ชัชวาลย์: แพร่ภาพข่าวการชุมนุมต้านรัฐประหาร

อัปเดตล่าสุด: 08/08/2562

ผู้ต้องหา

ชัชวาลย์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เจ้าหน้าที่ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองพลทหารราบที่ 7 ส่วนแยก 1 จังหวัดลำพูน

สารบัญ

ชัชวาลย์ เป็นนักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ภาพข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร พร้อมเขียนคำบรรยายใต้ภาพว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” บนเว็บไซต์ manageronline อันอาจเป็นการปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

9 มิถุนายน 2558 ศาลทหารเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องเหตุผลสรุปความได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ชัชวาลย์ หรือ  ชัด ราชวงษ์  เป็นนักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน เริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่ปี 2528 แต่มาเริ่มจริงจังเมื่อปี 2542 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์บ้านเกิด ก่อนที่จะย้ายที่ทำงานมาอยู่เชียงใหม่เมื่อปลายปี 2542 ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์องค์กรหนึ่ง และทำข่าวให้หนังสือพิมพ์ต่างๆ อีกหลายสำนัก เมื่อสั่งสมประสบการณ์เต็มที่แล้วจึงย้ายมาอยู่ที่จังหวัดลำพูนเมื่อ ปลายปี 2547 โดยทำหน้าที่ส่งรายงานข่าวในพื้นที่จังหวัดลำพูนให้กับหลายสำนักข่าว เช่น ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวทีนิวส์, หนังสือพิมพ์บ้านเมือง รวมถึงก่อตั้ง หนังสือพิมพ์ชัดนิวส์  ขึ้นเมื่อ เดือนมิถุนายน 2547 
 

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

31 พฤษภาคม 2557 ชัชวาลย์ส่งรายงานข่าวไปยังศูนย์ข่าวของ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เป็นภาพผู้ชุมนุมใส่หน้ากากขาวและชูป้ายต่อต้านการรัฐประหารบริเวณอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นภาพที่ได้รับส่งตามมาทางไลน์จากเพื่อนอีกทีหนึ่ง 
 
ข่าวถูกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โดยนำไปรวมกับข่าวของจังหวัดเชียงใหม่ แต่เมื่อต่อมาภายหลังได้ทราบว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่มีความเข้าใจผิดเรื่องวันเวลาที่เกิดเหตุการณ์ ข่าวนี้จึงได้ถูกลบออกไปจากระบบออนไลน์แล้ว
 
ข้อกล่าวหาตามคำฟ้องระบุว่าชัชวาลย์ ถ่ายภาพเหตุการณ์ประท้วงของประชาชน พร้อมเขียนคำบรรยายใต้ภาพว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” แล้วเผยแพร่สู่เว็บไซต์ manager อันเป็นข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก เป็นการฝ่าฝืนประกาศของคสช.ฉบับที่ 18/2557 และอาจทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 1 มิถุนายน 2557 ไม่กี่ชั่วโมงหลังข่าวเผยแพร่ออกไป มีเจ้าหน้าที่ทหารไปวนเวียนดูบริเวณบ้านของชัชวาลย์ แต่ตอนนั้นชัชวาลย์ ออกไปทำข่าวภายนอกบ้าน เพื่อนบ้านได้โทรศัพท์แจ้งว่าทหารมาตามหา เย็นนั้นชัชวาลย์จึงเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ทหารที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตจังหวัดลำพูน หลังพูดคุยเบื้องต้นกับทหาร ชัชวาลย์ยอมรับว่าเป็นคนส่งภาพและข่าวนี้ไปเอง เขาจึงถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 
จากนั้น ชัชวาลย์ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา ก่อนถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องขังสถานีตำรวจ จนในช่วงเช้าวันที่ 2 มิถุนายยน 2557 จึงถูกนำตัวมาฝากขังยังศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ และถูกส่งตัวเข้าไปยังเรือนจำจังหวัดลำพูน 
 

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
1 มิถุนายน 2557
 
ไม่กี่ชั่วโมงหลังข่าวเผยแพร่ออกไป มีเจ้าหน้าที่ทหารไปวนเวียนดูบริเวณบ้านของชัชวาลย์ แต่ตอนนั้นชัชวาลย์ ออกไปทำข่าวภายนอกบ้าน เพื่อนบ้านได้โทรศัพท์แจ้งว่าทหารมาตามหา เย็นนั้นชัชวาลย์จึงเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ทหารที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตจังหวัดลำพูน หลังพูดคุยเบื้องต้นกับทหาร ชัชวาลย์ยอมรับว่าเป็นคนส่งภาพและข่าวนี้ไปเอง เขาจึงถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 
จากนั้น ชัชวาลย์ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา ก่อนถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องขังสถานีตำรวจ จนในช่วงเช้าวันที่ 2 มิถุนายยน 2557 จึงถูกนำตัวมาฝากขังยังศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ และถูกส่งตัวเข้าไปยังเรือนจำจังหวัดลำพูน 
ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำรวมเป็นเวลา 15 วัน ชัชวาลย์ยื่นขอประกันตัว 3 ครั้ง ครั้งแรกยื่นขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งข้าราชการของผู้ใหญ่บ้าน แต่ศาลไม่อนุญาต ครั้งที่สองยื่นหลักทรัพย์เงินสดจำนวน 1.2 แสนบาท แต่ศาลไม่อนุญาต ครั้งที่สามยื่นหลักทรัพย์เงินสด 4 แสนบาท จึงได้รับอนุญาตให้ประกันตัว 
 
7 กรกฎาคม 2557 
 
ชัชวาลย์ถูกนำตัวไปส่งฟ้องต่อศาล
 
2 กันยายน 2557
 
ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ นัดสอบคำให้การ โดยชัชวาลย์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
7 ตุลาคม 2557
 
นัดสืบพยานโจทก์ 2 ปาก
 
ที่ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ เวลา 8.30 น. อัยการศาลทหารมาศาล จำเลยและทนายจำเลยมาศาลเวลาราว 9.30 น. มีญาติและเพื่อนของชัชวาลย์ เข้าฟังการพิจารณาจำนวน 4 คน มีนายทหารที่ติดตามมากับพยานโจทก์ร่วมฟังการพิจารณาอีกด้วย  ก่อนหน้าที่ศาลจะนั่งบัลลังก์ ทนายของชัชวาลย์แจ้งกับผู้เข้าฟังการพิจารณาว่าศาลไม่อนุญาตให้จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี องค์คณะผู้พิพากษาคดีสามท่านขึ้นนั่งบัลลังก์เวลาประมาณ 10.30 น. 
 
พยานโจทก์สองปาก ได้แก่ พันตรีเทพฤทธิ์ ภักดีกุล ผู้ช่วยเสนาธิการฝ่ายกำลังพล กองพลทหารราบที่ 7 และเจ้าหน้าที่ทหารยศสิบเอกอีกหนึ่งปาก ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กองพลทหารราบที่ 7 โดยภายหลังการประกาศกฎอัยการศึกในเดือนพฤษภาคม 2557 นายทหารทั้งสอง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่ภาคสนามในกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองพลทหารราบที่ 7 ส่วนแยก 1 จังหวัดลำพูน ประจำการอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน มีหน้าที่ดูแลการจัดกองกำลัง และดูการข่าว ตามลำดับ ในพื้นที่จังหวัดลำพูนทั้งจังหวัด
 
พันตรีเทพฤทธิ์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวว่ามีผู้นำเสนอข่าวที่ไม่เหมาะสม เป็นข่าวเกี่ยวกับจังหวัดลำพูนที่มีลักษณะบิดเบือน จากสื่อ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ตนได้ดูข่าวแล้ว พบว่าเป็นข่าวชุมนุมประท้วงของประชาชนในลำพูน มีการชูป้าย no coup และแสดงออกออกทางการเมือง ผู้บังคับบัญชาได้จัดชุดลาดตระเวนไปดูทั้งบริเวณอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีและจุดสำคัญในจังหวัด ก็ไม่พบการชุมนุมตามที่มีการนำเสนอภาพข่าว ทั้งในวันที่ 31พฤษภาคม 2557 และ 1 มิถุนายน 2557 ข่าวดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เกิดความแตกแยก และขัดต่อประกาศคสช.ฉบับที่ 18/2557 เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ในข้อที่ 5 คือนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร
 
เมื่อได้เชิญตัว ชัชวาลย์ มาพูดคุยเบื้องต้นที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่ในระหว่างการพูดคุยด้วย ชัชวาลย์ยอมรับว่าเป็นผู้ส่งภาพและข่าวดังกล่าวไปให้ทาง ASTV ผู้จัดการจริง การพูดคุยไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรหรือให้ชัชวาลย์ลงลายมือชื่อไว้ ทางผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความผิดตามกฎหมาย ควรต้องดำเนินคดี จึงนำตัวชัชวาลย์ไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน 
 
ในช่วงที่ทนายของชัชวาลย์ถามค้าน ได้ถามตอนหนึ่งว่าหลังจากเผยแพร่ข่าวดังกล่าวออกไป ในจังหวัดลำพูนมีการชุมนุมประท้วงของประชาชนเกิดขึ้นหรือไม่ พันตรีเทพฤทธิ์เบิกความว่าไม่ได้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นอีก สถานการณ์ในจังหวัดลำพูนเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และไม่ได้ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์แต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ระบุชื่อว่าใครเป็นผู้เขียนหรือผู้ถ่ายภาพการชุมนุมประท้วงไว้ในตัวข่าวที่เผยแพร่ ทราบแต่ว่าเผยแพร่ทาง ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 
 
ด้านนายทหารยศสิบเอก ซึ่งทำหน้าที่หน่วยข่าว เบิกความเพิ่มเติมว่าเมื่อหน่วยข่าวเห็นข่าวที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์แล้วเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อไปยังศูนย์ข่าวของ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ และรับทราบว่าภาพข่าวดังกล่าวนั้น นักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูนเป็นผู้ส่งไป เจ้าหน้าที่จึงได้ติดตามตัว แต่การมาที่ศาลากลางจังหวัดลำพูนของชัชวาลย์นั้น เป็นการมาด้วยตนเอง ไม่ได้ควบคุมตัวมาแต่อย่างใด โดยตนไม่ได้เป็นผู้ซักถามชัชวาลย์ในระหว่างการพูดคุย และไม่ได้นั่งอยู่ด้วยโดยตลอด แต่ยืนยันว่าชัชวาลย์ยอมรับข้อกล่าวหาในระหว่างพูดคุย
 
ภายหลังการสืบพยาน อัยการศาลทหารแจ้งต่อศาลว่าจะนำพยานมาเบิกความอีกสองปาก จึงได้ตกลงนัดหมายกับฝ่ายจำเลย เพื่อสืบพยานปากที่เหลือดังกล่าว ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เวลา 8.30 น.
 
 
14 พฤศจิกายน 2557
 
ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 8.30 น.
 
เมื่อถึงเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลเรียกจำเลยขึ้นไปห้องพิจารณาคดีที่สอง โดยวันนี้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเรียกให้ผู้เข้าสังเกตการณ์คดีทุกคนเอาบัตรประชาชนมาเก็บไว้กับเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะขึ้นไปยังห้องพิจารณา
 
พยานปากเเรกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เเต่เนื่องจากติดภารกิจที่ศาลจังหวัดเลย ไม่สามารถมาเบิกความในวันนี้ได้ ศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนนัดสืบพยานปากเเรกไป เเละให้เบิกพยานปากต่อมา ได้เเก่ นาย สุวิชา เพียราษฏร์ 
 
สุวิชา เบิกความว่า ตนประกอบอาชีพเป็นบรรณณาธิการบริหาร ที่บริษัท ASTV มีหน้าที่จัดการดูเเลในกองบริหารให้เรียบร้อย โดยตนทำหน้าที่มาตั้งเเต่ปี 2548จนปัจจุบัน วิธีการส่งข่าว จะมีศูนย์ข่าวภูมิภาคในเเต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ มีนายศรีวัลย์ เป็นผู้กำกับดูเเลอยู่ ส่วนตนเองมีหน้าที่ดูผู้จัดการออนไลน์เเละส่วนของผู้จัดการด้วย 
 
สุวิชา เล่าวว่า ศูนย์ข่าวภูมิภาคมีหน้าที่ส่งข่าวไปยังส่วนบรรณาธิการภูมิภาคก่อนเเล้วค่อยส่งไปบรรณาธิการศูนย์ข่าวส่วนกลางก่อนจะถึงพยาน บรรณาธิการส่วนภูมิภาคมีอำนาจนำข่าวขึ้นหน้าเว็บไซต์ได้ โดยที่ไม่ต้องให้พยานอนุมัติอีกครั้งหรือเเจ้งให้ทราบก่อนก็ได้ ซึ่งข่าวโดยปกติบรรณาธิการบริหารก็ไม่ต้องลงไปอนุมัติอยู่เเล้ว นอกจากข่าวที่กระทบต่อสังคมหรือมีความสำคัญจึงจะต้องนำมาปรึกษาอีกทีก่อนขึ้นบนเว็บไซต์
สุวิชา เบิกความว่า ไม่รู้ว่าข่าวเป็นคดีนี้นักข่าวคนใดเป็นผู้ทำ ทราบเเต่เพียงว่า ส่งมาจากศูนย์ข่าวเชียงใหม่ เเละนักข่าวในส่วนภูมิภาคส่วนใหญ่มักเป็นนักข่าวพิเศษที่ทำงานเป็นชิ้นๆ ไม่ได้เป็นนักข่าวประจำโดยบริษัทจะจ่ายค่าทำข่าวเป็นรายเดือนให้นักข่าวโดยตรง ส่วนตัวไม่รู้จักจำเลยมาก่อน รู้เเต่ว่าเป็นนักข่าวพิเศษเท่านั้น 
 
สุวิชา เบิกความด้วยว่า ภาพที่ถูกฟ้องคดีนี้ บรรณาธิการส่วนภูมิภาคถอดข่าวเนื้อหาดังกล่าวออกในแล้ว หลังจากเผยเเพร่ได้เพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากเนื้อหาขัดกับทั้งข้อเท็จจริง ขัดทั้งประกาศคสช. ที่ 18/2557 ศาลบันทึกว่าพยานไม่ทราบว่าข่าวผิดประกาศของ คสช. ฉบับใด ส่วนผู้ที่เเจ้งให้ถอดเนื้อข่าวออก คือ บรรณาธิการส่วนกลาง เนื่องจากเห็นว่าข่าวดังกล่าวขัดประกาศ คสช.
 
ทนายจำเลยถามค้านว่า หากพยานรู้ว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็มีอำนาจพิจารณาว่าไม่ลงข่าวดังกล่าวใช่หรือไม่ พยานก็ยอมรับว่าใช่ เเละเบิกความต่อไปว่าก่อนที่จะเกิดเหตุดังกล่าว พยานเคยถูก คสช. เรียกไปปรับความเข้าใจมาก่อน เเละเบิกความอีกว่าเมื่อข่าวขึ้นบนเว็บไซต์เเล้วตนก็ไม่ทราบว่ามีใครมาเเสดงความคิดเห็นหรือเผยเเพร่ต่อในเเบบใด 
 
ศาลจึงเสร็จการพิจารณาเเละนัดสืบพยานโจทก์ในวันถัดไป คือวันที่ 6 มกราคม 2558                           
 
 
8 พฤษภาคม 2558
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 9 มิถุนายน 2558 เนื่องจากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนติดภารกิจ
 
9 มิถุนายน 2558
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ที่ศาลมลฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่  
ชัชวาลย์และภรรยาเดินทางมาถึงเวลาประมาณ 10.30 น.  เจ้าหน้าที่ศาลก็เชิญทั้งสองขึ้นไปที่ห้อง ศาลทหารเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 10.45 น. 
 
ศาลทหารมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง
 
ให้เหตุผลสรุปความได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
 
 
 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา