ชาญวิทย์: แจกใบปลิวที่ท่าน้ำนนท์

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

ชาญวิทย์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2551

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ชาญวิทย์เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการแจกใบปลิวที่มีข้อความพาดพิงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ท่าน้ำนนท์ เมื่อปี 2550 เขาถูกจับอีกครั้งในปี 2558 จากข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่ศาลอาญาและถูกรื้อฟื้นคดีเก่าขึ้นมาพิจารณาต่อ

ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาว่าชาญวิทย์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่ลดโทษทั้งที่ชาญวิทย์ให้การรับสารภาพ

 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ชาญวิทย์เป็นชาวควนขนุน จ.พัทลุง โดยกำเนิด เข้าศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2516 แต่เรียนไม่จบ เพราะเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการนักศึกษาในยุคนั้น ชาญวิทย์เคยถูกจองจำเป็นเวลา 7 เดือน หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เมื่อได้รับการปล่อยตัว ชาญวิทย์ก็เข้าป่าตามนักศึกษาที่หนีการปราบปราม และในช่วงเหตุการณ์พฤษภา 2535 ชาญวิทย์ก็เคยถูกควบคุมตัวที่เรือนจำคลองเปรมเป็นเวลา 3 วัน

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ชาญวิทย์ไปแจกใบปลิวที่ริมท่าน้ำนนทบุรี ระหว่างการปราศรัยของนักการเมืองสังกัดอดีตพรรคไทยรักไทย ที่เคยเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111  ใบปลิวดังกล่าวความยาว 5 หน้า เป็นการกล่าวถึงบุคคลในพระบรมวงศานุวงศ์ และอดีตนักการเมืองอย่างน้อย 13 คน รวมทั้งพลเอกเปรม และทักษิณ ในลักษณะคล้ายการทำนายโชคชะตาทางโหราศาสตร์ และวิเคราะห์พฤติกรรมในอดีต 
 
ในคำฟ้องของอัยการ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ชาญวิทย์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 4 กรรม จากการแจกใบปลิว 1 ชุด 
 
โดยการกระทำความผิด 4 กรรมนั้น นับตามจำนวนบุคคลที่ได้รับความเสียหาย คือ 1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2) สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ 3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ในฐานะรัชทายาท 4) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฐานะรัชทายาท

พฤติการณ์การจับกุม

ชาญวิทย์  ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 บริเวณปากซอยกิ่งแก้ว (ซอย 2) บางพลี ก่อนหน้านั้น นรภัทร หรือบาส บอกให้ชาญวิทย์ว่า ให้มารับเอกสารที่ซอยดังกล่าว ทราบภายหลังว่า บาสถูกทหารจับไปก่อนหน้านั้นแล้วและทหารบังคับให้บาสโทรมานัดชาญวิทย์ เพื่อทำการจับกุม  

ชาญวิทย์เดินทางมาถึงปากซอยกิ่งแก้ว ในเวลาประมาณ 19.00 น. เมื่อมาถึงครู่หนึ่งก็มีรถฟอร์จูนเนอร์ วิ่งมาจอด ใกล้ๆ ทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย ลงมาจากรถ ใช้กุญแจมือล็อกตัวชาญวิทย์จากนั้นจึงปิดตาแล้วนำตัวชาญวิทย์ขึ้นรถไป 
 
ทหารผู้จับกุมยึดทรัพย์สินของชาญวิทย์ไปด้วยหลายรายการ ได้แก่ กระเป๋า 1 ใบ โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง เงินสด 114,132 บาท  และเอกสารทางวิชาการ หลายฉบับ
 

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

517/2551

ศาล

ศาลจังหวัดนนทบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
9 มีนาคม 2558 
 
ชาญวิทย์ถูกจับกุม ที่ปากซอยกิ่งแก้ว ในเวลาประมาณ 19 นาฬิกา เพราะต้องสงสัยว่าพัวพันในกรณีระเบิดที่ศาลอาญารัชดา ทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย ควบคุมตัวเขาขึ้นรถฟอร์จูนเนอร์สีดำไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นค่ายทหาร เขาถูกสอบสวนโดยทหารในคืนเดียวกับที่ถูกจับกุม ประเด็นที่เจ้าหน้าที่สอบสวนคือเรื่องการวางระเบิดและเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เจ้าหน้าที่ถามเรื่องหมายจับคดี112 ซึ่งออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรี ในปี 2550 ด้วย 
 
คดีนั้นชาญวิทย์ถูกกล่าวหาว่าแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ระหว่างชุมนุมครั้งหนึ่งในปี 2550 ซึ่งชาญวิทย์หนีประกัน จึงถูกออกหมายจับ 
 
10 มีนาคม 2558
 
เจ้าหน้าที่(ทหารหรือตำรวจ)ประมาณ 5-8 คน สอบถามเรื่องเกี่ยวกับ สถาบันพัฒนาประชาธิปไตย ระหว่างการสอบ ชาญวิทย์ถูกปิดตาโดยตลอด 
 
11 มีนาคม 2558 
 
พ.อ.วิจารณ์ จดแตง กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย เข้ามาสอบชาญวิทย์  โดยสอบเรื่องเหตุระเบิด และเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งให้ชาญวิทย์ลงชื่อในเอกสารด้วย ชาญวิทย์ตอบคำถามต่างๆโดยละเอียด การสอบครั้งนี้ ชาญวิทย์ไม่ถูกปิดตา
 
12 มีนาคม 2558 
 
เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาสอบสวนชาญวิทย์ 4-5 นาย แต่ไม่มีการบันทึกปากคำ 
 
13 มีนาคม 2558
 
เจ้าหน้าที่ประมาณ 10 คน ทำการสอบสวนชาญวิทย์ โดยนั่งเป็นโต๊ะครึ่งวงกลม ทุกคนแต่งกายนอกเครื่องแบบ การสอบส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งทัศนคติของชาญวิทย์ต่อสถาบัน โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนมีคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก
 
14 มีนาคม 2558 
 
ชาญวิทย์ถูกนำตัวมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันวางระเบิดศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558  
 
ชาญวิทย์ให้การปฏิเสธข้อหาร่วมกันวางระเบิด แต่รับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามมาตรา 112 ของศาลจังหวัดนนทบุรี
 
15 มีนาคม 2558 
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวชาญวิทย์มา แถลงข่าวที่ สน.นครบาล
 
 
16 มีนาคม 2558 
 
ชาญวิทย์ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในคดีระเบิดศาลอาญา
 
 
 2 เมษายน 2558 
 
นัดยืนยันตัวบุคคล
  
รถจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพพาตัวชาญวิทย์มาถึงศาลจังหวัดนนทบุรี ประมาณ 11.oo น. เจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์นำตัวชาญวิทย์ ไปที่ห้องขังของเรือนจำ โดยไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไป นอกจากทนายความ 
 
ทนายความเปิดเผยว่า ศาลใช้ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร้น ถ่ายทอดมาที่ห้องขัง เพื่อให้ชาญวิทย์ได้ยืนยันตัวบุคคล ชาญวิทย์ยืนยันว่า เป็นคนเดียวกับผู้ต้องหาในคดี 112 เมื่อปี 2550 เมื่อศาลถามเสร็จก็เสร็จสิ้นกระบวนการยืนยันตัวบุคคล สำหรับนัดต่อไปศาลยังไม่กำหนดวัน 
 
8 มิถุนายน 2558
 
ห้องพิจารณาคดีที่ 6 ศาลจังหวัดนนทบุรี นัดพร้อมสอบคำให้การ โดยในช่วงเช้ามีคดีอื่นๆพิจารณาความไปก่อน
กระทั่งประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวชาญวิทย์จากห้องควบคุมตัว มาที่ห้องพิจารณาความ 
แต่เนื่องจากทนายความของชาญวิทย์ยังมาไม่ถึง ศาลจึงเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นช่วงบ่าย
 
จากนั้นประมาณ14.20 น.ศาลขึ้นบัลลังก์ ศาลสอบถามว่า ชาญวิทย์ จะให้การในวันนี้ว่าอย่างไร ชาญวิทย์ให้การว่า ขอให้ศาลพิจจารณาเรื่องที่อัยการฟ้องมาทั้งหมด 4 กรรม เพราะตอนนั้นแจกใบปลิวแจกเพียงครั้งเดียว 
 
และหากจะอ้างตัวบุคคลที่ตนกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่ามีความเกี่ยวพันและคุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี จึงขอให้ศาลได้พิจารณาเรื่องนี้
 
ศาลกล่าวว่า เรื่องแจกใบปลิว แจกเพียงครั้งเดียวนั้นไม่ได้เกี่ยวกับการฟ้องกี่กรรม เพียงแต่ 4 กรรมที่อัยการฟ้องมานั้น ฟ้องตามตัวบุคคลที่กฎหมายนั้นคุ้มครอง
 
ต่อมาอัยการแถลงขอสืบพยานทั้งสิ้น 5 ปาก ส่วนทนายความของชาญวิทย์ขอสืบพยานเพียง 3 ปาก
 
นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 15 กันยายน 2558 และนัดสืบพยานจำเลย 16 กันยายน 2558
 
 
15 กันยายน 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลจังหวัดนนทบุรี นัดสืบพยานโจทก์ โดยในห้องพิจารณาคดี ที่ 3 นอกจากผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเเล้ว ยังมี เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง
มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

โดยศาลขึ้นพิจารณาความ ราว 10.00 น. โดยก่อนสืบพยาน ศาลถามคำให้การชาญวิทย์ ชาญวิทย์ให้การปฏิเสธในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่รับในข้อเท็จจริงว่าทำเอกสารใบปลิว ขึ้นมาจริง โดยทำเอง คิดเอง พิมพ์เอง ตามหลักวิชาที่ได้เรียนมา และแจกจ่ายเอง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ดาบตำรวจวิเวก ผู้จับกุม 
 
ดาบตำรวจวิเวกเบิกความถึง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 มีการปราศัยทางการเมืองที่ท่าน้ำนนท์ ตนได้รับคำสั่ง
จากผู้บังคับบัญชาให้ไปหาข่าว การกระทำผิดกฎหมายในสถานที่ปราศัย และเจอชาญวิทย์แจกใบปลิวได้รับแจก 1 ชุด สักครู่มีประชาชนที่ได้รับแจกพูดกันว่า ข้อความมีการหมิ่นฯ
จึงได้ลองอ่านเอกสารที่ได้รับแจก ก่อนจะพบว่าข้อความในเอกสารมีลักษณะการหมิ่นจริง จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จึงสั่งให้ติดตามตัวชาญวิทย์และจับกุม

จากนั้นทนายจำเลย ถามค้านถึง การปราศัยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ของอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย มีปราศัยโจมตีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี
และเบิกความถึง พยานอยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลา ไม่ได้เป็นคนจับกุมชาญวิทย์ แต่อยู่ในชุดจับกุมด้วย ขณะจับกุมชาญวิทย์ให้ความร่วมมือดี ไม่มีขัดขืน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พ.ต.ท.ประภาส 

พยานปากที่ 2 พ.ต.ท.ประภาส เบิกความถึงเอกสารที่ตรวจยึดมา จากจำเลย เช่น หนังสือ "ตีตนเสมอในหลวง",กรณีสวรรคต 2489 ของสุพจน์ ด่านตระกูล   
 
ก่อนที่ ทนายจำเลยจะถามค้านเรื่องวันที่ตรวจยึดมีการเปิดคอมพิวเตอร์ที่บ้านพักของชาญวิทย์ ส่วนข้อความในเอกสารที่แจกใบปลิวนั้น ไม่ได้อ่านโดยละเอียด

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.ท.ปิยะพงษ์ พนักงานสอบสวน 

พยานปากที่ 3 พ.ต.ท. ปิยะพงษ์ เบิกความว่า ตนได้รับแจ้งว่ามีผู้กระทำความผิด หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จึงให้มีการสอบสวนและสืบพยาน 2 ปาก โดยจากการสอบถามจำเลย พบว่าเบื้องต้น จำเลยยอบรับว่าทำขึ้นมาจริง
แต่ให้การปฏิเสธโดยบอกว่า ข้อความนั้นไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย และอิงจากเรื่องโหราศาสตร์

ทนายถามค้าน ในประเด็นเรื่อง สมเด็จพระเทพฯ ซึ่งปรากฎในเอกสารที่จำเลยทำขึ้น ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ตามเรื่องนี้

เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ ทั้ง 3 ปาก ศาลนัดสืบพยานจำเลยต่อในวันที่ 16 กันยายน 2558
 
16 กันยายน 2558
 
สืบพยานจำเลย
 
รถจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครนำตัวชาญวิทย์ มาถึงศาลจังหวัดนนทบุรี ประมาณ 9.55 น. พยานจำเลยวันนี้ มี 2 ปาก คือตัวชาญวิทย์เอง และ สุธาชัย ยิ้มประเสิรฐ อาจารย์คณะ
อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง ชาญวิทย์ จำเลย 

ชาญวิทย์เป็นพยานปากแรก เบิกความว่า เอกสารตามที่ถูกฟ้องนั้น ตนได้กระทำเอกสารนี้ขึ้นมาจริง ส่วนเนื้อหาจะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จริงหรือไม่นั้น คงเป็นประเด็นทางกฎหมายต้องชี้ขาดอีกที
 
ชาญวิทย์ เบิกความถึงประวัติส่วนตัวว่า จบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา เมื่อ ปี 2516 สอบเข้ามหาวิทยาลัย ได้คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยชาญวิทย์เป็น รุ่นที่ 9 จากนั้นได้เคลื่อนไหวทางการเมืองใน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อเนื่องกันในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ได้มีส่วนร่วมเคลื่อนไหว แต่ตอนนั้นถูกจับกุมกรณีมีอาวุธอยู่ในครอบครอง และศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาจำคุก 1 ปี 2 เดือน
 
หลังออกจากคุกคราวนั้นจึงเข้าร่วมกับศูนย์นิสิตนักศึกษาภาคเหนือและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2520
 
โดยขณะนั้นมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะออกจากการเคลื่อนไหวหลังประกาศที่ 66/23 ในสมัยรัฐบาล เปรม ติณสูลานนท์
 
ปี 2527 เขายื่นเรื่องกลับเข้าไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่สามารถเข้าเรียนต่อได้ จึงหันไปประกอบอาชีพตามปกติ โดยขายไอศกรีม ร่วมกับนักการเมืองสมาชิกพรรคพลังธรรม
 
ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ชาญวิทย์เข้าร่วมการเคลื่อนไหว กรณีเรียกร้องนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง และถูกจับกุมที่โรงแรมรอยัล รัตนโกสินทร์ วันที่ 18 พฤษภาคม 2535 และถูกนำตัวมาที่เรือนจำคลองเปรม 3 วัน ปี 2537 ทำงานอยู่โรงพิพม์และเป็นช่างตัดกระดาษอยู่ 2 ปี
ปี 2539 เคลื่อนไหวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และจากวิกฤติการณ์ปี 2540 จึงมาเคลื่อนไหวที่ศูนย์สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ
สัมพันธ์ โดยทำหน้าที่ติดตามกฎหมายจากรัฐสภา

ทนายได้ถามแทรก ถึงเรื่อง พอรัฐประหาร 2549 คิดอย่างไร จึงแจกใบปลิว ชาญวิทย์เล่าต่อว่า ที่ทำเอกสารขึ้นมีสาเหตุจากกรณีการปฏิรูปทั้งระบบของประเทศตามรัฐธรรมนูญ 2540 ในแนวทางระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ กับประชาธิปไตยไทย
 
ทนายถามถึงตอนแจกเอกสารมีเจตนาเพื่ออะไร ชาญวิทย์ชี้ว่า ต้องการทราบแนวคิดว่าระบบการสืบสันติวงศ์จะเป็นอย่างไร และรู้สึกว่าการเมืองของประเทศจะเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติเรื่องการสืบสันติวงศ์ 
 
ชาญวิทย์ เบิกความว่า สาเหตุที่หนีคดีในปี 2551 เพราะช่วงนั้นได้ไปประชุมทางการเมือง ประกอบกับ มีกระแสว่าตนจะถูกเพิกถอนประกันตัวในการนัดรายงานตัวครั้งที่ 2 จึงหลบหนีคดีไป ก่อนจะถูกจับกุมอีกครั้งในข้อกล่าวหาร่วมวางระเบิดที่ศาลอาญา รัชดา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 โดยคดีนี้ยังไม่มีกำหนดพิจารณา

อัยการถามค้านว่า ชาญวิทย์เคยเข้ารักษาอาการทางจิตหรือไม่
ชาญวิทย์ตอบว่า เคยเข้ารักษาอาการทางจิต เรื่องความเครียด ที่ โรงพยาบาลประสาทจังหวัดเชียงใหม่ เลยต้องลาพักการศึกษา กินยาอยู่ประมาณ 2-3 เดือน และเข้ารักษาตัวต่อ
ที่โรงพยาบาลประสาท จังหวัดสงขลา ตนศึกษาความรู้หลายด้านจึงเกิดความเครียด แต่ขณะนั้นก็เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆได้ อาการมาหายขาดจากระหว่างที่ติดคุกอยู่ 1 ปี ช่วงปี 2519 และมีอาการปกติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
 
อัยการถามว่า เอกสารที่พิมพ์มาทำให้บุคคลที่สาม ได้รับความเสียหายหรือไม่? ชาญวิทย์ ตอบว่า ไม่มีใครได้รับความเสียหาย
ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเป็นการประเมินสถานการณ์การเมืองขณะเปลี่ยนผ่าน ตนคิดว่าต้องการให้มีระบอบราชาธิปไตยภายใต้ประชาธิปไตย และการจัดการสถานะองค์พระประมุขให้เหมาะสม ตนต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ มีความมั่นคงขึ้น ส่วนเอกสารชิ้นนี้จะเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ อยู่ที่ศาลจะวินิจฉัย
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักประวัติศาสตร์ 

ช่วงบ่ายพยานจำเลยปากที่ 2 รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมาเบิกความในประเด็นเรื่องกฎหมาย
หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ว่า กฎหมายนี้เริ่มใช้ใน สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็แทบไม่ได้ใช้เลย และเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 รัฐธรรมนูญให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุด ห้ามประชาชนหมิ่นสถาบันฯ และระยะแรกมีการลงโทษเล็กน้อยให้เข็ดหลาบ กระทั่งเมื่อ พ.ศ.2520 เป็นต้นมา มีการแก้อัตราโทษให้สูงขึ้นกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยบริบทมาจาก
สมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร มีการใช้กฎหมายนี้ป้องกันสถาบันจากภัยคอมมิวนิสต์ โดยเนื้อหากฎหมายคุ้มครอง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
รศ.ดร.สุธาชัย เบิกความว่า แนวคิดเกี่ยวกับการตั้งรัชทายาทมีตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน มีการแต่ตั้งเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เจ้าฟ้าวชิราวุธ และวชิราลงกรณ์ เป็นสยามกุฎราชกุมาร(องค์รัชทายาท) ดังนั้นองค์รัชทายาทจึงมีเพียงพระองค์เดียว ตามกฎมณเฑียรบาล และไม่ได้ระบุให้ขัติยนารี เป็นองค์รัชทายาท

หลังเบิกความเสร็จ อัยการไม่ได้ถามค้าน จึงเสร็จสิ้นการสืบพยานจำเลย ทั้ง 2 ปาก  ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 1 ธันวาคม 2558 เวลา 9.00 น.
 
1 ธันวาคม 2558
 
 
ศาลจังหวัดนนทบุรี นัดฟังคำพิพากษาคดี ชาญวิทย์ ชาญวิทย์ถูกนำตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มายังห้องพิจารณาคดีที่ 3 เวลาประมาณ 10.00 น. โดยก่อนที่ชาญวิทย์จะเดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่าวันนี้ยังไม่อนุญาตให้คัดถ่ายคำพิพากษา เพราะยังเป็นเพียงฉบับร่าง

ศาลขึ้นบังลังก์เวลาประมาณ 10.15 น. หลังจากพิจารณาคดีอื่นๆ เสร็จแล้ว จึงเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีนี้ มีใจความว่า ชาญวิทย์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแจกใบปลิว 1 ชุด
 
โดยมีความผิดแยกเป็น 4 กรรม นับตามจำนวนบุคคลที่ได้รับความเสียหาย คือ 1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2) สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ 3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และ 4) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

ทั้งนี้ในชั้นสืบพยาน ชาญวิทย์เคยให้การไว้ว่าเป็นผู้แจกจ่ายเอกสารดังกล่าวจริง แต่ไม่เห็นว่าเนื้อหาในเอกสารมีข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และยังขอให้ศาลพิจารณาประเด็นที่ว่า องค์รัชทายาทที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ความคุ้มครองนั้น ครอบคลุมถึงพระองค์ใดบ้าง

ศาลเห็นว่า แม้ในใบปลิวจะมีข้อความดูหมิ่นหลายบุคคล แต่เป็นข้อความที่กล่าวในเอกสารฉบับเดียวกัน ดังนั้นถือเป็นการกระทำกรรมเดียว ทำให้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้วยหรือไม่ จึงพิพากษาว่าชาญวิทย์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โทษจำคุก 6 ปี

โดยบรรยากาศการพิจารณาคดีในวันนี้ มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน พี่ชายของชาญวิทย์ และเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี และขอจดคำพิพากษากลับไปด้วย

หลังฟังคำพิพากษาเสร็จ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวชาญวิทย์ขึ้นรถกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา