สำนักงานศาลปกครอง ฟ้อง สำนักข่าวอิศรา

อัปเดตล่าสุด: 14/12/2559

ผู้ต้องหา

สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ดิเรกฤทธิ์ เจนครอบธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

สารบัญ

ดิเรกฤทธิ์ เจนครอบธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองยื่นฟ้องสำนักข่าวอิศราข้อหาหมิ่นประมาทและนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่ข่าวผลการสอบวินัยจากเหตุ “จดหมายน้อย” ฝากการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งสถาบันอิศราซึ่งพัฒนาขึ้นมาจาก "ศูนย์ข่าวอิศรา" เดิมเป็นการรวมตัวของนักข่าวจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันอิศราจัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลและจัดการงานการอบรมพัฒนาทักษะรวมทั้งงานผลิตข่าวสาร ต่อมาได้เพิ่มการผลิตข้อมูลข่าวสารเฉพาะด้านเพื่อเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ คือ ข่าวเพื่อชุมชน และ ข่าวนโยบายสาธารณะ ซึ่งได้พัฒนาขึ้นเป็นสำนักข่าวอิศราเมื่อปี 2554 โดยรวมศูนย์ข่าวอิศราไว้ด้วยกัน และมีศูนย์ข่าวสืบสวนเพิ่มเติมขึ้นภายหลังด้วย
 
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการสถาบันอิศรา อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนและประชาชาติธุรกิจ 
ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย ระบุว่า สมัยที่ประสงค์เป็นหัวหน้าข่าวในกองบรรณาธิการในมติชน ประสงค์มีผลงานด้านข่าวเจาะที่โดดเด่น โดยมีบทบาทในการเปิดโปงข่าวเรื่องการทุจริต ส.ป.ก.4-01 ในปลายสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และยังทำข่าวเปิดโปงการทุจริตธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ (บีบีซี) ของกลุ่มนักการเมือง ซึ่งมี สุชาติ ตันเจริญ เป็นแกนนำ นอกจากนี้ ยังเปิดโปงเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ จำนวนเงิน 45 ล้านบาท ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพิกถอนสิทธิทางการเมือง พล.ต.สนั่น เป็นเวลา 5 ปี รวมไปถึงข่าวเจาะกรณีการซุกหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร
 
เสนาะ สุขเจริญ จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา ทำข่าวสืบสวนทีมเดียวกับประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ทั้งคู่สร้างชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่เป็นนักข่าวอยู่ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยเฉพาะข่าวเจาะเรื่องคดีซุกหุ้นของทักษิณ นอกจากนี้ เสนาะยังเป็นผู้เขียนหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองหลายเล่ม เช่น ข่าวสืบสวน ใต้พรมบ้านสมชาย
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า วันที่ 20 สิงหาคม 2557 เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เผยแพร่บทความหัวข้อ “ตุลาการ โวย สนง.ศาลปกครอง แถลงบิดเบือนผลสอบ จม.น้อยฝาก ตร.” โดยมีถ้อยคำในบทความว่า “ชี้ ดิเรกฤทธิ์ ไม่ได้โดนโทษเบาหวิว! แค่ภาคทัณฑ์ว่ากล่าวตักเตือน แต่อาจถึงขั้นทำผิดวินัยร้ายแรง ตามระเบียบราชการพลเรือน” และ “นอกจากนั้นการที่นายวิชัย รองประธานศาลปกครองสูงสุดอ้างว่านายดิเรกฤทธิ์ ได้ถูกพักงานแล้วเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงให้งดโทษภาคทัณฑ์ และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่เป็นความจริง”
 
ทั้งนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

2725/2557

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
29 เมษายน 2557 
สำนักประชาสัมพันธ์มีหนังสือรายงานต่อประธานศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับข่าวว่า ดิเรกฤทธิ์ เจนครอบธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ส่งจดหมายเขียนด้วยลายมือ 2 ฉบับ ถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย พันตำรวจเอกชูธเรศ ยิ่งยงดำรงสกุล (ขณะดำรงตำแหน่งพันตำรวจโท) ให้เป็นผู้กำกับการ เป็นผลให้ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยมีนายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ
 
ผลการสืบสวนสรุปได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่คนทั่วไปย่อมตำหนิติเตียน และยิ่งโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคดีพิพากษาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการ รวมถึงคดีพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย
 
นอกจากนี้ การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สำนักงานศาลปกครอง และเสื่อมเสียต่อศาลปกครองในฐานะที่สำนักงานเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในงานธุรการของศาลปกครอง เข้าข่ายมีมูลอันควรกล่าวหาว่าโจทก์กระทำการในเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิ ของสำนักงานศาลปกครอง 
 
การกระทำของโจทก์จึงมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยฐานฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมตามข้อ 10 (3) ของระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายปกครองว่าด้วยประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครอง พ.ศ.2555 โดยที่ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายปกครองว่าด้วยประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครอง พ.ศ.2555 ถือเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ การกระทำของโจทก์จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ ตามมาตรา 82(2) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติระเบียนข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  ทั้งยังเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 82(3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
 
19 สิงหาคม 2557 
ศาลปกครองออกประกาศข่าวครั้งที่ 57/2557 กล่าวสรุปแถลงผลการดำเนินการทางวินัยของดิเรกฤทธิ์ว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อห้ามทางจริยธรรมข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง โดยมีมูลอันควรกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัย “อย่างไม่ร้ายแรง”
 
20 สิงหาคม 2557
เว็บไซต์ www.isranews.org เผยแพร่ข่าวสำนักงานศาลปกครองโดยอ้างว่า แหล่งข่าวระดับสูงของศาลปกครองเปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ข้อมูลที่ปรากฏในข่าวศาลปกครองนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในผลสอบของคณะกรรมการการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ข่าวดังกล่าวพาดหัวข่าวว่า ““ตุลาการ” โวย สนง.ศาลปกครองออกแถลงข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงผลสอบปม จม.น้อยฝาก ตร.” ซึ่งเปิดเผยข้อมูลว่า คณะกรรมาธิการสอบข้อเท็จจริงชี้ “ดิเรกฤทธิ์” ไม่ได้โดนโทษเบาหวิว! แค่ภาคทัณฑ์ว่ากล่าวตักเตือน แต่อาจถึงขั้นทำผิดวินัยร้ายแรงตามระเบียบราชการพลเรือน 
 
ข่าวดังกล่าวยังมีข้อความว่า “นอกจากนั้น หากการกระทำผิดตามมาตราดังกล่าวเป็นเหตุให้เสียหายราชการร้ายแรงตาม มาตรา 85(7) ระบุว่า ละเว้นการกระทำหรือการกระทำใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง”
 
25 สิงหาคม 2557 
เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม มอบหมายให้ ศิริพัฒน์ บุญมี ทนายความ ยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อ สถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา และเสนาะ สุขเจริญบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา ด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2540 เนื่องจากในการนำเสนอข่าวดังกล่าว ทางสำนักข่าวอิศราได้ระบุข้อความอันเป็นเท็จและขัดกับข้อเท็จจริงในหลายจุด อาทิในช่วงโปรยหัวข่าวที่ระบุว่า นายดิเรกฤทธิ์อาจถึงขั้นทำผิดวินัยร้ายแรงทั้งที่ความเป็นจริงผลสอบระบุว่า เป็นการกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง และให้ลงโทษเพียงการภาคทัณฑ์เท่านั้น รวมไปถึงเนื้อหาที่อ้างอิงถึง วิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุดก็มีข้อความอันเป็นเท็จ และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหลายจุดด้วยกัน ทั้งนี้ ศาลได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีดำที่ 2725/2557 แล้ว
 
27 สิงหาคม 2557 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศิริพัฒน์ บุญมี ทนายความได้รับมอบหมายจาก ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อจำเลยทั้งสามเป็นจำนวนเงิน 50 ล้านบาท และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำความผิดซ้ำที่สร้างความเสียหายต่อดิเรกฤทธิ์อีก เนื่องจากจำเลยยังมีพฤติกรรมเช่นเดิมหลังจากที่ยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาไปแล้ว 
 
ทั้งนี้ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ศาลแพ่งมีคำสั่ง สรุปใจความได้ว่า ให้จำเลยทั้งสามนำเนื้อหาหรือข้อความที่เกี่ยวกับตัวโจทก์ในหัวข้อข่าว "ตุลาการโวยสำนักงานศาลปกครองแถลงบิดเบือนผลสอบจดหมายน้อยแก่ตำรวจ" และเรื่องที่เกี่ยวข้องซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ www.isaranews.org ออกจากเว็บไซต์ดังกล่าว เนื่องจากข้อความหรือเนื้อข่าวเกี่ยวกับผลการสอบสวนทางวินัยของโจทก์ยังคงอยู่ และบุคคลภายนอกสามารถเข้าไปดูย้อนหลังได้ตลอดเวลา ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามยังคงกระทำละเมิดซ้ำการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง โจทก์อาจได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวมาใช้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) 
 
10 พฤศจิกายน 2557
นัดฟังคำพิพากษา
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่ศาลอาญา (รัชดา) ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามลงโฆษณาข้อความดังกล่าว ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3)
 
นอกจากนี้ เว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรายังเผยแพร่คำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ สรุปใจความสำคัญได้ว่า สำหรับข้อความที่บรรยายว่า “การที่นายวิชัย รองประธานศาลปกครองสูงสุด อ้างว่า นายดิเรกฤทธิ์ ได้ถูกพักงานแล้วเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สำนักงานศาลปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงให้งดโทษภาคทัณฑ์ และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่เป็นความจริง” เห็นว่า ข้อความดังกล่าวจำเลยทั้งสามได้นำมาจากข่าวศาลปกครอง ครั้งที่ 57/2557 ไม่ได้เป็นการเสนอข่าวอันเป็นเท็จหรือใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด คดีโจทก์จึงไม่มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
 
 
28 สิงหาคม 2557
 
เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยเห็นว่าการรายงานข่าวของจำเลย เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต และติชมด้วยความเป็นธรรม มิใช่ข้อมูลปลอมหรือเท็จดังที่โจทก์อ้าง เนื่องจากมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง

คำพิพากษา

 
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามบทความที่ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่
 
โดยโจทก์อุทธรณ์ทำนองว่า การเสนอข่าวของจำเลยทั้งสาม ไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพราะโจทก์ก็มีหนังสือ 3 ฉบับ (จดหมายน้อย) ดำเนินการในทางวินัย สื่อมวลชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสืบสวนข้อเท็จจริง แต่กลับเสนอข่าวลงในเว็บไซต์ด้วยข้อความดังกล่าว มีการรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริง ก็ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง 
 
ศาลเห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลปกครอง ต่อมาผู้มีอำนาจแต่งตั้งได้พิจารณาการดำเนินการทางวินัยและโทษของโจทก์ สรุปได้ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง เห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์แต่มีเหตุอันควรงดโทษ จึงให้งดโทษและว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแทน สื่อมวลชนเช่นจำเลยทั้งสาม จึงได้ลงข้อความในเว็บไซต์ในส่วนแรกว่า “ชี้ ดิเรกฤทธิ์ ไม่ได้โดนโทษเบาหวิว แต่ภาคทัณฑ์ว่ากล่าวตักเตือน แต่อาจถึงขั้นทำผิดวินัยร้ายแรงตามระเบียบราชการพลเรือน”
 
ข้อความดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ติเตียนไม่พอใจในผลการพิจารณาทางวินัยแจงโทษของโจทก์ว่าเบาเกินไป ควรจะถึงขั้นผิดวินัยร้ายแรง
 
ส่วนข้อกล่าวหาที่สองตอนท้ายว่า “ให้งดโทษภาคทัณฑ์ และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ไม่เป็นความจริง” จึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการพิจารณาของโจทก์ โดยไม่เชื่อว่าจะมีการงดโทษภาคทัณฑ์ และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
 
จากข้อความทั้งสองส่วนนี้ ไม่มีข้อความใดเป็นการกล่าวร้ายใส่ความประจานโจทก์ตามความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไป สื่อมวลชนจึงมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ระบายความรู้สึกของตนที่ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาโทษของโจทก์ที่เบาผิดคาดให้สาธารณชนได้รับรู้ ถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต และติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3)
 
อีกทั้งข้อความทั้งสองส่วนนี้มิใช่ข้อมูลปลอมหรือเท็จดังที่โจทก์อ้าง เนื่องจากมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) 
 
คดีโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์จึงเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของโจทก์ก็ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา