“เนส”: เผยแพร่แถลงการณ์ปลอม

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

“เนส” ชื่อจริง คือ กฤษณ์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้

สารบัญ

“เนส” นักศึกษาสาขาอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ถูกกล่าวหาว่า โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่แถลงการณ์พระราชวังปลอม เขาถูกจับเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2558 และถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5)

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี
 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

“เนส” เป็นชื่อเล่นของนายกฤษณ์ ขณะถูกจับอายุ 26 ปี เป็นนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 3  มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 
 
“เนส” เคยมีประวัติเคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม นปช.ในนามกลุ่มแดงเพชรบูรณ์ 
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

2 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 21.33 น. “เนส” โพสต์แถลงการณ์สำนักพระราชวังในเฟซบุ๊กโดยไม่รู้มาก่อนว่าแถลงการณ์นั้นเป็นแถลงการณ์ปลอม ซึ่งเนื้อหาของแถลงการณ์เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2550 มาตรา14 (5) 
 

พฤติการณ์การจับกุม

3 กุมภาพันธ์ 2558 เวลาประมาณ 02.00 น. เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และทหารจากค่ายพ่อขุนผาเมืองกว่า 20 นาย สนธิกำลังเข้าค้นบ้าน “เนส” ซึ่งขณะนั้นมี พ่อ แม่ และแฟนของ “เนส” อยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพและยึดโทรศัพท์มือถือไป 3 เครื่อง และคอมพิวเตอร์อีก 1 เครื่อง จากนั้น “เนส” ถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สภ.เพชรบูรณ์ ก่อนจะนำตัวไปที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) กรุงเทพมหานครในคืนเดียวกัน 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพฯ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นอกจากเนสแล้วก็มี นิรันดร์ ที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม นิรันดร์ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือนและได้รับการรอลงอาญา 3 ปี เช่นเดียวกับ "เนส" 

แหล่งอ้างอิง

ภาพ cover โดย Thanarak Khunton/ Bangkok Post

3 กุมภาพันธ์ 2558
 
เวลาประมาณ 02.00 น. เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และทหารจากค่ายพ่อขุนผาเมืองกว่า 20 นาย สนธิกำลังเข้าค้นบ้าน “เนส” ซึ่งขณะนั้นมี พ่อ แม่ และแฟนของ “เนส” อยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพและยึดโทรศัทพ์มือถือไป 3 เครื่อง และคอมพิวเตอร์อีก 1 เครื่อง จากนั้น “เนส” ถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สภ.เพชรบูรณ์ ก่อนจะนำตัวไปที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) กรุงเทพมหานครในคืนเดียวกัน 
 
4 กุมภาพันธ์ 2558 
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผบ.ตร.และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้ที่ทำแถลงการณ์ปลอมสำนักพระราชวัง ฉบับที่ 13 และมีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ได้แล้ว และตอนนี้เจ้าหน้าที่คุมตัวสอบสวนอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ 
 
5 กุมภาพันธ์ 2558 
 
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ  เปิดเผยภายหลังพบนายทหารพระธรรมนูญ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. มอบหมายให้มาดูแล “เนส” เนื่องจากทางนปช.และครอบครัวของเนสเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหลายประการ “เนส” จำเป็นต้องมีทนายความในการต่อสู้คดี ไม่เช่นนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่ได้ถูกบังคับหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่นายทหารพระธรรมนูญไม่อนุญาตให้เข้าพบ โดยแจ้งว่า เนสถูกควบคุมตัวอยู่ภายในการดูแลของทหารภายใต้กฎอัยการศึก เป็นเวลา 7 วัน
 
9 กุมภาพันธ์ 2558
 
เจ้าหน้าที่นำตัวเนสมาสอบสวนเพิ่มเติมที่ สน.ทุ่งสองห้อง
 
 
10 กุมภาพันธ์ 2558 
 
ประชาไท รายงานว่า ที่ศาลทหารกรุงเทพ ช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัว “เนส” มาขออำนาจศาลฝากขัง ต่อมา วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของเนสกล่าวว่า ศาลยกคำร้องคัดค้านการฝากขัง เพราะจำเป็นต้องสืบพยานอีก 10 ปากรวมถึงการตรวจสอบหลักฐานทางเทคนิค จึงให้ฝากขังผลัดแรก 12 วัน พนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัว แต่ทางครอบครัวของ “เนส” ยังไม่สามารถหาเงินสดหรือหลักทรัพย์มายื่นขอประกันตัวได้ ดังนั้นจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 
 
"เราคงต้องรอผลตัดสินเรื่องการปล่อยชั่วคราวของคู่คดีของเนส ว่าศาลท่านจะใช้ดุลยพินิจว่าอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการขอปล่อยชั่วคราวให้กับจำเลย เมื่อทางจำเลยสามารถหาหลักทรัพย์หรือเงินสดมาใช้ในการประกันตัวได้" ทนายความกล่าว
 
13 กุมภาพันธ์ 2558 
 
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ทนายความของ “เนส” ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลทหารด้วยหลักทรัพย์เงินสด 400,000 บาท ในวันเดียวกันศาลมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เดินทางมาในวันนี้ ศาลจึงไม่สามารถสอบถามข้อมูลได้ พร้อมทั้งศาลเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
 
17 กุมภาพันธ์ 2558
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ขณะนี้ "เนส" ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว โดยใช้เงินสด 400,000 บาท เป็นหลักประกัน
 
28 กรกฎาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
ประชาไท รายงานว่า เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลทหารกรุงเทพ นัดสอบคำให้การ "เนส" ผู้ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่แถลงการณ์ปลอม เรื่องอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ห้องพิจารณาคดี 1 
 
อัยการทหารแถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ เนื่องจากหากมีบุคคลอื่นมานั่งฟังการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ แต่ศาลวินิจฉัยว่า วันนี้เป็นเพียงการสอบคำให้การและอ่านคำฟ้อง ลักษณะเนื้อหาในคดีไม่น่าจะส่งผลกระทบใดๆ จึงให้พิจารณาคดีอย่างเปิดเผย 
 
หลังจากศาลอ่านฟ้อง "เนส"ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอสู้คดี ซึ่งศาลจะเริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 19 ตุลาคม 2558 เวลา 8.30 น.
 
หลังเสร็จกระบวนพิจารณา "เนส" เปิดเผยว่าเขารู้สึกกังวลใจ ไม่รู้ว่าผลจะออกมาในรูปแบบไหน เป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกนัก 
 
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลย เปิดเผยถึงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
 
เนื่องจากไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด โดยจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และจำเลยไม่รู้ว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์ปลอม จำเลยจึงสำคัญผิดว่าเป็นแถลงการณ์จริง ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีเจตนาในการเผยแพร่และไม่มีเจตนาละเมิดสถาบันฯ แต่เป็นการโพสต์เพื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งจำเลยไม่ทราบข้อเท็จจริง
 
เพราะเป็นเอกสารที่ทางประชาชนทั่วไปทราบได้ และจำเลยก็ไม่ได้เป็นคนกระทำเอกสารดังกล่าว อีกทั้งจำเลยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม จึงไม่ได้มีเจตนานำข้อความหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
 
วิญญัติกล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นนั้นจำเลยมีความมั่นใจว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม เนื่องจากเมื่อจำเลยไม่อาจทราบได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จและหากศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยากแก่ประชาชนโดยทั่วไปจะรู้ได้ว่าข่าวสารหรือข้อมูลนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ศาลย่อมยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด  
 
อย่างไรก็ตาม การที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารก็มีความน่ากังวล เพราะในสภาวะของการประกาศกฏอัยการศึก อาจทำให้กระบวนการพิจารณาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทหารต่างจากศาลพลเรือน
 
19 ตุลาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของ "เนส" ผู้ถูกกล่าวหาว่าแชร์แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม เรื่องอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเวลา 8.30 น.

บรรยากาศโดยทั่วไปที่ศาลทหารมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพราะในวันนี้ศาลนัดพิจารณาคดีปาระเบิดศาลอาญา และคดีระเบิดราชประสงค์ด้วย
 
ในชั้นสอบคำให้การเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 เนสให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอสู้คดี ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10.15 น. คดีนี้ศาลไม่สั่งพิจารณาลับ ผู้ติดตามของเนสจึงนั่งสังเกตการณ์พิจารณาคดีได้

ก่อนหน้าศาลจะขึ้นบัลลังก์ เนสเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพและได้ยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพให้ศาลก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลจึงถามย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าจะเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพใช่หรือไม่ "เนส" ให้การยืนยัน ศาลจึงให้งดการสืบพยานในคดีนี้
 
หลังเนสกลับคำให้การ ศาลพิพากษาให้จำคุก "เนส"ตามมาตรา 112 เป็นเวลา 5 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน และให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 3 ปี  
 
หลังการรัฐประหารและการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน ในความผิดทางอาญาบางประเภท คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของ "เนส" นับเป็นคดีที่ 2 ที่ศาลทหารให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย โดยคดีแรกที่ศาลทหารให้รอการลงโทษคือคดีของนิรันดร์ อดีตผู้ดูแลเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการ ที่ศาลมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558
 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือ มาตรา 112 จำคุก 5 ปี ลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน

เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี  พิจารณาจากอายุและพฤติการณ์แห่งคดีซึ่งจำเลยรีบเยียวยาแก้ไขความผิดในทันที ศาลจึงเห็นควรรอการลงโทษไว้ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสทำประโยชน์กับสังคมต่อไป
 
หมายเหตุ
 
เนื่องจากคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารในภาวะไม่ปกติ คำพิพากษาของศาลทหารจึงถือเป็นยุติ จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา