ประจักษ์ชัย: ยื่นคำร้องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

อัปเดตล่าสุด: 20/12/2562

ผู้ต้องหา

ประจักษ์ชัย

สถานะคดี

อื่นๆ

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดุสิต เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้

สารบัญ

19 กุมภาพันธ์ 2558 ประจักษ์ชัยเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่ทำเนียบรัฐบาล คำร้องที่เขายื่นถูกมองว่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เขาจึงถูกจับกุมตัว ญาติเชื่อว่าประจักษ์ชัยทำความผิดไปเพราะมีอาการทางจิต ประจักษ์ชัยถูกส่งตัวไปตรวจรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แล้วพบว่ามีอาการหลงผิดชัดเจน มีความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นโรคจิตเภท

ขั้นแรกศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากจำเลยวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ โดยให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท ต่อมาศาลไต่สวนแพทย์แล้วสั่งให้ยกคดีกลับมาพิจารณาต่อ คดีดำเนินไปอย่างเชื่องช้าที่ศาลทหารกรุงเทพ เป็นเวลานานกว่า 4 ปีเต็ม

ระหว่างที่การสืบพยานโจทก์ดำเนินไปถึงปากที่แปด ซึ่งเป็นปากสุดท้าย ประจักษ์ชัยเสียชีวิตลงด้วยโรคตับ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของเขาอยู่ก่อนแล้ว ขณะเดียวกัน คสช. ก็สั่งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีจึงโอนไปยังศาลอาญา และศาลอาญาสั่งจำหน่ายคดีในเดือนธันวาคม 2562

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ประจักษ์ชัย เป็นช่างขัดอลูมิเนียมที่โรงงานแห่งหนึ่งซึ่งเพื่อนของเขาเป็นเจ้าของ ขณะถุกจับกุมเขาอายุ 41 ปี ประจักษ์ชัยมีปัญหาสุขภาพเป็นโรคตับแข็ง

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ประจักษ์ชัยเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้าพบและยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่นำกระดาษมาให้ประจักษ์ชัยเขียนข้อร้องเรียน เมื่อประจักษ์ชัยเขียนเสร็จและนำส่งเจ้าหน้าที่ เขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทันทีเพราะข้อร้องเรียนของเขาถูกมองว่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  

พฤติการณ์การจับกุม

ประจักษ์ชัยถูกควบคุมตัวในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ทันทีที่เขายื่นข้อหนังสือร้องเรียน ประจักษ์ชัยถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต และได้รับการปล่อยตัวหลังการสอบปากคำ

เขาถูกจับตัวอีกครั้งในช่วงค่ำ ขณะที่เขากำลังเดินทางไปที่โรงงานเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดักรอและเรียกเขาลงจากรถสองแถว จากนั้นจึงนำตัวกลับไปทำประวัติและควบคุมตัวไว้ที่สน.ดุสิตในคืนเดียวกัน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

148 ก./2558

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14
 
มาตรา 14  ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นเสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด
 
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
 
กรณีที่ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาดังบัญญัติไว้ในวรรคก่อน ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้
 


 

 
 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
19 กุมภาพันธ์ 2558 
 
ประจักษ์ชัยเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาลและถูกจับกุมตัวสองครั้ง ครั้งแรกจับหลังเกิดเหตุไปสอบปากคำแล้วปล่อยไป ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะไปจับตัวเขาอีกครั้งในช่วงค่ำ ขณะที่ประจักษ์ชัยกำลังเดินทางไปทำงาน
 
22 กุมภาพันธ์ 2558 
 
ประจักษ์ชัยถูกพาไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพเป็นครั้งแรก
 
29 มีนาคม 2558
 
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังเป็นครั้งที่ 4 ต่อศาลทหารกรุงเทพ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าช่วยเหลือคดีโดยการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาเจ็บป่วยเป็นโรคตับแข็งเนื่องจากพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งมีอาการปรากฏชัดจนสังเกตได้ คือ ท้องบวม และมีเนื้องอกขนาดเท่ากําปั้นบริเวณสะดือ ตัวเหลืองตาเหลือง หากศาลอนุญาตให้ควบคุมตัวผู้ร้องไว้ในเรือนจํา ย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อทําให้อาการทรุดหนักลงได้ง่าย เนื่องจากสภาพสุขอนามัยในเรือนจําอันเป็นที่คุมขังไม่เหมาะแก่การรักษาพยาบาลอาการป่วย
 
นอกจากนี้ผู้ต้องหาในคดีนี้เคยมีประวัติการตรวจรักษาพยาบาลอาการทางจิตกับสถานพยาบาลมาก่อน แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีฐานะยากจน จึงมีความจําเป็นจะต้องได้รับการตรวจรักษาอาการทางจิตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากควบคุมตัวผู้ร้องไว้ต่อไปย่อมไม่เอื้อให้ผู้ร้องสามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล 
 
ในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ผู้ต้องหาได้ให้การเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีโดยละเอียดครบถ้วนไว้กับพนักงานสอบสวนแล้ว พยานหลักฐานคดีนี้ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและพนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวมและอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น ไม่มีเหตุใดที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก จึงไม่มีความจําเป็นใดอีกที่จะต้องควบคุมตัวไว้อีกต่อไป 
 
หากผู้ร้องต้องอยู่ในความควบคุมระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ย่อมจะเป็นการควบคุมตัวที่เกินจําเป็น 
 
แต่ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังประจักษ์ชัยต่อไป ขณะที่ญาติของประจักษ์ชัยไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เพราะไม่มีหลักทรัพย์
 
9 เมษายน 2558
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าเยี่ยมประจักษ์ชัยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และได้รับแจ้งว่า อาการโรคตับของประจักษ์ชัยทรุดลงจึงส่งตัวประจักษ์ชัยไปรับการรักษาและพักอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
 
15 ตุลาคม 2558 
ศาลนัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจอาการของจำเลยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีอาการวิกลจริตหรือไม่ และสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 (ดูในข้อมูลเพิ่มเติม)
 
ศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลา 13.45 น. อัยการทหาร ทนายความจำเลย และญาติของจำเลยมาฟังการพิจารณาคดี แต่ประจักษ์ชัยไม่ได้ถูกนำตัวมาจากเรือนจำ 
 
พ.ญ.วนัทดา ถมค้าพาณิชย์ แพทย์ผู้ตรวจรักษาประจักษ์ชัย เบิกความว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นแพทย์ชำนาญการพิเศษ ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ สังกัดกรมสุขภาพจิต เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจ ประเมิน วินิจฉัย และลงความเห็นอาการของจำเลยในคดีนี้ โดยประจักษ์ชัยถูกศาลทหารส่งตัวไปตรวจรักษายังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2558
 
พ.ญ.วนัทดาได้สัมภาษณ์และสอบถามประวัติพบว่า จำเลยมีอาการหลงผิดชัดเจน มีความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นโรคจิตเภท โดยจำเลยเชื่อว่าตัวเองเป็นเจ้าของพระบรมมหาราชวังและเป็นเจ้าของประเทศ และยังเชื่อว่าตัวเองเป็นในหลวงด้วย และประจักษ์ชัยยังมีลักษณะของการเรียบเรียงความคิดไม่ต่อเนื่อง คือ ความคิดไม่สามารถเป็นรูปร่างได้ ซึ่งอาการทั้ง 2 อย่างที่กล่าวมานั้น ถือเป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่ง เมื่อตอนที่ได้พบกับจำเลยครั้งแรกนั้น ดูเบื้องต้นก็สามารถทราบได้
 
การตรวจรักษาจำเลยได้ใช้ทีมตรวจวินิจฉัยหรือสหวิชาชีพมาลงความเห็นรวม 5 วิชาชีพ อันประกอบไปด้วย 1.จิตแพทย์ 2. พยาบาลจิตเวช 3.นักสังคมสงเคราะห์ 4.นักจิตวิทยาคลินิก 5.นักกิจกรรมบำบัด โดยได้ประชุมวินิจฉัยจากการสรุปข้อมูลแล้ว ลงความเห็นว่าจำเลยป่วยเป็นจิตเภท เนื่องจากจำเลยมีอาการทางจิตเรื้อรัง จากการตรวจสอบประวัติ พบว่าจำเลยมีประวัติอาการป่วยมา 16-17 ปี
 
เมื่อศาลถามว่า โรคนี้สามารถรักษาหายขาดได้หรือไม่ พ.ญ.วนัทดาอธิบายว่า อาการทางจิตเรื้อรังนี้อาจรักษาให้ดีขึ้นได้ แต่ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันจำเลยได้เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยนอก และได้รับยาต้านโรคจิตไปกิน อย่างน้อยต้องใช้เวลาหลักเดือนถึงจะรักษาให้อาการดีขึ้น พ.ญ.วนัทดายังกล่าวยืนยันด้วยว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยเข้ารับการรักษาครั้งล่าสุดนั้น ก็ยังพบว่ามีอาการทางจิตอยู่
 
อัยการทหาร ถามว่า การรับการรักษาให้ดีขึ้น คืออย่างไร และใช้เวลานานเท่าไร พ.ญ.วนัทดาตอบว่า อาการดีขึ้น หมายถึง ให้อาการหลงผิดนั้นหมดไป และสามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งกรณีของจำเลยในคดีนี้ เห็นว่าต้องใช้เวลาหลายเดือน อาจมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
 
พ.ญ.วนัทดา ตอบคำถามทนายจำเลยว่า โรคจิตเภทก็ไม่ต่างจากโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ก็คือมีหลายระดับ อาจจะหูแว่ว เห็นภาพหลอน ยืนนิ่งๆนานๆ พูดไม่รู้เรื่อง คิดไม่ต่อเนื่อง ส่วนการหลงผิดมีได้หลายอย่าง กรณีของจำเลยก็มีความคิดว่าตัวเองเป็นใหญ่เป็นโต กรณีที่มีอาการกว่า 10 ปีขึ้นไป โอกาสในการรักษาให้หายนั้นยาก
 
ทนายความจำเลยถามว่า เมื่อจำเลยมีอาการป่วยทางกายร่วมด้วย จะมีผลต่อการรักษาอาการทางจิตหรือไม่ พ.ญ.วนัทดาตอบว่า จะลำบากเรื่องการให้ยา เนื่องจากยาจิตเวชส่วนใหญ่มีผลไปทำลายตับ 
 
เมื่อทนายความจำเลยพยายามจะถามถึงประเด็นอาการโรคตับของจำเลย และประเด็นมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ศาลเห็นว่าเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับพยานปากนี้ จึงไม่อนุญาตให้ถาม ศาลได้กล่าวย้ำว่า ประเด็นไต่สวนในวันนี้คือ 1. จำเลยมีอาการทางจิตหรือไม่ และ 2. จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่
 
ศาลถามก่อนจบการไต่สวนในวันนี้ว่า จากอาการของจำเลยนั้น จำเลยควรต้องอยู่ในที่ที่เหมาะสมหรือไม่ พ.ญ.วนัทดาชี้แจงว่า หากได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลจะดีและเหมาะสมกว่า 
 
ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาในวันนี้ว่า จากผลการวินิจฉัยของแพทย์ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมีอาการวิกลจริตจริงและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงให้งดการพิจารณาคดีไว้และให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ให้จำเลยรักษาตัวในความดูแลของจิตแพทย์ต่อไป เมื่อหายวิกลจริตหรือสามารถต่อสู้คดีได้ ให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์รายงานให้ศาลทหารกรุงเทพทราบโดยเร็ว
เสร็จสิ้นการไต่สวน เวลาประมาณ 14.55 น.
 
หลังการไต่สวนเมื่อทราบว่าจากคำสั่งของศาลในวันนี้ จำเลยยังต้องถูกควบคุมตัวต่อเพื่อรับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และระหว่างนี้ต้องถูกควบคุมอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งเป็นเรือนจำที่อยู่ใกล้สถาบันฯ ทนายความจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายปล่อยตัวจำเลยจากการควบคุมตัวและไปรักษาตัวต่อที่บ้าน โดยอ้างเหตุว่าจำเลยมีอาการป่วยทางกายเป็นโรคตับ ซึ่งมาตรฐานการรักษาพยาบาลในเรือนจำไม่มีคุณภาพพอและอาจส่งผลเสียถึงชีวิตของจำเลยได้ จึงขอให้ศาลออกหมายปล่อยและมอบตัวจำเลยให้ครอบครัวไปดูแลต่อ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 วรรค 2 
 
ศาลนัดไต่สวนคำร้องให้ออกหมายปล่อยตัวจำเลย วันที่ 16 ตุลาคม 2558 เวลา 8.30 น.

 

16 ตุลาคม 2558
 
นัดไต่สวนคำร้องขอให้จำเลยอยู่ในความดูแลของญาติระหว่างการรักษาตัว

ช่วงเช้า ทนายยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 วรรค 2 ให้ส่งตัวจำเลยไปอยู่ในความดูแลของญาติ ในระหว่างที่ยังต้องเข้ารับการรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง 
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลา 12.10 น.วันนี้จำเลยไม่ถูกนำตัวมาที่ศาล ก่อนการพิจารณาเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้ทนายกับญาติเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ส่วนคนอื่นที่มาให้กำลังใจให้รออยู่ด้านนอก 
 
ศาลเริ่มการพิจารณาโดยถามว่าทนายจำเลยว่า จะยืนยันตามคำร้อง ขอให้ศาลออกหมายปล่อยตัวที่ยื่นไว้เมื่อวานหรือไม่ ทนายแถลงยืนยัน ศาลถามอัยการโจทก์แล้วไม่คัดค้าน ศาลอธิบายว่า คดีนี้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ซึ่งไม่ใช่การจำหน่ายคดีโดยเด็ดขาด ดังนั้นคดีนี้ยังอยู่ในอำนาจของศาล ถือว่ายังอยู่ระหว่างการพิจารณา หากจำเลยหายป่วยแล้วศาลสามารถยกขึ้นมาพิจารณาต่อได้ และศาลมีอำนาจให้ควบคุมตัวจำเลยไว้ก่อน ศาลจึงจะไม่มีคำสั่งให้ปล่อยตัว 
 
ต่อมาศาลถามว่า ทนายจำเลยจะยืนยันตามคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยให้อยู่ในความดูแลของญาติ หรือไม่ ทนายจำเลยยืนยัน ศาลถามอัยการโจทก์แล้วไม่คัดค้าน ศาลจึงให้นำผู้ที่จะเป็นผู้ดูแลจำเลยมาไต่สวน โดยให้เริ่มจากแม่ของจำเลย
 
เมื่อสร้อย แม่ของจำเลยเข้านั่งในคอกพยาน ศาลถามว่า พร้อมจะรับดูแลจำเลยหรือไม่ สร้อยพยักหน้า ศาลถามต่อว่าภูมิลำเนาปัจจุบันอยู่ที่ศรีสะเกษใช่หรือไม่ สร้อยพยักหน้า
 
หลังจากนั้นศาลเรียกสุภัสสร น้องสาวของจำเลยให้ยืนขึ้นที่ม้านั่งด้านหลัง และถามว่าเต็มใจจะดูแลจำเลยที่ป่วย และพร้อมจะพาไปรักษาทั้งโรคตับและโรคจิตใช่หรือไม่ สุภัสสรพยักหน้ารับ ศาลถามต่อว่าจะพาจำเลยไปพักรักษาที่บ้านในจังหวัดสมุทรปราการใช่หรือไม่ สุภัสสรพยักหน้ารับ
 
ศาลชี้แจงว่า ในคดีนี้ศาลยังมีอำนาจควบคุมตัวจำเลยอยู่ แต่จะให้น้องสาวดูแล ซึ่งต้องการหลักประกันในการปล่อยตัวจำเลยให้อยู่ในความดูแลของน้องสาว จึงขอให้ฝ่ายจำเลยยื่นขอประกันตัวเข้ามา ทนายจำเลยแถลงว่า ศาลมีอำนาจตามมาตรา 14 ที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยอยู่ในความดูแลของผู้ดูแลได้ โดยไม่ต้องมีหลักประกัน การใช้อำนาจนี้ไม่ใช่กระบวนการขอประกันตัว
 
ศาลชี้แจงว่า เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง ศาลพร้อมจะปล่อยตัวจำเลย แต่ก็อยากให้มีหลักประกันด้วย ทนายจำเลยจึงแถลงขอให้ศาลกำหนดหลักประกันโดยคำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจ และสภาวะการป่วยของจำเลยด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ครอบครัวของจำเลยมากจนเกินไป เพราะครอบครัวของจำเลยต้องไปกู้ยืมเงินมาสำหรับเป็นหลักประกัน 
 
หลังเสร็จการไต่สวน ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาทันทีในเวลาประมาณ 12.20 น.
 
ในช่วงบ่าย ทนายจำเลยยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินมูลค่า 100,000 บาท พร้อมคำร้องประกอบการขอประกันตัว ระบุถึงอาการป่วยโรคตับ และอาการป่วยทางจิตของจำเลย ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
 
ในช่วงเย็นญาติไปรอรับประจักษ์ชัยที่เรือนจำพิเศษธนบุรี แต่ไม่พบตัว เนื่องจากครั้งแรกที่ประจักษ์ชัยถูกฝากขัง เป็นการคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพียงแต่ต่อมาถูกส่งไปอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีเพราะอยู่ใกล้สถานที่สำหรับรักษาอาการทางจิต ศาลทหารกรุงเทพจึงส่งหมายปล่อยตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก่อน ประจักษ์ชัยจึงยังไม่ได้รับการปล่อยตัวในคืนนั้น
 
หลังการประสานงาน ประจักษ์ชัยได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษธนบุรีช่วงเช้าของวันที่ 17 ตุลาคม 2558 และน้องสาวรับตัวไปอยู่ในความดูแล
 
29 มีนาคม 2559 
 
นัดไต่สวนแพทย์
 
นัดนี้ศาลทหารเรียกจิตแพทย์เจ้าของไข้ซึ่งเป็นแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ มาเบิกความถึงรายละเอียดในรายงานตรวจวินิฉัยฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559
แพทย์เบิกความตอบคำถามศาลว่า ศาลทหารส่งตัวประจักษ์ชัยไปตรวจรักษาตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2558 และตรวจรักษาในฐานะผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 22-28 กรกรฎาคม 2558 หลังจากนั้นยังตรวจรักษาแบบผู้ป่วยนอกอีกหลายครั้ง กระบวนการตรวจของสถาบันกัลยาณ์ฯ จะมีคณะกรรมการวินิจฉัย 5 ฝ่าย คือจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก นักกิจกรรมบำบัดและนักสังคมสงเคราะห์ แต่ได้ตรวจประเมินอาการครั้งแรก20 สิงหาคม 2558
 
แพทย์เบิกความถึงการตรวจอาการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ว่าประจักษ์ชัยยังมีอาการหลงผิดอยู่ อาการหลงผิดนี้คือผู้ป่วยมีความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แม้ว่าจะมีบุคคลอื่นหรือหลักฐานมาแสดง
ซึ่งประจักษ์ชัยขณะนี้ได้รับยาต้านโรคจิตอยู่และสามารถรักษาหายโดยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะหายเมื่อไหร่ ขณะนี้ประจักษ์ชัยอาการดีขึ้นไม่มีอาการหูแว่ว สามารถควบคุมตนเองได้ และสามารถใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานเองได้ และสามารถรับรู้ขั้นตอนคดี เล่าเรื่องเกี่ยวกับคดี และสามารถต่อสู้คดีได้
 
ศาลอนุญาตให้ทนายความประจักษ์ชัยถามพยานเพิ่มเติม แพทย์เบิกความว่าตั้งแต่หลังตรวจอาการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 แล้วไม่ได้ทำการตรวจอีกจนกระทั่งถึงวันนี้จึงไม่ทราบว่าขณะนี้อาการของประจักษ์ชัยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าสู้คดีได้หรือไม่ตามที่ได้ประเมินไว้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์2559
 
ทนายถามแพทย์ว่าคนที่มีอาการหลงผิดต้องหลงผิดในทุกเรื่องหรือไม่ แพทย์ตอบว่าอาการหลงผิดนั้นไม่ต้องเป็นกับทุกเรื่องแต่เมื่อหลงผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วก็จะไม่เปลี่ยนแปลงความเชื่อ ส่วนอาการหลงผิดของประจักษ์ชัย เขายังคงมีความเชื่ออยู่เหมือนเดิมตามที่ประเมินอาการครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม2558 ซึ่งตามรายงานผลการตรวจวินิจฉัยในครั้งนั้นประจักษ์ชัยมีอาการทางจิตเรื้อรัง มีอาการหลงผิด โดยผู้เป็นโรคจิตเภทนี้เข้าข่ายเป็นผู้วิกลจริต
 
ภายหลังไต่สวนศาลเรียกโจทก์และจำเลยขึ้นถาม โจทก์แถลง ขอให้ศาลยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อ แต่ทางจำเลยมีคำร้องให้ขอเลื่อนการฟั่งคำสั่งรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการสู้คดีออกไปเนื่องจากเห็นว่าผลการตรวจอาการทางจิตของประจักษ์ชัยนั้นไม่ได้เป็นปัจจุบันและจำเลยยังป่วยด้วยโรคตับแข็งอีกด้วย จึงขอโอกาสเรียบเรียงข้อเท็จจริงและเหตุผลโดยละเอียดเป็นแถลงการณ์ประกอบดุลยพินิจในการทำคำสั่ง
 
ทั้งนี้ศาลเห็นว่าผลตรวจวินิจฉัยของแพทย์นั้นมีเอกสารราชการยืนยัน อีกทั้งประจักษ์ชัยยังได้รับการประกันตัวจึงสามารถเข้ารับการรักษาได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อและนัดจำเลยสอบคำให้การวันที่ 30 พฤษภาคม 2559
 
ทนายของประจักษ์ชัยตั้งข้อสังเกตว่าในบันทึกคำเบิกความของศาลไม่ได้บันทึกประเด็นสำคัญเอาไว้คือ แพทย์เบิกความตอบศาลด้วยว่าอาการของโรคจิตเภทเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง
 
30 พฤษภาคม 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ประจักษ์ชัยและทนายความเดินทางมาศาลในวันนี้ ศาลเริ่มพิจารณาคดีเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลอ่านคำฟ้องให้ฟังโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ประจักษ์ชัย เขียนข้อความบันทึกข้อร้องเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยศาลได้อ่านข้ามในส่วนของข้อความที่เขียน การกระทำดังกล่าวป็นการล่วงละเมิดและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมปากกาและกระดาษที่ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลางโดยเก็บรักษาไว้ที่ สน.ดุสิต

ศาลถามคำให้การว่า ประจักษ์ชัยจะให้การคดีนี้อย่างไร ทนายความยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา  โดยให้เหตุผลว่าตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนถึงขณะนี้จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท มีอาการหลงผิด อีกทั้งยังมีเชาว์ปัญญา(IQ) 74 ซึ่งเป็นระดับปัญญาทึบมาก ตามผลการตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งจะมีรายละเอียดอยู่ในชั้นพิจารณาและขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องของโจทก์ และขอให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน

อัยการทหารไม่คัดค้านคำให้การของจำเลย แต่คัดค้านคำร้องขอให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานโดยอ้างเหตุผลว่ามีพยานในคดีน้อย ทนายความแถลงต่อศาลว่าเนื่องจากเห็นว่ายังมีพยานและเอกสารที่ไม่ได้อยู่ในการครอบครองของจำเลยและยังมีเอกสารการรักษาอาการทางจิตทั้งก่อนก่อเหตุจนกระทั่งถึงหลังก่อเหตุ อีกทั้งยังต้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารมาใช้ประกอบการพิจารณาคดี ศาลได้อนุญาตให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 สิงหาคม 2559
 
24 สิงหาคม 2559
 
ประจักษ์ชัยเดินทางมาศาลพร้อมผู้ดูแล ทนายความ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ และสวีเดน มาร่วมด้วย
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.50 น. และถามทุกฝ่ายว่าวันนี้พร้อมตรวจพยานหลักฐานหรือไม่ ทนายของประจักษ์ชัยแจ้งว่า ยังขาดพยานเอกสารชิ้นสำคัญ คือ ผลการตรวจอาการทางจิตของประจักษ์ชัยที่ส่งหมายไปที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ให้ส่งเข้ามาในคดีแล้ว แต่ทางสถาบันฯ แจ้งว่ายังอยู่ระหว่างการรวบรวม วันนี้จึงยังมีเอกสารไม่ครบ  แล้วศาลจึงบอกว่า ให้นำหลักฐานชิ้นดังกล่าวเข้ามาในคดีเมื่อวันสืบพยานเลย วันนี้ขอให้ตรวจพยานหลักฐานเท่าที่มีไปก่อน เพื่อไม่ให้เสียเวลา
 
ส่วนที่ฝ่ายจำเลยระบุพยานว่าจะขอสืบพยานที่เป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย และเจ้าของโรงงาน แต่ยังไม่ได้ระบุชื่อนั้น ขอให้ระบุชื่อมาให้เรียบร้อยในวันนี้ก่อน หากประสานงานแล้วต้องเปลี่ยนแปลงภายหลังก็ให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม เพราะถ้าไม่ระบุชื่อวันนี้เกรงจะมีปัญหาภายหลัง
 
ศาลทหารสั่งให้ทั้งโจทก์และจำเลยนำพยานเอกสารให้อีกฝ่ายตรวจ และพักการพิจารณาคดีชั่วคราว
 
ศาลขึ้นบัลลังก์อีกครั้งเวลาประมาณ 11.00 หลังคู่ความตรวจพยานเอกสารต่างๆ เสร็จแล้ว ทนายจำเลยแถลงว่า ฝ่ายโจทก์อ้างพยานเอกสารลำดับที่ 22-23 เป็นคำให้การในชั้นสอบสวนของบุคคลต่างๆ แต่ไม่มีนำมาให้ตรวจในวันนี้ จึงขอแถลงโต้แย้งไว้ว่าฝ่ายจำเลยไม่มีโอกาสได้ตรวจก่อน หลังจากนั้นศาลให้ทั้งโจทก์และจำเลยแถลงแนวทางว่าจะสืบพยานคดีนี้อย่างไร
 
อัยการทหาร ฝ่ายโจทก์ แถลงว่า จะขอสืบพยานทั้งหมด 10 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา เจ้าหน้าที่ผู้จับกุม พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนจำเลยเขียนคำร้อง เจ้าหน้าที่ผู้ซักถามจำเลย พยานที่อ่านข้อความที่จำเลยเขียนแล้วเกิดความรู้สึก 4 คน พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา และพนักงานสอบสวน ฝ่ายจำเลยขอสืบพยาน 9 ปาก คือ ตัวประจักษ์ชัยเอง น้องสาว พี่สาว และมารดา ที่จะเบิกความเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของจำเลย แพทย์เจ้าของไข้ที่ตรวจวินิจฉัยประจักษ์ชัย เจ้าของโรงงานที่เป็นนายจ้างของประจักษ์ชัย นักวิชาการที่ทำงานเรื่องสิทธิของผู้ป่วยทางจิต 2 คน นักวิชาการด้านกฎหมาย 1 คน 
 
ศาลถามว่า มีพยานที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับข้อเท็จจริงกันได้บ้างหรือไม่ ทั้งโจทก์และจำเลยแถลงว่าไม่ยอมรับ ศาลย้ำว่า พยานทุกปากที่ระบุมานี้ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาล ไม่มีพยานที่ต้องส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น ไม่ต้องเดินเผชิญสืบ ไม่มีพยานที่อายุไม่เกิน 18 ปี จึงขอจบการตรวจพยานหลักฐานวันนี้ และหาวันสำหรับเริ่มสืบพยานปากแรก
 
ศาลแจ้งว่าวันนัดของศาลในเดือนกันยายน และตุลาคม เต็มหมดแล้ว พฤศจิกายนยังว่างอยู่เพียงสองวัน แต่คู่ความไม่ว่าง จึงตกลงวันนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกได้เป็นวันที่ 1 ธันวาคม 2559

 

1 ธันวาคม 2559

สืบพยานโจทก์

นัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.สุภัค วงษ์สวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม

ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.00 น. พยานในวันนี้ คือ พ.ต.ท.สุภัค วงษ์สวัสดิ์ ตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ผู้จับกุมจำเลยในวันเกิดเหตุ
 
พ.ต.ท.สุภัค เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 11.20 น. ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้รับแจ้งจากหน่วยที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์บริการประชาชน บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงานกพร.) จึงรีบเดินทางไปพร้อมชุดจับกุม พบจำเลยซึ่งมาติดต่อขอแจ้งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี โดยบริเวณที่จำเลยเขียนข้อร้องเรียนนั้นเป็นที่โล่งที่เปิดให้ประชาชนมาเขียนเรื่องร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีได้ 
 
พ.ต.ท.สุภัค เล่าว่า เมื่อไปพบจำเลย เห็นข้อความที่เขียนไว้ พิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้สอบถามเบื้องต้นจำเลยรับว่าเป็นคนเขียนข้อความดังกล่าวจริง หลังจากนั้นจึงแจ้งสิทธิและแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพาตัวไปยัง สน. ดุสิต เพื่อทำบันทึกการจับกุม 
 
พ.ต.ท.สุภัค ตอบคำถามทนายความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต มีหน้าที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยในสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น อาคารรัฐสภา สำนักงานกพร. และพระราชวังสวนจิตรลดา ช่วงเวลาเกิดเหตุนอกจากตำรวจ สน. ดุสิตแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมารักษาการในบริเวณต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยทหาร และส่วนราชการอื่นๆ มาร่วมกัน จำไม่ได้ว่าในวันเกิดเหตุมีการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ ทราบเพียงว่า คณะรัฐมนตรีจะมีประชุมทุกวันอังคาร
 
พ.ต.ท.สุภัค เล่าว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อได้รับแจ้งก็เดินทางไปสถานที่เกิดเหตุทันที ซึ่งในเวลาไม่ถึง 10 นาที เมื่อไปถึงจำเลยก็เขียนข้อความเสร็จแล้ว ในสถานที่นั้นยังมีประชาชนคนอื่นที่มาร้องทุกข์อยู่ด้วย และมีเจ้าหน้าที่ทหาร กับตำรวจหลายหน่วยประจำอยู่ที่นั่นด้วย เมื่อได้คุยเรื่องทั่วๆ ไปกับจำเลย ก็คุยได้ปกติ แต่เมื่อคุยถึงเรื่องพระมหากษัตริย์จำเลยจะพูดจาทำนองเกลียดชัง ทนายความถามว่า จำเลยพูดว่าจริงๆ แล้วตัวเองเป็นกษัตริย์และพระราชวังเป็นของจำเลยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุภัคตอบว่า ไม่ได้พูด ซึ่ง พ.ต.ท.สุภัคเคยไปใหการกับคณะทำงานที่สอบสวนคดีนี้ว่า จำเลยให้การวกวน ไม่มีเหตุผล
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ อัยการทหารโจทก์ แถลงต่อศาลขอนัดสืบพยานต่อไปอีกสองนัด โดยนัดแรกขอนำพยานเข้าสืบสองปาก และนัดที่สองอีกหนึ่งปาก ทนายความขอให้ยืนยันว่า พยานสองคนที่จะมาเบิกความในประเด็นเดียวกันให้โจทก์นำพยานทั้งสองคนมามาสืบภายในนัดต่อไป หากสืบพยานไม่เสร็จให้สืบต่อในช่วงบ่าย ซึ่งตุลาการในคดีนี้ก็เห็นด้วยตามนั้น จึงตกลงนัดสืบพยานครั้งต่อไปเป็นวันที่ 17 และ 20 มีนาคม 2560
 
17 มีนาคม 2560 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ในวันนี้ศาลนัดสืบพยานเป็นวันที่สองโดยโจทก์มีกำหนดนำพยานเข้าสืบสองปาก ในห้องพิจารณาคดีนอกจากจำเลยแล้วก็มีทนายจำเลยและพี่สาวของจำเลยที่เป็นผู้ดูแลจำเลยอยู่ด้วย เนื่องจากช่วงเช้ามีฝนตกบริเวณโดยรอบศาลทหาร ประจักษ์ชัยจึงเดินเข้ามาศาลด้วยเสื้อผ้าที่เปียก และเนื่องจากประจักษ์ชัยใส่รองเท้าแตะมาศาล เจ้าหน้าที่บอกให้ถอดไว้ด้านนอกห้องพิจารณาคดี

ก่อนเริ่มการสืบพยานอัยการทหาร โจทก์แถลงต่อศาลว่า พยานทั้งสองปากที่จะมาเบิกความในวันนี้ได้รับการเลื่อนยศแล้ว ยศจริงกับยศที่ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานจึงจะไม่ตรงกัน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ร.ต.อ.ประสิทธิ์ มาชัยภูมิ ผู้ทำการจับกุม
 
ร.ต.อ.ประสิทธิ์เบิกความว่า ช่วงเกิดเหตุประจำอยู่ที่ศูนย์บริการประชาชน ในอาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน ทำหน้าที่ดูแลประชาชนที่มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 เวลาประมาณ 11.30 น. เห็นจำเลยเดินมาที่โต๊ะแลกบัตร ผ่านขั้นตอนการตรวจอาวุธ รับเอกสารคำร้องทุกข์จากทหาร แล้วไปนั่งเขียนบนโต๊ะที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมให้และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงคอยอำนวยความสะดวก 
 
ร.ต.อ.ประสิทธิ์เล่าว่าจำเลยเขียนแบบฟอร์มด้วยปากกาสีน้ำเงินที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ เมื่อจำเลยเขียนข้อความเรียบร้อยมีเจ้าหน้าที่ตำรววจเข้าไปขอตรวจสอบ จึงเห็นข้อความดังกล่าวและมาแจ้งให้ทราบ เมื่ออ่านดูแล้วถามว่าจำเลยเป็นคนเขียนหรือไม่ จำเลยตอบว่า เป็นคนเขียนด้วยลายมือตัวเอง จึงแจ้งผู้บังคับบัญชาและแจ้งให้ตำรวจจากสน.ดุสิตเข้ามาตรวจสอบ จากนั้นจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ แจ้งสิทธิและทำการจับกุม พร้อมทั้งยึดกระดาษคำร้องและปากกาสีน้ำเงินไว้เป็นของกลาง
 
เมื่ออัยการทหารถามถึงความเห็นต่อข้อความที่จำเลยเขียน ศาลกล่าวว่าเป้นความคิดเห็นส่วนตัวของพยาน ศาลจะไม่บันทึกให้
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ร.ต.อ.ประสิทธิ์ตอบคำถามทนายจำเลยว่า ทางเข้าประตูสำนักงานข้าราชการพลเรือน มีกล้องวงจรปิด แต่ที่ศูนย์บริการประชาชนซึ่งเป็นใต้ถุนเปิดโล่งและมีแผงเหล็กกั้นจะไม่มีกล้องวงจรปิด โดยในวันเกิดเหตุมีทั้งทหารและตำรวจในเครื่องแบบประจำการอยู่ มีตำรวจหญิงประมาณ 30 คน มีทหารประมาณ 15 คน สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการอยู่จะทำหน้าที่เป็นผู้แจกแบบฟอร์ม
 
ร.ต.อ.ประสิทธิ์ตอบทนายจำเลยด้วยว่า ขณะที่จำเลยเขียนแบบฟอร์มอยู่ห่างจากตนเองประมาณสามถึงสี่เมตรโดยในบริเวณนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงประจำการอยู่แต่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ไม่ได้ดูว่าจำเลยเขียนอะไรในแบบฟอร์มจนกระทั่งจำเลยเขียนเสร็จ

ร.ต.อ.ประสิทธิ์ตอบด้วยว่าไม่ทราบว่าในวันอื่นในเวลาหลัง 16.00 น. จำเลยจะเคยมายื่นคำร้องอีกหรือไม่แต่หลังเวลาดังกล่าวทางศูนย์บริการฯจะปิดทำการแล้ว ตลอดระยะเวลาสามปีที่ทำงานที่ศูนย์บริการแห่งนี้ ร.ต.อ.ประสิทธิ์ไม่ได้มาทำงานทุกวันโดยบางวันอาจลาหรือถูกสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ส่วนงานอื่น
 
อัยการทหารไม่ถามติง
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ ศาลสั่งให้นำพยานปากที่สามเข้าสืบต่อทันที
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ร.ต.ไกรสร ศรีสุวรรณ เจ้าหน้าที่ประจำการในที่เกิดเหตุ
 
ร.ต.ไกรสรเบิกความว่า รับราชการอยู่ที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11 กรมทหารปืนใหญ่ที่หนึ่งรักษาพระองค์ มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาในการรักษาความสงบเรียบร้อย 
 
ร.ต.ไกรสรเบิกความว่า ในวันที่ 19 กันยายน 2558 ซึ่งเป็น วันเกิดเหตุ ได้เข้าประจำการที่ศูนย์บริการรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่ใต้ตึก กพร. ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 ในเวลาประมาณ 10.30 น. เห็นจำเลยเดินเข้ามาที่ศูนย์บริการฯ เพื่อมาเขียนข้อความร้องทุกข์โดย ร.ต.ไกรสร เป็นผู้มอบแบบฟอร์มให้จำเลยนำไปกรอก พร้อมชี้ตัวจำเลยในห้องพิจารณา
 
อัยการทหารถามร.ต.ไกรสรว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อประจักษ์ชัยเข้ามาแล้วทำอย่างไรต่อ ร.ต.ไกรสรตอบว่า เมื่อแลกบัตรประจำตัวก็เดินมาที่โต๊ะรับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อรับแบบฟอร์ม เมื่อตนเองเอาแบบฟอร์มให้ประจักษ์ชัยก็เอาไปเขียนที่โต๊ะด้านหลังโดยใช้ปากกาสีน้ำเงินกรอกข้อความ
 
ร.ต.ไกรสรเบิกความต่อว่า ตนไม่ทราบว่าจำเลยเขียนข้อความว่าอะไร เพราะเมื่อจำเลยรับแบบฟอร์มไปแล้วก็ไม่ได้สนใจเพราะไม่ได้มีหน้าที่อะไรกับจำเลยอีก มาทราบอีกทีก็เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาบอกว่าจำเลยเขียนข้อความหมิ่นประมาทรัชกาลที่เก้า 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าม
 
ทนายจำเลยถามว่า ผู้ที่สั่งให้ ร.ต.ไกรสร มาปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ฯ คือใคร ร.ต.ไกรสรตอบว่า ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ ทนายจำเลยถามว่ามีหนังสือแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษรอ้างส่งต่อศาลหรือไม่ ร.ต.ไกรสรตอบว่า มีคำสั่งฝ่ายยุทธการเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ไม่ได้อ้างส่งต่อศาล 
 
ทนายจำเลยถามว่า พบจำเลยตอนไหน ร.ต.ไกรสรตอบว่าประมาณ 10.30 น. ตอนที่จำเลยมารับแบบฟอร์ม ทนายจำเลยถามต่อว่าระว่างที่จำเลยรับแบบฟอร์มได้พูดอะไรหรือไม่ ร.ต.ไกรสรบอกว่า ไม่ได้พูด ทนายจำเลยถามว่าจำเลยกรอกข้อความต่อหน้าร.ต.ไกรสรหรือไม่ ร.ต.ไกรสรตอบว่า ไม่ 
 
หลังจบการสืบพยานปากนี้คู่ความยืนยันกับศาลว่าจะสืบพยานต่อในวันที่ 20 มีนาคม 2560 ตามที่เคยนัดกันไว้
 
20 มีนาคม 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ในห้องพิจารณาคดีวันนี้นอกจากจำเลย และทนายจำเลยแล้วก็มีพี่สาวของจำเลยซึ่งเป็นผู้ดูแลจำเลยมาร่วมฟังการพิจารณาด้วย

ก่อนศาลขึ้นบัลลังก์เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าวันนี้พยานที่นัดไว้ไม่มาศาลแต่ให้ประจักษ์ชัยรออัยการทหารก่อนเพราะอัยการทหารติดพิจารณาคดีอื่นอยู่ อัยการทหารเข้ามาในห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.00 น.ซึ่งศาลขึ้นบัลลังก์หลังจากนั้นไม่นาน อัยการทหารแถลงว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาลเนื่องจากป่วย จึงขอเลื่อนไปสืบพยานปากนี้ไปก่อนและจะขอเลื่อนพยานลำดับถัดไปขึ้นมาสืบพยานก่อน และจะขอวันนัดศาล 2 นัด
 
อัยการทหาร ทนายจำเลย และศาล พยายามหาวันนัดร่วมกัน ศาลแจ้งว่าศาลจะว่างช่วงปลายเดือนมิถุนายนวันที่ 27-29 แต่ทนายจำเลยไม่ว่าง ทนายจำเลยพยายามจะขอเป็นช่วง 12-13 มิถุนายนแต่ศาลไม่ว่าง ส่วนเดือนกรกฎาคมศาลว่าง แต่ทนายจำเลยติดนัดพิจารณาคดีที่ศาลอื่น สุดท้ายคู่ความและศาลนัดวันว่างตรงกันในวันที่ 23 มิถุนายน และวันที่ 3 สิงหาคม 2560 
 
ทนายจำเลยแถลงขอให้นำพยานทั้งสองปากมาศาลในนัดหน้าเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลจึงนัดสืบพยานลำดับที่ 5-6 ในวันที่ 23 มิถุนายน 2560 และนัดสืบพยานลำดับที่ 3 ซึ่งไม่ได้มาศาลวันนี้ในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 
 
23 มิถุนายน 2560

นัดสืบพยานโจทก์วันนี้ ประจักษ์ชัยเดินทางมาศาลพร้อมกับ สุภัสสร น้องสาวที่เป็นผู้รับดูแลประจักษ์ชัยอยู่ ทนายความของจำเลย โจทก์ และพยานสองคนที่นัดไว้มาศาล ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.30
 
พยานโจทก์ปากที่สี่ พ.ต.ชัยเดช เกิดศิริ ผู้ให้ความเห็นต่อข้อความในคดี
 
พ.ต.ชัยเดช เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 36 ปี จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับราชการเป็นนายทหารพระธรรมนูญ กรมการพลังงานทหาร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 24560 ได้รับการติตต่อจากพ.ต.ท.อัคนีรักษ์ พนักงานสอบสวนสน.ดุสิตให้มาดูเอกสารที่เขียนโดยประจักษ์ชัย ข้อความที่ดูอ่านแล้วรู้สึกว่า เป็นข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน เพราะการเรียกร้องให้ปลดโดยใช้กำลังทหารนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง
 
พ.ต.ชัยเดช ตอบคำถามทนายความว่า ไม่ได้จบการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ เป็นเพียงคนที่มาให้ความเห็นในฐานะพยาน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีนี้ และไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ไม่ทราบว่า กฎหมายจะคุ้มครองผู้ป่วยทางจิตอย่างไร ส่วนขั้นตอนตามกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญานั้น จำไม่ได้ เพราะไม่ได้ใช้บ่อย เนื่องจากไม่ค่อยเจอผู้ต้องหาที่ป่วยทางจิต
 
ทนายความเอาเอกสารที่ประจักษ์ชัยเขียนให้ดู แล้ว พ.ต.ชัยเดช เบิกความว่า เอกสารที่เขียนไม่มีคำว่ารัชกาลที่เก้า แต่เข้าใจได้เพราะขณะนั้นมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว สิ่งที่จำเลยเรียกร้องไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศนี้ ในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ถ้าเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพอ่านแล้วก็จะไม่ทำตาม แต่เห็นว่า การเขียนแบบนี้ไม่เหมาะสม เมื่อทนายความถามว่า คนแบบไหนจะเขียนข้อความลักษณะนี้ พ.ต.ชัยเดช บอกว่า คนไม่ดี
 
ทนายความถามว่า เมื่อเห็นข้อความนี้แล้วสงสัยบ้างหรือไม่ว่า คนปกติไม่น่าจะเขียนเช่นนี้ พ.ต.ชัยเดชตอบว่า เห็นลายมือก็คิดว่าเป็นชาวบ้าน คิดว่าคนเขียนไม่น่าจะมีความรู้ถึงระดับปริญญาตรี แต่ไม่รู้ว่าสติสัมปชัญญะดีหรือไม่ ลายมือและลักษณะสำนวนไม่ใช่หนังสือราชการ ตอนลงชื่อเห็นว่ามีวงเล็บด้วย น่าจะเป็นชื่อเล่น ซึ่งปกติในหนังสือราชการจะไม่เขียนชื่อเล่น
 
พยานโจทก์ปากที่ห้า ส.ต.ท.ยืนยง อนันตะ ผู้ให้ความเห็นต่อข้อความในคดี
 
ส.ต.ท.ยืนยง อนันตะ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 29 ปี ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ป้องกันและปราบปราม สน.ดุสิต และเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 ได้รับการติดต่อจาก พ.ต.ต.อัคนีรักษ์ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ให้มาอ่านข้อความที่จำเลยเป็นคนเขียน ซึ่งเป็นข้อความที่เขียนลงบนกระดาษ เมื่ออ่านแล้วรู้สึกได้ว่าข้อความนี้เป็นข้อความดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย กษัติรย์ที่ประชาชนเคารพนับถือ
ส.ต.ท.ตอบคำถามทนายจำเลยว่า มิได้จบจากทางด้านนิติศาสตร์หรือภาษาศาสตร์ มิใช่ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสองด้านนี้  
 
ทนายความเอาเอกสารที่ประจักษ์ชัยเขียนให้ดู ส.ต.ท.ยืนยงบอกว่า พนักงานสอบสวนให้พยานอ่านเอกสารเพียงฉบับเดียว ไม่เคยได้รับมอบหมายให้สืบสวนหรือเกี่ยวข้องกับคดี ไม่ทราบถึงรายละเอียดข้อมูลการต่อสู้ในคดีนี้ เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเพื่อให้ประชาชนร้องเรียน ทนายความถามว่า ข้อความที่จำเลยเขียนเป็นการร้องเรียนให้แก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งใช่หรือไม่ ส.ต.ท.ยืนยง ตอบว่า เป็นคำขอความร่วมมือ 
 
เมื่อทนายถามถึงข้อความในวงเล็บในเอกสารว่าเป็นชื่อเล่น ซึ่งโดยปกติคำร้องทางราชการจะไม่เขียนชื่อเล่นไว้ ส.ต.ท.ยืนยง รับว่า ใช่ และเมื่อพิจารณาจากลายมือ ส.ต.ท.ยืนยง เห็นว่า ผู้เขียนน่าจะมีการศึกษาระดับมัธยม และเป็นชาวบ้านทั่วไป ทนายความถามว่า ข้อความที่จำเลยเขียนไม่มีทางเป็นจริงได้ใช่หรือไม่ และในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ใช่หรือไม่ พยานพยักหน้ารับ ว่า ใช่
 
ทนายความถามว่า ตามปกติพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดมักจะปิดบังซ่อนเร้นต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้รักษากฎหมายใช่หรือไม่ ส.ต.ท.ยืนยง ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยจึงได้ถามต่อไปว่า คนที่เขียนข้อความเช่นนี้ไปยื่นต่อหน้าทหารตำรวจน่าจะมีจิตไม่สมประกอบหรือไม่ พยานตอบว่าใช่

 

3 สิงหาคม 2560
 
วันนี้เป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อในปากที่ 6 คือ พ.ต.จำเนียร สุพิมล ทหารผู้ทำเอกสารเกี่ยวกับการจับกุมจำเลย จำเลยและทนายจำเลยเดินทางมาศาล แต่ก่อนเริ่มการพิจารณาอัยการทหาร ซึ่งเป็นโจทก์ แจ้งว่า พยานไม่มาศาลในวันนี้ เนื่องจากป่วย และพยานคนนี้เกษียณอายุราชการแล้ว อยู่ต่างจังหวัด ไม่สะดวกในการเดินทางมาศาล ซึ่งอัยการทหารอาจจะพิจารณาขอตัดพยานปากนี้
 
ทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้ว กำหนดวันนัดสืบพยานใหม่เป็นวันที่ 3 และ 22 พฤศจิกายน 2560 โดยจะนำพยานปากต่อไปเข้าสืบเลย
 
22 พฤศจิกายน 2560
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ศาลนัดสืบพยานโจทก์ต่อในวันนี้ จำเลยเดินทางจากบ้านที่จังหวัดศรีสะเกษมาศาลเพียงลำพัง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด: กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา 
 
กุลศิรินทร์ เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการตำแหน่งนักวรรณศิลป์ชำนาญการ ราชบัณฑิตยสภา มีหน้าที่รวบรวมความรู้จากการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับภาษาไทย เผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน ราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ทางภาษาไทย อนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ภาษาไทย 
 
กุลศิรินทร์ เบิกความว่า ราชบัณฑิตยสภาได้รับการติดต่อจากสน.ดุสิต เกี่ยวกับคดีนี้ และเลขาธิการราชบัณฑิตยสภามอบหมายให้ไปให้ความเห็น พนักงานสอบสวนจากสน.ดุสิตจึงมาหาเมื่อวันที่ 6 มีนาค 2558 เพื่อสอบปากคำในคดีนี้ ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาไม่มีอำนาจในการตีความถ้อยคำ เพราะการตีความต้องอาศัยบริบทที่เกี่ยวข้อง พฤติกรรมของทั้งผู้เสียหาย และผู้กล่าวหา รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนด้วย ซึ่งก็มีนานาทัศนะ ไม่อาจให้ความหมายในภาพรวมได้ สามารถทำได้เพียงอ้างอิงความหมายของคำตามที่ปรากฏในพจนานุกรม
 
ในการสอบสวนคดีนี้ กุลศิรินทร์ได้ ให้ความหมายของคำที่จำเลยเขียนไว้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว โดยอ้างอิงนความหมายตามพจนานุกรม
 
กุลศิรินทร์ตอบคำถามทนายความว่า ขณะที่ถูกสอบปากคำไม่เคยพบตัวจำเลย ไม่เคยพูดคุยกับจำเลยมาก่อน ไม่ทราบข้อต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติจิตเวช ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ซึ่งต่างกับด้านวรรณศิลป์ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และเมื่อให้การกับพนักงานสอบสวนก็เปิดพจนานุกรมและให้การไปตามนั้น ไม่มีการอ้างอิงนิยามของคำจากแหล่งอื่นอีก กุลศิรินทร์ ไม่ขอตีความและไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อประโยคที่จำเลยเขียน
 
กุลศิรินทร์เบิกความว่า ไม่ได้เป็นคณะกรรมการชำระพจนานุกรม และไม่ได้เป็นผู้บัญญัติคำศัพท์เหล่านี้ขึ้นเอง ตอนที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนได้เห็นเพียงข้อความที่พนักงานสอบสวนพิมพ์มาแล้ว แต่ไม่ได้เห็นฉบับจริงที่เป็นลายมือจำเลยเขียน เพิ่งทราบในวันนี้ว่า คำว่า "ขอขอบคุณ" ของจำเลยมีการใส่ไปยาลน้อยด้วย และกุลศิรินทร์เพียงให้ความหมายของคำบางคำ ไม่ได้ให้ความหมายของประโยคทั้งหมด
 
ระหว่างการถามค้านพยานปากนี้ใกล้จะเสร็จ ศาลได้เตือนทนายความจำเลยว่า ให้ถามคำถามเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็น อย่าออกนอกเรื่องมาก ซึ่งศาลก็พยายามอะลุ้มอะหล่วยและจดบันทึกให้ตลอด แต่ทนายความชุดนี้ในหลายคดี ชอบโต้แย้งและคัดค้านอยู่ตลอดทั้งที่ศาลพยายามอะลุ้มอะหล่วยแล้ว และขอให้ผู้ที่มาสังเกตการณ์ทุกคนอย่าจดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี แม้ทนายความจะขออนุญาตว่า บางคนเป็นเสมิียนทนายความที่มาช่วยจดบันทึก แต่ศาลแจ้งว่า ศาลไม่อนุญาตให้จด
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ อัยการทหารแถลงว่า โจทก์ยังเหลือพยานที่จะสืบอีก 3 ปาก และขอกำหนดวันนัดสำหรับการสืบพยานปากต่อไป ศาลกล่าวว่า อยากให้หาวันนัดสำหรับพยานทั้งสามปากไปเลย เพื่อให้การพิจารณาคดีนี้จะได้จบไปโดยรวดเร็ว ทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานกันเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561, 5 และ 23 มีนาคม 2561 โดยเบื้องต้นศาลเสนอให้กำหนดวันลอยๆ ไว้ก่อนโดยยังไม่ต้องระบุว่า พยานปากใดจะมาวันใด เผื่อว่า พยานบางปากไม่สามารถมาศาลได้จะได้สลับวันกัน แต่ทนายความจำเลยขอให้กำหนดวันไปเลยเพื่อจะได้เตรียมตัว โจทก์และศาลจึงตกลงกำหนดว่า พยานปากใดจะมาในวันใด แต่หากมีเหตุขัดข้องพยานไม่สามารถมาได้ ทางอัยการทหารโจทก์จะโทรศัพท์แจ้งกับทนายความภายหลัง
 
14 กุมภาพันธ์ 2561
 
ประจักษ์ชัยและทนายความเดินทางมาศาล เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์อัยการทหารลุกขึ้นแถลงว่า พยานที่นัดไว้ในวันนี้ คือ มินตรา ไม่ได้มาศาล เนื่องจากส่งหมายนัดไม่ได้ เพราะบ้านไม่มีผู้อยู่อาศัย แต่โจทก์ยังติดใจจะสืบพยานปากนี้อยู่ จึงขอเลื่อนไปสืบในนัดต่อไป ส่วนนัดหน้าตามกำหนดเดิมที่นัดไว้ ขอสืบพยานปากพ.ต.จำเนียร สุพิมล ก่อน 
 
ศาลถามฝ่ายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงให้เลื่อนไปสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 5 มีนาคม 2561
 
5 มีนาคม 2561

จำเลยและทนายจำเลยเดินทางมาศาล แต่โจทก์แจ้งว่า พยานโจทก์ไม่มาศาล เนื่องจากติดต่อไม่ได้ จึงเลื่อนไปสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 23 มีนาคม 2561
 
23 มีนาคม 2561 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
การสืบพยานโจทก์นัดนี้เป็นนัดที่เลื่อนมาจากการสืบพยานนัดวันที่ 5 มีนาคม 2561 ที่พยานโจทก์ไม่มาศาล อัยการทหารแถลงว่ายังไม่สามารถติดต่อพ.ต.จำเนียร สุพิมลพยานปากที่ตั้งใจจะสืบในนัดที่แล้วได้จึงจะขอข้ามไปสืบพยานปากอื่นก่อน และจะแถลงต่อศาลอีกครั้งว่าจะตัดพยานปาก พ.ต.จำเนียร หรือไม่
 
สืบพยานโจทก์ปากที่แปด: พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวน
 
พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเขารับราชการเป็นสารวัตรสอบสวนที่ สน.ดุสิต ยศในขณะนั้น คือ พ.ต.ท. เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสอบสวนจำเลยในคดีนี้

พ.ต.อ.อัคนีรักษ์เบิกความถึงวันเกิดเหตุว่า ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นเวลาที่มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร พ.ต.ท.สุภักดิ์ควบคุมตัวจำเลยจากศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาลซึ่งอยู่บริเวณใต้ถุนตึก กพร. มาส่งเพื่อให้เขาดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยนำแบบฟอร์มร้องทุกข์และปากกา 1 แท่งซึ่งเป็นของกลางมามอบให้ด้วย

พ.ต.ท.สุภักดิ์แจ้งพฤติการณ์ของคดีกับเขาว่า จำเลยเขียนข้อความร้องทุกข์ในลักษณะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯจึงการจับกุม
 
พ.ต.อ.อัคนีรักษ์เบิกความต่อว่ามีเจ้าหน้าที่ทหาร คือ พ.ต.จำเนียร มารับตัวจำเลยไปซักถามด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก เป็นเวลาสามวัน โดยใช้พื้นที่ของ สน.ดุสิต เป็นที่ซักถามและนำตัวจำเลยกลับมาส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งในวันที่ 22 กุมภาพันธ์พร้อมนำเอกสารบันทึกคำซักถามมามอบให้ด้วย

พ.ต.อ.อัคนีรักษ์เบิกความต่อว่าเขาทำการสอบสวนพยานอีกหลายปาก รวมทั้งจำเลย พ่อ แม่ และพี่สาวของจำเลยด้วย และได้สอบปากคำมินตรา นักศึกษาที่มาติดต่อราชการพอดี ซึ่งให้ความเห็นว่า ข้อความที่จำเลยเขียนเข้าข่ายดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย

อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า ฝ่ายโจทก์ไม่สามารถติดต่อให้มินตรามาเบิกความต่อศาลได้ จึงขอส่งบันทึกคำให้การของมินตรา ที่เคยให้การไว้กับพนักงานสอบสวนเป็นหลักฐานแทน
 
พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ เบิกความต่อว่าเขาได้ส่งสำนวนคดีนี้ให้คณะกรรมการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาแล้วซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นควรสั่งฟ้อง 
 
อัยการทหารแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ก่อนการถามค้าน ทนายจำเลยลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า คดีนี้ฝ่ายโจทก์เคยสอบปากคำพยานที่นำมาเบิกความต่อศาลในชั้นสอบสวนแล้ว แต่อัยการทหารไม่ได้ส่งคำให้การชั้นสอบสวนเข้ามาในสำนวนคดีด้วย มีเพียงคำให้การของพยานปากมินตราเพียงปากเดียวที่นำส่งเข้ามา

ทนายจำเลยแถลงต่อว่า ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ฝ่ายจำเลยได้ตรวจดูคำให้การพยานทั้ง 12 ปากในชั้นสอบสวนแล้ว พยานปากพ.ต.อ.อัคนีรักษ์ เป็นพนักงานสอบสวนผู้จัดทำบันทึกคำให้การเหล่านั้น ทนายจำเลยต้องการให้อัยการทหารส่งสำนวนคดีในชั้นสอบสวนเข้ามาเป็นหลักฐานเพื่อที่ทนายจำเลยจะใช้เป็นหลักฐานประกอบการถามค้านพยานปากนี้

เนื่องจากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ทั้งหมดจึงขอให้ศาลออกหมายเรียกให้โจทก์ส่งเข้ามาเป็นหลักฐานในคดีด้วย และขอให้เลื่อนการถามค้านออกไปก่อนจนกว่าจะได้เอกสารทั้งหมดมา
 
อัยการทหารแถลงคัดค้านว่า โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนมาเป็นหลักฐาน จึงไม่ได้ระบุบันทึกคำให้การเหล่านั้นไว้ในบัญชีระบุพยานหลักฐาน และโจทก์ยังได้นำพยานทุกปากมาให้ทนายจำเลยถามค้านแล้วด้วย ส่วนการออกหมายเรียกบันทึกคำให้การ ให้เป็นดุลพินิจของศาล 

ศาลพยายามอธิบายกับทนายจำเลยว่า เท่าที่พยานมาเบิกความต่อศาลก็เป็นข้อเท็จจริงที่เพียงพอแล้ว และฝ่ายจำเลยก็มีสิทธิซักค้านได้แล้ว แต่ทนายจำเลยยืนยันว่า ก่อนหน้านี้อัยการทหารเคยบอกจะนำส่งบันทึกปากคำพยานในชั้นสอบสวนให้ฝ่ายจำเลยระหว่างการสืบพยานปากพนักงานสอบสวน ฝ่ายทนายจำเลยก็รอเอกสารมาตลอดแต่สุดท้ายก็ไม่มีการนำส่ง
 
หลังจากนั้นศาลสั่งให้ทุกคนนั่งลงและพิจารณาข้อโต้แย้งของคู่ความประมาณห้านาที หลังจากนั้นอัยการทหารขออนุญาตศาลเข้าห้องน้ำ ศาลจึงสั่งพักการพิจารณาเป็นเวลาห้านาที
 
เมื่อศาลกลับขึ้นบัลลังก์อีกครั้งก็แจ้งกับคู่ความว่า จะออกหมายเรียกเอกสารให้ตามที่ฝ่ายจำเลยร้องขอ แต่ขอให้ทนายจำเลยเขียนเป็นคำร้องเข้ามาและระบุให้ชัดเจนว่า ต้องการให้ออกหมายเรียกเอกสารอะไรบ้าง หลังจากนั้นอัยการทหาร ศาล และทนายจำเลยจึงหาวันนัดที่ว่างตรงกันใหม่ เนื่องจากเดือนเมษายนและพฤษภาคม ศาลมีนัดพิจารณาคดีเต็มแล้ว สุดท้ายคู่ตกลงว่าจะถามค้านพยานปากนี้ต่อในวันที่ 25 มิถุนายน 2561
 
25 มิถุนายน 2561
 
ประจักษ์ชัย และทนายความเดินทางมาศาล จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.00 เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า พยานโจทก์ไม่สามารถมาศาลได้ในวันนี้ และขอให้เลื่อนไปสืบพยานนัดหน้า โดยหาวันว่างตรงกันได้เป็นวันที่ 3 กันยายน 2561
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เป็นเวลาสั้นๆ เพื่อแจ้งกับทั้งสองฝ่ายว่า นัดที่แล้วศาลจดรายงานกระบวนพิจารณา โดยลงหมายเลขเอกสารที่ยื่นให้ศาลผิดไป จึงขอแก้ไขใหม่ 
 
11 ธันวาคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลาประมาณ 09.30 น. คู่ความมาถึงห้องพิจารณาคดี 2 อัยการทหารแจ้งทนายจำเลยก่อนที่ศาลจะขึ้นบัลลังก์ว่า  พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพยานที่มีกำหนดมาเบิกความในวันนี้มีอาการป่วย ไม่สามารถมาศาลตามนัดได้

ทนายจำเลยแจ้งอัยการทหารว่าตัวเขาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 6 มีนาคม 2562 เขามีนัดสืบพยานอีกคดีหนึ่งที่ศาลทหารกรุงเทพ หากอัยการจะนัดวันสืบพยานคดีนี้ในช่วงต้นเดือนมีนาคมก็ขอให้นัดในสัปดาห์เดียวกันเพื่อจะได้เดินทางมาในคราวเดียว 
 
หลังคู่ความปรึกษากับหน้าบัลลังก์เรื่องวันนัดก็กำหนดสืบพยานนัดต่อไปร่วมกันในวันที่ 8 มีนาคม 2562  พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ เป็นพยานปากสำคัญในคดี ศาลสอบทนายฝ่ายจำเลยไม่คัดค้าน จึงให้มีการนัดสืบพยานต่อในวันที่ 8 มีนาคม 2562 
 
ในเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และเริ่มกระบวนพิจารณา อัยการทหารลุขึ้นแถลงต่อศาลว่า พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพยานโจทก์ที่มีกำหนดเข้าเบิกความในวันนี้มีอาการป่วยไม่สามารถมาศาลได้ แต่พยานปากนี้เป็นพยานปากสำคัญและทนายจำเลยยังถามค้านไม่แล้วเสร็จ จึงขอให้ศาลเลื่อนการสืบพยานนัดนี้ออกไปก่อนเพื่อให้พยานมาเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยต่อ ทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้านการขอเลื่อนนัด ศาลจึงสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานปากนี้ในวันที่ 8 มีนาคม 2562
 
8 มีนาคม 2562
 
ศาลนัดสืบพยานโจทก์ พ.ต.อ.อัคนีรักษ์ อัครพิน พนักงานสอบสวน เดินทางมาศาลและเบิกความจนจบการสืบพยานปากนี้ ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานปากต่อไป ซึ่งจะเป็นพยานจำเลยปากแรก ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 
 
 
19 กรกฎาคม 2562
 
ก่อนถึงวันนัดพิจารณาคดีพี่สาวของประจักษ์ชัยได้แจ้งให้ทนายความทราบว่า ประจักษ์ชัยเสียชีวิตแล้วจากปัญหาด้านสุขภาพของเขาเอง ทนายความจึงยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเนื่องจากจำเลยเสียชีวิต โดยแนบใบมรณบัตรเป็นหลักฐาน ซึ่งระบุว่า ประจักษ์ชัยเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 เนื่องจากเลือดออกในกระเพาะอาหาร
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.40 และแจ้งว่า ได้รับคำร้องแล้ว แต่ในคำร้องแนบสำเนาใบมรณบัตรมาไม่ถูกต้อง เนื่องจากใบมรณบัตรเป็นเอกสารราชการ ต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีศาลทหารกรุงเทพได้รับคำร้องไว้โดยที่ไม่มีอำนาจในการสั่งคำร้องนี้แล้ว เพราะต้องโอนคดีนี้กลับไปศาลปกติ จึงจะไม่สั่งจำหน่ายคดีในวันนี้
 
หลังจากนั้นศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณา มีรายละเอียดว่า วันนี้สร้อย ขุมคำ มารดาของจำเลยซึ่งนัดไว้ว่า จะมาเบิกความเป็นพยานไม่ได้มาศาล และตัวจำเลยก็ไม่ได้มาศาล โดยทนายจำเลยแจ้งว่า จำเลยได้เสียชีวิตแล้วพร้อมขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี ศาลได้แจ้งให้คู่ความทราบว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
 
จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้ และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรมและให้ทนายจำเลยยื่นสำเนาใบมรณบัตรที่มีเจ้าหน้าที่รับรองว่า ถูกต้อง ต่อศาลใหม่โดยเร็ว เพื่อรวบรวมส่งศาลยุติธรรมก่อนส่งสำนวนให้จ่าศาลถ่ายสำเนาสำนวนและเอกสารต่างๆ ทั้งหมด เก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย
 
กระบวนการพิจารณาวันนี้ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก็เสร็จสิ้น 
 
11 ธันวาคม 2562
 
ศาลอาญา (ศาลที่ใช้พิจารณาคดีพลเรือนตามปกติ) กำหนดนัดสืบพยานและฟังคำพิพากษา คดีที่โอนจากศาลทหารมายังศาลยุติธรรมพร้อมกันสามคดี รวมทั้งคดีของประจักษ์ชัยด้วย  
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในคดีของประจักษ์ชัย 
ทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว ศาลสอบถามอัยการโจทก์ว่า คัดค้านหรือไม่ โจทก์แถลงว่ายัง รอการแจ้งการตายของจำเลยจากพนักงานสอบสวน ซึ่งได้ประสานไว้ก่อนแล้ว แต่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับแจ้งผล และวันนี้ติดต่อพนักงานสอบสวนไม่ได้ ศาลเห็นว่ามีเหตุควรเลื่อนคดีไปเพื่อนัดสอบถามการตาย ในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 เวลา 9.00 น.
 
 
17 ธันวาคม 2562
 
ศาลอาญา ได้สั่งจำหน่ายคดีของประจักษ์ชัย ออกจากสารบบความอย่างเป็นทางการ

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา