ออด: ติดป้ายแยกประเทศที่อำเภอเมืองเชียงราย

อัปเดตล่าสุด: 16/08/2562

ผู้ต้องหา

ออด

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย

สารบัญ

ช่วงต้นปี 2557 มีการขึ้นป้าย "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ในบางพื้นที่ของจังหวัดในภาคเหนือเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่ศาลแพ่งสั่งห้ามสลายการชุมนุมของกลุ่มกปปส. รวมทั้งในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย
 
ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 ออด ถนอมศรี และสุขสยาม มารอต้อนรับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นระหว่างลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ระหว่างเดินทางกลับทั้งสามข้ามสะพานลอยหน้าห้างเซ็นทรัลเชียงราย ระหว่างนั้นมีกลุ่มคนใส่เสื้อสีแดงกำลังแขวนป้ายอะไรบางอย่างบนสะพานลอย เมื่อคนกลุ่มนั้นเรียกให้ช่วยแขวนป้ายพวกเขาก็หยุดช่วยโดยไม่ทราบว่าเป็นป้ายอะไรจากนั้นก็เดินทางกลับ
 
ในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวจากบ้านพักและถูกควบคุมตัวในเรือนจำจังหวัดเชียงรายเป็นเวลาสองคืนก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมา 
 
ในเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์นำพยานเข้าสืบรวม 15 ปาก ส่วนจำเลยนำพยานเข้าสืบรวมปากเดียวคือถนอมศรี ในเดือนกรกฎาคม 2558 ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดจามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พิพากษาจำคุกทั้งสามเป็นเวลา 3 ปี แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้มีกำหนดห้าปี เนื่องจากไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คดีนี้คดีจึงถึงที่สุด

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ออด อายุ 63 ปี มีอาชีพทำสวนลำไย ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่ปี 2544  ในสมัยที่พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ออดร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มเสื้อแดง และเป็นแกนนำคนเสื้อแดง อ.แม่สรวยในปี 2553 ในการชุมนุม ออดมักใส่หมวกใบใหญ่จนได้รับฉายาว่า ลุงออด หมวกใหญ่ 
 
ถนอมศรี อายุ 53 ปี ประกอบกิจการส่วนตัว เป็นแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย ถนอมศรีติดตามเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด เคยเป็นผู้ประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ด้วย
 
สุขสยาม อายุ 62 ปี ประกอบอาชีพเกษตรกร และเป็นแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย   

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ออด ถนอมศรี และ สุขสยาม ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับพวก นำป้ายผ้าที่มีข้อความแบ่งแยกประเทศล้านนา ไปติดตั้งบนสะพานลอยหน้าห้างสรรพสินค้าเซนทรัล พลาซ่า เชียงราย  
 

พฤติการณ์การจับกุม

ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2557  ทหารโทรตามออดรวมทั้งจำเลยอีก 2 คน ไปรายงานตัวที่ค่ายพญาเม็งราย ออดและพวกถูกควบคุมเป็นเวลาสองคืน โดยทหารเตือนให้ออดและพวกยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย
ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน ศาลจังหวัดเชียงรายออกหมายจับจำเลยทั้ง 3  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เชียงรายนำกำลังลงพื้นที่อำเภอแม่สรวยและทำการจับกุมจำเลยทั้งสามที่บ้านในวันที่ 15 มิถุนายน 2557
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวจำเลยทั้ง 3  ไปที่ศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง จำเลยทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดเชียงรายเป็นเวลา 2 คืนก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยในระหว่างที่จำเลยทั้ง 3 ถูกควบคุมตัว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาทำการสอบสวนเพิ่มเติมด้วย 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

4215/2557

ศาล

ศาลจังหวัดเชียงราย

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ออกหมายจับแกนนำแดงแม่สรวย ปมติดป้ายแยกปท.หลังคดียืดเยื้อ. สังคมนิยมไทย .15 มิถุนายน 2557. (เข้าถึงเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2557)
26 กุมภาพันธ์ 2557
 
มีการติดป้ายผ้าซึ่งปรากฎข้อความขอแบ่งแยกประเทศล้านนาที่บริเวณสะพานลอยหน้าห้างเซ็นทรัล เชียงราย ทหารสังกัดจังหวัดทหารบกเชียงรายเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยฐานทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงออกความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร 
 
3 มีนาคม 2557 
 
พล.ต.พัฒนา มาตร์มงคล ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย สั่งการให้ พ.ท.อิสระ เมาะราษี รักษาการหัวหน้าฝ่ายข่าวเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ ร.ต.ท.ศรีเดช สุวรรณ์ สารวัตรเวร สภ.เมืองเชียงราย และ พ.ต.ท.พิเชษฐ์ ฟองฟู สารวัตรเวร สภ.แม่ลาว เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ทำการติดป้าย
 
มิถุนายน 2557
 
สองสัปดาห์หลังการรัฐประหาร  ทหารโทรตามออดและพวกอีก 2 คน ไปรายงานตัวที่ค่ายพญาเม็งราย ทหารให้ผู้เข้ารายงานตัวทั้งหมดอยู่ในเรือนรับรองที่ค่ายทหารเป็นเวลา 2 คืน
ในการรายงานตัวในครั้งนี้ ทหารตักเตือนให้ออดและพวกหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อความสะดวกในการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
 
13 มิถุนายน 2557
 
พนักงานสอบสวนขอให้ศาลอนุมัติหมายจับบุคคล 3 คน ได้แก่ออด ถนอมศรี และสุขสยาม  ในข้อหา "ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงออกความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร"    ศาลออกหมายจับตามคำร้องของพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุจึงส่งหมายไปยัง สภ.แม่สรวย ซึ่งเป็นที่ภูมิลำเนาของออดและพวก เพื่อให้ทำการควบคุมตัวมาดำเนินคดี
 
15 มิถุนายน 2557
 
ออด ถนอมศรี และสุขสยาม  ถูกจับกุมตัวที่บ้านพักของตนเองและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปที่ศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ออดและพวกถูกควบคุมตัวเรือนที่จำจังหวัดเชียงราย เป็นเวลา 2 คืน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบสวนเพิ่มด้วย ว่าป้ายที่ติดมาจากไหน ใครเป็นคนให้ติด 
 
28 กรกฎาคม 2557
 
ออดและพวกเข้าร่วมงาน ปรองดอง สมานฉันท์ ที่อำเภอแม่สรวย ในงานมีข้าราชการในอำเภอเช่น นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ และสัสดีเข้าร่วมด้วย โดยกิจกรรมในงานดังกล่าว มีทั้งการปราศรัย ให้โอวาท และร้องเพลงร่วมกัน
 
หลังวันงานออดและพวกมักได้รับโทรศัพท์จากทั้งทหารและตำรวจเป็นระยะ  และมีการมาสังเกตการณ์ที่บ้านด้วย ซึ่งออดและพวกรู้สึกเป็นการรบกวนด้านจิตใจ
 
ทั้งนี้ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ออดและพวกถูกเรียกรายงานตัวที่ค่ายพญาเม็งราย รวม 4 ครั้ง ซึ่งบางครั้งออดและพวกก็ปฏิเสธที่จะไป ซึ่งเมื่อปฎิเสธที่จะไปรายงานตัวก็จะมีเจ้าหน้าที่แวะเวียนมาที่บ้าน 
 
31 ตุลาคม 2557
 
ออดและพวก เข้ารายงานตัวที่ค่ายพญาเม็งรายอีกครั้ง ครั้งนี้ทั้งออดและพวกรู้สึกดีขึ้นและยินดีให้ความร่วมมือกับทางทหาร เพราะทหารมีท่าทีดีขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา 
 
10 พฤศจิกายน 2557 
 
นัดพร้อม
 
ศาลจังหวัดเชียงรายนัดพร้อมในเวลา 9.00 น. อัยการ ทนายจำเลย และจำเลยทั้ง 3 มาศาล โจทก์แถลงขอสืบพยานทั้งหมด 24 ปาก แต่ต่อมาตัดพยานออก 6 คน เนื่องจากจำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงที่พยานทั้งหมดให้การต่อพนักงานสอบสวน 
 
จำเลยที่ 1 และ 3 แถลงขอสืบพยานทั้งหมด 6 ปาก ได้แก่จำเลยทั้ง 3 คน และพยานภายนอกอีก 3 ปาก แต่เนื่องจากพยานภายนอกปากหนึ่งเป็นพยานโจทก์อยู่แล้ว จึงเหลือพยานภายนอกเพียงสองปาก รวมสืบพยานทั้งหมด 5 ปาก
 
จำเลยที่ 2 แถลงขอสืบพยา่น 3 ปาก ได้แก่ตัวจำเลยทั้งสาม
 
ศาลแจ้งว่า จะให้เวลาสืบทั้งหมด 4 นัด ให้โจทก์สืบ3 วันเต็มและวันที่ 4  ครึ่งวันเช้า ส่วนจำเลยให้สืบ ช่วงครึ่งวันบ่ายของวันที่ 4 โดยศาลให้คู่ความไปนัดวันสืบกันเองที่ศูนย์นัดความ ซึ่งทนายจำเลยเปิดเผยภายหลังว่า การสืบพยานจะมีขึ้นในวันที่ 12 ,14 ,15 และ 19 พฤษภาคม 2558  
 
12 พฤษภาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยาน ออด ถนมศรี และสุขสยาม ก่อนเริ่มพิจารณาคดี ออดแจ้งขอเปลี่ยนทนายความ
เวลาประมาณ 10.00 น.ศาลขึ้นบังลังค์โดยเริ่มพิจารณาคดีอื่นๆก่อน ศาลให้ออดและสุขสยามยืนยันว่า ทนายคนเดิมขอถอนตัว จึงแต่งตั้งทนายคนใหม่แทน ทั้งสอง ไม่คัดค้าน ขณะที่ถนอมศรี ใช้ทนายความคนเดิม 
 
 จากนั้นศาลจึงเริ่มสืบพยาน
อัยการเบิกพยานคนแรก คือ พ.ต.ต.คเชนทร์ จาก สภ.เมืองเชียงราย ผู้กล่าวหาออดและพวก พ.ต.ต.คเชนทร์ ให้การว่า  2 มีนาคม 2557 ได้รับแจ้งว่ามีผู้ติดป้ายข้อความที่จะก่อความไม่สงบ อาจเกิดความวุ่นวายได้ รวมถึงปั่่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน จึงไปพบ พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ห้างสรรพสินค้าเซนทรัล พลาซ่า เชียงราย แต่ป้ายดังกล่าวไม่อยู่เเล้ว แต่ได้รับแจ้งว่ามีการติดป้ายดังกล่าวตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2557 เเล้ว ทางห้างสรรพสินค้าเกรงว่าจะได้รับความเสียหายจึงเก็บป้ายดังกล่าวไว้ที่ศูนย์รักษาความปลอดภัย เบื้องต้นจึงส่งพนักงานสอบสวนเข้าตรวจสอบ และสืบหาผู้กระทำผิด ก่อนพบว่าบริเวณดังกล่าวมีกล้องวงจรปิด จึงประสานที่ห้างสรรพสินค้าเพื่อขอดูกล้องวงจรปิด จึงพบว่าบุคคลที่นำป้ายข้อความมาติดเป็นชาย 3 คน และเป็นหญิง 3 คน เเละเมื่อนำภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิดไปเทียบกับบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงระบุตัวได้ทั้งสามคน 
 
ต่อมาทนายความของออดเริ่มถามพยาน เริ่มจาก พยานไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นผู้นำมาติดใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่    จากนั้นถามว่า ตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ 2557- 2 มีนาคม 2557 มีกลุ่มเสื้อแดงก่อให้เกิดจราจลหรือความกระด้างกระเดื่องหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี และวันแรกที่ได้รับแจ้ง ตอนพยานไปถึง พยานไม่เจอป้ายใช่หรือไม่  พยานตอบว่าใช่
 
ทนายความของออดและพวกถามอีกหลายคำถาม เช่น เหตุที่กล่าวอ้างทั้งสามคนี้ เพราะเป็นแกนนำเสื้อแดง ถูกต้องหรือไม่ พยานตอบว่าใช่ เพราะเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ถึงอย่างไรทางตำรวจจะเอาใครมาสอบสวนเลยก็ไม่ได้เช่นกัน
หรือกระทั่งคำถามที่ว่า พอติดป้ายเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 เเล้ว ก็ไม่มีการแยกประเทศไทยเลย ถูกต้องไหม พยานตอบว่า ใช่ และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อต้นปี 2557 เกิดเหตุการณ์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองมี่แตกต่างกัน โดยที่ชุมนุมใหญ่ทางการเมืองอยู่ที่กรุงเทพมหานคร คือกลุ่ม กปปส. และส่งผลกระทบถึงจ.เชียงราย โดยเมื่อมีกลุ่มหนึ่งมาแสดงความคิดเห็น ก็จะมีกลุ่มหนึ่งออกมาโต้แย้ง พยานไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้น
อัยการถามพยานเพิ่มว่า จากภาพกล้องวงจรปิด พยานเห็นออดและพวกหรือไม่ พยานตอบว่าเห็น
 
พยานปากที่สอง บุญแก้ว พนักงานรักษาความปลอดภัยประจำห้าง เซนทรัลพลาซ่า เชียงราย โดยพยานทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าลานจอดรถของห้าง  กล่าวว่าจำวันเกิดเหตุไม่ได้ แต่เห็นป้ายติดอยู่สะพานลอย เห็นช่วงประมาณ 17.oo น. จากนั้นจึงประสาน ไปยังหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย และปลดป้ายออกตอนประมาณ 20.00 น. ให้การเพิ่มเติมว่าไม่เคยเห็นคนที่มาติดป้าย
 
จากนั้นทนายความของออดและพวก ถามว่า ป้ายขอแยกเป็นประเทศล้านนา คิดว่าเป็นการประชดประชัด ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่   และบันทึกปากคำกับตำรวจ เอกสารให้พยานลงลายมือชื่อเลย โดยที่ไม่ได้อ่านใช่หรือไม่  พยานตอบว่า ใช่ อีกเช่นกัน
 
พยานอีกสามปากต่อมา เป็นคนขับรถรับจ้างคิวจอดอยู่ที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซนทรัล
ให้การลักษณะเดียวกันว่า พยานไม่เห็นขณะนำป้ายมาติด แต่ถ้ามองจากคิวรถก็จะเห็นได้
 
ทนายความของออดและพวก ถามคำถามลักษณะเดิมคือ ระหว่างกุมภาพันธ์ 2557-มีนาคม 2557 มีคนก่อจราจลหรือทำความวุ่นวายอะไรหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มี  และป้ายข้อความดังกล่าวพยานเห็นตรงกันว่า เป็นการทำไปเพื่อประชดประชัน  ศาลจึงมีคำสั่งจบการสืบพยานช่วงเช้า
 
จากนั้นช่วงบ่าย ก่อนเริ่มสืบพยาน ออดแจ้ง ขอถอนทนายความ โดยไม่ประสงค์จะให้ว่าความให้เเล้ว ให้เหตุผลว่าทนายความซักพยานมากเกินไป ศาลเห็นว่าเป็นเหตุขัดกันระหว่างตัวแทนของฝ่ายโจทก์และจำเลย จึงถามความเห็นว่า ออดและสุขสยาม จะให้ทนายความของถนอมศรี มาเป็นทนายความให้หรือไม่
ออดให้การว่า ตกลงกับทนายความเเล้วว่าถ้าซักพยานสัก 2-3 ปากเเล้วหากไม่พอใจ จะขอให้ถอนตัวได้   และขอให้ทนายความของถนอมศรีมาเป็นทนายความให้ตนและสุขสยาม
 
ระหว่างรอพยานปากสุดท้ายของวัน ศาลกล่าวกับ ออด ถนอมศรี และสุขสยามว่า คดีนี้ภาระพิสูจน์เป็นของโจทก์ว่า มีความผิดเกิดขึ้นหรือไม่ ข้อความอย่างนี้ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องจริงหรือไม่ และถ้าผิดจริงเเล้ว ใครเป็นผู้กระทำความผิด
และศาลได้ห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างการพิจารณาด้วย เนื่องจากเห็นว่าศาลได้บันทึกถ้อยความเบิกความของพยานอยู่แล้ว และสามารถให้ทนายความขอคัดสำเนาบันทึกคำเบิกความได้
 
เวลา 14.00 น. พยานปากที่ หก คือ เจ้าหน้าที่ทหารหัวหน้าฝ่ายข่าวจากค่ายเม็งรายมหาราช โดยพยานปากนี้ถือเป็นพยานปากสำคัญ เพราะเป็นบุคคลแรกๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการกล่าวหาจำเลยทั้ง สาม พยานให้การว่า ข้อความที่ว่า "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา"
ถือว่าเป็นการปลุกปั่น ยั่วยุ ในหมู่ประชาชน ที่อาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้ จึงได้เริ่มดำเนินคดีกับทั้งสาม
ทนายความของทั้งสาม ถามพยานว่า ช่วงที่เริ่มดำเนินคดีนี้ เป็นช่วงหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เเล้วหรือไม่  พยานบอกว่า ไม่ใช่ พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้ามาจัดการเรื่องนี้ตั้งแต่ มีนาคม 2557 แล้ว
 
ทนายความถาม อีกว่า ระหว่างนั้น มีเหตุการณ์จลาจลวุ่นวาย เกิดขึ้นหรือไม่   พยานบอกว่า มี แต่พยานอ้างไปถึงเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปี 2553 รวมถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เชียงใหม่ ที่ประชาชนปะทะกับทหาร
จากนั้นจึงเสร็จสิ้นการสืบพยานวันแรก โดยศาลนัดสืบพยานวันถัดไปคือ 14 พฤษภาคม 2558 
 

14 พฤษภาคม 2558
 
สืบพยานโจทก์
 
โดยพยานของวันนี้ 2 ปาก เป็นพนักงานสอบสวน ที่อัยการเรียกมาเป็นพยาน ให้การว่าได้เห็นภาพของทั้งสามจำเลยจริง และยืนยันตัวบุคคลได้
 
และพยานสามปาก ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับถิ่นที่อยู่ของ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม  เริ่มจาก เจริญ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย อัยการให้พยานดูภาพถ่ายในที่เกิดเหตุเพื่อยืนยันตัวบุคคล  และพยายามถามว่าออดและพวกมีแนวคิดทางการเมืองเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันทนายออด ถามว่า หมู่บ้านที่เจริญปกครองอยู่ มีคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสองฝ่ายใช่หรือไม่ เจริญตอบว่าใช่     
 
พยานปากต่อมาเป็นสมาชิกในหมู่บ้านของถนอมศรี ก็ยืนยันว่าเป็นตัวถนอมศรีจริง 
 
ขณะที่อีกพยาน เป็นสารวัตกำนัน ของหมู่บ้านที่สุขสยามอยู่ โดยมายืนยันบุคคลว่าเป็นคนเดียวกัน แต่พยานปากนี้ไม่รู้จักชื่อจริงของสุขสยาม

ขณะที่พยานอีกปากเป็น ทนายความ ที่เป็นสหวิชาชีพในขั้นสืบสวนของตำรวจ โดยพยานปากนี้ให้การว่า ข้อความในแผ่นป้าย ที่ว่า "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนานั้น " อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อความสงบในหมู่ประชาชนได้
 
จากนั้นทนายความของออดและพวก ได้ถามพยานว่า พยานทราบข่าวการเมืองและความรุนแรงในจังหวัดเชียงรายช่วงปี 2557 หรือไม่  พยานบอกว่า ไม่ทราบเหตุการณ์

 
15 พฤษภาคม 2558
 
สืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์วันสุดท้าย อัยการเบิกพยานที่มีตำแหน่งเป็นพนักงานสอบสวน ของ สภ.เมืองเชียงราย ถึง 3 ปาก โดยพยานทั้งสามปากต่างมายืนยันถึงการที่ต้องดำเนินคดีกับ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม แต่พยานทั้งสามไม่ได้เป็นผู้สอบสวนหลัก เพราะได้มอบหมายให้พนักงานอื่นสอบสวนแทน แต่ก็ได้ติดตามคดีนี้อยู่เป็นระยะๆ
ทนายความของทั้งสาม เห็นว่า พนักงานสอบสวนที่มาให้ปากคำในวันนี้ ต่างมียศที่เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่กว่า พยานที่เป็นพนักงานสอบสวนที่ผ่านๆมา จึงพยายามถามถึงบริบทการเมืองไทย ช่วงกลางปี 2556- ต้นปี 2557 ที่มีกลุ่ม กปปส.ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนนำไปสู่การยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม  2556 และกำหนดให้มีวันเลือกตั้งใหม่คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557  แต่แล้วการเลือกตั้งก็ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อย เพราะมีหน่วยเลือกตั้งถูกปิดไปหลายหน่วย และมีเหตุการณ์ขัดขวางผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในหลายๆพื้นที่ โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร และหลายๆจังหวัดทางภาคใต้   อันอาจทำให้กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลรักษาการในขณะนั้น เกิดความคับแค้นใจ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ศาลอาญายกคำร้อง กรณีดีเอสไปสั่งฟ้องกลุ่มแกนนำ กปปส. ทนายความถามพยานว่า รู้เห็นเหตุการณ์การเมืองไทยในช่วงนี้หรือไม่
พยานแรกบอกว่า พอรู้เห็นเหตุการณ์แต่จำวันที่ไม่ได้แน่ชัด   พยานต่อมาตอบว่า ทราบว่ามีเหตุการณ์ แต่ไม่ค่อยได้ติดตามการเมืองเท่าไหร่นัก  และพยานปากสุดท้ายของวันนี้ตอบว่า ทราบว่ามีการยุบสภา และต่อมามีการขัดขวางการเลือกตั้งขึ้น แต่ก็จำไม่ได้เช่นกันว่าวันไหน ปีอะไร
ก่อนจะเสร็จสิ้นการสืบพยานวันนี้ อัยการขอให้มีพยานอีก 1 ปากเป็นพนักงานสืบสวน  จากจ.พะเยา เนื่องมาจากที่ จ.พะเยาก็มีผู้นำป้ายมาติดข้อความลักษณะเดียวกันบนสะพานลอย ทนายความของทั้งสามให้การว่า ทราบว่าที่ จ.พะเยาก็มีผู้นำป้ายมาติดเช่นกัน แต่ก็ไม่มีความรุนแรงหรือเหตุจลาจลอะไรเกิดขึ้นหลังจากการติดป้าย  ซึ่งอัยการก็เห็นตรงกัน ขณะเดียวกันศาลใช้ดุลพินิจที่จะงดสืบปากพยานนี้เพราะเห็นว่า ทั้งอัยการและทนายความของทั้งสาม เห็นตรงกันว่า มีการติดป้ายจริง แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น
 
จึงสิ้นสุดการสืบพยานโจทก์ทั้ง 3 วัน รวมทั้งหมด 15 ปาก  และศาลนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 19 พฤษภาคม 2558
 
19 พฤษภาคม 2558
 
สืบพยานจำเลย
 
ทนายความของออด ถนอมศรี และสุขสยาม เบิกพยานเพียงปากเดียว คือ ถนอมศรี  โดย ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่  22 กรกฎาคม 2558 

22 กรกฎาคม 2558

เวลาประมาณ 9.30 น. ศาลจังหวัดเชียงรายอ่านคำพิพากษาคดีติดป้ายแยกประเทศล้านนา ในห้องพิจารณาคดี 2 นอกจากจำเลย 3 คน และทนายจำเลยแล้วก็มีเพื่อนของจำเลย 1 คน และผู้สังเกตการณ์อีก 2 คน มานั่งฟังอยู่ด้วย
 
ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 4 ปี ในความผิดตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่ลดโทษให้ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 3 ปีเพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์ และให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด 5 ปี 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลขั้นต้น

การติดป้ายแยกประเทศ ในขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในความวุ่นวาย ประชาชนแบ่งออกเป็นหลายฝ่ายและมีความแตกแยกทางการเมือง อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย นอกจากนี้ข้อความบนป้ายก็มีลักษณะเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐ

ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ติดป้ายเพื่อประชดต่อความอยุติธรรม เพราะศาลอาญายกคำร้องไม่ดำเนินคดีแกนนำกปปสที่ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยคิดไปเอง และไม่ได้ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา