นัชชชา และธัชพงศ์: ชุมนุมหน้าหอศิลป์

อัปเดตล่าสุด: 01/09/2562

ผู้ต้องหา

นัชชชา กองอุดม

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

นัชชชา, ธัชพงษ์ ร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร ภายหลังทั้งสองถูกตั้งฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง 
 
คดีนี้มีผู้ถูกจับกุม 32 คน และถูกตั้งข้อหา 9 คน อีก 7 คนตอนแรกประกาศ "อารยะขัดขืน" ไม่เข้าร่วมกระบวนการดำเนินคดี ต่อมา พรชัย ผูต้องหาอีกคนหนึ่งต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ จึงเข้ารายงานตัวเพราะมีหมายจับติดตัว เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ คดีนี้จึงมีจำเลยสามคนที่พิจารณาไปพร้อมกัน
 
คดีนี้พิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพไปอย่างช้าๆ ส่วนหนึ่งเพราะจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจศาลทหารด้วย ระหว่างการพิจารณาคดียังไม่เสร็จ คำสั่งห้ามชุมนุมถูกยกเลิก คดีจึงยุติลง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นัชชชา กองอุดม เป็นนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ก่อนหน้านี้เคยถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวไปที่สโมสรกองทัพบกหลังแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว จากกิจกรรม ชมภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็ก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 และเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย(LLTD)เรื่อยมา
 
ธัชพงษ์ แกดำ เป็นอดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเคยเป็นสมาชิกแนวร่วมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.)  
 
พรชัย ยวนยี จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักกิจกรรมและอดีตเลขาธิการ สนนท.
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ, ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557
คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

22 พฤษภาคม 2558  นัชชชาและธัชพงษ์ และนักกิจกรรมอีกส่วนหนึ่งรวม 37 คน ถูกจับกุมหลังร่วมกิจกรรม ดูนาฬิกา รำลึก 1 ปี รัฐประหารที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายหลังนักกิจกรรมรวม 9 คน ถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่กำหนดห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
 

พฤติการณ์การจับกุม

22 พฤษภาคม 2558 เจ้าหน้าที่นำแผงเหล็กมาตั้งที่หน้าหอศิลป์ฯตั้งแต่ก่อนเวลานัดหมายทำกิจกรรม เมื่อนักกิจกรรมมารวมตัวกันที่ทางเท้าหน้าหอศิลป์ เจ้าหน้าที่ก็ตรึงกำลังอยู่ภายในรั้ว
 
เจ้าหน้าที่ไม่ได้จับกุมนักกิจกรรมพร้อมกันทีเดียวหมด แต่ใช้วิธีเปิดแนวรั้วออกมายื้อยุดฉุดกระชากกับผู้ร่วมกิจกรรม พร้อมกับใช้เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมตัวผู้ชุมนุมเข้าไปในหอศิลป์ฯคราวและ4-5คน
 
หลังจับกุมเจ้าหน้าที่ก็กลับเข้าไปอยู่ในที่ตั้งเพื่อรอทำการจับกุมรอบใหม่ในลักษณะเดิม นักกิจกรรมบางส่วนถูกจับกุมตัวขณะฝ่าแนวรั้วที่เจ้าหน้าที่กั้นไว้เพื่อเข้าไปช่วยเพื่อนถูกจับไปก่อน นักกิจกรรมบางคน อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุมด้วย
 
หลังกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ฯยุติ มีรายงานว่านักกิจกรรม 37 คน รวมทั้งผู้ต้องหาในคดีนี้  ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน และปล่อยตัวในช่วงเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น
 
หลังจากนั้นมีการออกหมายจับ นักกิจกรรม 9 คน ถูกออกหมายจับ ฐานชุมมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 แต่นักกิจกรรมส่วนใหญ่ประกาศไม่ยอมรับกระบวนการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. และไม่เข้ารายงานตัว มีเพียงบางคนที่ยอมเข้ารายงานตัวจึงถูกดำเนินคดีก่อนคนอื่น ขณะที่ ณัชชชา ถูกจับขณะกำลังจะออกจากโรงพยาบาล หลังนอนพักรักษาตัวจากอาการต่อมทอนซินอักเสบ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล


หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


แหล่งอ้างอิง


22 พฤษภาคม  2558 
 
นัชชชา ธัชพงษ์ เและนักกิจกรรมรวม 37 คน ถูกจับกุมหลังร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และถูกนำตัวไปสอบสวนที่สน.ปทุมวันเป็นเวลา 1 คืน ทั้งหมดได้ถูกปล่อยตัวในช่วงเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2558
 
เจ้าหน้าที่แจ้งภายหลังว่า จะมีนักกิจกรรม 8-9 คนถูกตั้งข้อหา ซึ่งมีชื่อนัชชชา และธัชพงษ์ รวมอยู่ด้วย
 
8 มิถุนายน 2558
 
เจ้าหน้าที่ออก หมายเรียกนักกิจกรรม 9 คน รวมทั้งนัชชชาและธัชพงษ์ ให้ไปที่ สน.ปทุมวัน เวลา 14.00น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่นักกิจกรรมทั้งหมดประกาศว่าจะไปรายงานตัวในวันที่ 24 มิถุนายน 2558  
 
22 มิถุนายน 2558
 
ประชาไทรายงานว่า  ธัชพงศ์  หนึ่งใน 9 นักกิจกรรมที่ถูกออกหมายเรียก พร้อมด้วย พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ เดินทางเข้ามอบตัวกับ พ.ต.ท.สุริยเมศศ์ ภักดีวิวัตร ที่สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาสอบสวนนานกว่า 3 ชั่วโมง
 
พวงทิพย์ กล่าวว่า การเดินทางมามอบตัวในวันนี้เพื่อที่จะต่อสู้คดีตามกฎหมายและได้เตรียมเงินสดมาประกันตัวประมาณ 2-5 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลทหารว่าจะให้วางหลักทรัพย์เท่าใด สำหรับการมารายงา่นตัวธัชพงษ์ต้องการแสดงเจตนารมณ์ว่า ยอมรับกระบวนการยุติธรรมและไม่คิดหลบหนี
 
สำหรับนักศึกษาอีก 8 คนที่ไม่มามอบตัวนั้นตนไม่ทราบ เนื่องจากนักศึกษาทั้ง 8 คนมีทนายความส่วนตัวอยู่แล้ว ตนเป็นทนายความให้กับนายชาติชายเพียงคนเดียวเท่านั้น
 
หลังการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหา"มั่วสุมและชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป" จากนั้นได้สรุปสำนวนส่งให้ศาลทหารดำเนินคดีในเวลา 13.30 น.
 
เวลา 16.30 น. ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้ประกันตัวธัชพงษ์ โดยให้วางเงินประกัน 10,000 บาท พร้อมตั้งเงื่อนไขห้ามชุมนุมและห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ธัชพงษ์ถูกนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำในช่วงค่ำวันเดียวกัน
 
24 มิถุนายน  2558 
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า ช่วงสายของวันนี้ เจ้าหน้านอกเครื่องแบบจาก สน.ปทุมวัน เดินทางไปที่ รพ.วิภาวดี เพื่อควบคุมตัวนัชชชา ที่ถูกออกหมายจับจากกรณี “ชุมนุมหน้าหอศิลป์” 
 
ขณะที่นัชชชาเตรียมจะออกจากโรงพยาบาลหลังนอนพักรักษาตัวจากอาการต่อมทอนซินอักเสบมาตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2558
 
เวลาประมาณ 13.30 น. ทนายความแจ้งด้วยว่า พนักงานสอบสวนกำลังสอบปากคำนัชชชา และเตรียมยื่นคำร้องขอฝากขังกับศาลทหาร ทางทีมทนายเตรียมคัดค้านการฝากขังแล้ว แต่ไม่เป็นผล ก็จะใช้เงินสด 10,000 บาทยื่นประกันตัว
 
เวลาประมาณ 16.40 น. ทนายความเปิดเผยความคืบหน้า ว่าได้คัดค้านคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน  โดยให้เหตุผลว่า นัชชชากำลังไม่สบาย อยู่ระหว่างการศึกษา และเป็น transgender
 
ศาลยกคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า นัชชชามีท่าทีปลุกปลั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ และมีมวลชน ทนายความจึงใช้หลักทรัพย์ 10,000 ยื่นประกันตัว ซึ่งศาลอนุญาต 
 
ศาลตั้งเงื่อนไขการประกันตัวด้วยว่า ห้ามชุมนุมทางการเมือง และห้ามยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม
 
เนื่องจากขั้นตอนการปล่อยตัวผู้ขังที่ฝากขังกับศาลทหารจะทำที่เรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่า ตามกฎนัชชชาจะต้องถูกนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่จะมีพยาบาลหญิงเป็นผู้ดูแล
 
นัชชชาเล่าภายหลังว่า เมื่อเดินทางถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพ จะต้องมีขั้นตอนการตรวจร่างกาย โดยนักโทษที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นเพศชายทั้งหมด ระหว่างนั้นมีการส่งเสียงตะโกนแซวจากนักโทษชายคนอื่น ๆ อยู่ตลอด ถ้อยคำเหล่านั้นทำให้ตนอึดอัดใจ
 
ขณะที่ขั้นตอนการตรวจร่างกายก็คล้ายจะมีความจงใจลวนลาม ขั้นตอนภายในเรือนจำทำให้ตนรู้สึกเครียดและวิตกกังวล เพราะมีกระบวนการซึ่งต้องเปิดเผยร่างกายและกระทำโดยเพศชายทั้งหมด
 
ต่อกรณีดังกล่าว กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ ออกแถลงการณ์ ‘ข้อเรียกร้องต่อการควบตัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ’ โดยมีรายละเอียดบางส่วน ดังนี้
 
“…การควบคุมตัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต้องกระทำการด้วยความระมัดระวังเเละอ่อนไหวต่อ สถานการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ต้องมีการควบคุมตัวในเรือนจำ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการควบคุมตัวบุคคลสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความต้องการพิเศษ เเละเพื่อป้องการการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม เเละย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เเละเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 เเละอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีนั้น ได้ระบุว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจำเป็นต้องได้รับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระหว่างการควบคุมตัว
 
กรณีที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจำเป็นต้องถูกควบคุมตัว ผู้ถูกควบคุมตัวต้องได้รับการควบคุมตัวในเรือนจำตามอัตลักษณ์ทางเพศที่เหมาะสม ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เปลี่ยนอัตลักษณ์เป็นหญิงไม่สมควรถูกควบคุมตัว ตรวจค้นร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ชาย ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติเเละการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกควบคุมตัว เนื่องจากกระบวนการรับตัว ตามหลักการ Yogyakarta Principles on the Application of International Human Rights Law in relation to Sexual Orientation and Gender Identity ข้อ 9 ระบุว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรมระหว่างถูกควบคุมตัว เเละควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อสิทธิเเละศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการได้รับความเคารพในเพศสภาพเเละเพศวิถีถือเป็นส่วนหนึ่งของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์…”
 
29 มิถุนายน 2558  
 
เฟซบุ๊กเพจของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 12.00 น. อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้องธัชพงศ์ และนัชชชา  ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งทั้งสองได้ยื่นขอประกันตัว โดยใช้หลักประกันเดิม คือ เงินสด 10,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัว
 
นัชชชา ได้ยื่นคำแถลงขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวที่เรือนจำหญิง แต่ศาลยกคำร้อง โดย พ.อ.พิเศษศักดิ์ ค้ำชู ตุลาการพระธรรมนูญอ้างเหตุผลว่า พิจารณาตามกฎหมาย นัชชชายังมีสถานภาพเป็นเพศชาย และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดรองรับว่าชายที่แปลงเพศแล้วให้ถือเป็นเพศหญิง จึงให้ยกคำร้อง
 
5 พฤศจิกายน 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารนัดสอบคำให้การ เวลา 8.30 น. ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด โดยเจ้าหน้าที่ขอถ่ายรูปบัตรประจำตัวของผู้เข้าสังเกตการณ์ ขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนจำนวนมากมารอทำข่าว และมีประชาชนจำนวนหนึ่งมารอมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่จำเลย
 
เวลาประมาณ 9.20 น. นัชชชา เดินทางถึงศาลทหารกรุงเทพ พร้อมกับพันธ์ศักดิ์ ผู้ต้องหาคดีพลเมืองรุกเดิน ซึ่งศาลนัดสอบคำให้การในห้องพิจารณาคดีเดียวกัน
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลขึ้นบัลลังก์ เวลาประมาณ 11.30 น. หลังจากสั่งให้รอการพิจารณาคดีของพันธ์ศักดิ์ไว้ชั่วคราวแล้ว ศาลก็เริ่มสอบคำให้การคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ ซึ่งมีจำเลย 2 คน ได้แก่ ชาติชาย (ธัชพงศ์) และนัชชชา ทางด้านชาติชายให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์และขอต่อสู้คดี เป็นเหตุให้โจทก์แถลงขอสืบพยาน
 
แต่ทนายของนัชชชายื่นคำร้องขอให้ศาลทหารกรุงเทพวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาลเช่นกัน ศาลเห็นว่าคำร้องของจำเลยที่ 2 (นัชชชา) เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 (ชาติชาย) ด้วย จึงสั่งให้รอการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว ระหว่างรอโจทก์ทำคำชี้แจงและรอศาลทำความเห็นส่งให้ศาลแขวงปทุมวัน เมื่อศาลแขวงปทุมวันทำความเห็นส่งกลับมาแล้ว จึงจะนัดจำเลยมาฟังความเห็นและคำสั่งศาลต่อไป 
 
1 มกราคม 2559
 
พรชัย จำเลยอีกหนึ่งคน ในคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ ขึ้นศาลในนัดสอบคำให้การ พรชัยให้การปฏิเสธ  อัยการโจทก์แถลงขอรวมคดีส่วนของพรชัย เข้ากับคดีนี้ เนื่องจากทั้งสามคน กับพวกอีก 6 คนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำผิด และมีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน ศาลจึงให้อัยการโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลในคดีนี้เพื่อขอให้สั่งรวมคดีเข้ามา ทำให้คดีนี้มีจำเลยรวมเป็นสามคน
 
 
7 มิถุนายน 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารกรุงเทพ นัดสอบคำให้การ นัชชชา จำเลยที่ 2 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 11.00 น.   ก่อนอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล ซึ่งศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นว่า แม้คำสั่งของ คสช. ไม่ได้คำรับรองจากกษัตริย์หรือรัฐสภา แต่ก็มีศักดิ์เท่าพระราชบัญญัติ เพราะ คสช. เข้าควบคุมอำนาจประเทศได้สำเร็จเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จึงมีอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อให้ประเทศดำเนินต่อไปได้ 
 
นอกจากนั้นประกาศ คสช. ที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ต่อความมั่นคง และการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ต้องขึ้นศาลทหาร ไม่ได้ระบุสถานะของจำเลยโดยเฉพาะ ดังนั้นพลเรือนสามารถถูกพิจารณาคดีที่ศาลนี้ได้ จึงทำให้ศาลทหารมีสิทธิ์พิจารณาคดีนี้
 
ด้านทนายความของนัชชชาได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการตีความกฎหมาย พร้อมขอเลื่อนการพิจารณาคดีนี้ออกไปก่อน  ศาลจึงขอพิจารณาเอกสารคำร้องที่ยื่นเรื่องมาก่อน โดยจะพิจารณาภายใน 30 วัน
 
ขณะที่จำเลยที่ 1 ธัชพงษ์ หลังให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ในนัดสอบคำให้การไปแล้ว เมื่อพฤศจิกายน 2558
 
 
28 ธันวาคม 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.05 น. และเรียกชื่อจำเลยทั้งสาม ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งสามฟังอีกครั้ง และแจ้งว่า จำเลยที่ 1 คือ ธัชพงศ์ ให้การปฏิเสธต่อศาลไปแล้วเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2558 ส่วนจำเลยที่ 3 คือ พรชัย ให้การปฏิเสธต่อศาลไปแล้วเมื่อ 11 มกราคม 2559 วันนี้ จึงเหลือเพียงการสอบคำให้การจำเลยที่ 2
 
ศาลถามจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยมีทนายความและมีสิทธิปรึกษาแล้วหรือไม่ นัชชชา ตอบว่า มีแล้ว และถามว่าจำเลยจะให้การอย่างไร นัชชชา ตอบว่า ให้การปฏิเสธ ศาลถามว่า ยืนยันปฏิเสธตามเอกสารที่ยื่นไว้แล้วใช่หรือไม่ นัชชชา ตอบว่า ใช่ ศาลจึงให้กำหนดวันนัดสืบพยานร่วมกัน
 
ทั้งอัยการทหาร ศาลทหาร และทนายจำเลยว่างตรงกันในวันที่ 3 เมษายน 2560 แต่ทนายจำเลยแถลงขอต่อศาลว่า ให้มีวันนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน อัยการทหารคัดค้านอ้างว่า คดีนี้ไม่มีรายละเอียดยุ่งยาก ขอให้เริ่มด้วยการนำพยานเข้าสืบเลย แต่ทนายจำเลยคัดค้าน ขอยืนยันว่าเป็นสิทธิของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่จะต้องตรวจพยานหลักฐานก่อน ศาลกล่าวว่า เป็นดุลพินิจของศาลที่จะให้มีวันนัดตรวจพยานหลักฐานหรือไม่ก็ได้ และหากจะมีวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ก็ต้องผูกพันฝ่ายจำเลยที่ต้องนำหลักฐานทั้งหมดมาแสดงต่อศาลด้วย ฝ่ายจำเลยรับ ศาลจึงสั่งให้วันที่ 3 เมษายน 2560 เป็นวันนัดตรวจพยานหลักฐาน
 
คำให้การเป็นเอกสารที่ทนายความของ นัชชชา จำเลยที่สอง ยื่นต่อศาลให้วันนี้สรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 ขอให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ เนื่องจากจำเลยใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนูษยชน (UDHR) ข้อ 19 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 และรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ได้ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ รวมทั้งฉบับปัจจุบันในมาตรา 4 สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงต้องได้รับความคุ้มครองทั้งในฐานเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ และประเพณีการปกครองของไทย 
 
ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินในคดีหมายเลข 12/2555 โดยนำเอาหลักพันธกรณีระหว่างประเทศมาวินิจฉัยคดีโดยตรง หน่วยงานของรัฐไทยทั้งปวงจึงต้องเคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย แม้ทั้งรัฐธรรมนูญ และ ICCPR จะอนุญาตให้จำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ 1) จำกัดโดยอาศัยบทบัญญัติที่ออกโดยรัฐสภา 2) จำกัดภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อการสาธารณสุขหรือศีลธรรมันดี 3) ต้องจำกัดเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วน แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ที่กำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน กำหนดคำว่า "ชุมนุมทางการเมือง" ไว้กว้างเกินไป ไม่ชัดเจนเพียงพอจะเข้าใจได้ ไม่เชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลกับวัตถุประสงค์ที่มุ่งคุ้ครอง กระทบต่อสาะสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเกินความจำเป็น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นการใช้อำนาจออกคำสั่งโดยอำเภอใจและไม่อาจใช้บังคับได้
 
3 เมษายน  2560 
 
ตรวจพยานหลักฐาน
 
10.15 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 3 พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์, พ.อ.นิรันต์ กำศร, และ น.อ.สุรชัย สลามเต๊ะ ตุลาการศาลทหารออกนั่งพิจารณาคดีโดยในห้องมี ชาติชาย, นัชชชา, และพรชัย จำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ
 
หลังคู่ความตรวจพยานหลักฐานของอีกฝ่ายแล้ว ไม่ประสงค์จะแถลงแนวทางการสืบพยาน ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ พ.ต.อ.จารุ ศรุตยาพร วันที่ 6 กรกรฎาคม 2560 และ พ.ต.ท.อาทิตย์ ซิ้มเจริญ วันที่ 7 กรกฎาคม 2560 โดยพยานทั้งสองปากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์
 
 
26 มิถุนายน 2560
 
รังสิมันต์ ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีการแจกใบปลิวประชามติ และถูกพาตัวมาส่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ เมื่อมาถึงอัยการทหารก็แจ้งว่า วันนี้จะยื่นฟ้องพร้อมกันสองคดี รวมถึงคดีนี้ด้วย ระหว่างการยื่นฟ้องและการขอประกันตัว รังสิมันต์ถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ท่ามกลางความสนใจของนักข่าวหลายสำนัก จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. การยื่นฟ้องเสร็จเรียบร้อยและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 10,000 บาท รังสิมันต์จึงถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงค่ำ
 
วันที่ 6 กรกฎาคม 2560

สืบพยานโจทก์
 
ศาลนั่งพิจารณาคดีเวลา 10.15น. โดยประมาณ โดยจำเลยมาศาลทั้งหมดสามรายได้แก่ ธัชพงษ์, นัชชชาและพรชัย โดยวันนี้นัดสืบพยานปากที่ 1 พ.ต.อ.จารุ สรุยาพร
 
อัยการแจ้งว่าวันนี้ พยานไม่สามารถเดินทางมาศาลได้เนื่องจากติดราชการ ศาลจึงสั่งให้เลื่อนสืบพยานออกไปก่อน
 
โดยคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้ฟ้องเดิมซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1-2 กับพวก 7 คน ร่วมกันทำความผิดแก้เป็น ระบุชื่อบุคคลทั้ง 7 คน เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง และคดีดำที่ 240 ที่โจทก์ฟ้องพรชัย เดิมระบุว่าจำเลย (พรชัย) ร่วมกับ จำเลยที่สอง กับพวกอีก 6 คน ขอแก้เป็น ระบุรายชื่อตัวบุคคลทั้ง 6 คน ทั้งนี้ศาลได้อ่านคำขอแก้ฟ้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งสาม ฟัง อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วและจำเลยทั้งสามไม่ขัดข้อง

ศาลถามจำเลยที่หนึ่ง (ธัชพงษ์) ว่ายังยืนยันคำให้การปฏิเสธที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 หรือไม่ จำเลยตอบว่า ยืนยันคำให้การ

ศาลถามจำเลยที่สอง (นัชชชา) ว่า ถูกคุมขังในวันจับกุมและระหว่างการดำเนินการพิจารณาคดีเป็นจำนวนทั้งหมดสองวัน และได้รับการประกันตัวชั่วคราวออกมา ใช่หรือไม่ จำเลยที่สอง ตอบว่า ใช่ และศาลถามต่อว่าจำเลยที่สองยังคงยืนยันคำให้การปฏิเสธที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 หรือไม่ จำเลยที่สอง ตอบว่า ใช่ ยืนยันคำให้การปฏิเสธ

ศาลถามจำเลยที่สาม (พรชัย) ว่า ในระหว่างพิจารณาคดีถูกกุมขังทั้งหมดรวมสองวัน ใช่หรือไม่ จำเลยตอบว่า ใช่ และศาลถามต่อว่า จำเลยยืนยันคำให้การปฏิเสธที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 หรือไม่ จำเลยตอบว่ายืนยันคำให้การ

นอกจากนี้โจทก์ยื่นคำร้องว่าคดีนี้มี รังสิมันต์ โรม ร่วมกระทำความผิดด้วย ซึ่งคดีของ รังสิมันต์ โรม อยู่ระหว่างการถามคำให้การซึ่งมีพยานหลักฐานเดียวกันกับคดีนี้ เพื่อความสะดวกขอให้ศาลรวมคดีและยกเลิกวันนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ซึ่งศาลได้ถามทางฝ่ายจำเลย และจำเลยไม่คัดค้านการรวมคดี แต่ข้อเท็จจริงในคดีจะเป็นเช่นไรให้เป็นเรื่องของการพิจารณาคดีต่อไป และไม่คัดค้านในการยกเลิกวันนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2560

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้โจทก์ทำคำร้องไปยังคดีของ รังสิมันต์ โรม ว่าศาลมีความเห็นว่าอย่างไรแต่ให้ถือว่าศาลนี้มีความเห็นว่า ควรรวมคดีและให้การสืบพยานเลื่อนออกไปก่อนจนกว่าจะทำการรวมคดีแล้วเสร็จ
 
26 กุมภาพันธ์ 2562
 
นัดฟังคำสั่งศาล
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลทหารได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบของศาล เนื่องจาก คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในข้อ 1 ของคำสั่งดังกล่าว ได้สั่งให้ยกเลิกข้อ 12 ของ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 อันเป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้ ทำให้การกระทำดังกล่าวของพวกจำเลยไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
 
ในการพิจารณาคดีวันนี้มีเพียงชาติชาย ที่มาฟังการพิจารณาเพียงคนเดียว โดยที่นัชชชาติดภารกิจศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศอังกฤษและพรชัยกำลังลงพื้นที่วิจัยอยู่ในต่างจังหวัดจึงไม่สามารถมาฟังการพิจารณาได้แต่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยเอาไว้แล้ว ซึ่งศาลอนุญาต
 

 

คำพิพากษา


ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา