เสาร์: ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกานักการเมืองฯ

อัปเดตล่าสุด: 14/03/2565

ผู้ต้องหา

เสาร์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้รับมอบอำนาจจากศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง

สารบัญ

เสาร์เป็นคนชาติพันธุ์ไทลื้อ 13 มีนาคม 2558 เสาร์เดินทางไปยื่นคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และอ้างว่าตนเองติดต่อการงานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ทำให้เสาร์ถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112

28 พฤษภาคม 2558 เสาร์ถูกพนักงานสอบสวนนำตัวมาฝากขังต่อศาล หลังครบกำหนดฝากขัง พนักงานสอบสวนก็ยังไม่ได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการเนื่องจากเห็นว่า ให้งดการสอบสวนและส่งเสาร์เข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ จนกว่าจะหายหรือสามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งผลตรวจต้องรอไม่ต่ำกว่า 45 วัน

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

เสาร์ อายุ 51 ปี สัญชาติตามที่ระบุในทะเบียนบ้าน คือ ไทยลื้อ มีพ่อที่อายุ 91 ปี และป่วยเป็นโรคเส้นเลือดตีบ เสาร์เป็นลูกคนที่ 4 จากพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 6 คน เขาเล่าให้ทนายความฟังว่าเกิดที่เชียงรุ้ง และเดินเท้าเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2517 น้องชายของเขาเล่าว่า เสาร์ไม่เคยเข้าศึกษาในระบบโรงเรียน แต่อาศัยเรียนกับครูอาสาและเรียนรู้ด้วยตนเองจนสามารถอ่านออกเขียนได้
 
จากปากคำของญาติ เมื่ออายุได้ 17-18 ปี เสาร์มีอาชีพเป็นทหารรับจ้างในหน่วยกระทิงแดง ช่วยรบเป็นเวลากว่า 10 เดือน เขาได้รับบาดเจ็บที่ขาขวา และถูกส่งตัวเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ขณะอายุ 20 กว่าปี เคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์พร้อมกับน้องชายคนหนึ่ง 
 
หลังจากนั้น เสาร์เป็นลูกเรือตังเก ที่จังหวัดตราด อยู่ประมาณ 10 ปี  จึงกลับมาอยู่บ้านญาติที่ จังหวัดเชียงราย และถูกจับในคดียาเสพติด ต้องโทษจำคุกอยู่นาน 13 ปี หลังพ้นโทษ เสาร์กลับมาทำสวนกระเทียมที่ จังหวัดเชียงราย ได้ประมาณปีเศษ ก็ถูกจับกุมอีกครั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ จำคุกอยู่ราว 2-3 ปี  หลังพ้นโทษ เสาร์เริ่มมีอาการเหม่อลอย และพูดคนเดียวในเรื่องที่คนอื่นไม่เข้าใจ
 
เสาร์ต้องย้ายงานอีกหลายที่ กระทั่งก่อนถูกจับกุมในคดีนี้ เขาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ใน จังหวัดปทุมธานี
 
อย่างไรก็ตาม เสาร์ไม่เคยมีประวัติคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น  แต่มีอาการที่เรียกว่า ‘พูดไม่รู้เรื่อง’ ตั้งแต่หลังพ้นโทษคดียาเสพติด น้องชายของเขาเล่าว่า เสาร์มีกระดาษใบหนึ่งซุกไว้ใต้โต๊ะ มีข้อความประมาณว่า จะเซ็นมอบทรัพย์สินให้ทักษิณดูแล แต่ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง 
 
จากคำบอกเล่าของเสาร์ที่ว่า สามารถตอบโต้กับในหลวงได้โดย “แทงออกทีวี” เสาร์เล่าว่า กองทุนหมู่บ้าน สินค้าโอทอป การแจกจ่ายที่ดิน ฯลฯ เป็นความคิดของเขาที่สื่อสารถึงทักษิณผ่านสื่อโทรทัศน์ โดยเริ่มสื่อสารได้ตั้งแต่ ปี2540

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เสาร์ ถูกกล่าวหาว่า เดินทางยื่นคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558  โดยเขียนคำร้องยื่นฟ้องต่อศาลด้วยลายมือทำนองว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จัดสรรเงินมาก้อนหนึ่ง แล้วมอบหมายให้ตนเป็นผู้รับผิดชอบ จึงได้มอบต่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณไปซื้อหุ้น 
 
พอจำหน่ายหุ้น เกิดวิกฤตการเมือง ทักษิณเอ่ยชื่อตนออกทีวี เรียกร้องให้เสาร์ออกมารับผิดชอบ เพื่อให้ตัวทักษิณพ้นผิด เสาร์เลยกลับมานึกถึงพระราชดำริที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณเห็นแก่ได้ รัฐบาลทักษิณทำอะไรก็ขาดทุน เดิมปกติสัญญาสัมปทาน  รัฐจะได้ 50 ทักษิณได้ 50 แต่ทักษิณมาแก้ไขเป็นรัฐได้ 10 ทักษิณได้ 90 ตนจึงได้ยื่นให้แก้ไขใหม่ 
 
โดยข้อความในคำร้องนั้น ทำให้เสาร์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

เสาร์ไปรายงานตัวที่ สน.ทุ่งสองห้อง ตามหมายเรียก เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม  2558 เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

จากคำบอกเล่าของเสาร์ที่ว่า สามารถตอบโต้กับในหลวงได้โดย “แทงออกทีวี” เสาร์เล่าว่า กองทุนหมู่บ้าน สินค้าโอทอป การแจกจ่ายที่ดิน ฯลฯ เป็นความคิดของเขาที่สื่อสารถึงทักษิณผ่านสื่อโทรทัศน์ โดยเริ่มสื่อสารได้ตั้งแต่ ปี2540

แหล่งอ้างอิง

บล็อกของศูนย์นายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, คดี 112 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้กล่าวโทษ (สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2558)

 

กุมภาพันธ์ 2558
 
เสาร์ไปที่ สำนักงานอัยการสูงสุด แผนกคดีพิเศษ เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะช่วยพลิกฟื้นคดีความ และเจ้าหน้าที่บอกให้ไปหาศาล จึงไปเอาสำนวนที่ศาล เจ้าหน้าที่ศาลก็แจ้งว่าให้หาทนายความมาเดินเรื่อง แต่เนื่องจากไม่มีเงินจ้างทนายความ เสาร์จึงกลับบ้านแล้วเขียนคำร้องใหม่เองด้วยลายมือ ทั้งหมด 3 แผ่น  เป็นหน้า-หลัง 1 แผ่น และเป็นหนังสือขอทนาย 1 แผ่น ระบุชื่อพยาน 4 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ยืนยันได้ว่าเสาร์สามารถสื่อสารกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านทางสื่อทีวีได้
 
13 มีนาคม 2558 
 
เสาร์เดินทางไปยื่นคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อยื่นเรื่องขอรื้อฟื้นคดีความของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ขึ้นพิจารณาใหม่ เสาร์เขียนคำร้องยื่นฟ้องศาลด้วยลายมือลงบนกระดาษ A4 เปล่า 
 
20 เมษายน 2558
 
ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ผู้รับมอบอำนาจจากศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ากล่าวโทษ ‘เสาร์’ต่อพนักงานสอบสวน  จากนั้นพนักงานสอบสวนจึง ออกหมายเรียกเสาร์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 
 
 
ประมาณ 11-12 พฤษภาคม 2558 
 
เสาร์ได้รับแจ้งจากญาติที่อยู่ในจังหวัดเชียงราย ว่ามีเอกสารเรียกตัวเสาร์ โดยที่เสาร์ไม่เคยได้เห็นหมายเรียกฉบับจริง 
 
13 พฤษภาคม 2558
 
เสาร์ไปรายงานตัวที่ สน.ทุ่งสองห้อง ด้วยความเข้าใจว่าจะไปติดตามความคืบหน้าคดีที่ยื่นคำร้องไว้ และถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ  
 
ระหว่าง 13-28 พฤษภาคม 58 
 
เสาร์ ยังคงไปทำงานเป็นปกติ จนกระทั่งวันที่ 28 พฤษภาคม  2558 สน.ทุ่งสองห้องเรียกตัวมา เซ็นรับทราบข้อหา 2 ใบ แล้วส่งตัวฝากขัง ขังที่ศาลอาญา 
 
15 กรกฎาคม 2558 
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นหนังสือขอให้การเพิ่มเติมและขอให้ส่งตัวเสาร์ ไปตรวจอาการทางจิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.14 ต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง และต่อมาทราบจากเจ้าหน้าที่เรือนจำว่า เสาร์ถูกนำตัวไปตรวจกับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ วันที่ 14 สิงหาคม 2558
 
19 สิงหาคม 2558 
 
วันครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 7 ทนายความติดต่อขอเข้าเยี่ยมเสาร์ที่ห้องคุมขังของศาลอาญา แต่ไม่พบชื่อของเสาร์ในเอกสารรายชื่อผู้ต้องขังซึ่งถูกเบิกตัวมาดำเนินกระบวนพิจารณาคดี และพนักงานอัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้อง
 
เมื่อสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนจึงทราบว่า พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ เนื่องจากเห็นว่าควรให้งดการสอบสวนและส่งผู้ต้องหาเข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ จนกว่าจะหายหรือสามารถต่อสู้คดีได้ โดยผู้ต้องหาจะถูกปล่อยตัวจากเรือนจำวันที่ 20 สิงหาคม 2558 เวลาประมาณ 12.00 น. หลังจากเสาร์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พนักงานสอบสวนนำตัวเขาไปเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ 
 
ทั้งนี้ สน.ทุ่งสองห้องได้ทำหนังสือถึง ผกก.สน.ศาลายา ซึ่งเป็นท้องที่ของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ขออายัดตัวเสาร์ เอาไว้ก่อนหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวขอให้แจ้งไปยัง สน.ทุ่งสองห้องด้วย
 
ธันวาคม 2558
ทนายความได้รับแจ้งว่า แพทย์ผู้ทำการรักษาได้ส่งรายงานการตรวจวินิจฉัยโรคและการประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของเสาร์ให้แก่พนักงานสอบสวน ระบุว่า เสาร์เป็นผู้วิกลจริตแต่สามารถต่อสู้คดีได้
 
4 กุมภาพันธ์ 2559
 
หลังคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาความเห็นแพทย์ที่ระบุว่าเสาร์สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้องจึงส่งสำนวนคดีให้อัยการศาลทหารกรุงเทพ
 
พนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง จึงนำตัวเสาร์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ไปพบอัยการ โดยเปลี่ยนจากแต่เดิมที่ฝากขังต่อศาลอาญา ในวันนี้พาไปพบอัยการทหารที่ศาลทหารกรุงเทพ แต่พนักงานอัยการแจ้งว่าต้องใช้เวลาพิจารณาสำนวนเพื่อสั่งคดีตามสมควร จึงนัดให้มาฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีอีกครั้งในวันที่ 20 เมษายน 2559 เวลา 10.00 น.
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 ทนายของเสาร์ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเสาร์ป่วยเป็นโรคจิตเภท มีอาการความคิดหลงผิด เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถเกินจริง สามารถสื่อสารกับบุคคลต่าง ๆ ผ่านโทรทัศน์  และมีความสัมพันธ์พิเศษกับบุคคลสำคัญซึ่งไม่ตรงกับความจริง นอกจากนี้ เสาร์ยังไม่รู้สำนึกในการกระทำของตน เพราะเชื่ออย่างสนิทใจในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงว่าเป็นความจริง และไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดว่า การยื่นคำร้องที่มีข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์ฯเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การกระทำของเสาร์จึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนา ซึ่งการถูกดำเนินคดีอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยอาการทางจิต ที่ควรได้รับการรักษาจากสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่เสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ
 
20 เมษายน 2559
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
เสาร์ น้องชาย และทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาที่ศาลในเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อฟังคำสั่งอัยการโดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสวีเดนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย อัยการทหารแจ้งว่าจะฟ้องเสาร์เป็นความผิดหนึ่งกรรม และยื่นฟ้องต่อศาลในวันนี้
 
คำฟ้องของอัยการทหารสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 จำเลยเขียนข้อความลงในคำร้องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามคดีหมายเลขดำที่ 14/2549 หมายเลขแดงที่ 1/2553 คดีระหว่างอัยการสูงสุดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีใจความว่า ตัวจำเลยสามารถสื่อสารกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านทางโทรทัศน์ได้ และได้รับมอบหมายงานมาให้ทำ เสาร์ยื่นใบคำร้องดังกล่าวต่อนิติกรประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้เสนอคำร้องดังกล่าวต่อผู้พิพากษา ซึ่งข้อความที่จำเลยเขียนในคำร้องเป็นไปในทางมิบังควร โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เจ้าพนักงานยึดคำร้องที่จำเลยเขียนไว้เป็นของกลางแล้ว กระทำของจำเลยถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
เมื่ออัยการยื่นฟ้องและศาลรับฟ้องแล้ว เสาร์จึงเป็นจำเลยที่อยู่ในอำนาจควบคุมของศาลทหารกรุงเทพ และจะต้องถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เวลาประมาณ 12.00 น. ทนายของเสาร์ยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินมูลค่า 400,000 บาท ที่ได้จาก การระดมทุนช่วยเหลือของกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง 
 
ทนายจำเลยเขียนคำร้องประกอบการขอประกันตัวว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดในคดีนี้ แต่ได้กระทำลงไปเพราะอาการป่วยทางจิต ซึ่งพนักงานสอบสวนก็เห็นแล้วจึงส่งตัวจำเลยให้แพทย์ตรวจรักษา และแพทย์รายงานผลการตรวจแล้วว่าจำเลยมีอาการวิกลจริตจริง จำเลยป่วยด้วยอาการทางจิตมาเป็นเวลานาน มีอาการหลงผิดคิดว่าตัวเองมีความสามารถเกินความจริง สามารถสื่อสารกับบุคคลต่างๆ ผ่านโทรทัศน์ และมีความสัมพันธ์พิเศษกับบุคคลสำคัญ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น จำเลยไม่เคยรับรู้อาการป่วยของตัวเองและไม่เคยรับการรักษามาก่อนเพราะฐานะยากจน อาการป่วยของจำเลยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในสถานพยาบาลที่เหมาะสม และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครอบครัว ซึ่งสภาพของเรือนจำไม่เอื้อให้เกิดการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพได้ นอกจากนี้ตลอดกระบวนการที่ผ่านมาจำเลยไม่เคยมีพฤติกรรมจะหลบหนี แต่เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองตั้งแต่แรก จนถึงวันนี้
 
คำร้องขอประกันตัวยังระบุด้วยว่า ก่อนถูกจับกุมจำเลยประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย มีรายได้ไม่แน่นอน มีฐานะยากจน ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ปัจจุบันต้องได้รับการดูแลจากพี่ชาย น้องชาย และญาติ จึงขอให้ศาลกำหนดวงเงินประกันโดยคำนึงถึงสุขภาพ รายได้ และพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยวิกลจริตด้วย
 
เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเสาร์ ในวงเงิน 400,000 บาท เสาร์ถูกพาตัวจากศาลทหารไปปล่อยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเวลาประมาณ 20.00
 
19 กันยายน 2559
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน 
 
 ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 10.30 น.  พร้อมแจ้งว่าอัยการทหารขอแก้ไขคำฟ้องเพื่อเพิ่มโทษ เนื่องจากตรวจสอบประวัติของเสาร์ พบว่าเคยต้องโทษยาเสพติดมาก่อน แต่ทนายปฏิเสธคำขอแก้ไขเพิ่มโทษ 
 
ในระหว่างตรวจสอบพยานหลักฐาน พบว่าชื่อหลักฐานกับบัญชีหลักฐานไม่ตรงกัน และหลักฐานบางชิ้นยังส่งมาที่ทนายไม่ครบ คือ ประวัติการรักษาตัวของเสาร์จากโรงพยาบาลแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และบันทึกคำให้การพยานโจทก์ สำหรับบันทึกคำให้การพยาน อัยการอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173/2 ว่าไม่จำเป็นต้องส่งให้ตรวจก่อน
 
ศาลจึงเสนอให้อัยการและทนายไปพูดคุยและตรวจสอบพยานหลักฐานให้ตรงกันก่อน และเพื่อรอหลักฐานให้ครบ จึงเลื่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 
 
 25 พฤศจิกายน 2559 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลทหารเริ่มกระบวนการในเวลา 10.30 โดยศาลแจ้งฝายจำเลยว่าอนุญาติให้ทนายเพิ่มอีกหนึ่งคน ส่วนประเด็นบันทึกคำให้การพยานโจทก์ที่อัยการทหารอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควาอาญามาตรา 173/2 ว่าไม่จำเป็นต้องส่งให้ตรวจก่อน ศาลอนุญาตให้ไม่ต้องส่งให้ฝ่ายจำเลยตรวจตามที่อัยการทหารขอ
 
จากนั้นศาลถามแนวทางการสู้คดีของแต่ละฝ่าย อัยการตอบว่าทหารจะนำพยานเข้าสืบรวมหกปากคือ พนักงานรักษาความปลอดภัยที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ดูแลกล้องวงจรปิด ผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือในคำร้อง และพนักงานสอบสวน เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง  
 
ทนายจำเลยแถลงว่าจะสืบพยานเจ็ดปาก คือ ตัวจำเลยญาติพี่น้องของจำเลยสองคน แพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการทางจิตของจำเลย ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิตสองคน และพยานผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ว่าขณะกระทำการ จำเลยมีอาการป่วยทางจิตเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย  
 
ศาลนัดสืบพยานนัดแรกวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 8.30 น. 
 
 
9 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 1: ลัดดาวัลย์ นิยม เจ้าพนักงานยุติธรรมชำนาญการพิเศษ ประจำศาลฎีกา
 
เวลา 9.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์  พยานโจทก์วันนี้คือลัดดาวัลย์ นิยม เกี่ยวข้องกับคดีนี้คือเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้กล่าวหาเสาร์ ตามความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาตรา 112  อัยการทหาร เริ่มถามลัดดาวัลย์   ว่า ปัจจุบันรับราชการเป็นเจ้าพนักงานยุติธรรมชำนาญการพิเศษ ประจำศาลฎีกา มีหน้าที่ดูแลงานธุรการของศาลฎีกาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 
 
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 เวลา 9.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ในเวลาดังกล่าวเสาร์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นคู่ความในคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยยื่นผ่านนิติกรของศาลฎีกาฯ ชื่อ จุลเดช ละเอียด เมื่อได้รับเรื่องจึงนำคำร้องไปเสนอประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ธนฤกษ์ นิติเศรณี และได้เสนอต่อองค์คณะผู้พิพากษาในแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีจำนวน 3 คน ประกอบด้วย ธนฤกษ์ นิติเศรณี พิศิฏฐ์ สุดลาภา และสุภัทร์ สุทธิมนัส เมื่อองค์คณะรับแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจ อีกเหตุที่ไม่รับคำร้องคือมีการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ องค์คณะจึงสั่งให้ อำพัน สมบัติสถาพรกุล หัวหน้าธุรการและเลขานุการศาลฎีกาไปดำเนินการกล่าวโทษ ซึ่งหัวหน้าธุรการมอบอำนาจดำเนินการให้พยานดำเนินการ โดยได้เดินทางไปสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อกล่าวโทษเสาร์ โดยเจ้าพนักงานได้ลงบันทึกประจำวันไว้ ซึ่งพยานได้อ่านแล้วรู้สึกว่าถ้าใครได้อ่านอาจทำให้เสื่อมเสียถึงพระองค์ท่านได้
 
ต่อมาทนายถามค้านลัดดาวัลย์ เบิกความว่า จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการ รับราชการมา 33 ปี ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2554 หน้าที่คือ งานธุรการ ดูแลผู้พิพากษาคดีต่างๆ ดูแลการพิจารณาของศาล สำหรับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งอยู่ในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ขณะเกิดเหตุตั้งอยู่ชั้นเจ็ด เพราะฉะนั้นถ้าใครจะไปติดต่อราชการก็ต้องผ่านพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ชั้นหนึ่ง ถ้าเป็นบุคคลภายนอกต้องติดต่อเพื่อแลกบัตรก่อน ในวันเกิดเหตุพยานไม่เห็นจำเลยมายื่นคำร้อง ทราบเรื่องจาก จุลเดช ละเอียด นิติกรชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา สำหรับการยื่นฟ้องกระทำในนามตัวแทนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พยานไม่ได้มีการพูดคุยกับเลขานุการก่อน และเลขาฯ ก็ไม่ได้บอกว่าถ้อยคำไหนดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ
 
ลัดดาวัลย์เบิกความต่อเรื่อง ผู้ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอัยการสูงสุด ผู้ที่ถูกร้องจะต้องเป็นนักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริต
 
ทนายถามลัดดาวัลย์อีกว่าจากที่อ่านถ้อยคำไหนที่มีลักษณะหมิ่นประมาณพระมหากษัตริย์ฯ เธอกล่าวว่า เมื่ออ่านรวมๆ แล้วรู้สึกว่ามีหลายข้อความที่พาดพิงทำให้พระองค์เสื่อมเสีย มีการพูดถึงว่าพระองค์มีความเกี่ยวเนื่องกับจำเลย เช่น พระองค์ทรงไม่เคยทอดทิ้ง หรือให้เงินจำนวนมาก ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ นอกจากนี้ก็ไม่เคยได้ยินข่าวสารว่าพระองค์เคยมอบเงิน เจ็ดพันล้านบาทให้ชาวไทลื้อ ทั้งนี้เคยมีคำร้องเกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯบ้างจำนวนไม่มาก ซึ่งบางคำร้องก็ไม่รับคำร้อง
 
25 พฤษภาคม 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 2: จุลเดช ละเอียด นิติกรประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.00 น. พยานคือ จุลเดช ละเอียด อาชีพรับราชการ มีตำแหน่งเป็นนิติกรชำนาญการ ประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจหน้าที่ตรวจรับคำร้อง สรุปคำร้อง คำฟ้อง และสนับสนุนเอกสารต่างๆ ในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา 
 
อัยการทหารเริ่มถาม เกี่ยวกับคดีนี้พยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นนิติกรผู้รับคำร้องของจำเลย พยานจำหน้าจำเลยได้ และชี้ไปที่จำเลย หน้าที่ของพยานคือรับคำร้อง โดยปฏิบัติราชการอยู่ชั้นเจ็ด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันเกิดเหตุ พนักงานรักษาความปลอดภัย ได้โทรศัพท์แจ้งให้ลงมารับคำร้อง เนื่องจากผู้ยื่นคำร้องแต่งกายไม่สุภาพจึงไม่อนุญาติให้ขึ้นไปชั้นเจ็ด เมื่อได้รับแจ้งก็ลงมารับคำร้อง เท่าที่จำได้จำเลยใส่เสือยืด กางเกงขายาว รองเท้าแตะ จำเลยมายื่นคำร้องเกี่ยวกับคดีระหว่างอัยการสูงสุดกับทักษิณ ชินวัตร จำเลยเขียนคำร้องด้วยลายมือ โดยใช้แบบพิมพ์ของแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และลงลายมือชื่อกำกับไว้ ในวันนั้นจำเลยเดินทางมาคนเดียว โดยมีหลักฐานเป็นกล้องวงจรปิด 
 
จากการพูดคุยกับจำเลย พยานได้เรียนจำเลยว่า ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง แต่อย่างไรก็จะนำคำร้องไปให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณา หากได้ผลออกมาเป็นอย่างไร จะแจ้งเป็นหนังสือไปให้ทราบ เมื่อได้อ่านคำร้องแล้วพอจะสรุปได้ว่าจำเลยประสงค์จะรับเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำสั่งยึดทรัพย์ จากการตรวจสอบคำร้องเบื้องต้น คิดว่าคำร้องนี้มีเนื้อหาบางตอนที่ไม่บังควร ซึ่งอาจกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง เป็นข้อความในทำนองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมอบเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์ทักษิณจำนวนหนึ่งให้กับจำเลย 
 
ระหว่างยื่นคำร้อง จำเลยสามารถตอบโต้ได้ปกติ เมื่อได้รับคำร้องจากจำเลย พยานนำไปเรียนเลขานุการศาลฎีกา เพื่อนำเสนอท่านประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ต่อมาองค์คณะผู้พิากษาพิจารณาว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจ แต่คำร้องมีบางข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คณะองค์ผู้พิพากษาฯ พิจารณามอบให้หัวหน้าธุรการเข้าแจ้งความในท้องที่ 
 
จุลเดช ตอบคำถามค้านของทนายความว่า จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาโทจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบเนติบัณฑิตไทย ทำงานตำแหน่งนี้มา 15 ปี เริ่มเป็นลูกจ้างชั่วคราว ปี 2545 และบรรจุเป็นข้าราชการ ปี 2549 มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การทำงานของพยานจะตรวจรับเอกสาร ดูว่าเขียนมาตามแบบพิมพ์ของศาลหรือไม่ พยานไม่มีสิทธิปฎิเสธคำร้อง หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาฯ แต่ถ้าหากคำร้องไม่สมบูรณ์พยานจะส่งให้ผู้ยื่นคำร้องทำใหม่ โดยพยานจะแนะนำ ซึ่งจะให้คำปรึกษากับประชาชนทั่วไปทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ
 
พยานพูดคุยกับจำเลยใช้เวลาประมาณไม่เกิน 20 นาที สอบถามจำเลยแล้วยืนยันว่าจะยื่นตามคำร้องนี้ และถามจำเลยต่อว่า ถ้าองค์คณะผู้พิพากษามีความเห็นแล้วจะให้ส่งหนังสือกลับไปให้จำเลยที่ไหน สำหรับผู้มีอำนาจยื่นคำร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 คือ อัยการสูงสุด กับ ป.ป.ช. ซึ่งการยื่นของจำเลยไม่ใช่ในฐานะอัยการสูงสุด และป.ป.ช. 
 
ในการตรวจเอกสารพยานต้องอ่านคร่าวๆ แต่ด้วยประสบการณ์ก็จะเข้าใจประเด็นหลักว่า จำเลยต้องการเอาเงิน 7,000 ล้านบาทของเขาคืน แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพจำเลย และหลักฐาน พยานไม่ทราบว่าจำเลยจะเป็นบุคคลที่น่าจะมีเงิน 7,000 ล้านบาทหรือไม่ พยานมีความสงสัยในตัวจำเลย จึงถามว่ายืนยันจะยื่นไหม และให้คำปรึกษาว่าจำเลยไม่มีอำนาจและองค์คณะจะต้องยกคำร้อง 
 
พยาน เบิกความยืนยันว่า จำเลยทำตามแบบพิมพ์ของศาลทุกประการ จึงจำเป็นต้องรับไว้ และไม่ได้แนะนำให้เอาเอกสารอะไรมาประกอบเพิ่มเติม ทนายถามพยานต่อเกี่ยวกับลายมือของจำเลยในคำร้อง พยานเบิกความว่า ลายเซ็นต์ลักษณะแบบนี้ คือ จำเลยไม่ได้ติดต่อราชการแบบคุ้นเคย พอประเมินได้ว่าจำเลยไม่รู้กฎหมาย และจากการอ่านข้อความแสดงว่าตัวจำเลยน่าจะไม่มีความรู้ 
 
ทนายถามว่า ข้อความที่เขียนว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เคยทอดทิ้งกระผม" มีความอย่างไร พยานเบิกความว่า มีความหมายในแง่ดี คนที่เขียนรู้สึกยกย่อง เชิดชู และเป็นบุณคุณ ส่วนที่จำเลยเขียนว่า เป็นคนสั่งให้มีการปฏิวัติยึดอำนาจทักษิณ และให้ยุบพรรคไทยรักไทยอ่านแล้วไม่น่าจะเป็นจริงได้ ทนายถามว่า ที่พยานเบิกความว่า ข้อความที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มีลักษณะอย่างไร พยานเบิกความว่า เป็นข้อความที่ไม่บังควร เพราะกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ในทางที่ไม่สมควร แต่ไม่มีความใดที่ไม่ดีโดยตรง 
 
จากการพูดคุยกับจำเลยพยานเห็นจำเลยมีบุคลิกดูซื่อ ส่วนพยานไม่มีความรู้เรื่องจิตเวช ไม่รู้ว่าจำเลยต่อสู้เรื่องจิตเวช ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจิตเวช ดังนั้นพยานจึงไม่ได้ให้การเรื่องนี้ต่อพนักงานสอบสวน หลังจากให้การที่ สน.ทุ่งสองห้อง พยานก็ไม่เคยติดตามคดีจำเลยต่อ 
 
อัยการทหาร ถามติง พยานเบิกความว่า สาเหตุที่ไม่ให้การเรื่องสุขภาพจิตเพราะเห็นว่าจำเลยปกติ
 
นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 3: เปรม การสุข พนักงานรักษาความปลอดภัย
 
เริ่มสืบพยานโจทก์คนที่สาม คือ เปรม การสุข ลูกจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย อยู่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำหน้าที่แลกบัตรผู้มาติดต่อและรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าบังลังก์พิจารณาคดี
 
อัยการทหารเริ่มถาม พยานเบิกความว่า วันที่ 13 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 9.00 น. พยานอยู่ที่เคาเตอร์แลกบัตรสำหรับผู้มาติดต่อราชการ บริเวณชั้นหนึ่งของศาลฎีกา จำเลยมาติดต่อเพื่อจะยื่นคำร้องต่อแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้จำเลยแลกบัตรและให้เจ้าหน้าที่มารับเรื่อง ได้โทรแจ้งจุลเดช ละเอียด นิติกร แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมารับคำร้อง ขณะรับคำร้องพยานอยู่ด้านหน้าศาลบริเวณที่จอดรถ พยานไม่เห็นคำร้องของจำเลย ไม่ทราบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีอะไร และไม่รู้จักจำเลยมาก่อน  
 
ทนายถามต่อ พยานเบิกความว่า ไม่ได้เป็นลูกจ้างศาลฎีกา แต่เป็นลูกจ้างขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ทำหน้าที่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ศาลฎีกา ทำงานประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่อาคารสถานที่ของศาลฎีกา ทราบว่า การยื่นหนังสือต่อแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นที่ชั้น 7 พยานรู้ว่าการยื่นเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด และป.ป.ช.  
 
ในวันนั้นพยานพูดคุยกับจำเลยประมาณ 2-3 นาที ว่าจะมาติดต่อราชการอะไร จำเลยสวมหมวกแก็ปแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่จำไม่ได้ว่าพยานแต่งตัวอย่างไร จึงโทรหาจุลเดชให้มารับคำร้อง ไม่แน่ใจว่า ให้จำเลยพูดคุยติดต่อด้วยหรือไม่ ระหว่างจุลเดชกับจำเลยพูดคุยกัน พยานประจำการอยู่บริเวณนั้น แต่ไม่ทราบว่าทั้งสองคนคุยอะไรกัน เป็นเวลานานเกือบชั่วโมง ลักษณะการพูดคุยจำเลยจะนั่งเฉยๆ ส่วนจุลเดชจะนั่งลุกไปลุกมา มีบางช่วงที่มีการโต้เถียงกันอย่างดุเดือด พยานจึงชะโงกดู 
 
ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่พยานเจอจำเลย ไม่ทราบว่าจำเลยเคยมาที่นี่ก่อนหน้านี้หรือไม่ ดูจากสภาพของจำเลยแล้วไม่น่าเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ หรือ นักกฎหมาย พยานไม่รู้ว่า จำเลยมายื่นเรื่องอะไร แต่รู้ว่ามาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  
 
ศาลนัดสืบพยานนัดต่อไปวันที่ 7 สิงหาคม 2560
 
7 สิงหาคม 2560 
 
นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 4: ฐิติศักดิ์ ทองบุญรอด
พนักงานคอมพิวเตอร์ 
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.00 น. พยานปากนี้คือ ฐิติศักดิ์ ทองบุญรอด พนักงานคอมพิวเตอร์ฝ่ายเทคนิคสารสนเทศประจำศาลฎีกา มีหน้าที่ดูแลแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ของศาลฎีกา 
 พยานเบิกความต่อศาลว่า วันที่ 13 มีนาคม 2558 นันทวัฒน์ แก้ขาว ผู้ดูแลอาคารสถานที่ของศาลฎีกาแจ้งขอให้ไปช่วยดูกล้องวงจรปิด เพื่อนำข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดออกมา กล้องวงจรปิดตัวที่นำข้อมูลออกมาเป็นตัวที่อยู่บริเวณชั้นที่ 1 ซึ่งจะถ่ายให้เห็นบริเวณเคาน์เตอร์รปภ.สำหรับแลกบัตรผูัมาติดต่อราชการ และบริเวณหน้าศาลฎีกา พยานไม่ได้เปิดดูข้อมูลเพียงแต่ตรวจสอบว่าข้อมูลที่นำออกมาเป็นไฟล์ใช้ได้ไหม จากนั้นจึงมอบให้นันทวัฒน์ พยานจึงไม่ทราบว่าบุคคลที่อยู่ในกล้องวงจรปิดเป็นใคร และก็ไม่เคยรู้จักจำเลยมากก่อน  
ทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตามกล้องวงจรปิด แต่ในวันเกิดเหตุนันทวัฒน์มาขอให้ช่วยนำข้อมูลออกมา ข้อมูลที่ได้นำมาจากกล้องวงจรปิดเพียงตัวเดียว สำหรับการดูแลกล้องวงจรปิดเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ รปภ. ศาลนัดสืบพยานนัดหน้า 1 พฤศจิกายน 2560
 
 
1 พฤศจิกายน 2560

วันนี้เสาร์และทนายความเดินทางมาศาล แต่พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปสืบพยานนัดต่อไปเป็นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561

 

12 กุมภาพันธ์ 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 5: พล.ต.ต.วิษณุ ชูปลื้ม
ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกลาง
 
พล.ต.ต.วิษณุ ชูปลื้ม ขณะเกิดเหตุรับราชการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมากว่า 30 ปี เกี่ยวกับคดีนี้เป็นผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ส่งเอกสารของกลางมาให้พิสูจน์ เป็นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 แผ่น และตัวอย่างลายมือชื่อและลายมือเขียนข้อความของเสาร์ 14 แผ่น
 
วัตถุประสงค์ของการส่งเอกสารมาพิสูจน์ คือ คำร้องกับลายมือจะเป็นของคนเดียวกันหรือไม่ ผลการตรวจพิสูจน์พบว่ามีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะตัวอักษรแบบเดียวกัน จึงลงความเห็นว่าน่าจะเป็นลายมือของคนๆ เดียวกัน ทั้งนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งตัวอย่างการลงลายมือชื่อมาด้วย แต่ได้ตรวจลายมือชื่อจากที่เซ็นต์ในเอกสารที่เขียนข้อความ
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปวันที่ 25 พฤษภาคม 2561
 
25 พฤษภาคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หก: ร.ต.อ.วิศรุตภูมิ ชูประยูร พนักงานสอบสวน
 
ร.ต.อ.วิศรุตภูมิ เบิกความตอบอัยการทหารว่า ขณะที่เขาปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง มีลัดดาวัลย์ นิยม รับมอบอำนาจจากเลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งมอบหลักฐานเป็นคำร้องของจำเลยที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและภาพสถานที่เกิดเหตุจากกล้องวงจรปิดในวันที่จำเลยเดินทางมายื่นคำร้อง
 
ร.ต.อ.วิศรุตภูมิเบิกความตัวเขาเป็นผู้สอบสวนจำเลยเอง และได้แจ้งข้อกล่าวหากับจำเลยแต่จำเลยให้การปฏิเสธ ร.ต.อ.วิศรุตภูมิเบิกความต่อว่าเขาส่งลายมือที่ปรากฎในเอกสารตรวจสอบที่กองพิสูจน์หลักฐานซึ่งพบว่าลายมือในคำร้องเป็นของจำเลย อย่างไรก็ตามก็จำเลยยอมรับตั้งแต่ต้นว่าเป็นผู้เขียนคำร้องเอง
 
ร.ต.อ.วิศรุตภูมิเบิกความต่อว่า ขณะทำการสอบสวนเขาเห็นว่าจำเลยเป็นคนไม่ปกติพูดคุยไม่รู้เรื่อง จึงส่งตัวไปให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์รับตัวไว้บำบัดเป็นเวลาสามเดือน หลังจากนั้นแพทย์จากสถาบันฯวินิจฉัยว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ จึงรวบรวมพยานหลักฐานและส่งสำนวนให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯพิจารณาซึ่งทางคณะกรรมการฯก็มีความเห็นสั่งฟ้อง
 
ทนายเริ่มถามค้าน ร.ต.อ.วิศรุตภูมิเบิกความว่าในชั้นสอบสวนตัวเขาไม่ได้ออกหมายเรียกประธานศาลฎีกามาสอบปากคำในฐานะ เคยแต่จะขอเข้าพบแต่ประธานศาลฎีกาไม่สะดวก สำหรับผู้พิพากษาที่เป็นคนบอกให้ดำเนินคดีกับจำเลยตัวเขาก็ไม่ได้เรียกมาสอบปากคำ ส่วนแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยจำเลยเขาไม่ได้เรียกมาสอบปากคำ เนื่องจากเมื่อส่งรายงานผลการพิจารณาการตรวจพิสูจน์ไปทางคณะกรรมการฯ ก็ไม่ได้สั่งให้สอบแพทย์เพิ่มเติม ซึ่งหากได้สอบปากคำแพทย์เพิ่มก็จะช่วยทำให้สำนวนคดีมีความสมบูรณ์ขึ้น
 
ร.ต.อ. วิศรุตภูมิเบิกความว่าจากการอ่านข้อความในคำร้องซึ่งเป็นหลักฐานในคดีนี้ เห็นว่ามีความเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ จำเลยมีฐานะยากจนเคยได้รับผลกระทบจากการใช้ยาเสพย์ติดและไม่เคยได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ ทำให้การเขียนคำร้องของจำเลยเป็นการเขียนแบบคิดไปเอง และจากการรวบรวมพยานหลักฐานก็ไม่พบว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการเมือง 
 
หลังสืบพยานปากนี้จบ อัยการทหารแถลงหมดพยาน ศาลนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 7 สิงหาคม 2561 โดยเป็นการสืบพยานจำเลยปากแรก
 
7 สิงหาคม 2561
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง สมยศ น้องชายของจำเลย
 
สมยศเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2558 เขาได้รับเสาร์ไปอยู่ด้วย ขณะที่อยู่กับญาติเสาร์มีพฤติกรรมไม่ปกติ เช่นเขียนจดหมายไปจีบหลานสาวของตัวเอง ทำให้แม่ของหลานสาวไม่พอใจ พฤติกรรมของเสาร์มีอาการเหม่อลอย บางครั้งฉุนเฉียว พูดจาจำความไม่ได้ แต่ไม่เคยทำร้ายใคร และเสาร์ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะมีอาการเฉื่อยชา
 
สมยศเบิกความต่อว่าเสาร์เคยพูดกับเขาในลักษณะเดียวกับข้อความที่เป็นเหตุในคดีนี้ด้วย โดยเสาร์บอกทำนองว่าจะไปรื้อฟื้นคดีเพื่อขอเงินของคืน เสาร์พูดกับตัวเขาด้วยว่าสามารถพูดคุยกับโทรทัศน์ได้ สมยศเบิกความต่อว่าเขาไม่เชื่อที่เสาร์พูดเพราะเป็นไปไม่ได้ที่เสาร์จะสามารถสื่อสารทางโทรทัศน์ สมยศเบิกความด้วยว่าเคยกำชับเสาร์ว่าอย่าไปคุยกับคนอื่น แต่เมื่อเสาร์พบคนอื่นก็จะเล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง โดยเสาร์มีพฤติกรรมอย่างนี้มานานแล้ว เมื่อสมยศจะพาไปรักษาเสาร์ก็ไม่ยอมไป
 
สมยศเบิกความว่าเขาทราบว่าเสาร์ถูกดำเนินคดีนี้ในเดือนมีนาคม 2558 และได้ไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง โดยกล่าวถึงอาการผิดปกติของเสาร์ และได้นำตัวเสาร์ไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์โดยใช้เวลารักษา  45 วัน แต่อาการก็ไม่บรรเทา หากไม่ได้ทานยาเสาร์จะมีอาการเหม่อลอย ถ้าได้ทานยาอาการก็จะดีขึ้น สมยศเบิกความอีกว่า เสาร์เคยมีประวัติการจำคุกมาก่อนถึงสองครั้งในคดียาเสพติด ก่อนที่เสาร์จะถูกจำคุกครั้งแรก เสาร์เคยประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ และมีประวัติการใช้ยาเสพติดมาก่อน  
 
สมยศเบิกความเสริมด้วยว่า เสาร์ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองและไม่รู้จักกับนักการเมืองคนใดมาก่อน
 
ตอบอัยการทหารถามค้าน
 
อัยการทหารถามว่าหลังพ้นโทษแล้วเสาร์สามารถตอบโต้สื่อสารได้ตามปกติหรือไม่ สมยศตอบว่าหลังพ้นโทษจำคุกเสาร์สามารถพูดคุยสื่อสารได้ แต่บางครั้งก็มีอาการเหม่อลอยอยู่
 
อัยการทหารถามว่าเหตุใดญาติๆจึงเพิ่งจะพาเสาร์ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาหลังมีการดำเนินคดี สมยศตอบว่าเสาร์ไม่ยอมไป
 
อัยการทหารถามสมยศว่า ทราบหรือไม่ว่าข้อความที่เสาร์ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแห่งทางการเมืองคือข้อความใด สมยศตอบว่าไม่ทราบ 
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
 
ทนายจำเลยถามสมยศว่าทราบหรือไม่ว่าเสาร์คุยเรื่องคล้ายๆกับที่คุยกับสมยศหรือเรื่องที่จะไปยื่นคำร้องกับเพื่อนหรือบุคคลใดบ้าง และทราบหรือไม่ว่าใครพาเสาร์ไปส่งในวันที่มีการยื่นคำร้อง 

สมยศตอบว่าทราบว่าเสาร์คุยเรื่องนี้กับเพื่อนบางคนแต่ไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด ส่วนเรื่องการไปยื่นคำร้องทราบว่าเสาร์คุยกับญาติห่างๆชื่อสวานซึ่งทำงานกับกรมป่าไม้ ส่วนบุคคลใดจะพาเสาร์ไปส่งสมยศไม่ทราบ 
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามติง
 
หลังสืบพยานปากนี้แล้วเสร็จ ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากต่อไปในวันที่ 16 ตุลาคม 2561
 
16 ตุลาคม 2561
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 2 นพ.อภิชาติ แสงสิงห์ แพทย์เจ้าของไข้จำเลย
 
ศาลขึ้นบังลังค์เวลา 9.30 น พยานจำเลยวันนี้คือ นพ.อภิชาติ แสงสิงห์ เกี่ยวข้องกับจำเลยคือเป็นแพทย์เจ้าของไข้ ทำงานประจำอยู่ที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ ซึ่งสถาบันกัลยาฯ มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปและผู้ป่วยจิตเวชทางคดี
 
สำหรับผู้ป่วยจิตเวชทางคดีจะมีกลุ่มสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อวินิจฉัยและลงความเห็นเกี่ยวกับผู้ป่วย เสาร์ได้รับการตรวจและถูกวินิจฉัยจากกลุ่มสหวิชาชีพว่าเป็นโรคจิตเภท มีลักษณะหูแว่ว มีความคิดบิดเบือนจากความจริง เชื่อในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง สาเหตุของโรคมาจากการทำงานผิดปกติของสมอง เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ถ้าขาดยาอาการทางจิตจะกำเริบ
 
พยานเบิกความถึงความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยจิตเภทว่า ถ้าช่วงอาการเจ็บป่วยกำเริบผู้ป่วยจะไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาต่อเนื่องและอาการดีขึ้นจะสามารถต่อสู้คดีได้
 
พยานเบิกว่าต่อว่า รับคดีจำเลยมาจากสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2558 จากนั้นตรวจรักษาจำเลยและติดตามการรักษาจนถึงปัจจุบัน หลังจากรับตัวจำเลยได้ทำความเห็นส่งไปที่ตำรวจจำนวนสองครั้ง ครั้งแรกวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ให้ความเห็นว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิตเภท คิดว่าร่ำรวยและเป็นเชื้อพระวงศ์ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ให้รักษาตัวต่ออีกระยะ ครั้งที่สองวันที 30 พฤศจิกายน 2558 มีความเห็นว่าจำเลยเข้าใจและยอมรับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีอาการหลงผิด
 
ก่อนหน้าที่จำเลยเข้ามารักษาก็มีอาการป่วยทางจิตชัดเจน แต่ไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน เป็นอาการป่วยทางจิตที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้ความสามารถในการควบคุมตัวเองสูญเสีย จากเอกสารลายมือของจำเลยที่เขียนในคำร้องที่ยื่นต่อศาลฎีกาฯ แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีความคิดหลงผิดค่อนข้างมาก
 
อัยการทหารถามติงว่า พยานเบิกความว่า ทราบภายหลังว่าทนายจำเลยร้องขอให้ตำรวจส่งตัวจำเลยตรวจวินิจนัยว่าเป็นจิตเภท ซึ่งได้รับจำเลยมารักษาหลังจากก่อเหตุประมาณห้าเดือน 
 
ศาลทหารนัดสืบพยานจำเลยปากต่อไปในวันที่ 6 มีนาคม 2562
 
 
6 มีนาคม 2562
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 3 ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
พยานวันนี้คือ ผศ.สาวตรี สุขศรี เบิกความว่า เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายอาญา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มากว่า 20 ปี รวมทั้งได้ศึกษาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และได้เขียนบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่ในประเด็นนี้ด้วย พยานได้อ่านข้อความของจำเลยที่ถูกนำไปฟ้องแล้ว เห็นว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 65 
 
เมื่ออ่านข้อความแล้วพยานมีความเห็นว่า ไม่เข้าข่ายความผิดตาม มาตรา 112 เพราะการกระทำที่จะผิดมาตรา 112 มีสามประเภท คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย ซึ่งในสองการกระทำหลัง คือ ดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้าย อ่านข้อความแล้วไม่ใช่
 
ส่วนหมิ่นประมาท หมายถึง การใส่ร้ายให้เกิดความเสียหาย แต่เมื่ออ่านข้อความรู้สึกว่า มีความเหนือจริง ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ไม่ใช่การหมิ่นประมาท เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่าพระองค์มีความเมตตามากกว่า
 
ส่วนประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 เมื่ออ่านถ้อยคำ และพิจารณาสถานภาพจำเลย ก็เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นการกระทำของคนที่มีสติสัมปชัญญะ ดังนั้น ตามมาตรา 65 ถ้าจำเลยกระทำไปโดยไม่รู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ อาจได้รับการยกเว้นโทษ
 
เมื่อถูกอัยการทหารถามติงว่า ผศ.สาวตรีตอบว่า สิ่งที่วิเคราะห์ไปเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ขณะที่คำร้องของผู้พิากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ให้ดำเนินคดีกับจำเลยก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัว เพราะยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ต่อไปว่าจำเลยผิดจริงหรือไม่
 
พยาน เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นที่เคารพสักการะและอยู่เหนือการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะล่วงละเมิดมิใด คือ ห้ามฟ้องร้องไม่ว่าคดีประเภทใดก็ตาม ส่วนเจตนารมณ์ของ มาตรา 112 มีขึ้นเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ จากสามการกระทำดังกล่าว 
 
ศาลนัดสืบพยานนัดต่อไป 6 มิถุนายน 2562 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลในเวลาต่อมาว่าหลังศาลทหารกรุงเทพโอนย้ายคดีนี้ไปให้ศาลอาญาเป็นผู้พิจารณาต่อ ขณะนี้ศาลอาญานัดพร้อมพิจารณาคดีนี้เป็นครั้งแรกแล้วในวันที่ 27 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น.
 
27 มกราคม 2563

เสาร์เดินทางมาที่ศาลอาญาพร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตามที่ได้รับหมายเรียก โดยมีเพื่อนของเสาร์เดินทางมาให้กำลังใจด้วย เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์เรียกให้ทนายความจำเลยไปพูดคุยที่ใต้บัลลังก์ โดยปรึกษากันเรื่องสัญญาประกันตัวที่โอนมาจากศาลทหาร และศาลขอไปปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิาพากษาศาลอาญาก่อนว่า เรื่องสัญญาประกันตัวจะต้องทำอย่างไร

เนื่องจากเสาร์ได้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์จากกองทุนยุติธรรม และศาลแจ้งว่า ต้องให้นายประกันมาศาลเพื่อทำสัญญาประกันตัวใหม่ โดยยังคงใช้หลักประกันเดิมที่ได้วางไว้ในศาลทหารได้ แต่ตัวแทนของกองทุนยุติธรรมซึ่งเป็นนายประกันไม่ได้มาศาล จึงยังทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวในศาลนี้ไม่ได้ ทนายจำเลยขอเวลาเพื่อประสานกับทางกองทุนยุติธรรม ศาลเห็นควรก่อนจะสั่งนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.00 น.

24 กุมภาพันธ์ 2563

นัดทำสัญญาประกันตัวของเสาร์ฉบับใหม่ เนื่องจากย้ายคดีจากศาลทหารมาที่ศาลอาญาไม่สามารถใช้สัญญาประกันตัวฉบับเดิมได้

17 มีนาคม 2563

นัดพร้อม

ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ศาลอาญา เวลาประมาณ 09.30 น. เสาร์เดินทางมาพร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศาลขึ้นบันลังก์ในคดีก่อนหน้าอยู่แล้ว และเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีของเสาร์ 

ศาลสอบถามคำให้การของเสาร์ อีกครั้งหนึ่งว่ายังยืนยันคำให้การเดิมเหมือนกับที่ให้การไว้ในศาลทหารหรือไม่ เสาร์มีท่าทีนิ่งเฉย ศาลจึงถามเสาร์ซ้ำว่าสามารถตอบสนองศาลได้หรือไม่ เสาร์พนักหน้า จากนั้นทนายจำเลยจึงเดินเข้าไปย้ำคำถามกับเสาร์อีกครั้ง เสาร์ยืนยันคำให้การปฏิเสธในข้อกล่าวหาตามเดิม และอัยการได้ขอให้เพิ่มโทษจากคดีที่เสาร์เคยติดคุกจากคดียาเสพติดที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่มาก่อนหน้านี้ เสาร์ให้การปฏิเสธในเรื่องเคยถูกจำคุกเนื่องจากคดียาเสพติดเช่นเดียวกัน 

จากนั้นศาลถามอัยการว่าจะมีการสืบพยานฝ่ายโจทก์เพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากจากศาลทหารได้สืบพยานฝ่ายโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว อัยการแถลงต่อศาลว่าไม่มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์เพิ่มเติม ใช้เท่าที่สืบพยานมาจากศาลทหาร

ศาลถามฝ่ายทนายจำเลยว่าเหลือพยานอีกกี่ปาก แล้วต้องการวันนัดอีกกี่นัด ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าฝ่ายจำเลยเหลือสืบพยานอีกสามปาก ได้แก่ตัวจำเลยเอง, ญาติของจำเลย และพยานผู้เชี่ยวชาญตำแหน่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ต้องการวันนัดสืบพยานหนึ่งนัด 

หลังจากนั้นศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี และให้คู่ความไปนัดวันสืบพยานที่ศูนย์นัดความ และสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาคดีเวลาประมาณ 09.50 น.

ทนายจำเลยแจ้งว่านัดสืบพยานจำเลยทั้งสามปากในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น.

 

4 พฤศจิกายน 2563

นัดฟังคำพิพากษา 

ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษา โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รเผยแพร่ว่า ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่กระทำไปเนื่องจากอาการป่วยทางจิต ตามมาตรา 65 วรรค 2 ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยเคยถูกจำคุกในคดียาเสพติด ศาลพิจารณาเพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 เดือน อย่างไรก็ตาม คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1ใน 3 ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้จำคุก 2 เดือน 20 วัน โดยไม่รอลงอาญา

ก่อนหน้านี้ จำเลยเคยถูกคุมขังแล้วในชั้นฝากขัง ตั้งแต่ 28 พฤษภาคม -19 สิงหาคม 2558 รวม 84 วัน ถือว่าถูกขังครบโทษแล้ว ทำให้ในวันนี้ แม้ศาลจะตัดสินว่ามีความผิด แต่จำเลยไม่ต้องถูกนำตัวไปขังอีก
 
 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปคำพิพากษาของศาลไว้ว่า

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 จำเลยเข้ายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุว่า ต้องการรื้อฟื้นคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ เพื่อขอเป็นคู่ความในคดี ในคำร้องมีเนื้อหาทำนองว่า จำเลยสามารถติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผ่านสื่อได้ พระองค์ท่านทรงจัดสรรเงินและทรงมอบเงินนี้ให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบ ผ่านทางบัญชีของทักษิณ ชินวัตร และต่อมาพระองค์ท่านทรงมีรับสั่งให้ทักษิณนำเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปสร้างบ้านและทำโครงการปราบปรามยาเสพติดและช่วยเหลือเด็ก

 

เสาร์ได้ยื่นคำร้องนี้ให้แก่นิติกรชำนาญการประจำศาลฎีกาฯ นาย จุลเดช ละเอียด ซึ่งได้ส่งเรื่องต่อไปยังผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ คำร้องของเสาร์ถูกตีตก เนื่องจากตัวกฎหมายไม่ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนยื่นเรื่องได้ในช่องทางนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ยังได้มอบหมายให้ตัวแทนไปแจ้งความดำเนินคดีกับเสาร์ที่ สน.ทุ่งสองห้อง เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาเป็นไปในทางที่มิบังควร โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก่อนที่ต่อมาเสาร์จะได้รับหมายเรียกและเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีในศาลทหาร

 

คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกคือ จำเลยทำผิดตามฟ้องหรือไม่?

 

ในวันเกิดเหตุ นิติกรฯ คือ นาย จุลเดช ละเอียด ยืนยันว่า เสาร์ได้เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจริงและได้ทำการยื่นเรื่องจริง เนื่องจากพยานถูกโทรเรียกโดย รปภศาล นาย เปรม กาลสุข ว่ามีชายผู้หนึ่งเดินทางมาขอยื่นคำร้องที่ศาลฯ แต่มีลักษณะแต่งกายไม่สุภาพ ทางนิติกรฯ ได้เสนอคำร้องต่อประธานและองค์คณะผู้พิพากษาฯ ซึ่งองค์คณะมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากไม่มีตัวกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยยื่นคำร้องในลักษณะนี้ และข้อความในคำร้องเองก็มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เลขานุการศาลฎีกาฯ จึงมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ นาง ลัดดาวัลย์ นิยม เข้าแจ้งความ ซึ่งลัดดาวัลย์เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวมีการพาดพิงพระมหากษัตริย์ อาจทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ในการสืบสวน ยังมีการให้ พล...พิษณุ ฟูปลื้ม เป็นผู้ตรวจสอบลายมือของเจ้าเลยว่าเป็นผู้เขียนคำร้องขึ้นเองหรือไม่ พบว่าสอดคล้องกัน เนื่องจากจำเลยยอมรับว่าตนเป็นผู้เขียนคำร้องขึ้นด้วยตัวเอง

 

ในแง่ของการพิจารณาว่า ถ้อยคำของจำเลยมีลักษณะเข้าข่ายการหมิ่นประมาทฯ หรือไม่ การที่พยานจำเลยมาเบิกความในเรื่องคำนิยามของการหมิ่นประมาทฯ เมื่อพิจารณาจากข้อความประกอบกับที่จำเลยนำสืบ ศาลเห็นว่าเป็นการต่อสู้ลอย  ไม่มีน้ำหนัก เมื่อพิจารณาข้อความเห็นว่า ถ้อยคำของจำเลยทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์จริง อาจทำให้คนอื่นเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นความผิด

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สอง คือ จำเลยทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้หรือไม่?

 

ศาลเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ นิติกรเบิกความว่า จำเลยได้ไปยื่นคำร้องด้วยตนเอง ภายหลังเกิดเหตุที่จำเลยถูกควบคุมตัวและได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง คือ ...วิศรุตภูมิ ชูประยูร เห็นว่า จำเลยพูดไม่รู้เรื่อง จิตไม่ปกติ จึงได้ส่งตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เนื่องจากเชื่อว่าจำเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ เพราะมีอาการป่วยทางจิตจึงได้ไปยื่นคำร้อง นับว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เป็นการกระทำที่น่าจะทำไปเพราะอาการทางโรคจิตเภท ซึ่งในข้อนี้ได้ความเสริมจาก นพ.อภิชาติ แสงสิงห์ แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาจำเลยว่า ขณะที่เสาร์เข้ายื่นคำร้องนั้นน่าจะอยู่ในระยะขั้นกลางของโรค ยังสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้

 

ศาลให้เหตุผลในการรับฟังว่า แพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นพยานคนกลาง ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับจำเลย มีน้ำหนักน่าเชื่อ และในส่วนของนิติกรที่รับคำร้องยังได้พูดคุยสอบถามจำเลยประมาณ 20 นาที เห็นว่า ขณะกระทำการจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้ จึงต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 2

 

จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบ มาตรา 65 วรรค 2 ลงโทษจำคุก 3 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยเคยถูกจำคุกในคดียาเสพติด ศาลพิจารณาเพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 เดือน อย่างไรก็ตาม คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1ใน 3 ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้จำคุก 2 เดือน 20 วัน โดยไม่รอลงอาญา

 
ก่อนหน้านี้ จำเลยเคยถูกคุมขังแล้วในชั้นฝากขัง ตั้งแต่ 28 พฤษภาคม -19 สิงหาคม 2558 รวม 84 วัน ถือว่าถูกขังครบโทษแล้ว ทำให้ในวันนี้ แม้ศาลจะตัดสินว่ามีความผิด แต่จำเลยไม่ต้องถูกนำตัวไปขังอีก
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา