรคจิตและอยากหายจากอาการนี้ 
 
อัยการไม่ถามค้าน
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 3 เนตรนภา หาญรักษ์ พี่สาวจำเลย
 
เนตรนภา เบิกความว่า จำเลยพักอยู่อาศัยที่บ้านของตนมาประมาณ 4-5 ปี เมื่อทราบว่าจำเลยถูกจับได้พยายามติดตามหาตัว และมาตามหาที่กรุงเทพ แต่ไม่พบ สาเหตุที่เร่งตามหาเพราะเป็นห่วง เนื่องจากทราบว่าจำเลยอาการไม่ค่อยดี 
จำเลยมีอาการกลัวคนมาทำร้ายตลอดเวลา เชื่อว่าตัวเองถูกวางยา ถูกจ้องทำร้าย ไปที่ไหนก็มีแต่คนติดตาม ต้องหนีตลอด จำเลยจะพูดให้ตนฟังตลอด
 
ก่อนหน้านี้เห็นว่าอาการไม่ปกติจึงเคยชวนจำเลยไปหาหมอแต่จำเลยไม่ยอมไป อ้างว่าตนไม่ได้เป็นอะไร จำเลยมีอาการผิดปกติมาตั้งแต่ก่อนปี 2552 
 
จำเลยชอบเอาเอกสารติดไว้ที่หน้าบ้าน ที่จักรยานของจำเลยจะเอาไม้ปิ้งไก่สองอันมาทำเป็นไม้กางเขนติดไว้ข้างหน้าแล้วมีตุ๊กตายางรูปไก่ติดไว้อีกทีหนึ่ง อาการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าเคยถูกวางยาและมีคนตามทำร้ายนั้น เท่าที่ตนเห็นไม่เชื่อตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เรื่องราวต่างๆ นั้นไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง
ต่อมาตนได้ขอความช่วยเหลือกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเล่าเรื่องให้ฟัง ศูนย์ดังกล่าวจึงส่งทนายความมาช่วยเหลือและทำเรื่องให้ส่งตัวจำเลยไปรักษาอาการ
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานวันนี้ในเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 เวลา 9.00 น.
 
25 มิถุนายน 2558
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีของธเนศ ที่ห้องพิจารณาคดี 713 โดยเริ่มกระบวนการในเวลาประมาณ 9.15 น. ในห้องพิจารณาคดีนอกจากจะมีญาติของ"ธเนศ"แล้วยังมีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว AFP ประชาไท ตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ขณะที่ตัวแทนสถานทูตเดนมาร์กมาถึงห้องพิจารณาคดีหลังเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลบอกเลขห้องผิด 
 
ศาลอ่านคำฟ้องและอ่านข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องทั้งหมดให้ฟังอีกครั้ง และพิเคราะห์ว่า 
 
ข้อความที่ปรากฏอยู่ในลิงก์ที่จำเลยส่งอีเมล์ไปนั้นเป็นการกล่าวหาใส่ร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการส่อถึงความไม่มีมารยาทไม่ให้เกียรติพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดที่ไม่อาจให้อภัยได้ แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นแค่เพียงการส่งลิงก์แต่จำเลยย่อมต้องติดตามค้นคว้าข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยการกระทำของจำเลยมีเจตนาจะให้ข้อความไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของผู้รับอีเมล์ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์ของไทยทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ 
 
ปัญหาที่ศาลต้องวินิจจึงมีว่า ที่จำเลยต่อสู้ว่ากระทำไปเนื่องจากมีอาการทางจิตไม่สามารถบังคับตนได้ได้นั้นจริงหรือไม่ ศาลพิเคราะห์ว่า แพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยจำเลยเบิกความแล้วว่า จำเลยมีเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีแนวความคิดเบี่ยงเบนไปจากความจริงบ้างแต่ไม่รุนแรงนัก จะมีอารมณ์รุนแรงเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นแต่หากไม่มีสิ่งมากระตุ้นก็จะมีอาการปกติ จำเลยมีภาวะอารมณ์ไม่ปกติและมีอาการเศร้าร่วมด้วย 
 
นอกจากนี้ยังได้ความจากพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษที่พูดคุยกับจำเลยว่า จำเลยให้การได้ตามปกติ มีอาการปกติเหมือนคนทั่วไป ซึ่งทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่มีเหตุต้องเบิกความกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลย ทั้งในเอกสารบันทึกคำให้การจำเลยยังปรากฏว่าจำเลยให้การไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิด เป็นขั้นเป็นตอน แม้จำเลยจะจะบการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แต่ก็สามารถอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้จากการศึกษาเอง และเคยไปต่างประเทศ จำเลยสามารถประกอบการค้าขายบนอินเทอร์เน็ตได้ เมื่อคำนึงถึงการใช้ชีวิตประจำวันแล้วไม่เชื่อว่าขณะกระทำความผิดจำเลยไม่รู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ จำเลยไม่สามารถยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นมาให้ตัวเองพ้นผิดได้ 
 
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องอันจะกระทบต่อความมมั่นคงแห่งราชอาณาจักร นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันกระทบต่อความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3), (5) 
 
การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยด้วยบทที่หนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุกเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากในชั้นพิจารณาจำเลยให้การเป็นประโยชน์ เป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงให้ลดโทษจำคุกลง 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน
 
26 กันยายน 2559

"ธเนศ" ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังได้รับลดโทษจากพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแบบทั่วไป ฉบับที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังทั้งสิ้น 2 ปี 2 เดือน 24 วัน
 
 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ข้อความที่ปรากฏอยู่ในลิงก์ที่จำเลยส่งอีเมล์ไปนั้นเป็นข้อความพร้อมภาพ อันเป็นบทความหลายรายการ โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาทประกอบด้วย  แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นแค่เพียงการส่งลิงก์แต่จำเลยย่อมต้องติดตามค้นคว้าข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และองค์รัชทายาท โดยการกระทำของจำเลยมีเจตนาจะให้ข้อความไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของผู้รับอีเมล์ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์ของไทยทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ แต่กลับมีเจตนาชี้แหล่งช้อมูลให้นำบทความไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน การกระทำของจำเลยบ่งชี้ได้ว่ามีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ต่อองค์พระมหากษัตริย์ และองค์รัชทายาท มิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ โดยเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร 

ปัญหาที่ศาลต้องวินิจจึงมีว่า ที่จำเลยต่อสู้ว่ากระทำไปเนื่องจากมีอาการทางจิตไม่สามารถบังคับตนได้ได้นั้นจริงหรือไม่ ศาลพิเคราะห์ว่า แพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยจำเลยเบิกความแล้วว่า จำเลยมีเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีแนวความคิดเบี่ยงเบนไปจากความจริงบ้างแต่ไม่รุนแรงนัก ซึ่งอาจเป็นเพราะขณะที่รับการทดสอบมีภาวะวิตกกังวลสูงมาก เมื่อมีสถานการณ์ใหม่ๆ หรือมีอะไรมากระตุ้นจะปรับตัวลำบาก มักใช้กลไกทางจิตแบบหลีกหนี แต่หากอยู่ในสภาวะปกติก็พอจะปรับตัวได้ มีปัญหาในการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น จำเลยมีภาวะอารมณ์ไม่ปกติและมีอาการเศร้าร่วมด้วย ปัจจุบันสามารถต่อสู้คดีได้
 
นอกจากนี้ยังได้ความจากพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษที่พูดคุยกับจำเลยว่า จำเลยให้การได้ตามปกติ มีอาการปกติเหมือนคนทั่วไป ซึ่งทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่มีเหตุต้องเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย ทั้งในเอกสารบันทึกคำให้การจำเลยยังปรากฏว่าจำเลยให้การไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิด เป็นขั้นเป็นตอน แม้จำเลยจะจะบการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แต่ก็สามารถอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้จากการศึกษาเอง และเคยไปต่างประเทศ จำเลยสามารถประกอบการค้าขายบนอินเทอร์เน็ตได้ 
 
แม้ตามรายงานการตรวจวินิจฉัยโรคของแพทย์ระบุว่าจำเลยมีความผิดปกติอยู่บ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงการใช้ชีวิตประจำวันของจำเลยแล้ว ยังไม่พอให้ฟังได้ว่าขณะที่กระทำความผิดจำเลยไม่รู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง จำเลยไม่สามารถยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นมาให้ตัวเองพ้นผิดได้ 
 
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องอันจะกระทบต่อความมมั่นคงแห่งราชอาณาจักร นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันกระทบต่อความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3), (5) 
 
การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยด้วยบทที่หนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุกเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากในชั้นพิจารณาจำเลยให้การเป็นประโยชน์ เป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงให้ลดโทษจำคุกลง 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน
 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา