ศศิวิมล: โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก

อัปเดตล่าสุด: 25/10/2560

ผู้ต้องหา

ศศิวิมล

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.ต.สมคิด ภูสด พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่

สารบัญ

ศศิวิมลเป็นพนักงานของโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 7 ข้อความ

7 สิงหาคม 2558 ศศิวิมลรับสารภาพ ศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็น 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 28 ปี

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

"ศศิวิมล"อายุ 29 ปี เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ มีอาชีพเป็นพนักงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่  มีบุตรสาว 2 คน อายุ 5  และ7 ปี เมื่อ ศศิวิมล ถูกคุมขังหว่างพิจารณาคดี มารดาของเธอเป็นผู้ดูแลลูกสาวทั้ง 2
 
ศศิวิมลอ้างว่า ไม่เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองและไม่ได้สนับสนุนฝ่ายการเมืองใด 
 
รู้จัก ศศิวิมล ให้มากขึ้น อ่าน ศศิวิมล: วันแม่ที่ไม่มีแม่อยู่ [112 The Series]
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ศศิวิมล ถูกกล่าวหาว่า ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 6 ข้อความ

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัว ศศิวิมลไปพบที่สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยแจ้งว่า ให้มาเซ็นหมายศาล เมื่อไปถึง กลับถูกควบคุมตัวไปขออำนาจศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ ฝากขัง และถูกนำตัวมาควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ทันที  โดยถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 6 กระทง  
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
27 กันยายน 2557 
  
ผู้ใช้เฟซบุ๊กในจังหวัดเชียงใหม่ นำโดยกฤตย์ เยี่ยมเมธากร พร้อมประชาชนอีก 8 คน เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยมี พ.ต.ต.สมคิด ภูสด พนักงานสอบสวนเป็นผู้รับแจ้ง นอกจากนั้น ก็มีการแชร์ข้อความ และรูปของเฟซบุ๊ก ของ “รุ่งนภา คำภิชัย” ไปยัง ในเพจต่างๆ ด้วย 
 
29 กันยายน 2557 
 
กลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน และชูป้ายให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด 
 
ในเวลาต่อมาพนักงานควบคุมตัวรุ่งนภามาทำการสอบสวน แต่จากการสอบสวนเจ้าหน้าที่พบว่ารุ่งนภาน่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีการขยายผลและพบว่า เป็นไปได้ที่รุ่งนภาอาจถูกกลั่นแกล้งโดย ศศิวิมลซึ่งมีความขัดแย้งเป็นการส่วนตัวอยู่
 
ปลายเดือนกันยายน 2557
 
หลังมีการสอบสวนขยายผล พนักงานสอบสวนไปที่บ้านของศศิวิมล พร้อมกับขอเครื่องคอมพิวเตอร์ไปทำการตรวจสอบ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อหาหรือจับกุมตัว 
 
13 กุมภาพันธ์ 2558 
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกตัวศศิวิมลไปที่สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยแจ้งว่า ให้มาเซ็นหมายศาล แต่เมื่อไปถึงปรากฎว่า ถูกนำตัวไปที่ศาลมณฑลทหารบากที่ 33 ค่ายกาวิละ เพื่อขออำนาจฝากขัง ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 6 กระทง และถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ทันที 
 
1 พฤษภาคม 2558
 
เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าเยี่ยมศศิวิมล และสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
 
ศศิวิมลเล่าว่า ที่ตนถูกจับกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า “รุ่งนภา คำภิชัย”  เนื่องจากบุคคลชื่อรุ่งนภา เป็น “ภรรยาน้อยของแฟนเก่า” และมีปัญหากัน เพื่อนของตนเป็นผู้ปลอมเฟซบุ๊ก ชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย”  ขึ้นมาเพื่อโจมตีบุคคลดังกล่าว และใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของตนสมัครเฟซบุ๊กปลอม  
 
แต่ตนไม่ทราบว่าเพื่อนโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และตนไม่ได้เป็นผู้โพสต์  ในชั้นสอบสวน ที่ตนให้การรับสารภาพ ว่าเป็นผู้โพสต์ เป็น เพราะถูกกดดันและเจ้าหน้าที่หว่านล้อมว่าจะปล่อยตัว
 
ในส่วนของคดี บิดามารดาของศศิวิมล ว่าจ้างทนายความจากสำนักทนายความที่มีเพื่อนแนะนำให้ ในส่วนของการขอปล่อยตัวชั่วคราว ใช้ประกันอิสระภาพมูลค่า 400,000 บาทจากบริษัทประกัน ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวรวม 3 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต 
 
7 พฤษภาคม 2558
 
ครบฝากขัง 7 ผลัด
 
9 มิถุนายน 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่  ศศิวิมล เดินทางทางมาถึงศาลด้วยรถจากเรือนจำ เวลาประมาณ 09.15 น. โดยวันนี้มีครอบครัวของศศิวิมล แม่ พ่อ ลูกของ ศศิวิมล สองคน เพื่อนศศิวิมลอีก 4 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดี
 
ทนายของศศิวิมลตามมาถึงในเวลาประมาณ 10.00 น.  จากนั้น 10.30 น.  เจ้าหน้าที่ศาลก็เชิญขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีซึ่งมีอยู่เพียงห้องเดียว ศาลทหารเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 10.45 น. โดยอ่านคำพิพากษาคดีอื่นก่อน  จากนั้นจึงสอบคำให้การคดีของศศิวิมลต่อ
 
แต่เเล้ว ศาลทหารแจ้งกับผู้มาฟังการพิจารณาคดีของศศิวิมลว่า คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง กระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อย จึงขอสั่งพิจารณาเป็นการลับ ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ครอบครัวและเพื่อนของศศิวิมล รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกจากห้องพิจารณาคดี
 
หลังผู้สังเกตการณ์ออกจากห้องพิจารณาคดี กระบวนพิจารณาดำเนินไปประมาณ 20 นาที จึงแล้วเสร็จ ศศิวิมล และทนายความ เดินลงมาจากห้องพิจารณาคดี ให้ข้อมูลว่า วันนี้ศาลได้อ่านคำฟ้องให้ฟัง โดยศศิวิมลถูกฟ้องในมาตรา 112 รวม 7 กรรม ได้ให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 โดยคดีของศศิวิมล จะพิจารณาเป็นการลับตลอดทั้งกระบวน
 
 
8 กรกฎาคม 2558
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่
เวลา 10.05 น. เมื่อทนายความของศศิวิมลเดินทางมาถึง ได้ยื่นเอกสารบัญชีพยาน เมื่อทราบว่าฝ่ายศศิวิมลไม่มีพยานเอกสาร ศาลและเจ้าหน้าที่ศาลได้มีการพูดคุยกับทนายก่อน โดยจะให้งดตรวจพยานหลักฐานในนัดนี้ เพราะอ้างว่าตรวจพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ทนายยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีในกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่ได้มีการงดตรวจพยานหลักฐาน
 
10.30 น. เจ้าหน้าที่ให้คู่ความขึ้นห้องพิจารณา โดยอนุญาตให้ญาติและผู้สังเกตการณ์เข้าฟังได้ โดยแจ้งว่าเป็นนัดตรวจพยานหลักฐานเฉยๆ แต่ในการสืบพยานจะไม่อนุญาต เนื่องจากได้ตกลงกันตั้งแต่วันนัดสอบคำให้การแล้วว่าจะพิจารณาคดีลับ
ผู้เข้าฟังการพิจารณาจึงมีญาติจำเลย 4 คน ผู้ช่วยทนาย 1 คน เจ้าหน้าที่เรือนจำ 1 คน เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย 1 คน และมีเจ้าหน้าที่แต่งกายชุดทหาร ไม่ทราบตำแหน่งหรือหน้าที่ เข้ามาจดบันทึกสังเกตการณ์ด้วย
 
จากนั้น 10.45 น. ศาลนั่งบัลลังก์ โดยศาลได้รับบัญชีพยานหลักฐานของคู่ความมาแล้ว 
ทนายความแจ้งศาลว่าติดใจที่จะตรวจพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลจึงได้ขอพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์มา ก่อนจะส่งให้ทนายจำเลยตรวจ ทั้งหมด 15 รายการ 
ระหว่างตรวจ ทนายได้ถามศาลว่าสามารถคัดถ่ายสำเนาได้หรือไม่ ศาลตอบว่าได้ แต่ให้คัดถ่ายได้เฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับพยานปากอื่น คัดได้เป็นบางฉบับ ไม่ใช่ทุกฉบับ ทนายถามว่ารายงานการตรวจพิสูจน์สามารถคัดถ่ายได้หรือไม่ ศาลตอบว่าได้ 
 11.10 น. ทนายจำเลยตรวจดูพยานเอกสารเสร็จสิ้น ศาลถามว่ามีเอกสารฉบับใดจะคัดค้านหรือไม่ ทนายจำเลยตอบว่าไม่ 
จากนั้นศาลได้สอบถามแนวทางการนำสืบของฝ่ายโจทก์และจำเลย อัยการโจทก์ตอบว่าจะนำพยานบุคคล เอกสาร และวัตถุตามบัญชีพยานมาสืบต่อศาล เพื่อชี้ให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด ส่วนทนายจำเลยตอบว่าจะสืบเรื่องตัวผู้กระทำผิด พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่เพียงพอจะพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง 
 
อัยการโจทก์แถลงจะนำพยานโจทก์ปากที่ 1 ตามบัญชี มาเบิกความในนัดหน้า จึงนัดหมายวันสืบพยานนัดแรก วันที่ 7 สิงหาคม 2558 เวลา 8.30 น.
 
7 สิงหาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
 
 
ในช่วงเช้าวันนี้ ผู้รับมอบอำนาจจากทนายของศศิวิมลเข้ายื่นคำร้องต่อศาล ขอกลับคำให้การเดิม โดยขอให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ไม่ขอต่อสู้คดีอีก และยื่นคำร้องประกอบขอให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกไว้

เนื่องจากเรือนจำนำตัวศศิวิมลหาที่ศาลช้า ทำให้ศาลได้ขึ้นพิจารณาคดีในช่วงบ่าย เมื่อศาลได้รับคำร้องขอกลับคำให้การ จึงได้ให้งดการสืบพยานโจทก์เอาไว้ และอ่านคำพิพากษาในทันที โดยศาลเห็นว่าศศิวิมลมีความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 7 กรรม พิพากษาให้จำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็นจำคุก 56 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี

ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ ศาลเห็นว่าความผิดของศศิวิมลเป็นการล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพสักการะ การกระทำจึงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง และศาลได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้




 

 

คำพิพากษา

ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่คำพิพากษาจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็น 56 ปี ศศิวิมลให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 28 ปี

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา