ณัฐพล: พ่นสีป้ายศาลอาญา

อัปเดตล่าสุด: 19/04/2560

ผู้ต้องหา

ณัฐพล

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ณัฐพล นักดนตรีพังค์อายุ 22ปี ถูกดำเนินคดีฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะจากการพ่นสัญลักษณ์ตัวอักษร เออยู่ในวงกลม ซึ่งอาจเข้าใจได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มอนาธิปไตยที่ป้ายชื่อศาลอาญา

ณัฐพลถูกจับกุมขณะทำงานที่กองถ่ายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 และถูกนำตัวไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน 

หลังถูกควบคุมตัวที่ส.น.สองคืน ณัฐพลถูกนำตัวไปที่ศาลอาญาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 เพื่อขอฝากขังในข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะและเพื่อไต่สวนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ระหว่างรอการไต่สวนในความผิดฐานละเมิดอำนาจอำนาจศาลเพื่อนของณัฐพลไปขอเช่าหลักทรัพย์จากบริษัทประกันแต่บริษัทยังไม่ให้เช่าโดยให้รอคำสั่งศาลเรื่องละเมิดอำนาจศาลก่อน ใน คำสั่งรอลงอาญาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลออกมาในช่วงเย็นณัฐพลจึงเช่าหลักทรัพย์ประกันไม่ทันทำให้ถูกนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันต่อมา

ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ศาลนัดณัฐพลไปสอบคำให้การในความผิดฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ณัฐพลรับสารภาพ ศาลพิพากษาจำคุกณัฐพลเป็นเวลาหนึ่งปีโดยไม่รอลงอาญาแต่อนุญาตให้ณัฐพลประกันตัวระหว่างสู้คดีชั้นอุทธรณ์ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นแต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกเป็นเวลาสองปีจากเดิมที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา

 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ณัฐพลขระถูกจับกุมอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ก่อนถูกจับกุมเขาเป็นนักดนตรีวง ดรังค์ออลเดย์ (Drunkallday) และเป็นลูกจ้างในกองถ่ายของกันตนา

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
กฎหมายอาญามาตรา 360, พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ณัฐพลถูกกล่าวหาว่าใช้สีสเปรย์พ่นตัวอักษรเอในวงกลม ที่บริเวณป้ายศาลอาญา เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯและเป็นการทำลายทรัพย์สินสาธารณะตามกฎหมายอาญามาตรา 360 รวมทั้งอาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาล

พฤติการณ์การจับกุม

ณัฐพลถูกจับกุมที่กองถ่ายซึ่งเขาทำงานอยู่ในเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 5-6 คนไปขอคุยกับเขาที่กองถ่ายก่อนจะเชิญตัวไปที่สน.พหลโยธิน ณัฐพลเล่าว่าเจ้าหน้าที่พูดคุยกับเขาด้วยดีแต่ไม่ได้แสดงหมายจับให้ดู  

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.2342/2558

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

24 พฤษภาคม 2558

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เข้าตรวจสอบ บริเวณป้ายสำนักงานศาลยุติธรรม และ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก หลังมีผู้นำสเปรย์สีดำ มาฉีดพ่นสัญลักษณ์ที่ป้ายศาลดังกล่าว 2 จุด

โดยสัญลักษณ์ที่มีการฉีดพ่น มีลักษณะเหมือนตัวอักษรภาษาอังกฤษตัว “A” ที่มีวงกลมล้อมรอบตัวอักษร คล้ายกับสัญลักษณ์ Anarchy หรือสัญลักษณ์ อนาธิปไตย

บวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมเปิดเผยว่า ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบส่วนแล้ว ส่วนจะตั้งข้อหาใดบ้างจะมีการพิจารณาต่อไป ส่วนข้อหาละเมิดอำนาจศาลอยู่ในดุลพินิจของศาล 

สำหรับการฉีดสัญลักษณ์ครั้งนี้จะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุป

25 พฤษภาคม 2558

เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.อ.ภาณุเดช สุขวงศ์ ผกก.สน.พลหลโยธิน เปิดเผยถึงความคืบหน้า กรณีที่มีผู้นำสเปรย์สีดำมาฉีดพ่นเป็นสัญลักษณ์ อนาธิปไตย ที่ป้ายศาลอาญา ว่า

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนได้ทำการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณโดยรอบศาลอาญา พบว่าคนร้ายเป็นชายอายุราว 30 ปีเศษ  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาได้แล้ว

จะมีการตั้งข้อหา 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาทำให้สาธารณะประโยชน์เสียหาย และ ความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ขณะนี้ตำรวจพอจะรู้ตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้

26 พฤษภาคม 2558

สำนักข่าวไทย รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสนพหลโยธิน สามารถจับกุมณัฐพล ผู้ต้องสงสัยพ่นสเปรย์ใส่ป้ายศาลอาญาได้แล้ว 

27 พฤษภาคม 2558

หลังจากถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินเป็นเวลา 2 คืน ณัฐพลถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัวจาก สน. พหลโยธินไปที่ ศาลอาญา เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ในเวลาประมาณ 10.30 น.  เมื่อไปถึงที่ศาล ณัฐพลถูกนำตัวเข้าไปที่ห้องผู้พิพากษาเวรชี้ ก่อนจะถูกนำตัวไปที่ ห้องพิจารณาคดี 712 เพื่อทำการไต่สวนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากคดีนี้เป็นที่สนใจของสื่อ จึงมีผู้สื่อข่าวมารอสังเกตการณ์การไต่สวนในห้องพิจารณาคดีเป็นจำนวนมาก

ศาลเริ่มการไต่สวนในเวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักอำนวยการศาลอาญาเบิกความต่อศาลว่า ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 ได้รับแจ้งจากหน่วยรักษาความปลอดภัยว่า มีการฉีดพ่นสเปรย์สีดำ เป็นตัวอักษรเอในวงกลมรวมสองจุดบนป้ายศาลอาญา สัญลักษณ์ดังกล่าว คล้ายสัญลักษณ์ที่มีความหมายเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐ จึงรายงานผู้บังคับบัญชา เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาล มีการประสานไปที่สน.พหลโยธินเพื่อให้ดำเนินการจับตัวผู้กระทำผิด โดยใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน 

หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนเจ้าหน้าที่สำนักอำนวยการศาลอาญา ศาลไต่สวนณัฐพลต่อทันที ณัฐพลเบิกความว่า จำไม่ได้ว่าวันเกิดเหตุวันที่เท่าไหร่ แต่จำได้ว่าเหตุเกิดในเวลาประมาณเที่ยงคืน ณัฐพลเล่าว่าก่อนเกิดเหตุตนเดินฟังเพลงออกจากห้องพักซึ่งอยู่ในซอยรัชดา 32  พร้อมกับสีสเปรย์กระป๋องหนึ่ง เมื่อเดินมาถึงสะพานลอยแห่งหนึ่งก็ฉีดรูปตัวเอล้อมด้วยวงกลม เมื่อเดินผ่านป้ายศาลอาญาจึงฉีดสัญลักษณ์แบบเดียวกันสองจุดบนป้ายหน้าศาล

ณัฐพลเบิกความว่าสัญลักษณ์ตัวเอล้อมด้วยวงกลม เป็นสัญลักษณ์ของวงดนตรีต่างประเทศที่ชื่อ แอนตี้ แฟลก (Anti Flag) ณัฐพลเบิกความว่าตนพ่นสีบนป้ายศาลอาญา เพราะคับแค้นใจที่คดีของรุ่นพี่ของตนที่ถูกทหารคนหนึ่งยิงเสียชีวิต ซึ่งไม่มีความคืบหน้า แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับสถานการณ์ทางการเมือง

ณัฐพลเบิกความว่าตนไม่ได้ตั้งใจพ่นสีใส่ป้ายศาลอาญาเป็นการเฉพาะ หากสียังไม่หมดก็คงเดินไปพ่นที่อื่นต่อ ตนทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ว่าการพ่นสีใส่ป้ายศาลอาญาจะเป็นความผิดร้ายแรง ตนสำนึกผิดแล้ว และยินดีช่วยศาลทำความสะอาดและบำเพ็ญประโยชน์

ศาลถามย้ำว่าที่มาพ่นสีที่ป้ายศาลไม่เกี่ยวกับการเมืองใช่หรือไม่ ณัฐพลตอบว่าไม่ใช่ ศาลบอกกับณัฐพลว่า ศาลจะวินิจฉัยและอ่านคำสั่งเรื่องการละเมิดอำนาจศาลในช่วงบ่าย ศาลถามณัฐพลด้วยว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังไว้ต่อศาล ณัฐพลจะคัดค้านหรือไม่ ณัฐพลไม่คัดค้าน

ในช่วงบ่าย ณัฐพลถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี 712 ตั้งแต่ประมาณ 13.50 น. เมื่อณัฐพลเข้ามาในห้องได้ครู่หนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาในห้องพิจารณาคดีและบอกกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่าให้นำตัวณัฐพลลงไปก่อน เพราะศาลจะต้องใช้เวลาหารือคำสั่ง แต่เจ้าหน้าที่ราชทัฑณ์บอกว่าให้อยู่ที่ห้องพิจารณาคดีก็ได้

ศาลขึ้นบัลลังก์อ่านคำสั่งในเวลาประมาณ 16.20 น. โดยวินิจฉัยว่า การพ่นสีสเปรย์บริเวณป้ายศาลอาญา เข้าข่ายเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในเขตศาล และเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาลศาล ให้ลงโทษจำคุกณัฐพลเป็นเวลา 1 เดือน แต่ณัฐพลสำนึกผิด จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี โดยณัฐพลต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติรวมสี่ ครั้ง และให้พนักงานคุมประพฤติรายงานการรายงานตัวต่อศาลทุกครั้ง

ระหว่างการไต่สวนและรอคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลศาล เพื่อนของณัฐพลไปดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวรอไว้ ศาลตีราคาประกันไว้ที่ 90,000 บาท ณัฐพลมีหลักทรัพย์ไม่พอ จึงต้องไปติดต่อซื้อประกันอิสระภาพ แต่บริษัทประกันปฏิเสธที่จะขายหลักทรัพย์ให้ เพราะต้องรอคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลก่อน ปรากฎว่าศาลมีคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลในเวลา 16.20 น. ซึ่งเลยเวลายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว ณัฐพลจึงถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

28 พฤษภาคม 2558

คืนวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 เพื่อนของณัฐพลประกาศระดมทุนเพื่อใช้ซื้อประกันอิสระภาพให้กับณัฐพลบนเฟซบุ๊กก่อนจะปิดระดมทุนในเช้าวันที่ 28 พฤษภาคม ซึ่งปรากฎว่าได้เงินประมาณ 14,000 บาท

เพื่อนของณัฐพลเดินทางมาที่ศาลอาญาตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ตัวแทนบริษัทประกันบริษัทแรกตกลงค่าธรรมเนียมประกันอิสระภาพไว้ที่ 18,000 บาท แต่ต่อมาก็แจ้งกับเพื่อนของณัฐพลว่าทางบริษัทไม่ขายประกันให้ เพราะคดีนี้เป็นคดีใหญ่ อยู่ในความสนใจของสาธารณะ หากณัฐพลได้รับการปล่อยตัวก็อาจเจอแรงกดดันจากสังคมจนต้องหลบหนี ทำให้บริษัทต้องเสียหลักทรัพย์

เพื่อนของณัฐพลติดต่อตัวแทนบริษัทประกันอีก 2 แห่ง ซึ่งเรียกค่าธรรมเนียมเท่ากับบริษัทแรก ก่อนจะปฏิเสธด้วยเหตุผลคล้ายๆกัน เพื่อนของณัฐพลจึงไปเจรจากับตัวแทนบริษัทประกันรายที่ 4 ซึ่งเป็นรายสุดท้ายที่มีตัวแทนอยู่ที่ศาลบริษัทที่ 4 ตกลงขายประกันให้โดยเรียกค่าธรรมเนียม 15,000 บาท 

ตัวแทนบริษัทประกันและเพื่อนของณัฐพลยื่นเอกสารขอปล่อยตัวชั่วคราวในเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลเรียกเงินสดเป็นหลักประกันจากเพื่อนของณัฐพลเพิ่มอีก 10,000 บาท ทำให้หลักทรัพย์ค้ำประกันของคดีนี้มีมูลค่ารวม 100,000 บาท

ในเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวณัฐพลชั่วคราว เขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเวลาประมาณ 21.00 น. 

10 กรกฎาคม 2558
 
พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นฟ้องณัฐพลต่อศาล ในความผิดฐานทำลายหรือทำให้เสื่อมค่า ซึ่งทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ฯ ขูด ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฎซึ่งข้อความ บนกำแพงที่ติดกับถนน กระทำการใดๆให้ป้ายที่ราชการจัดทำไว้เพื่อสาธารณะเกิดความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญามตรา 360 และตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12, 35, 54, 56
 
อัยการบรรยายฟ้องว่าในวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงคืน จำเลยใช้สเปรย์สีดำฉีดพ่นรูปตัวเอในวงกลม บนป้ายศาลอาญา ด้านหน้าและด้านหลังคำว่า "ศาลอาญา" รวม 2 จุด เป็นเหตุให้ป้ายชื่อศาลอาญาที่ทางการจัดทำไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ เกิดความเสียหายและเสื่อมค่า
 
14 กรกฎาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
ณัฐพลเดินทางไปที่ศาลอาญาพร้อมกับเพื่อนอีกหนึ่งคนในเวลา 9.00 น. ตามที่ศาลนัดสอบคำให้การ การสอบคำให้การทำในห้องผู้พิพากษาเวรชี้ ซึ่งบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์ ทำให้เพื่อนของณัฐพลต้องรออยู่ข้างนอก
 
ในห้องผู้พิพากษาเวรชี้ใต้ถุนศาลอาญา เจ้าหน้าที่ศาลถามณัฐพลว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ เมื่อเขาตอบว่าให้การรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ก็นำเอกสารมาให้เซ็น ก่อนที่ผู้พิพากษาจะเรียกณัฐพลไปสอบคำให้การ
 
มติชนออนไลน์ รายงานการสอบคำให้การและการพิพากษาว่า ้เมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจแล้ว ก็ถามคำให้การ ซึ่งจำเลยรับสารภาพ  
 
ศาลพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ ฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะฯ อันเป็นบทหนักสุด  จำคุก 2 ปี  จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกหนึ่งปี โดยไม่รอลงอาญา
 
หลังศาลมีคำพิพากษา ณัฐพลให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การพิพากษาวันนี้ผิดคาดมาก ตอนแรกคาดว่าศาลคงรอลงอาญาและให้จ่ายค่าปรับ เขาจึงเตรียมเงินเท่าที่รวบรวมได้มา 10,000 บาทและมากับเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่ง 
 
ก่อนศาลมีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ณัฐพลวางแผนจะไปช่วยรุ่นพี่ที่ทำงานด้านป่าไม้ในป่าจังหวัดนครศรีธรรมรา แต่เมื่อศาลให้จำคุก 1 ปี แผนที่วางไว้ก็ต้องเลื่อนออกไป
 
"ผมกะไปอยู่ป่าซักเดือน ช่วยพี่เขาทำงานพวกสำรวจพืช ใช้ชีวิตให้คุ้ม แต่ตอนนี้คงไปไม่ได้แล้ว" เจเจกล่าว
 
16 กรกฎาคม 2558
 
ประมาณ 14.00 น. ทนายความและเพื่อนของณัฐพลได้ยื่นขอประกันตัว ที่ศาลอาญา โดยใช้กรมธรรม์อิสรภาพวงเงิน 100,000 บาท ให้เหตุผลว่า ณัฐพลมีอาชีพหน้าที่สุจริต ไม่ได้มีพฤติกรรมหลบหนีการจับกุม และมีภาระที่จะต้องส่งเสียดูแลครอบครัวที่มีแต่ผู้สูงอายุ (ตา,ยาย) 
 
จากนั้น 17.00น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว ณัฐพล  โดยณัฐพลจะได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในช่วงเย็น
 
13 ตุลาคม 2558
 
เว็บไซต์ของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ณัฐพลอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลกลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น จากจำคุก 2 ปี ลดเหลือ 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ เป็นพิพากษายกฟ้อง หรือแก้โทษจำคุกเป็นให้รอการลงโทษ
 
โดยอุทธรณ์ของจำเลยระบุว่า การกระทำของจำเลยที่ใช้สีสเปรย์พ่นบนป้ายศาลอาญาไม่เป็นการทำให้เสียทรัพย์ เพราะป้ายศาลอาญายังสามารถใช้งานได้ตามปกติ  การพ่นสีเพียงแต่ทำให้ไม่สวยงาม ซึ่งสามารถทำความสะอาดได้ 
 
ทั้งป้ายศาลอาญา ก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ เนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง แต่ถูกสร้างเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ราชการ แม้สถานที่ราชการจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ก็เป็นทรัพย์สินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายอาญา ดังที่โจทก์ฟ้อง
 
แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่ได้หมายความว่าศาลจะต้องพิพากษาลงโทษเสมอไป ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.185 วรรคแรก ซึ่งกำหนดว่า "ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้"
 
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา เป็นโทษที่หนักเกินไปและไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี
 
ศูนย์ทนายฯยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คดีที่มีลักษณะคล้ายๆกับคดีนี้ ศาลมักพิพากษาลงโทษปรับหรือให้รอการลงโทษจำคุก แทนการให้จำคุกจริงๆ นอกจากนี้ศาลก็มีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานคุมความประพฤติสืบเสาะและพินิจประวัติความประพฤติของจำเลยเพื่อหาเหตุบรรเทาโทษมาประกอบการทำคำพิพากษาได้ ซึ่งจำเลยในคดีนี้ก็ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน แต่กลับถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา 
 
8 มิถุนายน 2559
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลอาญา ศาลนัดณัฐพลฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันนี้ณัฐพลเดินทางมาฟังคำพิพากษากับแฟนของเขาเพียงสองคนโดยไม่ได้แจ้งให้เพื่อนๆมาด้วย ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 10.05 น.     
 
ในคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ศาลเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นให้คงโทษจำคุกหนึ่งปีของณัฐพลเอาไว้ แต่แก้ว่าให้รอการลงโทษไว้หนึ่งปี และเพิ่มรายละเอียดการลงโทษหลายอย่างได้แก่ เพิ่มโทษปรับ 4,500 บาท กำหนดให้ณัฐพลรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติปีละสามครั้งตลอดระยะเวลารอการลงโทษที่กำหนดไว้สองปีและให้ณัฐพลทำงานบริการสาธารณะรวม 12 ชั่วโมง 
 
หลังฟังคำพิพากษา ณัฐพล เปิดเผยว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาตนทำงานและเล่นดนตรีตามปกติและขณะนี้ก็เปิดร้านขายแฮมเบอร์เกอร์แถวรัชโยธิน สำหรับการอุทธรณ์คดีแม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิต แต่ก็รู้สึกเป็นกังวลใจอยู่บ้างต่อคำพิพากษาที่จะออกมา ซึ่งเมื่อศาลอุทธรณ์สั่งให้รอการลงโทษก็รู้สึกยินดีและพึงพอใจอย่างมากที่ไม่ต้องติดคุกแล้ว 
 
 
 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
14 กรกฎาคม 2558
 
โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ทำความเสียหายให้ป้ายชื่อสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา โดยใช้สเปรย์สีดำพ่นสัญลักษณ์เป็นภาพอักษรเอและมีวงกลมล้อมรอบทำให้ป้ายเกิดความเสียหายหรือเสื่อมค่า 
 
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 พระราชบัญญํติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ให้ลงโทษบทที่หนักสุดคือฐานทำให้เสื่อมค่าซึ่งทร้พย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกสองปี จำเลยให้การรับสารภาพให้ลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุกหนึ่งปี
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

อ่านเมื่อ 8 มิถุนายน 2559
 
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การพ่นสีสเปรย์ไม่ได้ทำให้ป้ายเสียหาย ไม่ได้ทำให้ไร้ประโยชน์และเสื่อมค่า ฟังไม่ขึ้นไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นนี้ แต่ที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษ และจำเลยประกอบอาชีพสุจริต ต้องอุปการะบิดามารดา และไม่เคยกระทำผิดอาญามาก่อนนั้น อุทธรณ์ฟังขึ้น

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ทำลายทรัพย์สินให้เสื่อมค่า สมควรคงโทษจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีไว้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้สองปี ตามคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ระบุว่า จำเลยมีภาระต้องอุปถัมภ์เลี้ยงดูบุพการี

ในระหว่างรอการลงโทษ ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละสามครั้ง และประกอบกิจกรรมบริการสังคมเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความหลาบจำต่อการกระทำความผิดศาลอุทธรณ์เห็นควรให้ปรับจำเลยเป็นเงิน 9,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งปรับเป็นเงิน 4,500 บาท 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา