สุภิญญา กลางณรงค์: หมิ่นประมาทช่องสาม

อัปเดตล่าสุด: 21/12/2559

ผู้ต้องหา

สุภิญญา กลางณรงค์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ หรือ สุรัตน์ชัย มั่นศรีถาวร ผู้รับมอบอำนาจ

สารบัญ

สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ถูกบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง3) ฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ในประเด็นการโอนย้ายสัญญาณมาสู่ระบบดิจิทัล และรีทวิตข้อความ 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สุภิญญา กลางณรงค์ เป็นนักกิจกรรมทางสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ โดยเริ่มต้นทำงานที่บริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น จากนั้นได้เข้ามาทำงานที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม นอกจากนี้ เจ้าตัวยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
 
สุภิญญาเป็นที่รู้จักเมื่อปลายปี พ.ศ. 2546 โดยถูกบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ฟ้องคดีหมิ่นประมาท นอกจากนี้ ปลายปี พ.ศ. 2547 สุภิญญาถูกฟ้องซ้ำในคดีแพ่ง จากการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย  และ บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น แต่ศาลตัดสินยกฟ้องเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2549โดยเห็นว่าสุภิญญาให้สัมภาษณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ 
 
ปัจจุบันนี้ สุภิญญาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

สุภิญญา กลางณรงค์ ถูกกล่าวหาว่าใส่ความบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด โดยการโฆษณาผ่านสื่อและนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลของเจ้าตัวเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ 
 
โดย สุภิญญาถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328  จากการให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์ ได้แก่ สถานีว๊อยซ์ทีวี อาร์เอสทีวี พีพีนิวส์ ช่อง7สี และวิทยุ รวมทั้งสื่อต่างๆ และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 และมาตรา 15 จากการรีทวิตข้อความของผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ “แคน สาริกา” ที่ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของทีวีไทยกับช่อง 3 และความสัมพันธ์ของผู้บริหารช่อง3 กับ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ2888/2557

ศาล

ศาลอาญา รัชดาภิเษก

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
24 กรกฎาคม 2555
กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (must carry) หมายถึง ฟรีทีวีมีหน้าที่แพร่ภาพสัญญาณให้ทุกคนได้รับชมรายการโทรทัศน์อย่างทั่วถึงในทุกแพลตฟอร์ม ได้แก่ ภาคพื้นดิน เคเบิล และดาวเทียม
 
6 มกราคม 2557
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ กสทช.  มีมติรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ซึ่งบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด หรือช่อง 3 ดิจิทัลชนะการประมูล 3 ช่อง คือ หมวดหมู่ความคมชัดสูง (HD) หมวดหมู่ความคมชัดปกติ และหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ส่วนช่อง 3 ในระบบอนาล็อกเดิม ดำเนินกิจการโดยบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด
 
3 กุมภาพันธ์ 2557 
กสท. มีมติให้ฟรีทีวีอนาล็อกทั้ง 6 ช่อง สิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือฟรีทีวีไม่สามารถ Must Carry ต่อไปได้ นับจากวันที่เริ่มออกอากาศในระบบทีวีดิจิทัลแล้ว 30 วัน
 
30 พฤษภาคม 2557
ศาลปกครองมีมติรับคำฟ้องของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (ช่อง 3) ในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 686/57 เรื่องขอให้เพิกถอนมติ กสท. ที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557
 
2 กันยายน 2557
กสท. ประชุมด่วน เพื่อหารือกับ คสช. ถึงทางออกเรื่องช่อง 3 อนาล็อกซึ่งตอนนี้ยังคงออกอากาศทางเคเบิลดาวเทียมได้ตามปกติ เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ จนกว่าจะมีความชัดเจนเป็นอย่างอื่น และจะมีการเชิญช่อง 3 และทีวีดิจิทัล 24 ช่อง หารือร่วมกัน
 
6 กันยายน 2557 
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ออกแถลงการณ์ไม่ออกอากาศคู่ขนานและไม่ขออนุญาตเป็นเพย์ทีวี ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1.ช่อง 3 โดยบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไม่ได้เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เนื่องจากติดเงื่อนไขสัญญาสัมปทานเดิม ช่อง 3 จึงไม่มีใบอนุญาตช่องรายการในระบบดิจิทัล 
2.บริษัท บีอีซีมัลติมีเดีย จำกัด ซึ่งประมูลได้ช่องทีวีดิจิทัลมา 3 ช่อง ไม่สามารถจะนำช่อง 3 ไปออกอากาศคู่ขนานได้ เนื่องจากผิดกฎกติกาของ กสทช. ซึ่งกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง
3. กสท.ต้องอนุญาตให้บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด นำรายการของช่อง 3 ไปออกอากาศคู่ขนาน โดยที่สัญญาณ เนื้อหารายการและโฆษณาของช่อง 3 จะต้องไม่ถูกดัดแปลง แก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น มิเช่นนั้น จะก่อให้เกิดปัญหาแก่ช่อง 3 ในเรื่องลิขสิทธิ์รายการจากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ 
 
 
8 กันยายน 2557
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือ ช่อง 3 มอบอำนาจให้ นายสุรัตน์ชัย มั่นศรีถาวร ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อคณะกรรมการบริหาร กสท. 3 ราย ประกอบด้วย สุภิญญา กลางณรงค์ 3 ข้อหาคือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาท และ กระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งนี้ ศาลได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ อ.2888/2557  
 
 
8 ตุลาคม 2557
คณะตุลาการศาลปกครองกลางไต่สวนคดีที่บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3  ยื่นฟ้อง กสท.  กรณี กสท. มีมติให้โครงข่ายเคเบิลและดาวเทียมต้องระงับการเผยแพร่สัญญาณของช่อง 3 อนาล็อก ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ช่อง 3 จอดำในโครงข่ายเคเบิลและดาวเทียม
 
หลังการไต่สวน สุภิญญาได้ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลเจรจาไกล่เกลี่ยโดยคู่กรณีตกลงกันได้ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐ และ กสท. ในการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่ปฏิบัติต่อผู้ประกอบการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกทุกราย กสท.จึงเห็นด้วยที่จะพิจารณาอนุมัติให้บริษัทบีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ร่วมกับบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์จำกัด นำรายการช่อง 3 ระบบอนาล็อกไปออกอากาศแบบคู่ขนานในช่อง 33 HD แบบช่อง 7 และช่อง 9 ภายใต้ประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยจะนำข้อตกลงนี้ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายในวันที่ 10 ต.ค. 57 นี้ ทั้งนี้บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์จะต้องปฏิบัติตามระเบียบภายในวันที่ 10 ต.ค. เวลา 12.00 น.
 
ในส่วนของคดีที่ช่อง 3 ฟ้อง กสท. นั้นก็มีแนวโน้มว่าช่อง 3 จะยื่นถอนฟ้อง แต่เบื้องต้นยังถือว่าคดียังมีอยู่ ส่วนที่ศาลจะเรียกไต่สวนคดีที่บริษัทเคเบิลฟ้อง กสท.ไว้ในกรณีเดียวกันวันพรุ่งนี้นั้น ศาลได้แจ้งว่าจะแจ้งคู่กรณีทราบถึงผลการเจรจาของวันนี้และคงไม่มีการไต่สวน
 
ที่มา: ประชาไท
 
17 ตุลาคม 2557
คณะตุลาการเจ้าของคดี มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีระหว่างช่อง 3 กับ กสท. ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ออกจากสารบบความแล้ว เนื่องจากข้อพิพาทดังกล่าวได้ยุติลง จากการที่ช่อง 3 และ กสทช.ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ต่อศาลในการไต่สวน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนทั่วไปให้สามารถรับชมช่อง 3 ต่อไปได้ทั้งอนาล็อกและระบบดิจิทัลโดยไม่ได้รับผลกระทบหรือมีภาระเพิ่มขึ้น
ส่วนข้อหาหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น ยังอยู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมซึ่งยังไม่มีการถอนฟ้อง
 
 
1 ธันวาคม 2557
13.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง  ทนายฝ่ายโจทก์ ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โดยคู่กรณีได้เจรจาตกลงกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อกัน ทางทนายจำเลยไม่คัดค้าน พร้อมทั้งมีตัวแทนของจำเลยแถลงต่อหน้าศาลว่าไม่ติดใจเอาความแล้ว ศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจาสารบบความ

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา