จิตรา : ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวคสช.

อัปเดตล่าสุด: 20/08/2562

ผู้ต้องหา

จิตรา คชเดช

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก คสช. ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน

สารบัญ

จิตรา อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ถูกเรียกรายงานตัวโดยคำสั่งคสช.ฉบับที่ 44 เนื่องจากจิตราอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถมารายงานตัวได้ตามกำหนด เธอจึงถูกออกหมายจับและถูกจับกุมที่สนามบินขณะเดินทางเข้าประเทศในวันที่ 13 มิถุนายน 2557

จิตราปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาลโดยยืนยันว่าไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวแต่ขณะเกิดเหตุอยู่ต่างประเทศไม่สามารถกลับมารายงานตัวได้ทันเวลา แต่ได้พยายามติดต่อกับคสช.ทุกวิถีทางแล้วทั้งให้เพื่อนมาส่งจดหมายถึงหัวหน้าคสช.และไปรายงานตัวที่สถานทูตไทยในสวีเดน

ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาเป็นที่สุดยกฟ้องจิตราในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช.เพราะเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและได้ดำเนินการตามสมควรเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จิตราเป็นอดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เคยเป็นแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้าง ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสหภาพไทรอัมพ์ ในปี 2554 จิตราเคยมีชื่อเสียงจากการไปชูป้าย “ดีแต่พูด” ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกำลังพูดอยู่บนเวทีเนื่องในงานวันสตรีสากล เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ร่วมกับพรรคพลังประชาธิปไตย

ข้อหา / คำสั่ง

ฝ่าฝืนประกาศคสช. 41/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรื่องเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มเติม สั่งให้จิตราเข้ารายงานตัวกับคสช.ในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 แต่ขณะนั้นจิตราอยู่ต่างประเทศไม่สามารถกลับมารายงานตัวตามกำหนด จึงถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ในศาลทหาร

พฤติการณ์การจับกุม

1 มิถุนายน 2557 

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 44/2557 เรียกให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมจำนวน 28 คนภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 โดยปรากฏชื่อของจิตรา แต่จิตราไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้ตามกำหนดเวลาเนื่องจากติดภารกิจที่ประเทศสวีเดน  

ต่อมา จึงมีการออกหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ ที่ จก.9/2557 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2557 และเมื่อจิตราเดินทางกลับจากสวีเดนถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเช้าวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ก็ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวไว้

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

28 ก./2557

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
1 มิถุนายน 2557
 
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 44/2557 เรียกให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมจำนวน 28 คนภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 โดยปรากฏชื่อของจิตรา
 
3 มิถุนายน 2557
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ขณะนี้จิตราติดภารกิจที่สต๊อกโฮมล์ม ประเทศสวีเดน ทำให้เดินทางเข้ารายงานตัวไม่ได้ จึงขอไปรายงานตัวที่สถานทูตไทยในสวีเดนแทน แต่เมื่อไปถึงสถานทูตไทยได้ส่ง นันทพร เหล่าบุญเจริญ เลขานุการเอก เป็นตัวแทนมาพบ จิตราจึงได้ส่งจดหมายแจ้งเรื่อง การรายงานตัวต่อคสช.ให้แก่นันทพร รายละเอียดจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวในวันและเวลาที่กำหนด และจะไปรายงานตัวอีกครั้งเมื่อกลับถึงประเทศไทย
 
ต่อมานันทพร แจ้งต่อจิตราว่า ขณะนี้สมชัย จรณะสมบูรณ์ เอกอัครราชทูตและทูตทหารสถานทูตไทยไม่อยู่  และขอปรึกษาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งก่อน หลังจากนั้นจึงกลับมาแจ้งว่า ไม่สามารถรับเรื่องของจิตราได้เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่มีกรอบในการทำงาน และคสช. ไม่มีคำสั่งในการทำงาน ทั้งยังสถานทูตยังไม่สามารถออกหลักฐานใดๆให้แก่จิตราเพื่อรับรองว่า จิตรามาที่สถานทูตจริง นอกจากนี้สถานทูตได้แนะนำให้กลับไปประเทศไทยให้ทันกำหนดการรายงานตัวในวันและเวลาดังกล่าว
 
 
9 มิถุนายน 2557
 
ศาลทหารกรุงเทพอนุมัติหมายจับ
 
10 มิถุนายน 2557
 
ตัวแทนของจิตราเดินทางไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศน์ แจ้งว่าจิตราไม่มีเจตนาจะไม่มารายงานตัว แต่ติดภารกิจอยู่ที่ประเทศสวีเดน และมีกำหนดจะเดินทางกลับในวันที่ 13 มิถุนายน 2557  โดยเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยจิตราจะเดินทางมารายงานตัวต่อคสช.ทันที
 
13 มิถุนายน 2557
 
จิตราเดินทางมาถึงประเทศไทยและถูกจับกุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากนั้นถูกนำตัวไปขังไว้ที่กองบังคับการปราบปราม
 
14 มิถุนายน 2557
 
จิตราถูกนำตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อขอฝากขัง การดำเนินคดีเริ่มขึ้นเวลาประมาณ 11.00 น. หลังศาลสั่งอนุญาตให้ฝากขัง จิตราถูกนำตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นเรื่องประกันตัวด้วยเงินสด 20,000 บาท
 
เวลาประมาณ 16.20 น. ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว จิตรา ผู้ต้องหาคดีไม่ไปรายงานตัว ด้วยหลักประกันเงินสด 20,000 บาท
 
เงื่อนไขสำหรับผู้ได้รับการประกันตัว ประกอบด้วย
1. ห้ามชุมนุมทางการเมืองอันก่อให้เกิดความไม่สงบ และห้ามแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด หรือทำเป็นหนังสือเพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
 
2.ให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 19 มิ.ย.2557 เวลา 9.30 น.จากนั้นวันที่ 25 มิ.ย.นัดฟังคำพิจารณาว่าศาลจะให้ฝากขังต่อหรือไม่ จิตราถูกปล่อยตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลางในเวลาประมาณ 21.05 น.
 
ที่มา: ประชาไท
 
25 มิถุนายน 2557

ครบกำหนดที่พนักงานสอบสวนจากกองปราบปรามขออำนาจศาลฯ ฝากขังในผลัดแรก และได้ขอเป็นผลัดที่ 2 อีก 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.-7 ก.ค. นี้ ซึ่งศาลได้อนุญาต เพื่อรอสอบพยานเพิ่มเติมและตรวจสอบประวัติอาชญากรของผู้ต้องหา ทั้งนี้ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว ด้วยหลักประกันเงินสด 20,000 บาท 
 
 
7 กรกฎาคม 2557
 
หลังครบกำหนดที่พนักงานสอบสวนจากกองปราบปรามฝากขังในผลัดที่สอง เจ้าพนักงานจึงขอผลัดไปอีก 12 วันคือตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 8 – 19 ก.ค. นี้ ซึ่งศาลได้อนุญาต เพื่อรอสอบพยานเพิ่มเติมและตรวจสอบประวัติอาชญากรของผู้ต้องหา ทั้งนี้ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว ด้วยหลักประกันเงินสด 20,000 บาท 
 
 
8 กันยายน 2557
 
นัดสอบคำให้การ
 
อัยการบรรยายฟ้องว่า จิตรา มีความผิดเนื่องจากขัดคำสั่งเรียกรายงานตัวเพิ่มเติมฉบับที่ 44/2557 ซึ่งจำเลยมีชื่อเเต่ฝ่าฝืนโดยไม่ยอมเข้ารายงานตัวตามวันเเละเวลาตามประกาศ ดังนั้นจึงมีความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 41/2557 
 
จำเลยให้การปฏิเสธเเละขอต่อสู้คดี โดยรับข้อเท็จจริงว่าถูกควบคุมตัวในวันที่ 13 – 14 มิถุนายน 2557 โจทก์จึงขอสืบพยาน
 
ทั้งนี้ทนายจำเลยขอศาลตรวจเอกสารหลักฐานเพราะเกรงว่าจะมีเยอะกว่าที่โจทก์เเนบมาตามบัญชีพยาน โจทก์เเถลงว่าให้ทนายจำเลยขอคัดสำเนาจากศาลได้ภายหลัง
 
ศาลพิจารณา นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9 ธันวาคม 2557
 
9 ธันวาคม 2557
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ จิตรา เดินทางมาตามที่ศาลนัดพร้อมคดี โดย จิตรา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีตนนั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและเลื่อนการพิจารณาพิพากษาเพื่อรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
 
โดยอัยการศาลทหารในฐานะโจทก์ในคดีนี้ แถลงต่อศาลด้วยว่า พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ พยานโจทก์ปากสำคัญ ที่นัดไว้มาศาลไม่ได้ เนื่องจากติดราชการเร่งด่วน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนสืบพยานไปในวันที่ 6 มีนาคม 2558   
 
6 มีนาคม 2558
 
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ศาลทหารเลื่อนการสืบพยานปาก พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ ออกไปอีกครั้ง เพราะพยานติดราชการ ไม่สามารถมาเบิกความได้ ศาลนัดสืบพยานปากนี้ใหม่ เป็นวันที่ 12 พฤษภาคม เวลา 8.30 น.  
 
31 มีนาคม 2558 
 
ประชาไท รายงานว่า ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ จิตราเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้คณะผู้ตรวจการฯ พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ตนซึ่งเป็นพลเรือนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารนั้น ขัดกับกฏหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หรือไม่
โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการฯ รับเรื่องดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่าจากการตรวจสอบข้อกฎหมายแล้วสามารถรับเรื่องร้องเรียนนี้ได้ แต่จะมีการส่งนิติกรตีความในรายละเอียดอีกครั้ง จะทราบผลภายใน 8 วัน ซึ่งหากเข้าข้อกฏหมายก็จะดำเนินการส่งต่อให้คณะกรรมการผู้ตรวจการฯ พิจารณาส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกที ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานเนื่องจาก เนื่องจากมีเรื่องพิจารณาหลายเรื่อง เนื่องจากเรื่องใหญ่และเป็นกรณีแรกที่มีการยื่นต่อผู้ตรวจการฯ พิจารณา จึงจำเป็นที่ต้องมีการใช้องค์คณะ 3 คน ในการพิจารณาตามเงื่อนไขข้อกฏหมาย
 
12 พฤษภาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ โดยการสืบวันนี้เป็นวันแรก ในห้องพิจารณาคดีมีผู้มาร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 10-15 คน โดยเป็นตัวแทนจากสถานทูตฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอรเวย์ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และ นิวซีแลนด์ รวมทั้งตัวแทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ที่หน้าศาลก็มีผู้สื่อข่าวจาก พีซทีวี ทีวี 24 และ ว้อยซ์ทีวี มารอทำข่าว
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 9.30 น.
 
อัยการทหารถาม พ.อ.บุรินทร์ ในประเด็นเกี่ยวกับหน้าที่ของเขาและความเกี่ยวข้องกับคดีนี้
 
พ.อ.บุรินทร์ เบิกความว่า หลังการยึดอำนาจ คสช. มีคำสั่งเรียกบุคคลที่มีความสำคัญจำนวนมากเข้ารายงานตัว เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ คนจำนวนหนึ่งมารายงานตัว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เดินทางมารายงานตัวตามนัด
 
พ.อ.บุรินทร์ เบิกความว่า คสช. ได้มอบหมายให้ตนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่เดินทางมารายงานตัวกับคสช ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยการเข้าร้องทุกข์จะทำเมื่อรวบรวมรายชื่อได้จำนวนหนึ่ง 
 
สำหรับคดีนี้ จิตรามีชื่อในคำสั่งฉบับที่ 44 ซึ่งระบุให้ผู้มีรายชื่อเข้ารายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศน์ ระหว่างเวลา 10.00 – 12.00 น. แต่ปรากฎว่าเมื่อพ้นเวลานัดจำเลยก็ไม่มารายงานตัว ตนจึงได้รับมอบหมายให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
ในช่วงการถามค้าน พ.อ.บุรินทร์ตอบคำถามทนายว่า ในช่วงที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ตนไม่ทราบว่าจิตราอยู่ต่างประเทศ เพิ่งมาทราบ ก็หลังจากพบกับจำเลย ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการปราบปราม หลังเดินทางกลับเข้าประเทศและถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจับกุมตัว โดยจำเลยเล่าให้ตนฟังว่า ได้รับเชิญไปประเทศสวีเดนตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ไปในงานเกี่ยวกับแรงงาน เมือมีคำสั่งคสช.ก็รับทราบและพยายามประสานสถานทูตแต่ทางสถานทูตก็ไม่ได้ประสานมาทางคสช.
 
ทนายจำเลยให้พ.อ.บุรินทร์ดูเอกสารซึ่งเป็นจดหมายชี้แจงของจำเลย รวมทั้งข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ที่มีเนื้อหาเรื่องจำเลยไปประสานขอรายงานตัวที่สถานทูตไทยประจำกรุงสตอกโฮล์ม และข่าวที่จำเลยให้เพื่อนนำหนังสือมายื่นที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศน์  พ.อ. บุรินทร์ บอกทนายว่า ไม่เคยเห็นเอกสารของจำเลย และไม่เคยเห็นข่าวที่ทนายนำมาให้ดู จึงไม่สามารถรับรองเอกสารได้
 
ทนายจำเลยถามถึงเรื่องกฎหมายที่ให้อำนาจคสช.ในการเรียกตัวบุคคล พ.อ.บุรินทร์เบิกความว่า เป็นคำสั่งที่ออกโดยใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์
 
ทนายจำเลยยกประเด็นที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่บัญญัติให้บรรดาการกระทำของคสช.มีความชอบด้วยกฎหมาย พึ่งออกมาในเดือนกรกฎาคม 2558 แต่การเรียกตัวจำเลยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น มาถามพ.อ.บุรินทร์ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับคำสั่งเรียกตัวจำเลยของคสช.ออกมาโดยไม่ชอบหรือเปล่า พ.อ.บุรินท์บอกว่า คำสั่งของคสช.ชอบตั้งแต่ออกมาแล้ว การประกาศในรัฐธรรมนูญเพียงแต่เป็นการทำให้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน จิตราและทนายความให้สัมภาษณ์กับสื่อที่มารอทำข่าวว่า การสืบพยานนัดต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 โดยจะเป็นการสืบนายทหารที่รับหนังสือชี้แจง ที่จำเลยฝากเพื่อนมายื่น  
 
 
17 กรกฎาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่สอง พ.ท.ชัยยงค์ วงสวรรค์ ทหารผู้รับรายงานตัว 
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.30 น. พยานที่มาเบิกความวันนี้ เป็นทหารที่มีหน้าที่รับรายงานตัว ตามคำสั่งคสช.ที่ 44/2557 ให้บุคคลเข้ามารายงานตัว ที่ห้องจามจุรี สโมสรกองทัพบก เทเวศน์ 
 
พยานเบิกความถึง วันที่ 3 มิถุนายน 2557 มีคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว โดย จิตรา มีรายชื่ออยู่ในนั้นด้วย แต่ไม่ปรากฎว่าจิตราเข้ารายงานตัว ตามคำสั่ง กระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2557 มีเพื่อนของจิตรามายื่นหนังสือ แต่ไม่ได้ดูเนื้อหาในหนังสือ
 
ทั้งนี้พยานไม่เคยรู้จักหรือมีความโกรธแค้นอะไรเป็นการส่วนตัวกับทางจิตรามาก่อน 
 
จากนั้นทนายความถามค้าน  มีเพื่อนของจิตรามายื่นหนังสือว่า ขณะนี้จิตราอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถมารายงานตัวได้ตามกำหนด ทั้งนี้มีหนังสือ ว่าไม่มีเจตนาหลบหนีการรายงานตัว มีตั๋วเครื่องบินกำหนดการกลับประเทศไทยพร้อมวันที่จะเข้ารายงานตัวหลังกลับถึง อีกทั้งจิตราได้ติดต่อขอรายงานตัวที่ สถานทูตไทยในสวีเดนเเล้ว แต่ทางสถานทูตไม่สามารถรับรายงานตัวได้ 
 
พยานตอบว่า ไม่รู้ว่าข้อความในหนังสือ เขียนว่าอะไรบ้าง เพราะมีแค่หน้าที่รับรายงานตัว ส่วนหนังสือที่เพื่อนของจิตราเอามาส่ง ได้ส่งให้ทางผู้บังคับบัญชาอีกที
 
ทนายความถามพยานว่า ในขณะมีการรัฐประหาร ถ้าพยานถูกเรียกให้ไปรายงานตัวกับผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าคณะรัฐประหาร เเล้วพยานไม่สามารถไปรายงานตัวได้ เพราะติดภารกิจอยู่ที่ไกล พยานจะทำอย่างไร
 
พยานตอบว่า ก็คงไปรายงานตัวในเขตทหารที่ใกล้ที่สุด
 
ทนายความถามเพิ่มว่า พยานทราบหรือไม่ หากมีการกล่าวทุกข์ร้องโทษในกรณีฝ่าฝืนคำสั่งนี้ มีสถานีตำรวจไหนที่ครอบคลุมพื้นที่ ห้องประชุมสโมสรกองทัพบก เทเวศน์
 
พยานตอบว่า สถานีตำรวจนครบาลดุสิต 
 
ทนายความถามอีกว่า พยาน แต่คดีนี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ กองบังคับการปราบปราม พยานทราบถึงอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้งความนี้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ 
 
จากนั้นอัยการทหาร ถามติงเรื่อง หนังสือที่เพื่อนของจิตรา ได้นำมาส่งว่า พยานแค่รับหนังสือเเล้วส่งต่อ ยืนยันว่าไม่ได้เปิดอ่าน จึงไม่ทราบว่ามีข้อความเกี่ยวกับ ที่จิตราไม่มีเจตนาไม่มารายงานตัว ที่ห้องประชุมกองทัพบก เทเวศน์ ซึ่งพยานยืนยันตามนั้น
 
จากนั้นจึงเสร็จสิ้นการสืบพยานในปากนี้ ศาลอ่านรายงานการพิจารณาของวันนี้อีกครั้ง จากนั้น คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงนัด สืบพยานในปากต่อไป คือวันที่ 8 ตุลาคม 2558  
 
8 ตุลาคม 2558 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ผู้จับกุม
 
เวลา 8.30 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ คดีจิตราฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวต่อ วันนี้มีผู้ร่วมสังเกตการณ์คดีประมาณ 10 คน ในจำนวนนี้มีตัวแทนจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ค และคณะกรรมการนิติศาสต์สากลรวมอยู่ด้วย
 
พยานโจทก์ที่มาเบิกความเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองผู้ร่วมจับกุมจิตราที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจิตราเดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งเบิกความว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 7.20 น. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตรวจผู้โดยสารขาเข้าว่า มีผู้โดยสารติดแบล็คลิสต์มาตรวจลงตราเข้าประเทศ จึงทำการตรวจสอบ เมื่อพบว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจึงทำการควบคุมตัวไปสอบสวนเบื้องต้น ก่อนจะส่งตัวไปสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม
 
ทนายจำเลยถามพยานว่า ทราบหรือไม่ว่าจิตราออกนอกประเทศก่อนจะมีคำสั่งให้ไปรายงานตัว พยานตอบว่า ไม่ทราบ เมื่อทนายถามว่าตามระเบียบราชการ กรณีเกิดการรัฐประหาร หากมีคำสั่งเรียกข้าราชการมารายงานตัว แต่ขณะนั้นข้าราชการเช่นตัวพยานอยู่นอกพื้นที่หรืออยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถมารายงานตัวกับต้นสังกัดตามกำหนดได้ จะต้องปฏิบัติเช่นใด พยานตอบว่าไม่ทราบถึงระเบียบดังกล่าว ทราบแต่ว่าต้องมารายงานตัวให้เร็วที่สุด
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน อัยการทหารขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานมาสืบในเดือนพฤศจิกายน แต่จำเลยแถลงว่าต้องเดินทางไปต่างประเทศ 3 เดือน และได้รับอนุญาตจากคสช.แล้ว จึงนัดวันสืบพยานปากต่อไปเป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559
 
 
11 กุมภาพันธ์ 2559 
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่สี่ ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวน ประมาณ 9.30 น.ศาลขึ้นบัลลังก์ พยานวันนี้คือร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม พยานโจทก์ เบิกความว่า เนื่องจาก พ.ท. บุรินทร์ ทองประไพ (ยศในขณะนั้น) นายทหารพระธรรมนูญ มาร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เพื่อดำเนินคดี หนึ่งในนั้นคือจำเลย เขาเป็นผู้ลงบันทึกประจำวัน ตามคำร้องทุกข์ของ พ.ท.บุรินทร์ และลงชื่อในบันทึกประจำวันดังกล่าว
 
คดีนี้เหตุเกิดที่สโมสรกองทัพบก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ สน.นครบาลสามเสน ร.ต.ท. ชลิต เห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและเป็นที่สนใจของประชาชน ผู้บัญชาการจึงมีคำสั่งให้สอบสวนได้  โดย ร.ต.ท. ชลิตให้การว่า อำนาจสอบสวนของเขาเป็นไปตามระเบียบกองปราบปราม
 
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ พ.ท.ชัยยงค์ วงสวรรค์ ซึ่งมีหน้าที่รับรายงานตัวของบุคคลที่ถูกเรียกโดยคำสั่ง คสช. ซึ่ง พ.ท.ชัยยงค์ ให้การว่า จิตราไม่มารายงานตัวตามกำหนดเวลา
 
ทั้งนี้ ร.ต.ท. ชลิต เห็นว่า เมื่อมีการยึดอำนาจมีการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องไปรายงานตัว แต่หากอยู่ในที่ห่างไกลก็ต้องชี้เเจงกับหน่วยงานของรัฐที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งในคดีนี้ ขณะถูกเรียกตัว จิตราอยู่ต่างประเทศ เเละเมื่อจิตราทราบจึงรีบเเจ้งต่อสถานทูตไทย ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว ร.ต.ท. ชลิต เห็นว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว
 
และวันนี้ในห้องพิจารณาคดีนี้มีผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตสวีเดนเข้าร่วมฟังด้วย สำหรับนัดหมายครั้งต่อไป ศาลจะสืบพยานโจทก์ พนักงานสอบสวน ร.ต.ท. ไพรฑูรย์ จ้อยสระคู วันที่ 25 เมษายน 2559
 
25 เมษายน 2559
 
วันนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์ ร.ต.ท. ไพรฑูรย์ จ้อยสระคู  พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี แต่ต้องเลื่อนสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เนื่องจาก พยานไม่มาศาล และติดต่อพยานไม่ได้
 
29 กันยายน 2559
 
นัดนี้เป็นนัดสำคัญ แต่พยานฝ่ายโจทก์ไม่มา ทางด้านทนายของจิตราจึงกล่าวต่อศาลว่า เนื่องจาก จำเลย คือ จิตรา ต้องมีการเรียนภาษาเพื่อการดำเนินชีวิตที่เธอตั้งใจจะไปสร้างครอบครัวที่ สวีเดน หากจะบินไปกลับ แล้วพยานฝ่ายโจทก์เลื่อนก็ไม่สะดวก จึงขอให้ศาลนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ลับหลังจำเลย ซึ่งศาลเห็นด้วยที่จะสืบพยานฝ่ายโจทก์ลับหลังจำเลย จากนั้นศาลก็กล่าวต่อว่า สรุปแล้วจะมีการนัดสืบพยานในครั้งต่อไป คือ วันที่ 16 ธันวาคม 2559 และ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นการนัดสืบพยานคดีจำเลย (จิตรา) 2 ครั้งติด ตามที่จำเลยได้ร้องขอมา
 

16 ธันวาคม 2559 

สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า ร.ต.ท. ไพรฑูรย์ จ้อยสระคู พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี

เวลาประมาณ 10:15 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ การสืบพยานในวันนี้ มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1 คน เจ้าหน้าที่จากไทรอัมพ์ 2 คน และอัยการทหาร 2 คน เข้ามาร่วมสังเกตการณ์การสืบพยานครั้งนี้ด้วย 

พยานเบิกความว่า ตนเป็นหนึ่งในพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ทำคดีเกี่ยวกับความผิดตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก 2457 รวมทั้งการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และความผิดเกี่ยวกับ คสช. โดยตนจะทำหนังสือ ไปที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อดำเนินการคดีดังกล่าว (อัยการทหารขออนุญาตศาลให้พยานดูเอกสาร) ในคดีนี้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้กล่าวหาจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวเพิ่มเติม ฉบับที่ 44/2557 
 
โดยเหตุที่ต้องตั้งข้อหานี้ เพราะ วันที่ 3 มิถุนายน 2557 เวลา 10:00-12:00 น. จำเลยไม่มารายงานตัวที่ กองทัพบก เทเวศร์  ซึ่งจะได้รับโทษตามคำสั่งที่ 41/2557 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
อัยการทหารถามว่า วิธีประกาศใช้คำสั่ง 44/2557 มีความครอบคลุมด้านการสื่อสารอย่างไร พยานตอบว่า คำสั่งที่ 44/2557 ประกาศครอบคลุมถึงวิทยุสื่อสาร โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ทั้งไทยและต่างประเทศที่บุคคลทั่วไปรับทราบได้ แต่จำเลยก็ไม่มารายงานตัว ทางเจ้าหน้าที่คสช. ได้ติดตามตัวผู้ไม่มารายงานตัวตามภูมิลำเนาต่อ แต่ว่าไม่พบจำเลย คณะ คสช. จึงมอบอำนาจให้ พ.อ. บุรินทร์ มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม เพื่อดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง 44/2557 คณะพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม จึงเป็นผู้ขอหมายจับจำเลยคดีนี้ 
 
พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นวันที่ 13 มิถุนายน 2557 พล.ต.ต. สิทธิชัย โล่กันภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก็จับกุมจำเลยจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาส่งต่อพนักงานสอบสอนกองบังคับการปราบปรามในช่วงเช้า โดยมีบันทึกการเข้าจับกุมจำเลย มี ร.ท.ไพบูลย์ เทอดศักดิกรณ์ เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยได้ทราบ พ.อ. บุรินทร์ เป็นผู้กล่าวหา 
 
ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์
พยานตอบคำถามทนายความว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวเพิ่มเติม ฉบับที่ 44/2557 โดยก่อนสั่งฟ้อง ตนได้อ่านสำนวนสั่งฟ้องของจำเลยทั้งหมดแล้ว ตนทราบว่า จำเลยเดินทางไปต่างประเทศ วันที่ 24 เมษายน 2557 ซึ่งเป็นเวลาก่อนการยึดอำนาจ โดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
 
ตนไม่ทราบว่า จำเลยกำลังจะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 และตนไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่รู้ว่า หากเราเดินทางไปต่างประเทศ จะมีกำหนดเดินทางกลับมาประเทศเดิมของตน
 
ในส่วนพฤติกรรมการจับกุม จำเลยไม่มีท่าทีขัดขืนการจับกุมต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ตามที่จำเลยได้ยื่นหนังสือ ตามเอกสารหมาย ล.1 ต่อเจ้าหน้าที่ไทย ประจำราชทูตต่างประเทศ นั้นพยานทราบว่า เจ้าหน้าที่ประจำราชทูตต่างประเทศ เป็นตัวแทนของรัฐไทย พยานทราบด้วยว่า มีสำนวนการสอบสวนส่งไปทางอีเมล์หาประยุกต์ จันโอชา จากจำเลย ใจความว่า จำเลยไม่มีเจตนาที่ไม่มารายงานตัว แต่จำเลยอยู่ต่างประเทศ ซึ่งอีเมล์ของจำเลยดังกล่าว ถูกรายงานเป็นข่าวที่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ข่าวสด 
 
เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายผู้กล่าวหาและฝ่ายจำเลยแล้ว พยานจึงสั่งฟ้อง โดยผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้ทำคดี เพราะเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ และตัวจำเลยเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งพยานทราบว่า จำเลยเป็นผู้เคลื่อนไหวด้านแรงงาน 
 
พยานทราบว่า คำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 เป็นคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก แต่ไม่ทราบว่า พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจเรียกคนมารายงานตัว ตนพิจารณาตามคำสั่งของ คสช. ไม่ได้พิจารณาตาม พ.ร.บ. กฎอัยการศึก 
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน อัยการทหาร กล่าวต่อศาลว่า วันนี้ประสงค์สืบพยานโจทก์ 1 ปาก ส่วนการสืบพยานอีก 1 ปากที่เหลือขอยกเลิก เพื่อกระชับเวลาการดำเนินคดีให้เร็วขึ้น ทางทนายจำเลย กล่าวต่อศาลว่า จำเลย คือ จิตรา ไม่ได้มาเข้าร่วมสืบพยานในนัดนี้ด้วย เพราะไม่ได้ติดใจกับพยานหลักฐานที่ให้กับศาลไป อีกทั้งตัวของจิตราเอง ติดเรียนที่สวีเดน
 
จากนั้น ศาลจึงกำหนดวันนัดพิจารณาคดีต่อไป เป็นนัดที่ ทนายจำเลยนัดสืบพยานของฝ่ายจำเลย 6 ปาก 3 นัด  คือ 
15 กุมภาพันธ์ 2560 สืบพยาน 2 ปากที่อยู่ในประเทศไทย และวันที่ 24-25 เมษายน 2560 ที่เหลืออีก 4 ปาก
 
15 กุมภาพันธ์ 2560
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ เวลาประมาณ 09:30 น. นัดสืบพยานจำเลย 2 ปาก โดยวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตฝรั่งเศส และสถานทูตเยอรมัน พรอมเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาร่วมฟังการพิจารณา โดยตัวจำเลยขออนุญาตศาลให้ดำเนินการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย เพราะจำเลยติดภารกิจทางการศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศ ไม่สะดวกมาร่วมฟังการพิจารณาคดี
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 1 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้นำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องไปยื่นต่อ คสช.
 
ยิ่งชีพ เบิกความว่า ปัจจุบันทำงานที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกฎหมาย รู้จักกับจำเลยจากการทำงาน เพราะจำเลยก็ทำงานเรื่องสิทธิเสรีภาพด้านแรงงาน และเสรีภาพในการชุมนุม
 
ยิ่งชีพ เล่าว่า วันที่ 8 มิถุนายน 2557 จำเลยติดต่อมาทางกล่องสนทนาของเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เพื่อขอให้นำหนังสือไปยื่นต่อ คสช. ว่า จำเลยไม่สามารถมารายงานตัวได้ตามกำหนด เนื่องจากติดภารกิจอยู่ที่ประเทศสวีเดน จำเลย ได้ไปติดต่อที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดนแล้ว แต่สถานทูตไม่รับรายงานตัว จำเลยจึงร่างหนังสือถึง หัวหน้า คสช. แจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถมารายงานตัวได้ทันกำหนดเวลาและส่งมาให้ทางเฟซบุ๊ก พร้อมกับตั๋วเครื่องบินขากลับมายังประเทศไทย ในวันรุ่งขึ้น ช่วงเวลาบ่าย จึงพิมพ์หนังสือและตั๋วเครื่องบินออกมาและนำไปยื่นที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ โดยมีพ.ท.ไชยยงค์ รับหนังสือไว้
 
ยิ่งชีพ เล่าด้วยว่า วันที่ไปยื่นหนังสือ พบกับอ.สาวตรี สุขศรี ผู้ซึ่งถูกเรียกรายงานตัวอีกคนหนึ่ง ถูกควบคุมตัวอยู่ด้านในของสโมสรกองทัพบกด้วย และทราบจากข่าวว่า อ.สาวตรี ก็ไม่ได้มารายงานตัวตามกำหนดเพราะติดภารกิจอยู่ที่ต่างประเทศเช่นเดียวกัน และเมื่อกลับมาประเทศไทยก็ถูกจับกุม แต่ไม่ถูกดำเนินคดี
 
เมื่อพยานเบิกความมาถึงจุดนี้ อัยการทหารค้านว่า ฝั่งจำเลยไม่ควรพาดพิงถึงบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในคดีนี้ ฝั่งทนายจำเลยตอบว่า กรณีของอ.สาวตรี เป็นกรณีคล้ายจำเลย และข้อมูลตรงนี้ ปรากฏอยู่ในรายงานข่าว จึงขอนำส่งหลักฐานจากข่าว ศาลกล่าวว่า ไม่ควรเอาชื่อบุคคลอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการสืบพยานมาใส่ในการเบิกความ และทนายความไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานถึงเอกสารรายงานข่าวชิ้นนี้ไว้ล่วงหน้า ศาลจึงเตือนพยานว่า เป็นกรณีพาดพิงบุคคลอื่น อาจถูกดำเนินคดีได้ ให้พยานตัดสินใจว่า จะเบิกความหรือไม่ พยานถามว่า ถูกดำเนินคดีข้อหาอะไร ทนายความอธิบายว่า อาจเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่น พยานตอบศาลว่า เนื่องจากรู้จักกับอ.สาวตรี เป็นการส่วนตัว จึงเชื่อว่าจะไม่ถูกดำเนินคดี จึงขอยืนยันเบิกความตามที่กล่าวไป
 
อัยการถามว่า พยานทำงานที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารการเมืองในโลกออนไลน์ พยานตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า เนื่องจากทำงานร่วมกับจำเลย จำเลยก็ต้องติดตามข่าวสารการเมืองในโลกออนไลน์ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบว่า จำเลยจะติดตามหรือไม่ และทำงานกับจำเลยในประเด็นเสรีภาพการชุมนุมเท่านั้น เรื่องข่าวสารในโลกออนไลน์ไม่ได้ทำ
 
อัยการถามว่า พยานจบนิติศาสตร์มาใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทราบว่า คสช. เป็นผู้นำประเทศ พยานตอบว่า ทราบครับ อัยการถามว่า คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์เป็นกฎหมาย ใช่หรือไม่? พยานตอบว่า ไม่แน่เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่า ยึดทฤษฎีไหน ถ้ายึดสำนักกฎหมายบ้านเมืองก็ใช่ แต่แนวคิดว่าอะไรเป็นกฎหมาย ยังมีแนวคิดสำนักอื่นๆ เช่น เชื่อเรื่องเหตุผลความถูกต้องตามธรรมชาติ หรือเชื่อเรื่องความตกลงร่วมกันของคนในชนชาตินั้นๆ ศาลบันทึกว่า คำสั่ง คสช. จะเป็นกฎหมายหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชนและเนื้อหาด้วย
 
อัยการถามว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยไปต่างประเทศเมื่อใด พยานตอบว่า ทราบว่าไปก่อนการยึดอำนาจของ คสช. แต่ไม่ทราบว่าไปเมื่อไหร่ อัยการถามว่า จำเลยทราบหรือไม่ว่า คสช. มีคำสั่งให้ไปรายงานตัวภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 พยานตอบว่า จำเลยทราบ อัยการถามต่อว่า คำสั่งดังกล่าวออกข่าวให้ประชาชนทั่วไปทราบโดยทั่วกัน ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
 
อัยการถามว่า ทราบหรือไม่ การเดินทางจากสวีเดนมาไทย สามารถเดินทางได้ภายใน 1 วัน พยานตอบว่า ทราบ อัยการถามว่า พยานทำหน้าที่ไปยื่นหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องให้กับคนอีกกี่คนนอกจากจำเลย พยานตอบว่า ยื่นให้จำเลยคนเดียว เพราะทำในนามส่วนตัว ไม่ได้ทำในนามองค์กร ในคดีนี้ไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวน ที่มาให้การในวันนี้เพราะทนายจำเลยติดต่อให้มา
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 2 เกศรินทร์ เตียวสกุล เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
พยานเบิกความว่า ทำงานอยู่ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานคดีเชี่ยวชาญ จำเลยได้ร้องเรียนมาที่ กสม.ว่า ตัวเองอยู่ที่สวีเดนไม่สามารถมารายงานตัวตามประกาศคำสั่ง คสช. ได้ เมื่อไปที่สถานทูตไทยในสวีเดนก็ได้รับแจ้งว่า ไม่มีการปฏิบัติอย่างกรณีนี้มาก่อน จึงมาขอความช่วยเหลือ พยานแนะนำจำเลยว่า ให้ทำหนังสือแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช.
 
พยานเล่าว่า วันที่ 13 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 06:00-07:00 พยานได้รับมอบหมายจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ไปรอจำเลยที่ประตูทางออกของผู้โดยสารขาเข้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ พอใกล้เวลาที่จำเลยจะเดินทางมาถึง ก็ได้รับแจ้งว่า จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กักตัวไว้ไม่สามารถออกมาได้ จึงพยายามประสานงาน จนมีเจ้าหน้าที่ตม. มาพาตัวเข้าไปด้านในเพื่อพบกับจำเลย และขอให้เป็นพยานอยู่ร่วมในการแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลย เมื่อสิ้นสุดกระบวนการ จำเลยก็ถูกพาไปสอบปากคำต่อที่กองบังคับการปราบปราม เขตพหลโยธิน แต่พยานไม่ได้อยู่ร่วมขณะพนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลย
 
อัยการถามว่า พยานมีหลักฐานหรือไม่ว่าจำเลยเดินทางไปรายงานตัวต่อสถานทูตไทยในสวีเดนจริง พยานตอบว่า ไม่มี แต่เชื่อว่าจำเลยพูดความจริง
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานปากที่เหลืออีก 2 ปากในวันที่ 24-25 เมษายน 2560 ซึ่งพยานจำเลยที่เหลือ คือ ตัวจำเลยเองจะเบิกความในวันที่ 24 เมษายน ส่วนพยานอีกหนึ่งปาก เป็นเพื่อนของจำเลยที่เป็นคนสวีเดน ทนายความฝั่งจำเลยไม่แน่ใจว่าพยานพูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่ จึงพอให้ศาลจัดหาล่ามภาษาสวีเดนมาทำหน้าที่แปล ซึ่งทนายจำเลยเสนอว่า ฝั่งจำเลยขอติดต่อล่ามจากสถานทูตสวีเดนมาด้วย เผื่อว่าในกรณีที่ศาลหาล่ามภาษาสวีเดนไม่ได้จะได้ใช้ล่ามที่จำเลยจัดหามา ด้านอัยการทหารคัดค้านว่า หากทำแบบนั้น อาจทำให้ล่ามไม่เป็นกลาง และขอให้ศาลจัดหาล่ามให้จะดีกว่า ซึ่งจะเป็นล่ามจากกระทรวงยุติธรรมหรือกระทรวงการต่างประเทศ
 
 
24 เมษายน 2560
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม จิตรา จำเลยในคดีเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
จิตราเบิกความว่า เดินทางไปประเทศสวีเดนตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2557 เพื่อดูงานและบรรยายเรื่องสภาพการจ้างงานของแรงงานในประเทศไทยโดยมีกำหนดกลับประเทศไทยในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 แต่เห็นว่าวีซ่าท่องเที่ยวมีอายุถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2557 จึงเลื่อนตั๋วเครื่องบินขากลับเป็นวันที่ 12 มิถุนายน 2557 เพื่ออยู่เที่ยวต่อโดยดำเนินการเลื่อนตั๋วตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ก่อนจะถูกคสช.จะออกคำสั่งเรียกรายงานตัวในวันที่ 1 มิถุนายน  2557 โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน 2557
 
จิตราเบิกความว่าที่ไม่เดินทางกลับมารายงานตัวตามในวันที่ 3 มิถุนายนเป็นเพราะการเปลี่ยนตั๋วมีค่าใช้จ่าย โดยกนหน้านี้ตนพึ่งเลื่อนตั๋วขากลับและต้องจ่ายไปประมาณ 16,000 บาท นอกจากนี้แม้จะเปลี่ยนตั๋วก็อาจเดินทางกลับไม่ทันเพราะเวลาที่ไทยเร็วกว่าสวีเดนห้าชั่วโมง และใช้เวลาเดินทางบนเครื่องบินอีกสิบชั่วโมง
 
จิตราเบิกความต่อว่าเนื่องจากไม่สามารถกลับมารายงานตัวที่ประเทศไทยได้จึงไปที่สถานทูตไทยในสวีเดนในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 โดยมีเพื่อนที่สวีเดนพาไป เพื่อเข้ารายงานตัวพร้อมนำเอกสารชี้แจงเหตุที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก กรุงเทพฯ ได้ตามคำสั่ง คสช. เพราะเห็นว่าสถานทูตไทยถือว่าเป็นตัวแทนของประเทศไทยที่อยู่ในต่างประเทศ แต่เมื่อไปถึงเลขานุการเอกของสถานทูตแจ้งว่าทั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและเอกอัครราชทูตไม่อยู่ที่สถานทูตและสถานทูตไม่มีกรอบการทำงานร่วมกับ คสช. ในการรับรายงานตัว
 
ระหว่างการเบิกความจิตรานำภาพและวิดีโอที่บันทึกการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถานทูตมาแสดงต่อศาลเพื่อยืนยันว่าได้ไปที่สถานทูตจริงและมีการพูดคุยจริง
 
จิตราเบิกความต่อว่าในวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ทราบว่าตำรวจได้ออกหมายจับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวจำนวนสิบคนโดยมีชื่อของตนเป็นหนึ่งในสิบคนด้วย เมื่อทราบว่าตนเองมีหมายจับจึงได้ติดต่อ เกศริน เตียวสกุล เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อปรึกษาว่าจะทำอย่างไร

เกศรินแนะนำว่าให้ทำหนังสือร้องเรียนถึง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ติดตามเรื่องนี้ และได้ติดต่อยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เนตเพื่อประชาชน เพื่อขอคำแนะนำ ยิ่งชีพเห็นว่าควรทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อชี้แจงสาเหตุที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้ และแจ้งว่าจะเข้ารายงานตัวเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทย

นอกจากปรึกษาบุคคลอื่นจิตรายังได้ค้นหาช่องทางติดต่อ คสช. ในอินเตอร์เนตโดยได้เบอร์โทรศัพท์ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ คสช. มาสองเบอร์แต่เมื่อโทรศัพท์ไปปรากฏว่าไม่มีใครรับสาย
 
สำหรับหนังสือชี้แจง ยิ่งชีพ พยานจำเลยปากที่หนึ่งเป็นผู้นำส่งถึงสโมสรกองทัพบกในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 โดยมีพ.ท.ชัยยงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นผู้รับหนังสือ
 
สาเหตุที่จำเลยปรึกษากับทั้งสองคนและมีการดำเนินการดังกล่าวเนื่องจากเห็นข่าวว่า คสช.ควบคุมตัวสาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ และไม่ทราบว่าถูกควบคุมตัวไปที่ไหน จึงกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน กับตนเอง จึงทำหนังสือถึงนพ.นิรันดร์เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่ กสม. ไปรอรับที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 13 มิถุนายน 2557
 
จิตราเบิกความต่อว่า เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยก็ถูกควบคุมตัวที่จุดตรวจคนเข้าเมืองของสนามบิน เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวไปที่ห้อง ตม. จากนั้นได้แจ้งว่ามีหมายจับอยู่ จิตราจึงโทรศัพท์ถึงเกศรินเพื่อแจ้งว่าถูกควบคุมตัวและขอให้เข้ามาพบที่ห้อง ตม. เพื่อร่วมรับฟังการแจ้งหมายจับและทำบันทึกจับกุม หลังการทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ ตม. ได้นำตัวจิตราไปส่งที่กองบังคับการปราบปราบ
 
ที่กองบังคับการปราบปราม จิตราให้การกับพนักงานสอบสวนโดยละเอียดพร้อมหลักฐานทุกอย่างเพื่อแสดงเจตนาว่าไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว
 
จิตราย้อนเบิกความถึงสาเหตุที่เลื่อนการเดินทางกลับประเทศว่า เห็นว่าเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเห็นว่าวีซ่ายังเหลืออยู่จึงอยากอยู่จนครบกำหนดของวีซ่า สำหรับการเลื่อนตั๋วจิตราเบิกความว่ามีการดำเนินการก่อนมีการออกคำสั่งเรียกรายงานตัว
 
จิตราเบิกความด้วยว่าแม้จะนำพยานหลักฐานมอบให้แก่พนักงานสอบสวนแล้วว่าไม่ได้มีเจตนาจะหลบเลี่ยงไม่เข้ารายงานตัว แต่พนักงานสอบสวนก็ยังคงส่งสำนวนต่อถึงอัยการทหาร เมื่อสำนวนถึงอัยการทหาร จิตราจึงได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการทหารแต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ
 
จิตราย้ำว่าหากมีเจตนาจะฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวก็จะไม่ไปที่สถานทูตเพื่อขอเข้ารายงานตัวและเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยเพราะสามารถทำเรื่องเพื่อขอลี้ภัยเหมือนคนอื่นๆได้
 
ตอบอัยการทหารถามค้าน
 
จิตราตอบคำถามค้านของอัยการทหารว่า หากต้องเดินทางกลับมารายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00 น. ตามที่ระบุในคำสั่งเรียกรายงานตัว อาจจะไม่สามารถกลับมาได้ทันเนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะมีตั๋วเครื่องบินหรือไม่และการซื้อตั๋วใหม่อีกครั้งก็มีค่าใช้จ่าย และถึงสามารถหาตั๋วกลับประเทศไทยได้แต่เวลาที่ไทยก็เร็วกว่าที่สวีเดนและก็ต้องใช้เวลาเดินทางเป็น 10 ชั่วโมง ก็ไม่รู้ว่าจะเดินทางกลับมาทันหรือไม่ จึงตัดสินใจไปที่สถานทูตไทยในสวีเดน
 
อัยการทหารถามว่าก่อนที่จะเดินทางไปประเทศสวีเดนในวันที่ 24 เมษายน 2557 ทราบหรือไม่ว่าเกิดความขัดแย้งทางการเมืองมีความไม่สงบในประเทศไทย จิตราตอบว่าทราบ แต่ความขัดแย้งก็มีมาโดยตลอดไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นตอนที่จะเดินทาง
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
ทนายถามติงว่าจิตราเลื่อนตั๋วเดินทางกลับเพราะอะไรและการขอเลื่อนตั๋วเครื่องบินต้องทำล่วงหน้าหรือไม่ จิตราตอบว่าเหตุที่เลื่อนตั๋วเพราะต้องการท่องเที่ยวต่อเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเพราะตอนทำเรื่องขอเลื่อนตั๋วก็ยังไม่มีคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัว ส่วนการขอเลื่อนตั๋วกลับเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 จากเดิมที่ซื้อตั๋วกลับในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เลื่อนเป็น 12 มิถุนายน  2557 ก็ต้องทำเรื่องขอเลื่อนล่วงหน้าหลายวัน เพราะต้องดูว่าวันที่จะเดินทางกลับจะมีที่นั่งให้จองหรือไม่และค่าตั๋วก็อาจจะสูงมาก ส่วนการซื้อตั๋วใหม่จะได้ตั๋วทันทีหรือไม่ ไม่ทราบ
 
25 เมษายน 2560 
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
สืบพยานปากที่สี่ มาธีอัส เควิ่นด์ เจ้าหน้าที่วิจัยและสื่อสาร สถาบันนอร์ดิกแอฟฟริกา กระทรวงต่างประเทศสวีเดน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในวันนี้ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานจำเลยต่อโดยพยานปากคือมาธีอัส เควิ่นด์เพื่อนชาวสวีเดนของจิตรา เนื่องจากเควิ่นด์ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ศาลทหารจึงจัดหาล่ามแปลภาษาสวีดิชเป็นภาษาไทยทนายจำเลยร้องขอ
 
เควิ่นด์เบิกความว่าตนเคยเป็นนักข่าวและรู้จักจิตราตั้งแต่ปี 2552 จากการติดต่อขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับการเลิกจ้างคนงานเพราะในขณะนั้นจิตราเป็นที่ปรึกษาของสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ประเทศไทย เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 2 มิถุนายน 2557 จิตราขอให้ตนพาไปสถานทูตไทยในสวีเดนเพราะจิตราไม่รู้เส้นทางในกรุงสต็อกโฮล์มโดยจิตราบอกกับตนว่าต้องไปรายงานตัวที่สถานทูตเพราะถูก คสช. ออกคำสั่งเรียกรายงานตัวที่ประเทศไทย แต่ไปไม่ได้เลยจะไปที่สถานทูตเพื่อยื่นหนังสือชี้แจงสาเหตุที่ไปรายงานตัวตามคำสั่งไม่ได้
 
สำหรับเหตุผลที่เดินทางมาสวีเดน จิตราบอกกับเควิ่นด์ว่ามาเพื่อท่องเที่ยวและพูดคุยเรื่องแรงงานไทย โดยจะอยู่ที่ประเทศสวีเดนราวเจ้ดถึงสิบวัน ก็จะเดินทางกลับประเทศไทย
 
เควิ่นด์เบิกความต่อว่า จิตรานัดหมายกับตนว่าจะเดินทางไปที่สถานทูตไทยในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ในเวลา 10.00 น. โดยในวันนั้นนอกจากตนเองแล้วก็มีจิตราและเพื่อนของจิตราอีกคนหนึ่งเดินทางไปด้วย เมื่อไปถึงจิตราแจ้งกับเลขานุการเอกของสถานทูตว่าต้องการพบกับผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารแต่เลขานุการเอกแจ้งว่าผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารไม่อยู่ จิตราจึงขอพบเอกอัครราชทูตแทน เลขานุการเอกแจ้งว่าเอกอัครราชทูตก็ไม่อยู่เช่นกัน
 
เควิ่นด์เบิกความต่อว่าเห็นจำเลยนำจดหมายชี้แจงเหตุขัดข้องมอบให้เลขานุการเอกแต่เลขานุการเอกไม่รับโดยแจ้งว่าไม่มีอำนาจ จิตราจึงสอบถามว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร และใช้โทรศัพท์ถ่ายวิดีโอเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้เดินทางมาที่สถานทูตเพื่อยื่นหนังสือชี้แจงจริง จิตรายังของให้ตนถ่ายภาพไว้ด้วย 
 
เควิ่นด์เบิกความต่อว่า ตนเองมาทราบภายหลังว่าจิตราถูกออกหมายจับ ซึ่งจิตราขอให้เพื่อนทำหนังสือชี้แจงถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าไม่ได้มีเจตนาจะไม่เข้ารายงานตัวแต่เมื่อจิตราเดินทางกลับประเทศไทยก็ถูกจับกุมตัว
 
ทนายจำเลยเควิ่นด์ว่าหากเควิ่นด์อยู่ที่ประเทศไทยแล้วถูกรัฐบาลสวีเดนเรียกกลับประเทศจะทำอย่างไร เควิ่นด์ตอบว่าหากเดินทางกลับสวีเดนไม่ได้จะไปติดต่อที่สถานทูตเพราะถือว่าสถานทูตเป็นตัวแทนของประเทศสวีเดน
 
หลังการสืบพยานทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าพยานที่จะนำเข้าสืบหมดแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 เวลา 8.30น.
 
6 กรกฎาคม 2560

นัดฟังคำพิพากษา

 
จิตรามาถึงศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่ก่อนเวลา 8.30 น. ซึ่งเป็นเวลานัด ขณะที่เจ้าหน้าที่สถานทูตต่างๆก็เริ่มทยอยมาร่วมฟังคำพิพากษาในเวลาไล่เลี่ยกัน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชิญจิตราและผู้สังเกตการณ์ขึ้นไปรอที่ห้องพิจารณาคดี 4 ก่อนจะให้ย้ายมาที่ห้องพิจารณา 3 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า

ภายในห้องพิจารณาคดีมีผู้มาสังเกตการณ์ราว 20 คน เป็นผู้แทนจากสถานทูตสวีเดน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียมและเนเธอแลนด์ นอกจากนี้ก็มีเพื่อนของจิตราอีกสี่คนมาให้กำลังใจ

เวลาประมาณ 9.20 น. ตุลาการศาลทหารขึ้นบัลลังก์และอ่านคำพิพากษายกฟ้องจิตราโดยให้เหตุผลว่าจิตราไม่มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนคำสั่งคสช.และได้ดำเนินการตามสมควรเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวแล้วโดยมีพยานหลักฐานยืนยันหนักแน่น

เนื่องจากคดีของจิตราเกิดขึ้นระหว่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก คำพิพากษาที่ออกในวันนี้จึงถือเป็นที่สุด  

ทั้งนี้ระหว่างที่ศาลกำลังอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่หน้าบันลังก์เดินมาห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกการอ่านคำพิพากษา
 
ภายหลังจากศาลทหารกรุงเทพอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จิตราให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า ตอนแรกไม่คิดว่าเรื่องนี้จะกลายมาเป็นคดีได้ แต่เมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลแล้ว ตนก็ต่อสู้ตามกระบวนการเรื่อยมา และก็คาดการณ์ไว้แล้วว่าศาลจะพิพากษายกฟ้องในที่สุด
 
Jitra gave interview after the Military Court acquitted her charge under NCPO Announcement no. 41/2014
 
 
จิตราให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังฟังคำพิพากษา 6 กรกฎาคม 2560 
 
จิตราระบุด้วยว่าการไม่รายงานตัวไม่ควรจะต้องเป็นคดีความเพราะเป้าหมายของการเรียกรายงานตัวคือ การพูดคุยเพื่อสร้างความปรองดอง ดังนั้นไม่ว่าใครก็ไม่ควรถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ ส่วนเรื่องการทำกิจกรรรมในอนาคตจะต้องพิจารณาอีกครั้งว่า จะทำได้มากน้อยแค่ไหน





 
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรื่องให้บุคคลเข้ารายงานตัวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้บุคคลที่มีรายชื่อในคำสั่งฉบับดังกล่าวรวมทั้งจำเลยที่มีชื่ออยู่ในลำดับที่สิบ เข้ารายงานตัวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ระหว่างเวลา 10.00 น. – 12.00 น. ที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศน์

หลังพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยไม่เข้ารายตัว พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามซึ่งได้ขอศาลทหารอนุมัติหมายจับจำเลยในเวลาต่อมา เมื่อจำเลยเดินทางเข้าประเทศไทยในวันที่ 13 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทำการจับกุมจำเลยที่สนามบินและส่งตัวจำเลยให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม

จำเลยอ้างต้นเองเป็นพยานเบิกความว่าทราบคำสั่งรายงานตัวในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ระหว่างนั้นจำเลยอยู่ที่ประเทศสวีเดนและมีกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 13 มิถุนายน 2557 โดยจำเลยออกตั๋วเครื่องบินฉบับดังกล่าวตั้งแต่ก่อนมีคำสั่งเรียกรายงานตัว

การเปลี่ยนตั๋วเครื่องบินมีค่าใช้จ่ายมากและจำเลยก็ไม่แน่ใจว่าหากเปลี่ยนตั๋วจะเดินทางถึงประเทศไทยตามกำหนดหรือไม่เพราะเวลาของประเทศไทยเร็วกว่าสวีเดนหกชั่วโมงและการเดินทางด้วยเครื่องบินก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง

จำเลยจึงเดินทางไปที่สถานทูตไทยประจำกรุงสตอกโฮล์มในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00 น. เพื่อรายงานตัวตามคำสั่งคสช.ตามวันเวลาที่ระบุในคำสั่ง โดยมีเพื่อนชาวสวีเดนของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานยืนยันและมีภาพเคลื่อนไหวที่จำเลยเข้าพบเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในวันและเวลาดังกล่าวมาเป็นหลักฐาน

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่สถานทูตแจ้งกับจำเลยว่าในขณะนั้นเอกอัครราชทูตและผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารไม่อยู่และสถานทูตก็ไม่มีกระบวนการรับรายงานตัวดังกล่าว

ในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 จำเลยได้ขอให้ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นำหนังสือชี้แจงถึงหัวหน้าคสช.มามอบให้กับเจ้าหน้าที่รับรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศน์ซึ่งพยานโจทก์ที่เป็นผู้รับรายงานตัวก็เบิกความยืนยันว่ามีบุคคลมายื่นหนังสือในนามของจำเลยจริง จึงเห็นได้ว่าจำเลยพยายามดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมดเท่าที่พอจะทำได้แล้ว

ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดทั้งยังมีหลักฐานยืนยันหนักแน่น พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. พิพากษายกฟ้อง
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา