โจ กอร์ดอน (ผู้แปลหนังสือกษัตริย์ไม่เคยยิ้ม)

ผู้ต้องหา

เลอพงษ์ ว.

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2554

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้กล่าวหา คือ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยพันเอกวิจารณ์ จดแตง เป็นผู้กล่าวหาที่ ๑ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยนายเกริกไชย ศรีศุกร์เจริญ เป็นผู้กล่าวหาที่ ๒ โดยร้องทุกข์กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โจทก์ คือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ๑ สำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ กรมสอบสวนคดีพิเศษมีมติการประชุมให้คดีที่มีกลุ่มบุคคลกระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ เป็นคดีพิเศษตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยออกเป็นประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (คลิกเพื่ออ่านประกาศ) ดังนั้น คดีนี้จึงถือเป็นคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย โดยสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ตามหนังสือลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2553

สารบัญ

โจ ก. ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบล็อกที่ชื่อว่า บาทเดียว และเป็นผู้ใช้นามแฝงว่า สิน แซ่จิ้ว โดยในบล็อกของเขาใส่ลิงก์ให้ดาวน์โหลดหนังสือThe King Never Smiles เขียนโดย Paul Handley นักข่าวอิสระซึ่งทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ในคำฟ้องระบุว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นภาษาไทยด้วย นายโจไม่สู้คดี ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายเลอพงษ์ ว. เป็นชาวไทยซึ่งได้รับสัญชาติอเมริกัน และอาศัยอยู่ที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกามาเกือบ 30 ปี บ้านเกิดของเขาอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

โจถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบล็อกที่ชื่อว่า บาทเดียว และเป็นผู้ใช้นามแฝงว่า สิน แซ่จิ้ว โดยในบล็อกของเขาซึ่งใส่ลิงก์ให้ดาวน์โหลดหนังสือThe King Never Smiles และยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นภาษาไทยด้วย
 
หนังสื่อเรื่อง The King Never Smiles เป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย เขียนโดย Paul Handley นักข่าวอิสระซึ่งทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย Yale เผยแพร่เมื่อปี 2549 เชื่อกันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือต้องห้ามในราชอาณาจักรไทย
 
ในหมายขอฝากขังผู้ต้องหาระบุว่า ""เมื่อระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2552 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน นายเลอพงษ์ ว. ได้ใช้นามแฝงว่า นายสิน แซ่จิ้ว เข้าไปประกาศข้อความ (Post) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2552 บนเว็บบอร์ด sameskyboard.com โดยจัดทำความเชื่อมโยง (link) ระบุข้อความว่า ""TKNS อยู่ในนี้ ลิงค์ด้านซ้ายของรูปเปรม"" ซึ่ง TKNS เป็นคำย่อหมายถึงหนังสือต้องห้ามนำเข้าสู่ราชอาณาจักรไทยชื่อ เดอะคิงส์เนฟเวอร์สไมล์ (The King Never Smiles) เผยแพร่เพื่อให้ผู้อื่นเข้าไปดูและอ่านหนังสือต้องห้าม The king never smiles ที่ได้แปลเป็นฉบับภาษาไทย เมื่อมีผู้อื่นที่พบและเข้าไปที่ความเชื่อมโยง (link) ตรงข้อความดังกล่าว พบมีความเชื่อมโยงไปยังเว็บบล็อกบาทเดียว[ดอท]บล็อกสปอต[ดอท]คอม ของนายเลอพงษ์ ซึ่งใช้นามแฝงว่า นายสิน แซ่จิ้ว และใช้คำนิยามเกี่ยวกับตัวเองสั้นๆ และอ้างตัวเป็นผู้แปลหนังสือต้องห้ามดังกล่าว…""
 

พฤติการณ์การจับกุม

โจเคยให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า ในวัน 24 พฤษภาคม 2554 ที่พนักงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษมาจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดนครราชสีมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 20 นายมาที่บ้าน ตอนนั้นเขาเพิ่งออกจากห้องน้ำด้วยผ้าเช็ดตัวเพียงผืนเดียวเขาบอกเจ้าหน้าที่ว่าจะขอใส่เสื้อผ้าก่อนได้ไหม แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธและบอกให้เขานั่งลง จากนั้นก็ยึดเอาเงิน คอมพิวเตอร์ ฮาร์โดรฟ์ และโทรศัพท์ไป
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

8 ธ.ค. 54 ณ ห้องพิจารณาคดี 812 ศาลอาญา รัชดาภิเษก นายเทวัญ รอดเจริญ และน.ส.อุมาพร ภัทรวุฒิพร ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังค์เวลา 9.44 น. โดยมีผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นผู้อ่านคำพิพากษา ท่ามกลางสื่อมวลชนและประชาชนเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีราว 40 คน และมี Elizabeth Pratt กงสุลใหญ่จากสถานทูตสหรัฐอเมริกา และตัวแทนจากสถานทูตอีก 3 คนเข้าร่วมฟังการพิจารณา
 
นายเลอพงษ์ หรือ โจ ชายสัญชาติไทย-อเมิรกัน ถูกกล่าวหาโดยพันเอกวิจารณ์ จดแตง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และนายเกริกไชย ศรีศุกร์เจริญ กรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งข้อกล่าวหาต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ว่าเป็นเจ้าของบล็อกชื่อ บาทเดียว[ดอท]บล็อกสปอท[ดอท]คอม และใช้ฉายาว่า สิน แซ่จิ้ว ซึ่งแปะลิงก์ให้ดาว์นโหลดคำแปลหนังสือ The King Never Smiles ไว้ในบล็อกส่วนตัว และยังมีส่วนในการแปลหนังสือดังกล่าว เขาถูกจับกุมเมื่อ วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 เป็นคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554
 
เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายโจประกาศไม่ขอต่อสู้คดี ศาลจึงสั่งให้ผู้คุมสืบเสาะพฤติกรรมเพิ่มเติม โดยได้ข้อมูลว่า นายโจอ้างตัวว่าไม่สนใจเรื่องการเมืองประเทศไทย ไม่ใช่สิน แซ่จิ้ว เจ้าของบล็อกที่บรรจุลิงก์ให้ดาว์นโหลดหนังสือ The King Never Smiles และไม่เคยดูหมิ่นเหยียดหยามพระมหากษัตริย์ องค์คณะผู้พิพากษากล่าวว่า คำให้การดังกล่าวขัดกับการรับสารภาพ ศาลจึงถามคำถามเดิมนี้ซ้ำอีกครั้ง นายโจยืนยันคำตอบตามที่เคยให้ไว้ ทำให้อานนท์ นำภา ทนายความของโจ จึงแจ้งต่อศาลว่า หากไม่นับกรณีที่ฟ้อง นายโจไม่เคยกระทำการดูหมิ่นเหยียดหยามพระมหากษัตริย์ จากนั้นนายโจได้ยืนยันว่า เป็นไปตามที่ทนายแจ้ง
 
ทั้งนี้ เนื่องจากในทางกฎหมาย ไม่มีการไม่ขอต่อสู้คดีโดยไม่รับสารภาพ คดีนี้จึงเท่ากับว่าจำเลยรับสารภาพ ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และมาตรา 116 (2) ฐานสร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร มาตรา 116 (3) ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันมีความผิดต่อความมั่นคง และมาตรา 14 (5) เผยแพร่ส่งต่อข้อมูลที่เป็นความผิด
 
ศาลตัดสินว่า เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี และริบของกลาง แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษลงเหลือ 2 ปี 6 เดือน
 

หมายเลขคดีดำ

อ.3328/2554

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นางอลิซาเบธ แพรตต์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้าร่วมฟังคำพิพากษา ณ ศาลอาญา ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวต่อการพิจารณาคดีที่มีคำตัดสินให้ลงโทษนายเลอพงษ์ 2 ปี 6 เดือนว่า ไม่ว่าจะอย่างไรมันก็ยังเป็นโทษที่หนักมากสำหรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

อ.สาวตรี สุขศรี นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้ว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพิสูจน์ชัดว่า หนังสือ The King Never Smiles มีเนื้อหาส่วนใดที่ผิดมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ทั้งนี้ การประกาศหนังสือต้องห้ามเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ซึ่งต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย แต่เล่มนี้ยังไม่เคยมีการประกาศตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ มีแต่คำสั่งตำรวจลอย ๆ เท่านั้น
6 ธันวาคม 2554 ดารัค พาราดิโซ โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีความเคารพอย่างสูงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั่วโลกและมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์"

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ยังลงข่าวดังกล่าว โดยพาดหัวว่า "ศาลไทยไม่มาตรฐานสหรัฐจี้ไทยเปิดเสรีภาพแสดงความเห็น"

จากข่าวข้างต้น ทำให้ในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม เผยแพร่จดหมายข่าวระบุ กรณีหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ซึ่งลงข่าวพาดหัวว่า "ศาลไทยไม่มีมาตรฐาน สหรัฐจี้ไทยเปิดเสรีภาพแสดงความเห็น" โดยรายละเอียดเนื้อข่าวเป็นคำสัมภาษณ์นางดารัค พาดิโซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการดำเนินคดีและการตัดสินคดีในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยว่า ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยระบุว่าการนำเสนอข่าวดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของศาลยุติธรรมและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม

จากการนำเสนอข่าวดังกล่าว ศาลยุติธรรมเตรียมทำหนังสือชี้แจงหลักกฎหมายและการดำเนินคดีของศาลยุติธรรมต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และทำหนังสือถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ และสำนักข่าวอื่นทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งออกมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงข้อเท็จจริงต่อไป

แหล่งอ้างอิง

สหรัฐฯเรียกร้องรัฐบาลไทยรับรอง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”, ผู้จัดการออนไลน์, วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๔ (อ้างอิงเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕)

ศาลไทยไม่มาตรฐานสหรัฐจี้ไทยเปิดเสรีภาพแสดงความเห็น, หนังสือพิมพ์โลกวันนี้, วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๔ (อ้างอิงเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕)

รายงาน: เปิดคำฟ้อง-บรรยากาศวันพิพากษา ‘โจ กอร์ดอน’ , ประชาไท, วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ (อ้างอิงเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕)

'โจ กอร์ดอน' ได้รับการอภัยโทษแล้ว ปล่อยตัวจากเรือนจำคืนวานนี้, ประชาไท, วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ (อ้างอิงเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕)

นับแต่ถูกจับกุมเมื่อ 24 พฤษภาคม 2554 โจปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาโดยทันที ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร
 
หลังการจับกุมตัว พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 โดยคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างเหตุว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ต้องใช้เทคนิคชั้นสูงเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ และเนื่องจากพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีรูปร่าง ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง หากได้รับการประกันตัวไปเกรงจะไปทำลายพยานหลักฐานอิเล็คทรอนิกส์ จึงขอคัดค้านการประกันตัว

กรมสอบสวนคดีพิเศษยังให้เหตุผลเพิ่มเติมเพื่อขอคัดค้านการประกันตัวเอาไว้ว่า พนักงานสอบสวนได้ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Laptop) ของนายเลอพงษ์ไว้ ซึ่งการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์จะต้องกระทำต่อหน้านายเลอพงษ์ จึงขอให้ศาลอนุญาตให้นำตัวนายเลอพงษ์มาควบคุมที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อทำการสอบสวนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษยังอ้างเหตุผลของการคัดค้านการให้ประกันตัวว่า คดีดังกล่าวเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท
 
ทนายของเขายื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวมูลค่า 1.7 ล้านบาท โดยอ้างสิทธิพื้นฐาน และยังระบุว่าโจมีโรคความดันเลือดและโรคเกาต์ที่ต้องการการรักษา ศาลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงและกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมีโทษสูง และเขาอาจทำลายพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
 
หลังจากพยายามขอประกันตัวต่อเนื่องเป็นจำนวน 8 ครั้ง ในวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันแรกของการนัดพิจารณาคดี โจตัดสินใจประกาศว่าเขาไม่ขอต่อสู้คดี ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลยแล้วรายงานต่อศาลภายใน 20 วัน และกำหนดวันพิพากษาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 แต่ด้วยเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทำให้วันพิพากษาถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 8 ธันวาคม 2554 
 
วันที่ 8 ธันวาคม 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  มาตรา 116 (2) และ(3) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) และ (5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
 
นับแต่วันจับกุมจนถึงวันพิพากษา โจถูกควบคุมตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลา 199 วัน หรือ 6 เดือนกับ 15 วัน
 
วันที่ 11 กรกฎาคม 2555 สำนักข่าวเอพีรายงานโดยอ้างคำพูดของ วอลเตอร์ บราวน์โนเลอร์ โฆษกของสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยว่า โจ กอร์ดอนได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว โดยถูกปล่อยตัวคืนวันอังคารที่ผ่านมา (10 ก.ค.) ทั้งนี้ ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนสำหรับการอภัยโทษครั้งนี้ แต่โฆษกสถานทูตฯ กล่าวว่าทางการสหรัฐได้กระตุ้นทางการไทยอย่างสม่ำเสมอในเรื่องมาตรฐานเสรีภาพการแสดงออกตามหลักสากล
 
ทนายความของโจ กอร์ดอน ให้สัมภาษณ์เอพีด้วยว่า นายโจอาจมีแผนเดินทางกลับประเทศอเมริกาภายในสองสามวันนี้ 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา