สิรภพ: หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

อัปเดตล่าสุด: 11/03/2564

ผู้ต้องหา

สิรภพ

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

สารบัญ

สิรภพ เจ้าของนามปากกา "รุ่งศิลา" เป็นกวีที่มีเว็บบล็อกและเฟซบุ๊กที่เขียนบทความและบทกลอนเกี่ยวกับการเมือง
 
สิรภพถูกควบคุมตัวโดยทหารขณะกำลังเดินทางผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ไปยังจังหวัดอุดรธานี ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวของ คสช. หลังจากนั้น เขาถูกเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อายัดตัวไปสอบสวนต่อในข้อหาหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ 
 
สิรภพถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากการเขียนบทความและบทกลอนลงบล็อกจำนวน 3 ชิ้น ซึ่งถือเป็นความผิดรวม 3 กรรม คดีนี้ใช้เวลาพิจารณาในศาลทหารอย่างยาวนาน สิรภพยื่นขอประกันตัวแต่ศาลไม่อนุญาตรวม 7 ครั้ง และมาอนุญาตในครั้งที่ 8 วันที่ 11 มิถุนายน 2562 จากนั้น คสช. สั่งให้โอนคดีกลับศาลปกติ

หลังจากพิจารณาคดีในศาลปกติ ศาลอาญาพิพากษาว่า สิรภพมีความผิดตามมาตรา 112 สองกรรม ยกฟ้องหนึ่งกรรม โดยให้ลงโทษจำคุก กรรมละ 3 ปี แต่เนื่องจากการสืบพยานเป็นประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสี่ เหลือกรรมละ 2 ปี 3 เดือน รวมแล้วจำเลยต้องรับโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยจำคุกมาเกินกว่าโทษจึงไม่ต้องขังอีก

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สิรภพ อายุ 52 ปี เป็นนักกิจกรรมเสื้อแดงที่เน้นทำการณรงค์ผ่านอินเทอร์เน็ตผ่าน โดยใช้นามแฝง “รุ่งศิลา”หรือ “Rungsira” ก่อนถูกจับกุมประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างอยู่ในจังหวัดสงขลา

รู้จัก 'สิรภพ' ให้มากขึ้น อ่าน สิรภพ: บทกวีที่ถูกตามล่า [112 The Series]

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

สิรภพ ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของนามปากกา "รุ่งศิลา" เป็นเจ้าของเว็บบล็อก เขียนบทความต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่ปี 2553 และนำเสนอข้อมูลโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ในเว็บบอร์ของประชาไทเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2552 และยังเป็นเจ้าของเฟซบุ๊คชื่อ "รุ่งศิลา" เขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์เนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 3 ชิ้น

พฤติการณ์การจับกุม

สิรภพถูกควบคุมตัวโดยทหารขณะกำลังเดินทางผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ไปยังจังหวัดอุดรธานี โดยขณะเดินทางด้วยรถตู้อยู่บนถนนกำลังจะเข้าเมืองกาฬสินธุ์มีรถฟอร์จูนเนอร์ปาดหน้าและมีทหารไม่แต่งเครื่องแบบอย่างน้อย 5 พร้อมอาวุธครบมือลงมาจากรถ และมีทหารจากรถอีกคันจอดประกบอยู่ด้านหลังพร้อมอาวุธครบมือเข้าล้อมรถ

ทหารบังคับให้ทุกคนหมอบลงบนพื้นที่เปียกด้วยฝน ต่อมาจึงควบคุมตัวคนขับรถ และสิรภพ ไปที่หน่วยราชการในจังหวัดกาฬสินธุ์หนึ่งคืน หลังจากนั้นจึงนำไปคุมตัวที่ค่ายสีหราชเดโชชัย จังหวัดขอนแก่น 1 วัน ก่อนจะส่งตัวมาควบคุมต่อที่กรุงเทพฯ จนครบ 7 วัน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

83 ก./2557

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ, ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
1 กรกฎาคม 2557
 
ที่กองบังคับการปราบปราม สิรภพถูกตั้งข้อกล่าวหาเนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 41/2557 และควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของกองปราบปราม
 
2 กรกฎาคม 2557
 
สิรภพถูกควบคุมตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวและถูกปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น
 
อย่างไรก็ตามหลังการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อายัดตัวเขาไปสอบสวนต่อในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่กองบังคับการ ปอท. และนำตัวไปควบคุมไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อเตรียมส่งตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในวันถัดไป
 
ทั้งนี้การอายัดตัวสิรภพต่อของเจ้าหน้าที่ ปอท.เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 มีผู้เข้าแจ้งความกรณีที่เขาโพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว และเคยเขียนกลอนลงเว็บบอร์ดประชาไท
 
3 กรกฎาคม 2557
 
สิรภพถูกส่งตัวไปขออำนาจศาลอาญาฯ ฝากขัง โดยมีญาติและทนายทำเรื่องขอประกันตัว แต่เอกสารไม่ครบสิรภพจึงถูกควบคุมตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 
 
5 กันยายน 2557
 
หลังขออำนาจศาลอาญาฝากขังมาแล้ว 6 ครั้ง พนักงานสอบสวนเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 จึงยื่นคำร้องขอยุติการฝากขังต่อศาลอาญา แต่สิรภพยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ตามอำนาจการฝากขังในคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ไม่มารายงานตัวตามกำหนด
 
8 กันยายน 2557
 
สิรภพถูกพาตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขออำนาจฝากขัง หลังก่อนหน้าที่อาศัยอำนาจฝากขังของศาลอาญามาตลอด 
 
12 กันยายน 2557
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ อัยการทหารยื่นคำร้องขอฝากขังสิรภพต่อเป็นผลัดที่ 7 อ้างเหตุว่า อัยการเพิ่งได้รับสำนวนมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2557 ยังไม่สามารถตรวจสำนวนได้ทัน ทนายความของสิรภพยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยระบุว่าศาลทหารไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้ และไม่มีอำนาจฝากขัง
 
เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลทหารกรุงเทพ ไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังที่ ห้องพิจารณา คดี 1 ศาลขึ้นบัลลังก์แล้วแจ้งกับทนายความและผู้ต้องหาว่า ความผิดตามฟ้องในคดีนี้เป็นการโพสข้อความบนอินเทอร์เน็ตซึ่งข้อความยังปรากฏอยู่มาจนปัจจุบัน ถือว่าความผิดยังเกิดขึ้นอยู่ จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร เทียบเคียงได้กับกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดที่ข้อความยังปรากฏอยู่
 
ในคดีนี้ หากมีการกระทำเพียงหนึ่งครั้งที่เป็นความผิดต่อเนื่องและอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร การกระทำอื่นๆ ก็ถือเป็นความผิดที่เกี่ยวโยงกัน และอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารทั้งหมด
 
ทนายแย้งว่า วันที่กระทำความผิดต้องนับเฉพาะวันที่โพสข้อความเท่านั้น ซึ่งการโพสเกิดขึ้นก่อนการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่หากศาลเห็นว่าศาลทหารมีอำนาจเหนือคดีนี้ก็ขอให้วินิจฉัยประเด็นนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในคำสั่งคำร้องด้วย
 
ศาลชี้แจงเพิ่มเติมว่า เนื่องจากศาลอาญาพิจารณาแล้วว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร หากศาลทหารไม่รับอีกก็จะเป็นการโยนกลับไปกลับมาไม่จบสิ้น
 
ศาลเห็นว่าในชั้นฝากขังนี้ศาลยังไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจ เพราะเป็นประเด็นการวินิจฉัยเบื้องต้นในข้อกฎหมาย จึงขอให้คัดค้านเรื่องเขตอำนาจมาอีกครั้งในชั้นพิจารณาหลังศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว หากมีการยื่นคำร้องเข้ามาก็จะต้องพักการพิจารณาไว้เพื่อวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจก่อน
 
ศาลถามอัยการ อัยการแถลงคัดค้านคำร้องของผู้ต้องหา เพราะเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร
 
ศาลอนุญาตให้ฝากขังจำเลยเป็นผลัดที่ 7  
 
หลังศาลมีคำสั่ง ทนายยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่ง โดยอ้างว่า ในวันนี้ทนายจำเลยคัดค้านเรื่องเขตอำนาจศาล แต่ศาลไม่มีคำสั่งในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการทำคำสั่งที่ไม่ชอบ
 
ศาลรับคำร้องแต่วินิจฉัยว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนทราบว่าคดีอยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ จึงยื่นคําร้องต่อศาลอาญาขอยุติฝากขัง ศาลอาญาอนุญาต จึงขอฝากขังศาลทหารกรุงเทพต่อ ซึ่งปรากฎตาม รายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 8 กันยายน 2557
ทั้งในรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 12 กันยายน 2557 อัยการทหารก็ ระบุว่าคดีนี้ศาลทหารมีอํานาจฝากขัง  คำร้องของผู้ต้องหามีข้อเท็จจริงไม่เพียงพอให้วินิจฉัย ศาลจึงยังจะไม่วินิจฉัยคำร้องในชั้นฝากขัง
 
ในวันเดียวกัน ผู้ต้องหายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท พร้อมกับขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 40,000 บาท
 
ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในส่วนของคดี ม.112 โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี ในชั้นนี้ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 
 
สำหรับข้อหาฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวศาลให้เหตุผลว่า จําเลยในคดีนี้เป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งศาลไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวและถูกคุมขังอยู่จึงไม่มีเหตุพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ ในชั้นนี้ไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว
 
ทนายของผู้ต้องหาเขียนคำร้องขออนุญาตคัดถ่ายเอกสารซึ่งศาลไม่อนุญาตให้คัดถ่าย โดยให้จดไปเท่านั้น เนื่องจากทนายจําเลยได้รับทราบรายงานกระบวนพิจารณาคดีฉบับนี้ รวมทั้งคําสั่งคําร้องคัดค้านในชั้นนี้ ศาลอนุญาตให้ดูคําสั่งดังกล่าวแต่ไม่อนุญาตให้คัดเอกสารโดยวิธีการถ่ายเอกสาร
 
24 กันยายน 2557
 
อัยการสั่งฟ้อง
 
อัยการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องสิรภพต่อศาลทหารกรุงเทพ ด้วยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า สิรภพโพสต์บทกลอน ข้อความ และภาพการ์ตูนล้อเลียน ในโซเชียลมีเดีย โดยมีนัยยะพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ รวม 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552, 15 ธันวาคม 2556 และ 22 มกราคม 2557
 
13 พฤศจิกายน 2557
 
นัดสอบคำให้การ

 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การในเวลา 9.00 น. แต่ศาลขึ้นบังลังก์ในเวลาประมาณ 10.30 น. โดยศาลให้เหตุผลว่า กรมราชทัณฑ์ส่งตัวจำเลยมาที่ศาลช้า กระบวนการพิจารณาจึงเริ่มต้นล่าช้าไปด้วย
 
อัยการศาลทหารกรุงเทพแถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับทั้งกระบวนการ เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งอาจกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หากพิจารณาโดยเปิดเผยเกรงว่าจะมีการเผยแพร่ข้อความที่ไม่ถูกต้องออกไป
 
ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า การพิจารณาคดีเป็นการลับตลอดทั้งกระบวนการ ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาตรา 14  ซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำใดที่แสดงความก้าวร้าว หยาบคาย ทนายจำเลยขอให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยเฉพาะเท่าที่เปิดเผยได้ หากเนื้อหาส่วนใดที่ศาลเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ให้สั่งพิจารณาลับเป็นกรณีไป
 
อย่างไรก็ตาม ศาลก็มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยตลอด พร้อมกับขอให้ผู้สังเกตการณ์จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งลูกของจำเลยออกจากห้องพิจารณาคดี

ในวันเดียวกัน ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาลต่อศาลทหารกรุงเทพ เพื่อโต้แย้งว่าการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารละเมิดมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นอกจากนี้ ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้คดีพลเรือนอยู่ในอำนาจศาลทหาร ขัดต่อมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ 2557(ชั่วคราว) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งศาลทหารได้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ศาลทหารจะสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ก็มีความเป็นอิสระ ส่วนการพิจารณาและตัดสินคดี ผู้พิพากษามีอำนาจตัดสินคดีอย่างเป็นอิสระ ทั้งย้งไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
 
ภายหลังกระบวนการพิจารณาคดี ทนายจำเลยกล่าวว่า ตนได้แถลงต่อศาลเพื่อขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน โดยศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานใหม่ในวันที่ 21 มกราคม 2558
 
21 มกราคม 2558
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐานในเวลา 9.00 น. แต่ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10 โมงเศษ ญาติของสิรภพและผู้สังเกตการณ์ส่วนหนึ่งเข้าไปนั่งรอในห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.00 น. แต่เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ก็สั่งว่าคดีนี้จะพิจารณาลับและเชิญให้ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดรวมทั้งญาติของสิรภพออกจากห้องพิจารณาคดี 
 
หลังการพิจารณาคดี ทนายจำเลยเปิดเผยว่า ศาลสั่งนัดสืบพยานครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายน 2558 โดยโจทก์จะสืบพยาน 10 ปาก ส่วนจำเลยจะสืบทั้งหมด 3 ปาก สำหรับแนวทางการสู้คดี จำเลยจะต่อสู้ในเรื่องเนื้อหาของข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องว่า ไม่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ
 
2 เมษายน 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาลต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยระบุเหตุผลเช่นเดียวกับในคำร้องก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2557 กล่าวคือ คดีของนายสิรภพไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร เนื่องจากข้อความที่ถูกกล่าวหามีการเผยแพร่ก่อนการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้คดีพลเรือนในความผิดบางประเภทอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร นอกจากนี้ การดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารเป็นการละเมิดมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557
 
ตุลาการศาลทหารจึงมีคำสั่งให้อัยการทหารทำคำคัดค้านยื่นต่อศาล และศาลจะส่งสำนวนคดีพร้อมความเห็นไปให้ศาลอาญา รัชดา ให้ความเห็น ตามมาตรา10 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 และให้งดการพิจารณาไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้
 
21 กันยายน 2558
 
ศาลนัดฟังคำสั่ง เรื่องการใช้เขตอำนาจศาล
 
ทนายของสิรภพยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเรื่องอำนาจศาลถึงศาลทหาร เนื่องจากอ้างว่าอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ศาลทหารจึงได้สั่งให้อัยการทหารทำคำคัดค้านและศาลทหารได้ทำความเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร โดยตามมาตรา10 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 ซึ่งได้บัญญัติให้ศาลที่รับพิจารณาคดีในตอนแรกต้องส่งสำนวนคดีไปให้อีกศาลที่จำเลยอ้างว่าอยู่ในอำนาจเพื่อทำความเห็น
 
ซึ่งศาลอาญาเห็นว่าคดีนี้มีการกล่าวหาว่าได้เขียนข้อความซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบก่อนที่จะมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค.2557 ที่ให้คดีตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา112 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลหาร และไม่ถือเป็นความผิดต่อเนื่อง คดีจึงต้องขึ้นศาลอาญา กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ 2 ศาล คือ ศาลทหารและศาลอาญามีความเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด คดีนี้จึงให้งดการพิจารณาไปจนกว่าคณะกรรมการจะมีคำชี้ขาด
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2557สิรภพยื่นคำร้องขอให้ส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้คดีพลเรือนอยู่ในอำนาจศาลทหาร ขัดต่อมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ 2557(ชั่วคราว) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งศาลทหารได้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ศาลทหารจะสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ก็มีความเป็นอิสระ ส่วนการพิจารณาและตัดสินคดี ผู้พิพากษามีอำนาจตัดสินคดีอย่างเป็นอิสระ
 
20 มกราคม 2559
 
ศาลอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล
 
เวลา 10.00 น. ศาลทหารกรุงเทพอ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ซึ่งประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน
 
โดยคณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่า คดีของสิรภพอยู่ในเขตอำนาจพิพากษาคดีของศาลทหาร เนื่องจากคณะกรรมการเห็นตามศาลทหารกรุงเทพว่า แม้การกระทำความผิดจะเกิดขึ้นก่อนประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ที่กำหนดว่าคดีใดต้องขึ้นศาลทหาร แต่จำเลยไม่ได้ลบข้อความที่เข้าข่ายความผิดตาม ม.112 และข้อความที่เข้าข่ายเป็นความผิดยังคงปรากฎในระบบคอมพิวเตอร์  จึงถือว่าเป็นความผิดที่ต่อเนื่องและเกี่ยวโยงกัน
 
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ศาลทหารและศาลอาญามีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะสิรภพถูกกล่าวหาว่ามีความผิดจากการโพสต์เนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์บน 3 เว็บไซต์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552, 15 ธันวาคม 2556, และ 22 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดก่อนมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 ที่ประกาศใช้วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ดังนั้น การกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนและไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง คดีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร
 
เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีความเห็นว่าคดีนี้อยู่เขตอำนาจศาลทหาร ประเด็นโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลจึงถือเป็นที่สุด ศาลทหารกรุงเทพจึงนัดสืบพยานปากแรก คือ พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา วันที่ 11 พฤษภาคม 2559
 
11 พฤษภาคม 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง  พันตำรวจโท โอฬาร สุขเกษม เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีความเกี่ยวข้องกับคดี คือ เป็นผู้กล่าวหาจำเลยในคดี โดยมีหลักฐานจากการสืบสวนสอบสวนพิสูจน์ตัวบุคคลว่า จำเลยเป็นผู้ใช้นามแฝงว่า "รุ่งศิลา" และได้เขียนนำบทกลอนและภาพการ์ตูนล้อเลียนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพลงในเว็บไซต์ต่างๆ เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
 
ในวันดังกล่าวศาลสั่งพิจารณาคดีลับ แต่การสืบพยานยังไม่เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานต่อ 4 กรกฎาคม 2559
 
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 1  พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. ต่อ โดยให้ทนายจำเลยถามค้าน แต่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ และในวันดังกล่าวไม่สามารถสืบพยานเสร็จได้ ศาลนัดสืบพยานต่อ 1 สิงหาคม 2559
 
1 สิงหาคม 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง  พันตำรวจโท โอฬาร สุขเกษม เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากที่สอง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2559
 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ภรภัทร อธิเกษมสุข เกี่ยวข้องกับคดีในฐานะพยานบุคคลทั่วไปเพื่อมาให้ความเห็นเกี่ยวกับบทกลอนและภาพการ์ตูนล้อเลียนตามที่จำเลยถูกฟ้อง แต่เนื่องจากพยานไม่สามารถมาศาลได้ ศาลสั่งเลื่อนนัดไป 28 พฤศจิกายน 2559 
 
28 พฤศจิกายน 2559 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ภรภัทร อธิเกษมสุข ศาลสั่งพิจารณาลับ พยานมาศาลแต่ยังการสืบพยานยังไม่เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานต่อ 1 สิงหาคม 2560
 
1 สิงหาคม 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์

 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ภรภัทร อธิเกษมสุข ศาลสั่งพิจารณาลับ พยานมาศาลแต่ยังการสืบพยานยังไม่เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานต่อ 15 พฤศจิกายน 2560
 
15 พฤศจิกายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์

 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ภรภัทร อธิเกษมสุข ศาลสั่งพิจารณาลับ พยานมาศาลแต่ยังการสืบพยานยังไม่เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานต่อ 28 พฤศจิกายน 2560
 
28 พฤศจิกายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ภรภัทร อธิเกษมสุข เสร็จสิ้น โดยศาลสั่งพิจารณาลับ และนัดสืบพยานโจทก์ปากที่สาม ในวันที่ 2 มีนาคม 2561
 
2 มีนาคม 2561 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ภัทรมาศ ชำนิบริบาล เกี่ยวข้องกับคดีในฐานะพยานบุคคลทั่วไปเพื่อมาให้ความเห็นเกี่ยวกับบทกลอนและภาพการ์ตูนล้อเลียนตามที่จำเลยถูกฟ้อง แต่พยานไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ศาลสั่งเลื่อนนัดการพิจารณาไปวันที่ 27 เมษายน 2561 
 
27 เมษายน 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ภัทรมาศ ชำนิบริบาล  แต่พยานไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ศาลสั่งเลื่อนนัดการพิจารณาไปวันที่ 6 สิงหาคม 2561

ในวันเดียวกัน ครอบครัวของสิรภพยังได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยต่อศาลทหาร โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงิน 500,000 บาท แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นเดิม ซึ่งเป็นการไม่ให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 6 ในคดีนี้
 
6 สิงหาคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่สี่ หลังจากพยานโจทก์ปากก่อนหน้านี้เลื่อนการสืบพยานมาสองนัด ทำให้นัดนี้ฝั่งอัยการโจทก์จะนำพยานปากต่อไปเข้าสืบแทนเลย แต่ในช่วงเช้ามีฝนตกลงมาทำให้มีปัญหาการจราจรติดขัดไปทั่วกรุงเทพ และรถจากเรือนจำพาตัวจำเลยมาถึงศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 9.15 น. ด้านทนายความของจำเลยซึ่งมีสามคนก็ทยอยเดินทางมาถึง และคนสุดท้ายมาถึงในเวลาประมาณ 10.20 น.
 
ศาลขึ้นบัลลังก์และเริ่มสืบพยานในเวลาประมาณ 10.40 น. โดยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบหนึ่งปาก คือ ทรงวุฒิ รมยะพันธ์ เป็นพยานที่มาให้ความเห็นกับข้อความที่จำเลยถูกฟ้องในคดีนี้ โดยพยานเบิกความต่อศาลสรุปใจความได้ว่า พยานเป็นประชาชนทั่วไปที่ไปติดต่อราชการที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในปี 2557 และมีตำรวจมาขอให้ช่วยเป็นพยาน โดยเอาบทกลอนและบทความพร้อมรูปภาพประกอบรวมสามบท มาให้พยานได้อ่านดูและถามความคิดเห็น
 
พยานเบิกความถึง บทกลอนเรื่อง "กระบือร่ำไห้" ซึ่งพยานอ่านแล้วเห็นว่า เป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และมีการเปรียบเปรยกับคำว่า "บอร์ด" ซึ่งหมายถึงกระดาน หรือในที่นี่ คือ กระดานสนทนา เว็บบอร์ดของประชาไท และเป็นการกล่าวในช่วงที่รัชกาลที่ 9 กำลังทรงพระประชวรอยู่ ประชาชนทั่วไปจึงรู้ได้ว่าหมายถึงใคร
 
การเบิกความกินเวลานาน เพราะเป็นการอ่านบทกวีทีละวรรค ทีละบท โดยพยานอธิบายความหมายตามความเข้าใจของตัวเอง และศาลค่อยๆ บันทึกตาม พร้อมกับทบทวนเป็นระยะๆ จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.20 จึงเบิกความในประเด็นบทกลอนชิ้นแรกเสร็จ และเมื่ออัยการโจทก์จะถามถึงความเห็นต่อบทความชิ้นต่อไป ศาลแจ้งว่า เนื่องจากช่วงบ่ายศาลติดนัดพบแพทย์ จึงขอให้วันนี้พยานเบิกความเพียงประเด็นเท่านี้ และให้เลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า โดยฝ่ายโจทก์และจำเลยไม่คัดค้าน
 
ด้านทนายความแจ้งว่า มีประเด็นจะต้องถามค้านพยานปากนี้มาก และน่าจะใช้เวลาถามค้านนานตลอดช่วงเช้าและช่วงบ่าย ศาลจึงให้กำหนดวันนัดใหม่ไปสองวันติต่อกันในทีเดียว โดยทุกฝ่ายตกลงหาวันว่างกันได้เป็นวันที่ 5 ตุลาคม และ 5 พฤศจิกายน 2561 ในนัดแรกจะเป็นฝ่ายอัยการโจทก์ซักถามพยานปากนี้ต่อ และในนัดหลังจะเป็นการถามค้านของทนายความ
 
5 ตุลาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ ทรงวุฒิ รมยะพันธ์ แต่พยานไม่สามารถเดินทางมาศาลได้อ้างเหตุป่วย ศาลเลื่อนนัดไปสืบพยานโจทก์นัดต่อไปวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561
 
5 พฤศจิกายน 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ ทรงวุฒิ รมยะพันธ์ แต่พยานไม่สามารถเดินทางมาศาลได้อ้างเหตุป่วย ศาลเลื่อนนัดไปสืบพยานโจทก์นัดต่อไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 
 
ในวันเดียวกัน ครอบครัวของสิรภพยังได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยต่อศาลทหาร โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงิน 500,000 บาท แม้การยื่นขอประกันตัวครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นเดิม
 
อย่างไรก็ดี สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนส่งเรื่องร้องเรียน ไปยังคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UN Working Group on Arbitrary Detention – UNWGAD) เพื่อให้มีการปล่อยตัวสิรภพ จำเลยในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติได้ตรวจสอบและพบว่าบุคคล 7 ราย ถูก "ควบคุมตัวโดยมิชอบ" ภายใต้คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ ทรงวุฒิ รมยะพันธ์ นัดถามค้านพยานฝ่ายโจทก์ แต่อัยการฝ่ายโจทก์แถลงว่า พยานไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากพยานได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จึงขอคู่ความเลื่อนไปถามค้านในนัดหน้า ส่วนทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า เป็นความจริงที่พยานปากนี้ป่วยมาหลายนัดแล้ว จึงขอให้โจทก์นำใบรับรองแพทย์มายืนยันในนัดหน้า ขณะที่โจทก์รับปากว่าจะติดตามพยานที่เหลือมาขึ้นศาลให้ได้ทั้งหมด
 
30 พฤษภาคม 2562
 
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของสหประชาชาติ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นการควบคุมตัวโดยพลการ (Arbitrary Detention) โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 คณะทำงานชุดนี้ได้เผยแพร่ความคิดเห็นฉบับที่ 4/2019 ระบุว่ากรณีของสิรภพนั้น เคยเป็นประเด็นข้อซักถามเร่งด่วนของคณะทำงาน และผู้รายงานพิเศษคณะอื่นๆ ของสหประชาชาติ ถึงรัฐบาลไทยมาแล้วสามครั้ง เมื่อเดือนธันวาคม 2557, กุมภาพันธ์ 2559 และธันวาคม 2560 ในการตอบข้อซักถามครั้งต่างๆ รัฐบาลคสช. ได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยสนับสนุนการใช้เสรีภาพในการแสดงออกบนพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ถูกใช้ในลักษณะที่กระทบกับความสงบเรียบร้อยหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือที่มีลักษณะละเมิดสิทธิของผู้อื่น การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถือว่าสอดคล้องกับหลักการสากล
 
เมื่อยังมีผู้ร้องเรียนกรณีสิรภพไปยังกลไกการรับข้อร้องเรียนรายกรณีของคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ทางคณะทำงานฯ ได้สอบถามกลับมายังรัฐบาลไทยอีกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 เพื่อเปิดโอกาสให้ชี้แจง แต่ทางรัฐบาลก็ไม่ได้มีการตอบกลับใดๆ ทำให้คณะทำงานฯ จัดทำความเห็นคิดเห็นออกมา โดยสรุป คือ คณะทำงานฯ เห็นว่า สิรภพถูกควบคุมตัวตามกฎหมายที่ละเมิดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง ดังนั้นจึงไม่มีมูลเหตุทางกฎหมายในการควบคุมตัวสิรภพ การลิดรอนเสรีภาพของเขาจึงนับเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ หลักกฎหมายที่นายสิรภพถูกดำเนินคดีมีความคลุมเครือและกว้างขวางอย่างมาก โดยมาตรา 112 ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการแสดงออกแบบใดถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ข้อความที่สิรภพถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ยังอยู่ภายใต้การใช้เสรีภาพในการแสดงออก
 
การดำเนินคดีต่อนายสิรภพ ยังละเมิดต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งปราศจากความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร การที่นายสิรภพไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะกระทั่งถึงปัจจุบัน ถือเป็นการละเมิดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
ภายใต้ข้อวินิจฉัยทั้งหมดดังกล่าว คณะทำงานฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการใดๆ ซึ่งจำเป็นในการแก้ไขสถานการณ์ของนายสิรภพโดยทันที และกระทำให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ คณะทำงานฯ เห็นว่าวิธีการเยียวยาที่เหมาะสมที่สุดคือการปล่อยตัวนายสิรภพโดยทันที พร้อมทั้งอำนวยให้เขามีสิทธิในการชดเชยค่าเสียหายและค่าชดเชยอื่นๆ 
 
10 มิถุนายน 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ปากที่สาม เมื่อสิรภพถูกพาตัวจากเรือนจำไปยังศาลทหารกรุงเทพ พร้อมด้วยทนายความ และลูกสาวที่ไปให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ศาลแนะนำกับลูกสาวว่า ให้ยื่นขอประกันตัวใหม่ในวันนั้น แต่เนื่องจากยังไม่ได้เตรียมหลักทรัพย์มา จึงยื่นขอประกันตัวในวันรุ่งขึ้นแทน
 
11 มิถุนายน 2562
 
ทนายความขอสิรภพยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 8 ด้วยหลักทรัพย์เงินสด 500,000 บาท ศาลทหารกรุงเทพสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
 
สิรภพได้ปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพให้ช่วงค่ำของวันเดียวกัน โดยมีลูกสาวสองคนไปรอต้อนรับ และมีประชาชนกลุ่มนึงไปรอให้กำลังใจ
 
 

Siraphop Release

 
24 กรกฎาคม 2562
 
สิรภพ เดินทางไปศาลทหารตามนัดสืบพยานโจทก์ที่นัดไว้เดิม ศาลแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการพิจารณาคดี ในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้
 
ในเวลาต่อมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนูษยชนให้ข้อมูลว่า ศาลอาญากำหนดวันนัดพร้อมคดีนี้แล้วเป็นวันที่ 27 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น.
 
27 มกราคม 2563
 
ศาลอาญานัดพร้อมเพื่อพิจารณาคดีต่อจากศาลทหาร สิรภพเดินทางมาศาลพร้อมกับทนายความ ศาลได้สอบถามคู่ความถึงแนวทางในการต่อสู้คดี สิรภพแถลงว่า ไม่มีเจตนากระทำผิดตามฟ้อง ส่วนฝ่ายโจทก์แถลงว่า มีพยานที่ต้องนำเข้าสืบอีก 5 ปาก จากเดิมซึ่งเหลือพยานโจทก์ที่จะต้องสืบค้างมาจากศาลทหารอีก 7 ปาก เนื่องจากมีพยานที่รับกันได้ 2 ปาก คือ พยานตำรวจผู้จับกุมและพยานผู้ตรวจยึดคอมพิวเตอร์ 
 
ส่วนของพยานจำเลย ทนายความแถลงว่า เดิมเคยแถลงว่า จะสืบพยาน 2 ปาก คือ จำเลย และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ แต่สุธาชัยเสียชีวิตแล้ว ทนายจำเลยจึงขอสืบพยานผู้เชี่ยวชาญเพิ่มอีก 2 ปาก รวมเป็นพยานจำเลย 3 ปาก ศาลจึงนัดสืบพยานสามวันระหว่างวันที่  24-26 พฤศจิกายน 2563
 
24-25 พฤศจิกายน 2563
 
นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ภัทรมาศ ชำนิบริบาล เกี่ยวข้องกับคดีในฐานะพยานบุคคลทั่วไปเพื่อมาให้ความเห็นเกี่ยวกับบทกลอนและภาพการ์ตูนล้อเลียนตามที่จำเลยถูกฟ้อง

สืบพยานโจทก์ปากที่ 8 ร้อยตำรวจโท อนุชิต ทวีพร้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. เกี่ยวข้องกับคดีในฐานะพนักงานสอบสวน

สืบพยานโจทก์ปากที่ 9 พันตำรวจโท สัณห์เพ็ชร หนูทอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. เกี่ยวข้องกับคดีในฐานะพนักงานสอบสวน

สืบพยานโจทก์ปากที่ 10 พลตำรวจตรี ชัยชนะ ลิ้มประเสริฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. เป็นกรรมการและเลขานุกการคณะกรรมการคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

26 พฤศจิกายน 2563

นัดสืบพยานจำเลย


สีบพยานจำเลยเพียงปากเดียว คือ สิรภพ จำเลยในคดี หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่
 
18 มกราคม 2564
 
ศาลอาญา มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก “สิรภพ” กวีการเมืองเจ้าของนามปากกา "รุ่งศิลา" ในข้อหาตาม “มาตรา 112”  จากการโพสต์บทกลอน ข้อความ และภาพการ์ตูนล้อเลียน ในโซเชียลมีเดีย โดยมีนัยยะพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ จำนวน 2 กรรม กรรมละ 3 ปี แต่การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่คดีให้ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีมาเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน จึงไม่ต้องขังจำเลยอีก
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาระบุว่า จากการพิเคราะห์พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ใช้นามแฝงว่า "รุ่งศิลา" เผยแพร่บทกลอนผ่านทางเว็บบอร์ดเว็บไซต์ประชาไท และเป็นผู้สร้างภาพล้อเลียนในเว็บไซต์เฟสบุ๊กชื่อบัญชี "รุ่งศิลา" และเป็นผู้ลงภาพและบทความ "เชื้อไขรากเหง้ากบฎบวรเดชที่ยังไม่ตายฯ" ในเว็บไซต์ Blogspot.com ชื่อ Rungsira ซึ่งมาจากข้อมูลของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และข้อมูลจากการสอบสวนในชั้นจับกุมของเจ้าหน้าที่ทหารตามกฎอัยการศึก
 
ศาลระบุว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ได้ดูบทกลอน บทความและภาพล้อเลียนที่จำเลยเผยแพร่ทำให้เข้าใจได้ว่า จำเลยมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กับเหตุการณ์ทางการเมืองและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์  และเมื่อประกอบกับหลักฐานในชั้นจับกุมของเจ้าหน้าที่ทหาร อย่างการสนทนาทางเฟสบุ๊กส่วนตัวของจำเลยกับบุคคลอื่น และข้อมูลจากการสอบสวนของทหารที่ระบุว่า จำเลยมีแนวคิดปรับปรุงบทบาทสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมือง จึงเชื่อได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์จริง คำเบิกความของจำเลยว่าไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถรับฟังได้.ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีอาญา มาตรา 84 วรรคสาม ระบุ ไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานจากชั้นจับกุม แต่ศาลระบุในคำพิพากษาว่า การรับฟังพยานหลักฐานในชั้นจับกุมไม่ใช่การห้ามเด็ดขาด สามารถรับฟังได้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอื่นๆ 
 
หลังพิเคราะห์พยานหลักฐาน ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลย จำนวน 2 กรรม จากการเขียนบทความและภาพล้อเลียน ส่วนการเผยแพร่บทกลอนทางเว็บบอร์ดประชาไท ศาลเห็นว่า ไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นความผิดจึงยกประโยชน์ให้กับจำเลย และเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดแบบ "กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท" ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปี 2560 มาตรา 14 (3) ดังนั้น ต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่มีโทษสูงที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้ลงโทษจำคุก กรรมละ 3 ปี แต่เนื่องจากการสืบพยานเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีจึงมีเหตุลดโทษให้หนึ่งในสี่ เหลือกรรมละ 2 ปี 3 เดือน
 
รวมแล้วจำเลยต้องรับโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยจำคุกมาเกินกว่าโทษจึงไม่ต้องขังผู้ต้องหาอีก
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา