โอภาส: เขียนผนังห้องน้ำ คดีที่หนึ่ง

อัปเดตล่าสุด: 24/10/2560

ผู้ต้องหา

โอภาส

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์

สารบัญ

โอภาสถูกกล่าวหาว่าเขียนข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บนฝาผนังห้องน้ำในห้างซีคอนสแควร์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เขาถูกรปภ.ของห้างจับได้ก่อนแจ้งให้ทหารมารับตัวไปดำเนินคดี 
 
โอภาสยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์สูงถึง 2.5 ล้านบาท แต่ไม่ได้ประกันตัว โอภาสรับสารภาพ และเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาให้จำคุกสามปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหนึ่งปี หกเดือน
 
ระหว่างรับโทษในคดีนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2558 โอภาสถูกฟ้องคดี 112 เพิ่มอีกหนึ่งคดีจากการเขียนผนังห้องน้ำอีกแห่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันแต่ถูกนำมาแยกฟ้องในภายหลังศาลมีคำพิพากษาคดีแรกแล้ว โอภาสรับสารภาพและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีหกเดือนเช่นเดียวกับคดีแรกโดยโทษของคดีที่สองจะเริ่มนับหลังโอภาสรับโทษในคดีแรกหมด ทำให้ทั้งสองคดีโอภาสจะต้องรับโทษรวมอย่างสูงสองปี 12 เดือน
 
ในเดือนสิงหาคม 2559 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2559 โอภาสมีชื่ออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษและได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 27 สิงหาคม 2559 รวมเวลาที่ถูกคุมขังทั้งสองคดี 678 วัน
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

โอภาสอายุ 68 ปี จบการศึกษาวุฒิปวส. ประกอบธุรกิจส่วนตัว ไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมใดๆ โอภาสเพียงแต่ ติดตามข่าวสารการเมืองต่างและมักฟังวิทยุชุมชน โอภาสไม่พอใจการรัฐประหารและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน
 
รู้จัก 'โอภาส' ให้มากขึ้น อ่าน : โอภาส: An old man and his love [112 The Series]

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องลงวันที่ 9 มกราคม 2558
 
อัยการทหาร ระบุว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนได้กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศให้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร 
 
จำเลยได้กระทำผิดกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เวลากลางวัน อันเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาท และดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อบุคคลที่สาม โดยจำเลยได้ใช้ปากกาเขียนข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่บานประตูห้องน้ำชาย ชั้นสอง ของห้างซีคอนสแควร์ สาขาศรีนครินทร์ ว่า "รัฐบาลเหล่ ลิเก ปล้นชาติมาโดยแว้นควาย เหล่ ประยุทธ์ ออกนโยบายลิเก มือใหม่ งานหลักคือ โหนเจ้า (xxxx) อาวุธสำคัญ คือ มาตรา 112 โถ่ ไอ้หน้าเหี้ย! ดูหน้ามึงทุกวันนี้ มันบอกว่าใกล้จุดจบ เริ่มทะเลาะกันเองแล้วจ้า" ซึ่งข้อความดังกล่าว (iLaw-มีข้อความในวงเล็บที่ไม่อาจเผยแพร่ได้) ทำให้ร.ต.คำภา โหม่งพุฒ, นายเทพพนม ครุฑทากูล และนายกฤษณะ กองเกตุใหญ่ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้วสามารถเข้าใจโดยรวมว่า หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์โดยปัจจุบัน
 
ข้อความดังกล่าวทำให้คุณค่าของพระองค์ท่านลดต่ำลงและทำให้พระองค์ท่านเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะความจริงแล้ว พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละมิดมิได้ และทรงอยู่เหนือการเมือง ทั้งมิได้ยุ่งเกี่ยวในทางการเมืองแต่อย่างใด หากแต่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมายอันทรงคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
 
การกระทำของจำเลยที่กล่าวในฟ้องนั้น โจทก์ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1. กับขอศาลได้โปรดริบปากกาของกลางด้วย

 

 

พฤติการณ์การจับกุม

ทหารในเครื่องแบบ 4 นาย ควบคุมตัวโอภาสจากห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ไปสอบสวนที่ พล.ม.2  พร้อมถ่ายรูปและถ่ายเอกสารหลักฐานต่างๆไว้
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

11ก./2558

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
15 ตุลาคม 2557
 
ทหารในเครื่องแบบ 4 นาย ควบคุมตัวโอภาสจากห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ไปสอบสวนที่ พล.ม.2  พร้อมถ่ายรูปและถ่ายเอกสารหลักฐานต่างๆไว้ โดยพยายามให้โอภาสระบุว่า เจ้าตัวมักจะฟังวิทยุชุมชนคลื่นไหน  ทั้งนี้ระหว่างการสืบสวน ไม่มีการข่มขู่ ไม่มีการทำร้ายร่างกาย หรือพันธนาการใดๆ หลังจากสอบสวน พ.ท.บุรินทร์ นำตัวโอภาสมาส่งที่กองปราบปรามในช่วงเย็น
 
17 ตุลาคม 2557
 
ที่กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่แจ้งโอภาสว่า ตำรวจจะเป็นผู้ทำการสอบสวน แต่เมื่อมาถึงกลับมีนักข่าวจำนวนมากมาถ่ายรูป เหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่จะจัดการแถลงข่าว พ.ท.บุรินทร์ เปิดเผยข้อความที่โอภาสเขียนกับนักข่าวเพื่อทำข่าว รวมถึงชื่อและนามสกุลจริง ทำให้โอภาสกังวลมาก  และยังกล่าวด้วยว่า โอภาสทำความผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะถูกชักจูงโดยวิทยุชุมชน  
 
เวลาประมาณ 11.00 น. หลังผู้สื่อข่าวออกไปแล้ว ทนายความเข้าพบโอภาส  ทหารต้องการให้ตำรวจฝากขังโอภาสเลย  แต่ตำรวจขอเวลาอีกสองวัน โดยจะนำไปฝากขังในวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม 2557 หลังการสอบสวน 
 
 
20 ตุลาคม  2557
 
ประชาไทรายงานว่า ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามแจ้งข้อกล่าวหาโอภาส จากการเขียนข้อความ 1 ข้อความ เจ้าตัวรับว่าได้เขียนข้อความตามข้อกล่าวหาจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นกษัตริย์ฯ เพียงแต่ต้องการวิจารณ์คณะรัฐประหาร
 
ทั้งนี้ ระหว่างให้ปากคำผู้ต้องหามีทนายความอยู่ในกระบวนการด้วย
 
ประมาณ 13.00 น. พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. พร้อมด้วย ร.ต.ท.จักรี กุลแก้ว พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. คุมตัวโอภาสไปขออำนาจศาลทหารฝากขังผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ศาลอนุญาตให้ฝากขัง
 
ภรรยาของผู้ต้องหายื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 2.5  ล้านบาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่า "หากปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนี ให้ยกคำร้อง"  ต่อมาโอภาสถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
 
31 ตุลาคม 2557
 
พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามายื่นคำร้องขอฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง ที่ศาลทหาร ทนายความของโอภาสยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน โดยคัดค้านว่า
 
พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ไม่ซับซ้อน คำให้การของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนก็เป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก 
 
ในการไต่สวน  พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลว่า พนักงานสอบสวนได้เร่งรัดทำการสอบสวนมาโดยตลอด แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 5 ปาก รอผลการพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร
 
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องหากระทำผิดข้อหาร้ายแรงตามคำแถลงของพนักงานสอบสวนและปรากฏว่ายังมีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนต่อไป
 
ในช่วงบ่ายทนายความของโอภาสยื่นคำร้องของปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมพร้อมแถลงเหตุผลประกอบว่า
 
ผู้ต้องหาเป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เส้นเลือดอาจแตกและทำให้ตาบอดได้ โดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือน หากพบว่ามีอาการแพทย์จะยิงเลเซอร์เพื่อทำการรักษา
 
ประมาณ 16.00 น.ศาลทหารมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า
 
“พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีนี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง“
 
12 พฤศจิกายน 2557
 
ศาลทหารกรุงเทพฯ    พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ระบุว่าต้องสอบพยานบุคคลอีก 4 ปาก และตรวจสอบลายนิ้วมือของจำเลยไม่เสร็จสิ้น ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อ
 
ทนายของผู้ต้องหายื่นประกันตัวเป็นครั้งที่สอง โดยใช้หลักทรัพย์เดิมคือโฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้าน พร้อมเหตุผลเพิ่มเติมว่า จำเลยทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สำนึกผิดและทำจดหมายแสดงเจตนาถึงสำนักราชเลขาธิการแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ศาลทหารยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตโดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลเคยสั่งไม่อนุญาต โดยมีเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีและกรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงดุลยพินิจเดิม จึงไม่อนุญาต”
 
นอกจากนี้ญาติผู้ต้องหาได้ขอประวัติการรักษาโรคความดันโลหิตสูงจากโรงพยาบาลที่ผู้ต้องหารักษาตัวอยู่เพื่อมาประกอบการยื่นประกันตัว ใบประวัติการรักษาระบุว่า ผู้ต้องหาต้องได้รับยาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สามารถวัดความดันโลหิตผู้ต้องหาและให้ญาติไปรับยาแทนเพื่อนำมาให้ผู้ต้องหาที่เรือนจำได้
 
เพราะผู้ต้องหามาศาลด้วยอาการไข้หวัด และเขายังถูกย้ายจากแดน 1 ไปยังแดน 5 ซึ่งมีสภาพแออัดกว่าเดิมมาก การอาบน้ำต้องอาบจากท่อน้ำที่เจาะรูซึ่งจะเปิดน้ำเพียง 1 นาทีกว่า
 
24 พฤศจิกายน 2557
 
ที่ศาลทหาร เจ้าหน้าที่นำตัวโอภาสมา เพื่อมายื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 ในช่วงเช้า โดยทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งเป็นครั้งที่ 3
 
โดยคัดค้านว่าพนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ไม่ซับซ้อน  คำให้การของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนก็เป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก
   
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าพนักงานสอบสวนจะไม่ได้มาที่ศาล แต่เมื่อพิเคราะห์ความหนักเบาของคดี เห็นว่า เป็นคดีร้ายแรงและเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง จึงอนุมัติคำร้องฝากขัง
 
จากนั้นในช่วงบ่ายทนายความผู้ต้องหาจึงยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม พร้อมเหตุผลประกอบด้านปัญหาสุขภาพ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมซึ่งอาจแตกและทำให้ตาบอด ซึ่งโดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือนหากพบว่ามีอาการจะยิงเลเซอร์เพื่อทำการรักษา
 
ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดอาการอยู่แล้ว  ข้ออ้างจึงฟังไม่ขึ้น และศาลเคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อนแล้ว ไม่มีเหตุให้กลับคำสั่ง 
 
9 มกราคม 2558
 
หลังจากครบฝากขังในผลัดที่ 7 ที่ศาลทหารกรุงเทพ อัยการศาลทหาร มีคำสั่งฟ้องโอภาส ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  
 
คำฟ้องสรุปใจความได้ว่า ข้อความที่โอภาสเขียนบนฝาผนังห้องน้ำ ชั้น 2 ห้างสรรพสินค้าซีคอนแสควร์ นั้นทำให้บุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านเเล้ว สามารถเข้าใจโดยรวมว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน  ทำให้คุณค่าของพระองค์ลดต่ำลง และเป็นการเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ 
 
20 มีนาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
เวลาประมาณ 10.15 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้โอภาส
โอภาสให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน
 
ศาลให้เหตุผลประกอบการลงโทษด้วยว่า เนื่องจากจำเลยมีเอกสารประกอบเกี่ยวกับอาการป่วยชัดเจน จึงมีเหตุให้ลงโทษสถานเบา
 
กระบวนพิจารณาในวันนี้เป็นไปโดยเปิดเผย มีผู้สังเกตการณ์จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และผู้สื่อข่าวบางส่วน มาร่วมสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาด้วย
 
7 กรกฎาคม 2558 
 
ระหว่างรับโทษในคดีแรก โอภาสถูกฟ้องคดี 112 เพิ่มเติมเป็นคดีที่สอง
 
16 ตุลาคม 2558 
 
ศาลทหารสอบคำให้การโอภาสในคดีที่สอง โอภาสรับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาจำคุกหนึ่งปีหกเดือนโดยให้เริ่มนับโทษคดีที่สองต่อจากคดีนี้
 
8 สิงหาคม 2559
 
ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ซึ่งโอภาสอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการลดหย่อนโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย โดยโอภาสอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับปล่อยตัวก่อนครบกำหนดเดิม 
 
27 สิงหาคม 2559
 
ทางราชทัณฑ์มีกำหนดปล่อยตัวโอภาส แต่ก็มีหมายอายัดตัวจากสน.ประเวศมารออยู่ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงประสานกับทางสน.ว่าไปหมายของคดีใด เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นหมายจับของคดีที่สองซึ่งศาลมีคำพิพากษาและโอภาสรับโทษแล้ว ทนายจึงประสานทางสน.เพื่อให้ถอนหมาย เจ้าหน้าที่สน.ประเวศจึงแฟกซ์มาแจ้งทางเรือนจำเพื่อถอนหมายอายัดตัว โอภาสจึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำโดยไม่ถูกนำตัวไปสน.ประเวศ
 

 

 

 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยสรุป 

คดีได้ความตามฟ้องโจทก์ประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนได้กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557

จำเลยได้กระทำผิดกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เวลากลางวัน อันเป็นเวลาที่อยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาท และดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อบุคคลที่สาม โดยจำเลยได้ใช้ปากกาเขียนข้อความที่บานประตูห้องน้ำชายชั้นสอง ของห้างซีคอนสแควร์ สาขา ศรีนครินทร์ โดยมีข้อความว่า "รัฐบาลเหล่ ลิเก ปล้นชาติมาโดยแว้นควาย เหล่ ประยุทธ์ ออกนโยบายลิเก มือใหม่ งานหลักคือ โหนเจ้า (xxxx) อาวุธสำคัญ คือ มาตรา 112 โถ่ ไอ้หน้าเหี้ย! ดูหน้ามึงทุกวันนี้ มันบอกว่าใกล้จุดจบ เริ่มทะเลาะกันเองแล้วจ้า" ซึ่งข้อความดังกล่าว (iLaw-มีข้อความในวงเล็บที่ไม่อาจเผยแพร่ได้) ทำให้ร.ต.คำภา โหม่งพุฒ, นายเทพพนม ครุฑทากูล และนายกฤษณะ กองเกตุใหญ่ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้วสามารถเข้าใจโดยรวมว่า หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

ข้อความดังกล่าวทำให้คุณค่าของพระองค์ท่านลดต่ำลง และทำให้พระองค์ท่านเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะความจริงแล้ว พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละมิดมิได้ และทรงอยู่เหนือการเมือง ทั้งมิได้ยุ่งเกี่ยวในทางการเมืองแต่อย่างใด หากแต่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมายอันทรงคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1. ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน

ตามที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษจำคุก พร้อมทั้งแนบหนังสือรับรองความประพฤติของจำเลยและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาด้วยนั้น ศาลได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยแล้วเห็นว่า เป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งประชาชนเคารพเทิดทูนจึงเป็นการกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง ยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ประกอบกับศาลได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคำขอของจำเลยในส่วนที่ขอให้รอการลงโทษ ปากกาของให้ริบ

เหตุแห่งคดีนี้เกิดระหว่างมีประกาศกฎอัยการศึก คำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพจึงถือเป็นที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา