กระทรวงพลังงาน vs ม.ล.กรกสิวัฒน์

อัปเดตล่าสุด: 11/01/2560

ผู้ต้องหา

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เอกศักดิ์ ญาโนทัย เป็นผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงพลังงาน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้

สารบัญ

15 สิงหาคม 2557  กระทรวงพลังงานยื่นฟ้อง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท จากการโพสต์ข้อความในเฟชบุ๊ค “คุยกับหม่อมกร” ระบุทำนองว่า ราคาขายน้ำมันดีเซลที่ส่งไปจำหน่ายที่สปปล. มีราคาต่ำกว่าราคาจำหน่ายในประเทศ ทำให้ ก.พลังงานได้รับความเสียหาย
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต และนักเคลื่อนไหวด้านการปฎิรูปพลังงานไทย โดยใช้เพจเฟซบุ๊คชื่อว่า "คุยกับหม่อมกร" เป็นช่องทางแสดงออกอย่างต่อเนื่อง

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

โพสต์ข้อความในเฟชบุ๊ค “คุยกับหม่อมกร” ระบุทำนองว่า กระทรวงพลังงานกำหนดให้ส่งออกน้ำมันไปขายยัง สปป.ลาวในราคาที่ถูกกว่าขายในประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ค้าน้ำมันไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเป็นการกล่าวให้ร้ายต่อข้าราชการที่สังกัดกระทรวงพลังงานว่ากระทำการทุจริต 

 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

3 พฤศจิกายน 2557
 
นัดพร้อมประชุมคดี
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดพร้อม เวลา 9.00 น. ที่ ห้องพิจารณาคดี 506 วันนี้ศาลขึ้นบัลลังก์ตรงเวลา แต่ทั้งจำเลยและทนายจำเลยยังมาไม่ถึง มีเพียงโจทก์นังรออยู่ในห้องพิจารณาคดี ประมาณ 9.10 ม.ล.กรกสิวัฒน์ จำเลยในคดีเดินทางมาถึง 
 
ศาลเรียกจำเลยไปพูดคุยด้วยบริเวณหน้าบัลลังก์ ศาลถามม.ล.กรกสิวัฒน์ว่า ทนายอยู่ไหน ทีมงานของม.ล.กรกสิวัฒน์อีกท่านหนึ่งซึ่งเดินไปหน้าบัลลังก์ด้วย แจ้งต่อศาลว่า วันนี้ทนายจำเลยติดคดีที่ศาลอื่น ไม่ได้มาด้วย ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้ม.ล.กรกสิวัฒน์ฟัง ซึ่งมีสองข้อหา คือข้อหาหมิ่นประมาทและข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พร้อมกับถามว่าให้จะการรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธ ม.ล.กรกสิวัฒน์ตอบให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
 
ศาลถามถึงทางนำสืบของฝ่ายจำเลย โดยบอกว่า จำเลยสามารถนำสืบได้สองลักษณะ ลักษณะหนึ่งนำสืบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 คือพิสูจน์ว่าการแสดงความเห็นดังกล่าวเป็นไปเพื่อการติชมด้วยความสุจริต ซึ่งเป็นการสู้ว่าจำเลยไม่มีความผิด หรือ นำสืบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 330 พิสูจน์ว่าข้อความที่กล่าวเป็นความจริง และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งจำเลยจะมีความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ ม.ล.กรกสิวัฒน์ตอบว่าจะพิสูจน์ทั้งสองทาง
 
โจทก์ขอสืบพยาน 8 ปาก โดยขอวันสืบพยานสามวัน ม.ล.กรกสิวัฒน์แถลงว่ายังติดใจและขอให้นำพยาน 3 คน ที่เคยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มาเบิกความเพิ่มเติม ศาลติงว่าตอนที่พยานทั้ง 3 มาเบิกความ ฝ่ายจำเลยก็มีโอกาสถามค้านเต็มที่แล้ว แต่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ตอบศาลว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง พยานทั้ง 3 ไม่สามารถตอบคำถามได้ จึงยังติดใจสืบ ศาลจึงให้โจทก์เรียกพยานทั้ง 3 มาให้จำเลยถามค้าน และบอกโจทก์ว่าฝ่ายโจทก์ก็มีสิทธิถามติงเช่นกัน 
 
ต่อมาศาลให้ตัดพยานโจทก์คนหนึ่งในสามคนที่มาเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องออกไป เพราะเห็นว่าจะเป็นการสืบประเด็นเดียวกับพยานจำเลยคนหนึ่ง การสืบพยานโจทก์จึงเหลือเพียง 10 ปาก 8 ปากเป็นพยานที่มาในชั้นพิจารณา อีก 2 ปาก เป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องที่จำเลยติดใจขอสืบเพิ่มเติม ศาลให้เวลาสืบทั้งสิ้น 4 วัน 
 
ในส่วนของพยานจำเลย ศาลอ่านชื่อพยานจำเลยและตำแหน่งทีละคน และให้ม.ล.กรกสิวัฒน์ ชี้แจงถึงประเด็นนำสืบและความจำเป็นของพยานแต่ละปาก รายชื่อพยานมีทั้งหมด 26 ปาก แต่ศาลเห็นว่ามีพยานบางปากที่อาจเป็นการเบิกความซ้ำ สุดท้ายจึงให้นำสืบ 24 ปาก ให้เวลา 9 วัน 
 
ศาลย้ำกับม.ล.กรกสิวัฒน์ว่า เนื่องจากมีพยานจำเลยจำนวนมาก ศาลขอให้ส่งหมายเรียกให้ดี หากพยานไม่มาตามนัด ศาลจะถือว่าไม่ติดใจสืบและไม่ให้เลื่อนนัดอีก ศาลกำหนดให้ยื่นเอกสารภายในหนึ่งเดือนครึ่งก่อนเริ่มสืบพยานนัดแรก เพื่อให้ศาลและคู่ความได้ศึกษาเอกสารด้วย
 
ม.ล.กรกสิวัฒน์ แถลงต่อศาลว่า ในบางนัดขอให้สืบพยานลับหลังจำเลย เพราะตนเองมีภารกิจทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จึงอาจมาศาลไม่ได้ทุกนัด แต่จะพยายามมาให้มากที่สุด ศาลอนุญาตตามคำขอ เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ทั้งจำเลยก็มีทนายเป็นตัวแทนแล้ว

หมายเลขคดีดำ

อ.5418/2556

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

15 สิงหาคม 2557

โจทก์ยื่นฟ้อง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา14 (1)

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาต่อไป และนัดสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 3 พศจิกายน นี้ 

3 พฤศจิกายน 2557

นัดพร้อมประชุมคดี

คู่ความมาศาล แต่ฝ่ายจำเลยไม่มีทนายความมาด้วย เนื่องจากติดว่าความคดีอื่น

โจทก์ขอออกหมายเรียกพยาน 8 คน มาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณา จำเลยขอให้เรียกพยานโจทก์ 3 คนที่ให้การในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาด้วยเพื่อถามค้านเพิ่มเติม ภายหลังศาลอนุญาตให้เรียกมาเพิ่ม 2 คนให้ตัดออก 1 คน โจทก์จะมีพยานนำสืบทั้งสิ้น 10 ปาก ใช้เวลาสืบ 4 นัด

ม.ล.กรกสิวัฒน์ แจ้งศาลว่าประสงค์จะเบิกพยาน 26 ปาก แต่ศาลตัดเหลือ 24 ปาก และให้เวลา 9 นัด 

ม.ล.กรกสิวัฒน์ขอให้ศาลอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ เพราะอาจมาศาลไม่ได้ทุกนัด ศาลอนุญาตเพราะคดีมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและจำเลยมีทนายแล้ว

 

1 ตุลาคม 2558

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 3, 14 (1) เป็นความผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนดเวลา 2 ปี และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลฉบับเต็มในหนังสือพิมพ์รายวัน 7 ฉบับ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยชำระค่าโฆษณาทั้งหมด และให้ลบภาพกับข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ในระบบคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมเฟซบุ๊ก จำเลยเป็นเจ้าของหน้าเพจ เว็บไซต์ชื่อว่า “คุยกับหม่อมกร” ถ้าไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
 
ต่อมา ม.ล.กรกสิวัฒน์ จำเลย ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง ขณะที่กระทรวงพลังงาน โจทก์ ยื่นอุทธรณ์เช่นกัน ขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนัก
 
 
15 พฤศจิกายน 2559
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
 
 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาว่า จำเลยคือ ม.ล.กรกสิวัฒน์  มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 326 ประกอบมาตรา 328 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 3,14(1) เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท  ให้ลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 90 ฐานนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ให้ จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนดเวลา 2 ปี ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 56 กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาล(ฉบับเต็ม) ในหนังสือพิมพ์รายวัน หน้าข่าวในไทยโพสต์ แนวหน้า ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด และให้จำเลยลบภาพและข้อมความที่หมิ่นประมาทโจทก์ในระบบคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมเฟซบุ๊ก ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของหน้าเพจ “คุยกับหม่อมกร” ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 29 และ 30
 
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์ได้วินิฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย ประการแรกว่า จำเลยกระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ โดยจำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นฟังพยานหลักฐานคลาดเคลื่อนในจุดต่างๆ จำเลยเชื่อโดยสุจริต ในข้อความที่โพสต์ลงไป ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบให้เห็นถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ว่ารูปเรื่องข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งเอกสารที่เกี่ยวข้องชี้ให้เห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามที่จำเลยโพสต์ข้อความ ในขณะที่จำเลยก็ยอมรับเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่นำมาโพสต์ลงไปว่า มาจากนายดุสิต กลางประพันธ์ ซึ่งใช้นามว่าพลทหารมะโหนก ที่ได้ถ่ายรูปการขนส่งน้ำมันไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะนำมาโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์  
 
แม้ว่าจำเลยจะมีข้อมูลจากการศึกษาและประสบการณ์เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ทำให้เกิดข้อสรุปเชื่อว่ากรณีเป็นไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ก็เป็นความเชื่อของจำเลย หากจะทำการประกาศต่อไปให้สาธารณชนรับรู้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ อาจส่อไปในทางทุจริต โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งจำเลยอยู่ในฐานะที่จะกระทำได้ เนื่องจากจำเลยอยู่ในแวดวงด้านพลังงาน สามารถตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการ จึงไม่อาจอ้างความสุจริตใจ ดังที่อ้างในอุทธรณ์ได้ 
 
โดยเฉพาะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญและกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งระบุว่าพยานหลักฐานของจำเลยไม่ต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยนั้น   เป็นการใช้ดุลนพินิจที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ศาลเห็นว่า ในรายละเอียดของคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้กล่าวถึงพยานหลักฐานต่างๆ ของฝ่ายโจทก์ และสรุปความเกี่ยวกับน้ำหนักของพยานหลักฐานโจทก์ไว้แล้ว จึงมากล่าวว่าพยานหลักฐานของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย ข้อความดังกล่าวนั้นก็เป็นการบ่งบอกเป็นนัยอยู่แล้วว่าเป็นการวินิจฉัยเปรียบเทียบพยานหลักฐานจำเลยไว้ในตัวอยู่แล้ว หาใช่ว่าไม่มีการวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลยไม่ ซึ่งความไม่ชัดเจนดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อท้วงติงว่าศาลชั้นต้นไม่ได้แยกรายละเอียดให้เห็นเกี่ยวกับพยานหลักฐานจำเลยว่ามีส่วนใดน่าเชื่อถือและไม่น่าเชื่อถือเท่านั้น แต่ไม่ถึงขนาดที่จะฟังว่าไม่มีการวินิจฉัยพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
 
ปัญหาต่อไปมีว่าควรลงโทษจำเลยในสถานใด ปัญหานี้ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ โดยโจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าพฤติการณ์ของจำเลยบ่งชี้ให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่มีต่อโจทก์มาตั้งแต่ต้น กระทำต่อเนื่องโดยมุ่งประสงค์ต่อชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณของโจทก์ เป็นเรื่องร้ายแรง ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้พิจารณาลงโทษจำเลยในสถานเบาและไม่ต้องลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลชั้นต้น อ้างว่าเจตนาที่แท้จริงของการโพสต์ข้อความของจำเลยกระทำไปด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อโจทก์  เห็นว่า ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงพลังงาน ติดตามข่าวสารข้อมูลในด้านพลังงาน และมีการนำเสนอในลักษณะของการโพสต์ข้อความในเว็บไซต์เมื่อจำเลยทราบข่าวการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับด้านพลังงาน และเห็นว่าสาธารณชนควรจะรับรู้ จำเลยจึงมีการโพสต์ข้อความ แต่ในการโพสต์ข้อความในคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้ดีเสียก่อน จึงได้กระทำการตามฟ้องไป 
 
พฤติการณ์ของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏย่อมไม่ถึงขั้นที่มุ่งหมายหรือเจตนาร้ายกระทำต่อโจทก์ในลักษณะที่จะฟังว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ แต่พฤติการแห่งคดีก็ไม่ขนาดที่จะให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือไม่ต้องลงคำโฆษณาในคำพิพากษาดังที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ เนื่องจากเมื่อเป็นการกระทำให้ปรากฏต่อสาธารณะและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ การแก้ไขเยียวยาในลักษณะดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม การรอการลงโทษเป็นการให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดี และหลาบจำในการกระทำความผิด  หากจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขระหว่างการรอการลงโทษ จำเลยก็มีโอกาสถูกลงโทษได้อยู่แล้ว อุทธรณ์โจทก์และจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน  
 

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา