ไมตรี: เผยแพร่คลิปหมิ่นประมาททหาร

อัปเดตล่าสุด: 04/06/2563

ผู้ต้องหา

ไมตรี

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ร.ต.อ.สงวน มีกลิ่น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาหวาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

สารบัญ

ไมตรีถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯหลังเผยแพร่วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างทหารกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นการเจรจาเกี่ยวกับกรณีที่มีชาวบ้านถูกตบในระหว่างทหารเข้าไปปฏิบัติการที่หมู่บ้านกองผักปิ้งในคืนส่งท้ายปี ไมตรีใส่ข้อความประกอบคลิปวิดีโอนั้นมีใจความตอนหนึ่งว่า 'ทหารตบเด็ก เยาวชนและคนแก่' 
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า จำเลยมีพยานทั้งเด็กและผู้สูงอายุมาเบิกความยืนยันกับศาลตรงกันว่า ในวันเกิดเหตุมีบุคคลสวมเสื้อเกราะเดินทางมากับรถเชฟโรเลตสีดำของเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาตบหน้า เมื่อมีชาวบ้านนำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยจึงนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพราะเข้าใจว่าเป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ไมตรี เป็นชาวลาหู่จากหมู่บ้านกองผักปิ้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่  เปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือ ซิมการ์ด และอุปกรณ์มือถืออื่นๆ ที่หมู่บ้านแกน้อย ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านกองผักปิ้ง   
 
ไมตรี จบการศึกษานอกโรงเรียนเทียบเท่าระดับชั้น ม.6 เคยทำกิจกรรมดนตรีกับกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน ปัจจุบันช่วยงานกลุ่มดินสอสี ทำโครงการ “พื้นที่นี้ดีจัง”  กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยทำหน้าที่ประสานงานในพื้นที่บ้านกองผักปิ้ง และเคยร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนไร้พรมแดน
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ไมตรี ถ่ายวิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างทหารกับชาวบ้าน กรณีที่ชาวบ้านหมู่บ้านกองผักปิ้งถูกบุคคลแต่งกายคล้ายทหารตบหน้า วิดีโอคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตและบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของไมตรี ไมตรีถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ทหารประจำฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย ที่เข้าไปปฏิบัติการได้รับความเสียหาย
 

พฤติการณ์การจับกุม

ร.ต.อ. สงวน มีกลิ่น พนักงานสอบสวน เรียกไมตรีเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำให้การที่สถานีตำรวจภูธรนาหวาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1676/58

ศาล

ศาลจังหวัดเชียงใหม่

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
31 ธันวาคม 2557 
 
เวลาประมาณ 20.00 น.  วัยรุ่นชาวไทใหญ่หนึ่งคน กับวัยรุ่นชาวลาหู่อีกหนึ่งคน ทะเลาะกันบริเวณที่เติมเงินมือถือ วัยรุ่นชาวลาหู่สู้ไม่ได้ วิ่งหนีกลับไปที่หมู่บ้านกองผักปิ้ง ส่วนวัยรุ่นชาวไทใหญ่ ไปคุยกับกลุ่มคนที่เข้าใจกันว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร และโกหกทำนองว่า วัยรุ่นชาวลาหู่เอามีดไปไล่ฟัน กลุ่มเจ้าหน้าที่จึงตามเข้าไปที่หมู่บ้าน 
 
ขณะนั้นมีชาวบ้าน 7 คน กำลังนั่งผิงไฟคุยกันอยู่บริเวณสนามในหมู่บ้าน ในจำนวนนั้นมีเด็กชายชั้นประถม วัยรุ่น และหญิงสูงอายุอีก 1 คน ชาวบ้านเห็นกลุ่มชายแปลกหน้า 5 คน แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ทหารครึ่งท่อน เดินทางเข้าหมู่บ้านโดยรถกระบะยี่ห้อเชฟโรเลต สีดำ 4 ประตู และมอเตอร์ไซต์อีก 1 คัน 
ชายคนหนึ่งในกลุ่มซึ่งสวมเสื้อกันกระสุน เดินเข้ามาไล่ตบหน้าชาวบ้านทีละคน แล้วพูดว่า “พี่มึงอยู่ไหน” ชาวบ้านมองเห็นหน้าคนที่ตบพวกเขาไม่ชัด เนื่องจากแสงไฟของรถส่องมาทางชาวบ้าน เด็กคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ด้วยและโดนตบรู้สึกกลัวจนร้องไห้และวิ่งหนีกลับบ้านไป
 
เมื่อเกิดเหตุการณ์ ชาวบ้านหลายคนในละแวกใกล้เคียงเริ่มออกมามุงดู และวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นาแส ผู้นำชุมชนเข้ามาดูเหตุการณ์ด้วย 
 
หลังจากนั้น ชายที่แต่งกายคล้ายทหารคนหนึ่งเล่าให้ชาวบ้านฟังว่า เกิดเหตุวัยรุ่นไทใหญ่ กับ ลาหู่ ทะเลาะและเอามีดไล่ฟันกัน พวกตนตั้งใจจะเข้ามาจับวัยรุ่นลาหู่ โดยเข้าใจว่าหนึ่งในคนที่นั่งอยู่เป็นวัยรุ่นลาหู่คนนั้น แต่ชาวบ้านที่กำลังล้อมวงกันอยู่นั้นยืนยันพวกตนไม่ใช่วัยรุ่นที่ชายผู้นั้นอ้างถึง
 
ประมาณ 10 นาทีต่อมา รถทหารเข้ามาในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบประมาณ 5 นาย เดินเข้ามาดูเหตุการณ์ ชายคนที่แต่งกายคล้ายทหารคนหนึ่งพุดขึ้นว่า “ที่มาเมื่อครู่ไม่ใช่ทหารนะ อย่าใส่ร้ายทหาร นี่ ทหารจะต้องใส่ชุดแบบนี้” ระหว่างนั้นชายกลุ่มแรกที่เข้ามาทำร้ายชาวบ้านยังคงอยู่ที่เดิม
 
เจ้าหน้าที่ทหารที่เพิ่งมา กล่าวกับชาวบ้านว่า “ไม่มีอะไรแล้ว กลับไปฉลองปีใหม่ได้แล้ว” ชายคนที่ทำท่าจดบันทึกพูดต่อว่า “พรุ่งนี้เช้า 9 โมง ให้ไปคุยกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านไทใหญ่ หมู่ 1” 
 
ชาวบ้านเชื่อว่าชายที่แต่งกายคล้ายทหารที่ทำร้ายพวกตนเป็น เจ้าหน้าที่ทหาร เพราะพวกเขาดูจะสนิทสนมกับทหารที่ตามมาภายหลัง นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาในหมู่บ้าน กลุ่มชายแปลกหน้าก็ไม่ได้ออกไปจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทหารเองก็มิได้ดำเนินการเอาผิดคนกลุ่มนั้น 
 
1 มกราคม 2558 
 
เวลาประมาณ 9.00 น. ชาวบ้านกองผักปิ้ง ประมาณ 50-60 คน นำโดยนาแส ผู้นำชุมชน รวมทั้ง ไมตรี เดินทางเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ทหารที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อไปถึงสถานที่พบเจ้าหน้าที่ทหารอยู่เพียง 1 นาย ไมตรีถ่ายวิดีโอเก็บภาพเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเดินทางมาพบทหารครั้งนี้ไว้ด้วย
 
ผู้นำชุมชนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่นำตัวกลุ่มคนที่เดินทางเข้าไปในหมู่บ้านและก่อเหตุตบหน้าชาวบ้านเมื่อวันก่อนออกมาพบ เจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าไม่มีคนตบหน้าชาวบ้าน และถามว่าใครเป็นผู้ตบหน้า การเจรจาใช้เวลา 4 ชั่วโมงเศษ 
 
การเจรจาเริ่มตึงเครียดมากขึ้นและไม่มีทีท่าจะหาข้อสรุปร่วมกันได้  ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารยืนยันว่าไม่ได้ทำ ไม่ได้ตบหน้าชาวบ้าน  ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านก็ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่รู้อยู่แล้วว่าใครเป็นคนทำ เพราะคนกลุ่มนั้นดูเหมือนมาด้วยกันกับทหาร 
 
วัยรุ่นไทใหญ่ที่เป็นคู่กรณีถูกตามตัวมาเพื่อมาชี้ตัวว่าใครเป็นคนตบหน้าชาวบ้าน แต่เขาก็กลัวและไม่กล้าชี้ตัว
 
ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าชุดบ้านนะเหนือ ได้กล่าวขอโทษชาวบ้าน แต่ชาวบ้านซึ่งเกิดอารมณ์ไม่พอใจการเจรจาก็ไม่ยินยอมจบเรื่อง ชาวบ้านยืนยันให้นำตัวผู้กระทำผิดมาขอโทษ ไม่เช่นนั้นชาวบ้านก็ขอเรียกร้องให้ทหารชุดที่มีปัญหากับชาวบ้านย้ายออกไปจากพื้นที่ และสับเปลี่ยนทหารชุดใหม่มาแทน เพราะทะเลาะกันไปแล้ว ไม่อยากให้อยู่ในพื้นที่อีก ทหารก็ไม่ยอม การเจรจาจึงล้มเหลว ไม่มีข้อตกลงใดๆ
 
หลังการเจรจา ชาวบ้านดูคลิปวิดีโอการเจรจาที่ไมตรีถ่ายไว้ และตกลงกันให้นำไปเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ไมตรีนำวิดีโอดังกล่าวมาโพสต์ที่หน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาในเวลาประมาณ 20.00 น.
 
2 มกราคม 2558
  
ในช่วงค่ำ ผู้ใหญ่บ้านบอกให้ชาวบ้าน ขอให้ลบวิดีโอคลิป และสอบถามว่าใครเป็นคนโพสต์ ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทหารกำลังตามหาตัวผู้โพสต์คลิป ไมตรีและชาวบ้านจึงลบคลิปดังกล่าวออก แต่ก็ทราบว่ามีคนแชร์ไปมากแล้ว
 
4 มกราคม 2558 
 
ทหารนัดชาวบ้านพูดคุยปรับความเข้าใจ ชาวบ้านรวมตัวที่ศาลา พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารเตรียมโต๊ะรับลงทะเบียน ให้ชาวบ้านทุกคนลงนามเข้าร่วมประชาคม เมื่อชาวบ้านเห็นว่าเป็นใบลงนาม “ประชาคม” จึงบอกว่าจะลงชื่อโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ไม่ได้
 
เจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าเป็นเพียงใบลงทะเบียนเพื่อนับว่ามีชาวบ้านร่วมกิจกรรมครั้งนี้กี่คนเท่านั้น และได้ขีดฆ่าคำว่า "ประชาคม" เปลี่ยนเป็น "ประชุม" ตามคำขอของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าลงชื่อ และขอลงชื่อภายหลังเข้าฟังข้อมูลในการประชุม 
 
ในที่ประชุม เจ้าหน้าที่ทหารอธิบายว่า การประชุมครั้งนี้ มาปรับทัศนคติชาวบ้าน เพื่อยืนยันว่าทหารยังสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนได้ หากประชาชนมีคำถามใด ๆ หรืออยากให้ทหารปรับตัวอย่างไรให้แสดงความคิดเห็นมา 
 
เด็กหนุ่มลาหู่ที่อ้างว่าถูกชายแต่งกายด้วยชุดทหารตบหน้ากล่าวทำนองว่า เหตุใดจึงไม่มีการนำตัวคนทำความผิดมาลงโทษ ทหารตอบว่าได้ทำการสอบสวนแล้วแต่ไม่พบว่าทหารเป็นผู้กระทำผิด 
 
หลังการประชุม ตำรวจแจ้งชาวบ้านว่า ทหารแจ้งความเอาผิดกับคนโพสต์คลิป ในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไมตรีและชาวบ้านราว 30 คน เดินทางไปสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรนาหวาย เจ้าหน้าที่ยอมรับว่ามีผู้แจ้งความจริง แต่ยังไม่ได้ติดตามเรื่อง กลุ่มชาวบ้านจึงแจ้งลงบันทึกประจำวันว่าเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ทหารตบหน้าชาวบ้านจริง และผ่านการเจรจาตกลงกันแล้ว โดยผู้นำชุมชนเป็นตัวกลางเจรจา แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงแจ้งความกันอีก
 
11 กุมภาพันธ์ 2558
 
ร.ต.อ.สงวน มีกลิ่น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาหวาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  เรียกตัวไมตรี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำให้การที่สถานีตำรวจภูธรนาหวาย พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น 
 
ไมตรีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียหาย แต่ขอไปให้การรายละเอียดในชั้นศาล ไมตรีได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน
 
26 มีนาคม 2558
 
พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาหวาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการ
 
7 พฤษภาคม 2558
 
พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ไมตรียื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 50,000 ศาลนัดพร้อมในวันที่ 3 สิงหาคม 2558
 
3 สิงหาคม 2558
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสอบคำให้การคดีไมตรี โดยไมตรีให้การปฏิเสธ จากนั้นทางอัยการโจทก์ ได้ขอพูดคุยเพื่อให้มีนัดสมานฉันท์คดี เพราะเห็นว่าการดำเนินคดีจะมีผลเสียทั้งสองฝ่าย ทางทนายแจ้งว่าจำเลยมีภาระที่ผูกพันกับชาวบ้าน มีสถานะเป็นตัวแทนชาวบ้านที่ถูกกระทำอยู่ จึงต้องกลับไปหารือถึงแนวทางคดีก่อน
 
ศาลเริ่มการพิจารณาคดีนี้ประมาณ 12.20 โดยอ่านคำฟ้องให้คู่ความฟัง และสอบถามคำให้การของจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 
 
อัยการยื่นพยานเอกสาร 3 รายการ และซีดีอีก 1 แผ่น พร้อมแจ้งต่อศาลว่าทางจะขอนัดสมานฉันท์ในคดีก่อน ขณะที่ฝ่ายจำเลยยื่นรายชื่อพยาน โดยไม่มีพยานเอกสาร โจทก์แถลงต่อศาลว่าประสงค์จะนำพยานมาสืบจำนวน 6 ปาก ฝ่ายจำเลย แถลงจะต่อสู้คดีว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามที่ข้อความตามฟ้องระบุ และการกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสุจริต โดยประสงค์จะขอสืบพยานจำนวน 14 ปาก
 
คู่ความนัดสมานฉันท์คดีวันที่ 10 กันยายน 2558
 
10 กันยายน 2558
 
นัดสมานฉันท์
 
ภายหลังเจ้าหน้าที่ทหารไม่ตอบรับคำขอนัดหมายเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพากเป็นการส่วนตัวของไมตรี จึงมีการนัดสมานฉันท์อย่างเป็นทางการต่อหน้าศาล โดยฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยและทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาศาล ส่วนฝ่ายโจทก์มีนายทหารพระธรรมนูญ และร.อ.พนมศักดิ์ กันแต่ง 
 
จำเลยเปิดเผยในภายหลังว่า ผู้พิพากษาผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยบอกให้จำเลยพิจารณาแต่เพียงว่าได้โพสต์ข้อความและภาพจริงหรือไม่ หากเป็นผู้โพสต์จริงย่อมมีความผิดตามกฎหมาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารยืนยันว่าผู้บังคับบัญชากำชับให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายเพราะการเผยแพร่ภาพและข้อความของจำเลยสร้างความเสื่อมเสียแก่กองทัพ ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่มาศาลชี้แจงว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจจะแถลงไม่ติดใจจำเลยหรือถอนคดีได้ การไกล่เกลี่ยจึงไม่มีข้อยุติ จำเลยจึงเห็นควรต่อสู้คดีเพราะเชื่อว่าไม่ได้ทำความผิดตามฟ้อง และเห็นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อชาวบ้านด้วย
 
เมื่อคู่ความไม่อาจไกล่เกลี่ยกันได้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่จึงนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2559 
 
2 กุมภาพันธ์ 2559

นัดสืบพยานโจทก์
ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อัยการ จำเลยและพยานโจทก์มาศาล อัยการชี้แจงว่าพยานโจทก์สามปากไม่สามารถเข้าให้การได้ในวันนี้ เนื่องจากเหตุติดภารกิจและไม่ได้แจ้งกับอัยการมาก่อน ศาลจึงบอกให้ติดตามทั้งสามคนมาให้การในวันรุ่งขี้น มิฉะนั้นจะออกหมายจับ
 
สืบพยานโจทก์ปากแรก: จ่าสิบเอกมานพ ปานวิเศษ ทหารที่อยู่ร่วมในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 และวันนัดเจรจา
 
จ.ส.อ.มานพ เบิกความว่า ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 พยานเป็นเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่ที่ฐานปฏิบัติการสำรองที่ 3 บ้านเจียจัน ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีภารกิจดูแลความมั่นคงและป้องกันยาเสพติด วันดังกล่าวขณะปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่านสกัดที่ถนนเส้นทางบ้านเมืองนะ-แกน้อย ได้รับคำสั่งทางโทรศัพท์จากร้อยตรีทวี พงษ์ยิ้ม ให้เข้าไประงับเหตุวัยรุ่นทะเลาะกัน ซึ่งมีการใช้อาวุธและความรุนแรง บริเวณหน้าร้านค้ากลางหมู่บ้านเมืองนะ ตนและพวกรวมสี่คนไปถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 19.30 น. เมื่อไปถึงพบว่ากลุ่มวัยรุ่นได้สลายตัวไปแล้ว สอบถามจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ความว่า มีการทะเลาะกันลักษณะนี้เป็นประจำ ภายหลังปรึกษากับพวกจึงเห็นควรนำวัยรุ่นทั้งสองกลุ่มมาเจรจาเพื่อปรับความเข้าใจกัน 
 
จ.ส.อ.มานพ เล่าต่อว่า ได้พบกับคาร์ฟ (ไม่ทราบชื่อสกุลจริง) วัยรุ่นชายชาวไทยเชื้อสายไทยใหญ่ หนึ่งในผู้ก่อเหตุ และสอบถามเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุคนอื่นจึงทราบว่าเป็นวัยรุ่นจากหมู่บ้านกองผักปิ้ง ตนและพวกจึงเดินทางไปที่ลานเอนกประสงค์ของบ้านกองผักปิ้ง พบกลุ่มวัยรุ่น 7-8 คนกำลังเตรียมอาวุธเพื่อก่อเหตุซ้ำ เมื่อวัยรุ่นเห็นเจ้าหน้าที่ทหารบางส่วนจึงหนีไป พยานได้ขับจักรยานยนต์ไล่ตามแต่ไม่ทัน เมื่อกลับมาที่ลานนั้นอีก ตนได้ยินเสียงวัยรุ่นที่ถูกควบคุมตัวไว้ตะโกนว่า ทหารมาตบตีวัยรุ่น ทำร้ายคนชราและเด็ก พยานสังเกตเห็นว่าวัยรุ่นอยู่ในอาการไม่พอใจ พยายามวิ่งเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารด้วยขวดแก้ว พยานและพวกตะโกนสั่งให้หยุดแต่ไม่มีการปฏิบัติตาม ชาวบ้านเริ่มทยอยออกมามุงดู 
 
เมื่อเห็นว่ากลุ่มวัยรุ่นยังไม่พอใจ จึงสั่งให้กำลังพลราว 7-8 นายมาเพื่อให้ชาวบ้านชี้ตัวผู้กระทำผิด แต่ก็ไม่มีการชี้ตัวผู้ตบตีวัยรุ่นได้ เพราะไม่มีใครสามารถจดจำใบหน้าได้ และไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ใดสวมชุดสีดำตามคำกล่าวอ้างของวัยรุ่นกลุ่มดังกล่าว  พยานเห็นว่าผู้ก่อเหตุตบตีวัยรุ่นน่าจะแต่งกายคล้ายชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) มากกว่า
  
จ.ส.อ.มานพ เล่าต่อว่า ในวันรุ่งขี้น มีการนัดเจรจากันเกี่ยวกับเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่มวัยรุ่นทั้งสองหมู่บ้านที่ที่การผู้ใหญ่บ้าน หมู่  1 ตำบลเมืองนะ ซึ่งจำเลยได้บันทึกภาพเคลื่อนไหว (คลิปวิดีโอ) ขณะเจรจากับเจ้าหน้าที่ ในวันดังกล่าว พยานสั่งให้ชุดรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านไปติดตามกลุ่มวัยรุ่นทั้งสองมาที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน โดยวัยรุ่นจากบ้านกองผักปิ้งมา 4-5 คน ส่วนบ้านเมืองนะมีเฉพาะนายคาร์ฟเป็นตัวแทนมาเจรจา นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านจากบ้านกองผักปิ้งเดินทางมากับรถยนต์ 4-5 คัน รวม 50-60 คน ทั้งที่เบื้องต้น พยานนัดเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นคู่กรณีกับผู้นำชุมชนไว้เท่านั้น การเจรจาผิดไปจากที่ตั้งใจไว้ตอนแรก คือ ไม่ได้ตกลงกันเกี่ยวกับการทะเลาะของวัยรุ่นจากทั้งสองหมู่บ้าน เพราะจำเลยแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับเหตุเจ้าหน้าที่ฯ เข้าไปทำร้ายเด็กและคนแก่ โดยจำเลยเรียกร้องให้นำคนที่ก่อเหตุมารับผิดชอบ โดยจ.ส.อ.มานพ เบิกความว่า จำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557
 
จ.ส.อ.มานพ เล่าต่อไปว่า ในเช้าวันดังกล่าวได้ประสานกับเจ้าหน้าที่หมวดทหารม้าทุกนายที่เข้าไประงับเหตุในคืนดังกล่าวราว 7-8 นาย เพื่อมายืนให้ชาวบ้านชี้ตัว ชาวบ้านขอให้คาร์ฟ วัยรุ่นจากบ้านเมืองนะที่อ้างว่าจดจำใบหน้าของผู้ก่อเหตุได้มาชี้ตัว แต่ก็ไม่มีการชี้ตัวเจ้าหน้าที่คนใด ผู้นำหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ทหารจึงตกลงกันว่าเป็นอันยุติ พยานได้ให้วัยรุ่นทั้งสองฝ่ายจับมือกันเพื่อทำความตกลงก่อนแยกย้าย พยานอยู่ในการประชุมนั้นตลอดเวลาและยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารคนใดยอมรับว่าได้ทำร้ายชาวบ้านด้วย
 
จ.ส.อ.มานพ เล่าต่อว่า เวลาประมาณ 19.00 น. ของวันเดียวกันหลังกลับจากการเจรจา ขณะอยู่ที่ฐานปฏิบัติการบ้านเจียจัน ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่ามีการเผยแพร่คลิปและอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารไปทำร้ายประชาชน คลิปนั้นชื่อว่า ‘ทหารทำร้ายประชาชน’ ไม่ใช่เหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ทำร้ายชาวบ้าน แต่เป็นเหตุการณ์ในวันถัดมาระหว่างการเจราจากันที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูบ (YouTube)  คำบรรยายประกอบคลิป (caption) ระบุว่า เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเรา ทำไมสังคมถึงอยู่ยากขึ้น นั่งผิงไฟอยู่ดีๆ ก็มีทหารเข้ามาทำร้ายตบตีเด็ก วัยรุ่นและคนแก่บ้านกองผักปิ้ง มีรถทหารเข้ามา พอจอดปุ๊บมีเด็กลงมาด้วย เอาปืนจ่อหัวไม่ให้ขยับเขยื้อน ชี้หน้าทุกคน วัยรุ่นไม่เท่าไหร่ แต่สงสารเด็กและคนแก่มากๆ ทหารไม่มีความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว กว่าทหารจะยอมรับว่าเป็นคนตบหน้าชาวบ้านจริงก็หลายชั่วโมง ในที่สุดก็มีต้นเรื่องคือเด็กไทยใหญ่มาชี้ตัว เท่านั้นแหละหัวหน้าชุดก็ขอโทษทันทีแล้วบอกจะไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเด็ดขาด จะต้องนำคนมารับผิดชอบให้ได้ ประชาชนไม่อยากให้มีทหารในพื้นที่ ต้องการให้กำลังเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ไปให้หมด จ.ส.อ.ระบุว่าเมื่อตรวจสอบแล้วจึงพบว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่คลิปและข้อความนั้น
 
จ.ส.อ.มานพ เบิกความว่าแม้ในคืนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้นำอาวุธไปด้วยแต่ไม่มีการการนำไปจ่อศีรษะตามที่กล่าวอ้าง ข้อความนั้นไม่เป็นความจริง การเผยแพร่ในลักษณะดังกล่าวสามารถเห็นได้ทั่วโลกและสร้างความเสียหายให้กับทหารและกองทัพบก ผู้ชมจะเข้าใจผิดว่าทหารทำเกินกว่าเหตุ รังแกประชาชน ส่วนข้อความและภาพที่ส่งเป็นมีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ถอดหมวกและกล่าวขอโทษ จ.ส.อ.มานพ อธิบายว่า ไม่ใช่การขอโทษที่เจ้าหน้าที่เข้าไปทำร้ายชาวบ้าน แต่เป็นการขอโทษที่ทำให้ทุกคนต้องเสียเวลามาประชุมกันในวันนั้น ต่อมา ร้อยเอกพนมศักดิ์ กันแต่ง ผู้บังคับกองร้อยทหารม้าที่ 2 ไปแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดี หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาหวายได้เรียกตนไปให้การ 
 
จ.ส.อ.มานพ ตอบทนายถามค้านว่า ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ตนไม่ได้สวมเครื่องแบบทหาร และไม่ได้โดยสารไปกับรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตสีดำ แต่ขับจักรยานยนต์ไปกับเจ้าหน้าที่อีกคน ส่วนเจ้าหน้าที่ที่สวมเครื่องแบบ มีชื่อและยศติดบนเครื่องแบบนั้นมาจากหน่วยอื่นและโดยสารไปในรถยนต์คันดังกล่าว ที่เบิกความไปก่อนนี้ว่าได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านเมืองนะว่ากลุ่มวัยรุ่นมีอาวุธ จ.ส.อ.มานพอธิบายว่า ไม่เห็นว่าเป็นอาวุธชนิดใดของฝ่ายใด เห็นเพียงขวดแก้วที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่วัยรุ่นนั่งรวมกลุ่มกันอยู่ ส่วนฝ่ายทหารพกอาวุธปืนสั้น ไม่มีทหารคนใดพกอาวุธปืนเอ็ม 16 และสวมกางเกงขาสามส่วน 
 
จ.ส.อ.มานพ เบิกความว่า ตนไม่ได้ชักอาวุธปืนออกมา เพียงทำท่าคล้ายจะหยิบออกเมื่อเห็นว่ากลุ่มวัยรุ่นถือขวดคล้ายจะเข้ามาทำร้าย และปฏิเสธว่าไม่มีการล็อคคอวัยรุ่นมาที่รถยนต์เชฟโรเลตสีดำ แต่มีเหตุที่ชาวบ้านหลายคนอ้างว่ามีคนมาตบหน้า และคนนั้นได้โดยสารมาและกลับไปอยู่ในรถ พยานจึงพาไปดูแต่พบเฉพาะคาร์ฟอยู่ในรถ ไม่มีบุคคลที่อ้างว่าไปทำร้ายเด็กและคนแก่ เมื่อทนายให้ดูภาพถ่ายเหตุการณ์ในคืนนั้น แล้วถามว่าชายสวมเสื้อสีดำ กางเกงขาสามส่วนและถืออาวุธปืนเอ็ม 16 นั้นคือใคร พยานตอบว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่จากหน่วยของตน และให้การเพิ่มเติมอีกว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน เฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้นที่มีอาวุธปืนเอ็ม 16 ไว้ในครอบครองได้  
 
จ.ส.อ.มานพ อธิบายว่า ข้อตกลงที่บันทึกไว้ในสมุดบันทึกการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน มีใจความว่า เจ้าหน้าที่จากบ้านนะเหนือได้มาทำร้ายประชาชนบ้านกองผักปิ้ง ทหารสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้อีก ทหารได้รับผิดชอบแล้วด้วยการกล่าวขอโทษ ต่อไปหากเกิดขึ้นซ้ำ ทหารจะขอรับผิดชอบทุกอย่างนั้น เอกสารนี้ไม่ถือเป็นการยอมรับว่าทหารเข้าไปทำร้ายชาวบ้านจริง แต่ทำขึ้นเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสบายใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวซ้ำ แต่ในวันเดียวกันฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็จัดทำเอกสารอีกฉบับ มีใจความว่า ที่ว่าทหารเข้าไปทำร้ายชาวบ้านนั้นเป็นการเข้าใจผิด แต่เอกสารที่ทำขึ้นในภายหลังนี้ไม่ได้ยื่นเข้ามาในชั้นศาล
 
จ.ส.อ.มานพ เบิกความว่า เอกสารข้อความที่อ้างว่าโพสต์ลงเฟซบุ๊กโดยจำเลยนั้น ตนไม่ได้เป็นผู้จัดทำ และตนไม่เคยเห็นข้อความขณะเผยแพร่บนเว็บไซต์ เห็นเฉพาะที่ผู้บังคับบัญชาพิมพ์ไว้และนำมาให้ดู ตนไม่เห็นเหตุการณ์ขณะวัยรุ่นถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่จากรถเชฟโรเลต เพราะขณะนั้นกำลังขับจักรยานยนต์ไล่ตามวัยรุ่นที่หลบหนีอยู่ เมื่อกลับมาพบว่าทหารได้ควบคุมกลุ่มวัยรุ่นไว้เรียบร้อยแล้วบริเวณลานเอนกประสงค์นั้น
 
จ.ส.อ.มานพ ตอบโจทก์ถามติงว่า การขอโทษของร้อยตรีทวีตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ไปไม่ใช่การขอโทษที่ได้เข้าไปทำร้ายประชาชนแต่เป็นการขอโทษที่รบกวนเวลาทำมาหากินด้วยการจัดประชุมกันในวันดังกล่าว เอกสารที่จัดทำขึ้นฉบับแรกนั้นเป็นไปตามคำแนะนำของนาแส ผู้นำชุมชน เมื่อได้อ่านแล้วเห็นว่าเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่จึงขอให้ผู้บังคับบัญชาจัดทำขึ้นใหม่ และเก็บไว้ที่หน่วยทหาร สาเหตุที่ไม่ได้ส่งให้พนักงานสอบสวน เพราะไม่คิดมาก่อนว่าจำเลยจะนำเอกสารบันทึกข้อตกลงมาอ้างต่อศาลในวันนี้จึงไม่ได้จัดเตรียมเอกสารบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่มาประกอบการชี้แจง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง: จ่าสิบเอกสิระ ชัยเสน ทหารที่อยู่ร่วมในวันนัดเจรจาและเห็นจำเลยถ่ายคลิปวีดีโอ
 
จ.ส.อ.สิระเบิกความว่า พยานเป็นนายสิบปฏิบัติการ ขณะปฏิบัติหน้าที่ที่หมวดการทางบ้านเจียจัน ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เวลาประมาณ 09.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2558 ได้รับแจ้งจากจ่าสิบเอกทวี ฤทธิ์ทวี ผู้บังคับบัญชา ให้ไปร่วมเจรจากับชาวบ้านที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลเมืองนะ พยานได้ไปกับจ่าสิบเอกมานพ ปานวิเศษ และจ่าสิบเอกอนุวัฒน์ ทองศรี โดยรถจักรยานยนต์ เมื่อไปถึงพบว่ามีรถของทหารจากกองพันทหารม้าที่ 24 จอดอยู่ 
 
จ.ส.อ.สิระ เล่าว่า ในการประชุมนั้น ตนอยู่ข้างนอกไม่ได้เข้าไปร่วมเจรจาแต่สังเกตการณ์อยู่ภายนอกอาคาร เห็นจำเลยกำลังบันทึกวิดีโออยู่ แต่ไม่สังเกตเห็นหรือได้ยินว่าจำเลยพูดอะไรบ้าง ได้ทราบเพียงจากเพื่อนทหารและชาวบ้านว่าจำเลยกล่าวหาว่าทหารไปทำร้ายประชาชนในหมู่บ้าน พยานไม่เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดถูกชี้ตัวยืนยันว่าเป็นผู้เข้าไปตบตีชาวบ้านในการประชุมครั้งนั้น  จนกระทั่ง วันที่ 2 มกราคม 2558 ได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ทหารบ้านอรุโณทัยว่า มีการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์การประชุมนั้นทางอินเทอร์เน็ต
 
จ.ส.อ.สิระ ตอบทนายถามค้านว่า ด้านนอกอาคารที่ทำการผู้ใหญ่บ้านมีเจ้าหน้าที่ทหารอื่นอีก 3-4 นายอยู่กับพยาน และไม่ได้ยินว่าการเจรจาดำเนินไปอย่างไร ไม่เห็นว่ามีการชี้ตัวทหารหรือไม่ ทั้งไม่ทราบว่ามีการนำตัวคาร์ฟหรือเด็กไทยใหญ่มาในที่ประชุม พยานไม่ได้ใช้เฟซบุ๊ก ข้อมูลเกี่ยวกับการเผยแพร่คลิปวิดีโอของจำเลยนั้นพยานทราบจากผู้อื่น ไม่ได้เปิดเว็บไซต์เข้าไปดูด้วยตนเอง นอกจากไมตรีแล้ว ชาวบ้านคนอื่นๆ ในที่ประชุมต่างเรียกร้องให้หาตัวคนที่ทำร้ายชาวบ้านมารับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนในบันทึกคำให้การที่ระบุว่า ‘เมื่อข้าฯ กับพวกไปถึงที่เกิดเหตุ’ นั้นไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ในคืนเกิดเหตุพยานไม่ได้ไปที่บ้านกองผักปิ้งด้วย
 
โจทก์ถามติงว่า พยานทราบได้อย่างไรว่าไม่มีการชี้ตัวผู้ที่เข้าไปทำร้ายชาวบ้านทั้งที่พยานไม่ได้เข้าไปร่วมในการเจรจา พยานให้การใหม่หลังจากอัยการโจทก์ถามย้ำคำถามเดิมนี้หลายครั้งว่า ที่ทราบได้นั้นเพราะตนเดินเข้าออกในที่ประชุมไม่ได้ยืนประจำอยู่นอกอาคารตลอดเวลา
 
 
3 กุมภาพันธ์ 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์สามปากและพยานจำเลย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม: ร้อยเอกพนมศักดิ์ กันแต่ง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
เวลา 09.45 น. ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ร.อ.พนมศักดิ์ กันแต่ง เข้าเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยทหารม้าที่ 2 บ้านอรุโณทัย หมู่ที่ 10 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติการที่ฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย มีหน้าที่รักษาความมั่นคง ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน
 
ร.อ.พนมศักดิ์ เล่าว่า วันที่ 2 มกราคม 2559 เวลา 11.00 น. ขณะอยู่ที่ฐานปฏิบัติการ ได้รับแจ้งว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ และแชร์กันในเฟซบุ๊กของจำเลย เมื่อเปิดเข้าไปดูจึงพบว่ามีข้อความว่าทหารเข้าไปทำร้ายประชาชน ตบหน้าเด็กและหญิงชรา คลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ขณะชาวบ้านเจรจากับเจ้าหน้าที่พยานได้บันทึกคลิปวิดีโอไว้ ในคลิปไม่มีภาพตอนที่ทหารทำร้ายประชาชนและไม่มีการยอมรับว่าทหารทำตามที่กล่าวหา โดยมีจ.ส.อ.มานพชี้แจงว่าทหารไม่ได้ทำร้ายประชาชน ทราบภายหลังว่าคนที่ถ่ายคลิปคือไมตรี พยานได้เรียกกำลังพลมาชี้แจงเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดยอมรับว่าได้เข้าไปตบตีชาวบ้านตามคำกล่าวหา
 
ร.อ.พนมศักดิ์ เล่าว่า ตนได้คัดลอกข้อความในเฟซบุ๊กและดาวน์โหลดวิดีโอนำไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรนาหวาย ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือแม่ทัพภาค 2 นอกจากนี้ยังได้ส่งข่าววิทยุรายงานเหตุการณ์ตามลำดับชั้นประกอบเป็นหลักฐานด้วย พยานเบิกความว่าข้อความดังกล่าวทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าทหารในพื้นที่ใช้ความรุนแรง เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อทหาร เสื่อมเสียชื่อเสียงของกองทัพ เหตุที่ทราบว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่คลิป เพราะเมื่อเข้าไปในเฟซบุ๊กนั้นเห็นภาพของจำเลย แต่ไม่ปรากฏชื่อของจำเลย ภาพและข้อความดังกล่าวถูกลบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2558
 
ขณะเบิกความ มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่มาดูงาน ศาลจึงแจ้งให้ทุกคนในห้องพิจารณาทราบและอธิบายนักศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่งที่นั่งในห้องพิจารณาคดีของโจทก์ จำเลยและเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ระบบการพิจารณาคดี ศาลได้เตือนนักศึกษาให้ระมัดระวังการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นข้อหาที่ใช้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้
 
หลังจากนั้น ร.อ.พนมศักดิ์ ตอบทนายจำเลยว่า พยานสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขา วิศวกรรมเครื่องกลจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับกฎหมาย ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในระดับพื้นฐานเท่านั้น ในการตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดไปทำร้ายชาวบ้านหรือไม่นั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับในการไประงับเหตุวัยรุ่นทะเลาะกันคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 และการเจรจาตกลงกับชาวบ้านในวันที่ 1 มกราคม 2558 ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปด้วย 
 
ร.อ.พนมศักดิ์ เบิกความว่า วันที่ 1 มกราคม 2558 เวลา 16.30 น. ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการเผยแพร่คลิปวิดีโอและทำการตรวจสอบทันที วันรุ่งขึ้นจึงได้พิมพ์เอกสาร ขณะนั้นพันตรีจักรพันธุ์ พุทธิสาร รองผู้บังคับการ เป็นผู้บันทึกไฟล์ พยานไม่แน่ใจว่าบันทึกมาจากยูอาร์แอล  facebook.com/savelahu หรือไม่ แต่แน่ใจว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่ข้อความดังกล่าว เมื่อดาวน์โหลดคลิปพยานสังเกตเห็นว่าคลิปนี้มีชื่อไฟล์ที่บอกว่ามาจากเฟซบุ๊กเพจกูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ 
 
ร.อ.พนมศักดิ์ เบิกความเพิ่มเติมว่า ในวันที่ไปเจรจากันที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านนั้น ไม่ได้ไปด้วย และตอบทนายว่า หากเจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชนจริงจะถูกส่งกลับไปที่หน่วยต้นสังกัดหรือย้ายฐานปฏิบัติการ
 
ร.อ.พนมศักดิ์ ตอบโจทก์ถามติงว่า ไม่มีชาวบ้านแจ้งกับตนว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้าย เหตุที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไประงับเหตุโดยไม่แจ้งให้ตำรวจดำเนินการเพราะสถานีตำรวจตั้งอยู่ไกลจากที่เกิดเหตุ ในการระงับเหตุโดยปกติดำเนินการโดยทหารซึ่งมีความสนิทสนมกับชาวบ้าน
 
เกี่ยวกับคลิปวิดีโอนั้น ร.อ.พนมศักดิ์ได้ลิงก์มาจึงเปิดดู เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาคิดว่ามาจากเฟซบุ๊กของไมตรี เพราะปรากฏข้อความทั้งหมดตรงกันในเฟซบุ๊กของเขา พยานไม่แน่ใจว่าหากเข้าไปตามลิงก์ที่ปรากฏท้ายวิดีโอในเฟซบุ๊กเพจกูต้องได้ร้อยล้านฯ จะพบข้อความตามฟ้องในคดีนี้หรือไม่ และไม่ทราบว่าไฟล์ในแผ่นซีดีที่ส่งให้พนักงานสอบสวนนั้นจะตรงกับไฟล์ที่มาจากเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กใด เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องในการจัดทำแผ่นซีดีดังกล่าว
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่: ร้อยตรีทวี พงษ์ยิ้ม ผู้บังคับหมวดทหารม้าเมืองนะ
 
ร.ต.ทวี เบิกความว่า ในช่วงเกิดเหตุ พยานปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดทหารม้าเมืองนะ ฐานปฏิบัติการบ้านเมืองนะ มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน วันที่ 1 มกราคม 2558 เวลา 10.00 น. ได้รับแจ้งจากจ่าสิบเอกมานพ ขอให้ไปช่วยเจรจาเกี่ยวกับเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่มวัยรุ่นที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลเมืองนะ จำเลยเดินทางไปถึงสถานที่ดังกล่าวเวลา สิบนาฬิกาเศษ เมื่อไปถึงพบว่ามีชาวบ้านพูดคุยกันว่ามีทหารเข้าไปตบเด็กและคนแก่ พยานเห็นจำเลยบันทึกวิดีโอและนำชาวบ้านเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว 
 
ร.ต.ทวี เล่าว่า ในวันนั้นจ่าสิบเอกมานพ จ่าสิบเอกอภิฉัตร ได้ชี้แจงกับจำเลย มีการนำเด็กมากดดันให้มีการชี้ตัวทหารที่เข้าไปทำร้ายชาวบ้านในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 มาให้ชี้ตัวด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่มีการชี้ตัวทหารคนใด ผู้ใหญ่บ้านจึงแนะว่าให้พยานกล่าวขอโทษเพื่อความสบายใจ เพราะเห็นว่าชาวบ้านเดินทางกันมาจำนวนมาก ราว 60-70 คน หากขอโทษแล้วชาวบ้านจึงจะยอมกลับกัน ดังนั้น พยานจึงขอโทษ แต่ไม่ใช่สำหรับเหตุที่ทหารเข้าไปทำร้ายแต่เป็นการขอโทษที่ทำให้ชาวบ้านต้องมาวุ่นวายกัน 
 
ร.ต.ทวี เล่าว่า หลังชาวบ้านแยกย้ายกลับบ้านไป อมรเทพซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้แนะนำให้พยานและพวกทำหนังสือสัญญาโดยอ้างว่าเป็นประเพณีปฏิบัติเพื่อยืนยันว่าทหารจะไม่กระทำความรุนแรงอีก พยานจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับดังกล่าว ก่อนลงลายมือชื่อ พยานสังเกตเห็นและจำได้ว่ามีการระบุวันที่ผิดไป ทั้งได้อ่านทั้งหมดแล้วแต่ไม่เข้าใจความหมาย เมื่อเห็นว่าตอนหนึ่งในเอกสารระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปทำร้ายชาวบ้านก็ได้สอบถามผู้ใหญ่บ้านว่าเหตุใดจึงต้องเขียนเช่นนั้นในเอกสาร ซึ่งได้รับการอธิบายว่าเป็นไปเพื่อความสบายใจของชาวบ้าน เพื่อให้เรื่องยุติลงโดยง่าย อย่างไรก็ตาม พยานได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาจ่าสิบเอกมานพและเห็นตรงกันว่าเอกสารซึ่งมีการระบุเช่นนั้นเป็นการผูกมัดเจ้าหน้าที่ว่าเป็นฝ่ายเข้าไปทำร้ายประชาชนจึงจัดทำเอกสารขึ้นอีกฉบับ ส่วนเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้มีรายละเอียดอย่างไร พยานไม่ทราบ
 
ร.ต.ทวี เบิกความเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาดูแลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ มีการจับกุมคดียาเสพติดจำนวนมาก ชาวบ้านจึงไม่ชอบที่เจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้าน
 
ร.ต.ทวี เล่าว่า หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2558 ไม่ปรากฏว่ามีชาวบ้านคนใดมาขอให้ทหารรับผิดชอบกรณีที่คนแก่และเด็กถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย แต่พยานได้ทราบว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่บันทึกไว้ในระหว่างการเจรจาที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ร้อยเอกพนมศักดิ์ได้เปิดเว็บไซต์ให้พยานดูซึ่งเป็นข้อความที่ถูกแชร์กันมา กระทั่งเห็นว่าเป็นข้อความที่กล่าวหาว่าทหารเข้าไปตบเด็กและคนแก่ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร
 
ส่วนที่ปรากฏในคำให้การชั้นสอบสวนว่า ‘ข้าฯ กับพวกได้ไปถึงที่เกิดเหตุ’ นั้น พยานอธิบายว่า ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงกล่าวคือ พยานไม่ได้เดินทางไปที่หมู่บ้านกองผักปิ้งในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เพียงแต่ได้สั่งการให้ลูกน้องไปปฏิบัติหน้าที่ 
 
ร.ต.ทวี ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตามภาพซึ่งถ่ายในเหตุเจรจากันที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านนั้น พยานยืนอยู่ข้างจ่าสิบเอกมานพและยืนติดกับเด็กคนหนึ่ง มีการเรียกเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติการที่บ้านกองผักปิ้งมาให้ชี้ตัวตามที่เบิกความไปก่อนหน้า แต่พยานจำไม่ได้ว่าใครขึ้นไปที่หมู่บ้านในคืนดังกล่าวบ้าง เพราะไม่ได้ไปด้วย ดังนั้นที่เรียกเจ้าหน้าที่ทั้งหมดให้มายืนเพื่อให้ชาวบ้านชี้ตัวนั้น พยานได้สั่งให้หัวหน้าชุดเป็นผู้จัดมา เพราะเป็นผู้รับผิดชอบนำทหารชุดดังกล่าวไปที่เกิดเหตุ  
 
ศาลแนะนำว่า เพื่อความสะดวกรวดเร็วขอให้ทนายจำเลยส่งคำแถลงปิดคดีมาและให้ศาลพิจารณาคลิปวิดีโอเองแทนการนำภาพมาให้จำเลยดูแล้วถามเช่นนี้ เมื่อศาลชี้แจงแล้ว ทนายจึงถามต่อ
 
ร.ต.ทวี เบิกความต่อไปว่า เอกสารบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ที่ทำขึ้นภายหลังนั้น ไม่ได้นำไปเผยแพร่แต่เก็บไว้เฉพาะผู้ที่ได้ลงลายมือชื่อไว้เท่านั้น 
 
ระหว่างอัยการโจทก์ถามติง ศาลแนะว่าไม่ควรถามนำและให้ตั้งคำถามใหม่ จนร.ต.ทวีตอบว่า ไม่เคยเห็นข้อความประกอบวิดีโอที่เผยแพร่กัน โจทก์ระบุว่า ที่พยานตอบเช่นนั้นอาจเป็นเพราะไม่เข้าใจคำถามของศาล อัยการจึงถามใหม่อีกหลายครั้งกระทั่งพยานให้การใหม่ว่าได้เห็นข้อความด้วยไม่ใช่เพียงวิดีโอ
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า: จ่าสิบเอกอภิฉัตร รักบุญ ทหารที่อยู่ร่วมในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 และวันนัดเจรจา
 
เวลา 12.20 น. จ.ส.อ.อภิฉัตร เบิกความว่า พยานเป็นผู้บังคับหมู่ทหารม้า หมวดทหารม้าที่ 22 ปฏิบัติการที่ฐานปฏิบัติการบ้านเมืองนะ ในช่วงเวลาเกิดเหตุ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เวลา 19.00 น.เศษ ขณะปฏิบัติหน้าที่ที่จุดตรวจพิเศษที่หมู่บ้านเมืองนะ ร้อยตรีทวีได้สั่งให้พยานเข้าไประงับเหตุวัยรุ่นทะเลาะวิวาทกัน เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณร้านค้าในหมู่บ้านเมืองนะ พบวัยรุ่นที่ถูกทำร้ายจึงเข้าไปสอบถามว่าจะเอาเรื่องหรือไม่อย่างไร 
 
เวลาประมาณ 20.00 น. พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่าชาวบ้านได้ปิดล้อมทหารอีกชุดหนึ่งซึ่งเข้าไปปฏิบัติการก่อนแล้วที่บ้านกองผักปิ้ง พยานและพวกซึ่งอยู่ที่จุดตรวจจึงเข้าไปสมทบ พบชาวบ้านมุงดูอยู่เต็มบริเวณและมีการตะโกนว่าทหารทำร้ายประชาชน พยานแจ้งกับชาวบ้านว่า ไม่มีทหารคนใดทำร้ายประชาชน เพราะทหารเพิ่งเข้ามาถึง ทหารต้องสวมเครื่องแบบ ซึ่งจ่าสิบเอกมานพก็ยืนยันอย่างเดียวกันกับชาวบ้านด้วย ก่อนแจ้งให้ไปเจรจากันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านในวันรุ่งขึ้น โดยในคืนดังกล่าวไม่มีการชี้ตัวว่าใครทำร้ายชาวบ้านตามที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้ พยานไม่พบจำเลยในที่เกิดเหตุคืนดังกล่าว
 
จ.ส.อ.อภิฉัตร เล่าต่อว่า วันที่ 1 มกราคม 2558 เดินทางไปถึงที่ทำการผู้ใหญ่บ้านเวลา เก้านาฬิกาเศษ เห็นจำเลยกำลังคุยกับจ่าสิบเอกมานพและบันทึกวิดีโอไปด้วย ต่อมาไมตรีและชาวบ้านขอให้พยานนำตัวคนที่ทำร้ายชาวบ้านในคืนก่อนมารับผิดชอบ พยานจึงบอกว่าให้ไปนำหลักฐาน คือ ภาพถ่ายมาแสดง จำเลยบอกว่ามีภาพถ่ายแต่ไม่ให้ดู ทั้งยืนยันว่าเขาทราบดีว่าใครคือผู้ที่ทำร้ายชาวบ้าน พยานจึงชี้แจงว่าหากไม่ให้ดูแล้วคงไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบได้ แม้มีการนำกำลังพลที่เข้าไปในบ้านกองผักปิ้งคืนก่อนมายืนให้ชาวบ้านชี้ตัวก็ไม่ปรากฏว่ามีการชี้ตัวทหารคนใด พยานไม่ทราบว่าที่สุดแล้วการเจรจานั้นได้ข้อยุติว่าอย่างไรเพราะเดินทางกลับก่อน
 
จ.ส.อ.อภิฉัตร เบิกความว่า เมื่อหน่วยเหนือสอบถามมาว่าในการเจรจานั้นมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ พยานปฏิเสธไปแต่กลับได้รับแจ้งว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ พยานจึงเปิดดูและเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ระหว่างการเจรจากับชาวบ้าน ซึ่งในคลิปนั้น ไมตรีพูดกับพยานว่าหากตกลงกันไม่ได้ก็จะนำเรื่องไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ก็จะเผยแพร่คลิปวิดีโอนี้ มีการบันทึกถึงเหตุการณ์ขณะนำกำลังเจ้าหน้าที่มายืนให้ชี้ตัวแต่ไม่มีการชี้ใครว่าเป็นผู้เข้าไปทำร้ายชาวบ้าน ทั้งมีการข้อความประกอบวิดีโอนี้แต่จ.ส.อ.อภิฉัตรไม่ได้อ่าน ทราบภายหลังจากเพื่อนว่าข้อความระบุว่าเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปทำร้ายประชาชน ต่อมา ผู้บังคับบัญชาเรียกพยานไปสอบถามและตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ยอมรับหรือยืนยันว่ามีการทำร้ายประชาชนตามที่กล่าวอ้าง ทั้งไม่มีผู้ใหญ่บ้านหรือชาวบ้านรายใดมาร้องเรียนพยานเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก
 
จ.ส.อ.อภิฉัตร ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า คืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จ่าสิบเอกมานพไม่ได้สวมเครื่องแบบแต่พกอาวุธปืน ไม่เห็นใครพกอาวุธปืนเอ็มสิบหก เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุเห็นชาวบ้านเถียงกับจ่าสิบเอกมานพ เจ้าหน้าที่ 6-7 นายมีอาวุธในครอบครองและแต่งเครื่องแบบทหาร พยานให้ลูกชุดรออยู่ทางเข้า ส่วนพยานได้เดินเข้าไปในที่เกิดเหตุ สังเกตเห็นรถเชพโรเลตจอดหันหน้าเข้าที่ที่ชาวบ้านรวมตัวกันอยู่
 
วันที่ 1 มกราคม 2558 พยานยืนอยู่นอกที่ประชุม เมื่อได้เดินเข้าไปในจังหวะหนึ่งเห็นเด็กชาวไทยใหญ่ และนาแสกำลังเจรจากับจ่าสิบเอกมานพ ส่วนร้อยตรีทวียังเดินทางมาไม่ถึง การเจรจาวันนั้นเป็นการเรียกร้องให้นำตัวคนที่เข้าไปตบชาวบ้านมารับผิดชอบ ส่วนที่ให้การในชั้นตำรวจไปว่า ‘ทหารถือปืนแล้วบอกว่าห้ามขยับ’ พยานเบิกความว่าน่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการบันทึกคำให้การ 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หก: ร้อยตำรวจเอกสงวน มีกลิ่น พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรนาหวาย
 
ร.ต.อ.สงวน เบิกความว่า วันที่ 4 มกราคม 2558 เวลาประมาณ 14.00 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร ร้อยเอกพนมศักดิ์ กันแต่ง จากฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัยเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับไมตรี ฐานนำข้อมูลซึ่งเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยเป็นคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์วันที่ 1 มกราคม 2558 ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลเมืองนะ ซึ่งทหารเปิดชมคลิปดังกล่าวในวันที่ 2 มกราคม 2558 ในเวลาประมาณ 17.00 น. 
 
ร้อยเอกพนมศักดิ์จึงได้เข้าแจ้งความพร้อมแนบเอกสาร 7 แผ่น เป็นรายงานวิทยุ แผ่นซีดีรอม ซึ่งระบุว่ามีคลิปที่จำเลยบันทึกและนำไปเผยแพร่อยู่ พยานได้สอบสวนจ่าสิบเอกพนมศักดิ์ ร้อยตรีทวี จ่าสิบเอกมานพ จ่าสิบเอกอภิฉัตรและจ่าสิบเอกสิระ
 
ร.ต.อ.สงวน เบิกความว่า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยได้เข้าพบพนักงานสอบสวน จึงแจ้งข้อกล่าวหา จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ในการสอบสวน จำเลยรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่ทหารนำมาแจ้งความ แต่ข้อความเป็นของจำเลยหรือไม่นั้น จำเลยจำไม่ได้เพราะได้ลบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2558 ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งสองวันนั้นไม่ถูกเรียกมาให้การในชั้นตำรวจ
 
ร.ต.อ.สงวน เบิกความตอบคำถามของทนายจำเลยว่า พยานได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสอบหลักฐานในคดีนี้ และได้รับคำตอบกลับมาว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ จะตรวจสอบได้เฉพาะเมื่อยึดคอมพิวเตอร์จากจำเลยเพื่อค้นหาหมายเลขประจำเครื่อง ซึ่งพยานไม่ได้ตรวจยึดมาจึงไม่ได้ส่งไปตรวจสอบ นอกจากนี้พยานไม่ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท. เอกสารที่ได้รับมาทั้งหมดไม่เคยถูกตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ พยานเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
 
ร.ต.อ.สงวน ตอบคำถามว่า ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 และวันที่ 1 มกราคม 2558 ไม่มีการแจ้งเหตุเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาทและการเจรจาที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรนาหวาย ขณะที่สถานีตำรวจอยู่ห่างจากบ้านกองผักปิ้งเพียง 8 กิโลเมตรและใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาที
 
ร.ต.อ.สงวน เบิกความว่า ไม่เห็นเจ้าหน้าที่ทหารเรียกชาวบ้านมาสอบข้อเท็จจริง แม้ได้ดูคลิปวิดีโอที่บันทึกลงในแผ่นซีดีรอมแต่ก็ยังไม่ได้เข้าไปในเว็บไซต์ที่อ้างว่ามีการเผยแพร่คลิปดังกล่าว ไม่เคยไปตรวจสถานที่เกิดเหตุทั้งที่บ้านกองผักปิ้งและที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลเมืองนะ จากเหตุที่ทหารยืนยันว่าไม่มีการไปทำร้ายชาวบ้าน จึงเชื่อว่าข้อความที่ลงในเว็บไซต์เป็นเท็จ
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง: ไมตรี จำเลย เบิกความในฐานะพยาน
 
ไมตรี จำเลยในคดีนี้ เบิกความว่า มีอาชีพจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นครูสอนศาสนาและรับซ่อมคอมพิวเตอร์ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และจบศาสนศาสตร์ซึ่งเกี่ยวกับการสอนศาสนาจากอำเภอแม่สาย เคยเดินทางไปทำหน้าที่สอนศาสนาในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดภูเก็ต อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการอบรมเกี่ยวกับการทำสื่อในโครงการนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จึงกลับมาที่ชุมชนเพื่อผลิตสารคดี เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนชุมชนทั้งในกิจกรรมระดับประเทศและระดับนานาชาติ เคยทำงานให้กับสโมสร "พื้นที่นี้ดีจัง" ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่เช่น เยาวชนที่เสพยาเสพติด นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนในด้านการผลิตสื่อด้วย จำเลยไม่เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองและไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่
 
ไมตรี เบิกความว่า มีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อบัญชีว่า SaveLahu ซึ่งมีความหมายว่า ปกป้องชุมชนลาหู่ เป็นเฟซบุ๊กที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวสาร เหตุการณ์และกิจกรรมเกี่ยวกับชนเผ่าละหู่ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยทั่วไทย
 
ไมตรี เล่าว่า ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ขณะกลับจากการช่วยงานคริสตจักรในกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กที่ชุมชนแกน้อยเพื่อมาร่วมฉลองปีใหม่ในหมู่บ้านกองผักปิ้ง โดยจะเป็นการสนทนาธรรมะตลอดทั้งคืนจนถึงเช้าวันปีใหม่ มีการก่อไฟ ปรุงอาหารเพื่อรับประทานกัน เวลาประมาณ 20.00 น. ได้ยินเสียงโวยวายคล้ายจากกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังดื่มเหล้าดังมาจากลานเอนกประสงค์ซึ่งไม่ไกลจากโบสถ์ เบื้องต้นเข้าใจว่าเป็นเหตุทะเลาะวิวาท ต่อมาเห็นรถของทหารผ่านเข้ามาในซอยข้างโบสถ์ เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในรถตะโกนถามว่า ‘ตรงนี้ทำอะไรกัน’ จำเลยตอบไปว่า ‘กำลังฉลองปีใหม่’ จากนั้น ขณะที่รถกำลังถอยกลับไปที่ลาน จำเลยรีบเดินจนไปถึงก่อน และได้เห็นชาวบ้านกำลังยืนพูดคุยอยู่คล้ายว่าเหตุการณ์บางอย่างได้สิ้นสุดลงแล้ว เห็นทหารบางคนซึ่งจำหน้าไม่ได้ และเห็นทหารสวมเสื้อเกราะพกอาวุธปืนยาวไม่ทราบชนิด เมื่อถามชาวบ้านว่าเกิดอะไรขึ้นจึงเข้าใจว่ามีทหารมาตบหน้าเด็กและคนแก่ สักพักจำเลยจึงเดินกลับมาที่โบสถ์ได้ยินคนหนึ่งในรถตะโกนบอกว่า ‘ไม่มีอะไรแล้วกลับไปฉลองปีใหม่ได้’ 
 
ไมตรีเล่าว่า ขณะอยู่ในโบสถ์ในคืนนั้น ไพรนภาซึ่งเป็นผู้บันทึกวิดีโอในเหตุการณ์ชุลมุนซึ่งเกิดขึ้นก่อนจำเลยเดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุไว้ได้นำคลิปมาให้ดู ซึ่งบันทึกไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือ ในคลิปนี้ ปรากฏชายคนหนึ่งพกอาวุธปืนสั้นไว้ที่บริเวณเอว จำไม่ได้ว่าสวมเครื่องแบบหรือไม่  
 
ชาวบ้านขอให้จำเลยบันทึกวิดีโอในวันต่อมาซึ่งเป็นการเดินทางไปเจรจาที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลเมืองนะ เพราะต่างทราบโดยทั่วไปว่าจำเลยบันทึกภาพกิจกรรมในหมู่บ้านและเผยแพร่ในเฟสบุ๊กเป็นปกติอยู่แล้ว ตอนแรกจำเลยปฏิเสธเพราะเหนื่อยล้าแต่ในที่สุดก็ร่วมเดินทางไปกับชาวบ้าน โดยเริ่มบันทึกวิดีโอตั้งแต่ออกเดินทางจากหมู่บ้าน เมื่อไปถึงเห็นจ่าสิบเอกมานพก่อน สักพักจึงได้พบกับผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในอาการมึนงงอยู่ ชาวบ้านอธิบายแก่ผู้ใหญ่บ้านว่า เหตุที่เดินทางมาพร้อมกันนี้เพราะเหตุการณ์ในคืนก่อนที่มีเด็กและคนแก่ถูกทำร้าย โดยมีนาแสเป็นผู้นำฝ่ายชาวบ้านในการเจรจา ซึ่งจ่าสิบเอกมานพยืนยันว่าไม่มีการทำร้ายใครตามที่กล่าวหา ทั้งให้ชี้ตัวคนที่ทำร้ายชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านบอกไม่สามารถจดจำใบหน้าได้เพราะถูกสั่งให้ก้มและใช้ปืนจ่อศีรษะขณะถูกตบ เมื่อจะลุกขึ้นก็มีคนกดให้นั่งลง จ่าสิบเอกมานพจึงไปเชิญผู้บังคับบัญชามาร่วมในการเจรจา ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงจำเลยสังเกตเห็นว่า เจ้าหน้าที่บางคนยังอยู่ในอาการมึนงงว่าเกิดเหตุการณ์อะไรในวันดังกล่าว นาแสจึงพยายามอธิบายว่า ชาวบ้านเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารนำคนที่ทำร้ายออกมากล่าวขอโทษ เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาทั้งยืนยันว่า หากไม่สามารถชี้ตัวได้ก็ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบได้ ชาวบ้านบอกว่าคนที่เข้ามาตบชาวบ้านโดยสารมากับรถยนต์กระบะของเจ้าหน้าที่ยี่ห้อเชฟโรเลตสีดำ ดังนั้นชาวบ้านจึงเข้าใจว่าบุคคลดังกล่าวย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ทหารด้วย
 
ไมตรี เล่าว่า เนื่องจากในคืนนั้น พบคาร์ฟซึ่งเป็นวัยรุ่นจากบ้านเมืองนะอยู่ในรถคันดังกล่าว จึงมีการตามตัวคาร์ฟมาร่วมในการเจรจาครั้งนี้ซึ่งจำเลยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พามา เมื่อแรกเห็นชาวบ้านก็จำได้ทันทีว่าคาร์ฟคือวัยรุ่นคนเดียวกับที่พบในรถยนต์คันดังกล่าว แต่คาร์ฟมีอาการกังวลกลัวและลังเล ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไร ในวันดังกล่าวไม่มีการนำเจ้าหน้าที่ทหารมาให้ชาวบ้านชี้ตัวจริงตามที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการเรียกชุดรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน (ชรบ.) มาให้ชี้ตัวแทนเพราะทหารเป็นผู้บอกกับชาวบ้านว่าคนที่ทำร้ายพวกเขานั้นไม่ใช่ทหารแต่เป็นบุคคลที่แต่งกายคล้ายชรบ. 
 
ไมตรี เล่าว่า ในจังหวะที่คล้ายว่าคาร์ฟกำลังจะบอกอะไรบางอย่าง หัวหน้าชุดก็ถอดหมวกกล่าวขอโทษทันทีซึ่งในตอนนี้ไม่ได้บันทึกวิดีโอไว้ เมื่อเห็นเช่นนั้น ชาวบ้านยิ่งมั่นใจว่าต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทหารอย่างแน่นอนที่เข้าไปทำร้าย จึงเรียกร้องให้ผู้กระทำผิดจริงมาขอโทษด้วยตนเองไม่ใช่การขอโทษแทนกันเช่นนั้น โดยเสนอว่า หากไม่สะดวกที่จะกล่าวขอโทษต่อหน้าทุกคนให้ไปขอโทษเป็นการส่วนตัวกับคนแก่ที่ถูกทำร้ายต่อหน้าผู้นำชุมชน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนี้ได้ นาแสจึงไปเจรจากับเจ้าหน้าที่บริเวณหลังบ้านก่อนออกมาประกาศขอให้ยุติการเจรจา ทุกคนจึงเดินทางกลับบ้าน
 
ไมตรี เล่าต่อว่า หลังจากชาวบ้านกลับถึงหมู่บ้านกองผักปิ้ง สักพักนาแสก็กลับมาและแจ้งกับชาวบ้านว่า ทหารได้ยอมรับแล้วพร้อมให้ดูสำเนาเอกสารที่เป็นข้อตกลงระหว่างทหารกับตัวแทนชาวบ้าน ข้อความในเอกสารนี้ทำให้ชาวบ้านยิ่งเชื่อว่าทหารทำร้ายชาวบ้านจริง ทั้งยังไม่เป็นที่พอใจด้วยเพราะคนที่ถูกทำร้ายไม่ได้ร่วมอยู่ในขณะทำเอกสารฉบับนี้ ชาวบ้านจึงขอให้จำเลยเผยแพร่คลิปวิดีโอที่บันทึกไว้ในเฟซบุ๊กเซฟลาหู่ จำเลยจึงโพสต์คลิปดังกล่าวในวันเดียวกันนั้นและถูกนำไปตัดต่อและเพิ่มข้อความให้ดูรุนแรงขึ้น
 
ไมตรี เล่าด้วยว่า ก่อนเผยแพร่คลิป จำเลยได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีใจความว่า ‘ขอขอบคุณพระเจ้า เหตุการณ์ได้จบลงแล้วด้วยดี’ ซึ่งผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะนั้นชาวบ้านเองยังไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่
 
ไมตรี เบิกความต่อว่า ในวันที่ 2 มกราคม 2558 นาแสโทรศัพท์หาจำเลยและแจ้งว่าทหารไม่พอใจที่จำเลยเผยแพร่คลิป จำเลยจึงตัดสินใจลบทันทีในคืนนั้น จนวันต่อมา เมื่อกลับเข้าไปดูอีกครั้งจึงพบว่ามีการนำไปแชร์ต่อแล้ว เท่าที่จำได้คนที่แชร์ต่อ คือ เฟซบุ๊กแฟนเพจกูต้องได้ร้อยล้านจากทักษิณแน่ๆ ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ ในเอกสารที่เป็นหลักฐานในชั้นตำรวจก็มาจากแฟนเพจนี้ เฟซบุ๊กดังกล่าวปกติแล้วจะโพสต์เกี่ยวกับการเมือง จำเลยให้การกับพนักงานสอบสวนว่า 
 
ส่วนข้อความประกอบคลิปที่ทหารนำไปแจ้งความนั้นเป็นข้อความที่เขียนโดยจำเลยทั้งหมดหรือไม่ ไมตรีตอบว่าจำไม่ได้ 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง: อมรเทพ ปุกคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
 
อมรเทพ เบิกความว่า เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลเมืองนะ เป็นที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า พ่อหลวง ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่บ้าน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ขณะเพิ่งกลับจากธุระถึงบ้านเวลาประมาณ 09.00 น. พบว่ามีกลุ่มชาวบ้านจากบ้านกองผักปิ้งและทหารมาทำการเจรจาที่ที่ทำการผู้ใหญบ้าน เบื้องต้น ชาวบ้านเรียกร้องเกี่ยวกับเหตุที่เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเข้าไปทำร้าย พยานจึงเรียกชุดรักษาความปลอดภัยทั้งหมดมาให้ชาวบ้านดูตัวเพื่อระบุว่าใครเป็นผู้ที่เข้าไปทำร้าย เมื่อเห็นว่าไม่มีชาวบ้านคนใดสามารถระบุได้ จึงเรียกคาร์ฟมาชี้ตัว ซึ่งก็ไม่มีการชี้ใคร ส่วนเหตุที่ชาวบ้านบอกกับพยานว่าชุดรักษาความปลอดภัยไปทำร้ายพวกเขานั้นเพราะทราบมาตามที่เจ้าหน้าที่ทหารบอก 
 
อมรเทพ เล่าว่า ในวันนั้น ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้ทหารนำตัวผู้กระทำผิดมากล่าวขอโทษ แต่ฝ่ายทหารไม่ยอมรับผิด กระทั่งจ่าสิบเอกทวีขอโทษต่อหน้าชาวบ้านจึงเป็นที่พอใจของนาแสและวิโรจน์ นาแสจึงให้ทำบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร บุตรชายของนาแสเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับดังกล่าว พยานและจ่าสิบเอกทวีได้ร่วมลงนามในเอกสารฉบับนี้และบันทึกไว้ในสมุดบันทึกการประชุมของหมู่บ้าน ก่อนลงลายมือชื่อบุตรของนาแสอ่านให้ทุกคนฟังแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดคัดค้านจึงลงชื่อไว้ เมื่อจัดทำเอกสารแล้วเสร็จ พยานได้ถ่ายสำเนาให้บุคคลที่ลงลายมือชื่อไว้ทุกคน 
 
ต่อมาจ่าสิบเอกมานพมาแจ้งกับพยานว่าเอกสารไม่ถูกต้องจึงนำเอกสารฉบับที่จัดทำขึ้นใหม่มาให้ลงลายมือชื่อไว้ ส่วนจะไม่ถูกต้องอย่างไรนั้น จ่าสิบเอกมานพไม่ได้อธิบายในรายละเอียด เมื่ออัยการโจทก์ให้ดูเอกสารเพื่อยืนยันก็เห็นว่ามีการระบุไว้ในเอกสารฉบับใหม่ว่า เอกสารฉบับเดิมคลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงได้มีการระบุในเอกสารใหม่ว่าไม่มีบุคคลใดไปทำร้ายตบตีชาวบ้าน เอกสารนี้จ่าสิบเอกมานพเป็นผู้จัดทำทั้งหมด พยานไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และจำไม่ได้ว่ามีผู้อื่นลงลายมือชื่อไว้ก่อนแล้วหรือไม่ ส่วนจะนำไปให้ผู้อื่นลงลายมือชื่อต่อจากนั้นหรือไม่ อย่างไร พยานไม่ทราบ เอกสารนี้จ่าสิบเอกมานพนำมาให้พยานลงลายมือชื่อในวันที่ 3 มกราคม 2558 แต่ระบุในเอกสารว่าจัดทำขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2558 
 
4 กุมภาพันธ์ 2559 
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม: นาคา จะวอ พยานผู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งอ้างว่าถูกตบ 
 
นาคาเบิกความผ่านล่ามเป็นภาษาลาหู่ว่า มีความเกี่ยวข้องกับจำเลยโดยเป็นป้าสะใภ้ของจำเลย 
 
ประมาณ 20.00 น. ของวันเกิดเหตุ นาคาอยู่ในบ้านแล้วรู้สึกหนาวจึงออกมาผิงไฟที่ลานกลางหมู่บ้านซึ่งเด็กๆ ชอบมาเตะฟุตบอล ขณะที่จำเลยออกมามีเด็กอายุประมาณ 10-12 ขวบนั่งอยู่บริเวณนั้นด้วย วรเดชซึ่งเป็นบุตรของนาคาก็นั่งอยู่ด้วย นาคามาถึงจุดเกิดเหตุครู่หนึ่งมีรถยนต์สีดำขับมาจอด จากนั้นคนที่มากับรถก็เดินตรงมาตบที่ท้ายทอยของนาคาและคนที่นั่งอยู่ด้วยทุกคนโดยไม่พูดอะไร นาคาจำไม่ได้ว่ามีคนมากับรถดังกล่าวกี่คนและคนที่มาแต่งตัวอย่างไรเพราะถูกสั่งให้นั่งก้มหน้า
 
นาคาสังเกตเห็นว่า คนที่ลงจากรถมีอาวุธปืน คนหนึ่งมีปืนสั้น อีกคนหนึ่งถือปืนยาวจ่อวรเดช วรเดชพยายามลุกยืนนาคาจีงเอื้อมไปมือไปจับแล้วบอกให้นั่งลง ในเวลาต่อมากลุ่มคนที่เข้ามามีการใช้โทรศัพท์ ครู่หนึ่งจึงมีทหารตามเข้ามาในพื้นที่ นาคาฟังไม่ออกว่าชายกลุ่มแรกกับทหารที่ตามเข้ามาคุยอะไรกันบ้าง ก่อนกลับทหารได้ร่วมถ่ายภาพกับชาวบ้านตามที่ชาวบ้านขอ
 
ในวันที่ 1 มกราคม 2558 นาคาร่วมเดินทางไปเจรจาที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านด้วย แต่ไม่มีใครสอบถามนาคาเกี่ยวกับกรณีที่นาคาถูกทำร้ายร่างกาย
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
นาคาเบิกความตอบอัยการว่า ไม่ได้รู้จักกับทหารในพื้นที่ตำบลเมืองนะ ไม่ได้รู้สึกชอบหรือเกลียดและไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองอะไรกับทหารมาก่อน นาคาไม่ได้ไปแจ้งความกรณีที่ถูกตบ แต่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารไปแจ้งความดำเนินคดีไมตรี นอกจากนี้นาคาก็ไม่เคยไปให้การในฐานะพยานในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สี่: ไพรนภา ผู้บันทึกเหตุการณ์ชุลมุนในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557
 
ไพรนภาเบิกความว่าบ้านของเธออยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร ในเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ไพรนภาอยู่ในบ้าน ระหว่างนั้นได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ตามด้วยเสียงรถยนต์ขับเข้ามาในหมู่บ้าน จากนั้นก็ได้ยินเสียงพูดคุยดังมาจากบริเวณลานเอนกประสงค์ ไพรนภารู้สึกว่าผิดปกติจึงเดินออกไปดูก็เห็นว่ารถที่ขับเข้ามาจอดหันหน้าเข้าหาเด็กๆที่นั่งอยู่ที่สนาม 
 
ขณะที่เดินไปที่ลานกลางหมู่บ้าน ไพรนภาเห็นเด็กประมาณหกถึงเจ็ดคนนั่งก้มหน้าและเห็นนาคาอยู่ในบริเวณนั้นด้วย นอกจากนั้นก็เห็นคนที่ลงจากรถบางคนสวมเสื้อเกราะ และมีอาวุธทั้งปืนสั้นและปืนยาว ขณะเดียวกันก็เห็นชาวบ้านก็เริ่มออกมามุงดูเหตุการณ์

ไพรนภาจำไม่ได้ว่าชายสวมเสื้อเกราะพูดอะไรบ้าง แต่ได้ใช้โทรศัพท์บันทึกเหตุการณ์เป็นคลิปวิดีโอไว้ เมื่อทนายให้ไพรนภาชมภาพที่ถ่ายมาจากคลิปวิดีโอ ไพรนภายืนยันว่าเป็นคลิปที่บันทึกไว้เอง และยืนยันว่าผู้หญิงที่สวมเสื้อสีชมพูตามภาพคือนาคา
 
ทนายจำเลยย้อนถามถึงข้อความที่ไพรนภาตะโกนในคลิปวิดีโอว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายประชาชน แต่ประชาชนต่อต้าน” ไพรนภาชี้แจงว่าหมายถึงเจ้าหน้าที่ทหารไม่ใช่ตำรวจแต่ตอนนั้นพูดผิดไป ไพรนภากล่าวด้วยว่า ได้ยินวัยรุ่นคนหนึ่งตะโกนว่าถูกตบหน้า จึงเข้าใจว่าทหารตบหน้าชาวบ้าน

เมื่อบันทึกวิดีโอไปครู่หนึ่งมีชายคนหนึ่งกับทหารนายหนึ่งเดินอ้อมมาข้างหลังแล้วคว้าโทรศัพท์ของไพรนภาไปและพยายามลบวิดีโอที่บันทึกไว้ แต่ชาวบ้านหลายคนช่วยขอคืนจึงได้โทรศัพท์คืน
 
ในเวลาต่อมามีเจ้าหน้าที่ทหารราวเจ็ดถึงแปดคนตามมาสมทบในพื้นที่ ไพรนภาจำไม่ได้ว่าทหารที่เข้ามาพกอาวุธมาด้วยหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าทหารกลุ่มหลังเข้าไปคุยกับชายที่เข้ามากลุ่มแรกหรือไม่ เมื่อทหารและชายกลุ่มแรกกลับไป ไพรนภาจึงเดินเท้ากลับไปที่บ้านซึ่งอยู่ใกล้โบสถ์ก็เห็นไมตรีอยู่ในโบสถ์จึงนำวิดีโอที่บันทึกไว้ไปให้ดู คนที่อยู่กับไมตรีต่างชมคลิปไปดังกล่าวด้วย และลงความเห็นว่าควรนำคลิปไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพจ รักลาหู่ ซึ่งใช้นำเสนอกิจกรรมและเหตุการณ์ในหมู่บ้าน
 
เช้าวันที่ 1 มกราคม 2558 ชาวบ้านจากบ้านกองผักปิ้งเกือบทั้งหมู่บ้านเดินทางไปยังที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ขณะที่มีเจรจา ไพรนภารอยู่ข้างนอก หลังกลับจากการเจรจา ไพรนภาทราบว่ามีการนำคลิปขณะเจรจาไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตและทราบว่าการเผยแพร่คลิปเป็นไปตามความเห็นชอบของชาวบ้าน
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
ไพรนภาเบิกความตอบอัยการว่า ตนเองอาศัยอยู่ที่บ้านกองผักปิ้งมาประมาณ 20 ปี แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในตัวเมือง ในคืนเกิดเหตุไพรนภาเดินทางกลับไปที่บ้านกองผักปิ้งและพบเจ้าหน้าที่ทหารในหมู่บ้าน ไพรนภาไม่ทราบว่าทหารที่มาชื่ออะไรแต่ทราบว่าเป็นทหารโดยพิจารณาจากการแต่งกาย สำหรับชายที่สวมเสื้อเกราะไพรนภาจำไม่ได้ว่าสวมเครื่องแบบทหารหรือไม่ ไพรนภาไม่ได้นำคลิปที่ถ่ายไว้ไปให้ทหารดู ส่วนที่ไม่ได้ไปแจ้งความเป็นเพราะไม่ได้เป็นคนที่ถูกทหารตบในคืนเกิดเหตุ
 
สืบพยานจำเลยปากที่ห้า: วรเดช จะวอ พยานผู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งอ้างว่าถูกทหารตบ
 
วรเดชเบิกความว่าตนเองเป็นชาวไทยเชื้อสายลาหู่และเป็นบุตรของนาคาซึ่งเป็นพยานจำเลยในคดีอีกคนหนึ่ง ขณะเกิดเหตุกำลังศึกษาที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่
 
วันที่ 31 ธันวาคม 2557 หลังจากเตะฟุตบอลที่ลานเอนกประสงค์ของหมู่บ้าน วรเดชนั่งผิงไฟกับเพื่อนที่เตะฟุตบอลด้วยกัน นาคาซึ่งเป็นแม่ของวรเดชนั่งอยู่ตรงนั้นด้วย

เวลาประมาณ 20.00 น. มีรถกระบะสีดำคันหนึ่งขับเข้ามาจอดที่ลานกลางหมู่บ้านแล้วส่องไฟสปอตไลต์มายังจุดที่วรเดชกับพวกกำลังนั่งผิงไฟ เมื่อรถจอดชายกลุ่มหนึ่งวิ่งลงจากรถ ชายคนหนึ่งเอาปืนยาวจ่อหัววรเดชพร้อมถามว่า "ลูกพี่มึงอยู่ไหน" แล้วตบศีรษะแม่ของวรเดชรวมทั้งเด็กคนอื่นๆ วรเดชจำได้ว่าคนที่ตบมีรอยสักแต่จำไม่ได้ว่าแต่งกายอย่างไร วรเดชเห็นคนที่พกปืนสั้นอีกหนึ่งคน สำหรับความรู้สึกขณะนั้นวรเดชรู้สึกตกใจกลัวและโกรธที่ชายคนนั้นตบแม่ของเขา 
 
ในเวลาต่อมาชาวบ้านเริ่มทยอยออกมามุงดูเหตุการณ์ ทนายย้อนถามวรเดชว่าเห็นหรือไม่ว่าตอนที่ถูกตบใครเป็นคนตบ วรเดชรับว่าตอนถูกตบมองไม่เห็นว่าใครเป็นคนทำ แต่เมื่อยืนขึ้นก็เห็นคนสวมเสื้อเกราะและพกอาวุธปืนอยู่ในที่นั้น จึงเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร หลังถูกตบครู่หนึ่งก็มีทหารอีกกลุ่มตามมาสมทบ ทั้งสองกลุ่มไม่มีท่าทีจะต่อสู้กัน ทหารที่เข้ามาภายหลังบอกให้ชาวบ้านไปเจรจาไกล่เกลี่ยกันที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หลังเกิดเหตุคืนนั้นวรเดชนั่งผิงไฟต่อจนถึงเวลา 23.00 น.จึงกลับบ้าน
 
วันที่ 1 มกราคม 2558 เวลา 09.00 น. วรเดชและชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านเดินทางไปที่ทำการผู้ใหญ่บ้านเพื่อเรียกร้องให้คนที่ตบชาวบ้านมากล่าวขอโทษ เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งอยู่ในที่เจรจาบอกกับวรเดชว่าเรื่องได้ยุติเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อคืน ทนายจำเลยให้ดูภาพจากคลิปวิดีโอที่อ้างส่งต่อศาลเป็นหลักฐาน วรเดชยืนยันว่าตัวเองอยู่ในคลิปวิดีโอด้วยโดยสามเสื้อคอกลมสีเขียว ตามคลิปมีเสียงวรเดชพูดว่า "ตบผมผมไม่ว่า ตบแม่ยอมไม่ได้"

ในการเจรจาไม่มีการนำคนที่ตบมากล่าวขอโทษและไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในที่ประชุม วรเดชเชื่อว่าคนที่ตบชาวบ้านเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร เพียงแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเจ้าหน้าที่คนใด  ต่อมาวรเดชกับชาวบ้านเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรนาหวาย แต่วรเดชไม่ทราบรายละเอียดการพูดคุยที่สถานีตำรวจ
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
วรเดชตอบคำถามค้านอัยการว่า ตนเองไม่ได้นำคลิปวิดีโอให้ทหารดูเพื่อช่วยติดตามนำผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ โดยทั่วไปวรเดชจะทราบว่าบุคคลใดเป็นทหารก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นแต่งเครื่องแบบ วรเดชรู้จักไมตรีมานานแล้วแต่ก็ไม่ได้เล่าเรื่องที่ตัววรเดชและชาวบ้านคนอื่นถูกตบให้ไมตรีฟัง วรเดชตอบอัยการว่าชาวบ้านที่ถูกตบไม่สามารถยืนยันได้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารคนใดเป็นผู้ตบแต่ยืนยันว่ามีการตบจริง   
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
วรเดชตอบคำถามติงของทนายว่า วรเดชไม่ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนการแจ้งความ ส่วนเหตุที่ไม่มีการชี้ตัวใครในที่ประชุมที่ทำการผู้ใหญ่บ้านเป็นเพราะไม่มีใครจดจำใบหน้าของผู้กระทำได้
 
สืบพยานจำเลยปากที่หก: มาโนช จะลา พยานผู้เห็นเหตุการณ์ 
 
มาโนชเบิกความว่า บ้านของเขาอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 40 เมตร ในคืนเกิดเหตุ เวลาประมาณ 20.00 น. มาโนชอยู่ที่บ้านเพื่อนซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 60 เมตรก็ยินเสียงคล้ายวัยรุ่นทะเลาะกันจึงออกไปดู ระหว่างเดินไปสังเกตเห็นรถกระบะชนิดสี่ประตูสี่ดำจอดอยู่ พบนาคา วรเดชและชาวบ้านอีกหลายคนในบริเวณดังกล่าวและกำลังโวยวายว่าถูกทหารตบตี นอกจากนี้ก็เห็นทหารล้อมอยู่บริเวณนั้น
 
มาโนชจึงเดินเข้าไปสอบถามเหตุกับทหารและบอกทหารว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ถูกต้อง ควรประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านแทนการใช้กำลัง ขณะที่เหตุการณ์ดำเนินไปไพรนภาซึ่งกำลังบันทึกวิดีโออยู่ก็ถูกทหารแย่งโทรศัพท์ มาโนชจึงไปขอคืนและบอกให้ทหารกลับไปก่อน
 
หลังจากนั้นไม่นานก็มีทหารอีกชุดตามมาแล้วบอกกับชาวบ้านว่า "ไม่มีอะไรแล้ว ให้กลับไปฉลองปีใหม่ได้" เจ้าหน้าที่ชุดที่มาก่อนกลับไปก่อน ตามด้วยเจ้าหน้าที่ชุดที่เข้ามาในพื้นที่ภายหลัง
 
ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2558 วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและนาแสเรียกชาวบ้านกองผักปิ้งไปที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เมื่อไปถึงมาโนชเห็นเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาในหมู่บ้านชุดแรกด้วย ชาวบ้านเรียกร้องให้นำตัวคนที่ตบชาวบ้านมาขอโทษ หากไม่สามารถทำได้ให้ทหารย้ายออกจากพื้นที่ ชาวบ้านยังขอให้เด็กชายชาวไทยใหญ่ซึ่งเดินทางไปบ้านกองผักปิ้งในคืนเกิดเหตุมาชี้ตัวว่าใครเป็นคนทำร้ายชาวบ้าน อมรเทพจึงนำตัวเด็กคนดังกล่าวมาในที่ประชุม 
 
นาแส ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านออกไปตกลงกับเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณหลังบ้าน ก่อนออกมาบอกชาวบ้านให้ยุติการเรียกร้องเพราะทหารยอมรับแล้วว่าเป็นฝ่ายกระทำความผิด ชาวบ้านจึงเดินทางกลับ แม้จะยังไม่มีการนำคนที่ทำร้ายชาวบ้านมาขอโทษตามข้อเรียกร้อง ขณะที่เด็กชาวไทยใหญ่ไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้เพราะเป็นเหตุชุลมุนและมืด 
 
เมื่อกลับถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านขอให้ไมตรีโพสต์ข้อความและคลิปวิดีโอลงบนเฟซบุ๊ก เมื่อนาแสเดินทางมาถึงได้นำเอกสารซึ่งเป็นข้อตกลงมาให้ชาวบ้านดู ชาวบ้านหลายคนดูเอกสารและเข้าใจว่าทหารยอมรับว่ามาตบชาวบ้านจริง แต่ยังรู้สึกไม่พอใจเพราะแม้ทหารจะยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิดแต่ไม่ได้นำตัวคนที่ตบมาขอโทษ
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
มาโนชตอบคำถามค้านของอัยการว่า เขาไม่เห็นคนที่ตบเด็ก และไม่ทราบว่ามีการทะเลาะกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่นจากบ้านกองผักปิ้งกับบ้านเมืองนะ มาโนชเคยถามเด็กที่ถูกตบแล้วถึงหน้าตาและลักษณะการแต่งตัวของคนที่ตบพวกเขาแต่เด็กเหล่านั้นไม่สามารถจำได้ว่าคนที่มาตบเป็นใครและแต่งกายอย่างไร ทราบเพียงว่าคนที่ตบมากับรถทหารจึงเข้าใจว่าเป็นทหาร
 
เมื่อเบิกความมาถึงตรงนี้มีเสียงหัวเราะของผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีดังเป็นระยะ อัยการจึงขอให้มาโนชบอกกับผู้มาสังเกตการณ์ด้วยภาษาชนเผ่าว่าการหัวเราะรบกวนสมาธิของอัยการในการตั้งคำถามพยาน เมื่อมาโนชแสดงท่าทีไม่เข้าใจที่อัยการถามว่า ที่สุดแล้วมีการระบุตัวผู้ที่ตบชาวบ้านตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อัยการก็พูดกับมาโนชว่า  "ไม่ต้องงง เพราะถามตรงๆ แล้ว" 
 
มาโนชเบิกความตอบอัยการต่อว่า ที่จำเลยนำวิดีโอและข้อความเกี่ยวกับการเจรจาไปเผยแพร่เพราะจำเลยเป็นที่ไว้วางใจของชาวบ้าน ทั้งยังบันทึกภาพและวิดีโอเป็นปกติอยู่แล้ว สำหรับตัวจำเลยทราบว่าไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน โดยจำเลยเป็นครูสอนศาสนา และเคยทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมของชนเผ่าลาหู่
 
สำหรับกรณีที่มีชาวบ้านถูกตบ ตัวมาโนชรวมทั้งชาวบ้านกองผักปิ้งเคยเดินทางไปให้ข้อมูลกำตำรวจแต่ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใดเพราะไม่ทราบกระบวนการ
 
สืบพยานจำเลยปากที่เจ็ด: อาลี พยานผู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตบ
 
อาลี พยานอายุ 14 ปี เบิกความผ่านนักจิตวิทยาว่า ในวันเกิดเหตุ เขากำลังนั่งผิงไฟกับเพื่อนราว 10 – 15 คนที่บริเวณสนามฟุตบอลและมีหญิงชราซึ่งเขาจำชื่อไม่ได้นั่งอยู่ด้วย ในเวลาต่อมามีรถเชฟโรเลตสีดำขับเข้ามาแล้วส่องไฟมายังจุดที่อาลีกับพวกนั่งอยู่ มีผู้ชายวิ่งลงจากรถเข้ามากดหัวเขาและเพื่อนในกลุ่มให้นั่งลง
 
ชายคนหนึ่งในนั้นใช้มือตบที่หัวของทุกคนแล้วถามว่า "ลูกพี่มึงอยู่ไหน" แต่ทุกคนนั่งนิ่งไม่มีใครตอบคำถาม อาลีนั่งอยู่บริเวณขอบลานคอนกรีต มองไม่เห็นชัดเจนว่าใครกำลังทะเลาะกันเพราะแสงจากสปอตไลท์ของรถส่องตา รวมทั้งถูกคนสั่งให้ก้มหัวด้วย อาลีจำได้ว่ามีผู้บันทึกวิดีโอแล้วถูกทหารแย่งโทรศัพท์มือถือที่ใช้ถ่ายไป
 
หลังจากนั้นแม่ของอาลีก็เรียกให้กลับบ้าน ระหว่างเดินกลับเขาสังเกตเห็นรถลักษณะคล้ายรถทหารขับสวนขึ้นไปยังลานเอนกประสงค์แล้วจอดหลังรถเชฟโรเลต 
 
อาลีเบิกความเพิ่มเติมว่า ขณะถูกสั่งให้ก้มหัวรู้สึกตกใจกลัว ยายที่นั่งผิงไฟอยู่ด้วยก็ถูกตบหัวเช่นกัน เมื่อถูกถามว่า "ลูกพี่มึงอยู่ไหน" อาลีไม่ทราบว่าผู้ถามหมายถึงใคร ขณะที่วรเทพเพื่อนอีกคนที่นั่งอยู่ก็ถูกตบจนศีรษะไปกระแทกกำแพง 
 
อาลีตอบคำถามค้านของอัยการว่า เขารู้จักกับจำเลยมาตั้งแต่เด็ก ในคืนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และเขาไม่ได้นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเล่าให้จำเลยฟังด้วย
 
สืบพยานจำเลยปากที่แปด: วรเทพ พยานผู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตบ
 
วรเทพ พยานอายุ 14 ปี เบิกความผ่านนักจิตวิทยาว่า ตนเองประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรและมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกับจำเลย 
 
ในวันเกิดเหตุ วรเทพนั่งผิงไฟที่ขอบสนามกีฬากับเพื่อนเจ็ดถึงแปดคน ในเวลา 20.00 น. รถของทหารซึ่งเป็นรถสี่ประตูสีดำขับเข้ามาจอดและเปิดไฟสูงส่องมายังจุดที่วรเทพกับพวกกำลังผิงไฟ เมื่อรถจอดมีชาย สี่ถึงห้าคนลงจากรถ บางคนสวมเครื่องแบบทหาร บางคนไม่สวมเครื่องแบบ มีคนหนึ่งมาตบศีรษะวรเทพและเพื่อนทุกคนแล้วถามว่า "พี่มึงอยู่ไหน" หลังจากนั้นวรเทพก็จำรายละเอียดของเหตุการณ์ไม่ได้ แต่วรเทพก็จำได้ว่าหญิงชราชื่อนาคาซึ่งนั่งผิงไฟอยู่ด้วยก็ถูกตบศีรษะเช่นกัน
 
สืบพยานจำเลยปากที่เก้า: จะดอ พยานผู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตบ
 
จะดอ พยานอายุ 15 ปี เบิกความผ่านนักจิตวิทยาว่า ก่อนเกิดเหตุเล่นฟุตบอลและนั่งผิงไฟที่สนามกีฬาของบ้านกองผักปิ้ง เท่าที่จำได้มีวรเทพ พาลี และนาคาซึ่งเป็นหญิงชรานั่งร่วมผิงไฟอยู่ด้วย
 
ประมาณ 20.00 น. มีรถสีดำขับเข้ามา เมื่อรถจอดมีชายราวห้าคนวิ่งลงจากรถ ชายคนหนึ่งเข้ามาตบศีรษะของจะดอและพวกพร้อมถามว่า ‘พี่มึงอยู่ไหน’ นาคาก็ถูกตบด้วย จะดอรู้สึกกลัวและไม่เข้าใจว่าพี่ในคำถามหมายถึงผู้ใด จะดอก้มหน้าราวสองถึงสามนาที เมื่อเงยหน้าขึ้นเห็นชาวบ้านมุงอยู่และเห็นรถทหารขับตามเข้ามาในพื้นที่ โดยจะดอคาดว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบมากับรถคันดังกล่าวราวสิบนาย
 
นอกจากรถทหารที่มาใหม่ รถเชฟโรเลตที่เข้ามาคันแรกยังจอดอยู่ที่เดิม คนที่โดยสารมากับรถคันดังกล่าวก็ยังอยู่ในที่เกิดเหตุแต่จะดอจำไม่ได้ว่าพวกเขาพกอาวุธหรือไม่ หลังจากนั้นจะดอก็เดินกลับบ้าน ก่อนจะเดินทางไปเข้าร่วมเจรจาที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในวันรุ่งขึ้น ในคืนเกิดเหตุจะดอจำไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ 
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานในวันสุดท้าย ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 มีนาคม 2559
 
9 มีนาคม 2559
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เวลา 10.15 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องไมตรีในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) จากการโพสต์คลิปและข้อความว่าทหารตบชาวบ้านบนเฟซบุีกส่วนตัว
 
ศาลพิพากษายกฟ้องไมตรีโดยให้เหตุผลว่า หลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าจำเลยเป็นคนโพสต์ข้อความ และแม้จำเลยจะรับว่าโพสต์ข้อความตามฟ้องบางส่วนจริง ศาลก็เชื่อว่าจำเลยโพสต์ไปโดยเข้าใจว่าเป็นความจริง จึงไม่เข้าองคืประกอบความผิด
 
หลังศาลมีคำพิพากษา ไมตรีขอบคุณผู้มาให้กำลังใจเขาทั้งในศาลและผู้ให้กำลังใจบนโลกออนไลน์ผ่านแฮชแท็ก #เรามีไมตรี พร้อมยืนยันจะทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองประจำหมู่บ้านต่อไป

ขณะที่ทนายอาสาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งว่าความให้ไมตรีก็เปิดเผยว่า หวังว่าคำพิพากษาของคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีที่กำลังอยู่ในชั้นพิจารณาหรือคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในเรื่องความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางเทคโนโลยี และการวินิจฉัยเจตนาของจำเลย

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งเป็นเอกสารที่พิมพ์ขึ้นจากการจัดทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่มีน้ำหนักที่จะพอฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง
 
แม้จำเลยจะเบิกความยอมรับว่า เป็นผู้โพสต์คลิปและข้อความบางส่วนตามที่โจทก์ฟ้อง แต่จำเลยมีพยานทั้งเด็กและผู้สูงอายุมาเบิกความยืนยันกับศาลตรงกันว่า ในวันเกิดเหตุมีบุคคลสวมเสื้อเกราะเดินทางมากับรถเชฟโรเลตสีดำของเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาตบหน้า เมื่อมีชาวบ้านนำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยจึงนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพราะเข้าใจว่าเป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด
 
การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ได้ก็ต่อเมื่อจำเลยโพสต์ข้อความโดยรู้ว่าข้อมูลนั้นปลอมหรือเป็นเท็จ พิพากษายกฟ้อง
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา